แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 450


    ครั้งที่ ๔๕๐


    ถ. ใน ทานสูตร ที่อาจารย์เคยบรรยายไปแล้ว ที่มีอุบาสกชาวเมืองจำปา อุบาสกเหล่านี้ก็หวังผลกันทั้งนั้น จึงไปหาท่านพระสารีบุตร อยากจะฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาค ท่านพระสารีบุตรก็นัดให้อุบาสกทั้งหลายมาในวันอุโบสถ จะได้เฝ้าและฟังธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พอถึงวันอุโบสถ อุบาสกทั้งหลายเหล่านั้นก็มาหาท่านพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็พาอุบาสกเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และท่านพระสารีบุตรก็ถามแทนอุบาสกเหล่านั้น โดยทูลถามว่า

    ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้วได้ผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มากมีอยู่หรือหนอแล และทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ทำแล้วได้ผลมาก และมีอานิสงส์มาก มีอยู่หรือหนอ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มีทั้ง ๒ อย่าง และทรงจำแนกทาน มีข้าว น้ำ ยานพาหนะ ดอกไม้ ของหอม ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้กว้างเลยทั้งหมด แต่ไม่ได้บอกปริมาณ

    ถ้าบุคคลบางคนทำบุญไปแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าผูกพันในผลให้ทาน หรือคิดว่า ทำบุญแล้วตายไปจะได้ผลของทาน ก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา

    ถ้าบุคคลทำบุญ และคิดว่าทำตามประเพณี หรือคิดว่าสมณะหรือพราหมณ์หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ เราจะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นผู้หุงหากินไม่ได้นั้น ไม่สมควร ก็ไปเกิดในสวรรค์อีกชั้นหนึ่ง จนกระทั่งถึงบุคคลทำบุญและ มีความปีติ ปลื้มใจ โสมนัสเกิดขึ้น ก็ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี

    ความสงสัยเกิดขึ้นว่า ที่พระผู้มีพระภาคตรัสนี้ หมายถึงจิตใจที่ตั้งใจนึกคิด ไม่ได้มุ่งถึงวัตถุที่ให้ วัตถุจะมากหรือน้อยไม่เกี่ยว แต่เกี่ยวกับขณะที่ให้นั้น สภาพของจิตเป็นอย่างไร

    สมมติว่า มีคนสร้างโรงเรียนปริยัติธรรม ๑ ล้านบาท และมีความคิดผูกพันในผลของทานนั้น หวังว่าเมื่อตายไปแล้ว จะได้เสวยผลบุญของทานนี้ บุคคลคนนี้ก็ต้องไปเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา อีกบุคคลหนึ่งสมมติว่า ไปเจอภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อวานนี้ท่านไม่ได้ฉันอาหารเลย ก็นิมนต์ถวายภัตตาหารท่าน เสียค่าอาหารมื้อนั้นไป ๓๐ บาทเท่านั้น แต่เกิดปีติยินดีว่า ได้มีโอกาสเลี้ยงพระที่ท่านกำลังหิวมาก การเลี้ยงในมื้อนี้คุ้มค่าจริงๆ เกิดดีใจ ปีติโสมนัสเกิดขึ้น ลักษณะนี้ตามสูตรนี้ ตายไปก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นที่ ๖ ชั้นสูงสุด ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว จะเป็นไปได้ไหมที่เงินล้านหนึ่งเทียบกับ เงิน ๓๐ บาทไม่ได้

    สุ. เป็นเรื่องความวิจิตรของจิต ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าท่านไม่ทราบ ลักษณะสภาพของจิตใจจริงๆ ที่เป็นเหตุแล้ว ก็ยากที่จะรู้ได้ว่า จะเป็นปัจจัยให้เกิดผลขั้นใด ระดับใด

    ถ้าอ่านใน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ หรือ เปตวัตถุ ก็จะเห็นผลของกรรมที่ได้กระทำต่างๆ กัน ที่เป็นปัจจัยให้เกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ กัน เพราะความวิจิตรจริงๆ ของจิต การกระทำอาจจะลักษณะเดียวกัน ดูภายนอกเหมือนกัน เสมอกัน แต่ผลที่ได้รับนั้นต่างกัน ตามความวิจิตรของจิต

