โสภณธรรม ครั้งที่ 097


    ตอนที่ ๙๗

    ถ้าเหตุมีสมควรแก่ผลเมื่อไร ผลจึงจะเกิดได้ แต่ถ้าเหตุยังไม่สมควรแก่ผลที่จะเกิด ก็ไม่ต้องกังวลถึงว่า เมื่อไรผลนั้นจะเกิด นอกจากจะเจริญเหตุ คือ การฟังพระธรรม การพิจารณาพระธรรม เพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏละเอียดขึ้นๆ เพราะเหตุว่าทุกท่านก็ทราบแล้วว่า เพียงแต่รู้ว่า มีนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้กิเลสหมด ถ้ารู้ว่า ขณะที่เห็นก็เป็นนามธรรมรูปธรรม ขณะที่ได้ยินก็เป็นนามธรรมรูปธรรม ก็ยังไม่เป็นปัจจัยที่จะให้กิเลสหมด เพราะฉะนั้นก็จะต้องอาศัยการฟังพระธรรมโดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจนเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่นในขณะนี้เอง ขณะที่ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนสัตว์บุคคล ก็คือ ทางตาเมื่อเห็นแล้วก็น้อมที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เป็นสภาพรู้อย่างไร เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างไร

    สำหรับท่านพระอัครสาวกทั้งสอง ท่านก็ได้อบรมเจริญปัญญาถึง ๑ อสงไขยแสนกัปป์ แสดงให้เห็นว่าตลอดเวลา ๑ อสงไขยแสนกัปป์ ท่านพระสารีบุตรยังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ในชาติสุดท้ายเมื่อได้ฟังท่านพระอัสชิแสดงธรรม ท่านสามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลได้

    ลองคิดดูว่า ปัญญาที่จะทำให้ท่านรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันเมื่อได้ฟังท่านพระอัสชินั้นมาจากไหน ถ้าไม่ใช่มาจาก ๑ อสงไขยแสนกัปป์ที่ได้ฟังพระธรรม แล้วก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญามาเรื่อยๆ

    ถ้าคิดถึงกัปป์หนึ่ง ท่านผู้ฟังอาจจะว่ามาก แสนกัปป์ก็ยังน้อยไปสำหรับการที่จะเป็นพระอัครสาวก ต้องถึง ๑ อสงไขยแสนกัปป์ แต่ว่าเมื่อท่านได้เป็นพระโสดาบันแล้ว หลังจากนั้น ๑๕ วัน ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

    นี่ก็เพราะการสะสมของการเจริญสติปัฏฐานใน ๑ อสงไขยแสนกัปป์นั่นเอง เพราะฉะนั้นแต่ละท่านก็ไม่ต้องกังวลจริงๆ ว่า วิปัสสนาญาณยังไม่เกิด นามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด หรือว่าญาณอื่นๆ เมื่อไรจะเกิด หรือแม้แต่บางท่านก็อาจจะคิดว่า เมื่อเหตุการณ์อย่างนั้นเกิดขึ้นแล้ว ทำไมสติปัฏฐานไม่เกิด

    นี่ไม่ใช่การที่จะต้องรอคอยสติปัฏฐานเลย เพราะเหตุว่าแล้วแต่ว่าความเข้าใจเรื่องลักษณะของสภาพธรรม มีความมั่นคง ก็จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานจะเกิดเมื่อไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องหวัง แต่ไม่ใช่ว่าพอถึงเวลาเหตุการณ์อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็คอยคิดว่า ทำไมสติปัฏฐานไม่เกิด นั่นหมายความว่าหวังว่าสติปัฏฐานจะเกิด

    สำหรับประโยชน์ของการสะสมอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญา สามารถที่จะทำให้บรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนสิ้นชีวิตได้

