โสภณธรรม ครั้งที่ 086


    ตอนที่ ๘๖

    นี่คือการที่จะขัดเกลา นี่คือการที่จะฟังพระธรรม แล้วก็รู้สภาพจิตของตนเอง เพื่อที่ว่าเวลาที่เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติจะไว และจะรู้ลักษณะของอกุศลว่าเป็นอกุศล และถ้าเป็นสติปัฏฐาน ก็สามารถที่จะระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นการคิดนึกที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เมื่อกล่าวคำว่า งูพิษตัวนี้น่าเอ็นดูนะ เหมือนงูน้ำจักสามารถกัดอะไรๆ ได้หรือ จักสามารถแผ่พิษไปในร่างกายของใครๆ ได้หรือ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ดูแคลนงู

    เคยคิดไหม อาจจะไม่เคยพบงู แต่ก็เปลี่ยนเป็นสัตว์ประเภทอื่นได้

    ต่อไปก็เป็นเรื่องของไฟ มีข้อความว่า

    จับไฟแม้เท่าหิ่งห้อย เล่นด้วยมือเหวี่ยงไปที่หม้อสิ่งของ เหวี่ยงไปที่มวยผมก็ดี ที่หลังที่นอนผ้ากระสอบเป็นต้นก็ดี ชื่อว่า ดูหมิ่นไฟ

    ไฟไหม้เพราะดูหมิ่นไฟ เพราะประมาท

    แต่ถ้ากล่าวว่า ไฟนี่น่าเอ็นดูนะ จักหุงต้มข้าวต้มข้าวสวยอะไรได้บ้างนะ จักปิ้งปลาและเนื้ออะไรได้บ้าง จักบรรเทาความหนาวของใครได้ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ดูแคลน

    ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของภิกษุ มีข้อความว่า

    อนึ่ง บุคคลพบภิกษุหนุ่มและสามเณรสวนทางแล้วไม่ถวายทาง กระทำความประพฤติที่ไม่สมควร ซึ่งกล่าวไว้แล้วในเรื่องพระราชกุมาร ชื่อว่า ดูหมิ่นภิกษุ

    ลักษณะที่ดูหมิ่นภิกษุ จะประพฤติสิ่งที่ไม่สมควร ทุกวันทุกคนต้องเห็นเพศบรรพชิต ท่านจะมีความประพฤติเป็นไปอย่างไร ก็เป็นเรื่องของท่าน แต่ว่าจิตที่กำลังเห็น แล้วก็กำลังคิด แล้วกำลังประพฤติต่อท่าน เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    นี่เป็นสิ่งที่ควรจะกระทำกิจของตน

    แต่ถ้ากล่าวว่า สามเณรรูปนี้น่าเอ็นดูหนอ แก้มยุ้ย ท้องพลุ้ย จักสามารถเรียนพระพุทธวจนะอย่างใดอย่างหนึ่งได้ จักสามารถยึดป่าแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ได้ จักเป็นที่น่าพอใจในเวลาเป็นพระสังฆเถระได้หรือ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า ดูแคลน

    ไม่ใช่ดูหมิ่น แต่ว่าดูแคลน เพราะฉะนั้นก็เป็นอกุศลจิตที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณาจริงๆ

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงว่า ข้อนั้นแม้ทุกข้อไม่ควรทำ จึงตรัสว่า ไม่ควรดูหมิ่น ไม่ควรดูแคลน

    ถ้าจะต้องเกิดอีก ๗ ชาติ เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ลองคิดดูว่าความคิดเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ที่เป็นอกุศล ก็จะต้องค่อยๆ ละคลายไปจนกระทั่งมีปัจจัยที่จะทำให้เหลือการเกิดเพียง ๗ ชาติเท่านั้นจริงๆ มิฉะนั้นก็ยังจะต้องเกิดมากกว่า ๗ ชาติ

    สำหรับความคิดที่ถูกและความประพฤติที่ถูก ก็ต้องต่างจากความคิดที่ผิดและความประพฤติที่ผิด เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความคิดที่ถูกและความประพฤติที่ถูก จะเป็นอย่างไร ข้อความในอรรถกถาทหรสูตรมีว่า

