โสภณธรรม ครั้งที่ 059


    ตอนที่ ๕

    ก็ขึ้นอยู่กับการเข้าใจสภาพธรรม ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่สติจะต้องระลึก มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ เพราะแต่ละวันก็ผ่านไปๆ ก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น ทุกวันๆ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เหตุการณ์ต่างๆ บ้าง เดือดร้อนใจบ้าง พอใจบ้าง สนุกสนานเพลิดเพลินบ้าง แต่ว่าทุกขณะก็หมดไป ไม่มีอะไรที่เหลือเลยสักขณะจิตเดียว แม้ในขณะนี้เอง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นปรากฏ แล้วก็ดับไป เป็นอนัตตา แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่ยากที่จะประจักษ์ในความเป็นอนัตตา สภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นถ้าทุกคนจะรู้ว่า อดีต ความสนุกสนาน หรือความสุขความทุกข์เมื่อวานนี้ เมื่ออาทิตย์นี้ เมื่อเดือนนี้ หรือหลายๆ เดือนมาแล้ว ก็ผ่านหมดไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็คงเหลืออยู่แต่ปัจจุบัน ขณะนี้ขณะเดียว เพียงขณะเดียวจริงๆ ซึ่งจะต้องศึกษาให้เข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    บางคนก็บอกว่า ไม่ขอพบคนนั้นคนนี้อีกในชาติหน้า นี่เป็นความรู้สึก ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรมแล้ว ไม่ต้องคิดอย่างนี้เลย เพราะเหตุว่าจะไม่มีคนนั้นอีกชาติหน้า และก็จะไม่มีคนนี้ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเราอีกในชาติหน้าด้วย

    เพราะฉะนั้นก็มีแต่ชาตินี้ที่จะเป็นคนนี้ หรือที่จะเป็นคนนั้น แต่ว่าเมื่อสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้และบุคคลนั้นในชาตินี้แล้ว ชาติหน้าก็ต้องเป็นคนอื่นจริงๆ เพราะฉะนั้นก็ไม่ห่วง ไม่ต้องกังวลว่า จะต้องไปพบกับคนนั้นคนนี้อีก ซึ่งไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย เพราะเหตุว่าความเป็นบุคคลนี้จะไม่ติดตามไปถึงชาติหน้า

    เพราะฉะนั้นจะยังคงมีความขุ่นเคืองใจหรือความไม่พอใจในบุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ขอให้คิดว่า ไม่มีบุคคลนั้นเลย มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็ยึดถือว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ แม้แต่ตัวของท่านเองก็ไม่มี มีแต่ความพอใจบ้าง ความไม่พอใจบ้าง แต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหลังจากที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก

    เพราะฉะนั้นขอให้คิดถึงช่วงเวลาที่สั้นที่สุด แทนที่จะคิดถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆ หรือว่าคิดถึงเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนซึ่งเที่ยง แต่ความจริงแล้วก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวที่สภาพธรรมเกิดขึ้นปรากฏทั้งนามธรรมและรูปธรรม

    มีท่านผู้หนึ่งที่ท่านถามว่า อัตตสัญญาคืออะไร

    สัญญาเป็นสภาพที่จำ อัตตะ คือ ความเห็นหรือความยึดถือว่าเป็นตัวตน ซึ่งความจริงแล้ว คำนี้ไม่น่าจะสงสัยเลย เพราะเหตุว่าทุกคนมีอัตตสัญญาจนกว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ แต่ว่าก่อนที่จะถึงขณะที่สติเกิด แล้วก็ปัญญาศึกษาลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งรู้ชัดประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นก็จะต้องมีสัญญา ความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏ เพราะแม้ว่าจิตจะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว และก็รู้รูปที่ปรากฏได้ทีละทวาร ทีละทาง ทีละลักษณะ ซึ่งความจริงรูปนั้นก็เป็นรูปที่ละเอียดมากจริงๆ ไม่ใช่รวมกันเป็นก้อน เป็นแท่ง เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนเลย แต่ว่าเมื่อสติไม่ได้เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทวารตามความเป็นจริง ก็มีการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นอัตตา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด รวมทั้งการเห็น ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ก็เป็นเพียงชั่วขณะเดียว แต่ว่าเมื่อไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ก็ทำให้มีอัตตสัญญา มีความทรงจำว่า เป็นเราที่เห็น และก็สิ่งที่เห็นนั้นก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ

    เป็นความจริงไหม ในชีวิตประจำวัน ขณะนี้เห็นอะไร อัตตสัญญา แน่นอนค่ะ ที่ว่าเห็นคน เห็นวัตถุ เห็นสิ่งต่างๆ

    เพราะฉะนั้นอนัตตสัญญา สัญญาที่จะจำว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุใดๆ เลย เพียงฟังไม่สามารถที่จะทำให้สิ่งที่เคยเห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ กลายเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ทั้งๆ ที่โดยสภาพตามความเป็นจริง ถ้าจะน้อมพิจารณาทีละเล็กทีละน้อย เช่น ถ้าหลับตาเสีย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ไม่ปรากฏ

    นี่เป็นความจริง แต่ว่าทำอย่างไรเวลาที่ไม่หลับตา พอเห็นก็เป็นคนนั้น คนนี้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เสมอ

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรม การศึกษาธรรม ก็จะต้องพิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ พิจารณาแล้ว พิจารณาอีก พิจารณาละเอียดจนกระทั่งเข้าใจแม้แต่คำที่ใช้เพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา คำนี้เป็นคำที่ถูกต้องที่สุด ธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏได้ทางตา บางคนก็อาจจะคิดว่า ในขณะนี้เห็นสีต่างๆ เป็นความจริงหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเขียว สีฟ้า สีเหลือง ต้องปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท นี่เป็นสิ่งที่จริง เห็นสี บางคนก็บอกว่าเห็นสี แต่ขอให้เข้าใจว่า สีคืออะไร สีคือสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องไม่ลืมอีก เพราะมิฉะนั้นแล้วจะเกิดการเพ่งเล็งนิมิตและอนุพยัญชนะ คือ รูปร่างสัณฐานและส่วนละเอียดจากสีต่างๆ ลืมที่จะพิจารณาว่า ไม่ว่าเป็นสีอะไรทั้งหมด ลักษณะจริงๆ ธาตุชนิดหนึ่ง ธาตุชนิดนั้นที่ปรากฏเป็นสีต่างๆ ตามความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดอัตตสัญญาขึ้น ก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรจึงได้เห็นว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุต่างๆ จากสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดว่า เพราะสนใจในสีต่างๆ ขณะใดก็ตามที่มีความสนใจในสีต่างๆ จะทำให้เกิดรูปร่างสัณฐาน ความทรงจำในรูปร่างสัณฐานขึ้น เพราะเหตุว่าในคนหนึ่งที่เห็นว่าเป็นคน มีหลายสี มีสีดำ มีสีขาว มีสีเนื้อ มีหลายๆ สีทีเดียว ถ้าไม่ใส่ใจในสี จะไม่เกิดรูปร่างสัณฐานขึ้น

    เพราะฉะนั้นในขณะใดก็ตามที่มีความเห็น หรือว่าความสนใจ ความติด ความเพลินในมินิตรูปร่างสัณฐาน และในอนุพยัญชนะส่วนละเอียดของสิ่งที่ปรากฏ ให้ทราบว่าในขณะนั้นเพราะสี จึงทำให้เกิดสัณฐานขึ้น แต่ถ้าในขณะนี้เอง ไม่ว่าจะเป็นสีสันอะไรก็ตาม เป็นกี่สีก็ตาม แต่ว่าปัญญาเริ่มพิจารณาที่จะไม่สนใจในนิมิตอนุพยัญชนะ คือในสีต่างๆ แต่ว่ารู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรก็ตามเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    นี่คือการที่จะเริ่มเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลทางตาที่กำลังปรากฏ ซึ่งเคยยึดถือเป็นอัตตสัญญา เป็นความทรงจำว่ามีตัวตน

    เพราะฉะนั้นที่จะเพิกถอนอัตตสัญญาได้ ก็จะต้องรู้เหตุด้วยว่า ที่มีอัตตสัญญา เพราะสนใจในสีที่ปรากฏ จึงทรงจำสัณฐานต่างๆ คือ นิมิตและส่วนละเอียดต่างๆ คือ อนุพยัญชนะ เพราะฉะนั้นหนทางที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาแม้ว่าจะเป็นสีต่างๆ ก็ตาม แต่ว่าโดยสภาพความจริงของสิ่งนั้นก็คือว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ คือ สติเกิดแล้วก็ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ก็จะเข้าใจในความหมายที่ว่า ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ แล้วก็เริ่มที่จะละคลายอัตตสัญญาในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้นก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งจะต้องรู้ว่า ไม่ว่าพระไตรปิฎกจะกล่าวถึงข้อความใด พยัญชนะใด ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่สติจะต้องระลึก และพิจารณาให้เข้าใจ พร้อมกันนั้นเวลาที่สติเกิดทางตา ก็จะต้องศึกษาให้รู้ลักษณะของสภาพที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏ จึงจะไถ่ถอนความสำคัญหมายว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนทีละเล็กทีละน้อย โดยการรู้ว่า แม้สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่ไม่ได้ยินเสียงทางหู

