โสภณธรรม ครั้งที่ 099


    ตอนที่ ๙๙

    บางท่านก็กล่าวว่า ท่านชอบพระสูตร เพราะว่าพระอภิธรรมละเอียดนัก และพระสูตรเมื่ออ่านแล้ว จิตใจสบาย เพราะเหตุว่าแสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวัน และมีความไพเราะซาบซึ้ง แต่ก็อย่าลืมว่า ปัญญาจะต้องละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนด้วย ไม่ใช่เพียงแต่อ่านพระสูตร มีความไพเราะ มีความซาบซึ้ง แล้วสบายใจ แต่ว่าการอบรมเจริญปัญญาที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมแม้ในขณะนั้น ก็จะต้องอบรมเจริญด้วย

    ด้วยเหตุนี้ก็จะขาดปิฎกหนึ่งปิฎกใดไม่ได้ และจะเห็นความสอดคล้อง การเกื้อกูลกันของทั้ง ๓ ปิฎก เพราะเหตุว่าถ้าไม่ศึกษาธรรมโดยละเอียดซึ่งเป็นพระอภิธรรม ก็ไม่มีการที่จะแยกให้เห็นแต่ละขณะจิตซึ่งเกิดขึ้นเพร่า และทำกิจสืบต่อกันตามวาระหนึ่งๆ ที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึก ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตา ความเป็นอนิจจัง ความไม่มีสาระของแต่ละขณะ ซึ่งการที่จะเกิดได้ ก็ต้องมีเหตุปัจจัยจึงเกิด และเหตุปัจจัยนั้นก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย แล้วแต่ว่าอาศัยธาตุชนิดใด เจตสิกชนิดใดเกิดขึ้นในกาลไหน กระทำกิจไหน แล้วก็ดับไปๆ อยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมก็จะต้องศึกษาความละเอียดของธรรม ที่เป็นส่วนของพระอภิธรรมด้วย และพร้อมกันนั้นก็จะต้องศึกษาพระสูตร เพื่อจะได้เห็นโทษของอกุศล เห็นประโยชน์ของกุศล เพื่อที่จะได้พิจารณาตนเองด้วย

    สำหรับประโยชน์ของพระวินัยก็จะทำให้เห็นความแตกต่างกันของระดับจิตใจของเพศคฤหัสถ์กับเพศบรรพชิต ซึ่งสำหรับผู้ที่จะเป็นบรรพชิตได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งมีอาจาระเสมอกับอาจาระของพระอรหันต์ผู้ดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เพราะว่าถ้าเพียงประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยโดยสมบูรณ์จะไม่มีใครรู้เลยว่า ภิกษุรูปใดเป็นพระอรหันต์ ภิกษุรูปใดไม่ใช่พระอรหันต์

    เพราะฉะนั้นการศึกษาพระวินัยก็จะทำให้เห็นความละเอียดของจิตของแต่ละบุคคล ซึ่งมีระดับความสามารถ การสะสมมาที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศที่ต่างกัน ซึ่งแต่ละคนจะละกิเลสได้ก็ต่อเมื่อรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่ใช่รู้จักคนอื่น เพราะเหตุว่าถ้าคิดถึงคนอื่นขณะใด ขณะนั้นเป็นเรื่อง เป็นสมมติ เป็นบัญญัติ ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังคิดเรื่องนั้น ซึ่งมีเหตุปัจจัยจึงคิดแล้วก็ดับไป

    นี่คือชั่วขณะจิตที่คิด ซึ่งเป็นไปตลอดตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ทุกวันๆ ก็จะต้องมีบัญญัติเป็นอารมณ์บ้าง มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์บ้าง แต่ถ้าไม่สามารถที่จะแยกว่า ขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะใดมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ย่อมไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า บัญญัติคือขณะที่กำลังคิดเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นปรมัตถธรรมคือจิตเกิดขึ้นคิดนึกมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจ์ธรรมในขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ นอกจากขณะนั้นสติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะสภาพของจิตที่คิด รู้ว่าขณะที่คิดนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นคิด แล้วก็ดับไป ถึงจะเห็นความไม่มีสาระของความคิดได้

