แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 467


    ครั้งที่ ๔๖๗


    . โลกธรรม คือ การมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นอิฏฐารมณ์ที่ปุถุชนเราอยากได้ พึงปรารถนา และการไม่มีลาภ ไม่มียศ นินทา ทุกข์ เป็นอนิฏฐารมณ์ที่เราไม่อยากได้ ไม่น่าปรารถนา อยากทราบว่า โลกธรรมไม่ครอบงำจิตของพระอรหันต์ หรือว่าครอบงำ

    สุ. ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่พ้นจากโลกธรรม ซึ่งผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ก็หลงไปตามโลกธรรม เห็นว่าสำคัญเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

    สำหรับผู้ที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน ขณะใดที่ระลึกรู้ ขณะนั้นเป็นการละความยึดถือ และรู้ว่า แม้ลาภ แม้ยศ แม้สรรเสริญ แม้สุขนั้น ก็ไม่ใช่ตัวตน แต่ผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ยากเหลือเกินที่จะไม่หวั่นไหวไปกับโลกธรรมทั้ง ๒ ฝ่าย

    สำหรับผู้ที่ดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท ไม่เดือดร้อน ไม่หวั่นไหวเลย เพราะว่าท่านประจักษ์ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน จนดับกิเลสได้หมดสิ้น จึงไม่หวั่นไหว

    ทุกท่านจะต้องประสบกับโลกธรรมทั้ง ๒ ฝ่ายอยู่เสมอ แต่จะรับโลกธรรมอย่างไรเพื่อจะให้ปลอดภัย ไม่หวั่นไหว ไม่ทุกข์นัก เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นทุกข์น้อยลง ก็ด้วยการที่ปัญญาเกิด รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น

    เรื่องของโลกธรรมนั้น เป็นเรื่องของความหวัง ซึ่งท่านก็คงจะหวังเฉพาะโลกธรรมฝ่ายดี คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่ถ้าท่านพิจารณาให้ละเอียด จะเห็นว่า สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะมีได้ ก็เพียงในความคิดเท่านั้นเอง

    ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพนามธรรมที่คิด เมื่อความคิดในเรื่องราวบุคคลวัตถุสิ่งของต่างๆ นั้นดับไป เรื่องราวบุคคลวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็ไม่ปรากฏ ก็จะทราบได้ว่า เพียงความคิดเท่านั้นที่เกิดขึ้น และก็ดับไป

    แต่เพราะว่าสติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้สภาพของนามธรรมที่คิด จึงทำให้เกิดความหวังมากมายเหลือเกิน

    สำหรับ อุโบสถศีล ข้อที่ ๒ ซึ่งมีข้อความว่า

    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ตระหนักชัดดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ถือเอาแต่สิ่งของที่เขาให้ หวังแต่สิ่งของที่เขาให้ มีตนไม่เป็นขโมย สะอาดอยู่ตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ถือเอาแต่สิ่งของที่เขาให้ หวังแต่สิ่งของที่เขาให้ มีตนไม่เป็นขโมย สะอาดอยู่ ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์แม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๒ นี้ ฯ

    ตามปกติที่ไม่ได้รักษาอุโบสถศีล หวังอะไรบ้างไหม หรือหวังอะไรจากใครบ้างหรือเปล่า หวังอะไรจากมารดาบิดาบ้างไหม หวังอะไรจากมิตรสหายบ้างไหม หวังอะไรจากกิจการงานที่ได้ประกอบไปบ้างไหม นี่เป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นถึงกิเลสว่า กิเลสนี้มากหรือน้อยอย่างไร แต่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะรู้ว่า หวังหรือไม่หวัง ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รู้โผฏฐัพพะ และก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น การที่จะงดเว้นจากอทินนาทาน ไม่ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้นั้น ต้องมาจากการไม่หวังในสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้

    เขาให้แล้วหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นมารดาบิดา ญาติพี่น้อง ที่ท่านหวังจะได้อะไรก็ตาม เมื่อเขายังไม่ได้ให้ แต่ท่านหวังที่จะได้รับ ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นไปตามกำลังของกิเลสขั้นใด ถ้าเป็นกิเลสขั้นที่มีกำลังแรงกล้า ท่านก็สามารถที่จะกระทำอทินนาทาน คือ ถือเอาวัตถุที่เจ้าของไม่ได้ให้