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ค่อยๆ ฟังไป แล้วก็ค่อยๆ พิจารณาไปตามปกติ โดยที่เป็นชีวิตจริงๆ เพราะเหตุว่ายังไม่สามารถที่จะดับโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ซึ่งหลายคนอยากจะละเสียเหลือเกิน คือ ไม่อยากจะมีโลภะ ไม่อยากจะมีโทสะ แต่ก็ต้องรู้ว่า จะไม่มีได้ก็ต่อเมื่อดับสักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องอบรม ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมุ่งหน้ารีบร้อนที่จะทำเป็นวัน หรือว่าหลายๆ วัน โดยที่ไม่เข้าใจในเหตุปัจจัยว่า สติที่เป็นสัมมาสติจะเกิดได้ต้องอาศัยการเข้าใจจริงๆ แม้แต่ลักษณะของสภาพสิ่งที่ปรากฏทางตา เพื่อที่ว่าสติจะได้ระลึกได้ แล้วก็ศึกษาพิจารณาให้ถูก เพื่อที่จะได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละทางตามความเป็นจริง

    ในขณะนี้เอง หรือขณะไหนก็ตามที่มีการเห็น สติก็เกิดได้ทั้งนั้น ที่จะระลึกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ พอระลึกว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ จะสังเกตได้ทีเดียวว่า ขณะนั้นไม่ได้สนใจในสี เพราะว่าไม่ได้ดูเลยว่า เป็นสีเหลือง สีฟ้า สีน้ำเงิน สีแดงนั้นเป็นโต๊ะ หรือเป็นเก้าอี้ หรือเป็นหนังสือ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา ธรรมที่ปรากฏทางตาได้เท่านั้น ฟังแล้วฟังอีก ก็ไม่รู้จักเบื่อ แล้วได้ความหมาย ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งที่อาจารย์บรรยายไปเมื่อสักครู่นี้เอง ก็มีความรู้สึก ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นมาอีก ทั้งๆ ที่ฟังแล้วฟังอีก ฟังแล้วฟังเล่า ก็มาได้อีกคำหนึ่ง ธรรมที่ปรากฏได้ทางตา ที่อาจารย์เคยพูดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เราก็ได้พิจารณาสำเหนียกสังเกตคำนี้มา

    เมื่อสักครู่อาจารย์พูดถึง ธรรมที่ปรากฏได้ทางตา ก็มีความรู้สึกว่า เราก็ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นมาอีก ต้องฟัง แล้วฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา ฟังได้ ผมเองกล้าพูดได้เลยว่า ผมสนใจที่สุดในเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตานี้

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเหตุว่ามีการเห็นเนืองๆ บ่อยๆ ตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นหนทางเดียวก็คือสติเกิด และเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นคือขณะที่ไม่ได้สนใจในสี ซึ่งถ้าสนใจขณะใด ขณะนั้นจะเป็นรูปร่างสัณฐานทันที เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นรูปร่างสัณฐาน ก็จะมีอัตตสัญญา ความทรงจำว่าสัณฐานนั้นเป็นอะไร

