โสภณธรรม ครั้งที่ 078


    ตอนที่ ๗

    เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ ในชีวิตตามความเป็นจริงซึ่งจะต้องอยู่กันต่อไปอีกทีละวันๆ ๆ เรื่อยไป จนกว่าจะสิ้นสุดชาติหนึ่ง แล้วก็ต่ออีกชาติหนึ่งๆ ก็ควรจะเป็นผู้รู้จักชีวิตของตนเองตามปกติว่ายังเป็นผู้อยากได้รูป อยากได้เสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้โผฏฐัพพะ แต่ก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาด้วย

    นี่เป็นสิ่งซึ่งควรจะพิจารณา ไม่ใช่กิเลสดับไปหมดแล้ว กิเลสยังมี และก็ยังอยากได้ทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพะ แต่ก็เป็นผู้ที่กำลังอบรมเจริญปัญญา ด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจขึ้น เพื่อที่จะได้เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้กุศลเจริญขึ้นตามขั้นของปัญญาที่ได้ฟัง เป็นอนัตตาจริงๆ บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้าฟังยังน้อยอยู่ และก็ยังเข้าใจไม่มาก การที่จะให้สังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และปัญญาแทงตลอดในลักษณะที่เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ยังเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการอบรม ในขณะนี้ที่กำลังฟังอยู่อย่างนี้ ก็กำลังเป็นขณะที่อบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่พิจารณาตนเองตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะละกิเลสของแต่ละคนได้ นอกจากทุกคนจะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้จักตัวเอง แล้วก็ละคลายอกุศล

    ไม่ทราบมีท่านผู้ใดเห็นความละเอียดลึกล้ำของอกุศลบ้างไหม เพราะเหตุว่ามีอกุศลหลายระดับ อย่างผู้ที่ยังมีความสำคัญตน ซึ่งทุกคนถ้าไม่เข้าข้างตัวเอง ก็ต้องรู้สึกว่ายังมีอยู่แน่ๆ เพียงแต่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ เพราะเหตุว่าผู้ที่ไม่มีคือพระอรหันต์ และความสำคัญตนจะมีอย่างละเอียดจนกระทั่งถึงขั้นที่ต้องการให้กุศลเกิด หรือว่าทำกุศลต่างๆ เพื่อความสำคัญของตนว่าเป็นคนดี

    นี่คือความล้ำลึกของอกุศล ซึ่งถ้าปัญญาไม่รู้ทันอกุศลนั้นๆ ก็ไม่สามารถที่จะละคลายแม้แต่ขณะที่ทำกุศล ก็จะต้องพิจารณาว่า เป็นผู้ที่ทำเพื่ออะไร เพราะเหตุว่าบางคนยังมีความสำคัญตนอยู่มาก เพราะฉะนั้นทำกุศลก็เพื่อความสำคัญตนว่า เป็นคนดี

    เพราะฉะนั้นวิธีที่จะพิสูจน์ว่า อกุศลละคลายลงไปบ้างไหม และได้เข้าใจประโยชน์ของกุศล และเห็นโทษของอกุศลในวันหนึ่งๆ มีบทพิสูจน์หลายบททีเดียว เช่น ถ้าเป็นคนที่ไม่สำคัญเลยในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ขณะนั้นจะสบายใจไหม ถ้าเป็นคนที่ไม่สำคัญเลย ที่จริงแล้วสบายมาก แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความสำคัญตนที่สะสมมามาก ก็จะเป็นผู้ที่เดือดร้อน กระสับกระส่าย ไม่สบายใจเลย สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า วิถีชีวิตของแต่ละคนที่ได้ฟังพระธรรม มีการสะสมอบรมเหตุที่จะให้ปัญญาเกิดแล้วก็อบรมจนกระทั่งถึงขั้นที่จะละคลายกิเลสบ้างไหม เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่เริ่มเห็นความละเอียดของกิเลสขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ

    หรือว่าท่านเป็นผู้ที่รู้สึกว่าไม่มีศัตรู จริงไหม นี่คือเครื่องวัดกิเลส รู้สึกว่าไม่มีศัตรู หรือว่ายังเป็นผู้มีศัตรูอยู่ ขณะใดที่เป็นผู้ไม่มีศัตรู ขณะนั้นคือท่านไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ขณะนั้นมีจิตใจเกษม ปลอดโปร่ง ซึ่งข้อความในขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ อรรถกถามังคลสูตร แสดงว่า

