แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 463


    ครั้งที่ ๔๖๓


    จดหมายจากพระภิกษุ (ต่อ)

    อาจารย์ผู้สอนธรรม บรรยายธรรมทางวิทยุในเรื่องการปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุบายไว้มากมาย แต่อาจารย์มีแนวยัดเยียดอยู่แนวเดียว ไปพบคนที่มีการเริ่มต้นในการปฏิบัติไม่เหมือนกันเข้าก็จนปัญญา ไม่รู้จะเอาอะไรมาแก้ไข ดูเป็นเรื่องที่น่าอับอายขายหน้า ผู้แสดงธรรมที่ขาดเมตตาจิต มีอะไรที่น่าส่อแสดงให้น่า ติเตียนหลายอย่าง อริยสาวกของพระพุทธเจ้าท่านประพฤติอย่างไร ท่านเป็นสื่อกลางนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสู่ประชาชน ถึงอธิบายก็ไม่เกินขอบเขตคำสอน เพราะท่านรู้จักตนของท่านดี อย่างอื่นท่านไม่เอา ท่านเสียวไส้ท่าน

    พระพุทธเจ้านั้นท่านทรงสั่งสอนด้วยกฎของกรรม ข้อนี้จะพึงพิจารณาสังเกตได้จากคำสอนที่เกี่ยวด้วยบุญ บาป กุศล อกุศล ความดี ความชั่ว คุณและโทษ ประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ เหล่านี้เป็นต้น และในพระอภิธรรม ท่านก็ได้แสดงไว้ว่า พระอรหันต์ตายพร้อมด้วยวิบากจิต ในมรรค ๘ ท่านก็กล่าวว่า เป็นสังขตธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งเป็นกฎของกรรมทั้งสิ้น แม้การจะสิ้นกิเลส ก็ต้องอาศัยการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจที่ชอบ ท่านจึงกล่าวว่า มรรคจริยามีแก่ผู้ประพฤติชอบ แนววิปัสสนาเป็นแนวที่ใกล้ชิดกับกฎของกรรมมากที่สุด เพราะจุดหมายปลายทาง พระผู้มีพระภาคต้องการให้ฉลาดในเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งที่รู้ยาก เห็นยาก และความยากของกฎนี้ทำให้คนไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งอดีตที่เป็นมาแล้ว และปัจจุบันที่กำลังเป็นอยู่ และอนาคตที่กำลังจะเป็นไป ถ้าจะคิดเป็นตัวเลขก็คงจะประมาณไม่ได้ เพราะในอนาคตถึงอย่างไรกฎนี้ก็ยังรู้ยาก เห็นยากอยู่ตามเคย พระโสดาบันถ้าไม่ฉลาดในเรื่องนี้ก็คงจะปิดประตูอบายไม่ได้

    พระบัญญัติ ๖ ประการ มีขันธบัญญัติ เป็นต้น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ มีนัยอันลึกซึ้ง กว้างขวาง สำเร็จประโยชน์ต่อผู้ประพฤติปฏิบัติ ซึ่งแตกต่างกับแนวของท่านอาจารย์ ไม่รู้ว่าไปเอานัยลึกลับที่ไหนมา มองไม่เห็น จะปราดเปรื่องไปได้ก็แต่ทำให้จิตสงบเท่านั้นเอง ต่อจากนั้นเป็นหนทางตัน และเรื่องทำจิตให้สงบที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้วก็เป็นอุบายที่ดีกว่านี้ มรดกตกทอดทายาทของพุทธศาสนารักษาให้บริสุทธิ์ผุดผ่องมาด้วยความยากลำบาก มาถึงยุคนี้สมัยนี้มักจะมีของเก๊เข้ามาปะปน ดูเป็นเรื่องน่าสลดใจ

