โสภณธรรม ครั้งที่ 075


    ตอนที่ ๗

    เพราะเหตุว่าการที่จะหลงผิด เข้าใจผิดในข้อปฏิบัติจนกระทั่งสำคัญว่าได้บรรลุธรรมแต่ละขั้น เป็นสิ่งที่มีได้

    เท่าที่เคยได้ฟัง ส่วนมากมักจะกล่าวว่า ต้องทำให้จิตนิ่ง เป็นสมาธิเสียก่อน แล้วปัญญาถึงจะได้สามารถรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ บางท่านก็กล่าวว่าสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ เพราะเหตุว่าจิตในขณะนั้นสงบ นิ่ง ใส เพราะฉะนั้นก็สามารถที่จะรู้ชัดในการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม

    แต่ว่าถ้าคิดอย่างนั้นจะข้ามวิปัสสนาญาณขั้นต้นทั้งหมด คือ ข้ามนามรูปปริจเฉทญาณ ข้ามปัจจยปริคคหญาณ ข้ามสัมมสนญาณ ไปถึงอุทยัพพยญาณ ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่แม้กระนั้นก็ยังมีผู้ที่เข้าใจผิดได้ เพราะเหตุว่าไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดว่า การที่ปัญญาจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงให้จิตนิ่งสงบ แต่ว่าไม่เคยศึกษาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ตอนแรกท่านก็เข้าใจว่า ท่านถึงอุทยัพพยญาณ เพราะว่าท่านพิจารณาว่าเสียงนี้ก็ดับ คิดนึกก็ดับ และคิดนึกนี่ก็ไม่ใช่รูปธรรมแน่ เป็นลักษณะของนามธรรมที่คิดนึก และเวลาที่คิดท่านก็รู้ว่า คิดเรื่องนี้หมด แล้วก็คิดเรื่องอื่นต่อ และเวลาที่เสียงปรากฏ เสียงนั้นก็ดับไป เพราะฉะนั้นนามธรรมที่ได้ยินก็ดับด้วย ต่อเมื่อท่านได้ฟังและได้พิจารณาธรรมละเอียดขึ้นๆ ในขณะนี้ท่านก็มีความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยที่ท่านกล่าวว่า ท่านเพิ่งจะเข้าใจว่า ที่ท่านปฏิบัติและคิดว่า ท่านรู้การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นแต่เพียงคิด

    นี่คือสิ่งที่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ ว่า ขณะที่คิดเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ขณะที่สัมมาสติกำลังระลึกลักษณะ ต้องมีลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมปรากฏให้ศึกษา ให้เข้าใจ ให้รู้ชัดว่า ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร

    เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของการศึกษาพระอภิธรรม เพื่อละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษา เพื่อละหรือดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้นไม่มีผม ไม่มีขน ไม่มีเล็บ ไม่มีฟัน ไม่มีหนัง ไม่มีปอด ไม่มีกระดูก ไม่มีทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเหลือเลย จึงจะสามารถประจักษ์แจ้งได้ว่า ดับหรือละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏรวมกัน แต่จะต้องปรากฏเพียงทีละลักษณะ และในขณะที่สภาพธรรมปรากฏที่ละลักษณะ สำหรับผู้ที่ทำสมาธิกับผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต่างกัน เพราะเหตุว่าสำหรับผู้ที่ทำสมาธิ จิตจดจ้องอยู่ที่ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ในขณะนั้นก็เข้าใจว่าไม่มีอย่างอื่นเลย มีแต่สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าปัญญาไม่ได้รู้เลยว่า ในขณะนั้นไม่ใช่เรา ลักษณะของสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ไม่ใช่ลักษณะของรูป

    เพราะฉะนั้นปัญญาต้องสามารถรู้ได้ว่า ตลอดชีวิตมีแต่นามธรรมและรูปธรรม ซึ่งถ้าสติเกิดเมื่อไรจะระลึกและศึกษาที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ถ้าไม่เริ่มต้นอย่างนี้ แล้วก็คิดว่าทำจิตให้สงบ ให้ใส แล้วก็จะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม เป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ที่เคยทำจิตให้สงบแล้ว แต่ปัญญาก็ยังคงไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นการศึกษาเพื่อที่จะบรรลุถึงอุทยัพพยญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๔ ซึ่งในขณะนั้นปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง ถ้าไม่ทั่วทั้ง ๖ ทาง จะไม่ถึงอุทยัพพยญาณ

