แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 471


    ครั้งที่ ๔๗๑


    ขอความต่อไปใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อุปาสกวรรคที่ ๕ อุปาลีสูตร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุบาลี เสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด อยู่ลำบาก ทำความวิเวกได้ยาก ยากที่จะอภิรมย์ในการอยู่ผู้เดียว ป่าทั้งหลายเห็นจะนำใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย

    ดูกร อุบาลี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราเมื่อไม่ได้สมาธิ จักส้องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลง หรือจักฟุ้งซ่าน

    ท่านผู้ฟังควรที่จะได้สังเกตว่า เมื่อท่านพระอุบาลีกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านปรารถนาเพื่อส้องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุโมทนา เพราะเหตุว่าแต่ละบุคคลมีอัธยาศัยในการสะสมมาที่ต่างกันจริงๆ และผู้ที่รู้ดีกว่าบุคคลอื่น คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับท่านพระอุบาลีว่า

    ดูกร อุบาลี เปรียบเหมือนมีห้วงน้ำใหญ่อยู่ มีช้างใหญ่สูง ๗ ศอก หรือ ๗ ศอกกึ่ง มาถึงเข้า ช้างตัวนั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า ไฉนหนอเราลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้วพึงขัดถูหูเล่นบ้าง พึงขัดถูหลังเล่นบ้าง ครั้นแล้วจึงอาบ ดื่ม ขึ้นมากลับไปตามต้องการ ช้างนั้นลงสู่ห้วงน้ำนั้นแล้วพึงขัดถูหูเล่นบ้าง ขัดถูหลังเล่นบ้าง ครั้นแล้วจึงอาบ ดื่ม ขึ้นมาแล้วกลับไปตามต้องการ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าช้างนั้นเป็นสัตว์มีร่างกายใหญ่ ย่อมได้การลงในน้ำลึก ครั้นกระต่ายหรือเสือปลามาถึง (ห้วงน้ำนั้น) เข้า กระต่ายหรือเสือปลานั้นพึงคิดอย่างนี้ว่า เราเป็นอะไร และช้างใหญ่เป็นอะไร ไฉนหนอเราพึงลงสู่ห้วงน้ำนี้แล้วจึงขัดถูหูเล่นบ้าง พึงขัดถูหลังเล่นบ้าง ครั้นแล้วจึงอาบ ดื่ม ขึ้นมาแล้วกลับไปตามต้องการ กระต่ายหรือเสือปลานั้นจำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลงหรือจักลอยขึ้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่ากระต่ายหรือเสือปลานั้นเป็นสัตว์มีร่างกายเล็ก ย่อมไม่ได้การลงในห้วงน้ำลึก แม้ฉันใด ดูกร อุบาลี ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราเมื่อไม่ได้สมาธิ จักส้องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด ผู้นั้นจำต้องหวังข้อนี้ คือ จักจมลงหรือฟุ้งซ่าน ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

    ท่านผู้ฟังเป็นช้างใหญ่สูง ๗ ศอก หรือ ๗ ศอกกึ่ง หรือเป็นกระต่าย หรือเป็นเสือปลา ต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ท่านเป็นฆราวาส หรือท่านเป็นบรรพชิต หรือถึงแม้ท่านจะเป็นบรรพชิตอย่างท่านพระอุบาลีเป็นต้น ก็ควรที่จะได้ทราบว่า แม้บรรพชิตก็มีอัธยาศัย มีการสะสมต่างๆ กัน

    แม้เป็นบรรพชิต การติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ยังต่างกัน เพศของฆราวาสกับบรรพชิตนั้นต่างกันที่เจตนาในการที่จะสะสมอบรมปัญญาที่จะดับกิเลสโดยสภาพของเพศที่ต่างกันเท่านั้น แต่ตราบใดที่ปัญญายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้ กิเลสที่สะสมมาก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านควรที่จะได้พิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้น ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์หรืออพรหมจรรย์ก็ตาม ท่านก็สามารถที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ดังข้อความใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โสฬสมาณวกปัญหา นิคมนิทเทส ข้อ ๕๕๘ ซึ่งมีว่า

    ความงด ความเว้น ความเว้นเฉพาะ เจตนาเครื่องงดเว้น ความไม่ยินดี ความงดการทำ ความไม่ทำ ความไม่ต้องทำ ความไม่ล่วงแดน ความฆ่าด้วยเหตุ (ด้วยอริยมรรค) ในความถึงพร้อมด้วยอสัทธรรม ท่านกล่าวว่า พรหมจรรย์ ในอุเทศว่า พฺรหฺมจริยมจรึสุ ดังนี้.

