โสภณธรรม ครั้งที่ 070


    ตอนที่ ๗๐

    ไม่ให้คนที่มีชาติบริสุทธิ์ ๗ ชั่วโคตรคนหาม แต่ว่าให้พราหมณ์ที่มีชาติและมนต์ ๑๖ คนหามไป คนที่เหลือบูชาด้วยของหอมและดอกไม้ เป็นต้น เข้าไปสู่พระนคร และได้สร้างมณฑปให้นางอยู่

    ตั้งแต่นั้นมา คนทั้งหลายได้ยืน พอเห็นนาง แต่ว่าเข้าใกล้ไม่ได้ เมื่อต้องการจะไหว้ก็ต้องให้ ๑ กหาปนะจึงไหว้ได้ ผู้ต้องการไหว้ในที่รอบๆ พอได้ยินเสียงต้องให้ ๑๐๐ กหาปนะ จึงไหว้ได้ ผู้ต้องการไหว้ในที่ใกล้ซึ่งเป็นที่ได้ยินเสียงพูดปกติ ต้องให้ ๕๐๐ กหาปนะจึงไหว้ได้ ผู้ต้องการวางศีรษะที่เท้าแล้วไหว้ ต้องให้ ๑,๐๐๐ กหาปนะ จึงไหว้ได้ ผู้ที่ต้องการน้ำชำระเท้า ต้องให้ ๑๐,๐๐๐ กหาปนะ จึงได้

    มีใครต้องการไหม น้ำล้างเท้า ๑๐,๐๐๐ กหาปนะ เพราะคิดว่านั่นเป็นมงคล

    แม้แต่พระราชาที่จะทำพิธีราชาภิเษก ก็ยังต้องการน้ำชำระเท้าของนางทิฏฐมังคลิกา เพราะฉะนั้นพระราชาก็ต้องให้เงินถึง ๑๐,๐๐๐ กหาปนะด้วย

    นายมาตังคะซึ่งเป็นคนจัณฑาล เป็นผู้ที่อยู่บ้านมุงหนังก็ได้จบชีวิตในสังสารวัฏฏ์ด้วยการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณโคดมพระองค์นี้

    เพราะฉะนั้นทุกคนในขณะนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ที่ยากไร้ถึงขนาดนายมาตังคะ ก็น่าที่จะมีโอกาสที่จะได้อบรมเจริญปัญญา แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็อบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมในชาติหนึ่ง

    ถ้าจะดูตัวอย่างบุคคลในครั้งก่อนการตรัสรู้จนถึงสมัยที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ ก็จะเห็นได้ว่าท่านเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ก็ได้มีปัญญาที่สะสมมาด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อถึงโอกาสที่ปัญญาจะสมบูรณ์ถึงขั้นที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ย่อมสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพียงแต่ว่าถ้าทุกคนจะคิดถึงประโยชน์ของการเกิดมามีชีวิตเป็นมนุษย์ในขณะนี้ ซึ่งทุกคนย่อมมีทางเดินของชีวิต ซึ่งมี ๒ ทาง คือ ทางหนึ่ง เลือกที่จะหมุนเข้าให้จมลึกอยู่ในปลักของสังสารวัฏต่อไป หรือว่าเลือกที่จะหมุนออกจากเกลียวของสังสารวัฏไปทีละเล็กทีละน้อย

    เพราะฉะนั้นธรรมต้องพิจารณาทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโลภะ หรือโทสะ โมหะ โดยพิจารณาตนเองว่า การที่ยังมีความยึดมั่นผูกพันในบุคคล ควรที่จะคลายเกลียวออก หรือว่าหมุนเกลียวเข้าไปอีก เพราะว่าในภพหนึ่งชาติหนึ่งทุกคนต้องมีความผูกพัน มีความยึดมั่นในบุคคลต่างๆ โดยฐานะต่างๆ แต่ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ควรที่จะละคลาย หรือว่าควรที่จะยึดมั่นให้มากขึ้น หรือแม้แต่เรื่องของโทสะ ความโกรธ ก็เช่นเดียวกัน