    ย่อมเป็นผู้แม้แต่ศัตรูผู้หนึ่งให้พ่ายแพ้ไม่ได้

    คือไม่มีศัตรูของท่านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะทำให้ท่านพ่ายแพ้ได้ เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้ที่ไม่เป็นศัตรูกับใคร เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นผู้ที่มีจิตใจปลอดโปร่ง ไม่ได้คิดที่จะเป็นศัตรูกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดเลย

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ถึงความต่างกันของขณะที่อวิชชาเกิดกับขณะที่ปัญญาเกิด ถ้าเป็นอวิชชา เป็นสภาพที่มืด ทำให้ไม่รู้ความจริง ไม่เห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล และก็ไม่เห็นหนทางที่ถูกที่ชอบที่ควรจะกระทำ เพราะฉะนั้นก็ทำให้คิดก็คิดผิด ทำก็ทำผิด พูดก็พูดผิด แต่ว่าถ้าในขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นเห็นอกุศล แล้วก็ยังเห็นความ

    น่ารังเกียจของอกุศล เห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เป็นผู้ที่คิดถูก ทำถูก พูดถูก

    เพราะฉะนั้นการที่จะกล่าวเรื่องของปรมัตถธรรมที่เป็นโสภณธรรม ที่เป็นโสภณเจตสิกต่างๆ ที่อบรมเจริญขึ้น จนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น จนกว่าที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริงได้ ก็จะต้องย้ำเรื่องของการอบรมเจริญกุศลทุกประการ เพราะเหตุว่าลองคิดดูว่า ผู้ที่เป็นพระโสดาบันจะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติแน่นอน เพราะฉะนั้นทุกท่านย่อมรู้ตัวเองว่า ท่านถึงขั้นนั้นหรือยัง ที่จะเกิดอีกเพียง ๗ ชาติ หรือว่าจะไม่เกิดเกิน ๗ ชาติเลย และกิเลสที่มีอยู่ทุกวันๆ จะเอาไปทิ้งที่ไหน ลองคิดดูก็แล้วกัน เพราะเหตุว่าผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น เป็นผู้ที่น้อมไปสู่พระนิพพาน จะต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมในวันหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นถ้ากิเลสที่ยังมีอยู่ทุกๆ วัน และไม่ใช่เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองก็ไม่รู้เลยว่า กิเลสที่มีอยู่จะหมดไป จะสิ้นไป จะดับไปได้อย่างไร เพียงแต่ต้องการที่จะปฏิบัติแล้วให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปเพื่อที่จะได้ถึงนิพพาน โดยปัญญาไม่ได้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และไม่ได้คิดด้วยว่า ความโกรธวันนี้ ความโลภวันนี้ ความสำคัญตนวันนี้ จะหมดได้อย่างไรที่จะเหลืออีกเพียง ๗ ชาติเท่านั้น

    นี่เป็นปัญญาที่จะต้องอบรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นถ้าจิตใจของท่านผู้ใดสะอาดขึ้น แล้วก็เห็นโทษของอกุศลเพิ่มขึ้น น้อมประพฤติปฏิบัติธรรมที่เป็นกุศลทุกประการ มีปัจจัยที่จะให้สติปัฏฐานเกิดโดยถูกต้อง ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ศึกษาและปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น นั่นก็เป็นทางที่ท่านผู้นั้นย่อมรู้เองว่า วันหนึ่งเมื่อมีความเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง มีการอบรมเจริญกุศล และสติระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรม วันหนึ่งปัญญาย่อมประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เมื่อถึงชาตินั้นก็จะจำไม่ได้เลยว่า ชาติหนึ่งคือชาตินี้กำลังอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟัง และด้วยการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังแล้ว และก็คงจะจำไม่ได้ว่า ได้เคยยืนคุยกับสหายธรรมท่านใด หน้าห้องน้ำ หรือในห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยนี้ เมื่อถึงชาตินั้นวันนั้นก็จะจำไม่ได้เลยถึงชาติที่กำลังอบรมเจริญปัญญาอยู่ จำไม่ได้ว่าชาติไหนได้พบใคร รู้จักใคร สนิทสนมคุ้นเคยกับใคร และก็เคยสนทนากันเรื่องอะไรบ้าง หรือเคยไปเที่ยวเตร่สนทนาธรรมกันที่ไหนบ้าง

