แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 438


    ครั้งที่ ๔๓๘


    ถ. ในสติปัฏฐาน มีพระบาลีว่า เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา เอกายโน แยกเป็น เอก + อายน แปลว่า มรรคเป็นที่ไปอันเดียว มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ที่ว่าอย่างนั้นก็ถูก อย่างนี้ก็ถูก ไม่ตรงกับพระบาลีที่ว่า มีทางเดียวเท่านั้น คือ สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น

    ที่พระท่านพูดอย่างนั้นว่า ถูกทั้งหมด เพราะถ้าขืนพูดอย่างโน้นอย่างนี้ ลาภจะหาย ความจริงถ้าพูดกันอย่างตรงๆ ตามหลักของพระพุทธเจ้า ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างเดียว สัจวาจามีอย่างเดียว จะไปทวิวาจาได้หรือ ตามพระบาลี สติปัฏฐานมีทางเดียว จะไปนั่นก็ถูก นี่ก็ถูกไม่ได้ ต้องถูกอย่างเดียว

    ถ.๒ ติเหตุกกุศล คือ กุศลที่เกิดที่ประกอบด้วยเหตุทั้ง ๓ ได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

    สุ. มหากุศลจิตมี ๘ ดวง เป็นญาณสัมปยุตต์ คือ ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง เป็นญาณวิปปยุตต์ คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน

    ในวันหนึ่งๆ มีการให้ทาน มีการรักษาศีล เป็นต้น แต่ไม่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้น ก็เป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยปัญญา

    ขณะที่กำลังให้ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่เกิดขึ้น ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ มีเมตตา เป็นความกรุณาที่ปรากฏในขณะนั้น และขณะที่กำลังรู้ตามความเป็นจริงเป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะว่าไม่เพียงประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิกเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยปัญญาหรืออโมหเจตสิกด้วย ขณะนั้นก็เป็นติเหตุกะ เป็นกุศลที่ประกอบด้วยเหตุ ๓ คือ ประกอบด้วย อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพราะว่าระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ใน กถาวัตถุสูตร ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องของคำพูดในชีวิตประจำวันจริงๆ ในสูตรนั้น จากการพูดในชีวิตประจำวัน ก็จบลงด้วยการบรรลุนิพพาน

    นอกจากนั้น พระผู้มีพระภาคยังทรงแสดงว่า คำพูดที่พูดกันอยู่ควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาถึงคำพูดของท่านเองด้วยสติ ก็จะรู้ได้จริงๆ ว่า ขณะนั้นคำพูดเช่นนั้นเกิดขึ้นเพราะจิตใจอย่างไร แต่โดยปกติมักจะไม่ระลึกรู้ในขณะที่พูดใช่ไหม แต่ในมหาสติปัฏฐาน สัมปชัญญบรรพ ให้มีสติในขณะที่กำลังพูด และในหลายสูตรที่พระผู้มีพระภาคทรงเน้นเรื่องของการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่พูด เพราะว่าทุกท่านจะพ้นจากการพูดไม่ได้ บางท่านพูดน้อย บางท่านพูดมาก แต่ไม่ว่าจะพูดน้อย พูดมาก คำพูดก็ย่อมเป็นไปในทางที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง

    ในเรื่องของการพูด พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงถึงการพูดซึ่งเป็นปกติใน ชีวิตประจำวันว่า ย่อมพูดกันในเรื่องที่มีแล้วในอดีตบ้าง ปรารภถึงอนาคตบ้าง และเรื่องในปัจจุบันบ้าง

    ก่อนที่จะฟังธรรม กำลังพูดคุยกันอยู่ ลองพิจารณาดูว่า เป็นไปในเรื่องอดีตบ้างไหม เป็นไปในเรื่องอนาคตบ้างไหม เป็นไปในเรื่องปัจจุบันบ้างไหม มากมายหลายเรื่องจริงๆ และทุกเรื่องก็ต้องเกี่ยวข้องกับอดีตที่ผ่านมาบ้าง อนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นบ้าง หรือว่าเหตุการณ์ปัจจุบันที่กำลังเป็นอยู่บ้าง

