โสภณธรรม ครั้งที่ 094


    ตอนที่ ๙๔

    แสดงอานิสงส์ของกุศลนั้น เพื่อที่จะให้ผู้ทำกุศลเกิดความปีติในกุศลที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่ท่านเป็นฝ่ายให้พร แต่ว่าท่านอนุโมทนาในกุศลของผู้ที่ได้กระทำกุศล เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่เข้าใจก็รีบมารับพร ซึ่งความจริงแล้ว ขณะที่ถวายทานเป็นกุศลจิต ถ้าจะเป็นพร ก็เป็นผลของกุศลจิตที่ได้กระทำแล้ว แต่ไม่ใช่ถ้าไม่รับแล้ว กุศลนั้นจะไม่เกิด

    นี่ก็เป็นการที่จะต้องเข้าใจลักษณะของวิตกเจตสิกโดยละเอียด มิฉะนั้นก็จะเข้าใจพระธรรมผิดและเป็นโทษได้ เช่นข้อความในคราวก่อนในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค โอฆกรณสูตร ที่มีข้อความแสดงว่า

    พระเทศนาของพระผู้มีพระภาคมี ๒ อย่าง คือ ทรงแสดงโดยนิคคหมุข ทรงกล่าวข่มบุคคลผู้ควรข่ม และอนุคคหมุข ทรงกล่าวยกย่องบุคคลผู้ควรยกย่อง

    ผู้คิดผิดก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ควรกล่าวข่มบุคคลผู้ควรข่ม เรื่องของพระผู้มีพระภาคแล้วที่จะไม่ทรงควรกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยประโยชน์นั้นไม่มีเลย แต่ว่าถ้าเป็นผู้พิจารณาโดยละเอียด ก็ย่อมจะเห็นพระมหากรุณาคุณ รู้ว่าขณะใดควรที่จะทรงแสดงธรรมในลักษณะใด และบางคนฟังเผินก็รีบไปข่มบุคคลผู้ควรข่ม เพราะเข้าใจว่า ข้อความนี้กล่าวว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องรีบไปข่มคนที่ควรข่ม ด้วยอกุศลจิตที่อยากจะข่ม

    นี่ก็เป็นเรื่องของนานาความคิดจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด แล้วก็จะไม่รู้วาระจิตของตนเอง คือไม่ได้พิจารณาจิต แต่ถ้าเป็นผู้ที่รอบคอบ ก็จะรู้ว่า คำพูดอาจจะน่าฟัง แต่ว่าไม่เป็นประโยชน์ หรือว่าคำพูดที่ไม่ตรง และไม่เกื้อกูลกับบุคคลอื่น ก็ไม่ควรที่จะกล่าว ถ้าเป็นธรรมที่ถูกต้องและผู้ฟังสามารถที่จะพิจารณาเหตุผลได้ ก็ควรที่จะมีเมตตาที่ใคร่ที่จะให้ผู้ที่มีอกุศลรู้ตัวว่ามีอกุศล เพราะฉะนั้นก็ข่มด้วยเหตุผลของพระธรรม ไม่ใช่ข่มด้วยอธรรม

    นี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาจิตของตนเองโดยละเอียด

    ขอกล่าวถึงลักษณะความคิดซึ่งเป็นพระวิตกของพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นไปด้วยพระมหากรุณาคุณ ข้อความในอรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สุนทริกสูตร ข้อ ๖๕๘ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกา ในโกศลชนบท สุนทริกภารทวาชพราหมณ์บูชาไฟ บำเรอการบูชาไฟที่ฝั่งแม่น้ำสุนทริกาแล้ว ลุกจากอาสนะ เหลียวดูทิศทั้ง ๔ โดยรอบ ด้วยคิดว่า ใครหนอควรบริโภคปายาสอันเหลือจากการบูชานี้

    สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงคลุมพระอวัยวะพร้อมทั้งพระเศียร ประทับนั่งที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง ก็คิดว่า เป็นผู้ที่คลุมศีรษะประกอบความเพียรคืนยังรุ่ง จึงได้ถือข้าวปายาสที่เหลือจากการบูชาไฟด้วยมือซ้าย ถือน้ำเต้าด้วยมือขวา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แต่ก่อนที่จะถวายก็ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านเป็นชาติอะไร”

    ทั้งๆ ที่คิดแล้วว่า ผู้นี้คงเป็นผู้มีความเพียรนั่งคลุมศีรษะคืนยังรุ่ง แต่ว่าก็ยังมีวิตกเจตสิกที่ตรึกก่อนที่จะถวาย โดยคิดคำนึงถึงชาติ จึงได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ท่านเป็นชาติอะไร”

    ไม่ได้ถามถึงพระธรรมเลย ไม่ได้ถามถึงข้อปฏิบัติเลย เจอหน้ากันก็ถามถึงชาติ นี่ก็แสดงลักษณะของจิตแล้วว่า ในขณะนั้นมีความสำคัญตนอย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ท่านอย่าถามถึงชาติ แต่จงถามถึงความประพฤติเถิด ไฟย่อมเกิดจากไม้แล บุคคลแม้เกิดในตระกูลต่ำ เป็นมุนี มีความเพียร มีความรู้ทั่วถึงเหตุ ห้ามโทษเสียด้วยหิริ ฝึกตนแล้วด้วยสัจจะ ประกอบด้วยการปราบปราม ถึงที่สุดแห่งเวท มีพรหมจรรย์อันอยู่จบแล้ว ผู้ใดมียันต์อันน้อมเข้าไปแล้ว บูชาพราหมณ์ผู้นั้น ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมบูชาพระทักขิไนยบุคคลโดยกาล”

    ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกในเวลาใกล้รุ่ง เห็นพราหมณ์นี้แล้วทรงพระดำริว่า พราหมณ์นี้ถือข้าวปายาสอันเลิศเห็นปานนี้เอาไปเผาไฟ ด้วยตั้งใจจะให้มหาพรหมบริโภค ชื่อว่า ทำสิ่งไร้ผล เราจะให้มรรค ๔ ผล ๔

    พระผู้มีพระภาคจึงเสด็จลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ทีเดียว ทรงชำระพระวรกายเสร็จแล้ว ทรงถือบาตรจีวร เสด็จไปประทับนั่ง ณ โคนต้นไม้นั้น โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล

    เป็นพระมหากรุณาคุณมากแค่ไหนที่จะเห็นประโยชน์ว่า พราหมณ์นั้นควรจะได้มรรค ๔ ผล ๔ แม้ว่าจะทรงกระทำทุกอย่างเพื่อพราหมณ์นั้นก็ยอมที่จะกระทำอย่างนั้น ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    ถามว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุไรพระผู้มีพระภาคจึงทรงคลุมตลอดพระเศียร

    สำหรับคนที่ช่างคิด ก็ต้องคิดไปเรื่อยๆ และต้องหาเหตุผลพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้ทราบพระมหากรุณาคุณอย่างถ่องแท้

    ตอบว่า เพื่อป้องกันหิมะตกและลมหนาว พระตถาคตทรงสามารถอดทนหิมะตกและลมหนาวได้ แต่ถ้ามิได้ทรงนั่งคลุมพระวรกาย พราหมณ์จำได้แก่ไกลก็จะกลับเสีย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่ได้สนทนากัน ดังนั้นพระผู้มีพระภาคทรงมีพระดำริว่า เมื่อพราหมณ์มาเราจะเปิดศีรษะ ทีนั้นพราหมณ์ก็จะเห็นเรา จะได้สนทนากัน เราจักแสดงธรรมตามแนวที่สนทนากันแก่พราหมณ์ดังนี้ จึงได้ทรงทำอย่างนั้นเพื่อจะได้สนทนากัน

    ผลก็คือว่าตอนสุดท้าย สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ก็ได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย คือ ได้ทั้งมรรค ๔ และผล ๔ จากพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาค

    นี่เป็นเหตุที่ทรงคลุมพระอวัยวะตลอดทั้งพระเศียร คนสมัยนี้จะมีความอดทนถึงอย่างนั้นไหม ทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้รับฟังพระธรรม แต่ว่าคนสมัยนี้ถ้ามีคนอื่นแสดงปฏิกิริยาบางประการก็เลิกแล้วที่จะสนทนากัน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับคนในสมัยนี้ ก็ได้ยินได้ฟังบางท่านบอกว่า ทนคนนั้นไม่ได้ ทนคนนี้ไม่ได้ เพราะอะไร วิตกมี ๒ อย่าง อกุศลวิตกและกุศลวิตก ถ้าเกิดความคิดอย่างนั้นขณะใด พิจารณาหรือเปล่าว่าเพราะอะไร ขณะที่ทนใครก็ตามไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไม่คิดจะเจริญกุศล ซึ่งกุศลพร้อมที่จะเกิดจริงๆ ด้วยประการหนึ่งประการใด เมตตาก็เกิดได้แทนที่จะไม่อดทน ทางวาจาก็ยังสามารถที่จะเกื้อกูลในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในสิ่งที่เป็นเหตุผล แทนที่ขณะนั้นจะมีแต่อกุศลวิตกที่เห็นแต่ความไม่น่าพอใจของคนอื่น

    พระธรรมทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของผู้ฟัง ยังไม่ต้องคิดถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นเลย เพียงแต่เป็นผู้น้อมรับฟังพระธรรม เพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติตามเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ รับฟังพระธรรมเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสไปเรื่อยๆ มิฉะนั้นแล้วถ้ามีอกุศลมากๆ และก็กล่าวว่า สติก็ไม่ค่อยเกิด ถ้ามีอกุศลมาก มีปัจจัยที่จะให้อกุศลเกิดอีกๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ยากที่จะมีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดได้

    เพราะฉะนั้นแม้แต่ชีวิตประจำวันก็ควรที่จะได้พิจารณาถึงกุศลวิตกและอกุศลวิตกของตนเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะเห็นแต่อกุศลของคนอื่น แทนที่จะกระทำกิจของตน ก็ไปคิดที่อยากให้คนอื่นหมดกิเลส โดยที่ลืมว่าในขณะนั้นจิตของตนเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    การขัดเกลากิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าจะต้องเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียด โดยถูกต้อง ถ้าใครศึกษาพระธรรมโดยไม่รอบคอบ หรือมีการเข้าใจผิดในพระธรรม การขัดเกลากิเลสก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้

    ข้อความในอรรถสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคินีปกรณ์ นิทานกถาว่าด้วยวิบัติ ๓ ประเภท ซึ่งเป็นวิบัติของผู้ศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงวิบัติของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ข้อความมีว่า

    ผู้ปฏิบัติผิดในพระวินัยเป็นผู้มีความสำคัญว่า ไม่มีโทษในธรรมที่มีโทษ เป็นต้น ย่อมทำให้เป็นผู้ทุศีลเมื่อเข้าใจพระวินัยผิด ตัวอย่างคือ ท่านที่เข้าใจว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเครื่องลาด เครื่องนุ่งห่มที่มีสัมผัสเป็นสุข การสัมผัส โผฏฐัพพะที่เป็นสุข เช่นสัมผัสหญิงก็ย่อมไม่มีโทษเช่นเดียวกัน

    เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้น คือ เข้าใจว่าสำหรับเครื่องลาด เครื่องสัมผัสจะเป็นจีวร จะเป็นเสนาสนะที่ทรงอนุญาตแล้วสัมผัสได้ เพราะฉะนั้นการสัมผัสหญิงก็เช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับสัมผัสอื่นๆ เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าใจผิดอย่างนี้ก็ย่อมทำให้เป็นผู้ทุศีล เมื่อเข้าใจพระวินัยผิด