    อีกอย่างหนึ่ง อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ท่านกล่าวว่า พรหมจรรย์ ด้วยสามารถแห่งการกล่าวตรงๆ .

    คำว่า ได้ประพฤติแล้วซึ่งพรหมจรรย์ ความว่า ได้ประพฤติ คือ สมาทานประพฤติพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ได้ประพฤติแล้วซึ่งพรหมจรรย์.

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้ โดยรู้ว่าสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นขั้นๆ

    สำหรับแต่ละท่านที่มีกิเลส พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยที่มีความพอใจอย่างเต็มที่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงกับท่านพระอุบาลี ใน อุปาลีสูตร มีข้อความต่อไปว่า

    ดูกร อุบาลี เปรียบเหมือนเด็กอ่อนนอนหงาย ย่อมเล่นมูตรและคูถของตน

    ดูกร อุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเล่นนี้เป็นการเล่นของเด็กอ่อนอย่างเต็มที่สิ้นเชิงมิใช่หรือ

    ท่านพระอุบาลีกราบทูลว่า

    เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า ฯ

    เด็กเล็กที่เพิ่งเกิดรู้จักเล่นแล้ว มีความพอใจแล้วในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ของเล่นของเด็กอ่อนที่เพิ่งเกิด คือ มูตรและคูถของตน โดยไม่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ควรเล่น หรือว่าไม่ควรเล่น เมื่อมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็เป็นปัจจัยทำให้มีการเล่น แม้มูตรและคูถของตนเอง

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุบาลี สมัยต่อมา เด็กนั้นแลอาศัยความเจริญ อาศัยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ ย่อมเล่นเครื่องเล่นทั้งหลายที่เป็นของเล่นของพวกเด็กๆ คือ เล่นไถน้อยๆ เล่นตีไม้หึ่ง เล่นกังหันไม้ เล่นกังหันใบไม้ เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ เล่นธนู น้อยๆ

    ดูกร อุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเล่นนี้เป็นการเล่นดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการเล่นที่มีในครั้งก่อนมิใช่หรือ ฯ

    ท่านพระอุบาลีกราบทูลว่า

    เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

    ท่านผู้ฟังก็คงจะเคยผ่านการเล่นอย่างนี้มาแล้ว แต่ละท่านจะเล่นไถน้อยๆ ตีไม้หึ่ง เล่นกังหันไม้ เล่นตวงทราย เล่นรถน้อยๆ หรือเล่นธนูน้อยๆ ซึ่งเป็นเครื่องเล่นที่สนุกสนาน ที่เหมาะสำหรับวัยของเด็กในขณะนั้น

    ข้อความต่อไป แสดงถึงการเติบโตขึ้นของอินทรีย์ พร้อมทั้งการเติบโตขึ้นของกิเลสด้วย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุบาลี สมัยต่อมา เด็กนั้นแล อาศัยความเจริญ อาศัยความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ เป็นผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรออยู่ด้วยรูปทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด ด้วยเสียงทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้ด้วยหู ... ด้วยกลิ่นทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้ด้วยจมูก ... ด้วยรสทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้ด้วยลิ้น ... ด้วยโผฏฐัพพะทั้งหลายอันบุคคลพึงรู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด

    ดูกร อุบาลี เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเล่นนี้เป็นการเล่นที่ดียิ่งกว่า และประณีตกว่าการเล่นที่มีในครั้งก่อนมิใช่หรือ ฯ