    ก่อนอื่นเมื่อพิจารณาเห็นอานิสงส์ มีตำบล แขวง ยานพาหนะ เป็นต้น ที่ได้มาเพราะอาศัยพระมหากษัตริย์

    นี่คือการที่คิดถูก

    อานิสงส์มีผ้า เงินทอง เป็นต้น ที่พึงได้ด้วยการให้งูนั้นเล่นกีฬา เพราะอาศัยงู

    นี่ก็เป็นความคิดถูก คือไม่ดูหมิ่น ไม่ดูแคลนงู

    อานิสงส์มีต้มหุงข้าวต้ม ข้าวสวย และบรรเทาความหนาวเป็นต้น ที่พึงได้ปรารภด้วยอำนาจของไฟนั้น เพราะอาศัยไฟ

    นี่คือไม่ดูหมิ่นไฟ

    อานิสงส์มีได้ฟังเรื่องที่ยังไม่ได้ฟัง ทำเรื่องที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง และการบรรลุมรรคของตนเป็นต้น ที่พึงถึงด้วยอำนาจภิกษุนั้น เพราะอาศัยภิกษุ

    นี่คือความคิดถูก มีความเคารพ และสามารถที่จะได้ประโยชน์ เช่น ได้ฟังเรื่องที่ยังไม่ได้ฟัง ทำเรื่องที่ฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง และสามารถที่จะบรรลุแม้มรรคของตน ก็ด้วยอำนาจของภิกษุ หรือเพราะอาศัยภิกษุนั้น

    ซึ่งข้อความตอนท้ายมีว่า

    อันผู้ประสงค์จะฟังเรื่องที่ยังไม่ได้ฟังเป็นต้น คุ้นเคยสนิทกับภิกษุ ไม่ใช้ท่านให้ทำตัวเป็นหมอ รับใช้ก่อสร้างเป็นต้น พึงบำรุงด้วยปัจจัย ๔ โดยเคารพ อาศัยภิกษุนั้น ก็จักได้พระพุทธพจน์ที่ไม่เคยฟัง ด้วยประการฉะนี้

    เรื่องชีวิตประจำวัน เรื่องกุศลจิต เรื่องอกุศลจิต ซึ่งชีวิตประจำวันที่ผ่านไปแต่ละขณะ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง จะไม่มีใครรู้เลยว่า ทุกๆ ขณะแต่ละบุคคลค่อยๆ สะสมฉันทะ ความพอใจในความคิดเห็น ในจริต คือการกระทำบุญกรรมหรือบาปกรรมในแต่ละขณะไปอย่างละเอียดจริงๆ เพราะเพียงเท่านั้นเองจะรู้ได้อย่างไรว่าสะสมไปแล้ว ชั่วขณะที่เกิดขึ้นสะสมที่จะคิดอย่างนั้น ที่จะพูดอย่างนั้น ที่จะดูหมิ่นอย่างนั้น ที่จะดูแคลนอย่างนั้น หรือที่จะเห็นประโยชน์ ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนไม่มีทางที่จะรู้เลย แม้ในชาตินี้เอง เมื่อสติไม่เกิด ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า แต่ละขณะจิตเป็นอกุศลขั้นไหน แค่ไหน และนอกจากนั้นในอดีตอนันตชาติที่ผ่านมาแล้ว ก็ยังสะสมอยู่ในจิตทุกขณะ แต่ว่าข้อความในปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ทรงแสดงพระญาณของพระผู้มีพระภาคในฉันทะเป็นที่มานอน และกิเลสอันนอนเนื่องแห่งสัตว์ทั้งหลาย

    ในญาณนี้ พระตถาคตย่อมทรงทราบฉันทะเป็นที่มานอน กิเลสอันนอนเนื่อง จริต อธิมุติ ของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมทรงทราบชัดภัพพสัตว์และอภัพพสัตว์

