แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 442


    ครั้งที่ ๔๔๒


    สุ. ที่ว่าชีวิตฆราวาสคับแคบ เพราะว่าแวดล้อมพัวพันด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหมือนกับถูกจำกัดอยู่เพียงแค่นี้ คือ ไม่สามารถพ้นไปจากความติดเยื่อใยในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ นั่นคงจะเป็นความหมายประการหนึ่ง

    และสำหรับความหมายของคับแคบ ที่หมายความถึงนิวรณธรรม คือ กามฉันทนิวรณ์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ยังไม่สามารถที่จะพ้นไปจากกามฉันทนิวรณ์ พยาปาทนิวรณ์เหล่านี้ เป็นต้น ยังไม่สามารถที่จะพ้นไปจนถึงปฐมฌาน ทุติยฌาน หรือความสงบของจิตขั้นนั้นๆ ได้

    ถ. โดยปกติแล้ว หนูเป็นคนมีโทสะเป็นเจ้าเรือน ถ้ามีเสียงปรากฏทางหู หรือว่ารูปปรากฏทางตา หากว่าในขณะนั้นมีสติระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงรูปธรรมชนิดหนึ่งเกิดขึ้นและก็ดับไป ความไม่พอใจต่างๆ ก็ไม่เกิด แต่บางครั้งหลงลืมสติ ปล่อยให้กลายเป็นความโกรธขึ้นมา หลังจากนั้นจึงจะมีสติระลึกรู้ว่า นั่นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นและก็ดับไป แต่หลังจากที่โกรธแล้ว สติไม่ค่อยเกิดเลย มักจะหลงลืมสติบ่อยๆ เมื่อหลงลืมสติบ่อยๆ ความโกรธก็เกิดบ่อยๆ จนทำให้ท้อใจ อาจารย์กรุณาแนะวิธีว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไร

    สุ. ถึงแม้ว่าจะโกรธ แต่ก็ยังระลึกได้ ดีกว่าบุคคลซึ่งสติไม่เคยเกิดเลย แต่นี่สติก็ยังระลึกรู้เสียงบ้าง เห็นบ้าง สิ่งที่ปรากฏทางตาบ้าง หรือแม้ว่าขณะใดที่หลงลืมสติไป โกรธเกิดขึ้น สติก็ยังเกิดระลึกรู้ในลักษณะของความโกรธได้ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญไปเรื่อยๆ จะไปขอยืมสติของใครมาเพิ่มให้มากๆ จะได้ไม่หลงลืมก็ไม่ได้ แต่ละคนก็สะสมมา แล้วแต่ว่าจะหลงลืมสติขณะใด หรือว่าสติจะเกิดขณะใด

    แต่ถ้าฟังธรรมมากๆ เป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ซึ่งศึกษาในที่นี้ไม่ได้หมายความเพียงขั้นปริยัติ แต่เป็นในขณะที่สติเกิด สำเหนียก สังเกตที่จะรู้ในอาการรู้ หรือในสภาพที่ปรากฏ ขณะนั้นเป็นสิกขา เป็นอธิสิกขาด้วย เป็นทั้งอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ไม่ใช่เพียงขั้นการฟังแล้วคิด แต่เป็นขั้นขณะที่สติเกิด สัมมาวายามะก็เพียรสำเหนียก สังเกต ที่จะรู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ด้วยการรู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ หรือว่าไม่ใช่สภาพรู้ เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นรูปธรรม

    แต่จะให้ได้รวดเร็วอย่างใจ เป็นไปไม่ได้ ใครๆ ก็อยากจะหมดกิเลสด้วยกันทุกคน บางท่านอาจจะยังเสียดาย หลายท่านก็อยากจะดับหมดเป็นสมุจเฉท แต่ก็ไม่สามารถที่จะดับได้อย่างใจ หรือเพียงด้วยความต้องการ ต้องอาศัยเหตุ คือ การอบรมเจริญปัญญาจริงๆ

    ในเรื่องของวจีทุจริต สัมผัปปลาปวาจา คำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ ผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์จึงจะดับได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงเตือนเรื่องของคำพูด และการพิจารณาคำพูด ใน ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘ มีข้อความว่า

    หากว่าวาจาแม้ตั้งพัน ประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ไซร้ บทอันเป็นประโยชน์บทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบ ประเสริฐกว่า