    ขอกล่าวถึงข้อความในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉันนสูตร ข้อ ๑๐๔ ซึ่งมีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาจุนทะ และท่านพระฉันนะ อยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ สมัยนั้น ท่านพระฉันนะอาพาธ ถึงความทุกข์ เป็นไข้หนัก

    ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักแล้ว เข้าไปหาท่านพระมหาจุนทะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระมหาจุนทะว่า

    ดูก่อนท่านจุนทะ เราจงพากันเข้าไปหาท่านพระฉันนะ ถามถึงความเป็นไข้เถิด

    ถ้าศึกษาอภิธรรมก็จะทราบว่า มหากิริยาจิตของพระอรหันต์นั้นมีกรุณาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อคิดที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังทุกข์ยาก เช่นในขณะที่กำลังป่วยไข้

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ท่านผู้ฟังจะยังไม่ทราบว่า เวลาที่กุศลจิตเกิด จะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย แม้แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เวลาที่คิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น และใคร่ที่จะช่วยเหลือ ขณะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า มีโสภณเจตสิก คือ กรุณาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าบางครั้งก็มีความทุกข์ยากของคนอื่นเป็นอารมณ์ แต่ก็ไม่คิดที่จะช่วย บางครั้งก็ผ่านเลยไป แต่ถ้าเกิดความคิดที่จะอนุเคราะห์ช่วยเหลือ ขณะนั้นก็เพราะกรุณาเจตสิกเกิดกับมหากุศลจิต สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และแม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์แล้ว กรุณาเจตสิกก็ยังเกิดกับมหากิริยาจิตด้วย

    ท่านพระมหาจุนทะรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว

    ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะ เข้าไปหาท่านพระฉันนะถึงที่อยู่ แล้วนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ครั้นแล้วท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระฉันนะว่า

    ดูก่อนท่านฉันนะ ท่านพออดทนได้หรือพอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนา ลดลง ไม่กำเริบขึ้น ความทุเลาปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ ฯ

    ท่านพระฉันนะกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ไหว

    นี่เป็นอาการของผู้ที่ป่วยหนักทุกคน แสดงให้เห็นว่า ถึงคราวที่ร่างกายกำเริบด้วยธาตุทั้ง ๔ ก็จะทำให้เกิดทุกขเวทนา แม้แต่ผู้ที่เป็นภิกษุ ก็ทนไม่ไหว ท่านกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ไหว ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ลดลงเลย ความกำเริบปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง เอาเหล็กแหลมคมแทงศีรษะ ฉันใด ลมอันกล้ายิ่งเข้ากระทบที่ศีรษะของกระผม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    ท่านผู้ฟังไม่ทราบจะมีอาการอย่างนี้บ้างหรือยัง คือ เหมือนเหล็กแหลมคมทิ่มแทงศีรษะ แล้วลมอันกล้ายิ่งเข้ากระทบที่ศีรษะ

    เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเอาเส้นเชือกหนังอันเหนียวขันที่ศีรษะฉันใด ลมอันกล้ายิ่งเสียดแทงที่ศีรษะของกระผม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เปรียบเหมือนนายโคฆาตหรือลูกมือของนายโคฆาตผู้ขยันเอามีดสำหรับแล่เนื้อโคที่คมกรีดท้อง แม้ฉันใด ลมอันกล้ายิ่งย่อมเสียดแทงท้องของกระผม ฉันนั้นเหมือนกัน

    ท่านที่เคยผ่าตัด ก็คงมีความรู้สึกเข้าใจดีในข้อความนี้ เพราะเคยได้ยินบางท่านที่กล่าวว่า หลังจากผ่าตัดแล้วก็รู้สึกเหมือนมีมีดสัก ๑๐๐ เล่ม กำลังแทงอยู่ในท้อง

    เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลัง ๒ คน จับบุรุษผู้มีกำลังน้อยกว่าคนละแขน ลนให้เร่าร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด ความเร่าร้อนในกายของกระผมก็มากยิ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน

    ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร กระผมทนไม่ไหว เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่ลดลงเลย ความกำเริบปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ

    ท่านพระฉันนะกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านพระสารีบุตรกระผมจักนำศาตรามา ฆ่าตัวตาย ไม่ปรารถนาเป็นอยู่ ดังนี้แล้ว ก็นำศาตรามา

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ท่านพระฉันนะจงเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปเถิด เราทั้งหลายปรารถนาให้ท่านพระฉันนะเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปอยู่ โภชนะเป็นที่สบายมิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าเภสัชเป็นที่สบายมิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักแสวงหามาให้ ถ้าพวกอุปัฏฐากที่สมควร มิได้มีแก่ท่านพระฉันนะ ผมจักอุปัฏฐากท่านเอง

    นี่คือพระอัครสาวก ความกรุณาของท่านที่จะเป็นผู้อุปัฏฐากท่านพระฉันนะด้วยตนเอง

    ท่านพระฉันนะอย่านำศาตรามาเลย จงเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปเถิด เราทั้งหลายปรารถนาให้ท่านพระฉันนะเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปอยู่

    ท่านพระฉันนะกล่าวว่า

    ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร โภชนะเป็นที่สบายของกระผมมิใช่ไม่มี โภชนะเป็นที่สบายของกระผมมีอยู่ แม้เภสัชเป็นที่สบายของกระผมก็มิใช่ไม่มี เภสัชเป็นที่สบายของกระผมมีอยู่ แม้อุปัฏฐากที่สมควรของกระผมมิใช่ไม่มี อุปัฏฐากที่สมควรของกระผมมีอยู่ ก็พระศาสดาอันกระผมบำเรอแล้วด้วยอาการเป็นที่พอใจอย่างเดียว ไม่บำเรอด้วยอาการเป็นที่ไม่พอใจตลอดกาลนานมา ข้อที่พระสาวกบำเรอพระศาสดาด้วยอาการเป็นที่พอใจ ไม่บำเรอด้วยอาการเป็นที่ไม่พอใจ นี้สมควรแก่พวกสาวก ความบำเรอนั้นไม่เป็นไป ฉันนะภิกษุจักนำศาตรามา ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ขอท่านจงทรงจำความนี้ไว้อย่างนี้ ดังนี้เถิด

    ท่านมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะฆ่าตัวตาย เพราะทนความเจ็บไข้ไม่ได้

    ต่อจากนั้นท่านพระสารีบุตรก็ได้สนทนาธรรมกับท่านพระฉันนะ โดยได้สอบถามเรื่องการเกิดดับของสภาพธรรม

    นี่คือประโยชน์สูงสุดของการที่จะเกื้อกูลให้เกิดกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา

    ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    ท่านพระสารีบุตรเถระแม้รู้ว่าท่านพระฉันนเถระเป็นปุถุชน ก็ไม่ได้บอกท่านว่าเป็นปุถุชน ส่วนท่านมหาจุนทเถระคิดว่า เราจะให้รู้ว่าท่านเป็นปุถุชน แล้วได้ให้โอวาท

    ซึ่งท่านพระมหาจุนทะได้กล่าวกับท่านพระฉันนะว่า

    ดูก่อนท่านพระฉันนะ เพราะเหตุนี้แล แม้การพิจารณาเห็นนี้เป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ท่านพึงทำในใจให้ดีตลอดกาลเป็นนิจไป ความหวั่นไหวของบุคคลที่มีตัณหา มานะ และทิฏฐิอาศัยอยู่ ยังมีอยู่ ความหวั่นไหวย่อมไม่มีแก่บุคคลที่ไม่มีตัณหา มานะ และทิฏฐิอาศัยอยู่ เมื่อความหวั่นไหวไม่มี ย่อมมีปัสสัทธิ เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ไม่มีความเพลิดเพลิน เมื่อไม่มีความเพลิดเพลิน ความมาความไปก็ไม่มี เมื่อความมาความไปไม่มี จุติและอุปัตติก็ไม่มี เมื่อจุติและอุปัตติไม่มี โลกนี้และโลกหน้าก็ไม่มี และระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี นี่แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์