    นอกจากนั้น ในการพูดคุย ในการสนทนาธรรมเพื่อประโยชน์ ก็ย่อมจะต้องมีการซักถามเพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจน ซึ่งผู้ใดควรจะเป็นผู้ที่ควรพูด และไม่ควรพูดอย่างใด พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้ใน กถาวัตถุสูตร โดยละเอียด เช่น ผู้ที่จะพูดบางคราวควรเฉลยโดยส่วนเดียว

    คือ เมื่อคำถามนั้นชัดเจน และผู้ถามก็เข้าใจในคำถามของตนด้วย ผู้ตอบก็สามารถที่จะเฉลย คือ ตอบทันทีโดยส่วนเดียวได้ แต่บางทีแม้แต่คำถามตัวผู้ที่ถามเองก็ยังไม่เข้าใจจริงๆ ฉะนั้น การตอบจะไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าคำถามนั้นแม้ผู้ถามเองก็ยังไม่เข้าใจ

    ด้วยเหตุนี้ ควรที่จะ สอบถามก่อนแล้วเฉลย หรือว่าจำแนกแล้วเฉลย

    หมายความว่า จะตอบรวมกันเป็นเรื่องเดียวไม่ได้ ต้องแยกเรื่องเพื่อให้เกิดความเข้าใจตามลำดับให้ถูกต้อง ตามลำดับของเรื่องนั้นๆ ด้วย

    หรือบางครั้ง ก็ควร หยุดปัญหาที่ควรหยุด เพราะว่าถ้าต่อปัญหา หรือต่อคำถามนั้นเรื่อยไป โดยที่ไม่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ที่ถาม การตอบก็ย่อมจะไม่ได้ประโยชน์อย่างไรเลย

    นอกจากนั้น ไม่พูดกลบเกลื่อน ไม่พูดนอกเรื่องนอกราว ไม่แสดงความโกรธ ความขัดเคือง ความเสียใจให้ปรากฏ ไม่พูดฟุ้งเฟ้อ ไม่พูดวุ่นวาย ไม่หัวเราะเยาะ ไม่คอยจับผิด

    และพระผู้มีพระภาคยังทรงแสดงผลของการฟัง หรือการสนทนาธรรมว่า ผู้ที่ไม่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนไม่มีอุปนิสัย เพราะว่าธรรมมีเหตุมีผลลึกซึ้งมาก ต้องอาศัยการพิจารณา การฟังด้วยความตั้งใจจริงๆ ที่จะให้ได้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงฟัง แต่ยังยึดถือความเห็นของตนเอง ถ้าเป็นอย่างนั้น การฟังนั้นผู้ฟังเป็นผู้ที่ไม่เงี่ยโสตลงฟังในเหตุในผล เป็นการแสดงว่า ผู้นั้นเป็นผู้ที่ไม่มีอุปนิสัยในการที่จะพิจารณาเหตุผล

    เพราะฉะนั้น ในอดีตที่แล้วมาจะเป็นเครื่องแสดงว่า ผู้นั้นเคยอบรมในเรื่องการเงี่ยโสตลงฟัง ในเรื่องการพิจารณาเหตุผลของธรรมที่ได้ฟังหรือไม่ ถ้าในขณะปัจจุบันนี้ไม่ยอมที่จะพิจารณาในเหตุในผล ก็แสดงว่าบุคคลนั้นไม่ได้สะสมอุปนิสัยในการฟังเหตุฟังผลมา และถ้าปัจจุบันนี้ยังคงไม่เงี่ยโสตลงฟัง ยังไม่พิจารณาในเหตุในผลจริงๆ ก็ย่อมไม่ใช่ผู้ที่จะสะสมอุปนิสัยต่อไป เพราะฉะนั้น ในกาลข้างหน้าไม่ว่าจะเป็นในปัจจุบันชาตินี้ หรือในชาติต่อไป ก็ย่อมจะเป็นบุคคลที่ไม่ฟังในเหตุในผล คือ ยังคงเป็นผู้ที่ไม่เงี่ยโสตลงฟังนั่นเอง

