แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 477


    ครั้งที่ ๔๗๗


    ก็สมัยนั้นแล ราชบุรุษได้ให้เนยใสบ้าง น้ำมันบ้างในพระคลังของพระเจ้า ปเสนทิโกศลแก่สมณะบ้าง พราหมณ์บ้าง เพื่อดื่มพอความต้องการ แต่ไม่ให้เพื่อนำไป

    ครั้งนั้นแล ปริพาชกนั้นดำริว่า ก็ราชบุรุษให้เนยใสบ้าง น้ำมันบ้าง ใน พระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศลแก่สมณะบ้าง พราหมณ์บ้าง เพื่อดื่มพอความต้องการ ไม่ให้เพื่อนำไป ไฉนหนอ เราพึงไปยังพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ดื่มน้ำมันพอความต้องการแล้ว กลับมาเรือน สำรอกน้ำมัน ซึ่งจักเป็นอุปการะแก่นาง ปริพาชิกาผู้คลอดนี้เถิด

    ครั้งนั้นแล ปริพาชกนั้นไปยังพระคลังของพระเจ้าปเสนทิโกศล ดื่มน้ำมันพอความต้องการแล้ว กลับมาเรือน ไม่สามารถเพื่อจะไว้เบื้องต่ำ (ด้วยอำนาจการถ่ายท้อง) ปริพาชกนั้นอันทุกข์เวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนถูกต้องแล้ว ย่อมหมุนมาและหมุนไปโดยรอบ

    ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงผ้าอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ได้ทอดพระเนตรเห็นปริพาชกนั้น ผู้อันทุกขเวทนาอันกล้าเผ็ดร้อนถูกต้องแล้ว หมุนมาหมุนไปอยู่โดยรอบ ฯ

    ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

    ชนผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล มีความสุขหนอ ชนผู้ถึงเวท (คือ อริยมรรคญาณ) เท่านั้น ชื่อว่าผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ท่านจงดูชนผู้มีกิเลสเครื่องกังวลเดือดร้อนอยู่ ชนเป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในชนย่อมเดือดร้อน ฯ

    จบ สูตรที่ ๖

    ท่านผู้ฟังคงจะคิดว่า เป็นเหตุการณ์ธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ธรรมดาอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงอนุเคราะห์พุทธบริษัทด้วย พระอุทานนี้ เพื่อให้ผู้ที่พิจารณาธรรม น้อมพิจารณาให้เห็นธรรมว่า ชนเป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในชนย่อมเดือดร้อน

    และความเดือดร้อนก็ย่อมมีนานาประการ ตามที่ท่านก็ย่อมเห็น ย่อมได้ยิน ย่อมได้ฟังกันอยู่ เป็นชีวิตปกติธรรมดา แต่ถ้าไม่พิจารณาให้เห็นเป็นธรรม ก็ย่อมจะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ทนได้ หรือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลก แต่ถ้าจะน้อมพิจารณาให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมเห็นว่า ชนเป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในชนย่อมเดือดร้อน

    สำหรับเรื่องของความเดือดร้อนเพราะความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มีกิเลส คือ ความพอใจในกามที่มีกำลังรุนแรง ใน ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก กามนีตชาดก ว่าด้วยผู้ถูกโรครักครอบงำรักษายาก มีข้อความว่า

    ข้อ ๓๐๕

    เราปรารถนาระหว่างเมืองทั้ง ๓ คือ เมืองปัญจาละ ๑ เมืองกุรุยะ ๑ เมืองเกกกะ ๑ ดูกร ท่านพราหมณ์ เราปรารถนาราชสมบัติทั้ง ๓ เมืองนั้น มากกว่าสมบัติที่เราได้แล้วนี้ ดูกร พราหมณ์ ขอให้ท่านช่วยรักษาเราผู้ถูกความใคร่ครอบงำด้วยเถิด

    ข้อ ๓๐๖

    อันที่จริงเมื่อบุคคลถูกงูเห่ากัด หมอบางคนก็รักษาได้ อนึ่ง บุคคลถูกผีเข้าสิง หมอผู้ฉลาดก็ไล่ออกได้ แต่บุคคลถูกความใคร่ครอบงำแล้ว ใครๆ ก็รักษาไม่หาย เพราะว่าเมื่อบุคคลล่วงเลยธรรมขาวเสียแล้ว จะรักษาได้อย่างไร

