แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 456


    ครั้งที่ ๔๕๖


    ผู้ฟัง2 เรื่องศัพท์นี้ ผมขอประทานโทษ ขอกราบเรียนทุกๆ ท่าน บาลีที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสมานั่นอย่างหนึ่ง และอรรถกถาแปลมานั่นอีกอย่างหนึ่ง

    ผมเคารพ ถ้าเป็นอรรถกถาจารย์แปล ผมเชื่ออรรถกถาจารย์ที่เป็นพระอริยะว่าไม่ผิด เป็นอุชุปฏิปันโน ตรง แต่ถ้าไม่ใช่พระอริยะก็น่าจะพลาด เพราะเป็นปุถุชน เพราะฉะนั้น การอธิบายอะไรๆ นี้ผมเคารพ ถ้าเป็นพุทธพจน์เคารพ อริยพจน์ก็เคารพ แต่สามัญพจน์นี่ ขอขัดคอ เพราะเราก็เรียนมาพอสมควรเหมือนกัน

    เพราะเหตุใดมีทั้งอาสนะและสยนะ ทำไมพระพุทธเจ้าท่านจึงไม่ใช้ในศีล ๘ แต่ในปาติโมกข์ท่านจึงใช้ ผมจะยกศัพท์ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ในปาติโมกข์ที่พระสวด สยนาสนํ สยนะ อาสนะ พระพุทธเจ้าท่านใช้เลย แต่ทำไมอุจจาสยนะ จึงไม่ใช้ว่า อุจจาสยนาสนะ ใช้ว่า อุจจาสยนาสนมหาสยนาสนะ ซิ ทำไมไม่ใช้ ใช้อุจจาสยนะ อย่างเดียว นี่ก็น่าพิจารณา

    ท่านทั้งหลายที่แปล ขอโทษท่าน ผมไม่ได้ดูถูก ท่านก็เรียนคัมภีร์ต่างๆ มา ก็เรียนมาเหมือนๆ กัน แต่ใครจะนำมาใช้ถูกหรือใช้ผิด แปลผิดหรือแปลถูก เราต้องเคร่งครัดต่อพุทธพจน์ พระผู้มีพระภาคท่านเป็นสัพพัญญู พุทธญาณ อนาคตังสญาณ ทำไมท่านถึงใช้คำว่า อุจจาสยนะ ซึ่งแปลอย่างที่อาจารย์ว่า แปลว่า ที่นอน สีธาตุแปลว่า นั่งก็ได้ พุทธเจ้าท่านใช้คำว่า อุจฺจาสยนะเท่านั้น ส่วนในพระปาติโมกข์ท่านใช้ว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ทำไมจึงใช้อย่างนั้น

    แต่ผมมีหลัก ผมเรียนกฎหมายจึงได้รู้ การแปลบทกฎหมายนั้น เขามีวิธีการแปล ถ้าแปลเป็นคุณได้ ถ้าแปลเป็นโทษไม่ได้ เรื่องแปลข้อยกเว้นนั้น ต้องแปลจำกัดจำเขี่ย ถ้าข้อทั่วๆ ไป แปลฟุ่มเฟื่อยได้ นี่คือหลักกฎหมาย นักกฎหมายเขาเรียนกัน นี่ก็เหมือนกัน พุทธพจน์ท่านว่า อุจฺจาสยน เป็นคำจำกัดเลย จะว่าพระพุทธเจ้าหลงลืมไม่ได้ จะไปต่อเติมไม่ได้ ถ้าเป็นพระอริยะท่านไม่เติม ถ้าจะเติมต้องเป็นปุถุชน

    อุจฺจาสยน อย่างหนึ่ง ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ก็อีกอย่างหนึ่ง ทำไมในปาติโมกข์ถึงว่าอย่างนั้น ก็ศีลเหมือนกัน ศีล ๘ ของฆราวาส ปาติโมกข์นั้นศีลของพระ ทำไมแปลอย่างนั้น ในนั้นแปลว่า ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ที่นอนและที่นั่งอันสงัด ทำไมในที่นั้นจึงใช้คำ ๒ คำว่า นั่งและนอน แต่ทำไมในที่นี้ใช้คำว่า นอน ต้องมีเหตุผล