    ในเรื่องการเจริญขันธ์ ๕ นั้น ท่านสอนให้พิจารณาแยกเป็นอย่างๆ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เพื่อทำทิฏฐิให้บริสุทธิ์เสียก่อน เมื่อปฏิบัติสูงขึ้นไป ต้องพิจารณาให้เห็นคุณโทษ เพราะขันธ์ ๕ แต่ละกองนั้น มีทั้งคุณและโทษปะปนกันอยู่ พระธรรมเทศนาอนัตตลักขณสูตร พระศาสดาจึงไม่ทรงแสดงกิเลสว่ามีอยู่ที่ตรงไหน เพราะคุณโทษแห่งขันธ์ ๕ มีอยู่แล้ว ถ้าพิจารณาไม่เห็น บุคคลก็ไม่สามารถจะเลือกเฟ้นเอาข้อปฏิบัติมาอบรมตนได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรเจริญปฏิจจสมุปปาทเพื่อจะได้รู้ลักษณะของอวิชชาสวะ และที่เกิดที่ดับของสิ่งนั้น เพราะคุณกับโทษนั้นไม่ใช่ธรรมอันเดียวกัน และข้อปฏิบัติก็ไม่เหมือนกัน สิ่งใดที่เป็นโทษ สิ่งนั้นก็ควรละเว้น สิ่งใดที่เป็นคุณ สิ่งนั้นก็ควรฝึกฝนอบรมให้ปรากฏชัด เรียกว่าทำให้แจ้งหรือทำให้ชัด ถ้าปฏิบัติไม่ชัด ก็อาจไม่เห็นเลยทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ถ้าพิจารณาเห็นคุณโทษแล้ว วิปัสสนาก็แยกออกเป็นธรรมคู่ คือ ธรรมที่ควรละและควรเจริญ เพราะสิ่งที่ควรจะรู้นั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ ที่เกิดและที่ดับ ถ้าแยกเป็นธรรมคู่ไม่ได้แล้ว จะรู้ได้จากทางไหน เพราะว่าธรรม ๒ อย่างนี้ไปด้วยกันก็จริง แต่ว่าไปคนละทาง ท่านจึงเรียกว่า ธรรมคู่ขนาน ธรรมที่ควรละ อย่าหลงลืมสติ ปล่อยจิตให้ฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์ที่ให้โทษเป็นความเศร้าหมอง คือกิเลสเหล่านั้น คอยข่มความฟุ้งซ่านแห่งจิตเข้าไว้ เรียกทมะ ซึ่งเป็นอาการของ อสัมโมหสัมปชัญญะ คือ ไม่หลงไปในทางอโคจร ส่วนธรรมที่ควรเจริญ ต้องฝึกฝนอบรมให้เจริญงอกงามไปตามแนวของสัปปายสัมปชัญญะ คือ เสพธรรมเป็นที่สบาย เป็นโคจรที่ถูกทาง และต่อไปจะไม่พบสิ่งที่ตนประสงค์ เรียกสัญญมะ แต่การแยกธรรมให้เป็นธรรมคู่นั้นแยกไม่เหมือนกัน และข้อปฏิบัติก็คงไม่เหมือนกัน

    จึงใคร่จะถามอาจารย์ว่า การแยกนามแยกรูปให้ต่างกันนั้น เอาตัวรอดได้ทางไหน ธรรมที่ควรละคืออะไร นามหรือรูป สงสัยว่าจะละไม่เหมือนกัน เมื่อถึงเวลานั้น หรือว่าจะไปเจริญเมื่อเวลาเกิดใหม่ เป็นกฎของกรรม หรือเป็นกฎของดินฟ้าอากาศ ถ้าการแยกนามแยกรูปสามารถปฏิบัติเอาตัวรอดได้จริง ช่วยส่งข่าวให้ทราบบ้าง จะได้ถือเอาเป็นสาธุชนตัวอย่าง ข้อสำคัญถามอะไรเขาแล้ว คอยแต่จะยกเอาข้อปฏิบัติขึ้นมาอวดอ้าง พูดในทำนองให้รู้ว่า ฉันก้าวไปไกลแล้ว เป็นข้อปฏิบัติที่ลึกลับ พูดเหตุผลให้ใครฟังไม่ได้ ถ้าใครปฏิบัติได้ไม่เท่าฉัน ก็ฟังฉันพูดไม่รู้เรื่อง พุทโธ่เอ๊ย ผู้ที่ได้ประโยชน์จากพระศาสดากับคนที่ยังไม่ได้ สำเนียงไม่เหมือนกันหรอก ท่านจึงกล่าวว่า สำเนียงบอกภาษา กิริยาบอกสกุล ยังไม่มีอะไรดี ปากจัดอย่างเดียวเท่านั้นเอง

