แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 452


    ครั้งที่ ๔๕๒


    ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า รักษาได้และไม่ได้ คำว่ารักษาได้ ความคิดของผม คือ เว้นไม่ทำข้อที่ท่านบัญญัติไว้ นั่นเป็นการรักษาไว้ได้ แต่การที่จะไม่มีสติ หรือว่าสติไม่ได้เกิดขึ้นทันต่อรูปนามที่เกิดขึ้นนั้น ผมคิดว่าเป็นอีกอย่างหนึ่ง และการที่จะไม่ล่วงสิกขาบทในศีล ๘ และศีลอุโบสถก็อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งการที่จะไม่ล่วงนั้น จะต้องใช้สติที่ระวังไม่ให้ก้าวล่วง ผมมีความเห็นอย่างนี้ ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไร ขอให้อาจารย์อธิบาย

    สุ. ไม่ล่วงได้ รักษาได้ สำหรับผู้ที่สะสมอุปนิสัยปัจจัยที่จะไม่ล่วง ที่จะรักษาได้ ถ้าคนที่ไม่มีอุปนิสัยปัจจัยสะสมมาที่จะรักษาอุโบสถศีลก็ไม่รักษา ที่จะล่วงหรือไม่ล่วงก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วแต่สะสมเหตุปัจจัยมาอย่างไร

    ศีล ๕ เป็นนิจศีล ควรจะเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ล่วงบ้างหรือเปล่า ก็ล่วง และทำไมล่วง ก็เพราะเหตุว่าสะสมมา มีกิเลสที่จะให้ล่วงศีล ๕ ขณะใด ก็ล่วงในขณะนั้น มีเจตนาสมาทานแล้วว่า จะรักษาศีล ๕ แต่บางครั้งก็ล่วง แล้วแต่ปัจจัยที่สะสมมาเป็นกิเลสที่มีกำลังแรงกล้าขณะใดที่จะล่วงศีล ก็ล่วงศีลในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนเป็นสภาพธรรมล้วนๆ ที่ชีวิตแต่ละชีวิตแตกต่างกันไปตามปัจจัยที่สะสมมาโดยละเอียดจริงๆ แต่ขอให้ทราบว่า ไม่ว่าจะรักษาอุโบสถศีลก็เพราะมีปัจจัยสะสมมาที่จะรักษา ถ้าจะไม่รักษาอุโบสถศีล ก็เพราะไม่มีปัจจัยสะสมมาที่จะรักษาในขณะนั้น แต่ต่อไปอาจจะมีปัจจัยที่จะให้รักษาอุโบสถศีลก็ได้

    ซึ่งความจริงแต่ละขณะที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ แสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่สะสมมานั่นเอง ถ้าไม่มีปัจจัยสะสมมาจะเกิดอย่างนี้ไม่ได้เลย จะเป็นอย่างนี้ไม่ได้เลย จะคิดอย่างนี้ไม่ได้เลย จะทำอย่างนี้ไม่ได้เลย ไม่ว่ากายอย่างไร วาจาอย่างไร ใจคิดอย่างไร ก็เพราะการสะสมมาทั้งสิ้น

    ข้อความต่อไป ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อุโบสถสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสถึงอริยอุโบสถซึ่งเป็นอุโบสถประเภทที่ ๓ มีเนื้อความว่า อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคแล้วจิตย่อมผ่องใส เป็นการเข้าจำพรหมอุโบสถ ย่อมระลึกถึงพระธรรมแล้วจิตย่อมผ่องใส เป็นการเข้าจำธรรมอุโบสถ ย่อมระลึกถึงพระสงฆ์แล้วจิตย่อมผ่องใส เป็นการเข้าจำสังฆอุโบสถ ย่อมระลึกถึงศีลแล้วจิตย่อมผ่องใส เป็นการเข้าจำศีลอุโบสถ ย่อมระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ และปัญญาของตน กับของเทวดาภูมิต่างๆ แล้วจิตย่อมผ่องใส เป็นการเข้าจำเทวดาอุโบสถ

