โสภณธรรม ครั้งที่ 068


    ตอนที่ ๖

    ขณะนั้นไม่ใช่มีลักษณะของปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็จะตรวจสอบรู้จักตนเองตามความเป็นจริงได้ว่า มีการรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุว่าขณะที่กำลังคิด ขณะนั้นไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แล้ววันหนึ่งๆ ก็คิดมาก แม้ในขณะนี้เอง ก็เป็นการที่จะพิสูจน์ได้ว่า ในขณะนี้กำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังคิดเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง

    วันหนึ่งๆ บางเรื่องที่คิดก็สั้น บางเรื่องที่คิดก็ยาว และคิดวันก่อนก็ยังไม่จบ ก็ยังต่ออีก วันรุ่งขึ้นก็ยังคิดอีก และก็วันต่อๆ ไป เรื่องเดียวกันนั้นก็ยังไม่จบอีก ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ยาวแต่เฉพาะในวันหนึ่ง แต่ว่ายาวต่อไปทั้งอาทิตย์ หรือว่ายาวต่อไปทั้งปีทั้งชาติ ก็เป็นได้

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้จริงๆ ว่า ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ขณะนั้นความคิดนึกจะปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานด้วย และกำลังฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ย่อมจะมีโอกาสมีปัจจัยที่สติจะเกิดระลึกได้ในขณะที่กำลังฟังนี้เอง ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมสลับกับความคิดนึกก็ได้ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐาน เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้นระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏแม้เพียงเล็กน้อย ก็รู้ว่าปรมัตถธรรมกำลังสลับกับความคิดนึก เช่น ทางตาที่กำลังเห็นเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดที่เกิดระลึกศึกษาว่า ขณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น บางคนอาจจะรู้สึกว่า หลับตาก็สบายดีเหมือนกันเวลาที่ฟังพระธรรม เพราะเหตุว่าไม่จำเป็นจะต้องลืมตาแล้วมองดูสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ใช่ว่าให้มีเจตนาให้หลับ เพื่อที่จะได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมชัดเจน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าการที่ใครจะพักสายตา แล้วก็ฟังพระธรรม ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ อาจจะลืมและอาจจะหลับสลับกัน

    เพราะฉะนั้นขณะใดที่เห็น ขณะนั้นระลึกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และขณะที่ได้ยินก็เปลี่ยนจากลักษณะที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง อีกทางหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังฟังนี้เอง สติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็เกิด แล้วก็หมดไปในขณะที่ได้ยินเสียง เป็นอีกขณะหนึ่ง อีกสภาพธรรมหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ก็มีทั้งเห็น และก็มีทั้งได้ยิน ก็พิจารณาได้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏสลับกันในขณะนี้ได้ตามความเป็นจริง

    แต่ว่าทุกคนก็จะต้องรู้ขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติว่า เป็นขณะที่ต่างกัน ขณะที่หลงลืมสติ จะไม่มีการสังเกตรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเป็นโลภะ ความไวจะทำให้ระลึกได้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่กำลังสังเกตศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะที่เป็นโลภะ ขณะนั้นมีอะไรเป็นอารมณ์ เป็นปรมัถตอารมณ์หรือว่าเป็นบัญญัติอารมณ์ ขณะที่กำลังชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็พอที่จะสังเกตได้ เพื่อที่จะคลายการยึดถือสิ่งที่ปรากฏด้วยการรู้แจ้งว่า อารมณ์ในขณะนั้นเป็นอะไร ที่กำลังชอบ ที่กำลังพอใจ หรือว่าขณะที่กำลังโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่ชอบ ขณะนั้นรู้หรือเปล่าว่า กำลังโกรธบัญญัติ เพียงแต่นึกถึงชื่อของบางคน ก็อาจจะหงุดหงิด ขณะนั้นไม่มีปรมัตถธรรม ไม่มีคนจริงๆ ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงเรื่องราวที่คิดขึ้นเกี่ยวกับความทรงจำว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นไม่ได้รู้ตัวเลยว่า โกรธบัญญัติ ไม่ได้มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ หรือแม้แต่ในขณะที่กระทำทานกุศล ขณะใดที่สติไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะนั้นก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะที่วิรัติทุจริต หรือว่าขณะที่จิตสงบก็ตาม ขณะใดก็ตามที่สติไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะนั้นก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นก็จะรู้ได้ว่า บัญญัติในวันหนึ่งๆ ปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นขณะใดที่สติเกิดเท่านั้น ที่จะค่อยๆ เริ่มศึกษารู้ลักษณะของปรมัตถธรรมว่า ไม่ใช่บัญญัติที่เคยคิดเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะที่จะต้องศึกษา สังเกต พิจารณาจนกว่าจะรู้ชัดในลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

