โสภณธรรม ครั้งที่ 054


    ตอนที่ ๕

    นี่ก็จะเห็นได้ว่า เป็นธรรมในชีวิตประจำวันซึ่งจะค่อยๆ เจริญขึ้น ค่อยๆ อบรมขึ้น แม้แต่สติสัมโพชฌงค์ก็จะต้องเกิดจากขณะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามปกติในขณะนี้ จนกว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญาที่ศึกษา รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ค่อยๆ เพิ่มขึ้นชินขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีความเข้าใจผิดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ วิริยะที่เกิดร่วมกับสติและปัญญานั้นก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ ในขณะที่มีสติและปัญญาและวิริยะอย่างนั้น ก็จะมีปีติสัมโพชฌงค์เกิดร่วมด้วย เป็นสภาพของกุศลจิตที่ผ่องใสที่ปีติในปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งละเอียด และยากที่จะรู้ได้ และก็ไม่เคยรู้มาก่อน แต่โดยอาศัยการที่สติเจริญขึ้น ปัญญาพิจารณาทั่วขึ้น ละเอียดขึ้น วิริยะที่เกิดร่วมด้วยก็เกิดขึ้นในการพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้ปีติสัมโพชฌงค์เกิดร่วมกัน พร้อมกับปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ซึ่งเป็นโสภณสาธารณเจตสิกที่จะกล่าวถึงต่อไป ซึ่งขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็มีสภาพของความสงบจากอกุศล ซึ่งได้แก่ ปัสสัทธิเจตสิกนั่นเอง แต่ว่าเมื่อไม่ทราบเพราะเหตุว่าการที่สภาพธรรมแต่ละขณะจะเกิดขึ้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง แม้แต่จิตขณะเดียวที่จะเป็นกุศล ก็จะต้องอาศัยเจตสิกหลายประเภท แต่เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป แล้วสติก็ไม่ได้ระลึก จึงไม่สามารถที่จะพิจารณาวิจัยลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ในขณะที่กำลังเป็นกุศลนั้นได้ แต่ภายหลังอาจจะสังเกตลักษณะของปัสสัทธิซึ่งเป็นสภาพที่สงบของจิตได้ และเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกนั้นก็เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิกก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์

    ข้อความในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพชฌังคสังยุตต์ ภิกขุสูตร ข้อ ๓๙๐ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าโพชฌงค์ๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะเรียกว่า โพชฌงค์”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุ ที่เรียกว่าโพชฌงค์เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้

    ดูกรภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

    ทั้งหมดนั่นเป็นไวพจน์ คือ ชื่อของพระนิพพาน ไม่ว่าจะเป็นวิเวก วิราคะ นิโรธ อาศัยการที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อการดับกิเลส ทำให้โพชฌงค์เหล่านี้เกิดขึ้น

    ข้อต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ ทั้งสติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ

    เมื่อภิกษุนั้นเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า

    ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

    ดูกรภิกษุ ที่เรียกว่าโพชฌงค์ เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้ ฉะนี้แล

    จบ สูตรที่ ๕

    ข้อความในพระสูตรสั้นมาก รู้สึกว่าถ้าไม่พิจารณาแล้ว ก็จะเจริญสัมโพชฌงค์กันเลย เพราะเหตุว่าถ้าไม่เจริญก็จะไม่สามารถดับกิเลสได้ แต่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า สัมโพชฌงค์ต้องมาจากการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แล้วโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้จึงจะค่อยๆ เจริญขึ้นจนถึงขั้นที่เป็นองค์ของการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    การศึกษาธรรมต้องละเอียดรอบคอบ และต้องสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎก มิฉะนั้นแล้วก็จะทำให้เข้าใจพระธรรมผิด คลาดเคลื่อน ถ้าเพียงแต่จะอ่านเฉพาะข้อความบางตอน แม้แต่ในเรื่องของโพชฌังคุเปกขาที่ได้กล่าวถึงแล้ว ข้อความในอุปวาณสูตร ข้อ ๔๐๓ มีว่า

    สมัยหนึ่ง ท่านพระอุปวาณะและท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็นแล้ว เข้าไปหาท่านพระอุปวาณะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอุปวาณะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอุปวาณะว่า