    ทั้งหมดนี้เป็นอริยอุโบสถ คือ เมื่อรักษาอุโบสถศีลแล้ว ก็ไม่ได้ปล่อยจิตใจให้เป็นไปในอกุศล ในการเป็นตัวตน แต่ว่ามีการระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ระลึกถึงศีล ศรัทธา สุตตะ จาคะ ปัญญา ซึ่งเป็นไปในกุศลพร้อมทั้งการอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย นี่เป็นอริยอุโบสถ

    บางท่านสงสัยคำว่า สงฆ์ที่เป็นรัตนตรัยได้แก่ใคร หมายรวมทั้ง ฆราวาส อุบาสก อุบาสิกาด้วยหรือเปล่า

    ใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต สังฆโสภณสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับแนะนำดีแล้ว เป็นผู้แกล้วกล้า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมยังหมู่ให้งาม ๔ จำพวกเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คือ ภิกษุ ๑ ภิกษุณี ๑ อุบาสก ๑ อุบาสิกา ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับแนะนำดีแล้ว เป็นผู้แกล้วกล้า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมยังหมู่ให้งาม ฯ

    บุคคลใดเป็นผู้ฉลาด แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลเช่นนั้น เราเรียกว่า ผู้ยังหมู่ให้งาม ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกาเป็นผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นพหูสูต เหล่านี้แล ย่อมยังหมู่ให้งาม แท้จริง บุคคลเหล่านี้ เป็นผู้ยังหมู่ให้งาม ฯ

    จบ สูตรที่ ๗

    จะเห็นได้ว่า ไม่ได้เจาะจงเฉพาะภิกษุ หรือภิกษุณี แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลใดเป็นผู้ฉลาด แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลเช่นนั้น เราเรียกว่า ผู้ยังหมู่ให้งาม คือ เป็นสังฆโสภณ ในสังฆโสภณสูตร

    ใน ปฐมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย เวรัญชกัณฑ์วรรณนา ซึ่งเวรัญชพราหมณ์ได้แสดงตนถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง มีอรรถาธิบายคำว่า พระสงฆ์ มีข้อความว่า

    ชื่อว่า พระสงฆ์ เพราะอรรถว่า รวมกันด้วยธรรมที่ทัดเทียมกัน คือ ทิฏฐิและศีล. พระสงฆ์นั้น โดยอรรถ ได้แก่ ประชุมพระอริยบุคคล ๘

    สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในวิมานวัตถุนั้นเหมือนกันว่า

    บัณฑิตทั้งหลายกล่าว ทานอันบุคคลให้แล้วในพระอริยสงฆ์ผู้สะอาด เป็นคู่แห่งบุรุษ ๔ เป็นบุรุษบุคคล ๘ ผู้เห็นธรรมว่ามีผลมาก ท่านจงเข้าถึงพระสงฆ์นี้เพื่อเป็นที่พึงเถิด ดังนี้

    หมู่ภิกษุทั้งหลายชื่อว่า ภิกษุสงฆ์

    ก็พราหมณ์ประกาศสรณคมน์ ๓ ด้วยคำเพียงเท่านี้

    ท่านผู้ฟังก็จะทราบความหมายของพระสงฆ์ที่มีอรรถว่า ชื่อว่า พระสงฆ์ เพราะอรรถว่า รวมกันด้วยธรรมที่ทัดเทียมกัน คือ ทิฏฐิและศีล

    ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้านี้ มีความเห็นเสมอกัน คือ ความเห็นถูกในอริยสัจธรรม ซึ่งแล้วแต่ขั้นของศีลว่า จะเป็นพระอริยเจ้าขั้นใด ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคล ท่านก็เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีล ๕ ทุกท่าน

    พระสงฆ์นั้น โดยอรรถ ได้แก่ ประชุมพระอริยบุคคล ๘

    อุบาสก อุบาสิกาที่เป็นพระอริยเจ้า คือ เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นพระอริยบุคคลหรือไม่ใช่ ซึ่งถ้าเป็นพระอริยบุคคล ก็เป็นพระสงฆ์ โดยอรรถว่า ได้แก่ ประชุมพระอริยบุคคล ๘ เมื่อฆราวาสเป็นพระอริยเจ้าก็เป็น พระอริยบุคคล ซึ่งก็เป็นพระสงฆ์โดยอรรถนี้ แต่ถ้าใช้คำว่า ภิกษุสงฆ์ หมายความถึง หมู่ภิกษุทั้งหลายชื่อว่า ภิกษุสงฆ์