    แต่สำหรับผู้ที่เงี่ยโสตลงฟัง คือ ผู้ที่พิจารณาเหตุผลนั้น ชื่อว่าเป็นคนมีอุปนิสัย เมื่อเป็นผู้มีอุปนิสัยสะสมมาแล้ว ย่อมรู้ ย่อมอบรมเจริญปัญญาเพื่อจะละอกุศลธรรม และเพื่อที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่ดับกิเลสได้

    ถ้าเป็นอย่างนี้ การสนทนามีข้อนี้เป็นประโยชน์ การปรึกษาหารือมีข้อนี้เป็นประโยชน์ อุปนิสัยมีข้อนี้เป็นประโยชน์ การเงี่ยโสตลงฟังมีข้อนี้เป็นประโยชน์ คือ สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งจิตหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่นได้

    นี่เป็นเรื่องสำหรับท่านผู้ฟัง ที่จะพิจารณาถึงประโยชน์ที่แท้จริงของการฟังธรรม

    สำหรับเรื่องของสัมผัปปลาปวาจา แม้ในการสนทนาธรรม หรือในการบรรยายธรรม ก็มีข้อที่ควรจะสังเกตจากชีวิตของท่านเอง เพราะถ้าท่านเป็นผู้ที่สนใจในธรรม ย่อมมีการสนทนาธรรมกันด้วย บางครั้งก็เริ่มต้นด้วยข้อธรรมจริงๆ สนทนาไป สนทนามา มีคำพูดเพ้อเจ้อแทรกบ้างไหม แม้แต่ในการสนทนาธรรม

    ขณะใดที่กล่าวถึงเหตุผลตรงตามสภาพธรรม เป็นธรรมจริงๆ ขณะนั้นไม่ใช่การเพ้อเจ้อ แต่บางท่านไม่ใช่อย่างนั้น พอสนทนาไปๆ มีความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุผล ไม่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นแต่เพียงความคิด ความตรึก ความเข้าใจของท่านเอง แต่ท่านคิดว่านั่นเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นที่ไม่ใช่คำพูดที่ประกอบด้วยเหตุผลที่เป็นประโยชน์ แม้ว่าจะเริ่มด้วยการสนทนาธรรม แต่ก็มีสัมผัปปลาปวาจา คำพูดเพ้อเจ้อเกิดขึ้นได้ในระหว่างนั้น

    ทุกท่านเป็นผู้ที่จะระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่ผู้ที่จะละคำพูดที่เพ้อเจ้อได้จริง ได้แก่ พระอรหันตบุคคลเท่านั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่ถึงการดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีคำพูดเพ้อเจ้อ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่คำพูดที่มีเหตุผล ไม่ใช่คำพูดที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่คำพูดที่ประกอบด้วยประโยชน์ ก็เป็นสัมผัปปลาปวาจา

    สำหรับสัมผัปปลาปวาจาในธรรม กับเรื่องของภารตยุทธก็ดี หรือเรื่องการลักพานางสีดาก็ดี จะต่างกันไหม สัมผัปปลาปวาจาในธรรม เป็นคำเพ้อเจ้อ ซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุด้วยผลเลย เป็นแต่เพียงการตรึกนึกคิดธรรมเลอะเทอะต่างๆ ขึ้นมา และเข้าใจว่าเป็นธรรม กับการที่จะพูดเรื่องภารตยุทธ เรื่องลักพานางสีดา ตามตัวอย่างขององค์ของสัมผัปปลาปวาจานั้น ต่างกันไหม ก็ไม่ต่างกันเลย การตรึก การนึกคิดในทางที่ไม่มีประโยชน์ เป็นปัจจัยให้กล่าวคำพูดเช่นนั้นออกมา ต่างก็เป็นคำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น ในเรื่องของภารตยุทธก็ดี ในเรื่องของการลักพานาง สีดาก็ดี หรือในสัมผัปปลาปวาจา การพูดเพ้อในธรรมก็ดี ก็เป็นแต่เพียงความนึกคิดขึ้นมา เพราะฉะนั้น ก็เป็นสัมผัปปลาปวาจาเช่นเดียวกัน ไม่ต่างกันเลย