    และการที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง ย่อมสามารถที่จะเห็นว่า นามธรรมนี้เกิดแล้วก็ดับ รูปธรรมนี้เกิดแล้วก็ดับ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ลักษณะที่ต่างกันจริงๆ ของทั้ง ๖ ทวาร ปรากฏ แล้วก็เปลี่ยน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ขณะนั้นสติไม่ได้ทิ้งการที่จะพิจารณาสภาพลักษณะที่เป็นนามธรรมเท่านั้น รูปธรรมเท่านั้น เพราะเหตุว่าพิจารณาทั่วแล้วจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเห็น แล้วได้ยินเกิด ก็รู้ว่าเพียงชั่วขณะเล็กน้อย สั้นที่สุด ซึ่งทุกคนพร้อมที่จะประจักษ์การเกิดดับอย่างสั้นที่สุด เร็วที่สุดหรือยัง จะมีความรู้สึกว่าเป็นอย่างไร ว้าเหว่สักแค่ไหน ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีจริงๆ มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมอย่างเดียวที่เกิดแล้วก็ดับ เวลานี้ถ้าจะคิดถึงชาติหนึ่งซึ่งเกิดแล้วก็ตาย ก็ยังรู้สึกว่า ถ้าตายไปก็คงน่าเศร้าใจ หมดสภาพความเป็นบุคคลนี้ เสียดายไปหมดทุกสิ่งทุกอย่างที่ผูกพันโดยสภาพของเพื่อนฝูงมิตรสหาย บุคคล ครอบครัว ญาติสนิทต่างๆ อย่างทรัพย์สมบัติ สิ่งนั้นสิ่งนี้ที่เคยพอใจในบ้าน บางทีมีสมบัติหลายอย่างซึ่งเป็นที่พอใจอย่างมาก อาจจะเป็นของเก่า มีราคามาก แล้วก็ผูกพันไว้ เพราะฉะนั้นถ้าจะต้องจาก พลัดพรากจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็รู้สึกว่าน่าเศร้าใจ แต่ว่านั่นเป็นขณะที่ยาวไกลมาก จากชาติหนึ่งที่เกิดมาจนถึงขณะที่จะจากไป

    แต่ถ้าเป็นการประจักษ์ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมด้วยปัญญาที่เป็น อุทยัพพยญาณ ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๔เป็นพลววิปัสสนา เป็นวิปัสสนาญาณที่มีกำลังแล้วละก็ จะเห็นได้ว่า การดับ การจาก การพลัดพรากสั้นกว่านั้นมาก และก็เร็วกว่านั้นด้วย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นก็จะทำให้สามารถที่จะค่อยๆ ละคลายการยึดถือสภาพธรรมลงไปอีก แต่ว่าก่อนที่จะถึงอุทยัพพยญาณ ทุกคนก็ต้องฟังพระธรรมต่อไป พิจารณาต่อไป เพื่อจุดประสงค์คือ ละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้นต้องไม่มีอะไรๆ ทั้งสิ้น ข้อนี้ลืมไม่ได้เลย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ปอด กระดูก ทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมี ต้องไม่มี และก็มีแต่สภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ เมื่อนั้นจึงจะสามารถบรรลุถึงปัญญาที่จะดับกิเลสได้จริงๆ

    แต่ถ้าไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องก็จะทำให้สำคัญว่าบรรลุ เมื่อไม่บรรลุเลย หรืออาจจะเข้าใจว่าเจริญสติปัฏฐาน เมื่อไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเลย

    นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียว เพราะว่าเหตุกับผลต้องตรงกัน

    ข้อความในวิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังค์ ข้อ ๘๙๙ มีข้อความว่า

    ความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ เป็นไฉน

    ถ้าไม่มีข้อปฏิบัติผิด ข้อความนี้จะไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ที่มีข้อความนี้ในพระไตรปิฎก ก็ต้องแสดงว่ามีผู้ที่สำคัญผิดว่า ได้บรรลุธรรมวิเศษ เพราะฉะนั้นคำอธิบายมีว่า

    ความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ เป็นไฉน

    ความสำคัญว่าถึงแล้วในธรรมที่ตนยังไม่ถึง ความสำคัญว่าทำกิจแล้วในกิจที่ตนยังไม่ได้ทำ ความสำคัญว่าบรรลุแล้วในธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ ความสำคัญว่าได้ทำให้แจ้งแล้วในธรรมที่ตนยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ความถือตัว กิริยาที่ถือตัว สภาพที่ถือตัว การยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง ความยกตนขึ้น ความที่จิตต้องการเป็นดุจธงอันใด มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า ความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ

    ซึ่งปัญญาเป็นสภาพธรรมที่ละกิเลส ค่อยๆ ละ ขจัดกิเลสไปตามลำดับ เป็นขั้นๆ แต่จะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นการปฏิบัติผิด การเข้าใจผิด การบรรลุผิดแล้ว ไม่ได้ละกิเลสเลย เพราะเหตุว่า มีความถือตัวว่าได้บรรลุ มีกิริยาที่ถือตัว มีสภาพที่ถือตัว มีการยกตน การเทิดตน การเชิดชูตนดุจธง ความยกตนขึ้น ความที่จิตต้องการเป็นดุจธง ลักษณะเช่นว่านี้ เรียกว่า ความสำคัญว่าได้บรรลุธรรมวิเศษ

    เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้บรรลุธรรมวิเศษจริงๆ จะต้องมีลักษณะอาการที่ตรงกันข้าม ไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลย เพราะว่าตัวตนก็ไม่มี รู้อยู่แล้วว่าไม่มี มีแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปทุกๆ ขณะ ทุกคนได้ยินเหมือนกันหมดในขณะนี้ สภาพได้ยินเป็นสภาพที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป จะเป็นของใคร เมื่อไม่มีตัวตนเลย ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่คิดนึก แล้วจะมีความสำคัญตน มีอาการถือตัว สภาพที่ถือตัว เทิดตน เชิดชูตนดุจธง ต้องการเป็นดุจธงได้อย่างไร

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งทุกท่านก็พอที่จะรู้ลักษณะและกิจของปัญญาได้จริงๆ ว่า เป็นสภาพธรรมที่รู้ชัด แทงตลอดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็ละคลายกิเลสตามลำดับขั้นด้วย

    อดิศักดิ์ สภาพธรรมที่ตรงข้ามกับที่อาจารย์พูดถึง ยกตน เชิดชูตน ผมมีความเห็นว่า ถ้ามีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น การเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันที่อาจารย์สอนทั้งหมดนี้ จะช่วยให้ขัดเกลาขึ้น ใช่ไหม ความเข้าใจธรรม การเจริญสติปัฏฐาน สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามที่อาจารย์พูดถึงนี้ จะเริ่มมีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย อย่างนี้ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบท่านผู้ฟังยังมีข้อสงสัยไหม ทุกๆ ขณะพยายามที่จะเข้าใจลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน แล้วสติเกิดระลึกเพื่อจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่างเพิ่มขึ้น ให้ถูก ให้ตรง แม้ว่าจะเป็นการอบรมเจริญปัญญาอย่างบางเบา เพราะเหตุว่าปัญญาไม่สามารถที่จะเจริญทันทีให้เห็นชัด แต่ว่าทุกๆ ขณะที่ทุกท่านกำลังฟังพระธรรมไม่สูญหาย และเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเมื่อสติเริ่มเกิด เริ่มระลึก วันหนึ่งก็จะต้องเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ เมื่อเป็นนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ก็จะไม่เข้าใจผิดในเรื่องวิปัสสนาญาณ ขณะใดที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ไม่ว่าจะพิจารณาอย่างไร เทียบเคียงอย่างไรก็ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ต่อเมื่อใดเหตุสมควรแก่ผลเมื่อไร วิปัสสนาญาณขั้นต่อไปก็ปรากฏโดยสภาพความเป็นอนัตตา ซึ่งประจักษ์ชัดโดยที่ไม่ต้องเทียบเคียง ไม่ต้องพิจารณา เพราะเหตุว่าเป็นการแทงตลอด แต่ว่าผู้นั้นจะรู้เองว่า ถ้าไม่อาศัยการฟังเรื่อยๆ และการพิจารณา และการที่สติจะระลึกรู้ วิปัสสนาญาณขั้นต่อไปก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นที่กำลังฟังทุกขณะก็คือการสะสม การอบรม เพื่อที่ผล คือ นามรูปปริจเฉทญาณจะเกิดขึ้นในวันหนึ่ง และเมื่อนามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นแล้ว วิปัสสนาญาณขั้นอื่นๆ ก็จะเกิด แต่ต้องอาศัยความพากเพียร เพราะเหตุว่าไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล และไม่ใช่วิปัญจิตัญญูบุคคล

    ทุกคนจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และจะรู้ด้วยว่า วิปัสสนาญาณไม่ใช่จะเกิดขึ้นโดยง่าย หรือว่าไม่ใช่จะเกิดขึ้นโดยความต้องการ แต่จะเกิดโดยความเป็นอนัตตา ต่อเมื่อเหตุสมควรแก่ผล เพราะผู้นั้นจะต้องมีความมั่นคงในการรู้ลักษณะที่เป็นธาตุรู้ และลักษณะที่ไม่ใช่ธาตุรู้จริงๆ โดยที่ไม่ใช่เป็นเพียงขั้นคิดนึก

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องพิจารณาชีวิตของแต่ละท่าน ในทุกชาติ เป็นปกติประจำวัน เพราะเหตุว่าฝืนไม่ได้ ทุกคนในที่นี้ถ้าถามดูก็คงอยากจะให้สติเกิดบ่อยๆ เนืองๆ และให้ติดต่อกันด้วย และให้สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ทั้ง ๖ ทวารด้วย ถามดูก็มีความประสงค์ มีความต้องการอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ก็จะรู้ว่า ธรรมทั้งหลายย่อมไหลมาจากเหตุ เพราะฉะนั้นหนทางเดียวก็คือว่า ชีวิตประจำวันควรเป็นอย่างไร ก็คือการที่จะต้องรู้จักตนเองและอบรมเจริญกุศลทุกประการ จนกว่าจะถึงปัญญาที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แม้แต่ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นหนทางที่จะดำเนินสู่ความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส ก็เป็นชีวิตประจำวันนี่เอง คือ เริ่มจากสีลนิทเทส สมาธินิทเทส และปัญญานิทเทส คือ ถ้าปราศจากความเข้าใจเรื่องศีล การที่จะประพฤติปฏิบัติดำรงชีวิตในชาติหนึ่งๆ ก็ย่อมไม่มีทางที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    เพราะฉะนั้นแม้แต่เรื่องของศีล ซึ่งเป็นการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็จะเป็นการดำเนินไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังและการประพฤติปฏิบัติ เพราะเหตุว่าสุตตมยปัญญา หรือสุตตมยญาณ ได้แก่ ปัญญาที่เกิดจากการฟังแล้วเข้าใจ

    นี่สำคัญที่สุด ฟังแล้วเข้าใจก่อน เมื่อฟังแล้วเข้าใจแล้ว ขั้นต่อไปซึ่งเกื้อกูลกันก็เป็นสีลมยญาณ เข้าใจอย่างไรก็ย่อมประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น ถ้าเข้าใจว่ากุศลเป็นอย่างไร ก็เจริญกุศลเพิ่มขึ้นๆ เพราะเหตุว่ารู้ว่า สิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล และเมื่อเข้าใจเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็น ภาวนามยญาณ นี่คือชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งต้องประกอบกันทั้ง ๓ ญาณ

    สำหรับชีวิตประจำวันก็จะต้องพิจารณาแล้วพิจารณาอีกที่จะให้ถึงอุทยัพพยญาณได้ ไม่ใช่ว่าชีวิตประจำวันเป็นอย่างหนึ่ง แล้วก็หวังว่าจะถึงอุทยัพพยญาณ โดยที่ชีวิตประจำวันไม่สอดคล้องกับการพิจารณาตนเอง ปัญญาของตนเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น เช่น ในวันหนึ่งๆ เคยพิจารณาว่า ละคลายอะไรบ้างไหม หรือว่ายังผูกพันมากเหมือนเดิม บางคนผูกพันมากขึ้น แล้วก็บอกว่าสติไม่ค่อยเกิดเลย ก็เป็นของแน่นอนธรรมดา ถ้ายังมีความต้องการ มีความผูกพัน มีโลภะ มีอวิชชาเพิ่มขึ้น ก็เป็นเครื่องกั้นที่จะไม่ให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็หวังว่า สติอาจจะเกิด แต่นั่นเป็นความหวัง แต่ถ้าในวันหนึ่งๆ ศึกษาธรรม ฟังธรรม เข้าใจธรรม น้อมพิจารณาธรรม รู้ว่า ไม่มีอะไรเลย แม้แต่ตัวเอง ก็ต้องไม่ลืมว่าไม่มี เพราะฉะนั้น บุคคลอื่นก็ต้องไม่มีด้วย