    จากวัดเกาะ

    สุ. ขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่ได้กรุณาอ่าน

    ก็ไม่ทราบจุดประสงค์ของพระคุณเจ้า แต่ดิฉันขอกราบเรียนว่า ในเรื่องของการตอบจดหมาย ถึงแม้ว่าท่านผู้ฟังจะเขียนมาและได้ตอบโดยการบรรยาย แต่การที่จะออกอากาศนั้น ก็ต้องออกอากาศเป็นลำดับ เพื่อประโยชน์ของท่านผู้ฟังที่จะได้เข้าใจข้อความธรรมติดต่อกัน

    สำหรับดิฉันเองรู้สึกว่า ถึงแม้ว่าจะได้กราบเรียนนมัสการพระคุณเจ้าในการตอบจดหมายคราวก่อน ท่านก็ไม่มีศรัทธาที่จะรับฟัง ที่จะพิจารณา เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทราบว่า จะมีท่านผู้ฟังท่านใดที่ได้รับประโยชน์จากการฟังรายการนี้ และใคร่ที่จะกราบเรียนนมัสการพระคุณเจ้า ขอเชิญ

    ผู้ฟัง เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ ดิฉันปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวทางของท่านอาจารย์มาจนกระทั่งถึงบัดนี้เป็นเวลา ๑ ปีเศษ แต่ว่ากว่าจะเข้าใจได้ก็เพิ่งเข้าใจได้มาประมาณ ๓ เดือนนี่แหละ

    ครั้งแรกทีเดียวไม่เข้าใจ คือ ดิฉันฟังท่านอาจารย์พูด ดิฉันก็เข้าใจ หมายความว่า เข้าใจ แต่ไปทำไม่ถูก ทำความเข้าใจกับคำพูดของอาจารย์ แต่ไปทำแล้วก็ไม่ถูก ก็ทำซ้ำทำซาก ทำบ่อยๆ หลายครั้งมาก และในขณะโน้น ความหลงลืมสติก็มีมาก แต่พอระยะหลังๆ มา ที่ดิฉันได้เข้าใจ เพราะว่าดิฉันท่องจากคำพูดของอาจารย์เพียงบรรทัดเดียว คือ เจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เจริญตามความเป็นจริง ดิฉันก็ทำตาม

    เจริญสติครั้งแรก ดิฉันนึกท้อใจ ดิฉันก็เจริญสติปัฏฐานตามที่อาจารย์บรรยาย คือ เจริญตามทวารทั้ง ๖ นี้ตลอดเวลา ทำไมดิฉันไม่มีความเข้าใจ หรือว่าดิฉันจะไม่มีบารมีในทางนี้ ดิฉันก็เลยอธิษฐานต่อตัวเองว่า ดิฉันขอเจริญสติปัฏฐานเป็นพุทธบูชา ถ้าหากว่ายังมีภพ มีชาติอีก ก็ขออย่าให้ดิฉันได้หลงทางเลย ขอให้ได้เข้าใจและได้ศึกษาติดต่อกันไป

    อธิษฐานแล้ว ดิฉันก็ได้เจริญสติปัฏฐานต่อไป พอเจริญต่อไป ดิฉันก็ไปติดบัญญัติ ทั้งที่ๆ ไม่มีความรู้นี่แหละ ไปติดบัญญัติ หมายความว่า พอเห็นปั๊บ ก็บอกว่ารถยนต์ เห็นปั๊บ บอกว่าดอกไม้ต่อไปเลย ยั้งไม่อยู่ ต่อมาดิฉันก็หมั่นเจริญบ่อยๆ และดิฉันก็ท้อใจเรื่องนี้อีก คือ ไปติดตัวหนังสือ พอเจริญสติไปก็ว่า สิ่งที่เห็นเป็นรูป สิ่งที่รู้เป็นนาม ก็ไปติดที่ตัวหนังสือ แทนที่จะเข้าใจสภาวะอย่างที่อาจารย์พูด คือสภาวะปัจจุบันตามความเป็นจริงนั้น ยังไม่เห็น

