โสภณธรรม ครั้งที่ 060


    ตอนที่ ๖๐

    ผู้ฟัง ในขณะที่สวดมนต์ ความนึกคิดนี้ ปากก็พูดไป สวดไป ใจก็คิด พอคิดมาถึงตอนนี้ ก็หยุด แล้วก็เริ่มต้นเจริญกุศลใหม่ในการระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์และก็เริ่ม มโน ตัสสะ อะไรอย่างนี้ กระผมคิดว่า ถ้าหากทุกๆ ท่าน มีสติเกิดในขั้นต่างๆ ช่วยกรุณามาเรียนให้ท่านผู้ฟังหรือผู้ที่สนใจในธรรม ก็จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟังมาก

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของความเป็นตัวตน ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แน่น เพียบ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะคิดอะไร ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งนั้น ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ถ้าสติไม่เกิดที่เป็นสติปัฏฐาน จะรู้บ้างไหมว่า เป็นโลภะเท่าไร เพราะว่าเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่เมื่อลืมตาตื่นขึ้นมา ก็เป็นโลภะประเภทต่างๆ แล้วก็เป็นโทสะคั่นสลับบ้างเล็กน้อย แล้วก็เป็นอกุศลประเภทต่างๆ ถ้าสติไม่เกิดขึ้น จะไม่มีวันรู้เลย เพราะชิน แล้วก็เป็นอย่างนี้ทุกวัน ไหลเรื่อยตั้งแต่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นอาศัยสติที่ระลึก ชั่วขณะใดที่สติเกิดแล้วระลึก ชั่วขณะนั้นเป็นกระแสที่กั้นลักษณะของอกุศลธรรมในวันหนึ่งๆ จริงๆ ที่จะเกิดระลึกขึ้นมาได้ว่า ขณะนี้ถ้าเป็นสติปัฏฐานก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด เพราะฉะนั้นในขณะเมื่อสักครู่นี้ที่ผ่านไป สภาพธรรมจริงๆ แล้วเยอะแยะ ทางตา แล้วก็คิดนึก แล้วก็ต้องการที่จะเป็นกุศล หรือว่าต้องการที่จะระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ ด้วยความศรัทธายิ่งขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นอกุศลตลอดไป ต่อไปเรื่อยๆ หรืออะไรอย่างนั้น