    ครั้งนั้นแลท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาจุนทะ ครั้นกล่าวสอนท่านพระฉันนะด้วยโอวาทนี้แล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป

    ครั้นเมื่อท่านทั้งสองหลีกไปแล้วไม่นาน ท่านพระฉันนะก็นำศาตรามาฆ่าตัวตาย

    โดยที่ท่านก็รู้ว่า ท่านเป็นปุถุชน เพราะฉะนั้นท่านก็ได้ฟังพระธรรมและก็มีความสลดในการที่จะเป็นผู้หวั่นไหวด้วยตัณหา มานะ และทิฏฐิ

    ถ้าปัญญาเกิดสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้นจริงๆ ย่อมมีปัสสัทธิ คือ ความสงบ และไม่มีความเพลิดเพลิน เมื่อไม่มีความเพลิดเพลิน ความมาความไปก็ไม่มี และท่านก็ได้บรรลุพระอรหันต์

    นี่คือประโยชน์ของการที่จะฟังและอบรมเจริญสติปัฏฐาน ฟังพระธรรมและอบรมเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงกัปป์ว่าจะเป็นกี่กัปป์ก็ตาม ขอให้เข้าใจเรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ มีพระธรรมประการใดที่จะทำให้เข้าถึงลักษณะที่เป็นอนัตตาของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ก็จะเป็นสิ่งที่เมื่อฟังแล้ว ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย ความเข้าใจนั้นก็จะเกิดสะสม ทำให้เมื่อได้ฟังอีกบ่อยๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้สติปัฏฐานเกิดระลึกได้บ้าง แม้ว่าจะไม่บ่อยในวันหนึ่งๆ ก็ยังรู้ว่า นี่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ซึ่งทุกท่านไม่ต้องห่วงเวลาที่วิปัสสนาญาณจะเกิด หรือว่ามรรคผลนิพพานจะเกิด ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน และมีสถานการณ์ใดเกิดขึ้นกับท่านก็ตาม ถ้าเหตุสมควรแก่ผล วิปัสสนาญาณก็เกิดได้ มรรคผลนิพพานก็เกิดได้

    ขอกล่าวถึงข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา อุตตรเถรคาถา

    ในพระนครราชคฤห์ มีบุตรของพราหมณ์มหาศาลผู้หนึ่ง ชื่อ อุตตระ เป็นผู้ที่รอบรู้ในวิชาของพราหมณ์ เป็นผู้เกิดมาทำโลกให้เจริญ โดยรูป โดยวิชา โดยวัย และโดยศีลาจารวัตร

    มหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธ ชื่อ วัสสการะ เห็นสมบัตินั้นของเขาแล้ว ประสงค์จะยกธิดาของตนให้ จึงแจ้งความประสงค์นั้นให้เขาทราบ เขาปฏิเสธความหวังดีนั้น เพราะเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในพระนิพพาน เขาเข้าไปนั่งใกล้ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ฟังธรรมในสำนักของท่านตามเวลาที่เหมาะสม ได้เป็นผู้มีศรัทธาบวชแล้ว เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรปฏิบัติท่านพระเถระ

    ก็โดยสมัยนั้นอาพาธบางอย่างเกิดแก่พระเถระ เพื่อที่จะจัดยาถวายท่านพระเถระ ท่านอุตตรสามเณรจึงถือเอาบาตรจีวรออกจากวิหารไปแต่เช้า ท่านวางบาตรไว้ริมฝั่งน้ำในระหว่างทาง เดินไปใกล้น้ำแล้วล้างหน้า