    เพราะฉะนั้นการที่จะคลายจนกว่าจะถึงอุทยัพพยญาณ ในชีวิตประจำวันต้องไม่ลืมด้วยว่า แท้ที่จริงแล้วทุกคนที่ผูกพันมากที่สุด คือ ผูกพันกับตนเอง ความพอใจของตนเอง แล้วก็ยึดมั่นขยายขอบเขตผูกพันไปถึงบุคคลอื่น จนกระทั่งไม่รู้จริงๆ ว่า ตั้งแต่เกิดจนตายชีวิตของแต่ละคนที่กระทำอยู่นั้น เพื่อตัวเองทั้งสิ้น แม้จะเข้าใจว่า จะผูกพันพอใจในบุคคลอื่น แต่ขณะนั้นก็ลืมว่า เพื่อความสุขของตนเอง ที่ชอบที่จะให้มีสุขเวทนาบ้าง โสมนัสเวทนาบ้าง ซึ่งอาศัยบุคคลอื่น เช่น อาจจะอาศัยบุตรหลาน อาจจะอาศัยญาติพี่น้อง อาจจะอาศัยผู้คุ้นเคย เพราะเหตุว่าถ้าได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่คุ้นเคยก็สบายใจ ถ้าได้คบหาสมาคมเที่ยวเตร่สนุกสนานกับผู้ที่มีอัธยาศัยเหมือนกัน ก็เบิกบานใจ เมื่อได้อยู่ใกล้บุตรหลานก็ชื่นชม ขณะนั้นก็เพื่อความสุขหรือโสมนัสเวทนาของตนเอง ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่คิดจะคลาย หรือยังไม่พิจารณาว่า ควรที่จะเห็นว่า ไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียวที่เป็นของตนเอง และค่อยๆ พิจารณาความรู้สึกของตนเองไปเรื่อยๆ ความผูกพันก็จะค่อยๆ คลายลงด้วยปัญญา แม้ว่าจะไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท แต่สะสมเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งไป เพื่อเมื่อสติปัฏฐานระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ จนกระทั่งวิปัสสนาญาณที่เป็นตรุณวิปัสสนาญาณเกิด ก็จะทำให้ถึงพลววิปัสสนา ซึ่งเป็นการประจักษ์แจ้งการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้ เพราะคลายการยึดถือผูกพันในตัวเองและในบุคคลอื่น ซึ่งทุกท่านอาจจะมีชีวิตประจำวันที่สะดวกสบาย สนุกสนาน แล้วก็ลืมว่า นั่นเป็นเหตุที่จะให้เกิดทุกข์

    เพราะฉะนั้นขาดไม่ได้เลย ที่ปัญญาจะต้องเกิดบ้าง เตือนตัวเองบ้าง ระลึกบ้าง แม้ว่าจะไม่สามารถจะระลึกได้เองบ่อยๆ แต่เมื่ออาศัยการฟังพระธรรมบ่อยๆ ก็เป็นสัญญาที่มั่นคงที่จะทำให้ทั้งปัญญาและตัตตรมัชฌัตตตาคลายความรู้สึกผูกพันที่เป็นอกุศล แล้วก็ค่อยๆ เจริญกุศลในชีวิตประจำวัน โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่ใช่ทุกท่านจะต้องทิ้งครอบครัว ทิ้งมิตรสหายเพื่อนฝูง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ว่าจิตที่กระทำกิจนั้นๆ ต่างกันจากเดิม คือ ที่เคยผูกพัน ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นก็ค่อยๆ เริ่มคลาย การกระทำกิจต่างๆ ก็เป็นการกระทำกิจด้วยหน้าที่ซึ่งเป็นกุศล แต่ไม่ใช่ด้วยโลภะ ความผูกพัน ซึ่งเป็นอกุศล