    มีท่านผู้หนึ่งท่านถามว่า จะรู้ได้อย่างไรว่ากุศลจิตผ่องใส ไม่กังวล ไม่หนัก เพราะเหตุว่าโสมนัสเวทนา ความรู้สึกที่เป็นสุขสบายใจ เกิดได้ทั้งกับจิตที่เป็นโลภมูลจิต หรือจิตที่เป็นมหากุศลจิต เพราะฉะนั้นเพียงความรู้สึกสบาย และดีใจปลาบปลื้ม จะรู้ได้อย่างไรว่า ถ้าเป็นกุศลแล้ว เป็นสภาพที่ผ่องใส ปราศจากโลภะ เป็นสภาพที่ไม่กังวล ไม่หนัก แต่ว่าในขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติ ก็พิสูจน์ได้แล้วใช่ไหมว่า ต่างกัน หลายคนคงจะเคยมีเรื่องที่วิตกกังวลห่วงใย กลุ้มใจ ทั้งๆ ที่ทางตาก็เห็นสิ่งซึ่งไม่น่าจะต้องเดือนร้อนเลย ทางหูก็เป็นสิ่งที่ปรากฏกระทบให้ได้ยิน แต่ทำไมความคิดนึกปรุงแต่งจนกระทั่งกลุ้มใจเป็นห่วงเป็นกังวล แต่พอสติเกิดขณะใด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงชั่วขณะ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น แล้วก็หมดไป ถ้าระลึกรู้อย่างนี้จริงๆ ความวิตก ความห่วงใย ความกังวลนั้นก็รู้ได้ว่า เป็นการวิตก การห่วงใยที่เสียเปล่า เพราะว่าสิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้น คือ ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ว่าเป็นห่วง และสิ่งนั้นจะเกิดหรือไม่เกิด ย่อมมีปัจจัยพร้อมที่จะให้เกิดหรือไม่เกิด แต่ว่าความคิดนึกก็ยังคงทิ้งไม่ได้ ยังคงคิดไปต่างๆ นานา

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าสติปัฏฐานเกิดขณะใด ขณะนั้นกั้นกระแสของอกุศลทุกอย่าง และในขณะที่สติปัฏฐานเกิด อาจจะระลึกลักษณะของสภาพที่เป็นความต้องการ ทุกขณะไม่ว่าจะเดินเพื่อที่จะกระทำกิจการงานอย่างหนึ่งอย่างใด จะเป็นการออกกำลังกาย หรือจะเป็นการอ่านหนังสือพิมพ์ หรือว่าดูโทรทัศน์ หรืออะไรก็แล้วแต่ จะเห็นได้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพที่ต้องการ เพราะฉะนั้นก็เริ่มที่จะรู้ว่า ตลอดชีวิตส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความต้องการทั้งสิ้น

    นี่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่ค่อยๆ รู้ทีละลักษณะ ลักษณะของความต้องการ คือ ในขณะที่เอื้อมมือไป ในขณะที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ล้วนแล้วเป็นสภาพของจิตที่ต้องการในขณะนั้น การเคลื่อนไหวอย่างนั้นจึงมีได้ แต่ว่าขณะที่เป็นกุศล สภาพของจิตแม้ว่าจะกระทำกิจของกุศลก็ต่างกัน แต่ว่ากุศลจิตเกิดน้อยมาก แล้วก็มีอกุศลแทรกคั่นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการกุศลใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้สังเกตว่า กุศลเจตนาเกิดส่วนน้อย และหลังจากนั้นก็เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง ที่ขัดขวางได้