    ลำดับนั้น โจรคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ติดตาม หนีออกจากพระนครโดยทางประตูด้านหน้านั่น และก็ได้ใส่ห่อรัตนะที่ตนลักมาไว้ในบาตรของท่าน แล้วหนีไป

    เมื่อพวกราชบุรุษที่ติดตามโจรมา เห็นห่อของในบาตรของท่านอุตตรสามเณร ก็จับท่านส่งให้วัสสการพราหมณ์

    ในครั้งนั้นวัสสการพราหมณ์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้วินิจฉัยคดีของพระราชา สามารถที่จะสั่งการลงโทษประหารและทรมานได้ วัสสการพราหมณ์ไม่ยอมไต่สวนทวนพยานเลยสั่งให้เอาหลาวเสียบประจานท่านอุตตรสามเณรทั้งเป็น เพราะผูกอาฆาตว่า เมื่อก่อนสามเณรไม่เอื้อเฟื้อคำของเรา

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูความแก่รอบแห่งญาณของท่านอุตตร สามเณรแล้ว ได้เสด็จไป ณ ที่นั้น ทรงวางพระหัตถ์บนศีรษะของท่านอุตตรสามเณร แล้วตรัสว่า ดูกรอุตตระ นี้เป็นผลของกรรมเก่าเกิดขึ้นแล้วแก่เธอ เธอจงอดกลั้นด้วยการพิจารณาในผลของกรรมนั้น ดังนี้ แล้วทรงแสดงธรรมตามสมควรแก่อัธยาศัย

    ซึ่งท่านอุตตรสามเณรก็เกิดปีติปราโมทย์ เกิดวิปัสสนาญาณ บรรลุโลกุตตรมรรคคผลตามลำดับ จนถึงอรหัตผล

    เป็นไปได้ทุกแห่ง ทุกกาล ทุกสถานที่ ซึ่งผลของการสะสมความเข้าใจสภาพธรรม และเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา มีตัวอย่างมากมายในชีวิตของท่านพระเถระทั้งหลายในครั้งนั้น ที่แสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์ปกติธรรมดาซึ่งทุกคนในสมัยนี้ก็เห็น แต่ว่าปัญญาที่จะเกิดนั้นย่อมต่างกัน เช่น

    ท่านพระวารณเถระได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ในระหว่างทางนั้นท่านก็เห็นงูเห่ากับพังพอนต่อสู้กันจนตาย ก็เกิดสังเวชสลดใจว่า สัตว์เหล่านี้ถึงความสิ้นชีวิตเพราะโกรธกัน ดังนี้

    เห็นโทษของความพยาบาท เห็นโทษของความผูกโกรธ เห็นอันตรายของการที่จะประหัตประหารชีวิตกันเพราะความโกรธซึ่งเป็นอกุศล แต่ว่าผู้ที่เห็นพังพอนกับงูเห่ากัดกันในสมัยนี้ จะมีความรู้สึกสลดสังเวชเห็นโทษของอกุศล ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นมนุษย์ก็เบียดเบียนทำร้ายซึ่งกันและกันจนถึงชีวิตหรือไม่ นี่ก็แล้วแต่การอบรมเจริญปัญญาของแต่ละบุคคล

    อีกตัวอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะสุขจะทุกข์ หรือว่าจะลำบากเดือดร้อนอย่างไร การบรรลุมรรคผลก็ไม่จำกัด ไม่ต้องคิดว่าจะต้องแต่งกายเฉพาะเป็นพิเศษสำหรับการบรรลุมรรคผล เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของความสมบูรณ์ของการอบรมเจริญปัญญา

