แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 458


    ครั้งที่ ๔๕๘


    สำหรับความโกรธ ซึ่งบางท่านอาจจะคิดผูกโกรธ หรือว่ามีความหวังร้ายต่อบุคคลอื่น แต่ไม่ควรจะให้เป็นอย่างนั้น ในขณะที่ท่านรักษาอุโบสถศีล

    ขอกล่าวถึงการผูกโกรธ หรือความหวังร้ายที่มีต่อบุคคลอื่น ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต โกธนาสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ธรรม ๗ ประการเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนผู้เป็นข้าศึกกันในโลกนี้ ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้ มีผิวพรรณทรามเถิดหนอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีผิวพรรณงาม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะอาบน้ำ ไล้ทา ตัดผม โกนหนวด นุ่งผ้าขาวสะอาดแล้วก็ตาม แต่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณทราม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๑ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ

    เคยคิดอย่างนี้บ้างไหม ถ้าไม่เคยก็ดี เป็นบุญ เป็นกุศลที่ไม่คิดอย่างนี้ แต่ถ้าท่านผู้ใดเคยโกรธ แล้วก็คิดอย่างนี้ จะได้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรละเว้น ไม่ควรที่จะให้เกิดความคิดอย่างนี้ขึ้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนที่เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้ พึงนอนเป็นทุกข์เถิดหนอ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันอยู่สบาย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะนอนบนบัลลังก์อันลาดด้วยผ้าขนสัตว์ ลาดด้วยผ้าขาวเนื้ออ่อน ลาดด้วยเครื่องลาดอย่างดี ทำด้วยหนังชะมด มีผ้าดาดเพดาน มีหมอนหนุนศีรษะ และหนุนเท้าแดงทั้งสองข้างก็ตาม แต่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมนอนเป็นทุกข์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๒ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ

    อีกประการหนึ่ง คนเป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้ อย่ามีความเจริญเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีความเจริญ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้ อันคนผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำถือเอาแล้ว เป็นข้าศึกแก่กันและกัน ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหาย มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๓ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ

    เป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า เคยได้ยินคำพูดอย่างนี้บ้างไหม เวลาที่เกิดโกรธใครก็ตาม เคยได้ยินคำพูดอย่างนี้ ที่มีความคิดอย่างนี้ ความเห็นอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามีความเจริญเลย

    เคยได้ยินไหม เคย

    ควรหรือไม่ควร ไม่ควร

    แต่ผู้ที่กำลังคิดอย่างนั้น กำลังกล่าวอย่างนั้น ไม่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควร ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็สำคัญว่าเราถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์

    การคิดร้ายต่อคนอื่นนั้น ไม่เป็นประโยชน์เลย แต่คนนั้นกลับเห็นว่า เป็นประโยชน์ที่จะต้องให้เขาเสื่อมอย่างนั้น อย่าเจริญอย่างนั้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามีโภคะเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่เป็นข้าศึกกัน ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีโภคะ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะมีโภคะที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมได้ด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ เป็นของชอบธรรม ได้มาโดยธรรม พระราชาทั้งหลายย่อมริบโภคะของคนขี้โกรธเข้า พระคลังหลวง

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ

    บางคนไม่อยากให้คนที่ตนไม่รักไม่ชอบไม่สนิทสนมมีโภคะ พิสูจน์ได้ คือ ท่านมีสิ่งที่ควรสละให้ได้ แต่ท่านไม่สละให้ เป็นการไม่ปรารถนาที่จะให้บุคคลผู้นั้นมีโภคะนั่นเอง ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับเขา ถ้าได้ไป ขาก็จะได้บริโภคในสิ่งที่พอใจ แต่แม้กระนั้นเวลาที่มีความโกรธ ท่านก็ไม่สามารถที่จะสละให้บุคคลนั้นได้ และถ้าความโกรธมีมาก อาจจะถึงกับมีความปรารถนาให้คนที่เป็นข้าศึกนั้น อย่ามีโภคะเลย ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ควรที่จะให้เกิดขึ้นเลย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลผู้นี้อย่ามียศเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมียศ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้จะได้ยศมาเพราะความไม่ประมาท ก็เสื่อมจากยศนั้นได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๕ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ

    แม้แต่ยศก็ยังหมดได้สำหรับผู้ที่มีอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้แล้ว ก็มีการที่จะเสื่อมจากยศนั้นได้

    ผู้ฟัง มีพราหมณ์ฆราวาสไปตีพระ พระก็ไม่ว่ากระไร พระภิกษุก็ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พราหมณ์ฆราวาสไปตีพระ พระไม่ตีตอบ น่าจะติเตียนคนตี