    ภัพพสัตว์ คือ ผู้ที่ไม่มีกรรม กิเลส วิบากเป็นเครื่องกั้นที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และเป็นผู้มีศรัทธา มีฉันทะ มีปัญญาพอที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ส่วนอภัพพสัตว์ก็คือผู้ที่ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    เพราะฉะนั้นลองพิจารณาฉันทะของแต่ละบุคคลหรือของท่านเอง ข้อความในปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๒๗๘ มีข้อความว่า

    ก็ฉันทะเป็นที่มานอนของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน ฯ

    แม้แต่ฉันทะของแต่ละคนเองก็ไม่สามารถจะรู้ได้ลึกซึ้ง แต่ว่าทุกคนก็มีฉันทะแล้ว คือ

    สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้อาศัยทิฏฐิในภพก็มี

    คือเป็นผู้ที่มีสัสสตทิฏฐิ เห็นว่าเที่ยง

    ในความปราศจากภพ

    คือในความเห็นว่า ตายแล้วสูญ เป็นอุทเฉททิฏฐิก็มี

    ดังนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง

    ลองคิดดูว่า คนที่จะคิดอย่างนี้ ต้องมีความโน้มเอียง ต้องมีฉันทะ ต้องมีความพอใจที่จะเห็นอย่างนี้ ที่จะชอบใจในความคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็ยากที่จะคิดเปลี่ยนแปลงบุคคลที่สะสมฉันทะอย่างนี้มา ที่จะให้มีความเห็นถูกได้ แต่ว่าถ้าเป็นพุทธบริษัทผู้ไม่ประมาท ก็จะพิจารณาได้ว่า ถ้ามีความเห็นผิดประการใดต้องรีบทิ้ง ต้องรีบเปลี่ยนและแก้ให้เป็นความเห็นถูกขึ้น หรือว่าถ้าเป็นผู้ที่ฉลาดกว่านั้น มีปัญญากว่านั้น ก็ต้องรู้ว่าอกุศลใดๆ ที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยพิจารณาจิตของตนเองเลย ถ้าเห็นแล้วก็รีบละ นี่คือผู้ที่จะอบรมเจริญกุศลละเอียดขึ้น

    ข้อ ๒๗๙ มีข้อความว่า

    ก็กิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน ฯ

    กิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย คือ กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย มานานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย

    กามราคานุสัย คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะซึ่งยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็รู้กิเลสอันนอนเนื่อง เมื่อมี ก็มี ไม่ต้องวุ่นวายกับกิเลสซึ่งไม่สามารถจะดับได้ด้วยความไม่รู้

    มีท่านผู้ฟังบางท่าน ก็เป็นห่วงมาก เรื่องของโลภะท่านก็บอกว่าท่านมีมาก เรื่องของโทสะก็มีมาก แต่ว่าท่านจะทำอะไรกับโลภะโทสะของท่านได้ นอกจากจะต้องดับกิเลสไปตามลำดับขั้นของปัญญา ถ้าปัญญายังไม่เกิด โลภะเกิดก็เพราะมีเหตุปัจจัยก็ต้องเกิด เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับกามราคานุสัย

    กามราคานุสัยของหมู่สัตว์ ย่อมนอนเนื่องในอารมณ์อันเป็นที่รักที่ยินดีในโลก ปฏิฆานุสัย คือ ความขุ่นเคือง ไม่พอใจ ปฏิฆานุสัยของหมู่สัตว์ ย่อมนอนเนื่องในอารมณ์อันไม่เป็นที่รักที่ยินดีในโลก อวิชชาตกไปตามในธรรมสองประการนี้ ดังนี้

    วันหนึ่งๆ ไม่โลภะ ก็โทสะ เพราะอวิชชาซึ่งตกไปตามธรรม ๒ ประการนี้ ดังนี้

    มานะ ทิฏฐิ และวิจิกิจฉาซึ่งตั้งอยู่ร่วมกันกับอวิชชานั้น ก็พึงเห็นดังนั้น นี้เป็นกิเลสอันนอนเนื่องของสัตว์ทั้งหลาย ฯ