    ข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ภัททชิเถรคาถา มีว่า

    ในครั้งนั้นพระศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ในพระนครสาวัตถี เสด็จไปภัททิยนครพร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เพื่อจะทรงสงเคราะห์ภัททชิกุมาร ทรงคอยความแก่กล้าแห่งญาณของภัททชิกุมาร จึงประทับอยู่ ณ ชาติยาวัน แม้ภัททชิกุมารนั่งอยู่บนปราสาทชั้นบน เปิดสีหบัญชรมองดู เห็นมหาชนเดินไปฟังพระธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาค จึงถามว่า มหาชนเหล่านั้นไปไหน เมื่อทราบเหตุนั้นแล้ว ก็ได้ไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ขณะฟังพระธรรมอยู่ ทั้งๆ ที่ประดับประดาด้วยอาภรณ์ทั้งปวง ก็ยังกิเลสทั้งมวลให้ดับสิ้นไป บรรลุพระอรหันต์แล้ว

    บางท่านชอบฟังนิทาน แต่นี่ไม่ใช่นิทาน นี่เป็นเรื่องจริงๆ เป็นชีวิตจริงๆ ของแต่ละบุคคลที่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าสะสมเหตุปัจจัยพร้อมที่จะเกิดวิปัสสนาญาณและมรรคผลก็ต้องเกิด

    ยังมีตัวอย่างหนึ่งของท่านพระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งง่วงในขณะฟังพระธรรม ซึ่งก็คงจะมีทุกกาลสมัย และสำหรับบางท่านที่บอกว่าท่านเป็นคนชอบนอน เวลาที่ฟังพระธรรมก็อาจจะง่วงด้วย

    ในอรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา กัปป์ปฏกุรเถรคาถา มีข้อความว่า

    ท่านพระกัปป์ปฏกุรเถระบวชแล้วสึก แล้วก็บวชแล้วสึกถึง ๗ ครั้ง อยู่มาวันหนึ่งท่านพระกัปป์ปฏกุระนั่งโงกง่วงอยู่ท้ายบริษัทในโรงประชุมฟังธรรม แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเตือนด้วยพระคาถา ๒ คาถา ท่านก็เกิดความสลดใจเหมือนถูกศรแทงจรดกระดูก

    นี่จากพระพุทธพจน์ที่ได้ฟัง ทำให้ท่านเกิดความรู้สึกสลดถึงอย่างนั้น

    แล้วเหมือนช้างตัวดุที่หลงผิดเดินตรงทางฉะนั้น และในกาลไม่นานนัก ท่านก็ได้บรรลุพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้บรรลุเพราะความง่วง แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่สะสมอบรมเจริญปัญญา แต่เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ยังมีอกุศลอยู่ ก็เป็นของธรรมดาที่ชีวิตแต่ละชีวิตก็ยังมีอกุศลเจตสิกซึ่งจะดับได้ด้วยโลกุตตรมรรคเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดก็ตามที่ไม่ใช่โลกุตตรมรรคแล้ว ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

    อีกท่านหนึ่งเป็นผู้ที่เกิดความสังเวชสลดใจด้วยอาการที่แปลก ซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ ข้อความในอรรถกถา อุสภเถระ มีข้อความว่า

    ท่านพระอุสภะเกิดในตระกูลแห่งเจ้าศากยะ กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อบวชแล้ว ท่านก็ยินดีในการคลุกคลีกับหมู่คณะในเวลากลางวัน และชอบนอนหลับตลอดทั้งคืน ยังเวลาให้ล่วงไป

    เหมือนปกติธรรมดา ไม่ใช่เหมือนคนที่จะต้องนั่งคร่ำเคร่งเจริญสติปัฏฐาน ไม่หลับไม่นอนเป็นวันๆ เดือนๆ อันนั้นก็แล้วแต่อัธยาศัย แล้วแต่การสะสม แต่สำหรับท่านพระอุสภะท่านก็ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะในตอนกลางวัน และก็ชอบนอนหลับตลอดทั้งคืน ยังเวลาให้ล่วงไปในระหว่างที่ท่านบวชแล้ว