    ถ. คำว่า สงฆ์ หรือสังฆ นี้ ผมสงสัยมานานว่า หมายถึงอะไรกันแน่ คือในภาษาบาลี ท่านผู้รู้บาลีก็บอกว่า สังฆ ไม่ได้หมายความถึงพระ แต่หมายความถึง หมู่ เช่น ภิกษุสังโฆ คือ หมู่แห่งสงฆ์ หรือว่า สุปฏิปันโน สาวกสังโฆ หมู่แห่งสาวก

    แต่เวลาใช้คำภาษาไทย ใช้คำว่าสงฆ์ ทั่วๆ ไปก็เข้าใจว่า เป็นพระอย่างเดียว ไม่ได้หมายความถึงอย่างอื่น

    ในสมัยนั้นจะหมายความเฉพาะหมู่ หรือว่าจะหมายความถึงเป็นพระด้วย ผมไม่แน่ใจ แต่ทั่วๆ ไปเขาใช้คำว่า สังฆ แปลว่าหมู่หรือคณะ ไม่ใช่แปลว่าพระ ที่อาจารย์อ่านเมื่อครู่นี้ ผมเข้าใจว่า เป็นหมู่แห่งพระอริยะนั่นเอง

    ถ1. สงฆ์ คือ พระรัตนตรัยได้อย่างไรครับ

    สุ. ขอทบทวนข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต สังฆโสภณสูตรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับแนะนำดีแล้ว เป็นผู้แกล้วกล้า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมยังหมู่ให้งาม

    ใช้คำว่า หมู่ ตรงทีเดียว

    ๔ จำพวกเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คือ ภิกษุ ๑ ภิกษุณี ๑ อุบาสก ๑ อุบาสิกา ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล เป็นผู้เฉียบแหลม ได้รับแนะนำดีแล้ว เป็นผู้แกล้วกล้า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมยังหมู่ให้งาม ฯ

    ถึงแม้ว่าจะมีพุทธบริษัทก็จริง แต่ว่าในพุทธบริษัทนั้นมีหมู่ที่งาม คือ พระอริยเจ้า คือ ผู้ที่เฉียบแหลม ได้รับแนะนำดีแล้ว เป็นผู้แกล้วกล้า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมยังหมู่ให้งาม

    มีคนที่รวมกันอยู่เป็นหมู่จริง แต่จะงามหรือไม่งาม ย่อมแล้วแต่ว่า เป็นหมู่ของบุคคลที่เฉียบแหลมหรือไม่เฉียบแหลม ได้รับแนะนำดีแล้วหรือว่ายังไม่ได้รับแนะนำดีแล้ว เป็นผู้แกล้วกล้า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้ บุคคลเหล่านั้น ย่อมยังหมู่ให้งาม เป็นสังฆโสภณ เป็นหมู่ที่งาม

    ผู้ฟัง คำบาลี สงฆ์ แปลว่า หมู่ หมายความถึงใครก็ได้ ผมจำบาลีคำว่าปลวกไม่ได้แล้ว แต่ที่เรียนมา คือ หมู่ปลวก เขาใช้คำว่าสังโฆเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คำว่า สังฆ คงจะเป็น noun หรือนามนาม จะไปใช้กับอะไรก็ได้ แต่ถ้าเราจะกล่าวถึงพระอริยเจ้า ก็เป็นอริยสงฆ์