    ถ้าท่านผู้ใดยังคงมีความโกรธในบุคคลใด ขณะนั้นเป็นอกุศล จะคลายเกลียวออก คือ ละคลายความโกรธแล้วให้อภัย หรือว่าจะหมุนเกลียวของโทสะให้เพิ่มขึ้น มากขึ้นไปอีก ซึ่งวันหนึ่งๆ ถ้าจะหาเรื่องที่จะโกรธไม่ยากเลย เช่นเดียวกับการที่จะหาวัตถุที่เป็นที่พอใจ ก็ไม่ยาก ได้ยินอะไรนิดอะไรหน่อย โกรธก็ได้ แต่ถ้าจะพิจารณาหาเหตุผลว่า ผู้นั้นอาจจะพูดไปด้วยความไม่รู้ ด้วยการฟังผิวเผิน หรือว่าด้วยการเข้าใจผิด ขณะนั้นจิตใจก็จะสบายมากทีเดียว ไม่เดือดร้อน หมดเรื่อง จบเรื่องทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้นทุกๆ ขณะในชีวิต เป็นขณะที่ควรจะได้พิจารณาถึงประโยชน์ด้วยความเป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า กุศลทั้งหลายย่อมเป็นประโยชน์กว่าอกุศล ทั้งนี้การเป็นผู้ตรงนั้นก็เป็นลักษณะของตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก นั่นเป็นเรื่องของโลภะ โทสะ เพราะฉะนั้นขณะที่มีโมหะ คือ ขณะที่เห็น ก็ไม่รู้สภาพความจริงของนามธรรมและรูปธรรมในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้เอง หรือแม้ในขณะที่ได้ยินเดี๋ยวนี้ ไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังได้ยินและเสียงที่ปรากฏ ขณะนี้จะคลายเกลียวของโมหะ โดยการอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือจะพอใจที่จะหมุนเกลียวของโมหะให้มากขึ้นอีกโดยละเลยการที่จะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    นี่คือเส้นทางชีวิตที่ทุกคนจะพิจารณาเลือกเดินต่อไปทุกๆ ขณะ แม้ในขณะนี้เอง

    ข้อความในอรรถกา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค เวขณสสูตร มีข้อความว่า

    คนบางคนแม้ครองเรือน ก็เป็นผู้หนักในกาม น้อมไปในกาม บางคนเป็นผู้หนักในเนกขัมมะ น้อมไปในเนกขัมมะ

    เพราะฉะนั้นทุกท่านมีชีวิตตามความเป็นจริง เมื่อเป็นผู้ครองเรือน ก็เป็นผู้ครองเรือนซึ่งพิจารณาเลือกได้อีกเหมือนกันว่า ทั้งๆ ที่ครองเรือนอยู่ จะเป็นผู้ที่หนักในกาม น้อมไปในกาม หรือว่าเป็นผู้หนักไปในเนกขัมมะ น้อมไปในเนกขัมมะ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อนึ่งบางคนเป็นบรรพชิต เป็นผู้หนักในกาม น้อมไปในกาม บางคนเป็นผู้หนักในเนกขัมมะ น้อมไปในเนกขัมมะ

    พระธรรมทำให้ระลึกได้ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด แม้ในเพศบรรพชิตซึ่งยังเป็นผู้ที่ไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ก็พอที่จะระลึกได้ทุกขณะว่า ในเพศบรรพชิตนั้นกำลังเป็นผู้ที่หนักในกาม หรือว่าหนักในเนกขัมมะ

    เพราะฉะนั้นพระธรรมทั้งหมดเพื่อเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่อัธยาศัยของผู้ฟังที่จะได้พิจารณาและก็น้อมประพฤติปฏิบัติตาม ประโยชน์มากยิ่งขึ้น

    สำหรับความเห็นผิดต่างๆ มีละเอียดมาก และจะเห็นได้ว่า ในสมัยก่อนกับในสมัยนี้ก็ไม่ได้ต่างกันเลย เช่นในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงดับขันธปรินิพพาน ข้อความในอรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ปริพพาชกวรรค มาคัณฑิยสูตร มีว่า

