โสภณธรรม ครั้งที่ 071


    ตอนที่ ๗๑

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้พอที่จะนึกถึงได้ไหม

    ณรงค์ ได้

    ท่านอาจารย์ นึกถึงได้ ขณะที่ห่างไกลกันมากยังนึกได้ เพราะฉะนั้นขณะที่เกิดสืบต่อทันทีอย่างเร็ว สิ่งที่ทางปัญจทวารวิถีรับรู้ จะกระทบกับภวังค์ มโนทวารวิถีจิตรำพึงถึง แล้วก็สามารถจะรับต่อได้อย่างรวดเร็วที่สุด ไม่มีใครที่สามารถจะแยกออกได้เลย เมื่อไม่มีใครสามารถที่จะแยกปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถีซึ่งเกิดต่อ เพราะฉะนั้นสภาพของรูปารมณ์ที่ทางจักขุทวารวิถีรู้จึงปรากฏ ปรากฏ ทางมโนทวารสืบต่อ

    แต่ไม่ได้หมายความว่าเหมือนการคิดนึกอย่างขณะเดี๋ยวนี้ ซึ่งแม้แต่ในขณะนี้จะนึกถึงรูปอะไรก็ยังนึกได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้สืบต่อจากทางจักขุทวารวิถี เพราะเหตุว่าไม่ได้เห็นสิ่งนั้น แต่สัญญา ความจำ ก็ยังจำไว้ได้ พอที่จะนึกถึงได้ ฉันใด เมื่อมโนทวารวิถีจิตเกิดสืบต่อจากจักขุทวารวิถี หรือวิถีจิตอื่นทางปัญจทวาร ก็ฉันนั้น เพราะเหตุว่าสืบต่อกันอย่างเร็วมาก รับรู้ต่อทันที เพราะฉะนั้นจะไปมีลักษณะที่ต่างจากอารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารไม่ได้ ถ้าเป็นความคิดนึกเราย้ายได้ เราเปลี่ยนได้ คิดอย่างนี้ สิ่งนี้ แล้วก็เปลี่ยนเป็นคิดสิ่งอื่น แต่ว่าเมื่อทางปัญจทวารวิถีหนึ่งวิถีใดรับรู้อารมณ์ที่เพิ่งปรากฏแล้วดับไป มโนทวารวิถีจิตที่รับรู้ต่อจะต้องเหมือนกันทีเดียว เปลี่ยนไม่ได้

    พอที่จะเป็นไปได้ไหม โดยเหตุผลอย่างนี้

    ณรงค์ เอาแค่ความรู้จากการศึกษาก่อน สมมติว่าจะรู้ความดับไปของรูป จะต้องรู้ความดับไปของรูปจริงๆ หรือไม่ หรือเพียงแต่รู้ว่ารูปไม่เที่ยงเท่านั้น ที่จะเป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๔

    ท่านอาจารย์ ขณะที่รูปใดปรากฏ ไม่มีการที่จะพยายามกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แต่สภาพธรรมในขณะนั้นปรากฏกับปัญญาที่กำลังแทงตลอดตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้นปัญญาในขณะนั้นก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิด และก็สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะที่ดับไป แต่ไม่ใช่นามรูปปริจเฉทญาณ นั่นต้องเป็นอุทยัพพยญาณ

    ณรงค์ คือขั้นนั้นต้องเห็นรูปที่ดับไปจริงๆ หรือไม่ หรือเพราะรูปปรากฏแล้วก็ดับไปทางปัญจทวาร แล้วมโนทวารก็รู้ต่อ

    ท่านอาจารย์ ทางปัญจทวารและทางมโนทวารจะรวดเร็วเหมือนกันเลย ไม่มีการแยกออก เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณทั้งหมดปรากฏทางมโนทวารทั้งนั้น แทงตลอดทางมโนทวาร แต่เนื่องจากอารมณ์ที่ปรากฏเป็นรูป จึงสามารถรู้ได้ว่า ต้องมีปัญจทวารวิถีหนึ่งวิถีใดก่อน รูปนั้นๆ ถึงจะผ่าน หรือถึงจะปรากฏทางมโนทวารได้