    วันหนึ่งท่านนอนหลับ ฝันเห็นตนเองปลงผมและหนวดแล้ว ห่มจีวรสีใบมะม่วงอ่อน นั่งบนคอช้างเข้าไปสู่พระนครเพื่อบิณฑบาต พอเข้าไปเท่านั้น มหาชนก็พากันห้อมล้อมแลดู ท่านจึงลงจากคอช้างด้วยความละอาย

    ท่านตื่นขึ้นเกิดความสลดใจ และภายหลังท่านก็ได้บรรลุพระอรหันต์ในเวลาไม่นานนัก

    มีความฝันอะไรที่ทำให้รู้สึกสลดใจบ้างไหม เกิดหิริโอตตัปปะ ถ้าไม่เคยสะสมอบรมมาก่อนที่จะให้เกิดหิริ หิริก็เกิดไม่ได้ ไม่ว่าจะฝันอะไรทั้งนั้น ทุกคนก็ฝันไป เพราะเหตุว่ายังมีอกุศล แต่สำหรับบางคนที่ได้สะสมหิริโอตตัปปะ พร้อมที่จะมีความฝันบางอย่างที่จะทำให้เกิดหิริโอตตัปปะ หิริโอตตัปปะก็เกิด

    อดิศักดิ์ ท่านพระเถระเหล่านี้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้โดยเป็นปกติ ไม่มีการผิดปกติ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปสู่ที่สงบสงัด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่ไหนก็ได้ตามตัวอย่างที่กล่าวถึง

    อดิศักดิ์ ทีนี้มีบางท่านกล่าวว่า เนื่องจากท่านพระเถระเหล่านี้เป็นอุคฆติตัญญู เป็นวิปจิตัญญู ท่านจึงทำอย่างนั้นได้ ส่วนพวกเราเป็นปุถุชนต้องไปที่สงบสงัดจึงจะทำอย่างนั้นได้ มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเลย

    อดิศักดิ์ ไม่มี ไม่มีการเน้นว่า อุคฆติตัญญูหรือวิปจิตัญญูต้องเจริญสติอย่างหนึ่ง ปุถุชนเจริญสติอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ทุกวัน ทุกคนมีความไม่สบายใจอะไรบ้าง จากทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก

    วันหนึ่งๆ บางท่านก็อาจจะมีความวิตกกังวล ความเดือดร้อนใจ ความไม่สบายใจมาก แต่ทั้งหมดให้ทราบว่า ปรมัตถธรรมที่ปรากฏ ปรากฏเพื่อให้คิดเรื่องของปรมัตถธรรมนั้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นสุขทุกข์ทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ปรมัตถธรรมซึ่งเกิดปรากฏแล้วดับไปอย่างรวดเร็วจริงๆ แต่ว่าอยู่ที่ใจที่คิดเรื่องของปรมัตถธรรมนั้นๆ

    ขณะนี้ รูปเมื่อกี้นี้ก็ดับไปหมดทางตา ทางหู เสียงที่เกิดการกระทบให้เกิดได้ยินก็ดับไปแล้ว ทางกายที่กระทบอ่อนหรือแข็ง ก็ดับไป แต่ว่าใจยังไม่ได้ทิ้งสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วก็ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องราวต่างๆ แม้เสียงที่ปรากฏทางหูในวันหนึ่งๆ ก็ทำให้เกิดความสุขความทุกข์ต่างๆ

    ถ้าสามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่า สุขทุกข์ทั้งหมดทางใจย่อมเกิดจากการคิดนึกเท่านั้น ก็จะเป็นหนทางที่จะทำให้เห็นความไม่มีสาระของเพียงความคิด ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้สติปัฏฐานระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม เมื่อเห็นความไม่มีสาระของความคิด เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ เห็นความไม่มีสาระของความคิดบ้างแล้วหรือยัง ถ้าเริ่มเห็นความไม่มีสาระของความคิด ขณะที่เห็นว่าความคิดไม่มีสาระ ขณะนั้นสติจะระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    10 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