    ชาตินั้นก็เป็นชาตินั้น แต่ว่าก่อนที่จะถึงชาตินั้น ในชาติที่กำลังอบรมเจริญปัญญาซึ่งเป็นชาตินี้ ทุกคนก็คงจะจำได้ว่า พบใคร ที่ไหน ที่ตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยนี่เอง ซึ่งเป็นชาติที่กำลังอบรมเจริญปัญญาอยู่ ซึ่งอีกไม่นานทุกอย่างที่เป็นความทรงจำในชาตินี้ก็ต้องหมดสิ้นไป เมื่อจากโลกนี้ไปสู่สภาพความเป็นบุคคลใหม่ แต่ว่าทุกอย่างที่สะสมไว้สืบต่อติดตามไปได้ แต่ข้อสำคัญที่ควรจะต้องระวังก็คือว่า อย่าโน้มเอียงไปในทางที่เห็นผิด ประพฤติผิด และปฏิบัติผิด

    วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องฟังโดยละเอียดจริงๆ ซึ่งก็จะต้องกล่าวถึงทุกวิปัสสนาญาณ เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของการอบรมเจริญโสภณธรรม ทั้งหมด และในขณะนี้ก็กำลังกล่าวถึงตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นกลาง และสังขารุเปกขาญาณที่เป็นวิปัสสนาญาณที่ใกล้ต่อการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ยังจะเกิดไม่ได้เลย

    ถ้าในขั้นต้น ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาอย่างถูกต้องตาม ลำดับขั้น เพราะเหตุว่าส่วนมากบางคนเข้าใจว่า นั่งสักไม่นานเลย อาจจะเป็น แล้วแต่สติปัญญา บางคนก็เดือนหนึ่ง บางคนก็สองเดือน บางคนก็ ๓ เดือน ก็จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม และเท่าที่ได้ฟังจากรายการวิทยุบางแห่งก็กล่าวว่า เป็นสัมมนสนญาณบ้าง เป็นอุทยัพพยญาณบ้าง โดยที่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องใจร้อนหรือไม่ใช่เรื่องรีบร้อนที่จะต้องกล่าวถึงวิปัสสนาญานอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญปัญญา

    ในวันหนึ่งๆ กำลังสนุกสนานรื่นเริง แล้วก็เกิดระลึกได้ว่า แม้ขณะนี้ก็ไม่เที่ยง เพียงเท่านี้มีบ้างไหมคะในวันหนึ่งๆ อาจจะกำลังดูหนังสนุก อ่านหนังสือพิมพ์ หรือสนทนากัน หรือดูการละเล่นที่กำลังเพลิดเพลินมากทีเดียว จะมีบ้างไหมที่เกิดระลึกได้ว่า แม้ขณะนี้ก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียว ซึ่งไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แม้แต่เพียงขั้นจะคิดอย่างนี้ยังไม่มี แล้วจะกล่าวถึงการประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึกขณะนี้ได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องข้าม แต่ว่าเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าก่อนการฟังพระธรรมก็สนุกสนานกันไปวันหนึ่งๆ ไม่เคยที่สติจะเกิดระลึกว่า แม้ในขณะนี้ก็เป็นชั่วขณะจิตเดียวซึ่งกำลังสนุก กำลังเพลิดเพลิน กำลังพอใจอย่างยิ่ง ก่อนที่จะฟังพระธรรมไม่เคยคิด และเมื่อฟังแล้วมากๆ นานๆ ก็ยังไม่ค่อยจะได้คิด เพียงแต่ว่าบางครั้งบางคราก็เกิดระลึกได้บ้างถ้าผู้นั้นพิจารณาละเอียดก็จะรู้ว่า แม้สติในขณะที่คิดอย่างนั้นก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย เพียงเท่านี้เกิดคิดขึ้นมาได้ แต่ถ้าไม่เคยฟังมาก่อน ไม่มีทางที่จะเกิดระลึกได้ เช่น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเวลาที่ท่านดูการละเล่นที่พระนครราชคฤห์ ท่านเกิดความสลดใจ ท่านยังไม่ได้พบท่านพระอัสสชิ หรือยังไม่ได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคเลย แต่การสะสมที่สะสมมาในอดีตชาติไม่ได้สูญหาย เพราะฉะนั้นก็เป็นปัจจัยเกื้อกูลที่จะให้สติขั้นนั้นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรม แล้วยังไม่ได้ระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่ศึกษา ไม่พิจารณาสังเกตลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เพียงขั้นที่จะระลึกได้ว่า ความสุขนี้ก็เพียงชั่วขณะเดียว ครู่เดียวเท่านั้นเอง ก็จะเห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ว่า เมื่อสติที่ระลึกได้เป็นอนัตตาอย่างไร สติปัฏฐานที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็เป็นอนัตตาอย่างนั้น บังคับบัญชาไม่ได้เลย นี่คือประโยชน์ของการฟัง