    สุ. ท่านผู้ฟังท่านอื่นมีความคิดเห็นประการใดหรือไม่ในเรื่องนี้

    ซึ่งถ้าเข้าใจอรรถ ความมุ่งหมายของศีลแต่ละข้อ ก็คงจะไม่ขัดกันเลย ถึงแม้ว่าข้อความในอุโบสถศีลจะเป็น อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี การเว้นจากที่นอนสูง ที่นอนใหญ่ แต่ในอรรถกถาก็ขยายความไว้ ซึ่งถ้าจะพิจารณาไตร่ตรองแล้ว ความมุ่งหมายของอรรถกถา มุ่งหมายถึงว่า การเอาที่นั่งมาเป็นที่นอน เพราะว่าหลายแห่ง จริงๆ ไม่มีที่จะนอน แต่ก็ต้องนอน เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไร ก็ต้องหาที่นอนโดยการนำเอาที่นั่งที่สามารถจะนอนได้มานอน แต่ก็ควรจะเป็นกัปปิยะ คือ ที่เหมาะที่ควรด้วย

    สำหรับการรักษาอุโบสถศีล จุดมุ่งหมายนั้นไม่ใช่เป็นการทรมานร่างกายให้เดือดร้อน แต่เป็นการที่จะขัดเกลากิเลส การที่จะยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในการกิน ในการอยู่ทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะไม่ให้ยินดีแม้ในที่นอน ก็ควรจะนอนในที่ๆ เหมาะที่ควร ในเมื่อมีเจตนาที่จะขัดเกลากิเลสเป็นพิเศษยิ่งขึ้นในวาระที่สามารถจะกระทำได้ เช่น ในวันอุโบสถ เป็นต้น ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า อุโบสถศีลของอุบาสก อุบาสิกา ก็เป็นการปฏิบัติตามสิกขาบทที่ปรากฏในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะเป็นการปฏิบัติตามสิกขาบทของสามเณร

    ในพระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ สิกขาบทของสามเณร ข้อ ๑๒๐ มีข้อความว่า

    ๑. เว้นจากการทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป

    ๒. เว้นจากถือเอาพัสดุอันเจ้าของมิได้ให้

    ๓. เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์

    ๔. เว้นจากการกล่าวเท็จ

    ๕. เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

    ๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

    ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นที่เป็นข้าศึก

    ๘. เว้นจากการทัดทรง ตกแต่งด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ อันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว

    ๙. เว้นจากที่นั่งและที่นอนอันสูงและใหญ่

    ๑๐. เว้นจากการรับทองและเงิน

    ถ. อุโบสถศีลนี้ตามหลักบอกว่า รักษาสิ้นคืนหนึ่งและวันหนึ่ง ผมก็เรียนถามท่านผู้รู้บางท่านว่า สมมติว่าผมรักษาอุโบสถศีล แต่ไปล่วงละเมิดข้อใดข้อหนึ่งและผมก็รู้สึกตัวว่า เกิดละเมิดแล้ว ผมจะไปสมาทานอุโบสถใหม่นี้ จะได้หรือไม่

    ท่านผู้รู้บางท่านก็ตอบว่า ไม่ได้หรอก เพราะว่าขาดไปหมดแล้ว จะสมาทานใหม่ ก็ไม่ครบคืนหนึ่งและวันหนึ่ง บางท่านก็บอกว่า อย่างนั้นจะถูกหรือ เพราะว่าการสมาทานอุโบสถนี้ไม่ได้บอกว่า ต้องสมาทาน ๖ โมงเช้านี่ สมาทาน ๑๑ โมงก็มี จะสมาทานใหม่ ถือศีลใหม่ พระท่านก็ให้ใหม่ ไม่เห็นเป็นอะไร

    ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ศีลที่ขาดไป สมาทานใหม่แล้วจะสมบูรณ์หรือไม่ สมบูรณ์ประการใด

    ผู้ฟัง ที่เขาว่า วันหนึ่งและคืนหนึ่งนั้น นับจากไหน จำคุกวันนี้ เช้า สาย บ่าย เที่ยง ถือ ๑ วันเหมือนกัน บ่ายโมงจำคุก ถือว่า ๒๔ ชั่วโมงเหมือนกัน กฎหมายเขาว่ากันอย่างนี้ จะเอามาเทียบกันได้ไหม รักษาเวลาไหนๆ ก็ถือว่าวันหนึ่ง ไม่ครบ ๒๔ ชั่วโมง ก็วันหนึ่งคืนหนึ่งเหมือนกัน

    ที่ว่าศีลขาดแล้วต่อไม่ได้นั้น ทำไมจะต่อไม่ได้ เชือกยังต่อได้ ยังเป็นเส้นเดียวกันได้ ทำไมศีลจะต่อไม่ได้ ผมเคยบวชเณรมา พอถึงวันพระต้องไปต่อกันในโบสถ์ทุกที ขาดกี่ข้อก็ไปต่อกัน ก็ยังคงเป็นเณรอยู่นั่นแหละ มีโทษจริงๆ เฉพาะข้อที่ขาด แต่นอกจากนั้นก็พลอยไปด้วย

