แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 465


    ครั้งที่ ๔๖๕


    ใน มโนรถปูรณี อรรถกถา ภาค ๓ หน้า ๓๒๑ มีคำอธิบายสูตรนี้ว่า

    ผู้ศึกษาพึงทราบคำอธิบายในสูตรที่ ๘ ดังนี้

    ๒ บทว่า อปฺปาสทํ ปเวเทยฺยุ ความว่า อุบาสกพึงรู้ถึงความที่ตนเป็นผู้ไม่เลื่อมใส

    ถามว่า ก็อุบาสกนั้น เมื่อประกาศความไม่เลื่อมใสของตน พึงทำอย่างไร

    ตอบว่า ไม่พึงลุกขึ้นจากอาสนะที่ตนนั่งอยู่แล้ว ไม่พึงไหว้ ไม่พึงทำการต้อนรับ ไม่พึงให้ไทยธรรม

    บทว่า อโคจเร ได้แก่ ในเพราะโคจร ๕ อย่าง ที่ภิกษุไม่ควรเที่ยวไป

    ซึ่งโคจร ๕ นั้น ได้แก่

    ๑. สำนักนางภิกษุณี

    ๒. โรงสุรา

    ๓. บ้านหญิงหม้าย

    ๔. บ้านสาวเทื้อ

    ๕. ที่อยู่ของหญิงแพศยา

    ในบางแห่งก็เป็นอโคจร ๖ คือ เพิ่มที่อยู่ของพวกบัณเฑาะว์ด้วย

    การประกาศความไม่เลื่อมใสในภิกษุนี้ เป็นสิ่งที่ควรจะกระทำตามธรรม ตามสมควรทั้งกายและวาจาด้วยกุศลจิต และต้องระวังอย่าให้รุนแรงจนกระทั่งเป็นการกระทำด้วยอกุศลจิต ซึ่งจะเป็นการกระทำที่ไม่สมควร เพราะบางท่านอาจเกรงกลัวว่า เมื่อเป็นภิกษุแล้ว ท่านก็ควรจะเลื่อมใสทั้งหมด แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น จะไม่เกื้อกูลแก่พระธรรมวินัยเลย

    เพราะฉะนั้น เมื่อฆราวาสมีความไม่เลื่อมใสในพระภิกษุด้วยความเป็นธรรม ฆราวาสย่อมประกาศความไม่เลื่อมใสได้โดยไม่พึงไหว้ ไม่พึงทำการต้อนรับ ไม่พึงให้ไทยธรรม แต่กระทำด้วยกุศลจิต ด้วยสติ

    การที่ฆราวาสประกาศความไม่เลื่อมใสแก่ภิกษุด้วยกาย วาจาที่ถูกต้องตามสมควร ก็จะเป็นการเตือนให้ภิกษุนั้นระลึกได้

    ข้อความใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปฏิสารณียสูตรที่ ๑ มีว่า

    ข้อ ๑๙๘

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงกระทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ พยายามเพื่อความพินาศแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ด่าบริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ติเตียนพระพุทธเจ้า ๑ ติเตียนพระธรรม ๑ ติเตียนพระสงฆ์ ๑ ไม่ยังคำรับต่อคฤหัสถ์ที่ชอบธรรมให้เป็นจริง ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงกระทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ฯ

    จบ สูตรที่ ๑๑

    ปฏิสารณียกรรม คือ การลงโทษภิกษุให้ขอขมาคฤหัสถ์ เป็นสิ่งที่ควรจะกระทำ เพราะเหตุว่าธรรมคือธรรม สิ่งที่ผิดก็ต้องผิด สิ่งที่ถูกก็ต้องถูก

    สำหรับข้อความที่ว่า ไม่ยังคำรับต่อคฤหัสถ์ที่ชอบธรรมให้เป็นจริง นั้น คือ รับว่าจะกระทำในสิ่งที่เป็นธรรม แต่ไม่ทำตามคำที่รับแล้วนั้น