    ก็ลองให้ตัตตรมัชฌัตตตากับปัญญาพิจารณาดูว่าอย่างไหนจะดี ในชีวิตประจำวันของทุกคน ถ้าโลภะและอวิชชาต้องเห็นว่า ผูกพันมากๆ ดี แต่ถ้าเป็นตัตตรมัชฌัตตตากับปัญญาต้องเห็นว่า ทุกอย่างเหมือนเดิม กิจหน้าที่ที่ทำ ทำได้เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ว่าคลายความผูกพันลง เพราะเหตุว่าโลภะเป็นเหตุของทุกข์ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังที่มีชีวิตเป็นคฤหัสถ์อยู่ ก็จะเห็นได้ว่า แม้ความผูกพันในครอบครัวระหว่างสามีภรรยาก็ดี หรือว่าบุตรธิดาก็ดี สามารถที่จะค่อยๆ คลายความผูกพันที่เป็นอกุศล แล้วก็เป็นกุศลได้เพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมาก โดยที่ไม่รู้สึกตัวว่า ความสุขของตนเองต้องมาก่อน เพราะเหตุว่าอาจจะเคยเป็นผู้ที่เป็นใหญ่ในบ้าน โดยฐานะของหัวหน้าครอบครัว อาจจะเป็นพ่อบ้านหรือแม่บ้าน แม่เรือนซึ่งเป็นใหญ่ แต่ว่าลืมคิดถึงว่า ความสุขของคนอื่นเป็นอย่างไร ถ้าความพอใจของตนเองเป็นอย่างนั้น

    ถ้ามีกุศลจิตเกิด ความเมตตาก็จะเกิดได้ แม้ว่าการประพฤติปฏิบัติต่อผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ก็ยังจะเห็นได้ว่า ความเมตตาเพิ่มขึ้น และโลภะหรืออกุศลก็น้อยลง ถ้าเพียงแต่รู้ว่า ทุกอย่างไม่ใช่ของเรา ก็คงจะเป็นคาถาที่ผูกใจได้ใช่ไหม แม้ว่าจะไม่ใช่ภาษาบาลี สำหรับคนไทยเราที่จะเข้าใจอรรถของสภาพธรรม ถ้าไม่ลืมว่า ทุกอย่างไม่ใช่ของเรา ทุกอย่างนี่ก็ไม่เว้นเลย แล้วก็ไม่ใช่ของเราจริงๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ถ้าเป็นญาติสนิทมิตรสหายซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดมากกว่าบุคคลอื่น การที่จะรู้ว่าทุกอย่างไม่ใช่ของเราก็คือว่า ทุกคนเพียงเกิดมาร่วมโลก นี่เป็นของที่แน่นอน ร่วมครอบครัว ร่วมวงศ์สกุล เพราะฉะนั้นก็ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำต่อกันตั้งแต่เกิดจนตาย

    ถ้ารู้จักหน้าที่อย่างนี้ จะต้องแยกออกไปไหม ทิ้งไปไหม ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าทุกคนรู้จักหน้าที่ แม้แต่หน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตร หรือว่าบุตรต่อบิดามารดา ถ้ารู้จักหน้าที่ รู้ความเป็นหน้าที่ ก็ทำหน้าที่ด้วยกุศลจิตได้ ซึ่งในชีวิตประจำวันถ้าปัญญาเกิด กุศลก็ย่อมเจริญพร้อมกับการเจริญสติปัฏฐาน ด้วยการรู้ว่า ไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่เป็นของตนเอง อย่างเช่นผู้ที่เกิดก่อน คือ บุพพการี ทุกคนมีความรักมารดาบิดา และมารดาบิดาก็ต้องมีความรักบุตรแน่นอน แต่ถ้ารู้ว่าทุกอย่างไม่ใช่ของเรา การทำหน้าที่แม้ของบิดามารดาต่อบุตร หรือบุตรต่อมารดาบิดาก็จะทำด้วยกุศลที่เต็มเปี่ยมทีเดียวได้ เพราะรู้สภาพความจริงว่า ท่านได้กระทำคุณต่อบุตรธิดาเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นบุตรธิดาก็มีหน้าที่ คือ ควรมีกุศลจิตที่จะกระทำสิ่งตอบแทนต่อท่าน โดยที่ไม่ยึดมั่น เหมือนอย่างที่ได้รับฟังท่านอาจารย์สมพรกล่าวเมื่อกี้นี้ที่บอกว่า เวลาที่มีผู้สิ้นชีวิตลง ก็มีการสวดพระอภิธรรม เพื่อให้เข้าใจความจริง เพื่อละคลายความเศร้าโศก เพราะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของเรา

    ผู้ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป แต่ว่าพระคุณที่มีอยู่ ไม่ใช่หมดไป สิ่งใดที่ทำแล้ว ผู้ที่เป็นบุตรหลานยังได้รับคุณที่บุพพการีกระทำสืบต่อมาแม้แต่ผู้ที่ได้มรดก ลองคิดดู ได้ทรัพย์สมบัติ ได้ความสะดวกสบาย ได้ทุกอย่างจากใคร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    1 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