แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 454


    ครั้งที่ ๔๕๔


    พระอรหันต์ทั้งหลาย เว้นขาดจากฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคมดนตรี และการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล จากการทัดทรง ประดับและตกแต่งกายด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัวจนตลอดชีวิต แม้เราก็เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง การประโคมดนตรี และดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล จากการทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม และเครื่องประเทืองผิวอันเป็นฐานะแห่งการแต่งตัว ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนี้ในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว

    พระอรหันต์ทั้งหลาย ละการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ สำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำ คือ บนเตียงหรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้าจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่ สำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำ คือ บนเตียงหรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้า ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว

    ดูกร นางวิสาขา อริยอุโบสถเป็นเช่นนี้แล อริยอุโบสถอันบุคคลเข้าจำแล้วอย่างนี้แลย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแผ่ไพศาลมาก

    ข้อความตอนท้าย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    บุคคลไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงลักทรัพย์ ไม่พึงพูดเท็จ ไม่พึงดื่มน้ำเมา พึงงดเว้นเมถุนอันเป็นความประพฤติไม่ประเสริฐ ไม่พึงบริโภคโภชนะในเวลาวิกาล ในกลางคืน ไม่พึงทัดทรงดอกไม้ ไม่พึงลูบไล้ของหอม และพึงนอนบนเตียง บนพื้น หรือบนที่ซึ่งเขาปูลาด

    บัณฑิตทั้งหลายกล่าวอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แลว่า อันพระพุทธเจ้าผู้ถึงที่สุดทุกข์ทรงประกาศไว้ พระจันทร์พระอาทิตย์ทั้งสองที่น่าดู ส่องแสงโคจรไปทั่วสถานที่ประมาณเท่าใด และพระจันทร์พระอาทิตย์นั้น กำจัดความมืดไปในอากาศ ทำให้ทิศรุ่งโรจน์ ส่องแสงอยู่ในนภากาศทั่วสถานที่มีประมาณเท่าใด ทรัพย์ คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ ทองสิงคี และทองคำ ตลอดถึงทองชนิดที่เรียกว่า หฏกะ เท่าที่มีอยู่ในสถานที่ประมาณเท่านั้น ยังไม่ถึงแม้ซึ่งเสี้ยวที่ ๑๖ ของอุโบสถที่ประกอบด้วยองค์ ๘ เพราะฉะนั้นแหละ สตรีบุรุษผู้มีศีลเข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ทำบุญซึ่งมีสุขเป็นกำไร เป็นผู้ไม่ถูกนินทา ย่อมเข้าถึงสัคคสถาน ฯ

    จบ มหาวรรคที่ ๒

    ถ้าพิจารณา จะเห็นว่า เป็นการขัดเกลา ถ้าไม่คิดถึงเรื่องของพยัญชนะว่า จะขัดกับอรรถ ท่านก็จะเข้าใจความหมายของการรักษาศีลอุโบสถ มิฉะนั้นแล้ว ท่านก็จะมีความสงสัย เช่น สำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำ หมายความถึงที่นอนที่เหมาะ ที่ควร ไม่ใช่ที่นอนที่ไม่เหมาะไม่ควร คือ ให้นอนบนเตียง หรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้า ถ้าคิดถึงแต่พยัญชนะ รักษาอุโบสถกันหรือเปล่า ที่ไม่ได้นอนบนที่นอนที่ปูลาดด้วยหญ้า เพราะฉะนั้น ความหมายของสำเร็จการนอนบนที่นอนอันต่ำ คือ ที่ ที่ควร ที่เป็นกัปปิยะ ไม่ใช่ที่ไม่สมควร

    ท่านผู้ฟังกล่าวว่า เสื่อจันทบูรก็หญ้าเหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นท่านที่รักษาศีลอุโบสถก็ควรที่จะเข้าใจด้วยว่า ที่นอนอย่างไร ถ้ามีมีเสื่อจันทบูร ปูผ้าลงไปจะเป็นอุโบสถศีลหรือเปล่า

    ผ้าก็หญ้าเหมือนกัน เพราะฉะนั้น การรักษาอุโบสถศีลควรที่จะเข้าใจจุดประสงค์จริงๆ จะได้รักษาให้ถูกต้องว่า เพื่อการขัดเกลากิเลสเป็นพิเศษในกาลที่มีศรัทธา ที่จะสะสมเป็นอุปนิสัยปัจจัยทำให้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง

    ถ. เรื่องของศีลข้อที่ ๑ คือ ปาณาติปาตา ศีลข้อนี้ความจริงผมก็ได้วิรัติโดยตลอดมานานแล้ว คือ ทั้งมดและสัตว์เล็กลงไปได้เลิกมานานแล้ว ทั้งยุง ทั้งมด แต่สัตว์เล็กๆ เหล่านี้ได้ทำความยุ่งยากให้ผมมาก คือ บ้านผมมีมดหลายชนิดจำนวน มากด้วย โดยเฉพาะมดฝอยๆ ตัวเล็กๆ ซึ่งผมพยายามที่จะวิรัติ ซึ่งบางครั้งได้สร้างความยุ่งยากให้ผมเป็นอันมาก เช่น ในอ่างล้างมือ เรารีบจะไปทำงาน พอจะใช้น้ำ มดก็อยู่ในนั้น ครั้นจะเปิดน้ำ มดก็จะไหลลงไป ต้องรีบไปล้างที่อื่น แต่บางครั้งก็เผลอปล่อยน้ำลงไป มดก็หายไป ก็ได้แต่ปลอบตัวเองว่า ไม่ได้ตั้งใจ ไม่มีเจตนา แต่จิตในขณะนั้นไม่ผ่องใสแน่ มีอกุศลแน่ๆ คือ ความไม่สบายใจ แต่ก็ได้พยายามแล้ว

    ที่ผมยังข้องใจ คือ ถ้าสัตว์เล็กมากจนผมไม่สามารถที่จะสังเกตได้ และผมเลี้ยงกล้วยไม้ สัตว์พวกนี้เป็นศัตรูต่อกล้วยไม้ ถ้าสัตว์เล็กๆ เราสังเกตไม่ได้ มองด้วยตาก็ไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น เชื้อโรคของพืชหรือไวรัส ผมไม่ทราบว่า จะเข้ากับกฎเกณฑ์ว่า สัตว์มีปราณ หรือสัตว์มีชีวิตหรือเปล่า เพราะว่าเท่าที่ศึกษาทางชีววิทยา สัตว์เล็กๆ ประเภทเหล่านี้ ก็มีการเกิด มีการสืบพันธุ์ มีการตาย ซึ่งคล้ายๆ กับสัตว์ที่มีชีวิตอย่างธรรมดานี้เอง ผมจะคิดมากไปหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ถ้าหากว่า ผมทำให้สัตว์เหล่านั้นเสียชีวิตโดยที่เราไม่รู้ ไม่ได้สังเกต จะทำให้ผมมีบาปหรือศีลขาดหรือเปล่า

    สุ. ท่านผู้ฟังมีข้อคิดเห็นประการใดบ้าง

    ผู้ฟัง ระหว่างที่เราเดินมาฟังธรรม เจอมด เจออะไร เราก็ข้ามไป แต่เราไม่รู้ว่า ที่เราเหยียบลงไป มีสัตว์ชนิดใดบ้างที่เราเหยียบตาย ซึ่งคงจะมีมากมายเหมือนกัน เราไม่รู้ว่าเราทำร้ายสัตว์ เมื่อเราไม่รู้จริงๆ จิตของเราจะเศร้าหมองหรือเปล่า ผมคิดว่า ไม่น่าจะเศร้าหมอง เพราะเราไม่รู้ ไม่มีเจตนาจะไปฆ่าสัตว์อะไร แต่เราเป็นผู้ที่วิรัติ ถ้าเราเห็น เราข้าม แต่นี่เราไม่เห็น จะทำอย่างไร ไม่เช่นนั้น เราก็ต้องบาปกันแย่ ลงนรกกันวันละมากมาย

    เจตนาเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีเจตนาแน่ๆ ที่จะทำลายเขา นั่นผิดแน่ แต่นี่ไม่มีเจตนา ผมว่าไม่ผิด เราไม่มีเจตนาในขณะที่ทำร้ายสัตว์ลงไป พอเหยียบลงไปแล้วมีอะไรสะดุดนิดหน่อย เราก็มองดู เอ้า เหยียบแมลงสาปตายไปตัวหนึ่งแล้ว อกุศลจิตเกิดตรงนี้ ตอนเหยียบยังไม่เกิด แต่เกิดตอนนี้ ภายหลังเสียแล้ว แต่เกิดแน่ แต่ถ้าเราไม่รู้ เราก็เดินเรื่อยไปอย่างนี้ เจตนาเราก็ไม่มี กระผมเข้าใจว่าอย่างนี้ครับ