    จะเห็นได้ว่า ช่วงขณะที่สติเกิด เป็นช่วงขณะที่เล็กน้อย แล้วก็สั้นมาก และก็ก่อนที่จะได้ฟังประโยคนี้ ก็ไม่ทราบว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลประการใด แต่ให้ทราบว่า เวลาที่ฟังธรรม ก็ยังเป็นโอกาสที่จะได้รับฟังเรื่องของสภาพธรรม แล้วก็พิจารณาให้เข้าใจว่า ในวันหนึ่งๆ ที่จะเป็นกุศลจริงๆ ที่จะกั้นกระแสของอกุศลได้มากกว่ากุศลประเภทอื่นก็คือ สติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อสักครู่นี้เกิดหลับตา ขณะต่างๆ ผ่านไปหมดแล้ว ไม่ต้องกังวลเลย เพราะว่าจิตเกิดเพียงชั่วขณะเดียว สภาพธรรมปรากฏก็เพียงชั่วขณะเดียว เพราะฉะนั้นสติก็ระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศล จนกว่าความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลจะชัดขึ้น หรือว่ารู้ในลักษณะที่เป็นกุศลชัดขึ้น สามารถที่จะแยกออกได้ว่า ขณะไหนเป็นกุศล และขณะไหนเป็นอกุศล แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น จึงจะเห็นลักษณะของสติขั้นต่างๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง เรื่องอัตตสัญญา ความสำคัญว่าสัตว์ สังขาร เป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นเรื่องที่มีอยู่เป็นประจำทุกลมหายใจเข้าออก ตลอดระยะเวลาเมื่อปลายเดือนที่แล้วจนกระทั่งถึงต้นเดือนนี้ กระผมประสบกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา แล้วก็รู้สึกว่า ในใจมีแต่ตัวมีแต่ตน มีแต่เขา มีแต่คนโน้นคนนี้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งความคิดอย่างนี้ ไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย มีแต่จะนำมาซึ่งความทุกข์ โทมนัส โสก ปริเทวะ ความร่ำไร ความรำพัน ซึ่งไม่ตรงกับหลักของมหาสติปัฏฐานที่ท่านบอกว่า หนทางเดียวนี้เท่านั้นที่จะเป็นทางดับทุกข์โทมนัส ดับความโศกปริเทวะร่ำไรรำพันได้ แต่เพราะเราเป็นเพียงจำ เป็นแต่เพียงเข้าใจบ้าง แต่ว่าไม่ปรากฏ ไม่ประจักษ์ ก็ทำให้เดือดร้อน ทุกข์ทับถมมาตลอดเวลา จนแทบจะตั้งตัวไม่ติด หรือไม่สามารถจะระลึกถึงธรรมได้เลย แทบจะพูดได้ว่า ตลอดเวลาเป็นอกุศลตลอด ผมก็มาได้สติจากเพื่อนฝูงบ้าง จากท่านอาจารย์บ้าง ได้ฟังเทปธรรม ก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ก็ทำให้เกิดระลึกได้ว่า ที่เราระลึกนึกถึงคนนั้นคนนี้ สัตว์สังขาร สิ่งนั้นสิ่งนี้ว่า เป็นเรา เป็นเขา เป็นตัว เป็นตนนั้น เป็นเรื่องที่เรานึกเอาทั้งนั้นเลย ความจริงไม่ใช่ ก็มานึกได้ว่า ขณะที่จิตระลึกถึง ก็มีสติระลึกได้บ้างว่า ขณะที่นึกถึง เราก็นึกว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้น เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นให้ระลึกถึง พอระลึกถึงได้ตอนนี้ สติเกิดขึ้นตอนนี้ เราไม่ไปสร้างถึงคนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ เป็นเราเป็นเขา เป็นอะไรของเราอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ทำให้คลายความทุกข์ความโทมนัสลงได้บ้าง กระผมประสบอย่างนี้ จะเป็นแนวทางที่เป็นไปได้แค่ไหนเพียงใดหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นประโยชน์ของการที่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่เพียงในขั้นของการฟัง คือว่า การฟัง ฟังมาโดยตลอดว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่พอเห็นทีไรก็เผลอ หลงลืมสติ เพราะว่าสติไม่ได้เกิด จึงไม่ได้ระลึกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เวลาได้ยินเสียงก็หลงลืมสติ ไม่ได้ระลึกรู้ว่า ขณะที่ได้ยินเสียง ก็เป็นชั่วขณะจิตเดียว คือ ย่อโลกที่กว้างใหญ่และเต็มไปด้วยสัตว์บุคคลตัวตนทั้งหลาย เหลือเป็นแต่เพียงจิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นรู้สภาพธรรมเพียงลักษณะเดียว ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือเป็นนามอะไร ก็เป็นเพียงสภาพธรรมที่มีอายุที่สั้นมาก แล้วก็ดับไปทั้งนั้น

    นี่คือเรื่องของการฟัง ฟังบ่อยๆ ฟังไปเรื่อยๆ จนกว่าสติจะเกิดเมื่อไรถึงจะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่มีอายุที่สั้นมากจริงๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าถ้าไม่ได้อาศัยการฟังพระธรรมเลยในเรื่องของอนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ยากที่จะระงับความโทมนัส หรือว่าการยึดถือในสัตว์ในบุคคลในตัวตนได้

