โสภณธรรม ครั้งที่ 076


    ตอนที่ ๗

    ได้ทรัพย์สมบัติ ได้ความสะดวกสบาย ได้ทุกอย่างจากใคร แม้ว่าบุคคลนั้นจะจากโลกนี้ไปแล้ว ซึ่งไม่ควรจะเศร้าโศก เพราะเหตุว่าไม่มีอะไรสักอย่างเดียวที่จะเป็นของเราจริงๆ แม้แต่มารดาบิดาก็ไม่ได้เป็นมารดาบิดาอีกต่อไปสำหรับชาตินั้น เหมือนกับในชาติก่อนๆ มารดาบิดาซึ่งเคยมีคุณต่อ สำหรับในชาตินี้ก็ไม่ได้เป็นมารดาบิดาอีกแล้ว แต่ว่าบุพพการีทุกชาติที่ได้กระทำคุณ ย่อมมีคุณต่อบุตรธิดา

    เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้ความจริงอย่างนี้ก็จะไม่เศร้าโศก ปัญญาจะไม่ทำให้เกิดความโศกเศร้าใดๆ เลย แต่ว่าปัญญาจะทำให้รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็เจริญกุศลเพิ่มขึ้นด้วย

    ก่อนที่จะประจักษ์ไตรลักษณะได้ ไม่ใช่ง่ายเลย เพราะเหตุว่าถ้าพูดหรืออธิบายเข้าใจได้ว่า ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้แต่การเห็นในขณะนี้ก็ยังกล่าวได้และเข้าใจได้ว่า ต้องมีตา คือ จักขุปสาท เห็นจึงจะเกิด

    นี่ก็ดูเป็นธรรมดาเหลือเกินที่จะเข้าใจได้ แต่ทำไมไม่เข้าใจลักษณะของเห็น ในขณะที่กำลังเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าเป็นเพียงธาตุรู้ เป็นเพียงสภาพรู้ เป็นอาการรู้

    นี่ก็แสดงให้เห็นได้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไม่ใช่เพียงสำหรับฟัง แต่ว่าเพื่อการประจักษ์แจ้ง แม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งบางท่านก็บอกว่า ไม่เคยเห็นว่าเป็นรูปารมณ์สักที นั่นคือการใช้คำว่า รูปารมณ์ แต่ถ้าเข้าใจลักษณะของรูปารมณ์ว่า หมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ ชัดเจนอย่างนี้ ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ทุกคนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กำลังมีรูปารมณ์ แต่ไม่รู้จักรูปารมณ์ เพราะเหตุว่าเห็นเป็นคน เห็นเป็นวัตถุ เห็นเป็นสิ่งต่างๆ

    เพราะฉะนั้นก็เลยแยกไม่ออกว่า ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่กำลังแปลสีสันต่างๆ เป็นบุคคลต่างๆ หรือว่าเป็นวัตถุต่างๆ ซึ่งปัญญาจะต้องอบรมจนกว่าจะรู้ได้ชัดเจนจริงๆ ว่า ลักษณะของปรมัตถธรรมที่เกิดเป็นปริตตธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่เล็กน้อยและสั้นมาก ต่อจากนั้นเป็นโลกของความคิดนึกทั้งหมด แล้วแต่ว่าใครจะคิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ ถ้าสามารถแยกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรม ก็พอที่จะรู้ได้ว่า สภาพใดเป็นสภาพที่มีจริงแล้วเกิดดับ แต่ว่าขณะใดที่เป็นความคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ไม่ได้ดับเลย แต่ว่าจิตที่คิดเรื่องนั้นดับทุกขณะที่คิด