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ใน ๒ คนนี้ คนตีคนแรกถูกติเตียนไม่เท่าไร แต่คนที่แก้แค้นน่าติเตียนมากกว่าคนแรก ท่านรับสั่งว่าอย่างนี้ เพราะเหตุว่าถ้าขืนไปตีตอบ ก็ตีตอบกันไปตีตอบกันมา เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร อย่างอาจารย์ว่า

    และคนที่ตีตอบถูกติเตียนแรงกว่าคนตีทีแรก พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ มีในธรรมบทภาค ๘ ท่านติเตียนคนที่แก้แค้นยิ่งกว่าคนตีคนแรก คนแรกไม่ติเท่าไร ก็เป็นข้อที่น่าคิด

    สุ. ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้อย่ามีมิตรเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนที่เป็นข้าศึกกัน ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันมีมิตร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว แม้เขาจะมีมิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต มิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิตเหล่านั้น ก็เว้นเขาเสียห่างไกล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๖ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ

    พระธรรมข้อที่ ๖ แสดงถึงความสำคัญของมิตรว่า มิตร คือ ผู้ที่หวังดีจริงๆ มิตรเป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิตของทุกท่าน ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ใดๆ ที่ท่านต้องการความช่วยเหลือ มิตรแท้ย่อมสามารถที่จะช่วยเกื้อกูลอนุเคราะห์ท่านได้ เพราะเหตุว่าไม่มีใครที่สามารถจะอยู่แต่ลำพังคนเดียวในโลกนี้ได้ ซึ่งพระธรรมข้อที่ ๖ นี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ผู้โกรธนั้นเองย่อมได้รับผลสะท้อนถึงตนเอง ถ้าท่านโกรธใคร และปรารถนาที่จะให้เขาอย่ามีมิตร บุคคลผู้โกรธนั้นเองย่อมไม่มีมิตร เพราะว่าเวลาที่ท่านกำลังโกรธ ใครๆ ก็ไม่อยากที่จะเข้าใกล้ หรือว่าไปมาหาสู่ หรือที่จะช่วยเหลืออนุเคราะห์ต่างๆ ก็คงจะรอไว้ในขณะที่ท่านไม่โกรธ ไม่ใช่ในขณะที่ท่านโกรธ

    เวลาที่เกิดความโกรธขึ้น และผูกโกรธไว้ จะมีความหวังร้ายต่อผู้ที่ท่านโกรธ ต่างๆ กัน แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตใจของท่านมีความหวังร้ายประการใด แต่สำหรับผู้ที่รักษาอุโบสถศีล นอกจากจะเว้นปาณาติบาตแล้ว ก็ไม่สมควรที่จะมีความผูกโกรธ หรือความโกรธเลย

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อีกประการหนึ่ง คนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมปรารถนาต่อคนผู้เป็นข้าศึกกันอย่างนี้ว่า ขอให้บุคคลนี้เมื่อตายไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะคนที่เป็นข้าศึกกัน ย่อมไม่ยินดีให้คนที่เป็นข้าศึกกันไปสุคติ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนผู้โกรธ ถูกความโกรธครอบงำย่ำยีแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ครั้นแล้วเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นธรรมข้อที่ ๗ เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๗ ประการนี้แล เป็นความมุ่งหมายของคนผู้เป็นข้าศึกกัน เป็นความต้องการของคนผู้เป็นข้าศึกกัน ย่อมมาถึงหญิงหรือชายผู้มีความโกรธ ฯ

    เวลาโกรธเคยคิดอย่างนี้บ้างไหม นี่เป็นความหวังร้ายที่แรงที่สุด คือ ขอให้ผู้ที่ท่านโกรธไปทุคติ ตกนรก หรือเป็นเปรต อยู่ในภพภูมิที่ไม่มีความสุขความสบาย เพราะถึงแม้ว่าจะได้รับความทุกข์ยากลำบากสักเพียงไรในภูมิมนุษย์ ก็ไม่สามารถเทียบเท่ากับความทุกข์ ความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจริงๆ ในอบาย ในทุคติ ในนรก

    เวลาที่ท่านปรารถนาจะให้คนที่ท่านโกรธ ไม่มีมิตร หรือไม่มียศ ไม่มีโภคะ ไม่มีความเจริญ ขอให้นอนเป็นทุกข์ หรือขอให้มีผิวพรรณทรามก็ดี ก็ยังน้อยกว่าการที่จะให้บุคคลนั้นต้องทนทุกข์ทรมานในนรก ในกำเนิดของทุคติ เป็นความผูกโกรธ ความหวังร้ายที่แรงมาก ไม่ใช่มีเฉพาะในโลกนี้ ในปัจจุบันนี้ แต่ยังต่อไปถึงชาติหน้า ภพหน้า ภูมิหน้า ที่จะขอให้บุคคลนั้นเสื่อมจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกประการทีเดียว

    เพราะฉะนั้น ก็สำรวจจิตใจของท่านเองว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความเมตตามากน้อยประการใด โดยการเทียบกับจิตใจของท่านว่า ถ้าท่านอยากมีมิตร ท่านอยากให้คนอื่นมีมิตรไหม ถ้าท่านอยากมียศ ท่านอยากให้คนอื่นมียศไหม ถ้าท่านอยากมีโภคะ ท่านอยากให้คนอื่นมีโภคะไหม ถ้าท่านอยากมีความเจริญ ท่านอยากจะให้คนอื่นเจริญไหม ถ้าท่านอยากนอนเป็นสุข ท่านอยากจะให้คนอื่นนอนเป็นทุกข์ไหม หรือถ้าท่านเป็นผู้ที่มีผิวพรรณดี ท่านอยากจะให้คนอื่นมีผิวพรรณทรามไหม เพราะว่าบางท่านไม่อยากจะให้ใครสวย หรือว่าถ้าเป็นคนสวยอยู่แล้ว บางคนอาจจะไม่อยากจะให้คนอื่นสวยกว่า ก็เป็นไปได้ใช่ไหม ลืมคิดถึงจิตใจของท่านเองจริงๆ ว่า ท่านต้องการอย่างไร และควรจะที่ให้คนอื่นเป็นอย่างนั้นบ้างไหม หรือว่ายิ่งกว่าท่านได้ไหม

    นี่เป็นการสำรวจจิตใจของท่านว่า ท่านเป็นผู้ที่เต็มเปี่ยมด้วยเมตตา หรือว่ายังไม่เต็มเปี่ยมด้วยเมตตาจริงๆ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    คนโกรธมีผิวพรรณทราม ย่อมนอนเป็นทุกข์ ถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์

    ถ้าท่านมีเมตตา อยากให้คนอื่นมีความสุขทุกประการ นั่นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่เวลาเกิดโกรธ กลับปฏิบัติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ คือ กลายเป็นความมุ่งร้าย ผูกโกรธต่างๆ ที่จะให้คนอื่นเป็นทุกข์ต่างๆ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ทำปาณาติบาตด้วยกายและวาจา ย่อมถึงความเสื่อมทรัพย์ ผู้มัวเมาเพราะความโกรธ ย่อมถึงความไม่มียศ ญาติมิตรและสหายย่อมเว้นคนโกรธเสียห่างไกล

    มีใครสรรเสริญคนโกรธไหม เวลาโกรธแล้ว กายก็ไม่ดี วาจาก็ไม่ดี เพราะฉะนั้น จะมียศได้ไหมจากความโกรธ

    คนผู้โกรธ ย่อมไม่รู้จักความเจริญ ทำจิตให้กำเริบ ภัยที่เกิดมาจากภายในนั้น คนผู้โกรธย่อมไม่รู้สึก คนโกรธย่อมไม่รู้อรรถ ไม่เห็นธรรม ความโกรธย่อมครอบงำ นรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น

    คนผู้โกรธ ย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยากเหมือนทำได้ง่าย ภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้

    คนผู้โกรธ ย่อมแสดงความเก้อยากก่อน เหมือนไฟแสดงควันก่อน ในกาลใด ความโกรธเกิดขึ้น คนย่อมโกรธในกาลนั้น คนนั้นไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ และไม่มีความเคารพ คนที่ถูกความโกรธครอบงำย่อมไม่มีความสว่างแม้แต่น้อยเลย

    ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัส จะเห็นสภาพธรรมโดยความเป็นอนัตตา ซึ่งทรงแสดงไว้ในพระดำรัส ในพระพุทธโอวาท ในพระภาษิตต่างๆ เช่นข้อความที่ว่า ในกาลใดความโกรธเกิดขึ้น คนย่อมโกรธในกาลนั้น

    ความโกรธเป็นอนัตตา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เมื่อมีปัจจัยที่จะให้ความโกรธเกิดขึ้นแล้วไปยึดถือความโกรธนั้นเป็นเราโกรธ เป็นตัวตน ด้วยเหตุนี้ ข้อความนี้จึงมีว่า ในกาลใดความโกรธเกิดขึ้น คนย่อมโกรธในกาลนั้น

    แต่เมื่อความโกรธซึ่งเป็นอนัตตาไม่มีปัจจัยจะเกิด ก็กล่าวว่า ขณะนั้นคนนั้นไม่โกรธ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๔๕๑ – ๔๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564