    ท่านพระอุบาลีกราบทูลว่า

    เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

    ยิ่งเจริญวัยขึ้น เติบโตขึ้น กิเลสก็เพิ่มขึ้น มากขึ้น ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทำให้ท่านแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่างๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอุบาลีว่า เมื่อพระองค์ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงธรรม และมีผู้มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิต เจริญสมณธรรมโดยส้องเสพเสนาสนะป่า บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จนถึงอรูปฌานขั้นสูงที่สุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อนมิใช่หรือ ซึ่งท่านพระอุบาลีก็ได้กราบทูลว่า เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    แต่ว่าสาวกเหล่านั้น ยังไม่บรรลุประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน

    หมายความว่า แม้ว่าจะเปลี่ยนจากการพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มาเป็นความพอใจในการออกบวชเป็นบรรพชิต เจริญสมณธรรม ส้องเสพเสนาสนะป่า ได้บรรลุรูปฌาน และ อรูปฌานแล้วก็จริง แต่ว่าสาวกเหล่านั้นยังไม่บรรลุประโยชน์ของตนโดยลำดับก่อน

    และพระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอุบาลีในตอนท้ายของพระสูตรนี้ว่า

    ดูกร อุบาลี เธอจงอยู่ในสงฆ์เถิด เมื่อเธออยู่ในสงฆ์ ความสำราญจักมี

    จบ สูตรที่ ๙

    พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงกั้นมรรคผลของท่านพระอุบาลี การที่มิได้ทรงอนุโมทนาให้ท่านอุบาลีส้องเสพเสนาสนะป่า เพราะทรงทราบว่า การอยู่ป่านั้นสมควรแก่ท่านผู้ใด ซึ่งสำหรับท่านพระอุบาลีนั้น ประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ท่าน ไม่ใช่การส้องเสพเสนาสนะป่า

    . ผมสงสัยพยัญชนะที่ว่า เด็กเติบโต พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า อินทรีย์แก่กล้า ในที่นี้หมายความว่าอะไร

    สุ. กายก็เป็นอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น เป็นอินทรีย์ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อมีการเติบโตขึ้น ก็เป็นการเจริญวัย การแก่กล้าของอินทรีย์

    จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยลำดับ ตั้งแต่การเล่นของเด็กแรกเกิด จนกระทั่งเติบโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่ จนกระทั่งสามารถที่จะได้ยินได้ฟังและพิจารณาธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง จนกระทั่งเกิดมีศรัทธาที่จะออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต และใคร่ที่จะส้องเสพเสนาสนะป่า อย่างท่านพระอุบาลี เป็นต้น

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงชีวิตจริงๆ ของท่านพระอุบาลีและบุคคลอื่นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่จะระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดปรากฏกับท่าน ไม่ว่าท่านจะเป็นบรรพชิตหรือท่านจะเป็นฆราวาส

    สำหรับการที่จะสะสมอุปนิสัยในการที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ละอพรหมจรรย์ ที่เป็นอุโบสถศีลองค์ที่ ๓ ก็ควรที่จะสะสมให้เป็นอุปนิสัยปัจจัยให้มากขึ้น

    แต่สำหรับท่านที่ยังอยู่ในวัยที่เป็นผู้ที่มีกิเลส ยังประพฤติอพรหมจรรย์ ก็ไม่ใช่ว่าจะปิดกั้นโอกาสในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะคิดว่า การที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาก็ดี หรือว่าการที่จะปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาก็ดี ท่านจะต้องผ่านวัยที่พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะก่อน จึงจะอบรมเจริญปัญญาได้ แต่ไม่ควรจะเข้าใจผิดอย่างนั้น เพราะว่าขึ้นอยู่กับอินทรีย์ที่ท่านได้สะสมมา คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ที่เกิดจากการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ท่านจะเป็นบุคคลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศใด ในชาติใด ในชาติที่ท่านประพฤติพรหมจรรย์ หรือท่านประพฤติอพรหมจรรย์ ก็ย่อมเป็นไปตามการสะสม ตามความวิจิตรของจิตของท่าน ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกก็มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานมาแล้ว ท่านสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ในชีวิตต่างๆ กัน ตามความเป็นจริงของท่านเหล่านั้น