    เพราะฉะนั้นทางที่จะคลายอัตตสัญญาก็โดยการที่แม้ในขณะที่ฟังก็เริ่มได้แล้ว สำหรับสติที่จะเกิด เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด แล้วก็รู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และก็จะรู้ได้ว่า เพราะละคลายความสนใจในสี ถูกหรือผิด ลองดู ขณะนี้ ไม่ได้สนใจในสีสันเลย เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ค่อยๆ เข้าใจว่า นี่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็ไม่มีการที่จะบังคับสติ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานจะเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย คือ ความเข้าใจเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง ผมเองมีการพิจารณาอย่างนี้ และขอให้ท่านอาจารย์ช่วยวิเคราะห์ด้วยว่า เป็นแนวทางซึ่งคลาดเคลื่อนไปหรือเปล่า ตั้งแต่กระผมได้ฟังครั้งแรกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น คือ สีเท่านั้น กระผมก็แปลกใจว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ก็ใช้สติปัญญานั่งไตร่ตรองอยู่นาน จนกระทั่งวันหนึ่งก็มีโอกาสมองทะลุหน้าต่างไป เห็นใบไม้ตัดกับท้องฟ้าซึ่งเป็นสีขาว ก็ทำให้ได้พิจารณาตอนนั้นว่า การเห็นจะปรากฏได้ต่อเมื่อมีสีตัดกันอย่างน้อย ๒ สี จึงจะมีการเห็นขึ้น เช่น กระผมกำลังมองข้างหน้าเวลานี้ จะเห็นได้ชัดว่า ที่ผนังเป็นสีเขียวสีเดียว และมีเส้นสีดำตัดเป็นแนวอยู่ เพราะการตัดของ ๒ สีนี้ เราจึงเห็นว่า มีวัตถุปรากฏขึ้น ผมก็มานั่งพิจารณาว่า คงจะเป็นเช่นนี้ที่เรียกว่า เห็นแต่สีเท่านั้น เพราะถ้าเป็นสีๆ เดียวแล้ว เราจะไม่เห็นอะไรเลย ไม่มีอะไรปรากฏเลย นอกจากสีนั้นเท่านั้น เราจะเห็นรูปสัณฐานอื่นๆ ได้ ก็ต้องมีสีปรากฏอย่างน้อย ๒ สีตัดกันปรากฏขึ้น และการตัดกันในรูปลักษณะต่างๆ ก็ทำให้เราเห็นเป็นสัณฐานของสิ่งนั้นเกิดขึ้น ผมก็พิจารณาต่อไปอีกว่า ถ้าอย่างนั้นทำไมเราถึงเห็นคน เป็นอะไรต่างๆ ก็คิดไปว่า สิ่งที่เราเห็นเหล่านั้นเพราะสีเหล่านั้นเคลื่อนไหวได้ เราก็เห็นว่า มีเป็นสัตว์ เป็นสิ่งของมันเคลื่อนไหวไปมาได้ อันนี้กระผมก็คิดว่า เป็นแนวทางในขณะที่กระผมนั่งฟังอาจารย์เวลานี้ก็พิจารณาการตัดกันเหล่านั้นของสีก็นึกได้ที่อาจารย์บอกว่า อัตตสัญญาไม่ปรากฏเวลานั้น เพราะมองเฉพาะเรื่องสีเท่านั้นว่า สีมันตัดกันเป็น ๒ สี ๓ สี ๔ สี อย่างมองที่อาจารย์ก็มีหลายสี คนอื่นๆ ก็มีหลายสี เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นนี้ได้ ก็สรุปได้ว่า เป็นเพราะมีสีมาประกอบหลายๆ สี เราจึงเห็นเป็นลวดลาย เป็นสัณฐาน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลขึ้นมาได้ การเคลื่อนไหวนั้นเราก็ต้องเห็นว่า สิ่งนี้มีชีวิต สิ่งนี้ไม่มีชีวิต อันนี้ผมมองพิจารณาเช่นนั้น ไม่ทราบว่าชัดเจนถูกต้องหรือเปล่า คือ ในหลักการของการเห็นนั้นก็บ่งบอกว่า ผมจำได้ไม่หมด มีแสงสว่าง ๑ มีสี ๑ มีเจตนาที่จะดู ๑ ผมจับตรงนี้ว่า การเห็นจะปรากฏต้องมีสีซึ่งต่างกัน ๒ สีจึงจะปรากฏได้ ถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่มีอะไรปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ต้องมีจักขุปสาท แล้วก็มีรูปารมณ์ ในบางแห่งจะไม่ทรงแสดงถึงอาโลกะ ในพระไตรปิฎกจริงๆ จะไม่แสดงเรื่องของอาโลกะ คือ แสงสว่าง จะมีเพียง ๓ ปัจจัยเท่านั้น คือ จักขุปสาท รูปารมณ์ และมนสิการ ซึ่งได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ แสดงไว้โดยตรงทีเดียวว่า ไม่ใช่ได้แก่เจตนา แต่ว่าได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งต้องเกิดก่อนจักขุวิญญาณ ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิด จักขุวิญญาณเกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นถ้าจะคิดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา โดยที่ว่าจะเป็นสีสันอะไรก็ตามแต่ สิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏ ถ้าเราไม่นึกถึงการตัดกันของท้องฟ้ากับใบไม้ ก็จะไม่มีใบไม้ และก็จะไม่มีท้องฟ้า ขณะที่เป็นใบไม้เป็นอัตตสัญญา เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า การที่เราจะนึกว่า เป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งใดก็ตาม ขณะนั้นต้องมีการใส่ใจ สนใจในสี ซึ่งเป็นรูปร่างสัณฐาน โดยที่ขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นลึกลงไปของสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นสี ลักษณะที่แท้จริงของสีเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    หรือว่าลักษณะที่แท้จริงของเสียง อย่างเสียง ทุกคนก็รู้ เป็นสภาพที่ปรากฏทางหู ทำไมถึงจะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะค่อยๆ รู้ว่า เป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง หรือเป็นรูปชนิดหนึ่ง เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏเมื่อกระทบกับโสตปสาท แต่เวลาที่สติเกิดจริงๆ ไม่ใช่ระลึกยาวอย่างนี้ แต่ว่าการที่สติจะเกิดระลึกที่เสียงได้ ก็ต่อเมื่อรู้ว่า เสียงไม่ใช่การคิดเป็นคำๆ เสียงเป็นแต่เพียงสิ่งที่ จะใช้คำว่า “ดัง” หรือว่าสูงๆ ต่ำๆ ก็ได้

