แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 479


    ครั้งที่ ๔๗๙


    สัตว์ทั้งหลายได้เสวยทุกข์ต่างๆ เพราะความใคร่ในกาม คบเพลิงหญ้าอันไฟติดโชนย่อมไหม้ คนผู้ถืออยู่และไม่ทิ้ง เพราะว่ากามทั้งหลายเปรียบดังคบเพลิงย่อมไหม้คนที่ไม่ละ

    พระองค์อย่าทรงละสุขอันไพบูลย์ เพราะเหตุแห่งกามสุขอันเล็กน้อยเลย พระองค์อย่าทรงเป็นเหมือนปลากลืนเบ็ด แล้วเดือดร้อนในภายหลัง

    พระองค์อย่าทรงหมุนไปผิด เพราะกามทั้งหลาย ดังสุนัขอันถูกเขาล่ามโซ่ไว้เลย สัตว์ทั้งหลายผู้มีความอยากเพราะกามจัด บริโภคกามนั้น เหมือนเสือปลาถูกความหิวครอบงำ ได้สุนัขแล้ว ถึงความพินาศฉิบหาย ฉะนั้น

    พระองค์ทรงประกอบด้วยกาม จักต้องทรงเสวยทุกข์ หาประมาณมิได้ และโทมนัสแห่งจิตเป็นเป็นอันมาก จงทรงสละกามทั้งหลายอันไม่ยั่งยืนเสียเถิด เมื่อนิพพานอันเป็นธรรมไม่แก่มีอยู่ ไฉนพระองค์จึงต้องการด้วยกามทั้งหลายที่มีความแก่เล่า เพราะการเกิดทุกชาติในภพทั้งปวง ประกอบด้วยความตายและพยาธิ นิพพานนี้ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นทางดำเนินถึงความไม่แก่ ไม่ตาย ไม่มีความเศร้าโศก ไม่คับแคบเพราะข้าศึก ไม่มีความพลั้งพลาด ไม่มีภัย ไม่มีความเดือดร้อน อมตนิพพานนี้อันพระอริยเจ้าเป็นอันมากได้บรรลุมาแล้ว และอมตนิพพานนี้อันบุคคลผู้พยายามโดยอุบายอันแยบคายจะพึงได้แม้ในวันนี้ แต่บุคคลผู้ไม่พยายามไม่อาจจะได้แม้ในกาลไหนๆ

    นางสุเมธาราชกัญญาตรัสอย่างนี้ เมื่อไม่ได้ความยินดีในสังขาร เมื่อจะทรงยังพระเจ้าอนิกรัตต์ให้ทรงยินยอม จึงทรงโยนผมที่ทรงตัดแล้วด้วยพระขรรค์ไปที่พื้นดิน พระเจ้าอนิกรัตต์เสด็จลุกขึ้นประคองอัญชลี ทูลขอกะพระบิดาของนางสุเมธาราชกัญญานั้นว่า

    ขอจงทรงโปรดปล่อยให้นางสุเมธาบวชเถิด นางจะเป็นผู้เห็นวิโมกข์และสัจจะ

    ก็นางสุเมธาราชกัญญา อันพระชนกชนนีทรงปล่อยแล้ว เป็นผู้กลัวต่อภัย คือความโศก ออกบวชแล้ว เมื่อศึกษาอยู่ได้กระทำให้แจ้งซึ่งอภิญญา ๖ กระทำให้แจ้งซึ่งผลอันเลิศ คือ อรหัตตผล นิพพานของนางสุเมธาราชกัญญาเป็นธรรมน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี

    เมื่อจะแสดงวิธีตามที่ตนได้ประพฤติแล้วในปุพเพนิวาสญาณ พระสุเมธาเถรีจึงพยากรณ์ในเวลาปรินิพพานว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโกนาคมน์เสด็จอุบัติแล้วในโลก เมื่อสังฆารามตั้งลงใหม่ๆ ข้าพเจ้าเป็นหญิง ๓ คน เป็นสหายกัน (คือ นางธนัญชานี นางเขมา และข้าพเจ้า) ได้ถวายอารามให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ ข้าพเจ้าทั้ง ๓ ได้อุบัติในเทวโลก ๑๐ ครั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง และ ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ไม่ต้องพูดถึงการเกิดในหมู่มนุษย์ ข้าพเจ้าทั้ง ๓ เป็นผู้มีมหิทธิฤทธิ์ในเทวโลกทั้งหลาย ไม่ต้องกล่าวถึงความเป็นผู้มีมหิทธิฤทธิ์ในหมู่มนุษย์ ข้าพเจ้าได้เป็น พระมเหสีนารีรัตน์ของพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีรัตนะ ๗ ประการ การที่เราสร้างอารามถวายให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมน์นั้น เป็นเหตุ เป็นแดนเกิดแห่งทิพยสมบัติตามที่กล่าวมาแล้ว ทั้งเป็นรากเหง้า เป็นเหตุให้อดทนในคำสั่งสอน เป็นเหตุให้ตั้งลงมั่นครั้งแรกในพระศาสนา และเป็นที่สุดสิ้นแห่งความเพียรของข้าพเจ้า ผู้ยินดีแล้วในธรรม