    ผู้ปฏิบัติผิดในพระสูตร คือ ไม่รู้คำอธิบาย ไม่เข้าใจในอรรถ ย่อมถึงความเป็นมิจฉาทิฏฐิ

    เข้าใจผิดไปได้อย่างมากเลย เพียงแต่จะอ่านเพียงสูตรเดียว โดยที่ไม่พิจารณาพระธรรมทั้ง ๓ ปิฎก

    สำหรับผู้ที่ปฏิบัติผิดในพระอภิธรรม จะวิจารณ์ธรรมเกินไป ย่อมคิดแม้สิ่งที่ไม่ควรคิด ก็จะถึงความฟุ้งซ่านแห่งจิต

    บางอย่างไม่น่าจะคิดเลยก็คิดๆ อยู่นั่น ทั้งๆ ที่ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่เป็นสาวกที่จะเข้าใจได้ แต่ก็ไปติดหรือว่าไปคิดอยู่ถึงสิ่งนั้น จนกระทั่งไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมประการอื่นๆ เพราะฉะนั้นก็จะถึงความฟุ้งซ่านแห่งจิต

    ผู้ปฏิบัติผิดในพระไตรปิฎกนี้ย่อมถึงความวิบัติ อันต่างด้วยความเป็นผู้ทุศีล ความเป็นมิจฉาทิฏฐิ และความฟุ้งซ่านแห่งจิตนี้โดยลำดับด้วยประการฉะนี้

    แสดงถึงลักษณะความละเอียดของวิตกเจตสิกซึ่งปรุงแต่งไม่หยุดเลย แม้แต่ในการศึกษาพระธรรมวินัย ใครจะเข้าใจถูก ใครจะเข้าใจผิด ใครจะเข้าใจได้ลึกซึ้ง ใครจะเข้าใจได้มากน้อยอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามการสะสมทุกๆ ขณะ ซึ่งแม้ในขณะนี้เอง ทุกท่านก็กำลังสะสมความเข้าใจถูก หรือความเข้าใจผิดในพระธรรมถ้าเป็นผู้ที่ไม่ละเอียด

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่พิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ กว่าจะถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ ปัจจยปริคคหญาณ สัมมสนญาณ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ภังคานุปัสสนาญาณ ภยตูปัฏฐานานุปัสสนาญาณ อาทีนวานุปัสสนาญาณ นิพพิทานุปัสสนาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ที่ได้กล่าวไปแล้ว ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ

    เพราะฉะนั้นเรื่องของวิปัสสนาญาณต่างๆ ไม่ใช่เรื่องห่วง ไม่ใช่เรื่องกังวล ว่าจะถึงเมื่อไร จะเกิดเมื่อไร จะประจักษ์แจ้งเมื่อไร แต่เรื่องที่ควรจะพิจารณาคือเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ กุศลจิตเกิดหรืออกุศลจิตเกิด น้อมประพฤติปฏิบัติพระธรรมได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เป็นการอยากให้เพียงฟังเรื่องของจิต เจตสิก โสภณเจตสิก หรือวิปัสสนาญาณต่างๆ ให้จบ ปริจเฉทต่างๆ ตำราต่างๆ แต่ต้องเข้าใจว่า การศึกษาพระธรรมเพื่อประโยชน์ของตนเอง คือ เข้าใจกุศลและอกุศลของตนเอง เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเพิ่มขึ้น เพื่อการเจริญกุศลยิ่งขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจผิด จิตไม่อ่อนโยน ไม่น้อมที่จะฟังเพื่อประโยชน์ คือ การเจริญกุศล

    เพราะฉะนั้นทุกท่านก็ควรที่จะได้ทราบว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะต้องควบคู่กันไปกับการฟังพระธรรม เพื่อที่จะเห็นโทษของอกุศล และปัญญาที่เห็นโทษของอกุศลนั้นก็จะทำกิจบรรเทา ละอกุศลลงไป