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ปฏิบัติถูก ย่อมเป็นผู้ที่เห็นพระคุณของพระรัตนตรัย ซึ่งรวมทั้งพระธรรมด้วย ไม่ใช่ว่าพระธรรมที่เรียนมาทั้งหมดไม่มีประโยชน์ ไม่ได้เกื้อกูล ไม่ได้ทำให้เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ตรงตามที่ได้ศึกษา

    ข้อความในปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตร มีข้อความว่า

    พุ่มไม้ที่งอกงาม เรียกว่า กอไม้รุ่น ยอดกิ่งมีดอกบานสะพรั่ง

    ซึ่งอรรถกถาได้อธิบายว่า ดอกไม้ที่เกิดที่กิ่งใหญ่กิ่งน้อยทุกกิ่ง ดอกไม้นั้นท่านกล่าวว่า มียอดอันบานแล้ว

    ย่อมสง่างามอย่างเหลือเกิน ในป่าที่รกชัฏด้วยต้นไม้นานาชนิด ในฤดูวสันต์เป็นเดือนต้นฤดูคิมหันต์ ฉันใด พระผู้มีพระภาค มิใช่ทรงแสดงพระธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ มิใช่ทรงแสดงเพราะเห็นแก่สักการะเป็นต้น หากแต่มีพระหฤทัยอันพระมหากรุณาให้ทรงขะมักเขม้นอย่างเดียว ได้ทรงแสดงพระปริยัติธรรมอันประเสริฐ ที่ชื่อว่า มีอุปมาเหมือนอย่างนั้น เพราะสง่างามอย่างยิ่งด้วยดอกไม้ คือประเภทแห่งอรรถนานาประการ มีขันธ์ อายตนะเป็นต้นก็มี มีสติปัฏฐานและสัมมัปปธานเป็นต้นก็มี มีศีลขันธ์ สมาธิขันธ์เป็นต้นก็มี ชื่อว่า ให้ถึงพระนิพพาน เพราะทรงแสดงมรรคอันให้ถึงพระนิพพาน เพื่อเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่สัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน

    นี่คือผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม เพราะเหตุว่าถ้าไปที่ไหนเห็นดอกไม้ที่มีดอกบานสะพรั่งทั้งต้น ทุกคนตื่นเต้นไหมคะว่า ช่างงามจริง ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ที่กิ่งใหญ่กิ่งน้อย ทุกกิ่งมีดอกบานสะพรั่ง แต่ว่าอย่าเพียงดูดอกไม้บานสะพรั่งน่าดูเท่านั้น ควรที่จะได้คิดถึงความงามสะพรั่งของดอกไม้ คือ พระธรรมด้วย เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณา ทรงขะมักเขม้นที่แสดงพระปริยัติธรรมอันประเสริฐ

    พระธรรมที่ได้ฟังทั้งหมด ถ้ามีความเข้าใจไม่ว่าในเรื่องของขันธ์ อายตนะ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ เป็นต้น ชื่อว่า ให้ถึงพระนิพพาน

    เพราะฉะนั้นท่านที่ชอบธรรมชาติ และก็ชอบดูดอกไม้บานเต็มต้นสวยๆ ก็อาจจะระลึกถึงว่า พระธรรมงามสง่ายิ่งกว่านั้น เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงและก็พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงด้วยพระมหากรุณาโดยละเอียด ที่จะให้ผู้ฟังได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ จนถึงการประจักษ์แจ้งได้

    ที่จำเป็นต้องกล่าวภาษาบาลี ก็เพราะเหตุว่าต้องอธิบายให้เข้าใจด้วยว่า คำนี้เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคทรงหมายถึงสภาพธรรมอะไร เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะไม่มีทางเลยที่จะรู้ว่า นั่นคือพระธรรมที่ทรงแสดงถ้าไม่ได้ใช้คำภาษาบาลี แต่ว่าคำที่ใช้เป็นภาษาบาลีทั้งหมด ท่านผู้ฟังก็จะค่อยๆ เข้าใจความหมายทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อยๆ ได้ ถ้าเป็นผู้ที่ปฏิบัติถูก ก็ต้องเห็นประโยชน์ของพระธรรม