    บุคคลเหล่าใด ย่อมเชื่อพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีปัญญาไม่ต่ำทราม บุคคลเหล่านั้นย่อมกล่าวอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในภพ ครั้นเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมคลายกำหนัด

    จบ มหานิบาต

    ท่านผู้ฟังจะเห็นความคุ้มค่าที่นางสุเมธาราชกัญญาได้ทรงยกภาษิตต่างๆ ขึ้นมาแสดง ให้เห็นถึงการที่ไม่ควรติดในกาม ในร่างกาย ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และข้อสำคัญที่สุด คือ ก่อนที่จะสละความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะต้องอบรมปัจจัยบารมีมากมายสักเพียงไร ด้วยการขัดเกลา ด้วยการเจริญกุศลทุกประการ อดทนในการที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง อย่างขณะนี้ ถ้าสติจะระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย แข็งหรืออ่อน ร้อนหรือเย็นก็แล้วแต่ นั่นเป็นสติปัฏฐาน และไม่ต้องเดือดร้อนใจที่จะรู้ให้ชัดกว่านั้น ให้มากกว่านั้น ให้นานกว่านั้น ถ้าเป็นในลักษณะนั้น ก็ไม่อดทน มีความเป็นตัวตนแทรกขึ้นมาใคร่ที่จะให้รู้ชัดว่า ลักษณะที่แข็งนั้นเป็นนามรูปปริจเฉทญาณอย่างไร ซึ่งไม่ใช่จะรู้ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะเหตุว่าก่อนที่จะประจักษ์จริงๆ ในความไม่เที่ยง ในความเกิดขึ้นและดับไป จะต้องอบรมเจริญปัญญา ละคลายการที่เคยยึดถือนามและรูปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยทั่วจริงๆ และเป็นปกติอย่างนี้

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และท่านกล่าวว่า ชีวิตประจำวันเป็น สติปัฏฐาน แต่เป็นอย่างนั้นแล้วหรือยัง ชีวิตประจำวันตามปกติธรรมดาไม่ผิดปกติเลยเป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าสติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริง ไม่ผิดเพี้ยนเลย และสามารถที่จะประจักษ์ได้จริงๆ ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน สามารถที่จะแทงตลอดถึงการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ แต่ว่าก่อนที่จะถึงปัญญาขั้นนั้น อย่าข้าม โดยที่ว่า กำลังเห็นในขณะนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร

    ถ้ากำลังเห็นในขณะนี้ไม่สามารถที่จะรู้ว่า เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ว่า นามธรรมเกิดอย่างไร ดับอย่างไร รูปธรรมเกิดอย่างไร ดับอย่างไร เพราะฉะนั้น เป็นการอดทนจริงๆ ที่สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ

    . ตรงนี้ที่ลำบาก เวลาที่สติเกิดขึ้น เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็น เสียงกับได้ยินเสียง มีลักษณะต่างกันอย่างไร ยากตรงนี้ จะไปรู้ตรงได้อย่างไร สีกับเห็น ก็เกิดขึ้นรวมกัน แยกกันไม่ออก ขณะที่เห็นกับสิ่งที่ถูกเห็นก็รวมกันอยู่ จะรู้ตรงหรือไม่ตรงก็ไม่รู้ทั้งนั้น แล้วแต่จิตจะน้อมไป บางครั้งก็พิจารณาว่า ลักษณะนี้เป็นสี ลักษณะนี้เป็นการเห็น แต่จะตรงหรือไม่ตรง ก็ไม่รู้

    สุ. เป็นข้อสงสัยของท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานทุกท่าน เพราะฉะนั้น วิธีอบรมเจริญปัญญาควรจะเป็นไปในลักษณะอย่างไร เมื่อทราบว่า สติควรจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้เป็นตัวตนที่กำลังพยายามให้ตรง

    ถ้าเป็นตัวตนที่กำลังพยายามที่จะให้ตรง ก็ลำบากอีกแล้ว ซึ่งขณะนั้นจะไม่ตรงแน่นอน เพราะว่าตัวตนกำลังพากเพียรพยายาม และในขณะที่กำลังเพียรพยายามนั้นเอง ไม่ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงปรากฏแล้วหมดไป เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกรู้ให้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ก็ด้วยการละคลายตัวตนที่กำลังพากเพียร ที่จะพยายามกระทำให้ตรง