    โดยขั้นของการศึกษาทราบว่า ต้องมีปัญจทวารวิถี วิถีหนึ่งวิถีใด วาระหนึ่งวาระใด แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ทั้งหมดจะปรากฏทางมโนทวาร แต่ขณะใดที่มโนทวารปรากฏ อย่างเสียงปรากฏทางมโนทวาร ผู้นั้นจะไม่รู้หรือว่าจะต้องมี

    ปัญจทวารวิถีก่อน แต่ว่าทางปัญจทวารวิถีก็สืบต่ออย่างรวดเร็วโดยที่ไม่ปรากฏ ที่จะต้องแยกเพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหมดที่จะปรากฏการขาดตอนเป็นแต่ละลักษณะได้ ต้องปรากฏกับทางมโนทวารวิถี

    และสำหรับเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่ระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ที่ถามว่าจะมีนิมิตเครื่องหมาย หรือจะมีอะไรที่จะทำให้รู้ได้ว่า ปัญญาได้เจริญขึ้นแล้ว ใช่ไหม ที่จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ คำถามสุดท้ายถามอย่างนี้หรือเปล่า

    ณรงค์ ไม่ได้หมายถึงตรวจสอบว่า ปัญญาเจริญแล้ว แต่หมายถึงว่าขณะนี้ยังไม่ได้รู้อะไรเลย และสติเพิ่งเกิดเล็กๆ น้อยๆ ในการที่จะเข้าใจลักษณะของ

    ปัญจทวารและมโนทวารนั้น จะมีนิมิต เครื่องหมายอะไรหรือไม่เวลาที่สติเกิดระลึกรู้แล้วปัญญาที่ยังไม่เจริญขึ้นเลย จะค่อยๆ เจริญขึ้น

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงในขณะที่สติเริ่มระลึกรู้ ไม่ต้องกังวลเรื่องปัญจทวารวิถีกับมโนทวารวิถีเลย ไม่ใช่วิสัยที่จะไปนั่งคิด แต่ว่าการอบรมเจริญปัญญาจะต้องพิจารณาลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะรู้ว่า นามธรรมมี เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ซึ่งไม่ใช่รูปธรรมที่ปรากฏ

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมระลึกรู้ เท่านี้เอง เพื่อที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมเป็นธาตุรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้ เช่นในขณะที่เห็น ยังไม่รู้ชัดก็จริง แต่ว่าเริ่มระลึก ศึกษา อย่าละเลยเท่านั้นเอง แล้วก็มีการที่จะพิจารณาอย่างไรที่จะทำให้รู้ชัดว่า ลักษณะรู้ อาการรู้ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าขณะที่กำลังได้ยินขณะนี้ นามธรรมที่ได้ยิน เป็นธาตุรู้ เป็นลักษณะรู้ ไม่ใช่เสียง และก็ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดถึงความหมายของเสียงด้วย

    จะเห็นได้ว่าแม้แต่การที่ได้ยิน ก็เข้าใจว่าได้ยินเป็นคำๆ แล้ว ก็แสดงให้เห็นว่า สติที่จะระลึกทางหู ก็จะต้องพิจารณาลักษณะของเสียง ซึ่งถ้าไม่อาศัยการไตร่ตรอง การพิจารณา ก็ยากที่จะรู้ได้ว่า ขณะที่ได้ยินเสียงกับขณะที่รู้คำ หรือรู้ความหมายของเสียงต้องต่างกันมาก ถูกไหม แต่ว่ายังปรากฏเหมือนกับพร้อมกัน

    เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ ที่เข้าใจว่าได้ยินเป็นคำๆ เคยไตร่ตรอง เคยพิจารณาไหมว่า เป็นการแปลเสียง เพราะเหตุว่าต้องมีการได้ยินก่อน แล้วถึงจะแปลความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ นั้นเป็นความหมายได้ แต่ไม่เคยคิดเลยว่า ขณะนี้ที่กำลังได้ยินกำลังแปลเสียงอยู่ จึงได้เข้าใจในอรรถ ในความหมายของเสียงนั้น เพราะฉะนั้นในขณะที่ได้ยินเสียง โสตทวารวิถีจิตมีเสียงเท่านั้นเป็นอารมณ์ เสียงมีอายุ ๑๗ ขณะของจิตแล้วดับ แล้วภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตก็รู้เสียงนั้นแหละ แล้วก็ดับไป แล้ววาระต่อไป คงจะไม่ทราบว่ากำลังแปลเสียง จึงได้รู้ความหมาย จึงได้รู้อรรถของเสียงที่กำลังได้ยิน

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เราชินกับความรวดเร็วของนามธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน จนไม่รู้ตัวเลยว่า ในขณะที่ได้ยินกำลังแปลเสียงอยู่อย่างรวดเร็วทีเดียว แต่เพราะเหตุว่าชินกับการแปลเสียง ก็เลยเข้าใจว่าทันทีที่ได้ยินก็เข้าใจความหมายของเสียง แต่ถ้าจะให้เห็นชัดว่าห่างกันมากระหว่างวิถีจิตที่ได้ยินเสียง กับวิถีจิตที่เข้าใจความหมายของเสียง ก็จะพิสูจน์ได้จากการแปลภาษาอื่น หรือว่าในขณะที่กำลังหัดแปลเสียง กำลังคิดถึงภาษาอื่น เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่า “การแปล” ทำให้เข้าใจว่าต้องใช้เวลาในการที่จะแปลจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง หรือแปลจากเสียงที่ได้ยินออกเป็นความหมายของเสียงต่างๆ

    เพราะฉะนั้นในขณะที่เข้าใจคำพูดนั้นก็เป็นการแปลอย่างรวดเร็ว อย่างชำนาญ ซึ่งถ้าชำนาญน้อยลง การแปลจะช้าลงไหม เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ช้าลงไปอีกจนถึงกับกำลังหัดแปล ยิ่งช้าลงไป ทำให้สังเกตรู้ได้ว่า ขณะที่เป็นเสียงนั้นอย่างหนึ่ง และขณะที่กำลังหัดแปลที่จะให้เข้าใจความหมายของเสียงนั้น ต้องเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ว่าถ้ารวดเร็วอย่างนี้ด้วยความชำนาญของการเข้าใจที่ซึมซาบแล้วว่า เสียงนั้นหมายความถึงอะไร ก็ทำให้ไม่รู้สึกตัวว่าในขณะนี้ วาระที่ได้ยินเสียงต้องต่างกับวาระที่เข้าใจความหมายของเสียง

    เพราะฉะนั้นการที่สติจะระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียด และต้องเป็นผู้ที่ไตร่ตรองจริงๆ อย่าคิดว่าเข้าใจลักษณะของเสียงแล้ว ในขณะที่สติระลึกลักษณะของเสียง จะต้องรู้ด้วยว่า ถ้าในขณะที่เหมือนกับกำลังแปล แต่เราไม่คิดถึงความหมาย เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังได้ยินเสียงนั้น แล้วไม่คิดถึงความหมาย เฉพาะในขณะนั้นสติกำลังระลึกลักษณะของเสียง

    นี่เป็นการพิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทางหูฉันใด ทางตาก็ฉันนั้น กำลังแปลความหมายของสีต่างๆ ออกมาเป็นคนต่างๆ แต่ว่าเป็นไปอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้ไม่รู้ว่าในขณะนั้นก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปะปนกัน

    เพราะฉะนั้นแม้แต่การที่จะศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพื่อที่จะถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ก็จะต้องเป็นปัญญาจริงๆ สติระลึกจริงๆ สังเกตจริงๆ พิจารณาจริงๆ จนกระทั่งความรู้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจริงๆ

    แล้วเวลาที่วิปัสสนาญาณแต่ละวิปัสสนาญาณจะเกิดจะเกิดปรากฏโดยสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่มีการรู้ตัวล่วงหน้าเลยว่า ในขณะไหน ที่ไหน กำลังทำอะไร เพราะเหตุว่าการฟังพระธรรม แล้วการที่สติอบรม แล้วก็เข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไปเรื่อยๆ จากภพหนึ่งชาติหนึ่งสะสมไป เมื่อมีปัจจัยพร้อมที่วิปัสสนาญาณจะเกิดเมื่อไร วิปัสสนาญาณจะเกิดโดยไม่มีการรู้ล่วงหน้า ไม่มีการตระเตรียมว่าจะต้องเป็นในขณะนั้นขณะนี้ แต่ว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในการที่จะรู้ว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ และรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ แต่ในขณะที่แทงตลอด ต้องเป็นลักษณะที่เป็นอนัตตา แม้แต่ในการปรากฏของวิปัสสนาญาณก็เป็นอนัตตา และไม่ใช่ว่าในขณะนั้นต้องมีการพิจารณาอะไรอีก เพราะเหตุว่าในขณะนั้นปัญญาถึงความสมบูรณ์ที่แทงตลอด เพราะฉะนั้นสภาพธรรมปรากฏชั่วขณะที่วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะนานหรือว่าจะมากจะน้อยแค่ไหน

    ถ้าไม่มีข้อสงสัยในเรื่องของนามรูปปริจเฉทญาณ ก็เป็นเรื่องของวิปัสสนาญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคคหญาณ ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า แม้ว่าวิปัสสนาญาณจะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว แต่ว่าปัญญาก็ยังไม่พอที่จะคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะว่านามธรรมและรูปธรรมหลังจากที่วิปัสสนาญาณดับแล้ว ก็เกิดดับสืบต่อกันไปเหมือนเดิม

    เพราะฉะนั้นการที่จะดับการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ต้องอาศัยการฟังพระธรรมต่อไปอีก ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงโดยละเอียดถึงปัจจัยของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ

    นี่เป็นเหตุที่ทำไมจึงต้องฟังเรื่องของปัจจัยด้วย เพื่อที่จะปรุงแต่งให้เกิดความเข้าใจจริงๆ แม้ว่านามรูปปริจเฉทญาณจะดับไปแล้ว แต่ว่าการฟังพระธรรมที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัย จะทำให้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมได้ ค่อยๆ ละคลายละเอียดขึ้น

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรที่จะพอใจเพียงขั้นเข้าใจเรื่องของปัจจัย ซึ่งทุกท่านก็เคยได้ฟังเรื่องของปัจจัยมาแล้วว่า จิตเห็นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีสิ่งซึ่งปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาท ฟังดูเป็นเรื่องปริยัติ หรือว่าจิตได้ยินจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าเสียงไม่กระทบกับโสตปสาท

    นี่คือขั้นปริยัติ แต่ว่าการที่จะพิจารณาปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้นต้องพร้อมกับขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ เช่นในขณะนี้ถ้าสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยิน จะรู้ได้ทันทีว่า เสียงเป็นปัจจัย เพราะเหตุว่าในขณะนั้นหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏกับนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะศึกษาด้วยความละเอียดขึ้นในขณะที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่เหตุปัจจัย ได้แก่ โลภะเป็นเหตุ โทสะเป็นเหตุ โมหะเป็นเหตุ ขณะที่ฟังโดยที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเป็นเพียงขั้นความเข้าใจอย่างหยาบๆ ว่า การที่เราเอื้อมมือไป หรือว่าตั้งแต่ตี่นขึ้นมาก็มีโลภะเป็นเหตุทั้งนั้น