    สงบในที่นี้ ไม่ใช่เพียงสงบชั่วคราวขั้นสมาธิ แต่ควรเป็นความสงบจริงๆ จากกิเลสเป็นสมุจเฉท จากข้อความนี้ เป็นการเตือนให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ พูดกันมากแค่ไหนในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และคำพูดอย่างนั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยจิตประเภทใด ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลชนิดไหน เป็นโลภมูลจิต หรือว่าโทสมูลจิต การพูดคุยด้วยความสนุกสนานในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีเป็นประจำเกินพันถ้าจะนับ ก็ต้องเกิดจากอกุศลจิตประเภทนั้นๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คาถาแม้ตั้งพัน ประกอบด้วยบทอันไม่เป็นประโยชน์ไซร้ คาถาบทหนึ่งที่บุคคลฟังแล้วย่อมสงบ ประเสริฐกว่า ...

    บุคคลใดพึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพันในสงคราม บุคคลนั้นไม่ชื่อว่า เป็นผู้ชนะอย่างสูงในสงคราม ส่วนบุคคลใด พึงชนะตนผู้เดียว บุคคลนั้นแลชื่อว่า เป็นผู้ชนะอย่างสูงสุดในสงคราม

    ตนแลอันบุคคลชนะแล้วประเสริฐ ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ๆ อันบุคคลชนะแล้วจักประเสริฐอะไร เพราะว่าเทวดา คนธรรพ์ มาร กับทั้งพรหม พึงทำความชนะของบุรุษผู้มีตนอันฝึกแล้ว มีปกติประพฤติสำรวมเป็นนิตย์ ผู้เป็นสัตว์เกิดเห็นปานนั้น ให้กลับแพ้ไม่ได้

    พยัญชนะที่ว่า บุคคลใดพึงชนะหมู่มนุษย์ตั้งพันคูณด้วยพันในสงคราม บุคคลนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ชนะอย่างสูงในสงคราม นี่เกี่ยวกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า ถ้าท่านผู้ฟังเข้าใจถูกในเรื่องของสติปัฏฐาน จะเห็นว่า พระธรรมทั้งหมดเกื้อกูลให้อบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะชนะใจตนเองได้ไหม มีอะไรที่ทำให้ชนะได้ ถ้ายังเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลอยู่ ก็มุ่งที่จะชนะบุคคลอื่น แต่ถ้ารู้ตัวเองว่ามีกิเลสมาก ทั้งโลภะ ทั้งโทสะ ทั้งโมหะ ทั้งอิสสา ทั้งมัจฉริยะ อกุศลมากมายเหลือเกิน และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถขจัดออกได้โดยอาศัยบุคคลอื่น หรือแม้แต่ความเป็นตัวตน ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน ก็ไม่สามารถที่จะกำจัดหรือขจัดกิเลสเหล่านี้ได้ ต้องอาศัยปัญญา ความเห็นถูกต้องในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นการอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น ที่จะทำให้เป็นผู้ชนะได้

    และที่ว่า ส่วนหมู่สัตว์นอกนี้ๆ อันบุคคลชนะแล้วจักประเสริฐอะไร เพราะว่าเทวดา คนธรรพ์ มาร กับทั้งพรหม พึงทำความชนะของบุรุษผู้มีตนอันฝึกแล้ว มีปกติประพฤติสำรวมเป็นนิตย์ ผู้เป็นสัตว์เกิดเห็นปานนั้น ให้กลับแพ้ไม่ได้ ถ้าท่านเป็นผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว ไม่มีใครเลย ไม่ว่าจะเป็นมาร เป็นพรหม เป็นคนธรรพ์ที่จะทำให้ท่านกลับเป็นผู้แพ้ หรือจะทำให้ท่านแพ้ไม่ได้ ถ้าท่านสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท แต่ถ้าตราบใดยังไม่ชนะใจตนเอง ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ท่านก็จะเป็นผู้แพ้ได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ก็การบูชาของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอันอบรมแล้วคนหนึ่ง แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าการบูชาของผู้ที่บูชาด้วยทรัพย์พันหนึ่งตลอดร้อยปีเสมอทุกเดือนๆ การบูชาตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร

    ก็การบูชาของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอันอบรมแล้วคนหนึ่งแล แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าผู้บำเรอไฟในป่าตั้งร้อยปี การบำเรอไฟตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร

    ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุว่า การบูชาของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอันอบรมแล้วนั้น เป็นการบูชาในความเห็นถูก ในการปฏิบัติถูก ไม่ใช่เป็นการบูชาด้วยความไม่รู้ หรือว่าไม่ใช่เป็นการบูชาด้วยหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการตอบแทน เพราะเหตุว่า ถ้าท่านมีความเห็นถูก ท่านบูชาในความเห็นถูก ย่อมไม่ใช่เป็นการบูชาด้วยการที่จะหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการตอบแทน และก็ประเสริฐกว่าการที่จะบูชาในความเห็นผิด ในข้อปฏิบัติที่ผิดด้วยทรัพย์พันหนึ่งตลอดร้อยปีเสมอทุกเดือนๆ

    หรือแม้แต่ ก็การบูชาของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอันอบรมแล้วคนหนึ่งแล แม้เพียงครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าผู้บำเรอไฟในป่าตั้งร้อยปี การบำเรอไฟตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร

    นี่เป็นการเทียบเคียงให้เห็นว่า การบำเรอไฟไม่ใช่การเห็นถูก ถ้าท่านจะบูชาผู้ที่บำเรอไฟ ก็ไม่ใช่เป็นการบูชาในความเห็นถูก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บุคคลผู้มุ่งบุญ พึงบูชายัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้ว และยัญที่บุคคลบูชาแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกตลอดปีหนึ่ง ยัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้ว และยัญที่บุคคลบูชาแล้ว (ทาน) นั้น แม้ทั้งหมด ย่อมไม่ถึงส่วนที่ ๔ แห่งการอภิวาทในท่านผู้ดำเนินไปตรงทั้งหลาย การอภิวาทในท่านผู้ดำเนินไปตรงทั้งหลายประเสริฐกว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการอภิวาทเป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อผู้เจริญเป็นนิตย์

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้ามีความเห็นถูก การบูชาก็ถูก หรือแม้การอ่อนน้อมการอภิวาทก็ถูก เพราะเหตุว่าเป็นการอ่อนน้อม เป็นการอภิวาทต่อผู้เจริญในธรรม เพราะฉะนั้น ไม่พึง ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะลบหลู่ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติถูก เพราะว่าการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้นจากความเห็นผิด แต่ว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการอภิวาทเป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อผู้เจริญเป็นนิตย์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ก็บุคคลผู้มีศีลเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ทุศีล มีจิตไม่มั่นคง มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี

    ก็บุคคลผู้มีปัญญาเพ่งพินิจ มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไร้ปัญญา มีจิตไม่มั่นคง มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี

    ก็บุคคลผู้ปรารภความเพียรมั่น มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้เกียจคร้าน มีความเพียรอันเลว มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี

    ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและเสื่อมไป มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี

    ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นอมตบท มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นอมตบท มีชีวิตอยู่ร้อยปี

    ก็บุคคลผู้พิจารณาเห็นธรรมอันสูงสุด มีชีวิตอยู่วันเดียว ประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นธรรมอันสูงสุด มีชีวิตอยู่ร้อยปี

    จบ สหัสสวรรคที่ ๘

    พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเป็นเรื่องธรรม เป็นความจริงในชีวิตประจำวัน แม้ในเรื่องความสำคัญของคำพูดที่ควรพิจารณา ควรไตร่ตรอง เพื่อจะได้เห็นประโยชน์ของคำพูดที่มีประโยชน์ เมื่อมีความเห็นถูกแล้ว ก็ย่อมมีการอ่อนน้อม มีการบูชาในธรรมและคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นการทำให้เกิดความเห็นถูก เป็นลำดับเป็นขั้นๆ

    ท่านผู้ฟังคงจะได้ยินคำว่า ยัญ บ่อยๆ ซึ่งคำว่า ยัญนี้ หมายความถึงทาน การให้ อย่างผู้ที่บำเรอไฟ บูชาไฟ ก็เป็นการให้ไฟ หรือเป็นการบูชาบุคคลที่ท่านบูชาด้วยไฟ คือ การให้ไฟเป็นยัญนั่นเอง