    มาคัณฑิยปริพาชก ทั้งๆ ที่มีญาณแก่กล้า ดุจเมล็ดพืชที่มีปากอ้าแล้ว

    นี่คือคำเปรียบเทียบที่แสดงให้เห็นว่า เมล็ดพืชที่มีปากอ้าพร้อมที่จะเจริญเติบโต ได้แก่ผู้ที่มีญาณแก่กล้าแล้ว แต่เมื่อยังไม่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ยังไม่ได้ฟังพระสัทธรรม ก็มีความเห็นว่า

    ควรทำให้ความเจริญปรากฏในทวาร ๖ คือ ควรเห็นรูปที่ไม่เคยเห็น รูปที่เห็นแล้วควรผ่านไป ควรฟังเสียงที่ไม่เคยฟัง เสียงที่ฟังแล้วควรผ่านไป ควรดมกลิ่นที่ไม่เคยดม กลิ่นที่ดมแล้วควรผ่านไป ควรลิ้มรสที่ไม่เคยลิ้ม รสที่ลิ้มแล้วควรผ่านไป ควรสัมผัสโผฏฐัพพะที่ไม่เคยสัมผัส โผฏฐัพพะที่เคยสัมผัสแล้วควรผ่านไป ควรรู้ธัมมารมณ์ที่ไม่ควรรู้ ธัมมารมณ์ที่รู้แล้วควรผ่านไป

    นี่ก็เป็นความวิจิตรของจิตที่จะมีความคิดต่างๆ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ของคนทุกยุคทุกสมัย แม้ในสมัยของมาคัณฑิยปริพาชก ก็มีความเห็นอย่างนั้น และแม้ในสมัยนี้เองผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ไม่เคยหยุดความพอใจเลย เช่น ถ้ามีความคิดว่า ควรเห็นรูปที่ไม่เคยเห็น จึงมีความคิดสร้างสรรค์รูปมากมายหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของเครื่องประดับร่างกาย หรือว่าเครื่องประดับบ้าน หรือว่าทางวิชาการต่างๆ ควรเห็นรูปที่ไม่เคยเห็น เพราะฉะนั้นขณะใดที่ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ขณะนั้นเข้าใจว่าได้ทำความเจริญให้ปรากฏในทวาร ๖ เพราะฉะนั้นความคิดของคนสมัยโน้นกับคนสมัยนี้ก็ไม่ได้ต่างกันเลยในเรื่องความเห็นผิด ถ้ามีใครเห็นว่า ควรที่จะสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพะ ทั้งธัมมารมณ์ นั่นคือความคิดในเรื่องของโลก แต่ไม่ได้รู้ความจริงว่า ความเจริญแท้ๆ คือ การเจริญปัญญา ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงละพระคันธกุฎีเช่นกับเทวสถาน เสด็จไปประทับเครื่องลาดอันทำด้วยหญ้าที่โรงบูชาไฟ ๒ – ๓ วัน เพื่ออนุเคราะห์มาคัณฑิยพราหมณ์ ก็พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อทรงอนุเคราะห์ผู้อื่น และเมื่อมาคันฑิยพราหมณ์ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค พระองค์ก็ได้ทรงแสดงธรรมให้มาคัณฑิยพราหมณ์เห็นโทษ คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้โผฏฐัพพะ ในขณะที่สติไม่ได้ระลึก ไม่ได้สำรวมระวัง ก็ย่อมจะมีความเดือดร้อนไปตามอารมณ์ที่ปรากฏด้วยโลภะ โทสะ โมหะ

