แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 440


    ครั้งที่ ๔๔๐


    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนฝนเม็ดใหญ่ (เท่าลูกเห็บ) ตกลงที่ทางใหญ่สี่แพร่ง พึงยังฝุ่นให้หายไป ปรากฏเป็นทางลื่น ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้ฝุ่นจักไม่ปรากฏที่ทางใหญ่สี่แพร่งโน้นอีก ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ ดูกร อาวุโส ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ คือ มนุษย์หรือโคและสัตว์เลี้ยง พึงเหยียบย่ำที่ทางใหญ่สี่แพร่งแห่งโน้น หรือลมและแดดพึงแผดเผาให้แห้ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ฝุ่นพึงปรากฏอีกทีเดียว ฉันใด ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ฯ

    นี่แสดงให้เห็นถึงความลึก ความหนาแน่น ความเหนียวแน่นของกิเลส ซึ่งไม่สามารถจะดับได้เพียงด้วยการอบรมเจริญสมถภาวนา แม้ว่าจะบรรลุปฐมฌาน แต่ว่าความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลายกิเลสตามความเป็นจริงได้ ซึ่งกิเลสที่สะสมมา เวลาที่มีปัจจัย มีกำลังเกิดขึ้น ก็ย่อมจะทำให้บุคคลนั้น โน้มเอียงไปในทางคลุกคลีตามกำลังของกิเลส ตราบใดที่ยังไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อาศัยเพียงความสงบเท่านั้น

    อุปมาเหมือนกับฝนเม็ดใหญ่ซึ่งตกลงมา ทำให้หนทางนั้นปราศจากฝุ่นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ภายหลังเมื่อมีมนุษย์ หรือโค หรือสัตว์เลี้ยง เหยียบย่ำที่ทางใหญ่สี่แพร่งนั้นอีก ลมและแดดพึงแผดเผาให้แห้ง ฝุ่นพึงปรากฏขึ้นอีก

    กิเลสนี้ยากจริงๆ แก่การที่จะดับได้ หลายท่านทีเดียวที่เข้าใจว่า จะต้องอบรมเจริญสมาธิเพื่อให้จิตสงบเสียก่อน ก็จะได้รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่จะเห็นได้ว่า มีผู้ที่เป็นฌานลาภีบุคคลมากมายหลายท่าน ที่สามารถอบรมจิตให้สงบถึงขั้นฌานจิต แต่ไม่สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ชัดจริงๆ ว่า สภาพธรรมใดเป็นนามธรรม สภาพธรรมใดเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยรวดเร็ว แต่จะต้องอาศัย สติระลึก สังเกต สำเหนียก จนหมดความเคลือบแคลงสงสัย จนเป็นความรู้ชัดจริงๆ ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เป็นเรื่องที่ทุกท่านจะสอบทาน พิสูจน์ได้ด้วยตัวของท่านเองถึงปัญญาที่แท้จริงว่ามีหรือเปล่า และที่จะพิสูจน์ได้ คือ ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้เอง ขณะที่กำลังเห็น รู้ไหมว่า เป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร ถ้ารู้ ก็ต้องรู้ลักษณะของสติด้วย ไม่ใช่เพียงนึกว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นนามธรรม และเมื่อสติเกิด สามารถจะรู้ได้ไหมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตไม่หวั่นไหว ไม่มีการผิดปกติใดๆ เพราะเป็นปัญญาที่รู้จริง เพราะได้อบรมมาแล้ว

    แต่โดยมากมีท่านผู้ฟังหลายท่าน ที่ท่านสังเกต สำเหนียก และก็ระลึกได้ว่า บางครั้งความเป็นตัวตนอย่างเหนียวแน่น อย่างละเอียดแทรกขึ้น ทำให้ผิดปกติไป นิดหนึ่ง เวลาที่จะระลึกทางตาก็ดี ทางหูก็ดี ทางจมูกก็ดี ทางลิ้นก็ดี ทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ถ้ามีความจงใจนิดหนึ่งที่จะรู้ ขณะนั้นไม่ใช่สภาพธรรมตามปกติ เช่น มีการเกร็ง การรู้สึกแข็ง มีการจดจ้อง ขณะนั้นทราบได้ว่า ไม่ใช่เป็นปัญญาที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามที่เป็นจริง