    แต่ละขณะที่ชอบครั้งหนึ่ง ก็เพิ่มความติดความพอใจ ขณะที่โกรธ ขุ่นเคืองใจครั้งหนึ่ง กิเลสนั้นก็ยังไม่ได้ดับ ก็จะต้องสะสมสืบต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นที่ว่าจะดับกิเลส หรือบอกให้ละกิเลส จะทำได้อย่างไร ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะต้องรู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่กำลังปรากฏ

    ข้อ ๒๘๐ กล่าวถึงจริตของสัตว์ทั้งหลาย

    ก็จริตของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน

    ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร เป็นภูมิน้อยก็ตาม เป็นภูมิมากก็ตาม เป็นจริตของสัตว์ทั้งหลาย ฯ

    เพราะฉะนั้นที่ทุกคนจะมีจริต คือ ความประพฤติในวันหนึ่งๆ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ก็เป็นเพราะปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร แต่ก็คงจะไม่ถึงอเนญชาภิสังขารในสมัยนี้ เพราะเหตุว่าต้องเป็นอรูปฌานกุศล สำหรับอปุญญาภิสังขาร ก็เป็นอกุศลทุกประเภท ปุญญาภิสังขาร ก็ได้แก่กามาวจรกุศลและรูปาวจรกุศล

    นอกจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังได้ทรงแสดงอธิมุติของสัตว์ทั้งหลาย

    ข้อ ๒๘๑ ก็อธิมุติของสัตว์ทั้งหลายเป็นไฉน

    สัตว์ทั้งหลายมีอธิมุติเลวก็มี มีอธิมุติประณีตก็มี สัตว์ทั้งหลายผู้มีอธิมุติเลว ย่อมสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กับสัตว์ผู้มีอธิมุติเลวเหมือนกัน สัตว์ผู้มีอธิมุติประณีต ย่อมสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กับสัตว์ผู้มีอธิมุติประณีตเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นจะไปชักชวนใครให้มีความเห็นอย่างเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าแม้จะอยู่ร่วมบ้าน บางคนก็มีความเห็นต่างกัน ซึ่งเรื่องของผู้มีอธิมุติเลว ก็ย่อมคบหาสมาคมเข้านั่งใกล้กับผู้ที่มีอธิมุติเลวเหมือนกัน ผู้มีอธิมุติประณีตก็ย่อมสมาคมคบหาเข้านั่งใกล้กับสัตว์ผู้มีอธิมุติประณีตเหมือนกัน

    แสดงให้เห็นว่า เรื่องของการคบหาสมาคมเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่จะต้องระวัง โดยเฉพาะในเรื่องของความเห็น เพราะเหตุว่าบางท่านยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม แต่ก็ถูกชักชวนให้ไปปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่เข้าใจเรื่องของสติปัฏฐาน ไม่เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่เข้าใจว่าปัญญาจะต้องเจริญขึ้น เพราะเหตุว่าภาวนาคือการอบรมเจริญความเข้าใจขึ้น ความที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น พิจารณาถูกต้องขึ้น

    เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความเข้าใจในพระธรรม และคบหาสมาคมกับความเห็นผิด ก็ย่อมจะต้องเห็นผิดตามไปด้วย ซึ่งข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะมีว่า

    บทว่า พาลานํ ความว่า ชื่อว่า พาล เพราะเป็นอยู่ หายใจได้

    อธิบายว่า เป็นอยู่โดยเพียงหายใจเข้า หายใจออก ไม่เป็นอยู่โดยความเป็นอยู่ด้วยปัญญา

    บทว่า บัณฑิตานํ ความว่า ชื่อว่า บัณฑิต เพราะดำเนินไป อธิบายว่า ดำเนินไปด้วยคติ คือ ความรู้ในประโยชน์ที่เป็นปัจจุบันและภายภาคหน้า

    นี่เป็นคำอธิบายคาถาว่า อเสวนา จ พาลานํ ซึ่งเป็นอรรถกถามงคลสูตร

    ถ้าไม่คิด ก็ไม่เห็นประโยชน์เลย แต่ถ้าคิดจะเปลี่ยนสภาพจากความเป็นคนพาลสู่ความเป็นบัณฑิตไหม