    เพราะฉะนั้น เป็นการยากเหลือเกินที่จะมีการวัดระดับขั้น และจัดสรรปันส่วนจริงๆ ว่า ขอบเขตนี้ให้อยู่สวรรค์ชั้นนี้หรืออะไร ซึ่งขึ้นอยู่กับความวิจิตรของจิตที่ทำกุศล แต่ข้อสำคัญประการหนึ่ง คือ สูตรใดที่ทรงจำแนกผลและอานิสงส์จากกัน หมายความถึงว่าผลอาจจะมีมากจริง ทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นสูงได้จริง แต่ว่ายังผูกพันในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น อานิสงส์ก็น้อย เพราะว่าไม่ทำให้ละคลายการยึดถือในนาม ในรูป ในสังสารวัฏฏ์

    เวลาที่ทำบุญ เพื่อผล คือ สวรรค์ชั้นต่างๆ ให้สูงขึ้น หรือเพื่อที่จะได้ละคลายกิเลสที่มีอยู่ในใจ การติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะให้น้อยลง

    ถ้ายังติดอยู่ และหวังในผล ก็มีปัจจัยที่จะให้เกิดในสวรรค์ชั้นสูงได้จริง แต่ก็ยังเป็นผู้ที่ติดยึดมั่นอย่างมากทีเดียวในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ได้ละคลายขัดเกลา บรรเทากิเลสเลย

    เพราะฉะนั้น แต่ละครั้งที่สละไปนี้ ให้เหมือนกับสละกิเลสออกด้วย ไม่ใช่แต่ละครั้งที่สละไป ก็หวังที่จะได้วัตถุปัจจัยที่จะให้เกิดกิเลสอีกมากๆ

    ถ. ที่จะละกิเลสนี้ยากจริงๆ เวลานี้บางทียังพอใจในกิเลสอยู่ ทั้งที่พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ให้เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ตนเองก็รู้ และก็รู้จากคำสอนของ พระผู้มีพระภาคด้วยว่า อย่างไหนเป็นโทษ อย่างไหนไม่ใช่โทษ แต่ก็ยังพอใจ เช่น กามคุณทั้ง ๕ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ประณีตก็ยังต้องการอยู่ จะละก็ยังเสียดาย ทั้งๆ ที่รู้แล้วว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา รู้ตามปริยัติ โทษก็รู้ตามคำสอน แต่ยังไม่เห็น เมื่อไม่เห็นก็ไม่อยากจะละ เพราะว่ายังดี

    สุ. ทุกท่านก็คงจะเห็นใจ และคงจะอนุโมทนาในความเป็นผู้ตรงต่อตัวเอง ตราบใดที่ปัญญายังไม่ถึงขั้นที่จะรู้แจ้ง รู้จริง ตราบนั้นจะไม่มีการละเลย นี้เป็นความจริง ทุกท่านที่เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะทราบได้ จะรู้จักตนเองจริงๆ ตามความเป็นจริงด้วย เพราะฉะนั้น การละกิเลสเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ยากมากเหลือเกิน เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมจริงๆ รู้จริงๆ และความรู้จริงต่างหากที่ละ ถ้าตราบใดความรู้จริงยังไม่เกิด จะเอาอะไรมาละกิเลส จะเอาอะไรมาละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้น เรื่องของกิเลสก็เป็นเรื่องที่มีมาก มากขึ้นทุกวันด้วย เทียบส่วนของสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมกับขณะที่หลงลืมสติ

    ด้วยเหตุนี้ พุทธบริษัทจึงไม่ละเลยที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการ เพื่อที่จะเกื้อกูลในการละคลายกิเลสให้น้อยลง เพื่อสติจะได้ระลึกรู้ และประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้

    แม้ในการรักษาศีลอุโบสถ ท่านผู้ฟังก็จะต้องทราบถึงจุดประสงค์ ท่านจึงจะได้อานิสงส์จากการรักษาศีลอุโบสถตามความเข้าใจของท่าน แต่ถ้าไม่เข้าใจ ก็ไม่ได้ละคลายอะไรเลย

    ขอกล่าวถึงข้อความใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต อุโปสถสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของมิคารมารดา ในบุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตาได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับในวันอุโบสถ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ดูกร นางวิสาขา ท่านมาแต่ไหนแต่ยังวันอยู่