    จบ กามนีตชาดกที่ ๘

    บางคนรู้จริงๆ ว่า ตัวเองกำลังมีความทุกข์ ก็อยากจะหาทางดับ ผ่อนคลายความทุกข์นั้น แต่ไม่รู้ว่า ความทุกข์ที่มีกำลังในขณะนั้น ต้องเกิดมาจากการสะสมความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่เรื่อยๆ และก็มีกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งตนเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้ขัดเกลาดับความทุกข์นี้ได้

    สำหรับเรื่องของอุโบสถศีลองค์ที่ ๓ ท่านผู้ฟังควรจะได้พิจารณาเห็นว่า การที่จะให้พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มี เป็นเรื่องธรรมดาที่มี เพราะว่าสะสมมามาก แต่ว่าผู้ที่เห็นโทษของกาม เห็นโทษของกิเลส ก็ควรที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลอื่นให้เจริญในธรรมที่จะดับกิเลส ละคลายความยินดีพอใจในกาม ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะที่ยากเหลือเกินที่จะละได้ โดยเฉพาะผู้ที่ศึกษาธรรม อบรมเจริญปัญญาที่จะให้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็ไม่ควรที่จะวิตกกังวลในเรื่องของการครองเรือน หรือปรารถนาที่จะให้บุตรหลานหรือมิตรสหายของท่านเป็นผู้ครองเรือน เพราะว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยาก

    แต่เรื่องของการที่จะสละ เรื่องของการที่จะละ เรื่องของการที่จะหลบหลีกการครองเรือนในภพหนึ่ง ในชาติหนึ่ง เป็นสิ่งที่ควรจะสะสมเป็นอุปนิสัยปัจจัย สะสมเพิ่มพูนให้เป็นบารมียิ่งขึ้นในทุกชาติ เพราะเหตุว่าตราบใดที่กิเลสยังไม่หมด ก็ไม่มีใครที่จะทราบแน่ว่า ในภพไหน ในชาติไหน จะมีปัจจัยอะไรที่จะทำให้กิเลสอย่างนั้นเกิดขึ้นเป็นไป

    สำหรับอุบาสิกาซึ่งเป็นผู้ใคร่ในธรรมในครั้งพุทธกาล ท่านผู้ฟังก็จะได้ทราบว่า ความคิดความเห็นของท่านเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ลาภสักการสังยุต ตติยวรรคที่ ๓ ปุตตสูตร มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

    พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลาภ สักการะ ชื่อเสียงทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้มีศรัทธา เมื่อวิงวอนบุตรคนเดียวซึ่งเป็นที่รัก เป็นที่โปรดปราน โดยชอบ พึงวิงวอนอย่างนี้ว่า ขอพ่อจงเป็นเช่นจิตตคฤหบดี แล หัตถกอาฬวกอุบาสกเถิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาอุบาสกผู้เป็นสาวกของเรา จิตตคฤหบดีและหัตถกอาฬวกอุบาสก เป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้

    ถ้าพ่อออกบวช ก็ขอจงเป็นเช่นพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะเถิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้เป็นสาวกของเรา สารีบุตรและโมคคัลลานะ เป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้

    ขอพ่อจงอย่าเป็นเช่นพระเสขะผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ถูกลาภสักการะ แลชื่อเสียงครอบงำ ถ้าลาภสักการะแลชื่อเสียงครอบงำภิกษุผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุอรหัตผลไซร้ ก็ย่อมเป็นอันตรายแก่เธอ ลาภสักการะแลชื่อเสียงทารุณ ฯลฯ อย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ

    จบ สูตรที่ ๓

    ท่านผู้ฟังมีความหวังดีต่อบุตรอย่างนี้หรือเปล่า ลองพิจารณาดูว่า ถ้าท่านจะห่วงกังวลในบุตรของท่านซึ่งเป็นที่รัก เป็นที่โปรดปราน โดยชอบ ท่านปรารถนาจะให้ชีวิตของบุตรของท่านเป็นไปอย่างไร จะเหมือนกับความปรารถนาของอุบาสิกาผู้มีศรัทธาในครั้งอดีตหรือเปล่า