    และจะสังเกตได้จริงๆ ว่า ขณะใดที่มีการละคลาย สภาพธรรมย่อมปรากฏตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นเอง ตัวตนที่กำลังนั่งอยู่นี้ก็ไม่มี มีแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมลักษณะเดียวที่ปรากฏ จะเป็นอ่อน หรือว่าจะเป็นแข็ง หรือว่าจะเป็นร้อน หรือว่าจะเป็นเย็น หรือว่าจะเป็นเสียง หรือว่าเป็นกลิ่นก็ตาม มีการเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ว่า ตัวตนไม่มี มีแต่เพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏลักษณะเดียวเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นไม่ยึดโยงความเป็นตัวตนไว้ ลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ

    . ขณะที่มีความรู้สึกตัว ขณะนั้นตัวตนไม่มี แต่แยกไม่ออกระหว่างสีกับเห็น ก็ประชุมรวมกันอยู่ตามที่อาจารย์บรรยาย ทั้งที่ตัวตนไม่มี ก็ยังแยกไม่ออกว่า ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นรูปหรือเป็นนาม เพราะว่ารวดเร็วเหลือเกิน เมื่อแยกไม่ออก ก็รู้ว่าแยกไม่ออก ผมจึงคิดว่า พิจารณาสภาพธรรมไม่ตรงตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น อาจจะรู้คลาดเคลื่อน รู้ไม่ตรง เพราะเหตุว่ายังแยกไม่ออก จะตรงหรือไม่ตรง ก็ยังไม่รู้

    สุ. ถ้าไม่ยึดโยงไว้ ไม่มีอะไรเลย กำลังนั่งนี่ก็ไม่มี แต่ว่ามีลักษณะที่กำลังปรากฏจริงๆ ตรงส่วนหนึ่งส่วนใด ตรงลักษณะนั้นจริงๆ แต่ไม่มีตัวตน ไม่มีท่าทางอะไรที่กำลังนั่ง นี่คือวิธีที่จะรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะโดยมากยึดโยงความรู้สึกว่า กำลังนั่ง หรือว่าเป็นท่าทางอยู่ แต่จริงๆ ไม่มี ท่าทางไม่มี ตัวตนไม่มี เพราะว่ามีเพียงลักษณะเดียวปรากฏแต่ละขณะ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ไม่มีท่าทาง ไม่มีตัวตน มีลักษณะอ่อนปรากฏตรงไหน มีลักษณะแข็งปรากฏตรงไหน ก็ตรงนั้นจริงๆ เพราะตรงอื่นไม่มี นั่นคือลักษณะของธรรมที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริงตรงนั้น และจึงจะสำเหนียก สังเกต เพื่อจะแยกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม แต่การที่จะแยกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมนี้ ต้องมีลักษณะตรงลักษณะจริงๆ ปรากฏเสียก่อน เวลานี้ปรากฏได้ไหม ไม่ต้องยึดโยงท่าทางอาการอะไรไว้เลย รู้เฉพาะตรงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ถ้าจะเป็นอ่อนหรือแข็งตรงหนึ่งตรงใด ก็ตรงนั้นเท่านั้นที่ปรากฏ ส่วนอื่นไม่ปรากฏ ถ้าอ่อนหรือแข็งกำลังปรากฏ อย่างอื่นจะปรากฏได้ไหมตรงนั้น ไม่ได้ ถ้ากลิ่นกำลังปรากฏ ลักษณะอื่นจะปรากฏตรงนั้นได้ไหม ตรงที่กลิ่นปรากฏ ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องมีเพียงลักษณะเดียวที่ปรากฏ เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็ตรงลักษณะ และจึงสำเหนียก สังเกตที่จะรู้ว่า ลักษณะที่ปรากฏนั้นมีจริง ไม่ต้องใช้คำว่ารูปก็ได้ เพราะว่าตัวตนไม่มี ปรากฏแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป นั่นเป็นการรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ

    ถ้าเป็นกลิ่น กลิ่นก็ปรากฏ มีลักษณะตรงลักษณะของกลิ่นที่ปรากฏจริงๆ ตรงนั้น และถ้าจะสำเหนียก สังเกตที่จะให้รู้ว่าเป็นนามธรรม ก็คือ ขณะที่กลิ่นปรากฏ มีการรู้ มีสภาพรู้ในกลิ่นในขณะนั้นด้วย กลิ่นจึงได้ปรากฏ

    . ที่อาจารย์กล่าวว่า ลักษณะปรากฏเพียงลักษณะเดียว ตามที่ศึกษามา ทั้งนามทั้งรูปเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง ๒ ลักษณะ แต่เวลาที่รู้ รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดอารมณ์เดียวก็จริง แต่เพราะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง ๒ ลักษณะทั้งรูปทั้งนาม ก็ยังแยกรูปแยกนามไม่ออก ในขณะที่สังเกต สำเหนียก บางครั้งก็ว่าสังเกตรูป บางครั้งก็ว่าสังเกตนาม ก็เป็นไปอย่างนั้นแหละ พิจารณาตามเรื่องตามราวอย่างนั้นแหละ