    ถาม ก่อนจะถามปัญหาท่านอาจารย์ ต้องขออภัยท่านผู้ฟังด้วย เพราะผมอาจจะถามปัญหาที่ท่านเคยฟังมาแล้วจนเบื่อ ผมอยู่บ้านนอก นานๆ จะเข้ามาทีหนึ่ง อาจจะมีคำถามที่ไม่น่าถามก็ได้ การปฏิบัติวิปัสสนาในเรื่องกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในเรื่องอิริยาปถบรรพ อาจารย์ว่าควรจะปฏิบัติอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นขอทบทวนความเข้าใจตั้งแต่ต้นเพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ มหาสติปัฏฐานมี ๔ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ รวมสภาพธรรมทั้งหมดไม่เว้นเลย ไม่เว้นเลยจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นจิตกี่ประเภท เจตสิกกี่ประเภท รูปกี่ประเภทก็ตาม รวมอยู่ในมหาสติปัฏฐานทั้งสิ้น ขันธ์ ๕ ไม่เว้นเลยสักขันธ์เดียว รวมอยู่ในมหาสติปัฏฐานทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นต้องทราบแม้พระพุทธประสงค์ที่ทรงแสดงสติปัฏฐาน เช่นคำถามเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อย่างอานาปานบรรพ การระลึกรู้ลมหายใจก็ดี หรืออิริยาปถบรรพ การระลึกรู้ลักษณะสภาพของกายที่นั่งนอนยืนเดินก็ดี การระลึกรู้ลักษณะของสัมปชัญญบรรพ ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวเหยียดคู้ก็ดี การระลึกรู้ส่วนต่างๆ ของกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ต่างๆ ซึ่งเป็นปฏิกูลมนสิการบรรพก็ดี หรือว่าการระลึกลักษณะของลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ที่กายก็ดี ซึ่งเป็นธาตุววัฏฐานบรรพ หรือการระลึกลักษณะของซากศพอาการต่างๆ ก็ดี เพื่ออะไร เพราะอะไร

    ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด ทุกคนยึดถือกายว่าเป็นเรา ถูกไหม ลมหายใจก็ยึดถือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังก็ยึดถือ กำลังนั่งอยู่ก็ยึดถือว่าเรา ถ้าจะถามเฉพาะเจาะจงเรื่องอิริยาบถ ที่ทรงแสดงอิริยาปถบรรพก็เพราะเหตุว่าก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด กำลังนั่งก็เป็นเรานั่ง กำลังยืนก็เป็นเรายืน กำลังเดินก็เป็นเราเดิน กำลังนอนก็เป็นเรานอน นี่ก่อนสติปัฏฐานจะเกิด แต่เมื่อสภาพธรรมไม่ใช่เรา แต่ว่ายึดถือขณะที่กำลังนั่ง นอน ยืน เดินว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานก็จะต้องเกิด เพื่อที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กาย ในขณะที่นั่ง ที่นอน ที่ยืน ที่เดิน เพื่อที่จะได้ศึกษารู้ว่า ลักษณะนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตนเพราะเป็นรูปอย่างไร

    กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นรูปใช่ไหม เมื่อเป็นรูปจึงไม่ใช่เรา แล้วยังมีข้อสงสัยอะไรอีกสำหรับกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในเมื่อก่อนสติจะเกิด ยึดถือว่าเป็นเรา พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงอิริยาปถบรรพเพื่อให้รู้ในขณะที่กำลังนั่ง ก็รู้ว่าเป็นรูปอย่างไร กำลังนอน เป็นรูปอะไรที่ปรากฏ

    อันนี้พอที่จะเห็นด้วยหรือยัง พุทธประสงค์ที่ทรงแสดงเรื่องของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะก่อนที่สติจะเกิดเคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา ด้วยเหตุนี้ปัญญาที่จะเกิดความรู้ที่ถูกต้อง จึงจะต้อง เมื่อสติเกิดระลึกได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่านามธรรมเป็นสภาพรู้ และรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ที่จะรู้ว่าเป็นอนัตตาได้ ก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมว่าเป็นสภาพรู้ และรู้ลักษณะของรูปธรรมว่าไม่ใช่สภาพรู้ และรูปธรรมไหน คือ รูปธรรมตลอดศีรษะจรดเท้าซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อสติเกิดก็จะต้องศึกษาลักษณะของรูป อย่าลืม ต้องศึกษาลักษณะของรูป เพราะเหตุว่ารูปแต่ละรูปมีลักษณะเฉพาะของรูปนั้นๆ ที่จะปรากฏได้ ที่จะให้ประจักษ์แจ้งได้ว่า เป็นรูป ไม่ใช่ตัวตน

    ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องอิริยาปถบรรพไหม

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่า เรื่องกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถไหน ก็เป็นแต่เพียงรูปที่เกิดขึ้น และให้เราเข้าใจว่า รูปที่เกิดนั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เข้าใจแล้ว แต่ว่ายังไม่ประจักษ์แจ้ง จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด แล้วก็ระลึกตรงลักษณะของรูปที่ปรากฏ

    ขณะนี้ก็มีรูป ขณะนี้รูปก็ปรากฏ ถ้าสติปัฏฐานเกิด ระลึกลักษณะของรูป อย่าลืมคำว่า ลักษณะของรูป ไม่ใช่ไปนึกเอา แต่ว่ามีลักษณะปรากฏจริงๆ ให้ศึกษา ให้เข้าใจได้

    ลักษณะที่แข็งเป็นรูป ลักษณะที่เย็นเป็นรูป ลักษณะที่ไหวเป็นรูป ขณะที่กำลังพูดก็มีรูป อ่อนก็มี แข็งก็มี ขณะที่กระทบสัมผัสริมฝีปากหรือว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย อ่อนก็มี แข็งก็มี นั่นคือลักษณะของรูปที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง อย่างยืนนี่ก็เป็นรูปยืน

    ท่านอาจารย์ รู้ได้ทางไหน ลักษณะของรูปรู้ได้ทางไหน

    ผู้ฟัง รู้จากรูปร่างลักษณะที่เรากำหนดกันขึ้นว่า อย่างนี้ยืน อย่างนี้นั่ง ก็เป็นรูป หรืออาจารย์ว่าเป็นอีกความหมายหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ โดยมากท่านผู้ฟังเข้าใจว่า สติปัฏฐานคือการระลึกได้ แล้วก็ทำอย่างอื่น ใช่ไหมคะ แต่เมื่อได้ยินได้ฟังว่า ที่กายประกอบด้วยมหาภูตรูป มหาภูตรูปมี ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ว่ามหาภูตรูปที่จะปรากฏให้รู้ได้ มี ๓ ซึ่งเรียกว่า โผฏฐัพพะ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อกระทบกับกายปสาท ถ้ารูปนั้นไม่กระทบกับกายปสาท แม้มีก็ไม่รู้ ขณะนี้ที่ศีรษะมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ รู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง มีลักษณะแข็งก็เป็นดิน

    ท่านอาจารย์ กระทบอะไรที่แข็ง

    ผู้ฟัง ถ้าเอาส่วนใดส่วนหนึ่งไปกระทบก็รู้สึกว่าแข็ง

    ท่านอาจารย์ “ถ้า” ใช่ไหม แต่เดี๋ยวนี้ รู้ว่ามีศีรษะ จำได้ว่ามี แล้วรูปแข็งที่ศีรษะปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่ปรากฏ แล้วจะรู้ได้ไหม ทั้งๆ ที่เข้าใจว่ามี ทุกคนกำลังยึดถือว่ามีศีรษะอยู่ทุกคน เพราะฉะนั้นก็ยังมีศีรษะของเราในความทรงจำ แต่ว่าการที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องไม่มีอะไรเลย นอกจากรูปที่เกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ยังคงสภาพอยู่เป็นรูปศีรษะที่แข็ง แต่ว่าลักษณะของรูปแข็งที่จะปรากฏเมื่อกระทบกายปสาท ดับทันที เร็วมาก ที่ใช้คำว่า “ทันที” เพราะเหตุว่ามีอายุเพียง ๑๗ ขณะของจิต ซึ่งเร็วกว่าระหว่างทางตาเห็นกับทางหูได้ยิน เพราะเหตุว่าจิตเห็นกับจิตได้ยินเกิดห่างกันเกิน ๑๗ ขณะ

    เพราะฉะนั้นก็ลองคิดดูว่า รูปแข็งที่ปรากฏเมื่อกระทบจะเล็กน้อย จะรวดเร็วสักแค่ไหน ไม่ใช่มีศีรษะทั้งก้อนที่แข็ง ที่ยังจำไว้ได้ว่าเป็นศีรษะของเรา ถ้ายังเป็นอย่างนั้นอยู่ ยังเป็นตัวตน โลกยังไม่ได้กระจัดกระจาย ยังไม่ได้แตกย่อย ยังไม่หมดสิ้นไปเหลือแต่เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทีละอย่างอย่างรวดเร็วและสั้นๆ ด้วย