    “ท่านพระอุปวาณะผู้มีอายุ ภิกษุจะพึงรู้หรือไม่ว่า โพชฌงค์ ๗ อันเราปรารภดีแล้วอย่างนี้ ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเฉพาะตน ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นผาสุก”

    ท่านพระอุปวาณะตอบว่า “ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ ภิกษุพึงรู้ได้ว่า โพชฌงค์ ๗ อันเราปรารภดีแล้วอย่างนี้ ด้วยการกระทำไว้ในใจ โดยแยบคายเฉพาะตนย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นอยู่โดยผาสุก”

    แม้แต่ข้อความเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ ก็น่าที่จะพิจารณาว่า การอบรมเจริญปัญญาจะต้องปฏิบัติด้วยความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าทำไปโดยวิธีหนึ่งวิธีใด แล้วไม่รู้ นั่นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้นแม้แต่ท่านพระสารีบุตรท่านก็ได้กล่าวคำถามแม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้กับท่านพระอุปวาณะ ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงว่า เพื่อประโยชน์ของผู้ฟังรุ่นหลังที่จะได้พิจารณาคำของท่านพระสาวกทั้งสอง เพื่อที่จะได้รู้ว่า การอบรมเจริญปัญญานั้นเป็นการปฏิบัติด้วยความรู้ ไม่ใช่ความไม่รู้

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ ภิกษุปรารภสติสัมโพชฌงค์ ย่อมรู้ได้หรือว่า จิตของเราหลุดพ้นดีแล้ว ถีนมิทธะเราถอนเสียแล้ว อุทธัจจะกุกกุจจะเรากำจัดได้แล้ว ความเพียรเราปรารภแล้ว เรากระทำไว้ในใจโดย มิได้ย่อหย่อน

    ข้อต่อไปก็ต่อไปถึงสัมโพชฌงค์อื่นๆ จนถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ซึ่งท่านพระอุปวาณะก็กล่าวตอบว่า

    “ดูกรท่านสารีบุตรผู้มีอายุ ภิกษุพึงรู้ได้อย่างนี้แลว่า โพชฌงค์อันเราปรารภดีแล้วอย่างนี้ ด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคายเฉพาะตน ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นผาสุก”

    เวลาที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นปลอดโปร่งจากกิเลสทั้งหลายที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ว่าต้องเป็นปัญญาที่อบรมเจริญ จนกระทั่งสามารถที่จะเป็นโพชฌงค์ รู้ทั่วในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะเหตุว่าลองคิดดูถึงชีวิตประจำวันซึ่งนานๆ ครั้งสติจะเกิด จริงไหมคะ ขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ ช่วงขณะที่สติเกิดแต่ละครั้ง ย่อมห่างไกลกัน โดยมีการหลงลืมสติคั่นอยู่ แต่ให้ทราบว่า การที่จะละความยึดถือว่าเป็นตัวตน ช่วงขณะที่หลงลืมสตินั้นยึดถือว่าเป็นตัวตนตลอด เพราะฉะนั้นช่วงขณะที่หลงลืมสติที่ยังยึดถือว่าเป็นตัวตนจะยังคงมากสักแค่ไหน และบางขณะสติก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏบ้างเพียงเล็กน้อย เพียงระยะสั้นๆ กว่าจะทั่วทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ลองคิดดูว่า เวลาอ่านหนังสือ มีรูปภาพประกอบ แล้วก็มีเรื่องราวต่างๆ กับเวลาที่เห็นสิ่งต่างๆ โดยที่ไม่ได้อ่านหนังสือ เมื่อไรจะเหมือนกันที่ว่า ในขณะที่อ่านหนังสือ เห็น แล้วก็เป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย นานาประเทศ นานาข่าว นานาสารคดี เป็นเรื่องมากมาย กับเวลาที่เห็นโดยที่ไม่ได้อ่าน ก็มีเรื่องมาก เรื่องของบุคคลนั้นบุคคลนี้ การคิดนึก ธุรกิจการงานต่างๆ เหมือนกับการอ่านหนังสือ เพราะเหตุว่าเวลาอ่านหนังสือ เห็น แล้วก็นึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ฉันใด แทนที่จะเห็นตัวหนังสือ เห็นเป็นตัวคนต่างๆ กำลังทำกิจการงานต่างๆ แล้วก็เป็นใจที่คิดนึกเรื่องของบุคคลที่กำลังทำกิจการงานต่างๆ ในขณะนั้น ก็เหมือนกับการอ่านหนังสือ เมื่อไรจะเป็นอย่างนี้ ที่จะรู้ว่า เห็น เป็นชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็คิดนึก ไม่ว่าจะจากเรื่องในหนังสือที่อ่าน หรือจากสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยไม่ใช่หนังสือที่อ่าน ก็เหมือนกัน คือ เป็นการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เป็นสมมติ เป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราว

    คำถามหนึ่งที่ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านก็ถาม “เวลาเห็นคนเคลื่อนไหวทำกิจการงานหรือว่าเล่นฟุตบอล ขณะนั้นการรู้อย่างนั้นเป็นอะไร?” คือ เข้าใจว่าไม่ใช่การคิดนึก แต่ความจริงถ้าเห็นรูปภูเขา ก็คิดถึงภูเขา ถ้าเห็นรูปต้นไม้ ก็คิดถึงต้นไม้ ถ้าเห็นรูปสัตว์ ก็คิดถึงสัตว์

    รูปเขียนภาพภูเขา นึกถึงภูเขา ภาพต้นไม้ นึกถึงต้นไม้ ภาพสัตว์ นึกถึงสัตว์ ฉันใด เวลาที่ไม่ใช่ภาพเขียน แต่ว่าเป็นการเห็นทางตา ก็เหมือนกับภาพเขียนเหมือนกัน ที่จะรู้ว่า เห็นเป็นขณะหนึ่ง แล้วก็คิดถึงสิ่งที่เห็น โดยรูปร่างสัณฐานต่างๆ เป็นอีกขณะหนึ่ง ก็เป็นโลกของความคิด เป็นโลกของสมมติบัญญัติ ซึ่งจะต้องรู้ว่า ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายในวันนี้ คนตายไม่เห็นอะไร ไม่เห็นการเคลื่อนไหวใดๆ ไม่มีการคิดนึกเรื่องบุคคลนั้นบุคคลนี้กำลังเคลื่อนไหวเลย นั่นคือคนตาย ซึ่งไม่มีนามธรรม

    เพราะฉะนั้นคนเป็นที่ยังไม่ตาย เห็นทุกขณะ ไม่ว่าจะเห็นเป็นคนนั้นคนนี้กำลังเคลื่อนไหว ขณะนั้นก็คือนามธรรมนั่นเอง เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งกว่าปัญญาจะเจริญจนกระทั่งละการยึดถือทุกขณะ ไม่ว่าจะเห็นสิ่งใด คิดเรื่องอะไร ก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมที่กำลังคิดนึกเรื่องนั้นเท่านั้น ซึ่งคนตายไม่เห็น และไม่รู้ ไม่ได้คิดตามว่า มีคนกำลังเดินเล่นหรือกำลังทำกิจธุรการงานต่างๆ

    เพราะฉะนั้นให้เห็นว่า นามธรรมในวันหนึ่งซึ่งคนตายไม่เห็น ไม่รู้ ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึกเลย มีมากเท่าไร ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นคนเป็นที่เจริญปัญญา ก็จะต้องรู้ว่าความจริงว่า ทั้งหมดทุกขณะนั้น คือ นามธรรมเท่านั้น

    นี่คือการที่ละการยึดถือสภาพธรรมในวันหนึ่งๆ ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต้องทั่วจริงๆ เพราะเหตุว่าช่วงที่สติไม่เกิดยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน จะต้องเจริญปัญญาจนกว่าจะต้องรู้ทั่วหมดว่า ไม่ใช่ตัวตน โดยสติจะต้องระลึกบ่อยๆ เนืองๆ และก็ทั่วจริงๆ ทั้ง ๖ ทาง

    ชีวิตในขณะนี้ทุกขณะ ถ้าสติระลึกก็รู้ว่าเป็นนามธรรมที่เห็นที่คิด และส่วนที่ไม่ใช่สภาพรู้ก็คือ รูปธรรม นี่เป็นเหตุที่จะต้องมีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ข้อความในปารคามีสูตร ข้อ ๔๒๙ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่งจากที่มิใช่ฝั่ง โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ซึ่งได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่งจากที่มิใช่ฝั่ง