    สุ. เรื่องของอุโบสถศีลทั้ง ๘ เป็นเรื่องของการขัดเกลา บรรเทากิเลสทั้งนั้น ข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ ข้อที่ ๓ ข้อที่ ๔ ข้อที่ ๕ ข้อที่ ๖ วิกาลโภชนา ฆราวาสเคยรับประทานตามใจชอบตามสบาย เป็นการติดในรสอาหาร แต่ถ้าสามารถจะสะสมอุปนิสัยปัจจัย ขัดเกลากิเลส ละคลายการที่จะรับประทานอาหารในกาละที่ไม่จำเป็น ถ้าสามารถจะกระทำได้ เมื่อมีศรัทธาที่จะกระทำในวันอุโบสถ ก็เป็นศีลข้อที่ ๖

    ข้อที่ ๗ ข้อที่ ๘ ก็เป็นเรื่องของการกิน การอยู่ การมีชีวิตประจำวันในสภาพของผู้ที่จะพากเพียรขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น คำถามของท่านผู้ฟังที่ว่า สมาทานอุโบสถศีล และก็ล่วงศีลไป จะต่อได้ไหม

    ถ้าท่านพิจารณาถึงจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลว่าเพื่ออะไร ก่อนอื่นท่านที่จะรักษาอุโบสถศีล ก่อนๆ นี้ท่านอาจจะรักษาอุโบสถศีลจริง แต่ยังไม่มีจุดประสงค์ หรือว่าอาจจะไม่ได้ใคร่ครวญไตร่ตรองถึงเหตุและผลว่า ท่านรักษา อุโบสถศีลเพื่ออะไร เพื่อการขัดเกลา หรือว่าเพื่อจะได้บุญมากๆ

    ทราบกันว่าศีล ๕ มีอานิสงส์มาก แต่ก็ยังเพียง ๕ อานิสงส์ก็คงจะไม่ได้บุญมากมายเท่ากับอุโบสถศีล เพราะฉะนั้น มีหลายท่านที่คงจะหวังในบุญอันยิ่งใหญ่ ก็รักษาอุโบสถศีล โดยที่ไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลที่แท้จริงว่า เพื่อสะสมการขัดเกลากิเลสเป็นอุปนิสัยปัจจัย จนกว่าจะถึงการบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ที่ดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท

    เมื่อไม่เข้าใจจุดประสงค์อย่างนี้ ก็เกิดวิจิกิจฉา ความข้องใจ ความสงสัยต่างๆ แม้แต่ว่าศีลขาดไหม เมื่อขาดแล้ว ต่อได้อีกไหม หรือว่าต่อไม่ได้ ก็เกิดความกังวลว่า จะขาดบุญกุศล หรือจะเป็นโทษเป็นภัยประการใด แต่เรื่องของศีล เป็นเรื่องของจิตที่ปราศจากอกุศล เจตนาที่เป็นไปในศีลนั้น ปราศจากอกุศล เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ พิจารณาถึงอุโบสถทั้ง ๘ ข้อ

    ข้อที่ ๑ ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการยังสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป

    ข้อที่ ๒ อทินฺนาทานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาซึ่งสิ่งของอันเจ้าของไม่ได้ให้แล้ว

    ข้อที่ ๓ อพฺรหฺมจริยา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติที่ไม่ประเสริฐ

    ข้อที่ ๔ มุสาวาทา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการกล่าวเท็จ

    ข้อที่ ๕ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากเหตุเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือ การดื่มกินซึ่งของมึนเมา คือ สุราและเมรัย

    ถ้าเป็นศีลห้า ข้อที่ ๓ คือ กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

    สำหรับศีล ๕ ซึ่งควรจะเป็นนิจศีลของฆราวาส เป็นโทษ เป็นภัย เป็นกรรม ทั้งปาณาติปาตา อทินนาทานา กาเมสุมิจฉาจารา มุสาวาท และสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา การดื่มสุราเมรัยนั้น ก็เป็นมูลเหตุจะให้เกิดกายทุจริต วจีทุจริต

    สำหรับอุโบสถศีลข้อต่อไป คือ

    ข้อที่ ๖ วิกาลโภชนา เวรมณี การบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

    ข้อที่ ๗ นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฟ้อน การขับ การประโคม การดูการเล่นที่เป็นข้าศึกต่อบุญต่อกุศล การทรงไว้ การประดับ การตบแต่งด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้