    สุ. มีท่านผู้ฟังท่านอื่นความคิดเห็นอะไรบ้างไหม

    ผู้ฟัง1 ดูองค์ของปาณาติบาต ปาโณ สัตว์มีลมปราณ ปาณสัญญิตา รู้ว่าสัตว์มีลมปราณ วธก จิตตํ จิตคิดจะฆ่า ทำความเพียรเพื่อจะฆ่า สัตว์นั้นตายเพราะความเพียรนั้น ศีลจึงจะขาด ถ้ายังไม่ครบองค์ จะไปขาดอะไร

    ผู้ฟัง การฆ่าโดยไม่เจตนา เท่าที่เรียนมา ไม่เจตนาแต่รู้ ศีลไม่ขาด แต่ก็ด่าง แต่ถ้าไม่เจตนาและไม่รู้ ไม่ด่างและไม่ขาด

    มีภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อท่านพระจักขุบาล ระหว่างที่ท่านยังไม่ได้บรรลุเป็น พระอรหันต์ ท่านอธิษฐานความเพียร ไม่นอน เหลืออิริยาบถ ๓ คือ นั่ง ยืน เดิน จนกระทั่งท่านเจ็บตา หมอที่รักษาให้ท่านนอน ท่านก็ไม่ยอมนอน จนกระทั่งตาของท่านหลุดออกมาทั้ง ๒ ข้างพร้อมกับได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตาของท่านเสีย ระหว่างที่ท่านเดินจงกรม ก็เหยียบแมลงเม่าตายมากมาย มีคนไปทูลฟ้องพระผู้มีพระภาคว่า ระหว่างที่ตาท่านดีๆ ก็ไม่เดินจงกรม ตาบอดแล้วมาเดินจงกรม เหยียบแมลงเม่าตายเป็นแถวไปเลย จะสมควรหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การไม่มีเจตนานั้น อาบัติของท่านไม่มีหรอก ผมเข้าใจว่า ที่ไม่มีเจตนาและไม่รู้ ศีลของท่านคงไม่ขาดหรอก

    สุ. มีท่านผู้อื่นมีความคิดเห็นประการใดในเรื่องนี้บ้าง ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาในการเกื้อกูลธรรมแก่สหายธรรมของท่านผู้ฟังด้วย

    เรื่องนี้ถ้าคิดมากไปจะยุ่งใจและจะลำบาก บางท่านบอกว่า เทน้ำร้อนไปไม่ทราบว่า จะถูกสัตว์ตายบ้างหรือเปล่า บางทีก็คิดไปถึงสัตว์ที่อยู่ในดินที่มองไม่เห็น ก็ลำบาก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ดูเหมือนว่าจะกระทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าท่านมีหิริ มีความเอ็นดู มีความเมตตา มีความกรุณา ก็จะทำให้ท่านระวังขึ้น และทุกขณะที่มีการระวังที่จะไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นให้เดือดร้อน ขณะนั้นเป็นกุศลจิตซึ่งควรแก่การสะสม เพราะเหตุว่าเป็นการละคลาย ขัดเกลากิเลส ซึ่งการกระทำกุศลทั้งปวงต้องมีความเพียร แต่ถ้าท่านไม่มีจิตเมตตากรุณา ไม่มีหิริอย่างนี้ ท่านก็ทำทุกอย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่คำนึงถึงว่า จะมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่จะได้รับอันตรายจากการกระทำของท่านบ้างไหม

    เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นกุศล ก็ให้ทราบว่าเป็นกุศล ไม่ต้องไปคิดสงสัยถึงภายใต้ดิน หรือว่าอะไรๆ อย่างนั้น เพราะไม่สามารถที่จะรู้ความจริงว่า มีสัตว์อื่นหรือไม่ แต่จะเป็นเครื่องกังวลใจเปล่าๆ