    นั่นคือความเข้าใจขั้นปริยัติ แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิดในขณะนั้น ในขณะที่กำลังกระทำกิจอย่างหนึ่งอย่างใด หรือแม้แต่ในขณะที่กำลังจะรับประทานอาหาร มีการกระทบสัมผัสนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ขณะนั้นสติจะน้อมระลึกถึงลักษณะของปัจจัยที่ทำให้เกิดนามธรรมที่กำลังรู้รูปธรรมในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการลิ้มรส หรือการเห็น หรือการได้ยิน ในขณะนั้นจะพิจารณาละเอียดขึ้น

    เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็คือ การอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะให้เข้าใจซึมซาบลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่เพียงขั้นเข้าใจ แต่ให้คิดถึงว่าต้องซึมซาบในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทั้งหมด แล้วนอกจากนั้นยังต้องให้เข้าใจซึมซาบในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมนั้นที่เกิดเพราะปัจจัย

    เวลานี้ถ้าจะไม่ยกตำราขึ้นมากล่าวถึง ในขณะที่ทุกท่านกำลังพูดคุยเป็นปกติ รู้ได้ไหมว่า จิตอะไรเป็นปัจจัยให้พูดคำนั้นๆ เคยระลึกไหม เมื่อระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้างแล้ว ก็ควรที่จะได้ระลึกว่า จิตอะไรที่ทำให้พูดคำอย่างนั้น หรือแสดงกิริยาอาการของกายอย่างนั้น

    การอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เพียงวันเดียวสองวัน แต่ต้องเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่ระลึกได้ แม้แต่ในขณะที่พูด แล้วถ้าเป็นปัจจยปริคคหญาณจริงๆ ที่ปรากฏทางมโนทวาร ในขณะที่เพียงนึก เสียงปรากฏ ความรวดเร็วของการที่ปกติธรรมดาไม่เคยระลึกรู้ว่า จิตอะไรกำลังเป็นปัจจัยให้เกิดคำพูดนั้นๆ แต่เวลาที่สติปัฏฐานอบรมไปจนถึงความสมบูรณ์ของปัจจยปริคคหญาณ ทันทีที่คิด เสียงปรากฏ ซึ่งเป็นชีวิตจริงๆ หรือเปล่าในขณะนี้ ใครก็ตามลองพูด ทันทีที่คิดเสียงปรากฏหรือเปล่า แต่เวลาที่ไม่ใช่ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาก็ไม่ได้แทงตลอด เพราะเหตุว่าในขณะนั้นสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏโดยลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวาร

    เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณทั้งหมดต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่เกิดทางมโนทวาร แล้วสภาพธรรมในขณะนั้นปรากฏเฉพาะทางมโนทวาร แล้วก็เป็นความชัดเจนโดยสภาพที่เป็นอนัตตา โดยที่ไม่ได้คิดหรือว่าไม่ได้ตระเตรียมก่อน แต่ว่าเป็นการสะสมการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยไม่ใช่ขั้นหยาบๆ แต่ก็จะต้องพิจารณาให้ละเอียดขึ้นด้วย

    เพราะฉะนั้นพระธรรมใดที่จะเกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะช่วยทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แม้เพียงชั่วขณะเดียว อีกแสนโกฏิกัปป์ข้างหน้าคงจะเป็นประโยชน์มากทีเดียว ถ้าสติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ

    สำหรับปัจจยปริคคหญาณก็ต้องมีเหตุให้เกิด ซึ่งได้แก่ การฟังพระธรรมทั้งก่อนที่นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิด ก่อนที่ปัจจยปริคคหญาณจะเกิด และแม้หลังจากที่นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิดแล้ว ก็ยังจะต้องฟังเรื่องลักษณะของสภาพธรรม เพื่อที่จะได้ไตร่ตรองพิจารณาระลึกรู้ลักษณะของปัจจัย ในขณะที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิด

    ถ้าศึกษาเรื่องของเหตุปัจจัย คือ โลภะ โทสะ โมหะเป็นเหตุ เป็นประโยชน์ในการที่วันหนึ่งๆ โลภะมีมาก เพราะฉะนั้นเวลาที่โลภะเกิด แล้วก็เป็นเหตุให้กระทำสิ่งหนึ่ง

    สิ่งใดก็ตาม ในขณะนั้นก็ยังสามารถที่จะรู้ว่า รูปนั้นเกิดเพราะจิตที่เป็นโลภะ เพียงแต่ว่าในขณะที่เป็นปัจจยปริคคหญาณ สัตว์ บุคคล ตัวตนและโลกนี้ไม่ปรากฏ ไม่มีเลย มีแต่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นๆ เท่านั้น ที่กำลังปรากฏ

    นี่คือความต่างกันของขณะที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานและขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ความต่างกัน คือ ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน นามธรรมและรูปธรรมเกิดสืบต่อกันจนปรากฏเป็นโลก เป็นคน เป็นสัตว์ และชั่วขณะที่สติระลึกบ้าง ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ก็ยังคงสืบต่อปรากฏเหมือนเดิม แต่เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ ลักษณะที่ปรากฏสืบต่อไม่เหมือนเดิม เพราะเหตุว่าปรากฏเฉพาะทางมโนทวารทีละลักษณะเท่านั้น ในขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมปรากฏทีละลักษณะ ในขณะที่เป็นปัจจยปริคคหญาณ ลักษณะการแทงตลอดของปัจจัยจะสืบต่อทันที ซึ่งเวลาที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณก็ไม่ได้ว่างเว้น หรือขาดไปจากนามธรรมและรูปธรรมเลย แม้ว่าจะเป็นมโนทวารวิถีจิต แต่ก็มีนามธรรมหนึ่ง รูปธรรมหนึ่งที่ปรากฏทีละลักษณะ นั่นคือนามรูปปริจเฉทญาณ แต่เวลาที่เป็นปัจจยปริคคหญาณก็ปรากฏทางมโนทวาร ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่ปรากฏรวมกันเป็นโลก แต่ว่าสภาพความเป็นปัจจัยสืบต่ออย่างรวดเร็วที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น อย่างเช่นปกติธรรมดาที่พูด และสติก็ระลึกบ้าง ก็ยังคงมีอย่างอื่นปรากฏสลับจนโลกปรากฏเหมือนเดิม แต่เวลาที่เป็นปัจจยปริคคหญาณ ความรวดเร็วของมโนทวารที่รู้ลักษณะของจิตและเสียงที่ปรากฏ จะรู้ได้ทันทีว่าจิตนั้นเป็นปัจจัยให้เสียงนั้นเกิดอย่างรวดเร็ว และเรื่องของวิปัสสนาญาณแต่ละวิปัสสนาญาณก็ต้องมีเหตุที่จะให้เกิดขึ้น และขณะที่เกิดก็มีสภาพของธรรมที่ปรากฏด้วยปัญญาที่แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    และหลังจากที่ปัจจยปริคคหญาณดับไปแล้ว ความรู้ชัดในลักษณะของปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดในขณะนั้น ก็ทำให้ละคลายความหวังหรือความคิดต้องการนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใด

    เพราะฉะนั้นลองคิดดูว่าในชีวิตประจำวัน ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าทุกอย่างที่จะเกิด ต้องมีปัจจัยทั้งนั้น ชีวิตของแต่ละคนที่จะเกิดแต่ละขณะ จะปราศจากปัจจัยไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือแม้แต่ที่จะคิดนึก ก็จะต้องมีปัจจัยทั้งสิ้น

    ถ้ารู้จริงๆ อย่างนี้ ก็จะทำให้คลายความหวัง ความห่วง ความต้องการ ความกังวลทุกอย่างได้ และสติก็จะระลึกพร้อมทั้งการรู้ลักษณะของปัจจัยละเอียดขึ้นๆ โดยไม่คิดจดจ้องหรือต้องการที่จะรู้นามหนึ่งนามใดโดยเฉพาะ