    อีกสูตรหนึ่ง คือ เอกธีตุสูตร มีข้อความว่า

    ข้อ ๕๗๒

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาผู้มีศรัทธาเมื่อวิงวอนธิดาคนเดียวผู้เป็นที่รัก เป็นที่โปรดปราน โดยชอบ พึงวิงวอนอย่างนี้ว่า ขอแม่จงเป็นเช่นนางขุชชุตตราอุบาสิกา และนางนันทามารดาของนางเวฬุกัณฑกีเถิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาอุบาสิกา ผู้เป็นสาวิกาของเรา ขุชชุตตราอุบาสิกาและนางนันทามารดาของนางเวฬุกัณฑกี เป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้

    ถ้าแม่ออกบวช ก็ขอจงเป็นเช่นพระเขมาภิกษุณีและอุบลวรรณาภิกษุณีเถิด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรา เขมาภิกษุณีและอุบลวรรณาภิกษุณี เป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้

    ขอแม่จงอย่าเป็นเช่นพระเสขะผู้ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ถูกลาภสักการะและชื่อเสียงครอบงำ ถ้าลาภสักการะและชื่อเสียงย่อมครอบงำภิกษุณีผู้เป็นพระเสขะยังไม่บรรลุอรหัตตผลไซร้ ก็ย่อมเป็นอันตรายแก่เธอ ลาภสักการะและชื่อเสียงทารุณ ฯลฯ อย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ ฯ

    ข้อความในพระไตรปิฎก เป็นข้อความที่อนุเคราะห์ให้บุคคลที่มีศรัทธา เพิ่มพูนศรัทธายิ่งขึ้นในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม แม้ความหวังดีของมารดาที่จะมีต่อบุตรและธิดาโดยชอบ ก็ไม่ใช่เป็นการส่งเสริมที่จะให้หมกมุ่นเป็นไปในเรื่องของกิเลส แต่มีความปรารถนา มีความหวังดีโดยชอบว่า ถ้าเป็นฆราวาส ก็ขอให้เป็นเช่นจิตตคฤหบดี ผู้เป็นอุบาสกสาวกผู้เป็นเลิศในธรรมกถึก หัตถกอาฬวกอุบาสก ก็เป็นอุบาสกผู้เลิศกว่าอุบาสกสาวกผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔

    สำหรับผู้หญิง ขุชชุตตราอุบาสิกา เป็นผู้ที่เลิศกว่าอุบาสิกาสาวิกาผู้เป็นพหูสูต นันทามารดาของนางเวฬุกัณฑกี เป็นผู้ที่เลิศกว่าอุบาสิกาสาวิกาผู้ยินดีในฌาน

    สำหรับพระภิกษุณี พระเขมาภิกษุณี เป็นภิกษุณีสาวิกาผู้เลิศกว่าภิกษุณีสาวิกาผู้มีปัญญามาก และท่านอุบลวรรณาภิกษุณี ก็เป็นผู้ที่เลิศกว่าภิกษุณีสาวิกาผู้มีฤทธิ์

    และท่านพระสารีบุตร เป็นอัครสาวกซึ่งเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุสาวกผู้มีปัญญา ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็เป็นภิกษุสาวกผู้เลิศกว่าภิกษุผู้มีฤทธิ์

    . ที่ว่า ลาภ ยศ สักการะเป็นของเผ็ดร้อน ทารุณ หยาบคาย ท่านจิตตคฤหบดี ท่านบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้ว ท่านเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงดี เป็นเศรษฐี ลาภยศของท่าน ใครๆ เขาก็สรรเสริญ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าอยู่กับพระอนาคามีแล้ว จะเดือดร้อนอย่างไร และถ้าอยู่กับปุถุชนจะเดือดร้อนอย่างไร

    สุ. สำหรับปุถุชน หวั่นไหวเหลือเกิน ยังเป็นผู้ที่ติดอยู่มากในลาภ ในสักการะ ในยศ ในสรรเสริญ

    ท่านผู้ฟังอาจจะไม่ทราบตามความเป็นจริงว่า ตลอดเวลานี้ ทุกวันๆ ท่านหวังในอะไร ซึ่งตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังมีกิเลสอยู่ ที่ท่านหวังจริงๆ คือ หวังในลาภ