    นี่ก็เป็นการอบรมเจริญไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์แจ้งไตรลักษณะ ซึ่งขอเรียนให้ทราบว่า ประจักษ์แจ้งยากแค่ไหน ซึ่งทุกคนก็ต้องยอมรับว่า ขณะนี้จักขุวิญญาณที่เห็นไม่ได้ดับ ทั้งๆ ที่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลทุกท่านประจักษ์แจ้งว่าต้องดับ ขณะที่กำลังได้ยินก็ต้องดับ ขณะที่กำลังคิดนึกก็ต้องดับ เพราะฉะนั้นกว่าที่จะอบรมเจริญปัญญาประจักษ์ไตรลักษณะจริงๆ ให้ทราบว่า แต่ละบุคคลเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ยังไม่ต้องประจักษ์ไตรลักษณ์ ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้งสภาพที่แยกขาดจากกันของนามธรรมและรูปธรรมทางมโนทวารซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ และถ้ายังไม่ถึงวิปัสสนาญาณที่ ๒ ซึ่งเมื่อรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว สติที่ระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็จะต้องต่างกับก่อนที่จะถึงนามรูปปริจเฉทญาณ เพราะเหตุว่าสามารถที่จะระลึกลักษณะของนามธรรมต่างๆ ซึ่งเกิดเพราะปัจจัยต่างๆ เช่น ทางตาก็จะต้องรู้ว่า ขณะที่กำลังเห็น แล้วมีการได้ยิน สภาพธรรม ๒ อย่างเกิดขึ้นเพราะปัจจัยต่างกัน ขั้นศึกษาก็เข้าใจอีก แต่ขั้นที่จะประจักษ์แจ้งได้ ก็ต้องเป็นขั้นที่อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้น จนกระทั่งถึง สัมมสนญาณ สามารถจะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากเป็นการประจักษ์การสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็ยังไม่สามารถที่จะละคลายการที่ยังคงยึดถือสภาพธรรมนั้นเป็นตัวตน ด้วยเหตุนั้นวิปัสสนาญาณทั้ง ๓ นั้น จึงเป็นตรุณวิปัสสนา

    ที่กล่าวถึงบ่อยๆ ก็เพียงเพื่อที่จะให้ได้ฟัง และได้เข้าใจว่า การอบรมเจริญปัญญาก็อบรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นตามความเป็นจริง โดยที่ไม่เข้าใจผิด แต่ว่าจะต้องไม่ละเลยการอบรมเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน แล้วลักษณะของโสภณธรรมทั้งหมดก็จะต้องเจริญขึ้นด้วย

    เช่น เรื่องอคติ ความลำเอียง เคยพิจารณาบ้างไหม นอกจาก โลภะ โทสะ ก็ยังสามารถพิจารณาสภาพลักษณะของจิตได้ว่า เป็นผู้ลำเอียง คือ มีอคติด้วยโลภะบ้างไหม ด้วยโทสะบ้างไหม ด้วยโมหะบ้างไหม หรือด้วยความกลัวบ้างไหม บางคนอาจจะไม่ได้สังเกตเลยว่า พอเริ่มที่จะรู้จักใครสักคนหนึ่ง ก็เริ่มแยกพวกแล้ว มีไหม นี่พวกใคร ชีวิตประจำวัน แต่ว่าลองพิจารณาดูถึงความละเอียด บางทีอาจจะไม่ต้องถึงกับความเป็นพรรคการเมือง หรือว่าเป็นพวกพ้อง เพียงแต่ว่าพอเริ่มรู้จักใคร ก็อาจจะคิดว่า คนนี้เป็นพวกเขา หรือว่าเป็นพวกเรา นี่เป็นลักษณะของอคติหรือเปล่า หรือว่าบุคคลนี้ควรที่จะคบหาสมาคมไหม เพราะเหตุว่าเป็นอย่างนั้นๆ ๆ ที่รู้จักบุคคลนั้นอย่างนั้นๆ ๆ

    นี่เริ่มมีอคติหรือยัง เขาเป็นใคร ถ้าสมมติว่าไม่ได้ฟังจากบุคคลอื่น จิตใจในขณะนั้นจะหวั่นไหวเพราะโลภะ หรือเพราะโทสะ เพราะโมหะ หรือเพราะความกลัวหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นผู้ไม่หวั่นไหว เป็นผู้ที่ตรง ทุกคนก็มีกุศล และมีอกุศล และถ้าสามารถจะเกื้อกูลบุคคลใดได้ การคบหากับบุคคลนั้นไม่เป็นโทษไม่เป็นภัยอันตราย ก็คบหาสมาคมได้ เป็นประโยชน์เกื้อกูลกันได้ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ไม่มีวิจารณญาณของตัวเอง และเป็นผู้ที่เอนเอียงไปตามความคิดของบุคคลอื่น

    เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่มีตัตตรมัชฌัตตตาและปัญญาเจตสิกที่จะพิจารณาให้รู้สภาพของจิต ขณะนั้นจะรู้ไหมว่า เป็นนามธรรมและรูปธรรมชนิดไหน ประเภทไหน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรม ก็เป็นเรา เป็นเขา เป็นตัวเป็นตน แล้วก็จะไม่ถึงการประจักษ์แจ้งไตรลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ตรง และเป็นผู้เจริญกุศล และเป็นผู้ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง เมื่อกุศลเจริญขึ้น สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้น ทั่วขึ้นทั้ง ๖ ทวาร จึงจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏแต่ละทวารเล็กน้อยจริงๆ แต่ถ้าไม่ทั่ว เช่น ทางตา สติไม่เคยระลึก นานมากใช่ไหมทางตา จะปรากฏว่าดับไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังไม่เคยพิจารณาว่า ลักษณะสภาพของนามธรรมที่เห็น ไม่ใช่นามธรรมที่ได้ยิน ต่อเมื่อใดสามารถที่จะพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ตลอด ได้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร จึงจะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว แต่ละขณะในชีวิตไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่างเท่านั้น

    แล้ววันหนึ่งๆ สติปัญญาจะน้อมระลึกพิจารณาอย่างนี้สักกี่ครั้ง ที่จะรู้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเหลือเลยที่จะเป็นเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็ไม่มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ขณะที่ได้ยิน เห็นก็ไม่มี คิดนึกก็ไม่มี ขณะที่คิดนึก ชั่วขณะที่คิด เห็นก็ไม่มี ได้ยินก็ไม่มี ชั่วขณะที่เห็น คิดนึกก็ไม่มี ได้ยินก็ไม่มี เพราะฉะนั้นนามธรรมทั้งหมดก็ย่อมจะปรากฏเพียงทีละอย่าง และแม้แต่รูปธรรมตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็จะไม่เหลืออะไร ที่จะทำให้เป็นที่ตั้ง ที่ยึดถือ ที่สำคัญตนว่าเป็นเรา ด้วยทิฏฐิ หรือว่าเป็นเราด้วยตัณหา หรือว่าเป็นเราด้วยมานะอีกต่อไป

    เพราะเหตุว่าเพียงแข็ง ลักษณะแข็งที่กำลังปรากฏขณะที่กระทบสัมผัสสิ่งที่แข็งทางกายขณะนั้นเหลือเพียงเท่านั้น เห็นไม่มี ได้ยินไม่มี คิดนึกไม่มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ปอด หัวใจ ไม่มี มีแต่แข็งอย่างเดียวเท่านั้น ต้องไม่เหลือจริงๆ ก่อนที่ปัญญาจะสมบูรณ์ถึงตีรณปริญญาที่เป็นอุทยัพพยญาณ ที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้

    เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบว่า เป็นสิ่งซึ่งรู้ได้ไม่ง่าย แต่ก็รู้ได้ในวันหนึ่งแน่นอน ในเมื่อทุกท่านเริ่มสนใจที่จะศึกษาปรมัตถธรรม เริ่มที่สติจะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เริ่มที่จะฟังต่อไป พิจารณาต่อไปเพื่อที่จะได้รู้ว่า ไม่มีอะไรเหลือในแต่ละขณะ ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็ยังรวมกันเป็นเราที่มีความสำคัญด้วยมานะ หรือมีความพอใจด้วยตัณหา หรือมีความเห็นผิดด้วยทิฏฐิว่า ยังมีความเป็นตัวตนอยู่