    เพราะฉะนั้นทางหูมีเสียงสูงๆ ต่ำๆ มากมายหลายเสียง ทำให้เกิดภาษาต่างๆ แม้แต่ภาษาเดียว คำต่างๆ ก็ต้องใช้เสียงต่างๆ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความต่างของเสียง ซึ่งโสตวิญญาณได้ยินเสียง แต่โสตวิญญาณไม่ได้รู้ความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ นั้นเลยฉันใด ทางตาซึ่งปรากฏเป็นสีมากมายหลายสี ขณะใดที่ใส่ใจสนใจในสีต่างๆ ขณะนั้นก็จะทำให้เกิดอัตตสัญญา การที่จำหมายในสัณฐานว่า สีต่างๆ นั้นเป็นอะไร เช่นเดียวกับทางหู การที่ใส่ใจในเสียงสูงๆ ต่ำๆ ก็ทำให้เข้าใจในอรรถ ในความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ ว่า เสียงสูงๆ ต่ำๆ นั้น มีความหมายว่าอะไร เพราะเหตุว่าลองคิดถึงภาษาหนึ่งกับอีกภาษาหนึ่ง ทั้งๆ ที่เสียงก็มีเพียงแค่สูงๆ ต่ำๆ ก็คงจะไม่กี่เสียงเท่าไร แต่ก็ออกมาเป็นภาษาต่างๆ ความหมายต่างๆ ได้จากเสียงสูงๆ ต่ำๆ ทำให้เกิดการยึดถือเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังขึ้นเป็นเรื่องของบุคคลต่างๆ เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ทางหูฉันใด ทางตาก็เพราะสีต่างๆ นั่นเอง จึงทำให้มีความสนใจ เวลาที่สนใจในสี ก็ทำให้เกิดความทรงจำในรูปร่างสัณฐาน

    เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ก็มีทางที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยไม่ใส่ใจในนิมิตและอนุพยัญชนะ คือ ในสีต่างๆ ที่จะไม่เป็นนิมิตอนุพยัญชนะได้ คือ ไม่ใส่ใจในสีต่างๆ เพราะรู้ความจริงว่า ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรก็ตาม ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เกิดดับสลับเร็วมาก จึงทำให้ปรากฏเหมือนเป็นคนเดิน หรือเป็นการเคลื่อนไหว เป็นพัดลมหมุน เป็นสิ่งที่กำลังเคลื่อนไหวต่างๆ แต่ว่าโดยสภาพความจริงแล้ว เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    การที่เห็นเป็นพัดลมหมุนก็ต้องเป็นการสนใจในสีต่างๆ ในขณะนั้นเหมือนกัน ถึงจะทำให้เกิดเป็นอัตตสัญญาขึ้น