    ต้องการอะไรบ้างทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องการสิ่งที่ประณีต เป็นอิฏฐารมณ์ หรือว่าต้องการสิ่งที่เป็นอนิฏฐารมณ์

    เคยมีของที่มีราคามากๆ หายบ้างไหม เสียดายไหม หรือว่าหายไปแล้วก็ไม่เป็นไร เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า บางท่านอาจถึงกับบนบานศาลกล่าวที่จะให้ได้คืนมา ก็เป็นเรื่องพิสูจน์สภาพจิตใจของท่านว่า หวั่นไหวไปเพราะมีความติด มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะมาก

    สำหรับท่านที่มีความติดอย่างมาก มีความปรารถนาอย่างมาก ต้องการเหลือเกิน ก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งแล้ว เป็นความเผ็ดร้อนทารุณของกามที่ท่านปรารถนาที่จะได้รับ

    สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็รู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหมดที่จะเกิดได้ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีอดีตกุศลที่ได้กระทำแล้ว การที่จะได้ลาภ วัตถุที่ประณีตต่างๆ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ หรือว่าถ้าไม่มีอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว การที่จะเสื่อมลาภ หรือว่าสิ่งที่ท่านเคยมีก็สูญหายไป ก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

    เพราะฉะนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ ไม่สามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้เลยว่า กุศลกรรมจะให้ผล หรืออกุศลกรรมจะให้ผลในขณะใด แต่ใจของท่านนี้หวั่นไหวมากน้อยเพียงไร ก็แล้วแต่การรู้ในสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

    สำหรับพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบันบุคคล ยังเป็นผู้ที่มีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ไม่มีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ประจักษ์ถ่องแท้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมเหล่านั้นมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น โลภะเกิดขึ้นก็เพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่าขณะที่กำลังเจริญสติปัฏฐานนั้นจะไม่มีโลภะเกิดขึ้น นั่นไม่เป็นความจริง เพราะว่าผู้ที่จะละโลภะ ความยินดี ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล และการที่พระโสดาบันบุคคลมีความวิจิตรต่างกันเป็นบุคคลต่างๆ ก็เพราะการสะสมอุปนิสัยปัจจัยที่วิจิตรต่างๆ กัน จริงๆ

    พระโสดาบันบางท่าน ท่านเป็นผู้ที่ขัดเกลาความติด ความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจนเบาบาง แต่ไม่ใช่ว่าดับเป็นสมุจเฉท พระโสดาบันบุคคลบางท่านก็รู้สภาพธรรมที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริง เช่น ท่านวิสาขามิคารมารดา ท่านยังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในเครื่องประดับ ในการครองเรือน ในบุตรหลานของท่าน แต่ความหวั่นไหวของท่าน แม้ว่ายังมี ก็ย่อมน้อยกว่าผู้ที่เป็นปุถุชน

    เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ความหวั่นไหวเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความหวั่นไหวนั้นย่อมเป็นทุกข์ ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย ลักษณะของความหวั่นไหวในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอย่างนั้น แม้จะเป็นพระอริยบุคคลที่ดับความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนแล้วก็จริง ก็ยังมีทุกข์เพราะการติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่จะบรรเทาละคลายเมื่อถึงการบรรลุคุณธรรมเป็น พระอนาคามีบุคคล ท่านก็จะเป็นผู้ที่ไม่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    สำหรับพระอนาคามีบุคคลที่ยังเป็นฆราวาส ยังไม่ใช่บรรพชิต ท่านก็ยังคงต้องมีภาระ มีกิจการงานที่จะต้องดำเนินไปในเพศของฆราวาส ซึ่งไม่สะดวกสบาย ไม่สงบ ไม่ผาสุกเท่ากับชีวิตของบรรพชิต เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าท่านไม่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่มีความหวั่นไหวในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังคงต้องมีการเกี่ยวข้องในชีวิต ในความเป็นอยู่ของท่าน เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้น ที่จะไม่เป็นเพศฆราวาส และจะพ้นภาระจากการดำเนินชีวิตอย่างเพศฆราวาส



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๔๗๑ – ๔๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564