    นี่คือโยนิโสมนสิการหรืออโยนิโสมนสิการ เพราะว่าในสายตาของบัณฑิต ผู้ที่เป็นคนพาล ที่ชื่อว่า พาล เพราะเป็นอยู่หายใจได้เท่านั้นเอง มีชีวิตอยู่โดยเพียงหายใจเข้าหายใจออก แต่ว่าตลอดชีวิตนั้นไม่ได้เป็นอยู่ด้วยความเป็นอยู่ด้วยปัญญา มีมากหรือน้อย ถ้าคิดถึงบุคคลในโลกนี้

    ก่อนที่จะถึงวิปัสสนาญาณต่อๆ ไป ซึ่งท่านผู้ฟังหลายท่านทีเดียว ก็คงจะไม่ซาบซึ้ง เพราะเหตุว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ แต่เมื่อไม่ประจักษ์จะซาบซึ้งได้อย่างไร แต่ว่าถ้าพูดถึงชีวิตประจำวันตามปกติ พูดถึงความละเอียดของสภาพธรรม พูดถึงสิ่งซึ่งพิสูจน์ได้ และสติก็ค่อยๆ อบรมไปพร้อมกับการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นการเกื้อกูลกันทั้งปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน และปัญญาขั้นพิจารณาเรื่องของกุศลและอกุศล มิฉะนั้นพระผู้มีพระภาคก็จะไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้มากมายโดยประการทั้งปวง ก็คงจะแสดงแต่เพียงพระอภิธรรมและสติปัฏฐานเท่านั้น แต่เพราะเหตุว่าธรรมอื่นก็เกื้อกูลด้วยในขณะที่เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็ควรที่จะได้รับฟังและมีสิ่งใดที่จะเกื้อกูลให้ปัญญามีความเห็นถูกแทนอวิชชา แทนที่จะเป็นอกุศล เพราะอโยนิโสมนสิการ ปัญญาก็สามารถที่จะพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการได้

    มีท่านผู้หนึ่งที่สนใจเรื่องของสังฆทานมากที่ท่านเคยถามว่า ทำอย่างไรจะเป็นสังฆทาน หรือว่าทำอย่างนั้นๆ จะเป็นสังฆทานไหม แม้ว่าจะได้เรียนให้ทราบว่า สังฆทานนั้นอยู่ที่ความนอบน้อม การที่ทรงแสดงไว้ว่า สังฆทานจะมีอานิสงส์มาก ได้บุญมากนั้น ก็เพราะเหตุว่าสังฆทานเป็นเครื่องสอบกิเลสในจิตใจให้รู้ว่า ในขณะนั้นเป็นผู้มีปกติอ่อนน้อม หรือว่าเป็นผู้มีปกติอยากได้บุญ

    การฟังพระธรรมสามารถจะพิจารณาได้หลายอย่าง เมื่อมีผู้กล่าวถึงสังฆทานว่า มีอานิสงส์มาก ผู้ฟังด้วยโลภะที่สะสมมา ก็ยินดีต้องการผลของสังฆทาน คืออยากจะทำสังฆทานเพราะอะไร เพราะว่าได้บุญมาก

    นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ด้วยความต้องการหรือว่าด้วยความอยาก แต่ถ้ารู้ว่าสังฆทานคือผู้ที่มีปกตินอบน้อมแล้วไม่เลือกผู้รับซึ่งเป็นภิกษุ คือ ไม่เลือกภิกษุบุคคล เพราะฉะนั้นก็มีความนอบน้อมและไม่เจาะจงภิกษุซึ่งเป็นผู้รับ