    สุ. ต้องตามเรื่องตามราวไปก่อน ถ้าไม่เริ่มจากความไม่รู้ จะให้เป็นความรู้ทีเดียว ความรู้นั้นจะมาจากไหน ก็ต้องมีความไม่รู้ก่อน และสติก็เริ่มระลึกรู้ แต่ที่ว่าตรงลักษณะจริงๆ หมายความว่า อย่าโยงยึดความเป็นตัวตนในนามอื่น รูปอื่นด้วย

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า การที่จะรู้ลักษณะของนามรูปทางตา ยากมาก ก็จริง แต่การที่จะรู้ตรงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ก็โดยนัยเดียวกันกับทวารอื่นๆ คือ ไม่มีตัวตนที่กำลังยืน ถ้าจะรู้ทางตา ทิ้งทางอื่นหมด เป็นแต่เพียงสภาพรู้ที่กำลังรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่สนใจในทวารอื่น รู้ว่าสภาพที่กำลังปรากฏนี้เป็นสิ่งที่จะต้องศึกษา สำเหนียก สังเกตที่จะรู้สภาพที่ต่างกัน

    สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เป็นปกติอย่างนี้ ถ้าจะเป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม ก็เป็นเพียงธาตุรู้หรืออาการรู้เท่านั้น รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สีสันที่กำลังปรากฏ ต้องแยกขาดออกจากกันจริงๆ สีสันกำลังปรากฏเป็นส่วนหนึ่ง เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ แต่ว่าอาการรู้ หรือธาตุรู้ ไม่ใช่รูปธรรม เป็นแต่เพียงอาการรู้หรือธาตุรู้เท่านั้นที่กำลังรู้ทางตา คือ กำลังรู้ในสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทางตา

    . หมายความว่า เมื่อยังแยกรูปแยกนามไม่ออก ก็ให้รู้ทีละทวาร ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือเป็นนาม เมื่อแยกไม่ออก ก็ยังไม่ต้องไปแยก ให้รู้ว่าขณะนั้น เช่น ตาเห็นสี ก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นก็เป็นเพียงรูป เป็นเพียงสี และขณะที่รู้ทางตา ขณะนั้นอารมณ์ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจไม่ปรากฏ รู้ทางตาทางเดียวจริงๆ สรุปคือ รูปนามยังแยกไม่ออก ก็ไม่ต้องไปแยกหรืออย่างไร

    สุ. ที่รู้ว่า เป็นรูปที่ปรากฏทางตา นั่นก็แยกแล้ว อย่าท้อใจหรือคิดว่าจะแยกไม่ได้ ฟังบ่อยๆ หลายๆ ครั้ง จะค่อยๆ ระลึกได้จริงๆ ว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏ คือ สีสันวัณณะ เป็นของจริง เป็นรูปที่ปรากฏทางตา แต่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่อาการรู้ ส่วนอาการรู้ก็เป็นธาตุรู้ล้วนๆ จริงๆ ที่กำลังรู้ในรูปสีที่กำลังปรากฏทางตา ซึ่งแปลกกว่าทวารอื่น เพราะว่าปรากฏเป็นสีสัน เป็นโลก เป็นอาการแปลกจากธาตุรู้อื่น เป็นอาการแปลกจากธาตุรู้เสียง เป็นอาการแปลกจากธาตุรู้กลิ่น และจะไม่มีธาตุรู้อาการรู้ ในขณะที่กำลังเห็น หรือขณะที่มีสีสันวัณณะกำลังปรากฏไม่ได้ ต้องมีธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่สีสันวรรณะที่กำลังปรากฏ

    เวลาที่กำลังเห็น และกำลังระลึกรู้ทางตา จะระลึกรู้ในสิ่งที่ปรากฏ และก็รู้ใน ลักษณะของธาตุรู้ที่กำลังรู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ได้ ซึ่งเสียงก็กำลังปรากฏอยู่เหมือนกัน แต่ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ในลักษณะของเสียง หรือในลักษณะของธาตุรู้เสียง

    เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญไปแต่ละทวารจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อยก็ไม่เป็นไร แต่ว่าเจริญขึ้น ข้อสำคัญที่สุด คือ อย่าคิดว่า อยากจะให้มีสติมากๆ แต่ไม่รู้อะไร หรืออย่าคิดว่า อยากจะให้มีสติมากๆ แต่ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่า สติที่เกิดเป็นสติปัฏฐานได้ ก็โดยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จริงๆ ในขณะนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริงแต่ละทวาร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๔๗๑ – ๔๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564