    แต่ต่อมาเหมือนกับมีบุญมาช่วย ขณะที่ดิฉันเจริญสติปัฏฐานไปเนืองๆ บ่อยๆ บางครั้งมีความดีใจเกิดขึ้นอย่างชนิดที่ว่ามากมายเหลือเกิน เหมือนกับตัวนี้เย็นฉ่ำไปหมด ดิฉันจะเจริญสติสภาวะนั้นทันที พอครั้งหลังมาดิฉันก็เจริญสติไปเจอชนิดที่เดือดร้อนแสนสาหัส เกิดโกรธอย่างชนิดอยากจะขว้างอะไร หรือพูดอะไรแรงๆ สภาวะนั้นทำให้ดิฉันเห็นสภาวธรรมที่แท้จริงปรากฏขึ้นอย่างเดือดพล่าน และมีสติรู้ตามความเป็นจริง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ดิฉันก็มีความยินดีกับการจะเจริญธรรม เพราะดิฉันเข้าใจคำว่าสภาวะ ดิฉันก็เจริญบ่อยๆ จนกระทั่งแม้แต่เข้าห้องน้ำก็เจริญ

    ที่ท่านอาจารย์พูดว่า ขับรถก็เจริญได้ ดิฉันเคยคิดเหมือนกันว่า ถ้าอย่างนั้น มิชนกันตายหมดหรือ ถ้าหากไปเจริญสติ แต่เปล่า พอสภาวะเกิดขึ้นจริงๆ ไม่เหมือนที่เราคิด แป๊บเดียว แล้วก็หายไป

    เมื่อดิฉันเจริญใหม่ๆ ดิฉันไม่อยากหลงลืมสติ ก็หลงลืม อยากจะเข้าใจ ก็ไม่เข้าใจ ดิฉันถึงกับว่า อยากรู้แข็ง ก็เอาแขนไปถูกแรงๆ ให้รู้แข็ง ก็ยังไม่รู้ รู้แต่แข็งแบบธรรมดา ไม่ใช่แข็งแบบสติปัฏฐาน

    แต่ครั้งที่จะเข้าใจ คือ ธรรมตัวแรงๆ ที่พล่านๆ ต่อจากนั้นมา สภาวะนั้นดิฉันก็จำไว้ ความจริงไม่ใช่ตัวหนังสือ คำว่านามก็ดี ไม่ใช่ไปติดเอาตัวหนังสือ แต่เป็นสภาวะที่ปรากฏนิดเดียว เท่าที่เรามีสติรู้ทันนิดหนึ่งขณะที่เจริญสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์เคยพูดถึงเรื่องสีลัพพตปรามาส ดิฉันก็เข้าใจ ดิฉันเองก็เคยโดนเข้าไปหลายรอบทีเดียว เดี๋ยวก็ไปอยู่ข้างหน้า เดี๋ยวก็มาอยู่ข้างหลัง มันเคลื่อนคลาดอยู่อย่างนี้ คือ สภาวะที่ตรงจริงๆ น้อยมาก

    มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า การที่ฉันมาพบอาจารย์สุจินต์ ที่ฉันยังไม่ตายไปนี่ นับว่าเป็นกุศล นี่คือคนที่มีอายุเกือบ ๘๐ พูด และเคยเรียนพระอภิธรรมมาตั้งแต่ครั้งอาจารย์สุข วัดระฆัง จนบัดนี้ก็ยังเรียนอยู่ ท่านบอกว่า ไปตรวจสอบแล้ว ทานกันแล้ว รับรองว่าไม่มีความคลาดเคลื่อน ถ้าหากว่าท่านผู้ใดสงสัยอยู่ ก็เจริญไปบ่อยๆ อย่างท่านอาจารย์พูดนั่นแหละ ขอบคุณมากค่ะ

    สุ. ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนา ที่ท่านได้แสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งข้อปฏิบัติของท่าน และประโยชน์ที่ท่านได้รับจากการฟังธรรม

    . ได้ยินเรื่องของการปฏิบัติที่ท่านได้ปฏิบัติมา รู้สึกดีใจมากที่ท่านผู้ฟังผู้นี้ฟังและเข้าใจ ผมก็เป็นผู้หนึ่งเหมือนกันที่ได้ฟังอาจารย์บรรยายและได้ปฏิบัติตาม รู้สึกว่าปัญญาเกิด เมื่อปัญญาเกิดแล้ว อวิชชาก็ลด

    ปัญญาของผม คือ รู้จักลักษณะของสติกับรู้จักลักษณะของปัญญา ตามความเห็นของผม ผู้ที่จะมาฟังแนวทางเจริญสติปัฏฐานของอาจารย์สุจินต์ ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติ เข้าใจยากจริงๆ ถ้ารู้จักลักษณะของสติ ลักษณะของปัญญาว่า มีลักษณะอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร ฟังไปแล้วจะเข้าใจง่ายขึ้น แต่ถ้าผู้ฟังไม่รู้จักลักษณะของสติ บางครั้งจะเข้าใจว่า สมาธิเป็นสติ โลภะเป็นสติ โทสะเป็นสติ โมหะเป็นสติ หรือว่ามนสิการเป็นสติ ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