    สำหรับการรักษาอุโบสถศีลข้อที่ ๓ ขอกล่าวถึงข้อความที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ใน ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก สาเกตชาดก อุปาหนวรรค มีข้อความว่า

    ข้อ ๓๒๓

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุไรหนอ เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้ พอเห็นกันเข้าก็เฉยๆ หัวใจก็เฉย บางคนพอเห็นกันเข้าจิตก็เลื่อมใส

    ข้อ ๓๒๔

    ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑ ด้วยความเกื้อกูลต่อกันในปัจจุบัน ๑ เหมือนดอกอุบลและชลชาติ เมื่อเกิดในน้ำ ย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ น้ำและเปือกตม ฉะนั้น

    จบ สาเกตชาดกที่ ๗

    เรื่องจริงหรือเปล่า แล้วแต่ท่านจะเป็นบุคคลใด ก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน มีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในบุคคลใด ขณะใด เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ยิ่งรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมซึ่งอาศัยการเห็นจึงได้เกิดความพอใจขึ้น ก็ทำให้การหลงติดยึดถือในความพอใจนั้นลดน้อยลงได้ ซึ่งจะทำให้ความทุกข์น้อยลง

    ชีวิตในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ท่านเลือกไม่ได้ และถ้าท่านไม่มีเหตุปัจจัยที่สะสมมาจริงๆ แล้ว ชีวิตของท่านจะเป็นอย่างนี้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ชีวิตของใครจะเป็นอย่างไรก็ตาม ก็เพราะว่ามีเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาทำให้เกิดเป็นไปอย่างนั้น

    สำหรับข้อความในพระสูตรนี้ ท่านสามารถพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการว่า บุคคลซึ่งปัจจุบันชาตินี้อาจจะเป็นมิตรสหาย เป็นญาติพี่น้องกัน แต่ว่าในชาติก่อนๆ ในภพก่อนๆ อาจจะมีความสัมพันธ์กันในลักษณะอื่น เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะผูกพันไว้เหนียวแน่น ถึงแม้ว่าจะมีข้อความที่แสดงไว้ว่า ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑ ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องผูกพันภพชาติก่อนๆ มาจนกระทั่งถึงภพนี้ชาตินี้

    ถ้าท่านพิจารณาธรรม เห็นความไม่เที่ยง เห็นความแปรปรวน เห็นความเปลี่ยนแปลง จากบุคคลอันเป็นที่รักในครั้งก่อน ก็อาจจะเป็นที่ชังในปัจจุบัน และยิ่งในอดีตชาติก่อนๆ โน้นนานมาแล้ว ท่านก็ไม่ทราบถึงความรู้สึกซึ่งเกิดดับในอดีตชาติ โน้นๆ ว่า ท่านมีความรักความชังในบุคคลใด เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องพยายามคิดว่า อดีตเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ปัจจุบันชาตินี้จึงต้องผูกพันกันต่อไป ซึ่งถ้าเป็นการพิจารณาธรรมด้วยความแยบคาย ท่านก็จะสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทจริงๆ

    ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีพระสาวก ทั้งภิกษุภิกษุณีซึ่งเป็นผู้ที่ได้สมาธิ สามารถระลึกรู้อดีตชาติได้ ท่านระลึกรู้ว่า ท่านเคยมีความสัมพันธ์กันในอดีตกาลอย่างไร

    ท่านพระมหาปชาบดีโคตมีเคยเป็นภรรยาของท่านพระนันทกะ ผู้เป็นเอตทัคคะในการโอวาทภิกษุณี แต่ว่าการที่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรม ก็ทำให้สามารถที่จะละคลายความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ถ้าท่านเห็นโทษ เห็นภัยของสังสารวัฏฏ์จริงๆ แม้ว่าท่านยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคลก็ตาม ท่านก็มีความมั่นคงในการที่จะขัดเกลากิเลส แม้ว่าจะเป็นฆราวาส แต่ก็ประพฤติพรหมจรรย์ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๔๗๑ – ๔๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564