    นางวิสาขากราบทูลว่า

    วันนี้ดิฉันเข้าจำอุโบสถ เจ้าข้า ฯ

    ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ข้อความหลายพระสูตรทีเดียวที่มีการฟังธรรม เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในวันอุโบสถ ซึ่งในครั้งแรกนั้น ทรงบัญญัติวันอุโบสถเพื่อการฟังธรรม ภายหลังจึงได้ทรงแสดงกรรมที่ควรจะกระทำในวันอุโบสถสำหรับภิกษุ ซึ่งชีวิตของฆราวาสก็เนื่องกับภิกษุ เมื่อภิกษุกระทำกรรมที่ควรกระทำในวันอุโบสถ ก็เป็นกาลที่ฆราวาสควรที่จะได้มีโอกาสไปบำเพ็ญกุศล และได้ฟังธรรมจากพระภิกษุในวันนั้นด้วย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นางวิสาขา อุโบสถมี ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน คือ โคปาลกอุโบสถ ๑นิคัณฐอุโบสถ ๑ อริยอุโบสถ ๑

    ท่านผู้ฟังอาจจะเป็นผู้ที่เคยรักษาศีลอุโบสถมาบ้างแล้ว แต่ที่ท่านเคยรักษาศีลอุโบสถมาแล้วนั้น เป็นอุโบสถประเภทไหน จะเป็นโคปาลกอุโบสถ หรือว่าจะเป็นนิคัณฐอุโบสถ หรือว่าจะเป็นอริยอุโบสถ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นางวิสาขา ก็โคปาลกอุโบสถเป็นอย่างไร

    ดูกร นางวิสาขา เปรียบเหมือนนายโคบาล เวลาเย็นมอบฝูงโคให้แก่เจ้าของแล้ว พิจารณาดังนี้ว่า วันนี้โคเที่ยวไปในประเทศโน้นๆ ดื่มน้ำในประเทศโน้นๆ พรุ่งนี้โคจักเที่ยวไปในประเทศโน้นๆ จักดื่มน้ำในประเทศโน้นๆ แม้ฉันใด ดูกร นางวิสาขา ฉันนั้นเหมือนกัน คนรักษาอุโบสถบางคนในโลกนี้ พิจารณาดังนี้ว่า วันนี้เราเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ๆ กินของชนิดนี้ๆ พรุ่งนี้เราจะเคี้ยวของเคี้ยวชนิดนี้ๆ จักกินของกินชนิดนี้ๆ เขามีใจประกอบด้วยความโลภอยากได้ของเขา ทำวันให้ล่วงไปด้วยความโลภนั้น

    ดูกร นางวิสาขา โคปาลกอุโบสถเป็นเช่นนี้แล

    ดูกร นางวิสาขา โคปาลกอุโบสถที่บุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้แล ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก

    ที่เคยรักษามาแล้วเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ทราบว่าอุโบสถศีลมีองค์ ๘ นั้น มีประการใดบ้าง ก็มีศรัทธาที่จะรักษาจริง คือ วิรัติองค์ทั้ง ๘ นั้นที่เป็นอุโบสถศีล แต่พอกระทำตามนั้นแล้ว ระหว่างนั้นที่รักษาอยู่วันหนึ่งคืนหนึ่งนั้นทำอะไรบ้าง ถ้าไม่ได้ขัดเกลาจริงๆ ไม่รู้จุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลจริงๆ ก็จะเป็นโคปาลกอุโบสถ คือ คิดเรื่องคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง เรื่องของตนเองบ้าง หรือว่ากิจการที่จะกระทำในวันนั้นวันนี้ต่างๆ บ้างด้วยความเป็นตัวตน ในขณะนั้นไม่ได้เป็นอริยอุโบสถ ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เป็นโคปาลกอุโบสถ

    มีไหมอย่างนี้ มี โดยมากหวังผลใหญ่ของอุโบสถศีล เห็นว่าเป็นบุญมากจึงรักษาอุโบสถศีล หวังจะได้ผลมาก ถ้าเป็นโดยลักษณะนี้ ก็เป็นโคปาลกอุโบสถ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร นางวิสาขา ก็นิคัณฐอุโบสถเป็นอย่างไร