    เพราะฉะนั้น การที่จะขัดเกลา การที่จะละ ก็โดยการที่ไม่หวังในสิ่งที่บุคคลอื่นยังไม่ได้ให้ อาจจะมีบุคคลที่เคยเอ่ยปากว่าจะให้อะไรกับท่าน และท่านเกิดความหวังขึ้นไหมว่าจะได้ ดีใจไหมที่จะได้ เขายังไม่ได้ให้ แต่ความหวังเกิดขึ้นแล้ว

    สำหรับเรื่องของความหวังนี้ ถ้าปัญญายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทแล้ว ก็ยากเหลือเกินที่จะดับความหวัง หรือที่จะละคลายบรรเทาความหวัง

    ขอกล่าวถึงเรื่องของท่านพระเมตติยะและท่านพระภุมมชกะต่อ

    ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๑ เรื่องพระเมตติยะและพระภุมมชกะ ข้อ ๕๙๕ มีข้อความว่า

    สมัยต่อมา คหบดีผู้ชอบถวายอาหารที่ดี ถวายภัตตาหารวันละ ๔ ที่แก่สงฆ์เป็นนิตยภัต เขาพร้อมด้วยบุตรภรรยาอังคาสอยู่ใกล้ๆ ในโรงฉัน คนอื่นๆ ย่อมถามด้วยข้าวสุก กับข้าว น้ำมัน แกงที่มีรสอร่อยๆ

    ข้อ ๕๙๖

    คราวนั้น ภัตตุทเทสก์ได้แสดงภัตตาหารของคหบดี ผู้ชอบถวายอาหารที่ดีแก่พระเมตติยะและพระภุมมชกะเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น

    ท่านภัตตุทเทสก์ คือ ท่านพระทัพพมัลลบุตร ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดเสนาสนะและภัตตาหารสำหรับพระภิกษุสงฆ์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ขณะนั้น ท่านคหบดีไปสู่อารามด้วยกรณียะบางอย่าง เข้าไปหาท่านพระทัพพมัลลบุตร นมัสการแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระทัพพมัลลบุตรแสดง ธรรมีกถาให้ท่านคหบดีผู้นั่งแล้ว ให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง

    ครั้นแล้ว คหบดีเรียนถามว่า

    พระคุณเจ้าแสดงภัตตาหารเพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ที่เรือนของกระผมแก่ใครขอรับ

    ท่านพระทัพพมัลลบุตรตอบว่า

    อาตมาแสดงให้แก่พระเมตติยะกับพระภุมมชกะแล้ว

    ขณะนั้นคหบดีมีความเสียใจว่า ไฉนภิกษุลามกจักฉันภัตตาหารในเรือนเราเล่า แล้วไปเรือนสั่งหญิงคนรับใช้ไว้ว่า

    แม่สาวใช้ เจ้าจงจัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาสภิกษุผู้จะมาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ด้วยปลายข้าว มีน้ำผักดองเป็นกับ

    หญิงคนใช้รับคำของคหบดีแล้ว

    ครั้งนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะกล่าวแก่กันว่า

    คุณ เมื่อวานนี้ ท่านภัตตุทเทสก์แสดงภัตตาหารของคหบดีให้พวกเรา พรุ่งนี้คหบดีพร้อมด้วยบุตรภรรยาจักอังคาสพวกเราอยู่ใกล้ๆ คนอื่นๆ จักถามด้วยข้าวสุก กับข้าว น้ำมัน แกงที่มีรสอร่อยๆ

    เพราะความดีใจนั้นแล ตกกลางคืนภิกษุ ๒ รูปนั้น นอนหลับไม่เต็มตื่น

    แสดงให้เห็นถึงเรื่องของกรรมจริงๆ เมื่อท่านเป็นผู้ที่มีบุญน้อย ท่านก็ได้เสนาสนะที่เลวและภัตตาหารที่เลว แม้คหบดีเป็นผู้ที่ถวายภัตตาหารวันละ ๔ ที่แก่สงฆ์เป็นนิตยภัต ก็มีอันทำให้คหบดีได้เข้าไปสู่อารามของท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยกรณียะบางอย่าง และยังได้กราบเรียนถามท่านว่า ท่านแสดงภัตตาหารเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้นแก่ใคร ซึ่งเมื่อทราบว่าเป็นท่านพระเมตติยะและท่านพระภุมมชกะ คหบดีนั้นก็เสียใจที่จะได้ภิกษุลามกนั้นฉันภัตตาหารในเรือน ถึงกับสั่งหญิงรับใช้ให้จัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู ไม่ให้เข้าไปถึงในบ้าน และยังให้ถวายเพียงปลายข้าวที่มีน้ำผักดองเป็นกับ