    ผู้ฟัง เราก็ยึดหลักมัชฌิมาปฏิปทา พระพุทธเจ้าท่านสอนอยู่ พระผู้มีพระภาคท่านละเอียด อย่างพระจะฉันน้ำ ต้องมีเครื่องกรอง เครื่องกรองที่เอาผ้ากรอง อะไรก็ดี หมดหรือเปล่า ตัวอะไร ปัจจุบันเขาเรียกว่าไวรัส ถ้าพูดถึงไวรัส กรองไม่หมดหรอก ผมเคยฟังอาจารย์เสถียรพูดถึงลัทธิศาสนานิครนถ์นาฏบุตร ถือมากทีเดียว เอาผ้าปิดหน้า กลัวตัวอะไรจะมาถูก จะเดินไปไหนก็จะต้องมีไม้กวาดคอยปัด จะเดินไปไหน ก้าวก็ต้องปัด กลัวจะไปโดยสัตว์ตาย อย่างนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค อย่าคิดให้มาก และก็เป็นเรื่องของศาสนาอื่น เราคิดเอาแต่พอสมควร สิ่งใดที่เราไม่เจตนา ก็ช่างเถอะ ศีลก็บริสุทธิ์

    ถ. กระผมสงสัยในข้อมุสา คือ ปกติคุณอาสะใภ้ของผมที่บ้านมีอัธยาศัยชอบเล่นไพ่ ผมต้องการให้ท่านละ ผมจำเป็นต้องกล่าวเท็จ ๑. ผมรู้ว่าคุณอาผมอยู่บ้าน ๒. คำกล่าวของผมเป็นเท็จ ๓. ผมมีเจตนาในการกล่าว ๔. ผมกล่าวออกไป ๕. คนทั้งหลายเชื่อฟัง ผมอยากจะทราบว่า ที่ผมกล่าวเท็จอย่างนี้ จะเป็นบาปอกุศลหรือเปล่าครับ มีคนเขามาชวนอาผมไปเล่นไพ่ แต่ผมพูดปดว่า คุณอาไม่อยู่

    ผู้ฟัง เรื่องของมุสาวาท องค์มีอยู่ ๔ ๑. เรื่องไม่จริง ๒. จิตคิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน ๓. เพียรไป ๔. ผู้อื่นเข้าใจเรื่องนั้น

    ที่คุณว่านั้นเห็นจะไม่พลาด แต่เราถือประโยชน์ คำเท็จที่หักประโยชน์หรือทำลายประโยชน์ หรือทำให้เสียหายมีโทษมาก ถ้าคำเท็จเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง มีโทษน้อย หรือจะกล่าวว่าไม่มีก็เกือบจะว่าได้ เรื่องกล่าวคำเท็จจะต้องมี ทั้งๆ ที่เราจะกล่าวเราก็รู้ ท่านอยู่ เราบอกว่าไม่อยู่ แต่ผมว่ามีโทษน้อย เพราะไม่ได้หักประโยชน์ใคร เราป้องกันทางนี้ ก็ไปหักประโยชน์ทางเขาเหมือนกัน เพราะขาเขาขาด แต่นั่นเรื่องของอบายมุข เราไม่ชอบให้ไปเล่น ประโยชน์ของเรายิ่งใหญ่กว่า ก็ต้องแลกเอา

    ถ. ถ้ากล่าวเท็จเพื่อไม่ให้ฆ่าสัตว์ เพื่อไม่ให้ท่านไปฆ่าปลาช่อน กล่าวเท็จ เพื่อไม่ให้ท่านไปฆ่าสัตว์ ผมจะเป็นบาปหรือเปล่า

    สุ. พยายามใช้คำจริงที่จะเกื้อกูลได้ไหม หรือว่าจะใช้แต่คำมุสาเท่านั้น เรื่อยๆ ไป เปลี่ยนเป็นคำจริงก็ได้ในการที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น ที่จะไม่ให้ประพฤติผิดในทุจริต ในอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง เมื่อผมรับราชการอยู่หัวเมือง มีหม่อมเจ้าซึ่งมีหม่อมแล้ว ท่านไปเที่ยวบ้านผู้หญิง เขาถามว่า ฝ่าบาทมีลูกมีเมียไหม ท่านก็ตอบว่า ไม่มีลูก ... (ทิ้งระยะ) มีเมีย คือ ลูกท่านไม่มี แต่ทิ้งวรรคไว้ให้เขาเข้าใจว่า ไม่มีลูก ไม่มีเมีย คำพูดของเรานี้สำคัญ อย่างในพระวินัยก็มี ถ้าจะพูดเลี่ยงได้ หรืออะไรได้ก็เลี่ยง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ว่ากันตรงๆ ก็คิดอย่างที่อาจารย์ว่า ขึ้นอยู่กับประโยชน์มาก ประโยชน์น้อย เราก็ต้องแลกกัน ไม่อย่างนั้น ก็ทำไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๔๕๑ – ๔๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564