    เรื่องที่จะประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่จะขัดเกลากิเลส โดยการเป็นผู้เจริญกุศลและอบรมเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้มากจริงๆ เช่น ข้อความตอนหนึ่งในปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ อรรถกถาเมตตสูตร พรรณนาคาถาที่ ๒ มีข้อความว่า

    ชื่อว่า ตรง คือ อุชุ เพราะทำด้วยความไม่อวดดี

    ชื่อว่า ตรงดี สุหุชู เพราะไม่มีมายา หรือว่า ชื่อว่า ตรง เพราะละความคดทางกายและวาจา ชื่อว่า ตรงดี เพราะละความคดทางใจ

    ละเอียดไหม มีตรงหลายอย่าง คือ ตรง เพราะทำด้วยความไม่อวดดี

    เหตุเป็นอย่างไร ผลเป็นอย่างไร ไม่มีความคิดที่ว่าความเห็นที่ผิดนั้นเป็นความเห็นที่ถูก ชื่อว่า ตรงดี เพราะไม่มีมายา หรือว่า ชื่อว่า ตรง เพราะละความคดทางกายและวาจา และชื่อว่า ตรงดี เพราะละความคดทางใจ

    คดนี่ก็มีตั้งแต่ทางกาย และวาจาก็คด และยังถึงใจที่คด วาจาที่คด ถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้สึกว่าเป็นทุจริต เพราะว่าคดนิดๆ ยังไม่ตรง เพราะฉะนั้นผู้ที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ต้องชื่อว่า ตรงดี เพราะละความคดทางใจ

    แม้แต่ใจที่จะคดโกง ไม่ตรงต่อเหตุต่อผล ก็ต้องละ มิฉะนั้นแล้วพระธรรมจะไม่เกื้อกูล จะไม่มีประโยชน์เลย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    หรือชื่อว่า ตรง เพราะไม่อวดคุณที่ไม่มีจริง ชื่อว่า ตรงดี เพราะอดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่จริง

    เวลาที่ต้องการให้คนอื่นเห็นว่า มีสิ่งที่พิเศษ ก็ขอให้คิดลึกลงไปถึงกิเลสว่า ขณะนั้น ไม่อดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่จริง

    ไม่ได้มีคุณอย่างนั้นเลย แต่ว่าทำไมต้องคิดหรือแสดงให้คนอื่นเข้าใจว่ามีคุณอย่างนั้น เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจะไม่ใช่ผู้ตรง แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ชื่อว่า ตรงดี เพราะอดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่จริง

    พึงชื่อว่ าเป็นผู้ตรงและตรงดี

    กว่าจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และสติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว โดยไม่บิดเบือน อกุศลขั้นไหนเกิด สติสามารถที่จะระลึกรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ภิกษุมิใช่พึงเป็นผู้ตรงและตรงดีอย่างเดียว ที่แท้พึงเป็นผู้ว่าง่ายอีกด้วย ก็บุคคลใดถูกท่านว่ากล่าวว่า ท่านไม่ควรทำข้อนี้ ก็พูดว่า ท่านเห็นอะไร ท่านได้ยินอย่างไร ท่านเป็นอะไรกับเราถึงพูด เป็นอุปัชฌาย อาจารย์ เพื่อนเห็นเพื่อนคบหรือ หรือเบียดเบียนผู้นั้นด้วยความนิ่งเสีย หรือยอมรับแล้วไม่ทำอย่างนั้น ผู้นั้น ชื่อว่ายังอยู่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ ส่วนผู้ใดถูกท่านโอวาทก็กล่าวว่า ดีละ ท่านขอรับ ท่านพูดดี ขึ้นชื่อว่าโทษของตนเป็นของเห็นได้ยาก ท่านเห็นกระผมเป็นอย่างนี้ โปรดอาศัยความเอ็นดูว่ากล่าวอีกเถิด กระผมไม่ได้รับโอวาทจากสำนักท่านเสียนาน และปฏิบัติตามที่ท่านสอน ผู้นั้นชื่อว่าอยู่ไม่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ เพราะฉะนั้น บุคคลรับคำของผู้อื่น แล้วกระทำอย่างนี้ พึงชื่อว่าเป็นผู้ว่าง่าย