    นั่นถึงจะประจักษ์ว่าไม่มีเรา และการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้อย่างนี้ หรือว่าเพื่อจะไปรู้อย่างอื่น ถ้ารู้อย่างอื่นก็ยังเป็นเรานั่ง แต่ว่าเราไม่มี มีแต่ลักษณะของรูปแต่ละรูปที่ปรากฏให้รู้ได้แต่ละทาง

    ผู้ฟัง อย่างว่าศีรษะเราที่ว่าเป็นรูป ถ้าไม่มีอะไรไปกระทบ ก็ไม่รู้สึกว่าตอนนั้นเป็นรูปสิ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่มี เกิดแล้วดับแล้ว เร็วมาก จำเอาไว้เท่านั้นเองว่ามีเรา มีรูปทั้งร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า นี่คือก่อนที่สติจะระลึกลักษณะของรูป นี่เป็นเหตุที่ทรงแสดงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และทุกบรรพหมด เพราะก่อนสติระลึกยึดถือว่าเป็นเรา กำลังนั่งนี่ยึดถือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นเมื่อยึดถืออย่างนี้ สติปัฏฐานจึงระลึกตรงลักษณะของรูปที่ปรากฏ แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพียงรูปเดียวที่ปรากฏ จะไม่ปรากฏพร้อมๆ กันเลย เพราะเหตุว่ารูปทุกรูปกำลังเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป ทยอยกันเกิดทยอยกันดับไปอย่างรวดเร็วที่สุด รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว ไม่มีรูปไหนที่ยั่งยืน ที่จะให้ทรงจำไว้ว่าเป็นของเราได้เลย

    รูปศีรษะที่เข้าใจว่ามี เมื่อสักครู่นี้ ก็หมดไปแล้ว คือเกิดแล้วดับแล้ว เกิดแล้วดับแล้ว ทุกกลุ่มทุกกลาป

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็หมายความว่า เราจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็แล้วแต่ ถ้าหากว่ายังไม่มีการกระทบกระทั่งเกิดขึ้น ความรู้สึกที่ว่า เป็นตัว ก็ไม่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ทรงจำไว้ อัตตสัญญา เคยเห็นเราในกระจก เคยแตะศีรษะ เคยแตะเท้า มีแขน มีมือ ทุกสิ่งทุกอย่างใช้ได้ตลอดเวลา ก็คิดว่า เรายังมี หรือว่ารูปของเรายังมี ไม่ปรากฏการดับไปเลย เพราะสติไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดที่เกิดแล้วดับ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นที่บอกว่า พิจารณารูปเดิน รูปยืน รูปนั่ง นี่ก็ไม่สำคัญอะไร ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้นการฟังเรื่องสติปัฏฐาน ต้องเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ต้องตรงกับพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ และธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดต้องสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎกด้วย

    ผู้ฟัง และตรงไหนถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ในเมื่อเรายืน เดิน นั่ง นอน

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานคืออะไร ไม่ใช่ถามว่าตรงไหนเป็นสติปัฏฐาน แต่ต้องเข้าใจว่า สติปัฏฐานคืออะไร ขอประทานโทษ เคยปฏิบัติไหม

    ผู้ฟัง ไม่เคยเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่เคยหรือ เคยฟังเรื่องการปฏิบัติหรือยัง

    ผู้ฟัง เคยฟัง

    ท่านอาจารย์ แล้วก็เข้าใจว่าอย่างไร สติปัฏฐานคืออะไร

    ผู้ฟัง คือการตั้งสติพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ตั้งสติได้หรือ ถ้าตั้งได้ก็ตั้งเสีย ถ้าอย่างนั้นสติก็ไม่ใช่อนัตตา ไปเอาสติที่ไหนมาตั้ง และใครตั้งสติ ถ้าสติไม่เกิด จะมีสติไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นหลงลืมสติ ถ้าสติเกิด ขณะนั้นสติทำหน้าที่ของสติ ไม่มีใครไปตั้งสติ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้นที่ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน แล้วบอกว่า ตั้งสติ นั้นถูกหรือผิด