    เวลาที่รู้สึกว่า ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีอะไรจริงๆ นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ จะน้อยกว่าเวลาที่สูญเสียทรัพย์สมบัติ สูญเสียแขน สูญเสียตา สูญเสียขา สูญเสียอวัยวะอะไรๆ เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ ถ้าทุกท่านจะคิดถึงเรื่องความสูญเสีย ดูเหมือนท่านสูญเสียใหญ่อาจจะสูญเสียสมบัติมหาศาล แต่ว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจยังอยู่ หรือว่าถ้าจะเสียแขน ขายังอยู่ ตายังอยู่ แต่เวลาที่สูญเสียหมดสิ้นทุกอย่าง เหลือแต่เพียงลักษณะของปรมัตถธรรมเพียงอย่างเดียว เฉพาะที่กำลังปรากฏ เป็นการสูญเสียมากกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยสูญเสียหรือเปล่า ทำให้รู้สึกเสมือนว่า จะว้าเหว่ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา ถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้ว จะต้องคิดว่า น่าใจหาย น่าว้าเหว่ที่ไม่เหลืออะไรเลย ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงมิตรสหาย สมบัติทุกสิ่งทุกอย่างไม่เหลือ น่าว้าเหว่ แต่ถ้าเป็นปัญญาแล้วตรงกันข้าม ปัญญาจะไม่ว้าเหว่เลย

    แม่ชี หนูมีปัญหา หนูอยู่วัด เขาต้องนั่งสมาธิหลังทำวัตรทุกวัน แล้ววันพระก็มีพระมาอบรมให้นั่งสมาธิ เจริญอานาปานสติ หนูก็ต้องทำ ทำเพื่อหน้าที่ ถ้าไม่ทำก็เกรงจะถูกเพ่งเล็งเอา

    ท่านอาจารย์ เรื่องความคิดเห็นเป็นอิสระได้ไหม ก็ขอให้ความคิดเห็นของแต่ละคนเป็นอิสระก็แล้วกัน บังคับไม่ได้

    แม่ชี ถ้าไม่ทำ กลัวเขาจะเพ่งเล็ง

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจจริงๆ ว่า ชีวิตของบรรพชิตหรือชีวิตของอุบาสิกาที่เป็นแม่ชี ลำบากกว่าคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นคฤหัสถ์เต็มตัว มีสิทธิเสรีทุกอย่างที่ไม่ต้องเกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น แม้แต่หมู่คณะ แต่ถ้าเป็นบรรพชิตแล้ว ก็จะต้องมีพระผู้ใหญ่ พระผู้น้อย หรือแม้แต่ในสำนักต่างๆ ก็จะต้องมีผู้เป็นหัวหน้า เพราะฉะนั้นก็เห็นใจในความลำบาก แต่ดิฉันเองคิดว่า ถ้าเราเป็นตัวของเราเองด้วยความเข้าใจธรรม ก็คงจะผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ เพราะคงจะไม่มีการฆ่า ตี ใช่ไหม ถ้าจะไม่เห็นด้วย จะลำบากยากสักแค่ไหน ถ้าจะอยู่โดยที่มีความเห็น หรือมีข้อปฏิบัติที่ต่างกับบุคคลอื่น แต่ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก

    แม่ชี ถ้าเราจะไม่ทำ

    ท่านอาจารย์ ก็ได้

    แม่ชี แล้วถ้าหัวหน้าจะเพ่งเล็ง

    ท่านอาจารย์ เพ่งเล็งก็จะไม่ทุบตี แต่ว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงลักษณะนั้นทีละอย่าง ขณะนั้นจะไม่รู้สึกว้าเหว่เหมือนกับขณะที่ปัญญาไม่เกิด เพราะเหตุว่าตามความเป็นจริงทุกคนที่เข้าใจว่าอยู่คนเดียว ก็ยังมีตัวของตัวเองที่จะอยู่คนเดียว แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ละขณะ มีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ตามปัจจัยทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหน ใครจะเห็นอะไร ใครจะได้รับกระทบคำพูดหรือวาจาอย่างไร ก็เป็นเพราะเหตุที่ได้กระทำแล้วนั่นเอง แล้วก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวแล้วก็ดับไป

    ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ ก็คงจะพอเป็นไปได้ หรือว่าพออยู่ได้ไหมคะ อาจจะไม่ต้องแสดงความคิดเห็นซึ่งไม่ตรงกับบุคคลอื่น แต่ก็ไม่จำเป็นต้องคล้อยตามหรือว่าโน้มเอียงไปตามความเห็นผิดของบุคคลอื่น แต่ว่าถ้าการแสดงความคิดเห็นนั้นไม่มีประโยชน์ ก็ไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นนั้น ต่างคนก็ต่างอยู่ แล้วก็ต่างคนต่างก็ปฏิบัติไป ก็คงจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าจะเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของเหตุที่ได้กระทำแล้ว และก็คงไม่ถึงกับทุบตีเดือดร้อน

    ขณะที่ไม่มีปัญญากับขณะที่ปัญญาเกิดต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นขณะที่กำลังสูญเสียลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าขณะที่กำลังได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ตาม เวลาที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นจะไม่มีความว้าเหว่ หรือว่าจะไม่มีความเดือดร้อนใดๆ เพราะเหตุว่าปัญญาสามารถที่จะเกิดปีติโสมนัสได้ แม้ในขณะที่ไม่มีสิ่งใดที่จะเหลือ ที่จะพึงยึดถือว่าเป็นเราอีกต่อไป

    บางท่านอาจจะคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานของท่านไม่ก้าวหน้าเลย มีไหมท่านที่คิดอย่างนี้ มี บางท่านคิดอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ท่านก็ได้ฟังพระธรรมมาก และได้ทำกิจเผยแพร่พระศาสนา บางท่านก็ทำเทปให้คนอื่นได้รับฟัง และทำทุกสิ่งทุกอย่าง แต่แม้กระนั้นก็ดูเสมือนว่า ท่านต้องตั้งต้นเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอยู่เรื่อยๆ

    แม้แต่ข้อความในพระไตรปิฎก ในมหาสติปัฏฐานสูตร ก็มีคำว่า “ปรารภ” คือ ตั้งต้นอีก เริ่มอีกเนืองๆ บ่อยๆ ซึ่งในขณะนั้นความจริงท่านคงจะไม่ทราบว่า ในขณะที่ท่านเข้าใจว่า กำลังตั้งต้น กำลังเริ่มต้นอีก ตั้งต้นอีก ระลึกอีก พิจารณาอีก แท้ที่จริงแล้วในขณะนั้น ทุกๆ ขณะสติและปัญญากำลังหยั่งรากลึกลงไปตามอวิชชา เพราะเหตุว่าโลภะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุ หรือเป็นมูลรากที่ลึกมาก เนิ่นนานมาในสังสารวัฏฎ์ จนกระทั่งถ้าสติไม่ระลึกอีก ระลึกอีก แล้วก็ตั้งต้นอีก ระลึกอีกเรื่อยๆ เพื่อที่จะหยั่งลงไปตามความลึกของอวิชชา และโลภะ และโทสะ ก็ไม่มีสิ่งใดเลยซึ่งจะไปตัดรอนรากที่ลึกของอกุศลทั้งหลายได้

    เพราะฉะนั้นขณะที่ดูเสมือนไม่ก้าวหน้าเลย แท้ที่จริงทุกๆ ขณะที่สติเกิด และปัญญากำลังเริ่มที่จะศึกษาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ให้เข้าใจว่าเป็นขณะที่ทั้งสติและปัญญากำลังหยั่งลง เพื่อที่จะลึกลงไปถึงรากของอกุศลมูลทั้งหลาย เพื่อที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท เมื่อปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นที่จะเกิดขึ้นตามลำดับขั้นของวิปัสสนาญาณนั้นๆ