    ลองคิดถึงฝั่งมหาสมุทรที่สุดสายตา ทุกท่านกำลังอยู่ในฝั่งซึ่งเต็มไปด้วยกิเลสและการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นกว่าจะถึงอีกฝั่งหนึ่งซึ่งละคลายดับการเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน จะต้องเจริญสติปัฏฐานและปัญญามากเพียงไร

    ข้อ ๔๓๐ มีข้อความว่า

    ในหมู่มนุษย์ คนที่ไปถึงฝั่งมีจำนวนน้อย แต่หมู่สัตว์นอกนี้ย่อมวิ่งไปตามฝั่งนั่นเอง ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามธรรมในธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ชนเหล่านั้นจักข้ามบ่วงมฤตยูซึ่งแสนยากที่จะข้ามได้

    บัณฑิตพึงละธรรมฝ่ายดำเสีย เจริญธรรมฝ่ายขาว ออกจากความอาลัย อาศัยความไม่มีอาลัยแล้ว พึงละกามเสีย เป็นผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องกังวล ปรารถนาความยินดีในวิเวก ที่สัตว์ยินดีได้ยาก

    บัณฑิตพึงชำระตนให้ผ่องแผ้ว จากเครื่องเศร้าหมองจิต ชนเหล่าใดอบรมจิตดีแล้วโดยชอบในองค์เป็นเหตุตรัสรู้ ไม่ถือมั่น ยินดีแล้วในความสละคืน ซึ่งความยึดถือชนเหล่านั้นเป็นผู้สิ้นอาสวะ มีความรุ่งเรือง ปรินิพพานแล้วในโลก

    ทุกคนบอกว่าสติยากที่จะเกิด และเมื่อสติเกิดแล้วก็ยากที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม นี่ต้องเป็นความจริง เพราะข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ชนเหล่านั้นจักข้ามบ่วงมฤตยูซึ่งแสนยากที่จะข้ามได้

    ไม่ใช่ว่าใครจะดับกิเลสได้โดยง่ายเลย ทุกท่านก็จะต้องพิสูจน์ว่า นามธรรมที่กำลังเห็นในขณะนี้ ยากไหมที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสภาพรู้ ไม่ใช่ตัวตน หรือเวลาที่ได้ยินเสียง บางคนก็รู้ว่าเสียงดัง เสียงเบา แต่ว่าไม่รู้ว่า ขณะนั้นต้องมีสภาพได้ยินซึ่งไม่ใช่ตัวตน ซึ่งไม่ใช่เรา ขณะที่เสียงนั้นๆ กำลังปรากฏ

    นี่เป็นเหตุที่ถ้าตรึกระลึกถึงธรรมเนืองๆ บ่อยๆ ก็จะทำให้สติระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทันทีได้

    ข้อความที่ควรที่จะเตือนให้เป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ คือ ข้อความในวิรัทธสูตร ข้อ ๔๓๑ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภผิดแล้วอริยมรรคอันยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เป็นอันบุคคลเหล่านั้นปรารภผิดแล้ว โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภถูกแล้ว อริยมรรคอันยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เป็นอันบุคคลเหล่านั้นปรารภถูกแล้ว โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน คือ สติสัมโพชฌงค์ ตลอดไปจนกระทั่งถึง อุเบกขาสัมโพชฌงค์

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภผิดแล้ว อริยมรรคอันยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เป็นอันบุคคลเหล่านั้นปรารภผิดแล้ว โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภถูกแล้ว อริยมรรคอันยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ เป็นอันบุคคลเหล่านั้นปรารภถูกแล้ว

    ทรงโอวาทเตือนตลอดเวลาแม้แต่ในเรื่องของโพชฌงค์ว่า โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเหล่าหนึ่งเหล่าใดปรารภผิดแล้ว ซึ่งน่าพิจารณาตั้งแต่ก่อนจะถึงโพชฌงค์ ใช่ไหม คือ ตั้งแต่สติปัฏฐาน ถ้าผิด ไม่ใช่สัมมาสติ ก็ไม่ใช่ทางดับทุกข์