    คราวก่อนได้กล่าวถึงสังยุตตนิกาย สคาถวรรค สัญโยชนสูตร ซึ่งมีข้อความที่ว่า

    วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนี้ คือ วิตกเป็นเท้าของโลก

    ข้อความในขุททกนิกาย จูฬนิทเทส อุทยมานวกปัญหานิทเทส ข้อ ๔๕๖ ก็มีข้อความเดียวกัน และได้แสดงวิตก ๙ เป็นเครื่องเที่ยวไปของโลก มีข้อความว่า

    วิตก ๙ คือ ๙ ชนิด หรือ ๙ ประเภท

    วิตก ๙ ทุกท่านพิจารณา ชีวิตประจำวันของทุกคน

    กามวิตก ตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ ถ้ารู้ เกิดทันทีหลังจากที่ทวิปัญจวิญญาณดับไป

    พยาปาทวิตก ความขุ่นเคืองใจมีบ้างไหมในวันนี้

    วิหิงสาวิตก คิดที่จะเบียดเบียนใครหรือเปล่า แม้เพียงความคิด บางทียังไม่ได้เบียดเบียน แต่คิดแล้วไม่ชอบใจ และก็อาจจะใคร่ที่จะให้บุคคลนั้นเสื่อมลาภบ้าง เสื่อมยศบ้าง เป็นต้น

    วิตกถึงญาติ วิตกถึงชนบท

    มีไหมวันนี้ ประเทศเราเป็นอย่างไรบ้าง การทำมาค้าขาย ข้าวยากหมากแพง อทุกภัย วาตภัยต่างๆ

    วิตกถึงเทวดา วิตกอันสัมปยุตต์ด้วยความเอ็นดูผู้อื่น วิตกอันสัมปยุตต์ด้วยลาภ สักการะและสรรเสริญ วิตกอันสัมปยุตต์ด้วยความไม่อยากให้ผู้อื่นดูหมิ่นตน เหล่านี้เรียกว่าวิตก ๙

    ชื่อว่า วิตกในอุเทศว่า วิตกฺกสฺส วิจรณา ดังนี้ วิตก ๙ อย่างนี้เป็นเครื่องสัญจรไป เที่ยวไป ท่องเที่ยวไปของโลกนั้น โลกนั้นย่อมสัญจร เที่ยวไป ท่องเที่ยวไปด้วยวิตก ๙ อย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น

    โลกนั้นอยู่ไหน ฟังแล้วก็ต้องคิดอีกครั้งหนึ่ง

    ชื่อว่า วิตกในอุเทศว่า วิตกฺกสฺส วิจรณา ดังนี้ วิตก ๙ อย่างนี้เป็นเครื่องสัญจรไป เที่ยวไป ท่องเที่ยวไปของโลกนั้น โลกนั้นย่อมสัญจร เที่ยวไป ท่องเที่ยวไปด้วยวิตก ๙ อย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น

    โลกนั้นคือโลกไหน เวลานี้มีโลกหรือเปล่า โลกไหน โลกก็คือจิตทุกขณะนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น วิตกนี้เป็นเครื่องสัญจรไป เที่ยวไป ท่องเที่ยวไปของโลกนั้น

    แล้วแต่ว่าขณะจิตนั้นจะเป็นกุศลวิตกหรือเป็นอกุศลวิตก เช่น วิตก ๙ คือ กามวิตก เป็นอกุศล พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก วิตกถึงญาติ เวลาคิดถึงญาติลองสังเกตดูว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล บางครั้งคิดด้วยโลภะ บางครั้งคิดด้วยโทสะ บางครั้งก็พลอยเพลิดเพลินยินดีไปด้วย บางครั้งก็พลอยวิตกทุกข์ร้อนไปด้วย วิตกถึงชนบท วิตกถึงเทวดา วิตกอันสัมปยุตต์ด้วยความเอ็นดูผู้อื่น ฟังดูเหมือนเป็นกุศล แต่ความจริงแม้วิตกอันสัมปยุตต์ด้วยความเอ็นดูผู้อื่นก็เป็นอกุศล เพราะด้วยความเอ็นดู ด้วยความผูกพัน ด้วยการเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นก็ย่อมเป็นอกุศล