    นี่คือพระธรรมที่ทรงแสดงให้เห็นความต่างกันระหว่างความคิดของผู้ที่เข้าใจว่า การที่จะทำให้ความเจริญปรากฏทางทวารทั้ง ๖ นั้นต้องทำสิ่งใหม่ๆ คือ เห็นรูปที่ไม่เคยเห็น ได้ยินเสียงที่ไม่เคยได้ยิน แต่ว่าความเจริญจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นการปราศจากโลภะ โทสะ โมหะในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมจะต้องพิจารณาถึงจุดประสงค์ และก็เป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุผลจริงๆ เพื่อการประพฤติปฏิบัติจะได้ไม่คลาดเคลื่อน และไม่คล้อยตามในสิ่งที่ไม่เป็นเหตุและเป็นผล เพราะเหตุว่าถ้าไม่พิจารณา เป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุผลจริงๆ การเชื่อในมงคลตื่นข่าวต่างๆ ที่ไม่ใช่เหตุผล ก็เป็นทางที่จะทำให้ค่อยๆ ไกลออกไปจากข้อปฏิบัติที่ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็ไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ว่า ข้อปฏิบัติใดเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก ที่จะทำให้ปัญญาเจริญ และข้อปฏิบัติใดเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ทำให้ปัญญาเจริญ เช่น บางท่านอาจจะคิดว่า การเห็นอะไรจะเป็นมงคล เคยคิดไหม การเห็นอะไรจะเป็นมงคล บางคนก็เข้าใจว่า เห็นบางบุคคลก็เป็นมงคล เช่นเห็นภิกษุบางรูปที่เข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ มีหลายท่านทีเดียวที่กล่าวว่า ควรจะเห็นพระภิกษุรูปนั้นรูปนี้จะเป็นมงคลอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าท่านผู้นั้นเป็นพระอรหันต์ แต่ว่ามงคลจริงๆ ไม่ใช่การเห็นอย่างนั้น แต่ว่าต้องเป็นการเห็นพระรัตนตรัย ด้วยการเข้าใจพระธรรมคำสอนอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ไปด้วยความตื่นเต้นว่าจะได้เห็นบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่การเห็นที่ถูกต้องก็คือ การเห็นด้วยความเข้าใจพระธรรมคำสอน เพื่อที่จะได้อบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน เช่น ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลยว่า เห็นในขณะนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้

    เพียงเท่านี้ ถ้าจะพิจารณาด้วยความซาบซึ้งในอรรถจริงๆ ที่จะไม่ละเลยพร้อมกับสติที่ระลึกได้ ที่จะพิจารณาลักษณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ และก็รู้ว่า ไม่เคยคิดว่ามีประโยชน์มาก่อน ไม่เคยรู้ว่าเห็นในขณะนี้มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดขึ้น แต่เมื่อมีโอกาสที่จะได้ฟังเรื่องของปัจจัย มีโอกาสที่จะได้รู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ในขณะนั้นย่อมเห็นพระคุณของพระธรรม ที่ทำให้สามารถรู้ความจริงในชีวิต ซึ่งหลายๆ ชาติก่อนอาจจะไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเลย แต่ว่าชาติใดก็ตามที่มีโอกาสได้ฟังและได้พิจารณาเห็นประโยชน์ก็จะรู้ได้ว่า เป็นสิ่งซึ่งไม่มีโอกาสจะได้ยิน ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ได้สะสมบุญในอดีตมาแล้ว

    เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่แม้ว่าจะเป็นเพียงสิ่งซึ่งปรากฏชั่วขณะสั้นๆ และก็พูดถึง เช่น เห็น เดี๋ยวก็พูดถึงได้ยิน เดี๋ยวก็พูดถึงคิดนึก แต่ให้เป็นประโยชน์ของการที่สติจะระลึกศึกษาจนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ ชีวิตของทุกท่านที่จะต้องพิจารณา เพราะว่าจิตทุกขณะในขณะนี้ดับไป เหมือนเมื่อวานนี้ เมื่อวานนี้ไม่เหลือเลย ฉันใด จิตเมื่อสักครู่นี้ก็ไม่เหลือเลย ฉันนั้น และการเกิดดับสืบต่อของจิตก็จะต้องเป็นไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุดเลย จากนาทีเป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี ถ้าพูดอย่างนี้ทุกท่านก็เห็นด้วย ใช่ไหม และก็ลองต่อไปอีกจนถึงไม่หยุดเลย แสนโกฏิกัปป์ข้างหน้า ต้องเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ในเมื่อขณะนี้ยังเป็นอย่างนี้ แลมีปัจจัยที่นามธรรมและรูปธรรมจะเกิดดับสืบต่อไปอย่างนี้โดยไม่หยุด เหมือนที่เคยผ่านมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ก็กำลังจะผ่านไปสู่แสนโกฏิกัปป์ข้างหน้า เพราะฉะนั้นก็ลองคิดดูถึงการสะสมอบรมปัญญาในแต่ละวัน แต่ก็เป็นสิ่งบังคับบัญชาไม่ได้เลย แต่ให้เห็นความจริงว่า ถ้าปัญญายังไม่อบรมเจริญ แสนโกฏิกัปป์ก่อนเป็นอย่างไร ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่สามารถจะรู้ได้ในชาตินี้ โดยเฉพาะในวันนี้ สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาน้อมศึกษาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในวันนี้มากน้อยอย่างไร พรุ่งนี้และต่อๆ ไป ก็แล้วแต่ว่าท่านผู้ใดจะสะสมปัญญาถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็สามารถที่จะรู้ได้ แต่ว่าให้พิจารณาเห็นความจริงว่า การอบรมเจริญปัญญาจากภพหนึ่งชาติหนึ่งสู่อีกภพหนึ่งชาติหนึ่ง จากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ไปสู่ความเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ในชาตินี้แต่ละท่านจะเป็นใครก็ตามจะสมบูรณ์ด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ กุลสมบัติก็จะต้องจากสภาพนี้ อาจจะไปสู่ความทุกข์ยากเดือดร้อน หรือว่าชาตินี้กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน ก็จะสิ้นสุดสภาพของความเป็นบุคคลนี้ แล้วจากไปสู่สภาพที่พร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ หรือกุลสมบัติก็ตาม แต่ทุกอย่างก็ไม่ที่ยง เหมือนในอดีตที่ผ่านมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ ซึ่งใครจะเป็นอย่างไร ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ฉันใด ชาติต่อไปซึ่งจะมาถึงโดยไม่นานก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ ฉันนั้น

    เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านคำนึงถึงประโยชน์ของขณะจิต แม้เพียงชั่วขณะเดียวที่สติระลึกแล้วก็ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าพิจารณาเพียงชั่วขณะจิตเดียวๆ จะได้รับประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าไม่กังวลถึงขณะอื่น เช่นขณะที่หลงลืมสติแล้วก็กลุ้มใจเดือดร้อน แม้ว่าจะหลงลืมสติแล้วก็เป็นชั่วขณะที่ผ่านไป เพราะฉะนั้นถ้าขณะนี้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที ซึ่งปัญญาจะต้องสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับ ไม่ใช่ว่าจะข้ามขั้นได้

    ข้อความในอรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค กีฏาคีรีสูตร อธิบายการปฏิบัติตามลำดับ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวการตั้งอยู่ในอรหัตตผลเป็นครั้งแรกเท่านั้น ดุจกบกระโดดไป ฉะนั้น

    เพราะบางคนคิดว่า จากการเป็นปุถุชนสามารถที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ อย่างบางท่านก็กล่าวถึงบางบุคคลว่าเป็นพระอรหันต์ ไม่ได้กล่าวถึงการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ จนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี แล้วจึงจะถึงความเป็นพระอรหันต์ และบางท่านก็เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคขณะที่ตรัสรู้นั้นก็เป็นพระอรหันต์ทันที แต่ความจริงไม่ใช่ ปัญญาของพระองค์เองก็จะต้องเกิดตามลำดับจากพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี จนถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    บทว่า อนุปุพฺพสิกฺขา แปลว่า ด้วยการศึกษาโดยลำดับ

    ซึ่งทุกท่านกำลังฟังพระธรรมจะเห็นได้ว่า เป็นความจริงอย่างนั้น

    บทว่า สทฺธาชาโต คือมีศรัทธาเกิดแล้ว ด้วยศรัทธาอันเป็นที่ตั้งแห่งความสำเร็จ

    แม้แต่การที่จะฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน การที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแม้เพียงเล็กน้อย ชั่วขณะนั้นศรัทธาก็เกิดแล้ว ด้วยศรัทธาอันเป็นที่ตั้งของความสำเร็จ ซึ่งวันหนึ่งปัญญาก็จะเพิ่มความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชัดขึ้น