    ผู้ฟัง ไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ ตั้งไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็หมายความเมื่ออะไรเกิดขึ้นมา สติเราเกิดขึ้นรู้สภาพอันนั้น ถึงจะเรียกว่าสติเกิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เมื่อสติเกิด สติก็ทำหน้าที่ของสติ สติมีหลายขั้น สติเกิดกับโสภณจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ก็มีสติเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นแล้วกุศลจิตเกิดไม่ได้เลย ขณะที่วิรัติทุจริต ขณะนั้นก็มีสติเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ ขณะที่จิตสงบจากอกุศล มีเมตตาเกิดขึ้น ขณะนั้นก็มีสติเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นก็มีสติหลายขั้น แต่สติปัฏฐาน คือ สติที่ระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม

    นี่คือความต่างกันของสติขั้นอื่นๆ สติปัฏฐาน คือ สติที่ระลึกลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ถามว่าการที่จะพิจารณากายคตาสติ โดยเฉพาะในเรื่องอิริยาบถบรรพ จะทำอย่างไร คิดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จะทำอย่างไร แล้วก็ไม่ใช่จะคิดอย่างไร แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สติปัฏฐานคืออะไร เมื่อเข้าใจว่า สติปัฏฐาน คือ สติที่ระลึกลักษณะของนามธรรม หรือลักษณะของรูปธรรม ต้องมีลักษณะของรูปธรรมที่กายปรากฏให้รู้ จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ปรากฏ

    ผู้ฟัง หมายความว่า รูปหรือนามที่จะทำให้กายเกิดความรู้สึกเกิดขึ้น ถึงจะถือว่า อันนั้นเป็นสติ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีกาย หลงลืมสติ คือ ขณะนั้นไม่ได้ระลึกตรงลักษณะของรูปที่กาย ไม่ได้ระลึกลักษณะของนามธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดที่กำลังปรากฏ นั่นคือหลงลืมสติ

    ผู้ฟัง ถ้ามีสติ ก็หมายความว่า ผมยืน เมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบร่างกาย แล้วก็เกิดรูปขึ้นมา ก็มีความรู้สึก สติรู้เท่าทันว่า นั่นเกิดเป็นรูป อย่างนี้ถึงจะเป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีกายแล้ว แล้วก็มีรูปประชุมรวมกันเป็นกาย ไม่ได้มีรูปเพียงรูปเดียวหรือกลุ่มเดียว แต่ว่าที่กายประกอบด้วยรูปเยอะแยะ และก็กำลังเกิดดับ ทยอยกันเกิดทยอยกันดับในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติปัฏฐานเกิดคือขณะไหน

    ผู้ฟัง อันนี้บอกไม่ถูก คือว่ารูปเกิดอยู่ตลอดเวลา เราก็ไม่ประจักษ์ ผมก็อธิบายไม่ได้ว่า

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องประจักษ์ เอาว่าสติปัฏฐานระลึกที่กายขณะไหน เวลานี้มีกาย กำลังยืน นี่สติปัฏฐานยังไม่เกิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง รู้ว่ากำลังยืนเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ที่รู้ว่ากำลังยืน สติปัฏฐานยังไม่เกิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง คงไม่เกิด ยังไม่แน่ใจ

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นก็ยังไม่ได้เจริญอะไร เพราะเหตุว่ายังไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งรีบร้อนที่จะไปเจริญหรือจะทำอะไร เพราะว่าสติปัฏฐานเกิดจากการเข้าใจข้อปฏิบัติ เข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นปัจจัยที่จะทำให้สติปัฏฐานระลึกเพื่อที่จะศึกษาให้รู้ตามความเป็นจริง ตามที่ได้เข้าใจ ขณะนี้เข้าใจว่ามีรูปทยอยกันเกิดดับ เข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เข้าใจ เข้าใจโดยปริยัติ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจโดยปริยัติ ขณะที่ยืน แล้วรู้ว่ายืน ขณะนี้สติปัฏฐานยังไม่เกิด ใช่ไหม ยังไม่เกิด แน่ใจ

    ผู้ฟัง ตามสติปัญญาของผมเวลานี้แน่ใจ

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานยังไม่เกิด เมื่อสติปัฏฐานเกิดระลึกที่กาย ระลึกรู้อะไร

    อย่าเพิ่งไปปฏิบัติจริงๆ ขอให้ฟังให้เข้าใจจริงๆ แล้วก็ไม่ต้องห่วงเรื่องการปฏิบัติ เพราะเหตุว่าเมื่อเข้าใจแล้วจึงจะมีปัจจัยที่จะทำให้สติปัฏฐานเกิดได้ ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิด

    เพราะฉะนั้นขอเรียนถามว่า เมื่อสติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้อะไร ที่กายระลึกรู้อะไร