    ทั้งหมดนี้สำหรับผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะบรรลุวิปัสสนาญาณในวันหนึ่ง แต่ก่อนที่จะถึงก็ควรที่จะได้พิจารณาถึงอกุศลวิตกของตนเองเพื่อละไปด้วย ไม่ใช่เพียงแต่คอยที่จะให้เมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิดเท่านั้น เพราะเหตุว่าถ้าอกุศลวิตกยังมีมาก กลุ้มรุมอยู่บ่อยๆ ก็ขาดปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดได้มาก

    ข้อความในสัมโมหวิโนทนีพรรณนาพระวิภังคปกรณ์ สัจจวิภังคนิทเทส อุปมาคนมีทุกข์เหมือนคนมีเวร

    วันนี้ใครรู้สึกตัวบ้างว่ามีทุกข์ เกิดมาก็เป็นทุกข์ แต่ไม่รู้สึก เวลาที่อยากจะได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขวนขวายหาสิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเปล่า แม้กระนั้นก็ยังไม่รู้ว่ามีทุกข์ เพราะฉะนั้นคนที่กำลังมีทุกข์ ที่จะเห็นได้ชัดๆ ก็คือขณะที่กำลังมีความขุ่นเคืองใจ กำลังมีความแค้นเคืองใจ กำลังมีความผูกโกรธ คนอื่นก็รู้ได้ว่า คนนั้นเหมือนคนมีเวร แต่คนที่กำลังมีอกุศลครอบงำ ย่อมไม่สามารถที่จะรู้สึกตัวได้ว่า ในขณะนั้นแม้ทุกข์อื่นไม่มี อาจจะเป็นคนที่มีทรัพย์สินเงินทองมาก มีความสะดวกสบายทุกอย่าง แต่ว่าจิตใจสะสมอกุศลจนกระทั่งมีแต่ความแค้นเคืองผูกโกรธ ในขณะนั้นเหมือนคนมีเวร

    เวลาที่พูดถึงเวร ไม่มีใครชอบเวรแน่นอน ถึงได้กล่าวว่า เป็นกรรม เป็นเวร แต่ว่าเมื่อไม่ชอบเวร ชอบอกุศลไหม นี่เป็นสิ่งซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องสืบเนื่องกัน เป็นเรื่องของกุศลและอกุศล เป็นเรื่องของกุศลวิบากและอกุศลวิบาก เป็นเรื่องของการที่จะเห็นโทษของอกุศล และเป็นเรื่องของการที่จะเห็นประโยชน์ของกุศล และประพฤติปฏิบัติตาม

    เพราะฉะนั้นขอให้คิดถึงสภาพของคนมีทุกข์ด้วยความโกรธเหมือนคนมีเวร ขณะที่กำลังโกรธ กำลังแค้น กำลังหมายมั่นที่จะแสดงกายวาจาเหยียบย่ำคนที่ตนโกรธ อกุศลของตนเองในขณะนั้นทำให้ไม่เห็นว่า เทียบด้วยความทุกข์เหมือนคนมีเวร แต่อาจจะพอใจที่อยากจะชนะ ความที่อยากจะชนะก็จะทำให้หมายมั่นมากขึ้นด้วยอกุศลประการต่างๆ เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้พิจารณาถึงคนที่กำลังประสบเวรทางอื่น เช่นภัยพิบัติต่างๆ และคร่ำครวญว่าเมื่อไรจะหมดเวรหมดกรรม แต่ว่าเมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็หมดเวรหมดกรรมไม่ได้ แต่ปัญญาก็จะทำลดคลายอกุศลลงไปได้