    ภิกษุที่กล่าว รับจะกระทำในสิ่งที่เป็นธรรม ข้อความใน มโนรถปูรณี อรรถกถา (ภาค ๓ หน้า ๓๒๑) มีข้อความอธิบายว่า

    ๒ บทว่า ธมฺมิกญฺจ คิหิปฏิสฺสวํ ความว่า พระคุณเจ้าฟังอยู่ในที่นี้ตลอด ๓ เดือนนี้

    ภิกษุก็ตอบรับ คือ ยอมรับในครั้งแรก โดยนัยว่า จงเป็นอย่างนั้น ปฏิสฺสวํ คือ รับแล้วไม่กระทำตาม

    บทว่า น สจฺจาเปติ ความว่า ไม่พูดความจริง คือ พูดให้คลาดเคลื่อน

    ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว สงฆ์หวังอยู่ พึงกระทำปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้ คือ การลงโทษโดยให้ขอขมาคฤหัสถ์

    ข้อความใน ปฏิสารณียสูตรที่ ๒ มีว่า

    ข้อ ๑๙๙

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงระงับปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการ ธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุไม่พยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ไม่พยายามเพื่อความพินาศแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ไม่ด่าไม่บริภาษคฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ ไม่ยุยงคฤหัสถ์ทั้งหลายให้แตกจากคฤหัสถ์ทั้งหลาย ๑ สรรเสริญพระพุทธเจ้า ๑ สรรเสริญพระธรรม ๑ สรรเสริญพระสงฆ์ ๑ และยังคำรับต่อคฤหัสถ์ที่ชอบธรรมให้เป็นจริง ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงระงับปฏิสารณียกรรมแก่ภิกษุ ผู้ประกอบด้วยธรรม ๘ ประการนี้แล ฯ

    จบ สูตรที่ ๑๒

    ยิ่งเป็นภิกษุเมื่อรับว่าจะปฏิบัติตามธรรมแล้ว ก็ต้องประพฤติตามที่รับคำ เป็นคนตรงต่อธรรม พูดความจริง ไม่พูดให้คลาดเคลื่อน

    สำหรับสูตรสุดท้ายของวรรคนี้ คือ วัตตสูตร มีข้อความว่า

    ข้อ ๒๐๐

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อันสงฆ์ลงตัสสปาปิยสิกากรรม (คือ การลงโทษแก่ผู้กระทำผิด) ต้องประพฤติชอบในธรรม ๘ ประการ คือ ไม่พึงให้อุปสมบท ๑ ไม่พึงให้นิสัย ๑ ไม่พึงให้สามเณรอุปัฏฐาก ๑ ไม่พึงยินดีการสมมติตนเป็นผู้ให้โอวาทภิกษุณี ๑ แม้ได้รับสมมติแล้ว ก็ไม่พึงโอวาทภิกษุณี ๑ ไม่พึงยินดีการได้รับสมมติจากสงฆ์ไรๆ ๑ ไม่พึงนิยมในตำแหน่งหัวหน้าตำแหน่งไรๆ ๑ ไม่พึงให้ประพฤติ วุฏฐานพิธีเพราะตำแหน่งเดิมนั้น ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้อันสงฆ์ลงตัสสปาปิยสิกากรรมแล้ว พึงประพฤติชอบในธรรม ๘ ประการนี้ ฯ

    จบ สูตรที่ ๑๓

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าท่านเป็นผู้ที่ได้กระทำผิด และสำนึกจริงๆ ท่านก็รู้ว่า ท่านไม่ควรจะกระทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของความเป็นใหญ่ ความเป็นหัวหน้า จนกว่าท่านจะเป็นผู้ที่ประพฤติถูกต้องจริงๆ

    โดยนัยตรงกันข้าม คือ นัยที่ภิกษุเกื้อกูลแก่คฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติผิดต่อสงฆ์ นี่เป็นเรื่องสำคัญระหว่างพุทธบริษัท ๔ คือ ระหว่างฆราวาสกับบรรพชิต ถ้าภิกษุกระทำไม่ถูกต้อง ฆราวาสก็ประกาศการไม่เลื่อมใสต่อภิกษุนั้น แต่ถ้าพุทธบริษัทที่เป็นฆราวาส ประพฤติไม่ถูกต้อง ภิกษุก็มีวิธีที่จะปฏิบัติต่อฆราวาสด้วย

    ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปัตตสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๙๔ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ องค์ ๘ ประการเป็นไฉน คือ อุบาสกพยายามเพื่อความเสื่อมลาภแก่ภิกษุทั้งหลาย ๑ พยายามเพื่อความพินาศแก่ภิกษุทั้งหลาย ๑ พยายามเพื่อความอยู่ไม่ได้แก่ภิกษุทั้งหลาย ๑ ย่อมด่าย่อมบริภาษภิกษุทั้งหลาย ๑ ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกจากภิกษุทั้งหลาย ๑ ติเตียนพระพุทธเจ้า ๑ ติเตียนพระธรรม ๑ ติเตียนพระสงฆ์ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์หวังอยู่ พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล ฯ

    จบ สูตรที่ ๗

    มีประโยชน์สำหรับฆราวาสหรือเปล่า มี สำหรับฆราวาสให้พิจารณาตนเอง

    . ที่แสดงธรรมกันทั่วๆ ไปนี่มากมาย และก็มีผู้ที่เข้าไปฟังธรรม ซึ่งผู้ที่ฟังธรรมนั้น บางทีก็เป็นผู้ที่รู้ข้อความในพระไตรปิฎก เมื่อผู้แสดงธรรมแสดงธรรมเป็นอย่างอื่นไป ผู้ฟังที่รู้ข้อความในพระไตรปิฎกก็พูดแทรกว่า อย่างนี้ไม่ถูก พระไตรปิฎกว่าอย่างนี้ๆ จะเรียกว่า เป็นการเกื้อกูลธรรมของพระพุทธเจ้าได้ไหม

    สุ. ฆราวาสหรือบรรพชิต

    . ฆราวาสด้วย บรรพชิตด้วย

    สุ. บรรพชิตกับบรรพชิต ก็มีระเบียบวินัยอีกหลายประการด้วย และกับฆราวาสเอง ก็ควรจะรู้กาลเทศะและประโยชน์ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นธรรมที่ถูกต้อง แต่ผิดกาลเทศะ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้น ควรคำนึงถึงประโยชน์ และควรทำด้วยกุศลจิต ณ สถานที่ใดก็ตาม กาลใดก็ตาม ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์เลย ก็นิ่งเสียดีกว่า

    ขอกล่าวถึงเรื่องของการคว่ำบาตร ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ เรื่องเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ข้อ ๑๑๐ มีข้อความว่า

    สมัยนั้น เจ้าวัฑฒะลิจฉวีเป็นสหายของพระเมตติยะและพระภุมมชกะ จึงเจ้าวัฑฒะลิจฉวีเข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะ แล้วกล่าวว่า ผมไหว้ขอรับ เมื่อเธอกล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย แม้ครั้งที่สอง เจ้าวัฑฒะลิจฉวีได้กล่าวว่า ผมไหว้ขอรับ แม้ครั้งที่สอง ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย แม้ครั้งที่สาม เจ้าวัฑฒะลิจฉวีได้กล่าวว่า ผมไหว้ขอรับ แม้ครั้งที่สาม ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย

    เจ้าวัฑฒะลิจฉวีถามว่า

    ผมผิดอะไรต่อพระคุณเจ้าอย่างไร ทำไมพระคุณเจ้าจึงไม่ทักทายปราศรัยกับผม

    ภิกษุทั้งสองตอบว่า

    ก็จริงอย่างนั้นแหละ ท่านวัฑฒะ พวกอาตมาถูกพวกพระทัพพมัลลบุตรเบียดเบียนอยู่ ท่านยังเพิกเฉยได้

    เจ้าวัฑฒะลิจฉวีถามว่า.

    ผมจะช่วยเหลืออย่างไรขอรับ

    ภิกษุกล่าว่า.

    ท่านวัฑฒะ ถ้าท่านเต็มใจช่วย วันนี้พระผู้มีพระภาคต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก

    เจ้าวัฑฒะลิจฉวีถามว่า.