    ขอให้ดูความละเอียดของพระธรรมที่แสดงว่า คนที่ว่ายาก เวลาที่คนอื่นกล่าวโทษหรือว่าชี้โทษของตนเองให้เห็น ก็พูดว่า ท่านเห็นอะไร ท่านได้ยินอย่างไร ท่านเป็นอะไรกับเราถึงพูด เป็นอุปัชฌาย อาจารย์ เพื่อนเห็น เพื่อนคบ หรือ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เพื่อนก็มีตั้งแต่เพื่อนเห็นกับเพื่อนคบ ท่านที่มาฟังธรรมที่นี่ มีเพื่อนเห็นหลายคนไหม แล้วก็มีเพื่อนคบกี่คน เพราะฉะนั้นเวลาที่จะเกื้อกูลกัน ถ้าเป็นคนที่ว่ายากก็ไม่ยอมฟัง แล้วยังกล่าวด้วยว่า เป็นเพื่อนเห็นเพื่อนคบหรือ แล้วยังเบียดเบียนผู้ที่อนุเคราะห์ด้วยการนิ่งเสีย หรือยอมรับแล้วไม่ทำอย่างนั้น รับได้แต่ไม่ยอมทำตาม ผู้นั้นชื่อว่ายังอยู่ไกลการบรรลุคุณวิเศษ

    ข้อความต่อไปก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องว่าง่ายเท่านั้น ยังไม่พอ การที่จะเป็นคนที่เหลืออีก ๗ ชาติ และกิเลสที่มีสะสมมาในอดีตอนันตชาติ แม้ในชาตินี้จะเอาไปทิ้งไว้ที่ไหน ขอให้คิดดูตามความเป็นจริง ถ้าไม่อบรมเจริญกุศลทุกประการจริงๆ

    ข้อความต่อไปก็เป็นข้อความที่แสดงว่า ไม่ใช่เป็นแต่เพียงผู้ที่ว่าง่ายอย่างเดียว ควรจะเป็นผู้ที่อ่อนโยนด้วย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่งเป็นผู้ว่าง่ายอย่างใด ก็พึงเป็นผู้อ่อนโยนอย่างนั้น

    ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “อ่อนโยน” ด้วย

    บทว่า มุทุ ความว่า ภิกษุถูกพวกคฤหัสถ์ใช้ในการเป็นทูตไปรับส่งข่าวเป็นต้น ก็ไม่ทำความอ่อนแอในกิจนั้น เป็นผู้แข็งกร้าวเสีย พึงเป็นผู้อ่อนโยน ในวัตรปฏิบัติและพรหมจรรย์ทั้งสิ้น ทนต่อการไม่ต้องรับใช้ในกิจนั้น เหมือนทองที่ช่างตกแต่งด้วยดี อีกอย่างหนึ่ง บทว่า มุทุ ได้แก่เป็นผู้ไม่มีหน้าสยิ้ว คือ เป็นผู้มีหน้าเบิกบาน เจรจาแต่คำที่ให้เกิดสุข ต้อนรับแขก พึงเป็นเหมือนผู้ลงสู่ท่าน้ำที่ดีโดยสะดวก มิใช่แต่เป็นผู้อ่อนโยนอย่างเดียว พึงเป็นผู้ไม่มีอติมานะดูหมิ่นเขาด้วย ไม่พึงดูหมิ่นผู้อื่นด้วยวัตถุแห่งการดูหมิ่น มีชาติและโคตร เป็นต้น พึงมีใจเสมอด้วยเด็กจัณฑาลอยู่ เหมือนท่านพระสารีบุตรเถระฉะนั้น

    พร้อมที่จะเหลืออีก ๗ ชาติไหม ต้องตรงตามความเป็นจริง ขัดเกลากิเลส พร้อมทั้งเป็นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐาน อย่าคิดว่าจะไปนั่งแล้วก็ประจักษ์การเกิดดับ และกิเลสที่มีมากมายในวันหนึ่งๆ ก็ไม่เคยระลึกรู้เลยว่าตามความเป็นจริงละเอียดมาก ซึ่งในขณะนี้ตัตตรมัชฌัตตตาก็เพิ่งจะมาถึงอุทยัพพยญาณเท่านั้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    2 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