    ผู้ฟัง ที่กาย ก็คงจะเป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง

    ท่านอาจารย์ ที่ปรากฏเท่านั้น ไม่ใช่ที่คิดนึกเอาเองว่ามี

    ผู้ฟัง อย่างเวลานี้ผมยืน รู้สึกเท้าหนัก เจ็บ อย่างนี้ก็เป็นรูปเจ็บเกิดขึ้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าระลึกรู้ ลักษณะนั้นไม่ต้องใช้ชื่อก็มีจริงๆ ใช่ไหม สภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ต้องเรียกชื่อก็มีจริงๆ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ระลึกตรงลักษณะนั้น

    ผู้ฟัง ว่าแข็ง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องพูดไหม

    ผู้ฟัง ไม่ต้องพูดก็รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องพูด ขณะนั้นที่แข็ง ต้องมีสภาพที่รู้แข็งด้วย แข็งจึงปรากฏว่าแข็งตรงนั้น

    เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของแข็ง หรือจะระลึกลักษณะของสภาพรู้แข็งก็ได้ เพราะเหตุว่าก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิดเป็นเรา แต่เมื่อสติปัฏฐานเกิด คือสภาพธรรมตามปกติที่เคยยึดถือว่าเป็นเรานั่นเอง แต่ว่าสติปัฏฐานระลึกลักษณะของรูป มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ หรือว่าระลึกลักษณะของนามซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งมีจริงๆ เพราะเหตุว่าขณะนั้นกำลังรู้แข็ง จึงไม่มีเรา เพราะเหตุว่ารู้ก็เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และแข็งก็เป็นรูปธรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง อันนี้ก็พอเข้าใจ อีกอันหนึ่งที่ว่า กายในกาย กายนอกกาย นี่เป็นอย่างไร เพราะว่าอ่านหนังสือแล้วไม่เข้าใจ กายภายใน กายภายนอก หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีกายของตัวเอง และมีกายของคนอื่นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ถ้ามีกายของคนอื่น เราจะไปรู้สึกกายของเขาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ยังไม่พูดถึงเรื่องรู้สึก เพียงแต่ว่ามีกายของเรา ตัวเอง ที่ยึดถือว่าเป็นกายของเรา กายของคนอื่นก็มี เคยกระทบสัมผัสกายของคนอื่นไหมคะ หรือเกิดมาไม่เคยเลย

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ เคย ใช่ไหม ที่จริงแล้วก็คือรูป ถ้าสติปัฏฐานเกิด แต่ก่อนที่จะเป็นสติปัฏฐาน ก็เป็นคนอื่น เป็นกายของคนอื่น ยังยึดถือว่าเป็นกาย แล้วก็ยังยึดถือด้วยว่าเป็นกายคนอื่น นี่คือก่อนสติปัฏฐานเกิด เวลาที่สติปัฏฐานเกิด อย่าว่าแต่คนอื่น เราน่ะมีไหม เมื่อเราก็ไม่มี ตัวตนก็ไม่มี มีแต่สภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจได้ว่า ที่เคยคิดเรื่องคนอื่น ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ เป็นรูปธรรมที่กระทบสัมผัสเท่านั้น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราหรือเขา รูปของใครก็ตามเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นี่จึงจะไม่มีทั้งเราและคนอื่นได้ แต่ว่าก่อนที่จะเป็นอย่างนี้ ก็เพราะเคยยึดถือว่ามีคนอื่น และก็มีกายของคนอื่น สติปัฏฐานจึงระลึกเพื่อจะรู้ว่า ไม่มีอะไรทั้งนั้น นอกจากนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ได้เป็นของใครเลย

    ผู้ฟัง แล้วอันนี้จะตรงความหมายในหนังสือเขียนไหมที่ว่า พิจารณากายในกายของตัวเองบ้าง กายภายนอกบ้างอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก็เวลากระทบสัมผัสกายคนอื่นก็มี แล้วจะให้หลงลืมสติ หรือจะให้สติเกิด

    ผู้ฟัง คือว่าการกระทบนี่ไม่จำเป็นต้องเป็นกายของใคร จะเป็นกายของผู้อื่นก็ได้ อาจจะเป็นวัตถุสิ่งของก็ได้นี่

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อสักครู่นี้ไม่ได้ถามอย่างนี้ ถามเรื่องกายคนอื่น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    10 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