    ผมจะทำอย่างไร ผมสามารถจะช่วยได้ด้วยวิธีไหน

    ภิกษุกล่าว่า.

    มาเถิด ท่านวัฑฒะ ท่านจงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า กรรมนี้ไม่แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมีลมแรงขึ้น ประชาบดีของหม่อมฉัน ถูกพระทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า

    เจ้าวัฑฒะลิจฉวีรับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะแล้ว เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า

    พระพุทธเจ้าข้า กรรมนี้ไม่แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้ กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมีลมแรงขึ้น ประชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า ฯ

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า

    ดูกร ทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมตามที่เจ้าวัฑฒะลิจฉวีนี้ กล่าวหา

    ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า

    พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า

    แม้ครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาค ...

    แม้ครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า

    ดูกร ทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือว่า เป็นผู้ทำกรรมตามที่เจ้าวัฑฒะลิจฉวีนี้กล่าวหา

    ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า

    พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่กล่าวแก้คำกล่าวหาอย่างนี้ ถ้าเธอทำ จงบอกว่าทำ ถ้าไม่ได้ทำ จงบอกว่าไม่ได้ทำ

    ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า

    ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้ว แม้โดยความฝัน ก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตื่นอยู่เล่า พระพุทธเจ้าข้า

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ อย่าให้คบกับสงฆ์ ฯ

    ข้อความต่อไป

    องค์แห่งการคว่ำบาตร

    พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ:

    ๑. ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย

    ๒. ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย

    ๓. ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย

    ๔. ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย

    ๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน

    ๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า

    ๗. กล่าวติเตียนพระธรรม

    ๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แล สงฆ์พึงคว่ำบาตรอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ข้อ ๑๑๕

    ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะเจ้าวัฑฒะลิจฉวีว่า

    ท่านวัฑฒะ สงฆ์คว่ำบาตรแก่ท่านแล้ว ท่านคบกับสงฆ์ไม่ได้ พอเจ้าวัฑฒะลิจฉวีทราบข่าวว่า สงฆ์คว่ำบาตรแก่เราแล้ว เราคบกับสงฆ์ไม่ได้แล้ว ก็สลบล้มลง ณ ที่นั้นเอง

    ทีแรกคงจะคิดว่า ไม่ใช่ความผิดที่ร้ายแรงอะไร แต่อย่าลืมว่า การพูดในสิ่งที่ไม่จริง ทำให้คนอื่นเสียหาย เสียประโยชน์ และทำให้คนอื่นเข้าใจผิดด้วย เพราะฉะนั้น มีโทษมากทีเดียว ถึงกับสงฆ์คว่ำบาตรได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ขณะนั้น มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ได้กล่าวคำนี้กะเจ้าวัฑฒะลิจฉวีว่า

    ไม่ควร ท่านวัฑฒะ อย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญไปนักเลย พวกเราจักให้พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์เลื่อมใส

    จึงเจ้าวัฑฒะลิจฉวีพร้อมด้วยบุตรภรรยา พร้อมด้วยมิตรอำมาตย์ พร้อมด้วยญาติสาโลหิต มีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบศีรษะลงแทบ พระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า

    พระพุทธเจ้าข้า โทษได้มาถึงหม่อมฉันแล้ว ตามความโง่ ตามความเขลา ตามอกุศล ขอพระองค์ทรงพระกรุณารับโทษของหม่อมฉัน ที่ได้โจทพระคุณเจ้า ทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เชิญเถิด เจ้าวัฑฒะ โทษได้มาถึงท่านแล้ว ตามความโง่ ตามความเขลา ตามอกุศล ท่านได้เห็นโทษที่ได้โจททัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล โดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม เราขอรับโทษนั้นของท่าน การที่ท่านเห็นโทษโดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในพระอริยวินัย ฯ

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นสงฆ์จงหงายบาตรแก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ทำให้คบกับสงฆ์ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๗ ตอนที่ ๔๖๑ – ๔๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564