    นี่ตรงกันข้ามกับเป็นผู้ที่อยากจะได้บุญมาก เพราะเหตุว่ารู้ว่าสังฆทานได้บุญมาก เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรม ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาละเอียดจริงๆ ก็จะรู้ได้ว่า ผลมากหรือผลน้อยนั้นก็อยู่ที่กุศลจิตซึ่งเป็นเหตุ ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุทาน ไม่ใช่อยู่ที่ความพยายามที่จะให้เป็นสังฆทาน หรือไม่ใช่อยู่ที่ความต้องการอยากจะให้ในขณะนี้นอบน้อมเพื่อที่จะเป็นสังฆทาน บางท่านปกติไม่นอบน้อมต่อภิกษุ แต่ว่าเวลาที่อยากจะได้กุศลมากในขณะที่ให้ทานก็พยายามนอบน้อมในขณะนั้นเพื่อเหตุ คือ เพื่อผลที่จะเป็นสังฆทาน แต่ว่าถ้าเป็นผู้มีปกตินอบน้อมอยู่เสมอ ในขณะที่ให้ก็เป็นผู้ที่นอบน้อมและก็ไม่เลือกภิกษุบุคคลที่เป็นผู้รับด้วย ขณะนั้นก็เป็นสังฆทาน โดยไม่มีความอยากที่จะทำสังฆทาน หรือว่าไม่ต้องพยายามที่จะให้เป็นสังฆทาน หรือว่าไม่ต้องการที่จะทำสังฆทาน

    นี่เป็นความต่างกันของความละเอียดของจิต

    ข้อความในอรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มัจฉริสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เราไม่อาจเพื่อถือเอามหาทาน แล้วทำให้ชื่อว่ามีผลน้อย หรือทานอันน้อย ทำให้ชื่อว่ามีผลมาก เพราะความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    คือแม้พระผู้มีพระภาคเองก็ไม่ทรงสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงทานน้อยให้เป็นทานใหญ่ หรือว่าทานใหญ่ให้เป็นทานน้อยได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าใครๆ ก็สงสัยอยากจะรู้ แล้วก็ถามคนอื่นว่า ทำอย่างนี้แล้วจะได้บุญมากไหม จะได้ผลมากไหม ซึ่งไม่มีทางที่ใครจะไปเปลี่ยนแปลงจิตของบุคคลนั้นได้ ซึ่งบุคคลนั้นเองต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะรู้ว่า ในขณะนั้นกุศลจิตเป็นอย่างไร มากหรือน้อย หรือว่ามีอกุศลเกิดคั่นแทรก

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ก็แต่มหาทานนี้ ชื่อว่ามีผลน้อยอย่างนี้ เพราะความไม่บริสุทธิ์เกิดขึ้นกับตน ทานน้อยนี้ ชื่อว่ามีผลมากอย่างนี้ เพราะความบริสุทธิ์เกิดขึ้นกับตน

    อันนี้หมายความถึงไทยธรรม คือ วัตถุทาน แม้ว่าจะเป็นของน้อย คือไม่มาก แต่ว่าที่จะให้ผลมากหรือน้อยนั้น ก็เพราะความไม่บริสุทธิ์ คือ อกุศลจิตเกิดขึ้นแทรก หรือว่ามีผลมากเพราะความบริสุทธิ์เกิดขึ้น

    ข้อความต่อไป มีว่า

    โดยนัยอย่างนี้ เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปนะ การบูชาของบุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น

    คือผู้ที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนในขณะนั้น เป็นกุศลจิต

    บางคนคิดแต่เรื่องทาน แต่ไม่ได้คิดเรื่องศีล คือ การวิรัติกาย วาจาที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะฉะนั้นเวลาที่จะถวายทาน ไม่ว่าเมื่อไร ขณะไหน ก็ไม่ควรที่จะถวายด้วยความข้องใจ หรือว่าด้วยมลทิน คือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นดูหมิ่น ดูแคลน หรือว่าไม่นอบน้อมก็ตาม พึงถวายด้วยจิตที่ผ่องใสเท่านั้น

    ซึ่งในเรื่องของบุญ ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรรถกถาอิสสัตถสูตร ข้อ ๔๑๐ มีข้อความว่า

    บทว่า ปุญฺญธรา ได้แก่ ธารแห่งบุญ ที่สำเร็จมาแต่ทานเจตนามิใช่น้อย

    คือการกระทำกุศลแต่ละครั้งๆ ขอให้ทราบว่าเป็นธารแห่งบุญที่เกิดจากเจตนามิใช่น้อย

    ท่านที่นั่งฟังพระธรรม ขณะที่เห็นซึ่งปรากฏเหมือนไม่ดับไปตลอดเวลา อาจจะหนึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง ชวนจิตที่เป็นกุศลในขณะที่ฟัง พิจารณาแล้วเข้าใจ ๗ เท่าของจิตที่เห็นแต่ละขณะซึ่งดูเสมือนว่าไม่ดับ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ธารแห่งบุญที่สำเร็จมาแต่ทานเจตนามิใช่น้อย

