แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 447


    ครั้งที่ ๔๔๗


    สำหรับฆราวาส อุบาสก อุบาสิกา สามารถที่จะรักษาศีลได้ถึงศีล ๑๐ แต่ต้องตามระดับของคุณธรรมด้วย ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้สะสมอุปนิสัยที่จะบรรลุคุณธรรมถึงขั้นที่จะรักษาศีล ๑๐ ก็รักษาไม่ได้ ลองเพียรดูว่า จะรักษาได้ไหม ถ้าไม่มีอุปนิสัยในการที่จะบรรลุคุณธรรมที่จะทำให้ถึงการรักษาศีลระดับนั้น

    มีกาลเป็นที่สุดอย่างไร สำหรับอุบาสก อุบาสิกา เมื่อให้ทาน ชื่อว่า สมาทานศีล มีการอังคาส หรือการเลี้ยงดูเป็นที่สุด

    สำหรับผู้ที่ไปวัด ชื่อว่า สมาทานศีล มีวิหารเป็นที่สุด

    ผู้ที่สมาทานศีลโดยกำหนด ๑ วัน ๒ วัน ๓ วัน หรือกำหนดวันคืนยิ่งกว่านั้น ชื่อว่า มีกาลเป็นที่สุด คือ มีกาลเป็นขอบเขต

    เคยไหมที่คิดว่าจะรักษาศีลสัก ๑ วัน สัก ๒ วัน สัก ๓ วัน หรือว่าถ้าจะรักษาเสมอไปเป็นนิตย์ได้ ก็เพราะว่าท่านได้สะสมอบรมคุณธรรมที่เป็นอุปนิสัยสามารถที่จะรักษาได้เช่นนั้น

    ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถา วิภังคปกรณ์ มีข้อความว่า

    คำว่า อุปาสกสิกขา ได้แก่ สิกขาทั้งหลายอันอุบาสกทั้งหลายพึงศึกษา อุปาสกสิกขานั้น ย่อมเป็นไปด้วยสามารถแห่งศีล ๕ และศีล ๑๐

    คำว่า อุปาสิกาสิกขา ได้แก่ สิกขาทั้งหลายอันอุบาสิกาทั้งหลายพึงรักษา อุปาสิกาสิกขาแม้นั้น ย่อมเป็นไปด้วยสามารถแห่งศีล ๕ และศีล ๑๐

    สำหรับอุบาสก อุบาสิกาก็เช่นเดียวกัน บางท่านอาจจะไม่ทราบว่า ศีล ๘ และศีล ๑๐ มีอะไรบ้าง แต่ก็จะเห็นกำลังของฆราวาสผู้มีศรัทธาที่จะสะสมอุปนิสัยในการที่จะขัดเกลากิเลส ย่อมสามารถพากเพียรที่จะรักษาได้ถึงศีล ๑๐ ซึ่งแต่ละท่านทราบดีว่า ท่านสามารถที่จะรักษาได้เพียงระดับใด

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านได้ฟังเรื่องของอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ ท่านก็เกิดศรัทธาที่จะรักษาสักวันหนึ่ง ดูว่าจะยากง่ายประการใด จะลำบากมากไหมสำหรับท่าน แต่สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยในชีวิตของท่าน ทำให้ท่านลำบากเหลือเกินสำหรับการรักษาอุโบสถศีล เพราะแวดล้อมไปด้วยบุตรหลาน มิตรสหาย พอถึงเวลาเย็นก็มาชักชวนในการบริโภค ชิมนั่นนิด ชิมนี่หน่อย จนในที่สุดท่านไม่สามารถจะรักษาอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ ได้ แต่ท่านสามารถที่จะรักษาศีล ๕ ได้ แล้วแต่ความสามารถ ขณะใดจะล่วงหรือไม่ล่วง ก็แล้วแต่กำลังของกิเลส

    เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับตัวท่าน และความสามารถ อุปนิสสยปัจจัยที่จะรักษาศีลในระดับใด แต่อาจจะมีปัจจัยที่ต้องการสะสมการขัดเกลากิเลสเป็นพิเศษในบางกาล เช่น ในวันอุโบสถ ด้วยการรักษาอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ แต่ให้ทราบว่า จุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ ก็เพื่อที่จะให้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง

    ขอกล่าวถึงข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ราชสูตรที่ ๒ ข้อ ๔๗๗ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อแนะนำเทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ตรัสคาถาไว้ในเวลานั้นว่า แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ สิ้นดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ ของปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ด้วย ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คาถานี้แล ท้าวสักกะจอมเทพขับผิด ไม่ถูก ภาษิตไว้ผิด ไม่ถูก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท้าวสักกะจอมเทพยังเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจที่ต้องทำแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสังโยชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้โดยชอบ ควรที่จะกล่าวคาถาว่า แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ สิ้นดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ ของปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ด้วย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อแนะนำเทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ตรัสคาถาไว้ในเวลานั้นว่า แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ สิ้นดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ ของปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ด้วย ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็คาถานี้นั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพขับผิด ไม่ถูก ภาษิตไว้ผิด ไม่ถูก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท้าวสักกะจอมเทพยังเป็นผู้ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า ยังไม่พ้นไปจากทุกข์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจที่ต้องทำแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสังโยชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้โดยชอบ ควรที่จะกล่าวคาถาว่า แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ สิ้นดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ ของปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ด้วย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า พ้นไปจากทุกข์แล้ว ฯ

    ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมจริงๆ แม้แต่ท้าวสักกะจอมเทพก็ยังขับผิด ไม่ถูก ภาษิตไว้ผิด ไม่ถูกได้ นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้งของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง ได้ทรงบัญญัติ พร้อมทั้งเหตุและผลทุกประการ แม้แต่ในการที่จะรักษาอุโบสถศีล ก็มีจุดมุ่งหมายด้วยสำหรับผู้ที่รักษาว่า ด้วยเหตุใดจึงรักษาอุโบสถศีล

    ท่านผู้ฟังที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล จะเหมือนพระอริยบุคคลในขณะที่รักษาศีล ๕ เพราะฉะนั้น ฆราวาสที่จะรักษาศีลอุโบสถ ก็เป็นการกระทำที่ประพฤติปฏิบัติเช่นพระอรหันต์ แต่เมื่อยังไม่ถึง ยังไม่เป็น ก็ต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลว่า เพื่อที่จะได้ขัดเกลากิเลสเป็นพิเศษในกาลที่สามารถจะกระทำได้ เพื่อว่าวันหนึ่งการสะสมอุปนิสัยของการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์นี้ จะได้ทำให้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ได้จริงๆ แต่ไม่ใช่ว่าอย่างรวดเร็วเลย

    ข้อความใน มังคลัตถทีปนีแปล กถาว่าด้วยกรรมอันหาโทษมิได้ มีข้อความว่า

    ผู้ที่ไม่สามารถสมาทานอุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ ควรรักษาศีล ๕ ตลอดเดือนทั้งสิ้น

    คือ เป็นนิจศีล ไม่จำกัดกาล แต่ว่าเพื่อการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น เมื่อมีโอกาสหรือเป็นกาลที่ท่านสามารถที่จะรักษาอุโบสถศีลได้ ก็ควรที่จะอบรมรักษาอุโบสถศีล เพื่อให้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์

    ถ. การรักษาอุโบสถศีล จุดประสงค์มีแน่ ท้าวสักกะพระองค์จะกล่าวผิด หรือถูกก็แล้วแต่ แต่ผู้ที่รักษาอุโบสถศีล จุดประสงค์ของเขาต่ำกว่านั้นก็มีมาก ไม่ได้ปรารถนารักษาอุโบสถศีลเพื่อเป็นท้าวสักกะ แค่เพียงได้เกิดบนสวรรค์ก็พอ

    แต่ผมสงสัยว่า ผู้ที่ทำสมาธิ จิตสงบจนได้ปฐมฌาน ได้รูปฌาน อรูปฌาน ได้บังเกิดในพรหมโลก วิบากที่บังเกิดในพรหมโลกไม่น่าจะชั่วช้าเลวทราม ทำไมพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้น

    สุ. สำหรับผู้ที่ยังเห็นว่าดี ก็ว่าไม่ชั่วช้าเลวทราม แต่ต้องเกิดอีก ต้องตายอีกเรื่อยๆ ไม่สามารถที่จะละสังสารวัฏฏ์ได้ เมื่อยังเห็นว่าดี ก็ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ

    ใครก็ตามที่ยังมีความติด ความพอใจแม้ในสมาธิ สมาธินั้นก็ไม่ได้ละกิเลส เพราะเหตุว่าเป็นที่ตั้งของกิเลส ทำให้มีความพอใจในสมาธินั้น หรือการที่จะเกิดในพรหมโลก ก็ยังเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ไม่ใช่สมาธิที่สามารถที่จะดับกิเลส ละกิเลส เมื่อมีการเกิดขึ้นเป็นสังสารวัฏฏ์ ถ้ายังเห็นว่าดี ก็เกิดต่อไปในสังสารวัฏฏ์

    สำหรับข้อความที่ท้าวสักกะกล่าว ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่เข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ของการรักษาอุโบสถศีล ท่านปรารถนาเพียงแค่สวรรค์ แม้ท้าวสักกะจอมเทพเอง ก็ได้ตรัสคาถาว่า แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา คือ การเป็นเพียงท้าวสักกะ เป็นเพียงจอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เท่านั้น ก็พึงเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ สิ้นดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ ของปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ด้วย

    ต้องการเพียงแค่นั้น ผลเท่านั้นเองหรือในการที่จะรักษาอุโบสถศีล

    แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คาถานี้แล ท้าวสักกะจอมเทพขับผิด ไม่ถูก ภาษิตไว้ผิด ไม่ถูก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท้าวสักกะจอมเทพยังเป็นผู้ไม่ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจที่ต้องทำแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว มีสังโยชน์ในภพหมดสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้โดยชอบ ควรที่จะกล่าวคาถาว่า แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา นี่คือจุดประสงค์ของการที่จะรักษาอุโบสถศีล ก็พึงเข้าจำอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ สิ้นดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๘ ของปักษ์ และสิ้นปาฏิหาริยปักษ์ด้วย ฯ

    เพราะฉะนั้น ท่านเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูก มีเจตนา มีจุดประสงค์อย่างไรในการรักษาอุโบสถศีล

    หลายท่านมีตัณหาหรือความต้องการที่เหนียวแน่นเหลือเกิน เพราะมักจะถามว่า ทำอย่างไรถึงจะได้ผลของบุญมากๆ แสดงถึงอะไร แม้แต่การที่จะรักษาอุโบสถศีล จุดประสงค์ก็คลาดเคลื่อนแล้ว คือ ไม่รู้จุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลว่า เพื่อการบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์

    ถ. พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ท้าวสักกะกล่าวผิด ผิดในที่นี้หมายความว่า ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลแล้ว จุดประสงค์ที่เพื่อไปบังเกิดเป็นเทวดา หรือเป็นท้าวสักกะนั้นบังเกิดไม่ได้ หรืออย่างไร

    สุ. เกิดได้ ขอให้เหตุสมควรแก่ผล แต่จุดประสงค์ผิด เพราะฉะนั้น การกระทำใดๆ ถ้าไม่เข้าใจในจุดประสงค์ที่แท้จริง จะเห็นได้ว่า ไม่เป็นไปตามควรแก่สิกขาบท คือ การศึกษาการปฏิบัตินั้นเลย

    อย่างเช่น บางท่านอยากจะได้บุญมากๆ เลยรักษาอุโบสถศีล แต่ว่าไม่ได้ขัดเกลาอะไรเลย มีไหม เพียงแต่ทราบว่า ศีล ๘ อุโบสถศีลอันประกอบด้วยองค์ ๘ มีอะไรบ้าง และก็รักษา แต่กิเลสไม่ได้ขัด ซึ่งถ้าศึกษาต่อไป จะทราบได้จริงๆ ว่า ผู้ที่รักษาอุโบสถศีลนี้ ขัดเกลายิ่งขึ้นจากศีล ๕ อย่างไรบ้าง

    ถ. ขอความกรุณาอธิบายความหมายของพุทธภาษิตที่ว่า ความผิดเสมอด้วยโทสะไม่มี และทุกข์เสมอด้วยขันธ์ไม่มี

    สุ. ถ้าจะเอาอย่างง่ายๆ ธรรมดา เวลาที่เกิดโกรธขึ้น แทนที่จะคิดอะไรในทางที่ถูกต้อง ก็อาจจะคิดและกระทำในทางที่ผิดก็ได้