    ถ้ายังคงเป็นการผิดปกติ ก็ยังไม่ใช่ปัญญาที่อบรมเจริญ ที่จะระลึกรู้สภาพธรรมตามปกติจริงๆ

    มีพระภิกษุต่างประเทศรูปหนึ่ง ท่านบวชได้ไม่กี่พรรษา แต่ถ้าทราบประวัติชีวิตของท่าน ก็จะเห็นถึงปัจจัยการสะสม ท่านเคยเป็นผู้จัดรายการโทรทัศน์ที่ประเทศของท่าน มีชีวิตทางโลกอย่างชาวโลกในสมัยใหม่ แต่เพราะการสะสมมา ท่านก็ทิ้งชีวิตอย่างนั้น อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

    ท่านเล่าให้ฟังถึงครั้งหนึ่งมีเหตุการณ์ปรากฏแก่ท่าน เสมือนว่าไม่มีอะไรเลย โลกหายหมด ไม่มีอะไรเหลือ ขณะนั้นเป็นความตกใจ เวลาที่ท่านได้ฟังธรรมเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน และได้พูดถึงเรื่องของนามรูปปริจเฉทญาณ ท่านก็มีความสงสัยข้องใจ ติดใจเหลือเกินว่า ขณะนั้น ที่เคยเกิดกับท่านนั้น เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ใช่ไหม น่าติดใจ น่าสงสัย น่าข้องใจไหม แต่อย่าลืมว่า ตัณหานั้นละเอียดมาก ฉลาดมาก ที่จะชักจูง ชักชวนไปได้ทุกทางที่จะให้เกิดความต้องการ ที่จะให้เกิดความหวังในผล และแม้ว่าจิตของท่านจะน้อมนึกว่า ขณะนั้นเป็นนามรูปปริจเฉทญาณใช่หรือไม่ใช่ แต่สภาพธรรม การคิดอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ลักษณะของปัญญาที่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่เป็นลักษณะของความสงสัย เป็นลักษณะของความข้องใจ เป็นลักษณะของความติดใจในเหตุการณ์ที่แปลก ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับท่าน

    ก็ได้กราบเรียนท่านว่า ไม่สำคัญเลยสำหรับสิ่งที่เกิดมานานแล้ว และหมดไปนานแล้วด้วย ข้อสำคัญที่สุด คือ ขณะนี้ ท่านกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ สติระลึก รู้ชัดในสภาพธรรมที่เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีเยื่อใยของการที่จะยึดถือว่าเป็นตัวตนได้เลย และมีปัญญาที่รู้ชัดในสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ได้ไหม

    ถ้าสติเกิดไม่ได้ ปัญญาไม่ได้รู้ชัดอย่างนี้ ไม่ต้องห่วงถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้วเลย เพราะโดยมาก เพียงได้ยินชื่อของวิปัสสนาญาณ ท่านหวังแล้ว ท่านปรารถนาแล้ว ต้องการอะไรกับชื่อ ในเมื่อไม่ใช่ปัญญาจริงๆ ที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    และไม่ว่าเหตุการณ์ใดจะเกิดปรากฏ แม้ว่าจะไม่เคยเกิดมาก่อน ทิ้งไปได้ไม่นาน จิตก็หวนน้อมไปที่จะสงสัยอีก ที่จะติดใจอีก ลักษณะอย่างนี้คืออะไร ลักษณะอย่างนี้ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ตรงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ แต่กลับเป็นตัวตนที่ย้อนไปยึดโยงในสภาพธรรมที่เคยปรากฏโดยอาการที่แปลก ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยความสงสัย และด้วยความไม่รู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น คือ การที่เพียงนึกถึงสภาพที่เคยปรากฏ ที่เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง และก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การละกิเลสเป็นการยาก เป็นการที่จะต้องอบรมเจริญปัญญาให้รู้จริงในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นเครื่องวัดทันทีถึงสติปัญญาว่า ท่านอบรมมาพอที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมหรือยัง ถ้าสติระลึกไม่ได้ ปัญญาไม่รู้ ก็เป็นสิ่งที่เตือนให้ท่านทราบแล้วว่า จะต้องอบรมต่อไปอีกมากทีเดียว ไม่ใช่นั่งกังวล นั่งห่วงใย นั่งสงสัย หรือว่าใคร่ที่จะได้บรรลุอริยสัจธรรมในเวลาอันรวดเร็ว โดยที่แม้ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า นามธรรม รูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น คืออย่างไร