    บทว่า ทาตารํ อภิวสฺสติ ความว่า สายน้ำที่หลั่งออกจากเมฆซึ่งตั้งขึ้นในอากาศ ย่อมตกรดแผ่นดินเปียกชุ่ม ฉันใด ธารแห่งบุญที่เกิดในภายในทายกแม้นี้ ก็หลั่งรดภายในทายกนั้นให้ชุ่มเต็มเปี่ยม ฉันนั้นเหมือนกัน

    ขอกล่าวถึงเรื่องของปัญญา ซึ่งต้องเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ถ้าเป็นผู้ที่สังเกต ก็จะพิจารณารู้ได้ว่า ปัญญามีหลายขั้น เพราะฉะนั้นก็มีหลายชื่อตามสภาพลักษณะของปัญญานั้นๆ ซึ่งข้อความในสัทธัมมปกาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีข้อความว่า

    ปัญญานั้นท่านเรียกว่า อภิญญา เพราะอธิบายด้วยอภิศัพท์ มีอรรถว่างามดังนี้ คือ รู้งาม ด้วยสามารถแห่งการรู้สภาวะของธรรมเหล่านั้นๆ

    ปัญญาเป็นสภาพที่รู้งาม เพราะเหตุว่าสามารถรู้สภาวะของธรรมเหล่านั้นๆ รู้ความจริง แล้วก็จะรู้ว่างามที่สุด เพราะเหตุว่าเป็นสัจจะ เป็นของที่เที่ยงแท้ เป็นสัจจธรรม

    ปริญญาอีกชื่อหนึ่งของปัญญา

    ปัญญานั้น ท่านเรียกว่า ปริญญา เพราะอธิบายด้วย ปริศัพท์ มีอรรถว่า ซึมซาบไปรอบ ดังนี้คือ ความรู้ที่ซึมซาบไปด้วยสามารถแห่งสามัญลักษณะ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น หรือด้วยสามารถแห่งการเข้าถึงกิจของตน

    คำว่า ตีรณฏฺเฐ ญาณํ ในที่นี้กล่าวถึงตีรณปริญญา ญาณในอรรถว่าใคร่ครวญ ได้แก่ ญาณ มีการเข้าไปใคร่ครวญเป็นสภาวะ หรือมีการพิจารณาเป็นสภาวะ

    สภาพธรรมในขณะนี้ก็เกิดดับ ใคร่ครวญ พิจารณา

    นี่เป็นทางเดียวที่จะเข้าถึงสภาวะลักษณะที่เป็นสามัญลักษณะ มีอนิจจลักษณะ เป็นต้น

    คำว่า ปหาเน ปญฺญา ปัญญาในการละ ความว่า ปัญญาเป็นเครื่องละวิปลาสทั้งหลาย มีนิจสัญญาวิปลาส เป็นต้น หรือธรรมชาติใดย่อมละนิจสัญญาวิปลาส เป็นต้นได้ ธรรมชาตินั้น ชื่อว่าปหานปัญญา อีกอย่างหนึ่ง บุคคลย่อมละนิจสัญญาวิปลาสได้ด้วยญาณนั้น ฉะนั้น ญาณนั้นจึงชื่อว่า ปหานํ าณํ ญาณเป็นเครื่องละนิจสัญญาวิปลาส

    นอกจากนั้นก็มี คำว่า ปริจฺจาคฏฺเฐ ญาณํ คือ ญาณที่สละนิจสัญญาว่าวิปลาส เป็นต้น

    ฟังดูเป็นชื่อ แต่ขณะนี้กำลังอบรมทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ จนกว่าเมื่อไรถึง เมื่อนั้นก็ซาบซึ้งในอรรถ แม้แต่คำว่า อภิญญา หรือปริญญา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    8 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