    ผมเคยถามบางคนว่า คนที่ข้ามสะพานไม้ไผ่ที่ลื่นๆ นั้น ขณะนั้นมีสติไหม เขาตอบว่า ถ้าไม่มีสติก็ตกสะพานแน่นอน แต่ที่จริงแล้ว ลักษณะที่ประคับประคองข้ามสะพานที่ลื่น ขณะนั้นเป็นสมาธิ ไม่ใช่สติ ผู้ที่มีสมาธิในขณะนั้น ข้ามสะพานได้โดยไม่ต้องมีสติหรอก ไม่ตกแน่ๆ ข้อปฏิบัติอย่างนี้แหละ ถ้าผู้ที่เข้าใจลักษณะของสติไม่คลาดเคลื่อน เข้าใจได้แน่ แต่ผู้ที่ไม่รู้จักลักษณะของสติ ก็จะไปเอาองค์ธรรมอย่างอื่นมาเป็นสติ ฟังเข้าใจยากจริงๆ

    สุ. ขอบพระคุณค่ะ แต่ขอเพิ่มเติมข้อความที่ท่านกล่าวสักเล็กน้อย เพราะว่าบางท่านอาจจะสงสัย ที่ว่ากำลังประคับประคองข้ามสะพานขณะนั้นเป็นสมาธิ แต่เอกัคคตาเจตสิกเป็นเจตสิกธรรมที่เกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น ขณะที่ท่านกำลังตั้งใจจดจ่อกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความต้องการ เป็นโลภมูลจิตซึ่งมีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นมิจฉาสมาธิ

    ผู้ฟัง ดิฉันไม่เคยเรียน แต่เคยฟังอาจารย์บรรยายหลายครั้ง รู้สึกว่ามีความสุขที่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ บุตรดิฉันเสียชีวิต แม้จะเสียใจมากเท่าไรแต่ เวลาที่ระลึกถึงสิ่งที่ท่านอาจารย์สอน ดิฉันก็ได้ความสุข เวลาที่เสียใจเกิดขึ้นมา ดิฉันก็นึกได้ว่า อ้อ เกิดอารมณ์ที่ไม่ดีขึ้นมา บางครั้งเวลาที่ดิฉันเกิดมีอารมณ์ที่ดี ดิฉันก็รู้ว่า อ้อ นี่มีอารมณ์ดี บางคราวเกิดความทุกข์ขึ้นมา ก็รู้ว่า อ้อ เวลานี้ดิฉันมีความทุกข์แล้ว เวลาเกิดมีอารมณ์อะไรขึ้นมา ดิฉันก็รู้ว่าเป็นอารมณ์ ดิฉันพูดไม่ค่อยจะถูก แต่ดิฉันรู้สึกว่า เข้าใจที่ท่านอาจารย์พูด เวลาเกิดเสียใจ ก็อ้อ นี่เกิดอนิฏฐารมณ์ ถ้าเกิดมีความสุข ก็เป็นอิฏฐารมณ์ ดิฉันพอที่จะเข้าใจที่ท่านอาจารย์พูด และบางเวลาที่หลงลืม ก็อ้อ ดิฉันขาดสติ บางเวลาที่รู้สึกตัว ก็รู้ว่ามีสติ ดิฉันได้รับความสุขจากท่านอาจารย์มาก ใครจะว่าอย่างไร ดิฉันก็ได้ความสุขจากท่านอาจารย์มากมาย พอเกิดทุกข์ขึ้นมา ก็ระลึกถึงที่ท่านอาจารย์ให้เจริญสติ ดิฉันก็คิดได้ พอได้มีความสุขบ้าง ดิฉันคิดว่า การบรรยายของท่านอาจารย์ได้ประโยชน์มาก

    สุ. ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาท่านผู้ฟัง วันนี้พระคุณเจ้าคงจะได้รับทราบความคิดเห็นและประโยชน์ที่ท่านผู้ฟังได้จากการรับฟัง พอสมควรแก่การที่พระคุณเจ้าจะรับฟังและพิจารณา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๗ ตอนที่ ๔๖๑ – ๔๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564