    ท่านผู้ฟังเคยได้ยินคำว่า กาย ที่เป็นรูปกาย กับนามกายแล้ว ดูเหมือนว่า โดยพยัญชนะจะไม่ยาก

    กาย เป็นที่ประชุมรวมกันของสภาพธรรม เช่น รูปกาย ก็หมายความถึง รูปต่างๆ ที่ประชุมรวมกันอยู่ ที่กายนี้ไม่ใช่มีรูปประเภทเดียว มีรูปมากมายหลายประเภทอยู่ร่วมกัน เกิดร่วมกัน ประชุมกัน รวมกันอยู่ ถ้าจะรู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตน สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของแต่ละรูปที่ปรากฏ

    แม้ว่ารูปหลายรูปจะประชุมรวมกัน อยู่ร่วมกันก็ตาม แต่ที่จะรู้ชัดว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้น สติจะต้องระลึกรู้ในลักษณะของรูป ทีละรูป ทีละลักษณะ ไม่ใช่รวมๆ กันว่า เป็นรูปกาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งอย่างนั้นไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    หรือแม้แต่คำว่า นามกาย ก็เหมือนกัน ใช้คำว่า นามกาย แสดงว่ามีนามธรรมหลายชนิด หลายประเภท ประชุมรวมกัน เกิดร่วมกัน การที่จะรู้ว่านามธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด

    เช่น การเห็น กับความรู้สึก เป็นนามกาย จะไม่มีนามธรรมที่เกิดมาโดดเดี่ยว โดยลำพัง โดยไม่มีนามธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย หรือจะไม่ใช่ที่ประชุมรวมกันของนามธรรมอื่นๆ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละลักษณะ ก็ไม่สามารถที่จะตัดเยื่อใยที่เคยยึดถือนามธรรมเหล่านั้นว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้ เช่น ในขณะที่เห็น อาจจะระลึกรู้ในสภาพที่เป็นอาการรู้ ธาตุรู้ อาจจะระลึกรู้บ้าง

    แต่สำหรับลักษณะของเวทนาในวันหนึ่งๆ ที่มีปรากฏอยู่เสมอ บางครั้งเป็นสุขเวทนา บางครั้งเป็นทุกขเวทนา บางครั้งเป็นโสมนัสเวทนา บางครั้งเป็นโทมนัสเวทนา และส่วนมากทีเดียวเป็นอุเบกขาเวทนา ถ้าสติไม่ระลึกรู้ในลักษณะของเวทนาอย่างนี้ แม้ว่าจะมีความรู้บ้างในนามธรรมที่เป็นจิต แต่ไม่รู้นามอื่นซึ่งประชุมรวมกันอยู่ในที่นั้น การที่จะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ก็มีไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียด ซึ่งผู้อบรมเจริญปัญญานั้นเองเป็นผู้ที่รู้ว่า เริ่มรู้เพิ่มขึ้นบ้างไหม ยังไม่ต้องไปถึงขั้นละ เพราะว่าขั้นละนั้น ต้องเป็นปัญญาขั้นสูงทีเดียวที่สามารถจะถึงนิพพิทาหรือวิราคะได้