    ใน มังคลัตทีปนีแปล (เล่ม ๓) คาถาว่าด้วยการเว้นจากบาป และการสำรวมจากการดื่มน้ำเมา ข้อ ๒๓๖ มีข้อความเรื่องยัญ และความหมายของยัญว่าพระผู้มีพระภาคตรัสทาน ๔ อย่างไว้ใน กูฏทันตสูตร ใน ทีฆนิกาย ศีลขันธวรรค โดยชื่อว่ายัญ อย่างนี้ว่า

    ยัญ กล่าวคือการให้ภัตรเป็นนิตย์ มีผลมากกว่ายัญโดยปกติ

    ยัญ กล่าวคือการให้วิหารมี ผลมากกว่ายัญกล่าวคือคือการให้ภัตรเป็นนิตย์นั้น

    ยัญ กล่าวคือการถึงสรณะ มีผลมากกว่ายัญกล่าวคือการให้วิหารนั้น

    ยัญ กล่าวคือศีล ๕ มีผลมากกว่ายัญกล่าวคือการถึงสรณะนั้น

    เป็นคุณธรรมที่สูงขึ้นตามลำดับ

    ข้อ ๒๓๗ มีข้อความว่า

    ก็ใน อรรถกถากูฏทันตสูตร นั้น ท่านกล่าวเนื้อความว่า

    เพราะการถึงสรณะ เป็นของชื่อว่ายัญ ด้วยอำนาจแห่งการบริจาคชีวิตแด่ พระรัตนะทั้ง ๓ ย่อมให้สมบัติในสวรรค์ ฉะนั้น การถึงสรณะนั้นจึงมีผลมากกว่าวิหารทาน

    จะเห็นได้ว่า ข้อความเรื่องยัญ บางครั้งเป็นเรื่องของทาน แต่บางครั้ง เช่นข้อความที่ว่า ยัญ กล่าวคือการถึงสรณะ มีผลมากกว่ายัญกล่าวคือการให้วิหารนั้น ซึ่งคำอธิบายก็มีว่า ยัญ กล่าวคือการถึงสรณะ มีผลมากกว่ายัญคือการให้วิหารนั้น เพราะเหตุว่าเป็นการบริจาคชีวิตแก่พระรัตนตรัย ทั้งชีวิตทีเดียวที่จะน้อมนำประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ เพื่อการขัดเกลาและดับกิเลส

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่ง เบญจศีลนั้น ชื่อว่ามีผลมากแม้กว่าสรณคมน์นั้น เพราะความไม่มีแห่งทาน เช่นกับด้วยศีล ๕

    ที่เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าศีลเป็นมหาทาน เพราะฉะนั้น ก็เป็นยัญที่มีผลมากกว่ายัญคือสรณคมน์

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    ดังนี้แล้ว เมื่อจะยังเนื้อความนั้นให้สำเร็จโดยบาลี จึงทรงแสดงบาลีว่า

    ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๕ เหล่านี้เป็นมหาทาน เป็นทานที่บัณฑิตรู้ว่าเลิศ (อัคคัญญะ) รู้กันมานาน (รัตตัญญะ) รู้กันว่าเป็นวงศ์ (วังสัญญะ) คือ วงศ์แห่ง พระอริยเจ้า เป็นของเก่า (โปราณะ) อันสมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูทั้งหลายไม่ลบล้างแล้ว ไม่เคยลบล้างแล้ว ไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจ ไม่คัดค้านแล้ว

    ทาน ๕ เป็นไฉน ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกในศาสนานี้ ละปาณาติบาตแล้ว ย่อมเป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้เว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ว ย่อมให้ความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณมิได้แล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนหาประมาณมิได้

    ภิกษุทั้งหลาย ทานนี้เป็นมหาทาน เป็นทานอันบัณฑิตรู้ว่าเลิศ รู้กันมานาน รู้กันว่าเป็นวงศ์ (แห่งอริยะ) เป็นของเก่า อันสมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นวิญญูทั้งหลายไม่ลบล้างแล้ว ไม่เคยลบล้างแล้ว ไม่รังเกียจอยู่ จักไม่รังเกียจ ไม่คัดค้านแล้ว

    จริงไหม มีใครคัดค้านบ้าง เรื่องการละเว้นปาณาติบาต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๔๕ ตอนที่ ๔๔๑ – ๔๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 40
    28 ธ.ค. 2564