    ทุกข์ใดก็ไม่เสมอด้วยขันธ์ จริง แต่ว่าเห็นยาก เกิดมานี้อะไรเกิด ขันธ์เกิด ลำบากไหมเกิดมาแล้ว อะไรลำบาก อะไรทุกข์ ก็ขันธ์ทุกข์ อย่างง่ายๆ ธรรมดาก็อย่างนี้ และก็คิดเอาเองได้อีกมากทีเดียว

    ตลอดเวลาที่กำลังนั่งอยู่นี่ ขันธ์ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ขันธ์ ทั้งรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ และขันธ์ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับ นี่คือทุกข์อย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาจริงๆ ไม่อยู่ในบังคับบัญชาได้เลย ทุกข์ไหม บังคับไม่ได้ อยากจะทำอะไร แต่ไม่ได้อย่างใจ บังคับให้เป็นอย่างใจไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขันธ์ทั้งหมดเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    ขันธ์ใดจะเกิดวันไหน เมื่อไร ขณะใด ก็เพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้ขันธ์นั้นเกิด ขันธ์นั้นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทุกขันธ์เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา จึงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง

    . ปาฏิหาริยปักษ์เป็นอย่างไร

    สุ. ระหว่างพรรษาเป็นปาฏิหาริยปักษ์

    ถ. อุโบสถศีลที่อาจารย์กล่าวว่า ๕ ข้อแรกต่างกับศีล ๕ ขออาจารย์ช่วยอธิบายด้วยว่า ต่างกันอย่างไร

    สุ. คือ ผู้ที่รักษาอุโบสถศีล รักษาขัดเกลาเป็นพิเศษยิ่งขึ้น แม้แต่ในศีล ๕ ซึ่งเป็นนิจศีล ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านรักษาศีล ๕ วิรัติการฆ่าสัตว์ แต่ผู้ที่รักษาอุโบสถศีล ต้องไม่มีแม้แต่ความคิดที่จะเบียดเบียน หรือที่จะฆ่าด้วย บางทีคิดไว้ในใจใช่ไหม สำหรับบางท่าน วันนี้รักษาอุโบสถศีล แต่ว่าจิตยังไม่ประกอบด้วยเมตตาเช่น พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะขัดเกลาต้องเห็นกิเลสจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร และการที่จะขัดเกลายิ่งขึ้น สภาพของจิตจะต้องเป็นอย่างไร

    ไม่ใช่ชื่อว่า มี ๘ อุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘ ก็รู้ว่า ๘ คืออะไรบ้าง แต่ไม่เข้าใจการที่จะประพฤติตามองค์ทั้ง ๘ นั้นเลย อย่างนั้นก็ไม่ใช่การขัดเกลากิเลสเป็นพิเศษยิ่งขึ้นตามกาลที่สามารถจะกระทำได้

    อย่างข้ออทินนาทาน ท่านที่ละเว้น ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้ บางทีเห็นว่าไม่สำคัญ ไม่ใช่วัตถุใหญ่ ไม่มีราคา เพราะฉะนั้น ท่านก็ถือเอามาเป็นประโยชน์ของท่านในขณะนั้น อย่างนี้อทินนาทานหรือเปล่า หิริเกิดหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นผู้ที่รักษาอุโบสถศีล สติระลึกรู้สภาพธรรม และวิรัติยิ่งขึ้น

    ถ้าท่านศึกษาในพระวินัยปิฎก จะเห็นความละเอียดยิ่งขึ้นของการที่จะปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ เช่น ของที่เจ้าของหวงแหนหรือไม่ได้ให้นั้นคืออย่างไร คือ สิ่งที่ยังไม่ได้ประเคนตามพระวินัยบัญญัติ ทายก ทายิกา อุบาสก อุบาสิกา นำมาถวาย แต่ถ้าไม่ประเคน ก็ถือว่าวัตถุนั้นเป็นวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของกิเลสไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย เป็นเรื่องจริงและมี ข้อประพฤติปฏิบัติขัดเกลามากมายจริงๆ ที่จะเป็นอุปนิสสยปัจจัยที่จะให้ละกิเลสได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๔๔๑ – ๔๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564