    ถ้าขณะนั้นกุศลวิตกเกิด สภาพของจิตเปลี่ยนทันทีจากความขุ่นเคือง หรือจากการคิดถึงความไม่ดีของคนอื่น ความแค้นเคืองใจ พอกุศลวิตกเกิดเห็นโทษ ขณะนั้นจะรู้สึกเบาสบาย และถ้าเป็นผู้อกุศลวิตกยังคงเกิดอยู่ โดยที่กุศลวิตกไม่เกิด ก็ไม่ต้องคิดถึงเรื่องของวิปัสสนาญาณ เพราะเหตุว่าแม้เพียงกุศลวิตกที่จะเกิดขึ้น ก็ยังเกิดไม่ได้ในขณะนั้น และที่จะให้อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณต่างๆ ก็ย่อมจะถูกอกุศลวิตกนั้นขัดขวาง

    ข้อความในสัจจวิภังคนิทเทส อุปมาความโกรธและกิเลส และทุกข์ทั้งหลายเหมือนต้นไม้มีพิษ ไม่ว่าจะทรงอุปมาอย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนพิจารณาตนเองว่า พร้อมที่จะเห็นโทษของอกุศลจริงๆ และกุศลวิตกจะเกิดได้หรือยัง ท่านที่เห็นว่า ความโกรธ กิเลส และทุกข์ทั้งหลายอุปมาเหมือนต้นไม้มีพิษ คิดจะเพิ่มอาหารให้ต้นไม้มีพิษให้ฝังรากลึกลงไปอีก และให้งอกงามเพิ่มพูนขึ้น จะเก็บบำรุงรักษาต้นไม้มีพิษนั้นไว้ หรือจะตัดโค่นต้นไม้มีพิษนั้น

    ในที่นี้มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งท่านมีประสบการณ์เรื่องความโกรธที่เกิดขึ้น และกุศลวิตกก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเปลี่ยนสภาพจากอกุศลวิตกเป็นกุศลวิตก แต่ไม่ทราบว่า ท่านพร้อมที่จะเล่าให้ท่านผู้อื่นฟังหรือเปล่า ที่แสดงให้เห็นถึงความต่างกันของขณะที่เป็นอกุศลวิตกและกุศลวิตก

    มีใครคิดจะรอไหม ยังไม่แก้อกุศลวิตก ถ้ารอเดี๋ยวนี้ก็จะต้องรอไปอีกเรื่อยๆ และไม่ทราบว่าจะรอไปอีกนานแสนนานสักเท่าไร เพราะเหตุว่าถ้าขณะนี้รอ ก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปก็รออีกๆ ๆ ไปเรื่อยๆ

    อดิศักดิ์ มีการเปลี่ยนอกุศลวิตกเป็นกุศลวิตกได้หรือ

    ท่านอาจารย์ มิได้ หมายความว่า เมื่ออกุศลวิตกดับ มีปัจจัยที่กุศลวิตกจะเกิด ก็เห็นความต่างกัน เพราะเหตุว่ากุศลวิตกเกิด เป็นปัจจัยไม่ให้อกุศลวิตกนั้นเกิดต่อไปอีก เกิดต่อไปอีก เกิดต่อไปอีก เพราะมิฉะนั้นแล้วอกุศลวิตกที่เกิดแล้วดับไป ก็จะเป็นปัจจัยให้อกุศลวิตกเกิดต่อไปอีก

    อดิศักดิ์ ผมไปพบตัวอย่างมาเมื่อไม่กี่วันนี้ แต่จะไม่เล่ารายละเอียด ก็เกิดอกุศลวิตกเพราะเขาจอดรถไว้ขวาง เลยบีบแตร เขาก็โต้ตอบมารุนแรงเหลือเกิน แต่เมื่อเหตุการณ์นั้นสักประมาณ ๒ – ๓ นาทีก็ผ่านไป แต่อกุศลวิตกนั้นทำให้ผมเกิดอกุศลวิตกซ้ำไปอีก จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ค่อยคลาย แต่ว่าบางครั้งสติระลึกได้ ก็เตือนตัวเองว่า เรามีส่วนผิดที่ไปบีบแตร ถ้าเรามีขันติสักหน่อย ไม่บีบ รอเขาหน่อย ก็คงจะไม่มีเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้น ก็ติตัวเอง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    9 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