    ผู้ฟัง เรื่องอัตตสัญญาเป็นเรื่องใหญ่มาก การที่ยังถอนหรือยังละความเห็นว่าเป็นตัวตนไม่ได้ ก็เพราะว่าเราได้จำหมายว่าเป็นตัวเป็นตนมาหลายชาติ มานานแล้ว ถึงขนาดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงไว้ถึงการที่จะละอัตตสัญญา แม้กระทั่งได้อบรมเจริญสติปัฏฐานจนถึงเป็นพระโสดาบันแล้ว ละได้แต่ทิฏฐิ แต่ก็ยังละความเสียใจไม่ได้ เช่นอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอานนท์ก็ยังต้องเหนี่ยวคันทวยร้องไห้โศกเศร้าถึงขนาดหนักทีเดียว นั่นขนาดท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านเจริญสติปัฏฐานจนละทิฏฐิได้ แล้วละกิเลสได้มากมายแล้ว แต่พวกเราในขณะที่เพียงฟังอาจารย์ แล้วก็จำมาได้ มีความเข้าใจมาเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นอัตตสัญญาก็ยังมีมาก และอัตตสัญญาคือความเป็นตัวตนเป็นตน พระโสดาบันละได้แล้ว แต่ก็ยังละความเสียใจไม่ได้ ก็ยังมีที่จะแทรกเข้ามาอีก เพราะฉะนั้นเพื่อนสหายธรรมที่ได้รับความทุกข์ ก็เป็นแต่เพียงเอาธรรมเข้ามาเทียบเคียงเท่านั้น แต่จะไปถึงขนาดว่าประจักษ์แจ้งแล้วว่า ไม่มีตัวไม่มีตนแล้ว ไม่ต้องไปเสียใจหรอก ขนาดพระโสดาบันท่านละความไม่มีตัวไม่มีตนได้แล้ว ท่านก็ยังเสียใจ และเรื่องอัตตสัญญา ผมอยากพูดต่อไปว่า เพราะว่าพวกเรายินยอมที่จะให้เขาหลอกให้เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงบอกว่าไม่ได้เป็นตัวเป็นตน อย่างเมื่อวานนี้สหายธรรมคนหนึ่งบอกว่าดูภาพยนตร์ เห็นคนกำลังปีนเขาหวาดเสียวมาก จะตกมาตาย คนดูก็เป็นทุกข์ไปด้วยกลัวเขาจะตก แต่หลังจากนั้นเขามาแฉเบื้องหลังการถ่ายทำให้ดู ปรากฏว่าเขาถ่ายคนที่เดินบนพื้นเรียบๆ ธรรมดาเท่านั้น นี่ก็แสดงว่า โดนเขาหลอกให้ดู ก็เหมือนกับพวกเราที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ยึดว่าเป็นตัวเป็นตน ก็ยังยินดีที่จะให้เขาหลอกว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่นั่นเอง แล้วก็เราก็ยึดอยู่อย่างนั้น เพราะเราเต็มใจ เราละได้เมื่อไร ก็พอจะเห็นว่า เหมือนเราดูภาพยนตร์ เราโดนเขาหลอก และเราเต็มใจให้เขาหลอกอยู่ทุกวัน

    ท่านอาจารย์ แต่ก็ไม่มีเราหรือตัวตน เป็นอวิชชา เป็นความไม่รู้ เป็นอกุศลทั้งหลาย เพราะฉะนั้นกว่าจะอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังจริงๆ แล้วก็พิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ ให้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่จะเห็นสภาพที่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่จากการที่ฟังและก็พิจารณาเนืองๆ บ่อยๆ ก็เป็นหนทางตรง หนทางที่จะทำให้สัมมาสติเกิด แล้วก็ระลึก แล้วก็ค่อยๆ ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมไปเรื่อยๆ

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านบอกว่า ท่านฟังมา ๒๐ ปี แต่ว่าท่านก็ยังไม่ได้อะไร ดิฉันก็อนุโมทนา เพราะรู้ว่า ต้องเป็นความจริงอย่างนั้น เพราะเหตุว่าไม่ใช่ว่าจะได้เป็นพระโสดาบันบุคคลภายใน ๒๐ ปีที่ฟัง แต่หมายความว่า จะต้องเข้าใจขึ้น เข้าใจละเอียดขึ้น แล้วก็รู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อมีปัจจัยที่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมเมื่อไร สติก็เกิด และปัญญาขั้นที่จะศึกษาพร้อมสติที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ค่อยๆ เจริญขึ้น ซึ่งเป็นไปทีละเล็กทีละน้อยๆ จริงๆ แต่ว่าผลของการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้สติขั้นอื่นเกิดเพิ่มขึ้นด้วย

    นี่เป็นสิ่งที่ควรจะเห็นคุณประโยชน์ของการฟังพระธรรม แล้วก็สติแต่ละขั้นก็จะเกื้อกูล เพราะแม้ว่าจะไม่เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดได้เนืองๆ บ่อยๆ แต่ก็ยังเป็นปัจจัยที่จะเกื้อกูลให้สติการระลึกได้ขั้นอื่นๆ เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นแต่ละท่านก็คงจะสังเกตตัวเองว่า กุศลเจริญขึ้นบ้างไหม ในประการใด ซึ่งแต่ก่อนนี้คงจะไม่เกิด แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมมากขึ้น กุศลแต่ละทางก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะเห็นคุณประโยชน์ของสติที่ทำให้เกิดกุศลขั้นนั้นๆ ด้วย แม้ว่าจะยังไม่ใช่ขั้นสติปัฏฐาน แต่ว่าสติที่เป็นขั้นสติปัฏฐานก็จะเกิดสลับกับสติที่เป็นกุศลขั้นอื่นๆ ไปเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ตอนก่อนนี้อาจารย์บรรยายว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏก่อนที่เราจะนึกว่าเป็นสีอะไรอย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะนึกถึงรูปร่างสัณฐาน เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาต้องเป็นสีที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง หมายความว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสี

    ท่านอาจารย์ ที่เราเข้าใจว่าสีแดง สีขาว สีเขียว สีเหลืองปรากฏทางไหน

    ผู้ฟัง ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นความจริงสีปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสี ถูกไหม ถ้าไม่ใส่ใจในสีต่างๆ เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือความเห็นถูก ต้องรู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นก็ไม่สนใจว่าจะเป็นสีอะไรทั้งหมดก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ว่าไม่มีสี มีสี สีนั้นปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางหู แต่ว่าไม่ใส่ใจในสีต่างๆ เพราะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องพิจารณาถึงสภาพของสติและปัญญาในขณะนั้นด้วยว่า เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    นี่เป็นความรู้ที่ต้องอบรมขึ้นจนกระทั่งมั่นใจว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว ต้องเป็นคนนั้นคนนี้ ต้องเป็นคุณนิภัทรที่ยืนอยู่ที่นี่ แต่ว่าถ้ารู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็จะรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรทั้งหมด ธาตุแท้ ลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้นก็คือว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    ผู้ฟัง แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ที่แน่ๆ จะต้องเป็นสีแน่ๆ แต่ว่าเราไม่ได้ต้องการจำแนกว่าเป็นสีอะไร

    ท่านอาจารย์ เพื่อที่จะไม่สนใจในสัณฐาน เพราะเหตุว่าถ้าสนใจในสัณฐาน คือ สนใจในสีต่างๆ ก็จะปรากฏว่าเป็นสัณฐานของสิ่งหนึ่งสิ่งใดตามความทรงจำที่เป็นอัตตสัญญา

    ผู้ฟัง ถ้าไปสนใจในสัณฐาน ก็จะปรากฏเป็นต้นไม้ ใบไม้ เป็นพระพุทธรูป เป็นตู้พระไตรปิฎก เป็นโต๊ะหมู่บูชา เป็นดอกไม้ เป็นอะไรไป

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง โดยไม่รู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง แต่รู้สึกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ปรากฏเป็นเรื่องเล็กน้อยเหลือเกิน อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วสั้นมาก เพราะเหตุว่าดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วก็ภวังคจิตคั่น แล้วมโนทวารก็จำในสีต่างๆ เป็นสัณฐาน เป็นรูปร่าง แล้วก็มีความรู้สึกว่า เป็นอัตตสัญญา คือ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง อัตตสัญญาจะปรากฏทันที โดยที่ข้ามไปเลย คือ แทนที่จะมีสติระลึกได้ขณะสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ก็ไปเห็นเป็นพระพุทธรูป เป็นดอกไม้ เป็นตู้พระไตรปิฎก

    ท่านอาจารย์ เช่นเดียวกับทางหูที่ได้ยินเสียง แต่เข้าใจว่าได้ยินคำ แต่ความจริงคำต้องเป็นมโนทวารที่นึกถึงบัญญัติ

    ผู้ฟัง ซึ่งเกิดทีหลัง

    ท่านอาจารย์ เกิดทีหลังตั้งหลายวาระ เพราะเหตุว่าต้องมีภวังคจิตคั่นด้วย ทางหูฉันใดที่ติดกันทันทีระหว่างได้ยินเสียงก็เข้าใจว่าได้ยินคำ เพราะฉะนั้นทางตา ที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แม้ว่าจะเป็นสีสันต่างๆ แต่ก็เข้าใจทันทีว่า เห็นคน เห็นวัตถุต่างๆ

    เพราะฉะนั้นการที่จะเอาอัตตสัญญาออกจากทางตา ทางหู ก็โดยนัยเดียวกัน ถ้าเข้าใจถึงความรวดเร็วว่าทางหู โสตทวารวิถีจิต ชวนวิถีจิต ไม่ได้รู้ความหมายของเสียงนั้นเลย ต่อเมื่อเสียงดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นมโนทวารวิถีจิตก็รับรู้ปรมัตถอารมณ์ คือ เสียงนั้นต่อวาระหนึ่ง และภวังคจิตก็เกิดคั่น และมโนทวารวิถีวาระต่อไปถึงจะนึกถึงความหมายของเสียง