    สำหรับปัจจยปริคคหญาณละทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าไม่มีเหตุและปราศจากเหตุอันควรแก่การเกิดขึ้นของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นก็ละกิเลสหรือความเห็นต่างๆ ออก เช่น นามรูปปริจเฉทญาณละสักกายทิฏฐิ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏรวมกันเป็นกลุ่มก้อน และปัจจยปริคคหญาณก็ละความเห็นว่าไม่มีเหตุ หรือที่เข้าใจว่าทุกอย่างที่เกิด เกิดโดยปราศจากเหตุ ผู้ที่ประจักษ์แจ้งในปัจจยปริคคหญาณแล้ว ไม่มีความสงสัยในเรื่องปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น

    มีข้อสงสัยไหมปัจจยปริคคหญาณ

    ไม่สงสัย แต่ก็ยังไม่ประจักษ์ แต่ก็ยังไม่ต้องเป็นห่วงอะไรเลย เป็นเรื่องของการสะสมจริงๆ สะสมการฟัง สะสมสติปัฏฐาน สะสมความเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนกว่าขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณเกิดเมื่อใด เมื่อนั้นจะรู้ได้ว่า ไม่ต้องหวังอะไรเลย เพราะเหตุว่าทุกอย่างที่จะเกิด ต้องมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น

    สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๓ ซึ่งทั้ง ๓ วิปัสสนาญาณเป็น “ตรุณวิปัสสนา” เมื่อเทียบกับวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้น นามรูปปริจเฉทญาณก็ดี ปัจจยปริคคหญาณซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๒ ก็ดี และสัมมสนญาณซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๓ ก็ดี ยังเป็นตรุณวิปัสสนา เพราะฉะนั้นก็ลองคิดดูถึงปุถุชนที่กว่าจะไต่ไปถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ด้วยการที่สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ้างไปเรื่อยๆ แต่ว่าถ้าถึงวิปัสสนาญาณแล้ว หนทางปฏิบัติก็จะมั่นคงขึ้น และจะทำให้เพิ่มสภาพธรรมที่เป็นพละ คือมีกำลังขึ้นทั้งศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

    วิปัสสนาญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณ เป็นปัญญาที่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่อวิชชาไม่ประจักษ์ เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณ ขณะนั้นเป็นการประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้น และดับไปซึ่งสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของนามธรรม และรูปธรรม

    ขณะนี้รู้ว่า เสียงปรากฏ แล้วก็หมดไป แล้วก็มีสภาพธรรมอื่นเกิดต่อ ใช่ไหม ขั้นพิจารณาเข้าใจได้ แต่ไม่ใช่ขณะที่ประจักษ์ แต่ก็รู้ว่าเร็วแค่ไหน คือเสียงเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณก็ประจักษ์ความรวดเร็วของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ไม่ได้มีความต่างกันเลย เพียงแต่ว่าขณะใดที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ก็เข้าใจว่าเสียงดับ แล้วสภาพธรรมอื่นก็เกิดสืบต่อ แต่ในขณะที่เป็นสัมมสนญาณ สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปๆ จะปรากฏสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    ลองเทียบดู ขณะนี้เข้าใจว่าเสียงดับ และสภาพธรรมอื่นเกิด แต่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณก็ประจักษ์เร็วขึ้น ละเอียดขึ้น และก็รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อในขณะนั้นด้วย

    สำหรับความต่างกันของนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๑ และปัจจยปริคคหญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๒ และสัมมสนญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๓ แม้ว่าจะเป็นการแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมทางมโนทวาร แต่ว่าในขณะที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณนั้น เพียงแทงตลอดในลักษณะที่เป็นนามธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    1 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