    ในคราวก่อนได้สนทนากับท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ได้พูดกันถึงเรื่องสมัยปัจจุบันนี้ มีหลายท่านที่ได้เขียนหนังสือเรื่องธรรม แต่ว่าไม่ตรงตามสภาพธรรม เป็นแต่เพียงความคิดเห็นของตนเองว่า ธรรมน่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ ท่านผู้นั้นก็ให้ความคิดเห็นว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีในการที่จะไตร่ตรองพิจารณาธรรม

    ถ้าท่านผู้นั้นมีความเห็นอย่างนั้นว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีในการที่จะคิดธรรมเอง ไตร่ตรองธรรมเอง ไม่จำเป็นต้องศึกษา ไม่จำเป็นต้องเทียบเคียง ไม่จำเป็นที่จะต้องระมัดระวังให้ถูกต้องแล้ว เพียงด้วยการตรึก เพียงด้วยการนึกคิดเอาเอง ท่านผู้นั้นจะสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้อย่างไร

    แม้แต่คำว่า ธรรม ซึ่งทุกท่านก็ทราบอยู่แล้วว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ธรรมเป็นอนัตตาอย่างไรถ้าจะให้นึกเอาเอง แต่ถ้าเป็นการศึกษาโดยละเอียด พร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง จะเข้าใจได้จริงๆ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ว่าคืออย่างไร

    ไม่ใช่นึกเอาเอง แต่จะต้องศึกษาและปฏิบัติถูกต้อง จึงจะประจักษ์ในอรรถที่ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้ในขณะที่กำลังเห็น ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จึงจะเข้าใจในอรรถว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาจริง แม้กำลังเห็นก็ไม่ใช่ตัวตน และที่ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตานั้น เพราะว่าเป็นเพียงสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    ต้องเป็นอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าไปนึกคิดเอาเองกันก็ได้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตานั้นคืออย่างไร แต่ถ้าศึกษาจริงๆ และสติระลึกรู้จริงๆ จึงจะเข้าใจอรรถที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แม้ในขณะที่กำลังเห็น

    หรือแม้แต่คำว่า มรรค ซึ่งแปลว่าทางนี้ หมายความถึงเป็นทางที่จะออกจากโลก ซึ่งขณะนี้ทุกท่านกำลังอยู่ในโลก กำลังเห็นเป็นโลก กำลังได้ยินเป็นโลก กำลังได้กลิ่นเป็นโลก กำลังลิ้มรสเป็นโลก กำลังสัมผัสทางกายเป็นโลก กำลังคิดนึกเป็นโลก แต่ว่าเป็นโลกของตัวตน เป็นโลกของสัตว์ บุคคล เพราะว่าท่านเคยอยู่ในโลกของตัวตน ท่านเคยอยู่ในโลกของสัตว์บุคคลทั้งนั้น

    แต่มรรค คือ ทางที่จะออกจากโลกของความเป็นตัวตน ด้วยการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น แท้ที่จริงก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเป็นอนัตตา

    เมื่ออบรมเจริญปัญญารู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ จึงจะรู้ว่า หนทางที่จะออกจากโลกของความเป็นตัวตนนั้น ที่เป็นอริยมรรค คือ การที่สติระลึกรู้ จนกระทั่งปัญญาประจักษ์ชัดว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะอย่างไร

    แต่ไม่ใช่ว่า ใครจะนึก ตรึกธรรม และก็แสดงความคิดเห็นตามใจชอบ เป็นสิทธิเสรีของคนนั้นที่จะคิดอย่างนั้น คิดได้ แต่ไม่ตรงตามเหตุตามผล แม้แต่ที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คิดอย่างไรก็คิดได้ อธิบายอย่างไร เห็นอย่างไรก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ประจักษ์ได้จริงๆ ที่จะประจักษ์ได้จริงๆ นั้นก็ต่อเมื่อศึกษาและปฏิบัติถูก ประกอบด้วยเหตุและผลเท่านั้น จึงสามารถที่จะเข้าใจในอรรถของธรรมทั้งหลายได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๔๓๑ – ๔๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564