    จากข้อความใน จิตตหัตถิสารีปุตตสูตร ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะได้อบรมสมถภาวนาจนกระทั่งบรรลุปฐมฌานจิต แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพียงการอบรมความสงบของจิตเท่านั้น ไม่สามารถที่จะทำให้ละคลายกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เขาย่อมกล่าวว่า เราเป็นผู้ได้ทุติยฌาน (แต่) ยังคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ฯลฯ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนฝนเม็ดใหญ่ตกลงที่สระใหญ่ใกล้บ้านหรือนิคม พึงยังทั้งหอยกาบและหอยโข่ง ทั้งก้อนกรวดและกระเบื้องให้หายไป ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้ หอยกาบ หอยโข่ง ก้อนกรวด และกระเบื้อง จักไม่ปรากฏในสระโน้นอีก ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ ดูกร อาวุโส ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นฐานะที่มีได้ คือ มนุษย์หรือโคและสัตว์เลี้ยง พึงดื่มที่สระแห่งโน้น หรือลมและแดดพึงแผดเผาให้แห้ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ทั้งหอยกาบและหอยโข่ง ทั้งก้อนกรวดและกระเบื้อง พึงปรากฏได้อีกทีเดียวฉันใด ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน บรรลุทุติยฌาน ฯลฯ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ฯ

    สำหรับในข้อความเรื่องของทุติยฌาน ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าสามารถที่จะเจริญอบรมสมถภาวนาให้ยิ่งขึ้นจากขั้นของปฐมฌานถึงขั้นทุติยฌานก็ตาม แต่ถ้าไม่ใช่การขัดเกลากิเลสด้วยปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม บุคคลผู้นั้นก็ยังมีกิเลสที่สะสมมา ที่ทำให้โน้มเอียงไปในความพอใจในการคลุกคลีกับบุคคลต่างๆ ซึ่งถ้ากิเลสมีกำลังมากกว่า ผู้นั้นก็ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เขาย่อมกล่าวว่า เราได้ตติยฌาน (แต่) ยังคลุกคลีด้วยพวกภิกษุ ฯลฯ ลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์

    ดูกร อาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนอาหารค้างคืน ไม่พึงชอบใจแก่บุรุษผู้บริโภคอาหารประณีต ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บัดนี้อาหารจักไม่ชอบใจแก่บุรุษชื่อโน้นอีก ผู้นั้นพึงกล่าวโดยชอบหรือหนอ ดูกร อาวุโส ข้อนี้ไม่เป็นเช่นนั้น อาหารอื่นจักไม่ชอบใจแก่บุรุษผู้โน้นผู้บริโภคอาหารประณีต ตลอดเวลาที่โอชารสแห่งอาหารนั้นจักดำรงอยู่ในร่างกายของเขา แต่เมื่อใดโอชารสแห่งอาหารนั้นจักหมดไป เมื่อนั้นอาหารนั้น พึงเป็นที่ชอบใจเขาอีก ดูกร อาวุโสทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีอุเบกขา เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกายเพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ฯลฯ ย่อมลาสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ ฯ

    ข้อความในสูตรนี้ เปรียบเทียบให้เห็นความสงบยิ่งขึ้นของจิตเป็นขั้นๆ ในขั้นของตติยฌานซึ่งปราศจากปีติ อุปมาเหมือนกับผู้ที่พอใจในการบริโภคอาหารที่ประณีต สงบ ประณีตมาก ขณะนั้นจิตสามารถที่จะดื่มด่ำในความสงบที่เป็นสมถภาวนา ไม่สนใจฝักใฝ่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเหมือนกับอาหารค้างคืน คือ อาหารที่ไม่ประณีต เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็พอใจตลอดเวลาที่โอชารสแห่งอาหารนั้นดำรงอยู่ในร่างกาย แต่เมื่อใดโอชารสแห่งอาหารนั้นจักหมดไป เพราะว่าฌานจิตก็ดับ เมื่อนั้น อาหารนั้น คือ อาหารที่ไม่ประณีต พึงเป็นที่ชอบใจเขาอีก

    แสดงให้เห็นถึงความติดอย่างเหนียวแน่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งแม้ว่าจะสงบระงับไปด้วยฌานจิต แต่ตราบใดที่ยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท ผู้นั้นก็ย่อมมีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะซึ่งไม่ประณีตเท่าตติยฌาน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๔๓๑ – ๔๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564