    ผู้ฟัง กระผมขอเรียนว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานี้ยังไม่บังเกิดกับผมเลย ที่จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม แต่ว่ามีบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่ปรากฏทางตานี้เกิดขึ้นกับผมหลายครั้ง แต่ว่ายังไม่เป็นรูปธรรมนามธรรม ยกตัวอย่างซึ่งเมื่อสักครู่นี้ขณะที่สวดมนต์ เนื่องจากเป็นผู้เคยนั่งสมาธิมาก่อน ในขณะที่สวดมนต์นั้นสติก็เกิด ปากก็สวดมนต์ แต่ใจคิดเรื่องอะไรไป พอตามองเห็นอะไร ก็นึกคิดไปว่า พระพุทธรูปอย่างนั้น องค์นั้น สีนั้น ปางนั้น ก็หลับตา เพื่อที่จะได้มีสมาธิในการสวดมนต์ หรือเจริญกุศลมากๆ เพื่อที่จะได้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ หรือน้อมเคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่หลับตานั้น กระผมคิดเอาตามความเข้าใจในขั้นผมว่า สติก็เกิดได้ว่า ในขณะนี้โลภะตามมาแล้ว หลับตาเพื่อจะให้มีสมาธิมั่นคง จะได้เจริญกุศลมากๆ มีสมาธิ มีสติที่จะสวดมนต์ หรือว่าระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้มากๆ อาจารย์คิดว่า ในขณะนั้นก็เป็นสติอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่รูปธรรมนามธรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นโลกของความคิดใช่ไหม เพราะฉะนั้นสติมีหลายระดับขั้น ถ้าความคิดนั้นเป็นการตรึก ที่เป็นสัมมาสังกัปปะ คือ เป็นกุศล ขณะนั้นก็เป็นระดับขั้นของความคิดที่เป็นกุศลจิตที่ไม่ใช่สัมมาสังกัปปะในมรรคมีองค์ ๘

    เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐานจะทำให้เริ่มรู้จักลักษณะที่ต่างกันของโลกปรมัตถธรรมกับโลกของความคิดนึก เราจะใช้คำว่า บัญญัติธรรม หรือว่าสมมติสัจจะ หรืออะไรก็ได้ แต่ให้ทราบว่า ที่ทุกคนมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ จริงๆ แล้วก็มีแต่นามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นปรมัตถ์ แต่ว่ามีนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งคิดหลังจากเห็น คิดหลังจากที่ได้ยิน คิดหลังจากที่ได้กลิ่น คิดหลังจากที่ลิ้มรส คิดหลังจากที่กระทบสัมผัส และคิดถึงเรื่องราวต่างๆ อย่างเวลาที่เห็นพระพุทธรูป ขณะนั้นคิดถึงปางต่างๆ นี่เป็นโลกของความคิดซึ่งมากกว่าโลกของปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าที่จริงแล้วเห็นนั้นดับ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับ แต่ว่าความคิดเรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ นี่ยาวกว่าการเห็นทางตา และสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งดับไปแล้ว

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ที่ปรากฏเป็นโลกประกอบด้วยบุคคลมากหน้าหลายตา แม้แต่พระพุทธรูปก็มีปางต่างๆ ก็เป็นโลกของความคิดนึก ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เห็น

    ผู้ฟัง คือเนื่องจากจิตเกิดดับสลับกันไปมาอย่างรวดเร็ว ในขณะที่สวดมนต์แล้วหลับตา ในขณะที่คิดว่าสติเกิดขึ้น โลภะแทรกเข้ามาเพื่อที่จะได้สวดมนต์ด้วยความมั่นคง ในขณะนั้นอาจารย์ว่าเป็นโลภะหรือเปล่า ที่อยากจะได้เจริญกุศลมากๆ ผมเรียนถาม

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของจิต กุศลจิตแล้วก็เป็นเรื่องที่ประกอบด้วยศรัทธา และก็โสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า มีทั้งสติที่ระลึกได้ มีทั้งศรัทธา สภาพที่ผ่องใส และมีสภาพที่เป็นหิริ ความรังเกียจอกุศล และมีโอตตัปปะ ซึ่งเป็นสภาพที่เกรงกลัวอกุศล ถอยกลับจากอกุศล เพราะฉะนั้นขณะนั้นจิตเกิดดับนับไม่ถ้วนที่ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะกล้ากล่าวหรือยืนยันได้ว่า จิตของใครเป็นโลภะ หรือจิตของใครเป็นกุศล แต่โดยการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันสามารถที่สติจะค่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ด้วยตัวเองว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่ถอยกลับจากอกุศล เพราะว่ามัวคิดเรื่องอื่น แทนที่จะน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ถ้าเป็นอย่างนั้นเป็นกุศลที่จะน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่อย่างนี้ กลายเป็นความต้องการกุศล ขณะนั้นก็เป็นโลภะ ซึ่งเกิดดับสลับกันเร็วจริงๆ แล้วใครจะไปรู้ถึงจิตของคนอื่นซึ่งก็ดับไปแล้ว ใช่ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    24 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