    ข้อที่ ๘ อุจจาสยนมหาสยนา เวรมณี เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากที่นอนสูงและที่นอนใหญ่

    เป็นปัณณัตติวัชชะ หมายความว่า ผู้ที่ไม่เว้นอย่างนี้ก็ไม่ได้เป็นโทษเป็นภัยอะไร แต่ว่าเป็นการขัดเกลายิ่งขึ้น เช่น การเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล อย่างในงานสวดศพ บางครั้งมีอาหาร แต่บางท่านไม่รับประทาน เพราะพระภิกษุท่านเป็นผู้เว้นการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล และพระภิกษุท่านก็เป็นประธานอยู่ในที่นั้นด้วย อาจจะเตือนใจให้ระลึกถึงว่า เมื่อพระภิกษุท่านเว้นได้ เราก็ควรจะเว้นได้เหมือนกัน

    เป็นเรื่องของแต่ละท่าน จะเป็นโดยมารยาท หรือจะโดยการที่เห็นว่า เป็นการไม่สมควร หรืออะไรก็ตามแต่ แล้วแต่จิตใจของท่านในขณะนั้นจะน้อมนึกอย่างไร แต่ให้เห็นได้ว่า การที่จะประพฤติตามผู้ที่ละการติดในรส ในการบริโภคในกาลที่ไม่จำเป็น ก็เป็นการขัดเกลาเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งถ้าขณะนั้นจะเว้น ก็เป็นกุศล เมื่อจิตน้อมไปในกุศล ก็เป็นกุศล โดยไม่ต้องสมาทานว่าเป็นศีลองค์ไหนก็ได้

    ถ้าท่านเข้าใจความมุ่งหมายของการงดเว้นจากอกุศล จากกิเลส ไม่ต้องถึงกับครบ ๘ ข้อ แต่สามารถกระทำได้มากกว่า ๕ ข้อก็ยังดี และถ้าจะกระทำข้ออื่นๆ นอกจาก ๘ ข้อ ก็ยิ่งดี

    เวลาที่ท่านศึกษาพระวินัยบัญญัติ เมื่อได้ทราบว่ามีประการใดบ้าง ซึ่งนอกจากเป็นการกระทำที่งาม ควร เหมาะแล้ว ยังเป็นการขัดเกลากิเลสของท่านด้วย แม้ว่าจะเป็นข้อปฏิบัติของบรรพชิต คือ ภิกษุและสามเณร แต่ถ้าท่านมีศรัทธาที่จะกระทำในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการรักษาศีลทั้งหมด เพื่อการขัดเกลากิเลสเท่าที่ท่านสามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้ แม้แต่การงดเว้นจากการฟ้อน การขับ การประโคม การดูการเล่นซึ่งเป็นข้าศึกต่อบุญต่อกุศล การทรงไว้ การประดับ การตกแต่งด้วยระเบียบดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ซึ่งบางท่านอาจจะทำเป็นปกติ ในการเว้นเครื่องหอมทุกชนิดและการตบแต่ง เป็นอุปนิสัย เป็นการขัดเกลาของท่าน

    ผู้ฟัง ผมได้ฟังมาว่า การที่จะถืออุโบสถ ต้องไปอยู่ในโบสถ์จึงจะเรียกว่า ถืออุโบสถ จะอย่างไรกัน ถือศีลอุโบสถต้องเข้าโบสถ์ นั่งอยู่นี่ถือไม่ได้ ชักจะยุ่งแล้ว โดยบาลีท่านก็ไม่มีบอกไว้ว่า ต้องอยู่ที่นั่นจึงจะถือศีลอุโบสถได้ ท่านไม่ได้ว่าอย่างนี้ อยู่ที่ไหนก็ขัดเกลาได้ อยู่ที่บ้านเราก็ขัดเกลาได้ ที่ไหนก็ได้

    ถ. เรื่องศีลอุโบสถ ในระหว่างเข้าพรรษา มีผู้ไปรักษาอุโบสถศีลแน่นศาลาวัด แต่นอกพรรษา คือ ออกพรรษาแล้ว หรือยังไม่เข้าพรรษา บางวัดไม่มีอุบาสกอุบาสิกาเลย บางวัดก็มีน้อยเหลือเกิน อยากจะรู้ว่า ทำไมคนจึงนิยมไปรักษาศีลอุโบสถในระหว่างพรรษา ด้วยเหตุอะไรไม่ทราบ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๔๕๑ – ๔๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564