    ดูกร นางวิสาขา มีสมณะนิกายหนึ่ง มีนามว่านิครนถ์ นิครนถ์เหล่านั้นชักชวนสาวกอย่างนี้ว่า มาเถอะพ่อคุณ ท่านจงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศบูรพาในที่เลยร้อยโยชน์ไป จงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศปัจจิมในที่เลยร้อยโยชน์ไป จงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศอุดรในที่เลยร้อยโยชน์ไป จงวางทัณฑะในหมู่สัตว์ที่อยู่ทางทิศทักษิณในที่เลยร้อยโยชน์ไป

    นิครนถ์เหล่านั้น ชักชวนเพื่อเอ็นดูกรุณาสัตว์บางเหล่า ไม่ชักชวนเพื่อเอ็นดูกรุณาสัตว์บางเหล่า ด้วยประการฉะนี้

    นิครนถ์เหล่านั้น ชักชวนสาวกในอุโบสถเช่นนั้นอย่างนี้ว่า มาเถอะพ่อคุณ ท่านจงทิ้งผ้าเสียทุกชิ้น แล้วพูดอย่างนี้ว่า เราไม่เป็นที่กังวลของใครๆ ในที่ไหนๆ และตัวเราก็ไม่มีความกังวลในบุคคล และสิ่งของใดๆ ในที่ไหนๆ ดังนี้ แต่ว่ามารดาและบิดาของเขารู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบุตรของเรา แม้เขาก็รู้ว่า ท่านเหล่านี้เป็นมารดาบิดาของเรา อนึ่ง บุตรและภรรยาของเขาก็รู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบิดาสามีของเรา แม้เขาก็รู้อยู่ว่า ผู้นี้เป็นบุตรภรรยาของเรา พวกทาสและคนงานของเขารู้อยู่ว่า ท่านผู้นี้เป็นนายของเรา ถึงตัวเขาก็รู้ว่า คนเหล่านี้เป็นทาสและคนงานของเรา เขาชักชวนในการพูดเท็จ ในสมัยที่ควรชักชวนในคำสัตย์ ด้วยประการฉะนี้

    เรากล่าวถึงกรรมของผู้นั้นเพราะมุสาวาท พอล่วงราตรีนั้นไป เขาย่อมบริโภคโภคะเหล่านั้นที่เจ้าของไม่ได้ให้ เรากล่าวถึงกรรมของผู้นั้นเพราะอทินนาทาน

    ดูกร นางวิสาขา นิคัณฐอุโบสถเป็นเช่นนี้แล

    ดูกร นางวิสาขา นิคัณฐอุโบสถที่บุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้ ไม่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก ไม่รุ่งเรืองมาก ไม่แผ่ไพศาลมาก

    จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นวันอุโบสถ เป็นกาลที่มีศรัทธาที่จะขัดเกลากิเลส แต่ถ้าไม่รู้หนทางที่ถูกต้อง ก็ไม่ได้ขัดเกลา เพราะว่ามีความเห็นผิด ยังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่จะรักษาศีลอุโบสถที่จะให้ได้อานิสงส์สูงสุดก็ด้วยความเข้าใจถูกว่า ผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นผู้ที่สมบูรณ์แล้วในศีล ๕ แต่เมื่อจะขัดเกลากิเลสถึงความหมดจดจริงๆ เป็น พระอรหันต์ ก็ควรที่จะสะสมอุปนิสสยปัจจัยโดยการรักษาอุโบสถศีล เพื่อการขัดเกลายิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจจุดประสงค์อย่างนี้ ก็จะรักษาอุโบสถศีลที่เป็น อริยอุโบสถด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ ด้วยหนทางข้อปฏิบัติที่ถูกต้องจริงๆ ไม่ใช่มีเพียงศรัทธาที่รู้ว่า ศีลอุโบสถมีองค์ ๘ คืออย่างไร และรักษาศีลอุโบสถมีองค์ ๘ แต่ไม่รู้หนทางข้อปฏิบัติที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเป็นโดยลักษณะนี้ ก็จะไม่ได้อานิสงส์มากเลย

    สำหรับท่านที่มีศรัทธาในการที่จะรักษาอุโบสถศีล แต่ยังไม่มีความเข้าใจถูกในข้อปฏิบัติ จะเป็นอริยอุโบสถได้ไหม ยังเข้าใจผิดในเรื่องของการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็ไม่ใช่อริยอุโบสถศีล

    สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจถูก มีศรัทธา และเป็นกาลที่สามารถจะรักษาอุโบสถศีลได้เท่านั้น จึงจะเป็นอริยอุโบสถ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๔๔๑ – ๔๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564