    ข้อสำคัญก็คือ ไม่ควรที่จะคลอนแคลนในเหตุในผล ในข้อปฏิบัติ เพราะอาจจะเห็นว่า ช้าเหลือเกิน หรือปัญญาเกิดทีละเล็กทีละน้อย น้อยมาก เพราะฉะนั้นอาจจะมีความเห็นที่กวัดแกว่งไปสู่ความเห็นผิดต่างๆ แทนที่สติจะมั่นคงโดยระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นจึงต้องกล่าวถึง สัจจญาณ ปัญญาที่พิจารณารู้ว่า ทุกขสัจจ์ คืออะไร กำลังเห็นขณะนี้เองเป็นทุกขสัจจ์ กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังคิดนึก สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทุกอย่างเป็นทุกขสัจจ์ เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นแล้วดับไป ปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งได้ก็โดยสติระลึกศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์ถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งได้ อย่าเห็นผิดในข้อปฏิบัติ แล้วก็อย่าคลาดเคลื่อนไป เพราะเหตุว่านั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    ข้อความในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค จูฬมาลุงกยโอวาทสูตร

    แม้ท่านพระมาลุงกยบุตรจะได้บวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ แต่ความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้สะสมมาที่จะไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมให้ตรง ให้ควรแก่ธรรมที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ทำให้ท่านพระมาลุงกยะมีความเห็นต่างๆ

    ซึ่งขอให้พิจารณาดูเพื่อท่านผู้ฟังจะได้เป็นผู้ที่ละเอียด และเห็นว่า การปฏิบัติธรรมที่ถูกที่ตรงเป็นหนทางเดียวจริงๆ ไม่ใช่หนทางอื่น

    ข้อความในจูฬมาลุงกยโอวาทสูตร ข้อ ๑๔๗ มีว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

    ครั้งนั้น ท่านพระมาลุงกยบุตรไปในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่เรา เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ เราก็จักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์

    ความคิดอย่างนี้ก็มี คือ คิดว่าถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทำอย่างนั้น จะลาสิกขา เป็นคฤหัสถ์ เหมือนกับจะผูกมัดบังคับว่า เพื่อที่จะให้ท่านเป็นบรรพชิตต่อไป ก็จะต้องพยากรณ์กับท่าน

    ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระมาลุงกยบุตรออกจากที่เร้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์ไปในที่ลับ เร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์เหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯ เราจักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์

    ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกเที่ยง ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่าโลกเที่ยง ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า โลกไม่เที่ยง ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่าโลกไม่เที่ยง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่าโลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอจงตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกมีที่สุด ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า โลกมีที่สุด ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า โลกไม่มีที่สุด ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า โลกไม่มีที่สุด ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่าโลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น

    นี่คือผู้ที่ได้ไปเฝ้าและกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทุกท่านลองคิดว่า ท่านมีความโน้มเอียงที่จะคิดอย่างนี้บ้างไหม เรื่องโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง เรื่องชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง เรื่องสัตว์เบื้องหน้าตายไปมีอยู่ หรือว่าตายไปไม่มี หรือว่าตายไปมีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ทำให้เกิดปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย

    เพราะฉะนั้นเรื่องของความคิดเห็นแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดว่า เป็นประโยชน์ต่อการที่จะละความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หรือเปล่า ซึ่งท่านก็ได้กราบทูลถามต่อไป โดยนัยเดียวกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรมาลุงกยบุตร เราได้พูดไว้อย่างนี้กะเธอหรือว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด เราจักพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ แก่เธอ ”

    ซึ่งท่านก็กราบทูลว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ก็หรือว่า ท่านได้พูดไว้กะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ”

    ซึ่งท่านมาลุงกยบุตรก็กราบทูลว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า”

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรมาลุงกยบุตร ได้ยินว่า เรามิได้พูดไว้กะเธอดังนี้ว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด เราจักพยากรณ์แก่เธอ ได้ยินว่า แม้เธอก็มิได้พูดไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาค จักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์

    ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอเป็นอะไร จะมาทวงกะใครเล่า?”

    จะบวชก็บวช จะสึกก็สึก ไม่ได้สัญญาอะไรกันไว้เลย เพราะฉะนั้นมาทวงสัญญาอะไรกับใคร นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจว่า การศึกษาพระธรรมควรจะศึกษาอย่างไร

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    “ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดแลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์แก่เรา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    1 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