    สำหรับท่านพระเมตติยะและท่านพระภุมมชกะ ก็เป็นคู่หนึ่งของพระภิกษุฉัพพัคคีย์ ซึ่งมีด้วยกัน ๖ ท่าน คือ ท่านพระปัณฑุกะและท่านพระโลหิตกะ คู่หนึ่ง ท่านทั้งสองนี้อยู่ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งก็เคยเป็นภิกษุที่ล่วงสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้ว แต่ว่าไม่ได้เป็นต้นบัญญัติ

    ท่านพระเมตติยะและท่านพระภุมมชกะ คู่หนึ่ง ท่านทั้งสองอยู่ที่กรุงราชคฤห์ เคยล่วงสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้ว และทั้งเป็นต้นบัญญัติด้วย

    ท่านพระอัสสชิและท่านพระปุนัพพสุกะ อีกคู่หนึ่ง อยู่ที่กิฏาคิรีชนบท ซึ่งเป็นภิกษุที่เคยล่วงสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้ว ทั้งเป็นต้นบัญญัติด้วย

    เพราะฉะนั้น เมื่อท่านคหบดีได้ทราบว่า ท่านพระเมตติยะและท่านพระภุมมชกะจะไปสู่เรือนของท่านก็เสียใจ

    ซึ่งท่านพระเมตติยะและท่านพระภุมมชกะก็ยังมีกิเลส ยังไม่ได้ดับกิเลส เพราะฉะนั้น ก็มีความหวังในรสที่จะได้ในวันรุ่งขึ้น จนถึงกับนอนหลับไม่เต็มตื่น

    ใครเคยเป็นอย่างนี้บ้างไหม ในอดีต ท่านแสดงชีวิตจริง เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมที่สะสมมาเป็นปัจจัย ก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ซึ่งชีวิตจริงๆ นั้นวิจิตรมาก ตลอดกาลสมัย ไม่ใช่เฉพาะในครั้งที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกเท่านั้น ชีวิตของแต่ละท่านในครั้งโน้น ย่อมเตือนให้ท่านผู้ฟังพิจารณาตนเองว่า เคยเป็นอย่างนี้บ้างไหม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้นเวลาเช้า พระเมตติยะและพระภุมมชกะครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตร จีวรเดินเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านคหบดี หญิงคนรับใช้นั้น ได้แลเห็นพระเมตติยะและพระภุมมชกะกำลังเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงปูอาสนะถวายที่ซุ้มประตู แล้วกล่าวว่า

    นิมนต์นั่งเจ้าค่ะ

    จึงพระเมตติยะและพระภุมมชกะนึกว่า ภัตตาหารคงจะยังไม่เสร็จเป็นแน่ เขาจึงให้เรานั่งพักที่ซุ้มประตูก่อน

    ขณะนั้น หญิงคนรับใช้ได้นำอาหารปลายข้าวซึ่งมีน้ำผักดองเป็นกับเข้าไปถวาย พลางกล่าวว่า

    นิมนต์ฉันเถิดเจ้าค่ะ

    แม้เขาจะนิมนต์ให้นั่งที่อาสนะซึ่งเขาปูถวายที่ซุ้มประตู ก็ยังไม่หมดความหวัง เพราะคิดว่าภัตตาหารคงจะยังไม่เสร็จเป็นแน่ เขาจึงได้ให้นั่งคอยอยู่ที่นั่น นี่ลักษณะของความหวังจริงๆ เป็นอย่างนี้ ตราบใดที่ยังไม่ได้รับจริงๆ ก็เต็มไปด้วยความหวังอย่างนี้อยู่เรื่อยๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุกล่าวว่า

    น้องหญิง พวกฉันเป็นพระรับนิตยภัตจ้ะ

    กลัวเขาจะไม่ทราบว่าท่านเป็นใคร จึงได้ถวายแต่เพียงปลายข้าวซึ่งมีน้ำผักดองเป็นกับ

    หญิงคนรับใช้กล่าวว่า

    ดิฉันทราบว่า พระคุณเจ้าเป็นพระรับนิตยภัตเจ้าค่ะ แต่เมื่อวานนี้เอง ท่านคหบดีได้สั่งดิฉันไว้ว่า แม่สาวใช้ เจ้าจงจัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาสภิกษุผู้จะมาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ด้วยปลายข้าวมีน้ำผักดองเป็นกับ นิมนต์ฉันเถิดเจ้าค่ะ

    พระเมตติยะและพระภุมมชกะพูดกันว่า

    คุณ เมื่อวานนี้เอง ท่านคหบดีไปสู่อารามที่สำนักพระทัพพมัลลบุตร พวกเราคงถูกพระทัพพมัลลบุตรยุยงในสำนักคหบดีเป็นแน่