    เพราะฉะนั้นไม่ควรคิดว่า ประพฤติอย่างไรก็ถูก แต่ว่าจะต้องเป็นผู้ที่รอบคอบ ระมัดระวังจริงๆ ที่จะรู้ว่า ปัญญาจะต้องรู้อะไร อะไรเป็นสติปัฏฐาน และสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมอะไรในขณะนี้ จึงจะเป็นโพชฌงค์ที่ปรารภถูกแล้ว อริยมรรคย่อมยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบได้ เพราะเหตุว่าปรารภถูก ถ้าเข้าใจผิดในการเจริญสติปัฏฐานขั้นต้นๆ ก็ไม่สามารถที่จะเจริญปัญญาได้ และการที่จะเป็นผู้หลงผิดไปโดยไม่รู้ ก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะในปัจจุบันนี้เท่านั้น แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เมื่อปัญญา การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมยังไม่เกิดขึ้น ผู้นั้นก็ย่อมหลงผิดได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เตือนพุทธบริษัทในครั้งนี้ ให้ต้องเป็นผู้ที่เพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น เพราะแม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังมีผู้ที่เข้าใจผิด เพราะฉะนั้นหลังจากที่ปรินิพพานแล้วถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี พุทธบริษัทยิ่งจะต้องเป็นผู้ที่จะพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการปฏิบัติผิด

    ข้อความในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต โคตมสูตร ข้อ ๕๖๕ มีข้อความสั้นๆ แต่ว่าท่านผู้ฟังอาจจะไม่ได้เฉลียวใจเลย ข้อความมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โคตมกเจดีย์ ใกล้พระนครเวสาลี

    ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว จึงแสดงธรรม ไม่รู้ ไม่แสดง แสดงธรรมมีเหตุ ไม่ใช่แสดงไม่มีเหตุ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ไม่ใช่แสดงไม่มีปาฏิหาริย์

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งแล้วจึงแสดงธรรม ไม่รู้ไม่แสดง แสดงธรรมมีเหตุ ไม่ใช่แสดงไม่มีเหตุ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ไม่ใช่แสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์ ท่านทั้งหลายควรทำโอวาท ควรทำอนุสาสนี ก็แหละท่านทั้งหลายควรที่จะยินดี ควรที่จะชื่นชม ควรที่จะโสมนัสว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์ปฏิบัติชอบแล้ว

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ พันโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว ฯ

    ดูเหมือนไม่มีอะไรเลย ใช่ไหม เป็นข้อความสั้นๆ และก็เรื่องธรรมดาๆ จริงๆ แต่ว่า พันโลกธาตุได้หวั่นไหวแล้ว

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ได้ทราบว่าพราหมณ์บรรพชิตจำนวนมากเกิดเมาความรู้ขึ้น เพราะอาศัยพระพุทธพจน์ที่ตนเคยเรียนแล้ว

    นี่เป็นเหตุการณ์ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทในสมัยนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังที่จะต้องเป็นผู้ที่พิจารณาธรรม และตนเองยิ่งขึ้น

    พราหมณ์บรรพชิตจำนวนมากเกิดเมาความรู้ขึ้น เพราะอาศัยพระพุทธพจน์ที่ตนเคยเรียนแล้ว ไม่ยอมไปโรงฟังธรรม ด้วยคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อจะตรัส ก็ตรัสคำที่พวกเรารู้แล้วเท่านั้น ไม่ตรัสคำที่พวกเรายังไม่รู้ ดังนี้

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลความนั้นแก่พระผู้มีพระภาค

    ท่านผู้ฟังคิดว่าควรทูลหรือไม่ควรทูล บางท่านอาจจะคิดว่า ไม่น่าที่ภิกษุเหล่านั้นจะทูลพระผู้มีพระภาค แต่ต้องเพื่อประโยชน์ในการที่ภิกษุเหล่านั้นทูลเรื่องนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ เพื่อที่จะได้ทรงอนุเคราะห์พราหมณ์เหล่านั้นผู้เมาความรู้

    พระผู้มีพระภาคตรัสให้เรียกภิกษุเหล่านั้นมา ทรงถือเอามุขปฏิญญา คือ การรับปากของภิกษุเหล่านั้น แล้วทรงแสดงมูลปริยายสูตร ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เห็นที่มาที่ไปของพระธรรมเทศนาเลย เมื่อไม่เห็นก็พากันคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคงเข้าพระทัยว่า ธรรมกถาของเราตถาคตย่อมนำสัตว์ออกไปจากทุกข์ จึงตรัสพระธรรมเทศนาที่คล่องพระโอษฐ์เท่านั้น