    บทว่า อุปสงฺกมิ คือ ย่อมเข้าไปหาครู

    ซึ่งก็หมายความถึงเพื่อฟังพระธรรม ไม่ใช่เพียงไปดูหรือว่าไปพูดคุย แต่ว่าการไปหานั้นเพื่อฟังพระธรรม

    บทว่า ปยิรุปาสติ คือ ย่อมนั่งในสำนักครู

    คือ ศึกษาติดต่อกัน ไม่ใช่เว้นไปนานๆ และความเข้าใจก็ต้องมาตั้งต้นกันใหม่อีก หรือว่าเวลามาฟังตอนต่ออีก ก็คงไม่เข้าใจได้ชัดเจน

    บทว่า ธาเรติ คือ ทรงไว้ ทำให้คล่องแคล่ว

    เพราะเหตุว่าขณะใดก็ตามที่ฟังแล้วพิจารณา แล้วเข้าใจ ขณะนั้นจะไม่ลืม และย่อมจะทำให้ระลึกได้โดยรวดเร็ว

    บทว่า ฉนฺโท ชายติ คือ ฉันทะย่อมเกิด คือ ความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะทำ

    ในที่นี้หมายความถึงเพื่ออบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    บทว่า อุสฺสหติ ย่อมอุตสาหะ คือ มีความเพียร

    ทุกคนรู้ว่า การที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่เร็วเลย เวลาที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็ชั่วขณะเดียวแล้วก็ดับ ยังไม่ทันที่จะรู้จริงๆ ว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม แต่เมื่อเข้าใจลักษณะของสติแล้ว ก็รู้ว่าในขณะนั้นหน้าที่ก็คือเพียรที่จะสังเกตพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    บทว่า ตุเลติ ย่อมไตร่ตรอง คือ พิจารณาสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

    บทว่า ตุเลยิตฺวา ปทหติ คือ เมื่อไตร่ตรองแล้ว ย่อมตั้งความเพียรในมรรค

    ด้วยการอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น

    บทว่า ปหิตฺตโต คือ มีตนส่งไปแล้วสู่อารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    บทว่า กาเยน เจว ปรมสจฺจํ ย่อมทำให้แจ้งซึ่งนิพพานสัจจะด้วยนามกาย คือ ด้วยมรรคมีองค์ ๘

    บทว่า ปญฺญาย จ คือ ย่อมแทงตลอด ย่อมเห็นด้วยมรรคปัญญาอันสัมปยุตต์ด้วยนามกาย

    เพราะเหตุว่าในขณะนั้นปัญญาต้องเกิดพร้อมด้วยจิตและเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย

    แสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามลำดับ และต้องเป็นผู้ที่ไม่ใจร้อน จะต้องรู้ว่า การฟังก็จะต้องฟังโดยติดต่อ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏต้องประกอบด้วยความเพียร

    นี่เป็นเหตุผลที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียด เกื้อกูลทุกประการ

    ณรงค์ ผมไม่ได้กังวลเรื่องวิปัสสนาญาณ แต่ว่าเมื่อท่านอาจารย์จะผ่านเรื่องนี้ไปแล้ว ผมก็เรียนถามปัญหาอีกเล็กน้อย ไม่ใช่หวังผลในการปฏิบัติ แต่เพื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การอบรมเจริญปัญญาเจริญต่อไป

    คือเมื่อคราวที่แล้ว ผมได้ถามเรื่องรูปารมณ์ว่า รูปารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารกับรูปารมณ์ที่ปรากฏทางมโนทวารนั้น เหมือนกันไหม ในกรณีที่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์เหมือนกัน อาจารย์ก็ได้ตอบว่าเหมือนกัน ผมยังไม่เข้าใจว่า ในกรณีที่รูปารมณ์ปรากฏทางปัญจทวารก็มีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะ เมื่อปรากฏแล้วก็ดับไปใน ๑๗ ขณะ แล้วขณะต่อไปมโนทวารก็รำพึงถึงรูปนั้นเป็นอารมณ์อีก ตามการศึกษาแล้วก็เป็นรูปารมณ์เหมือนกัน น่าจะเหมือนกัน