    เพราะความเสียใจนั้นแล ภิกษุทั้งสองรูปนั้นฉันไม่อิ่ม ครั้นเวลาหลังอาหารกลับจากบิณฑบาตไปสู่อาราม เก็บบาตรจีวรแล้ว นั่งรัดเข่าด้วยผ้าสังฆาฏิอยู่ภายนอกซุ้มประตูอาราม นิ่งอั้น เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่พูดจา ฯ

    เจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า

    ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็จะละคลายความยินดียินร้าย เพราะรู้ว่าเป็นกรรมที่ได้กระทำไว้ จึงเป็นปัจจัยให้ได้รับรสต่างๆ หรือว่าเห็นสิ่งต่างๆ ได้ยินเสียงต่างๆ เหล่านั้น

    แต่พระเมตติยะและพระภุมมชกะไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ย่อมมีกิเลสทำให้เข้าใจผิดคิดว่า ท่านพระทัพพมัลลบุตรคงจะยุยงคหบดีผู้นั้น

    นี่ก็เป็นกรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะกิเลส และก็ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงทำให้คิดผิด เข้าใจผิด และขั้นต่อไปก็จะถึงการปฏิบัติผิดด้วย

    คนที่คิดผิด เห็นผิด ก็ไม่ใช่มีเพียง ๒ คน แต่ย่อมมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมากมายเหมือนกันที่จะคิดผิด เห็นผิดเช่นเดียวกัน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุณีเมตติยาไปเยี่ยม

    คราวนั้น ภิกษุณีเมตติยาเข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะ แล้วได้กล่าวว่า ดิฉันไหว้เจ้าค่ะ เมื่อนางกล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย แม้ครั้งที่สอง ... แม้ครั้งที่สาม นางก็ได้กล่าวว่า ดิฉันไหว้เจ้าค่ะ แม้ครั้งที่สาม ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย

    ภิกษุณีเมตติยาถามว่า

    ดิฉันผิดต่อพระคุณเจ้าอย่างไร ทำไมพระคุณเจ้าจึงไม่ทักทายปราศรัยกับดิฉัน

    ภิกษุทั้งสองตอบว่า

    ก็จริงอย่างนั้นแหละ น้องหญิง พวกเราถูกพระทัพพมัลลบุตรเบียดเบียนอยู่ เธอยังเพิกเฉยได้

    ภิกษุณีเมตติยาถามว่า

    ดิฉันจะช่วยเหลืออย่างไรเจ้าค่ะ

    ภิกษุกล่าวว่า

    น้องหญิง ถ้าเธอเต็มใจช่วย วันนี้พระผู้มีพระภาคต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก

    ภิกษุณีเมตติยาถามว่า

    ดิฉันจะทำอย่างไร ดิฉันสามารถจะช่วยเหลือได้ด้วยวิธีไหน

    นี่เป็นความคิดของคนพาล เป็นวิธีของคนพาล

    ภิกษุกล่าวว่า

    มาเถิดน้องหญิง เธอจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลอย่างนี้ว่า กรรมนี้ไม่แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมามีลมแรงขึ้น หม่อมฉันถูกพระคุณเจ้าทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า

    นางรับคำของภิกษุทั้งสอง แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า

    พระพุทธเจ้าข้า กรรมนี้ไม่แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมามีลมแรงขึ้น หม่อมฉันถูกพระคุณเจ้าทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า ฯ

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงประชุมสงฆ์สอบถาม และก็ปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ความผิดของท่านพระทัพพมัลลบุตร

    ท่านผู้ฟังก็ได้เห็นความหวังของบุคคลที่ยังมีกิเลส ซึ่งทำให้เกิดความคิดที่ผิด และได้กระทำกรรมที่ผิด

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่จะรักษาอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘ ในข้อที่ ๒ ก็ควรที่จะขัดเกลาจิตใจตามข้อความที่ว่า

    อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ตระหนักชัดดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ถือเอาแต่สิ่งของที่เขาให้ หวังแต่สิ่งของที่เขาให้ มีตนไม่เป็นขโมย สะอาดอยู่ตลอดชีวิต ในวันนี้ แม้เราก็ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ถือเอาแต่สิ่งของที่เขาให้ หวังแต่สิ่งของที่เขาให้ มีตนไม่เป็นขโมย สะอาดอยู่ ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์แม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๒ นี้ ฯ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๗ ตอนที่ ๔๖๑ – ๔๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564