    เพราะฉะนั้นทางตานี่ก็เหมือนกัน รวดเร็วอย่างนั้น รูปารมณ์ต้องดับก่อน เวลานี้ก็กำลังดับอยู่ แต่ว่ามโนทวารวิถีจิตซึ่งเกิดสืบต่อจำรูปร่างสัณฐานทันที เหมือนกับการนึกถึงความหมายของเสียงสูงต่ำ นึกถึงคำต่างๆ ทันทีที่ได้ยินทางหูฉันใด ทางตาทั้งๆ ที่รูปารมณ์ดับแล้ว แต่ว่าทางใจก็นึกถึงรูปร่างสัณฐาน จึงทำให้ปรากฏว่า เป็นคน เป็นสัตว์ต่างๆ

    ผู้ฟัง สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เวลาสติเกิดระลึกรู้ที่ลักษณะทั้ง ๔ อย่างนี้ เวลาที่สติเกิดจริงๆ ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเหมือนกันทั้งหมด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทีละทาง ทีละทวาร เพราะเหตุว่าสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้ว่าไม่แสดงโดยนิเทศ คือ โดยละเอียด เพียงโดยอุเทศ คือ โดยหัวข้อว่า กาย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องที่จะให้สติระลึก เพราะเหตุว่ายึดถือว่าเป็นร่างกายของเรา และก็เวทนา ความรู้สึก ก็มีอยู่ตลอดเวลา แต่ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่สติจะได้ระลึกว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จิตก็มีมากมายหลายประเภท เห็นก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ได้ยินก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง คิดนึกก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่ควรที่สติจะระลึก เพื่อที่จะรู้ในความไม่ใช่ตัวตน ความเกิดขึ้นและดับไป และธรรมทั้งหลายคือสิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ ก็แล้วแต่ว่าเวลาที่สติเกิด จะไม่มีความเป็นตัวตนทั้งก้อนทั้งแท่งที่เป็นเรา เช่น ไม่ได้มีการนึกถึงตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าในขณะที่กำลังเห็น ก็จะมีแต่เพียงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏกับจิตเห็น สภาพที่กำลังเห็นเท่านั้น ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง ก็ไม่ไปนึกจำถึงศีรษะตลอดเท้าเอาไว้ แล้วก็ไม่ต้องนึกถึงโสตปสาทว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้ด้วย เพราะว่าเป็นแต่เพียงความคิด ไม่ใช่การรู้ลักษณะของรูปนั้นจริงๆ เพราะเหตุว่าในขณะนี้ที่กำลังได้ยินเสียง เสียงมีแน่นอน เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งปรากฏกับจิต คือ สภาพธรรมที่กำลังรู้เสียง

    เพราะฉะนั้นที่ไม่ใช่ตัวตน คือ ไม่มีเรา ไม่มีรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่มีอย่างอื่นเลย ชั่วขณะที่ได้ยินนั้นเป็นสภาพธรรมที่เพียงรู้เสียงที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นสติที่จะตัดความเป็นตัวตนออกได้ ก็โดยการที่ศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแต่ละทาง

    ผู้ฟัง เวลาศึกษาโดยสติระลึก เวลาสติระลึกลักษณะของรูปธรรม ถ้าเป็น ๗ รูปที่เป็นทั่วไปทางปัญจทวาร เวลาสติเกิดระลึกที่รูปธรรมใดรูปธรรมหนึ่ง โยนิโสมนสิการที่เกิดขึ้น ท่านแสดงว่าบางครั้งอาจจะน้อมไปในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ บางครั้งจะน้อมไปในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ ผมยังไม่ค่อยเข้าใจความแยบคายในเรื่องนี้