    นี่เป็นความคิดของคนที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    พระผู้มีพระภาคทรงรู้ใจของภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงทรงเริ่มพระสูตรนี้

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภิญญายะ ความว่า รู้ คือ แทงตลอด ได้แก่ กระทำให้ประจักษ์ว่า ธรรมเหล่านี้ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจจ์ ๔ เหตุ ๙ ผัสสะ ๗ เวทนา ๗ เจตนา ๗ สัญญา ๗ วิญญาณ ๗

    อนึ่ง อธิบายว่า รู้ คือ แทงตลอด ได้แก่ กระทำให้แจ้งนั่นแหละซึ่งธรรมเหล่านั้นๆ โดยนัยมีอาทิว่า สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ดังนี้

    บทว่า สนิทานํ ความว่า เราตถาคตกล่าวธรรมพร้อมทั้งปัจจัยนั่นแล ไม่ใช่ไม่มีปัจจัย

    บทว่า สปฺปาฏิหาริยํ ความว่า เราตถาคตกล่าวธรรมมีปาฏิหาริย์นั่นแหละ เพราะขจัดข้าศึกได้ ไม่ใช่ไม่มีปาฏิหาริย์

    บทว่า อลญฺจ ปน โว ความว่า ก็แลโอวาทานุสาสนีย์ควรแก่เธอทั้งหลาย

    บทว่า ตุฏฺฐิยา มีอรรถาธิบายว่า ควรทีเดียวที่จะทำความยินดีแก่เธอทั้งหลายผู้ระลึกถึงเนืองๆ ซึ่งรัตนะทั้ง ๓ โดยพระคุณว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้

    สั้นไหม เท่านี้เอง แต่ว่ามหาปฐพีหวั่นไหว เพราะเหตุว่าทรงแสดงถึงพระคุณของพระรัตนตรัย

    ผู้ถาม แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ในที่นี้ อาจารย์ขยายความให้หน่อย

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าผู้ปฏิบัติตามสามารถที่จะได้ผลควรแก่การปฏิบัติ คือ สามารถที่จะขจัดกิเลส ดับกิเลสได้ ไม่ใช่แสดงแล้วก็ไร้ผล คือไม่สามารถมีผู้ที่มีปัญญาจนสามารถที่จะดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง หรือจะกล่าวว่าเป็นการแสดงโดยพิสดาร

    ท่านอาจารย์ โดยที่ผู้ฟังพิจารณาแล้วก็น้อมประพฤติปฏิบัติตามจนได้รับผลจากการปฏิบัติสมควรแก่การปฏิบัตินั้นๆ

    ผู้ฟัง ในที่นี้ก็คงจะไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ หมายความถึงอนุสาสนีปาฏิหาริย์

    ผู้ฟัง อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ซึ่งผมเห็นว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าหลายตอนที่อาจารย์หยิบยกขึ้นมาอธิบายแต่ละครั้งๆ ก็มีปาฏิหาริย์ทั้งนั้น คือ เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ทั้งนั้นเลย ซึ่งน้อมนำมาปฏิบัติแล้วก็จะเข้าถึงพระนิพพานได้ ผมก็คิดว่า การเจริญสติปัฏฐานมีคำถามไม่จบ จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ท่านอาจารย์ มีข้อปฏิบัติอะไรที่รู้สึกว่า จะเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง หรือว่าน่าจะได้พิจารณาให้ชัดเจนว่า เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์อย่างไรที่เกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐานบ้างไหม ที่จะได้เกื้อกูลท่านผู้ฟังให้ช่วยกันพิจารณาข้อปฏิบัตินั้นๆ ว่า ถูกต้องสมบูรณ์หรือว่าคลาดเคลื่อนหรือไม่

    ผู้ถาม เมื่อสักครู่ที่อาจารย์บอกว่า ลักษณะเห็นต้นไม้ ก็คิดว่าเป็นต้นไม้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เห็นอะไรก็ตามแต่ ไม่ได้เพียงแต่เห็น คิดต่อทันที ไม่อย่างนั้นจะเป็นต้นไม้ จะเป็นคนกำลังเดิน จะเป็นเด็กกำลังเล่นฟุตบอลไม่ได้ ใช่ไหม ถ้าเพียงแต่เห็นเฉยๆ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า เวลาเห็นแล้ว ก็ยังคิดตามสิ่งที่เห็น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    24 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