    แต่มีข้อสงสัยอยู่ว่า ขณะที่รูปารมณ์ที่ปรากฏทางปัญจทวารนั้น เป็นการที่รูปธรรมนั้นปรากฏกับจิต ขณะนั้นรูปมีอยู่ ยังไม่ดับไป แต่ขณะที่เป็นมโนทวารนั้น รูปไม่มีเหลืออยู่แล้ว ก็เลยสงสัยว่า จะเหมือนกัน จะมีอะไรต่างกันไหม และยังมีเหตุผลที่ผมยังไม่เข้าใจว่า ถ้าเป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ปัญญาที่เกิดพร้อมสตินั้นก็สามารถที่จะแยกขาดได้ว่า ขณะใดเป็นมโนทวาร และขณะใดเป็นปัญจทวาร แล้วมโนทวารก็จะปรากฏโดยความเป็นมโนทวารต่างกับปัญจทวาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อปัญญาและสติเจริญถึงขั้นแล้ว ก็สามารถที่จะระลึกรู้ แยกความต่างของปัญจทวารและทางมโนทวารได้ แต่สำหรับในขณะปัจจุบันนี้ซึ่งสติยังไม่เกิดเล็กๆ น้อยๆ และปัญญาก็ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ ผมก็ขอเรียนถามว่า เวลาที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็จะให้ปัญญาอบรมเจริญขึ้นจนถึงวิปัสสนาญาณได้สักวันหนึ่งข้างหน้า การที่สติเริ่มระลึกบ้างเล็กๆ น้อยๆ ทางทวารต่างๆ จะมีนิมิต มีเครื่องหมายอะไรหรือไม่ที่เมื่อสติระลึกแล้ว ปัญญาที่เกิดขึ้นขณะนั้นมีโอกาสที่จะอบรมค่อยๆ เจริญขึ้นจนเป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่เห็นความต่างของมโนทวารและปัญจทวารได้

    ท่านอาจารย์ ข้อแรกที่ถามเรื่องของรูปารมณ์ ใช่ไหม

    รูปารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุทวารดับไปแล้ว เป็นสภาวรูป เป็นรูปที่มีอายุ ๑๗ ขณะ ดับไป และเมื่อมโนทวารวิถีจิตรับรู้ต่อ ไม่น่าที่จะเหมือนกันหรืออย่างไร ที่ถาม

    ณรงค์ คือรูปทางปัญจทวารในขณะนั้น มีรูปที่ปรากฏจริงกับจักขุทวารวิถี ๑ ขณะ และจักขุวิญญาณ ๑ ขณะ และเมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว รูปนั้นกับจักขุปสาทก็ยังอยู่ต่อไป จนดับไปทางปัญจทวาร แต่ขณะที่มโนทวารรำพึงถึงรูปารมณ์ที่ดับไปแล้ว ขณะนั้นรูปธรรมไม่มีอยู่แล้ว แต่ความจริงรูปารมณ์ก็ต้องเหมือนกันตามที่อาจารย์บรรยาย ผมก็เลยสงสัยว่า ขณะที่รูปยังคงมีอายุอยู่ ขณะที่จิตกำลังรู้รูปนั้น กับรูปไม่มี ดับไปหมดแล้ว จิตทางมโนทวารก็รู้รูปนั้น น่าจะมีอะไรต่างกันบ้าง ถึงจะพอให้สติระลึกเพื่อจะรู้ชัดว่า ขณะใดเมื่อสติระลึก ขณะนั้นเป็นรูปธรรมดับไปแล้วหรือยัง หรือรูปารมณ์ขณะนั้นดับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะนึกถึงรูปๆ หนึ่ง พอจะนึกได้ไหม รูปอะไรก็ได้

    ณรงค์ ก็เป็นเพียงคิด

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้พอที่จะนึกถึงได้ไหม

    ณรงค์ ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    31 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