    อีกคำหนึ่ง รู้สึกว่าอาจารย์จะอธิบายหลายวันมาแล้ว ผมอยากจะเรียนให้ทราบ เรื่องนำบาลีมาใช้เป็นภาษาไทย บางทีก็ไม่ตรงอย่างที่เคยพูดไปแล้ว อย่างคำว่า วิวาท อาจารย์อธิบายเรื่องพระสงฆ์วิวาทกัน อย่าเข้าใจว่าตีกัน วิวาท แปลว่า พูดไม่ตรงรอยกัน วิ แปลว่า ไปอย่างหนึ่ง วาท แปลว่า กล่าว คือ พระที่พูดไม่ลงรอยกัน ก็เพียงแค่นั้น แต่ภาษาไทยเรา วิวาทนั้นเอากันใหญ่โต อย่างเด็กก่อการวิวาท คนก่อการอะไรพวกนี้

    คณะสงฆ์ปัจจุบันที่ออกพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ใช้ ๒ คำเลย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ คณะ = หมู่ สงฆ์ = หมู่ เป็นนามด้วยกัน สงฆ์มักจะใช้สูงกว่าคณะ คณะมักจะใช้ธรรมดา อย่างในวินัยมีว่า พระภิกษุฉันอาหารเป็นคณโภชน์ คือ ฉันอาหารเป็นหมู่ไม่ใช้ว่า สังฆโภชน์

    สุ. เป็นปัญหาเรื่องของคำ เรื่องของพยัญชนะ ถ้าต่างคนต่างเข้าใจ อาจจะไม่ตรงตามความหมายที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติใช้ จึงต้องศึกษาอรรถกถา เพราะในอรรถกถาจะอธิบายความหมายของศัพท์ในที่ต่างๆ ด้วย เช่น ที่ท่านผู้ฟังถามว่าเพราะเหตุใดพระสงฆ์จึงเป็นสังฆรัตนะ เป็นรัตนตรัยด้วย

    ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่าพระสงฆ์ว่าหมายความถึงบุคคลใด ซึ่งใน ปฐมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย เวรัญชกัณฑ์วรรณนา ตอนที่เวรัญชพราหมณ์แสดงตนถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ และเพราะเหตุใดพระสงฆ์จึงเป็นรัตนะ อรรถกถาอธิบายคำว่าพระสงฆ์มีข้อความว่า

    ชื่อว่า พระสงฆ์ เพราะอรรถว่า รวมกันด้วยธรรมที่ทัดเทียมกัน คือ ทิฏฐิและศีล

    ไม่มีการเจาะจงว่า ชื่อนั้นชื่อนี้ แต่หมายความถึงคุณธรรมของผู้ที่บรรลุอริยสัจธรรม เป็นผู้ที่เสมอกันในความเห็นแจ้งในอริยสัจธรรม เมื่อมีความเสมอกันในทิฏฐิ คือ ในความเห็น ในอริยสัจธรรมแล้ว ก็เป็นผู้ที่สมบูรณ์เสมอกันในศีล คือ ถ้าเป็น พระโสดาบันบุคคล ก็สมบูรณ์ในศีล ๕ เป็นวิสัย เป็นธรรมชาติของท่าน

    พระสงฆ์นั้น โดยอรรถได้แก่ ประชุมพระอริยบุคคล ๘

    ไม่จำกัดชื่อเสียงเรียงนามใด เพศใด ภิกษุหรือภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกา แต่ว่าเป็นพระอริยบุคคล ๘

    สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในวิมานวัตถุนั้นเหมือนกันว่า

    บัณฑิตทั้งหลายกล่าวทานอันบุคคลให้แล้วในพระอริยสงฆ์

    ข้อนี้จำกัดให้เห็นชัดเลยว่า ในพระอริยสงฆ์

    ผู้สะอาด เป็นคู่แห่งบุรุษ ๔ เป็นบุรุษบุคคล ๘ ผู้เห็นธรรมว่า มีผลมาก ท่านจงเข้าถึงพระสงฆ์นี้เพื่อเป็นที่พึ่งเถิด ดังนี้

    ท่านเป็นรัตนะ เพราะเหตุว่าเป็นบุคคลที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    . สัมมาคารวะทางพระพุทธศาสนาคืออะไรครับ

    สุ. สัมมา หมายถึงชอบหรือถูก คารวะ หมายถึงการเคารพ สัมมาคารวะ ก็คือ การเคารพที่ถูกต้อง เคารพในสิ่งหรือบุคคลที่ควรเคารพ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๔๕๑ – ๔๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564