    ท่านอาจารย์ คือถ้าใช้คำอย่างนี้ก็รู้สึกว่า จะเป็นวิชาการ คือว่ายังน้อมไปที่กาย หรือที่เวทนา หรือที่จิต หรือที่ธรรม แต่ความจริงแล้วสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นในขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ ถ้าเป็นทางตาเป็นสติปัฏฐานไหน ไม่จำเป็นจะต้องมาคิด ใช่ไหม เพราะเหตุว่าจะต้องอยู่ในสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใดใน ๔ สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วแต่ว่าจะเป็นการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาที่เคยยึดถือว่าเป็นส่วนของกาย หรือว่าไม่ใช่ส่วนของกาย ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่การที่เราจะต้องคิดว่า เราจะน้อมไปที่สติปัฏฐานไหน เพียงแต่ให้ทราบว่า การที่โลกจะปรากฏได้ ต้องอาศัยตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ กาย ๑ ใจ ๑ และก็สภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เห็น สภาพที่เห็นก็ดับเร็ว สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับเร็ว เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องคิดถึงอย่างอื่น หรือเลือกอะไรเลย ศึกษาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วแต่สติจะระลึก

    เช่นในขณะนี้เอง แข็งมีปรากฏ เห็นมีปรากฏ ได้ยินมีปรากฏ เสียงมีปรากฏ แล้วแต่สติจะเกิดสลับกันก็ได้ อย่างแข็งที่กำลังปรากฏเล็กน้อยมากจริงๆ ผู้ที่เคยยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นเรา แต่เวลาที่กำลังพิจารณาลักษณะของส่วนที่แข็งที่กำลังปรากฏ จะเห็นได้เลยว่า ส่วนอื่นไม่ปรากฏ เป็นแต่เพียงความทรงจำว่า ยังมีกายของเรา แต่ความจริงแล้ว ไม่มี คือแยกตัวเองให้เล็กลงๆ ๆ ๆ เพื่อที่จะได้ไม่เป็นเรา หรือว่าไม่เป็นตัวตนของเรา เป็นแต่เพียงรูปชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏเพียงชั่วขณะที่กระทบเท่านั้น อย่างถ้าจะกระทบแข็งที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น หมายความว่าย่อลงมาจนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือแล้ว เป็นแต่เพียงรูปนั้นเท่านั้นที่เกิดแล้วปรากฏ แค่นั้นเอง จะเป็นเราได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้นจึงย่อทั้งนามและรูปทั้งหมดซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็ว รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนให้เหลือเพียงส่วนที่ปรากฏเท่านั้นเอง ซึ่งจะต้องเป็นส่วนที่เล็กน้อยมาก

    ผู้ฟัง หมายความว่าเราไม่สามารถจะกำหนดว่า สติปัฏฐานที่เกิดขึ้นขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานชนิดใด แล้วก็ไม่มีประโยชน์ด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น เพราะว่าการที่ทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใดใน ๔ สติปัฏฐาน แล้วก็ไม่ต้องกังวลเลย

    ผู้ฟัง อัตตสัญญา สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ยังคงมีหลงเหลืออยู่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความอย่างไร

    ผู้ฟัง หมายความว่า ผมอ่านในพระไตรปิฎก บางครั้งท่านที่เป็นพระโสดาบันแล้ว เป็นพระสกทาคามีแล้ว ตอนที่พระองค์ทรงแสดงธรรมให้เป็นพระอนาคามี ทรงแสดงเรื่องขันธ์ ๕ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเรา ขันธ์ ๕ไม่ใช่ของเรา ผมจึงสงสัยว่า อัตตสัญญา ถ้าพระโสดาบันดับสักกายทิฏฐิได้แล้ว อัตตสัญญา ที่ว่าเป็นเรา ยังคงเหลืออยู่ไหมหรือหมดไป

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็จะต้องพิจารณาตามลำดับ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ แสดงให้เห็นว่าที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยละเอียด เพราะเหตุว่าการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลลึกและก็ละเอียดมาก มิฉะนั้นแล้วก็คงจะไม่ต้องทรงแสดงโดยละเอียดถึงอย่างนี้ แม้แต่ในเรื่อง วิปลาส ๓ ที่คุณณรงค์กำลังกล่าวถึงเดี๋ยวนี้ คงจะหมายความถึงวิปลาส ๓ คือ สัญญาวิปลาส ๑ จิตตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปลาส ๑ ในวัตถุที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในวัตถุที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในวัตถุที่ไม่ใช่ตน คือ ไม่ใช่อัตตาว่าเป็นอัตตา ๑ ในวัตถุที่ไม่งามว่างาม ๑

    ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องการละวิปลาสทั้ง ๓ ก็ควรที่จะพิจารณาว่า เป็นจริงอย่างนี้ไหมในชีวิตประจำวัน คือ นอกจากจะมีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนแล้ว สภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิกก็วิปลาสไปด้วย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    24 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