    อย่างบางท่านท่านก็บอกว่า ท่านกำลังฟังเทปธรรม แล้วก็กำลังอัดเทปธรรม ก็พอดีมีคนโทรศัพท์มา ท่านกำลังเพลินๆ และกำลังเข้าใจดีด้วย แต่ก็มีผู้ที่โทรศัพท์มา เพราะฉะนั้นท่านก็หงุดหงิด นั่นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีจริง ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงว่า กุศลเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ ซึ่งเราคงจะไม่ได้สังเกตเลยว่า เป็นจริงอย่างนั้น แต่ให้ทราบสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน แม้แต่ขณะที่กำลังเป็นกุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ แต่ถ้าสติเกิดจะระลึกรู้ว่า ขณะที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง และขณะที่เป็นอกุศล สภาพของจิตเปลี่ยน เป็นอีกลักษณะหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นขณะใดที่ปราศจากโลภะ ลองสังเกตอย่างนี้ก็ได้ ขณะใดที่ปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ ปราศโมหะ ขณะนั้นสบาย แต่ขณะใดที่กำลังเป็นโลภะ หรือเป็นโทสะ ขณะนั้นสภาพธรรมจะไม่สบายเลย ลักษณะของโทสมูลจิตเห็นง่าย แต่ว่าลักษณะของโลภมูลจิตซึ่งกำลังพอใจต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด อาจจะปิดบังไม่ให้เห็นว่าเป็นสภาพที่หนัก และเป็นสภาพที่ไม่ผ่องใส แต่ถ้าเปรียบเทียบกับขณะที่ปราศจากโลภะ แทนที่จะต้องการ แทนที่จะพอใจ ก็เป็นความที่ไม่ต้องการในสิ่งนั้น ไม่ติดในสิ่งนั้น จะทำให้เห็นว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่เบาและผ่องใสได้

    เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นการที่ว่า ลักษณะของอกุศลจิตและกุศลจิตในวันหนึ่งๆ ที่จะรู้ความต่างกันได้ ก็โดยสติเกิดขึ้น และสังเกตลักษณะของสภาพธรรม และเริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้นแล้วก็จะต้องอบรมเจริญไป เพราะว่าในขั้นแรกจะต้องระลึกศึกษาลักษณะที่เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง และไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่งเสียก่อน โดยที่ไม่ต้องไปกังวลว่า นี่เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นสภาพธรรมประเภทไหน มีชื่อว่าอะไร แต่ว่าเพียงลักษณะที่ต่างกันโดยเป็นสภาพรู้กับไม่ใช่สภาพรู้ นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ชัดในขั้นต้น จนกว่าจะถึงการประจักษ์แจ้งโดยนามรูปปริจเฉทญาณ

    ถาม ความนึกคิดอันยาวนานที่เมื่อสักครู่นี้อาจารย์พูดถึง มันช่างเป็นความจริงเหลือเกิน บางทีเป็นเดือน เป็นสัปดาห์ แต่เป็นปีไม่เคย ผมไม่เคยคิดยาวถึงขนาดนั้น และเรื่องที่คิดยาวๆ ก็มีความละอายที่ไม่กล้าเอามาเปิดเผยในที่นี้ได้ มันคิดจริงๆ อยากจะเป็นโน่นเป็นนี่ คิดจนถึงขนาดบางครั้งบางคราวอยากจะเป็นวุฒิสมาชิก เป็นรัฐมนตรี เมื่อได้มาฟังเรื่องการสติปัฏฐาน มีความเข้าใจพอสมควร ก็เลยระลึก ก็หยุดไปทีว่านี่หรือความคิดที่เรากำลังคิดนึกซึ่งเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แต่กำลังที่สะสมไว้ยังไม่พอ ก็อยากคิดอีก ทั้งๆ ที่รู้ว่า อันนั้นเป็นคิดนึก ก็อยากคิดอีก เพราะว่าสนุกดี ผมก็อยากจะได้คำแนะนำ เมื่อเราได้สติแค่นี้แล้ว ก็เริ่มรู้แล้วว่า นี่คือความคิดนึก ไม่ใช่สติปัฏฐาน สติปัฏฐานไม่เกิด แต่เรื่องที่คิดนั้นมันช่างสนุกดีเหลือเกิน อย่างที่เรียนแล้วว่าเป็นสัปดาห์ บางทีเกือบจะถึงเดือน

    ท่านอาจารย์ ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งความคิด ถ้ายังมีโลภะอยู่ ก็ติดในความคิดเรื่องที่เป็นสุขหรือว่าเรื่องที่พอใจ แสวงหาอยู่ตลอดเวลา มีบางท่านพอได้ยินคำว่า “โลภะ” ท่านหวั่นกลัวเหลือเกิน ทำอย่างนี้ก็เป็นโลภะ ทำอย่างนั้นก็โลภะ แต่ว่าความจริงแล้วเป็นตัวจริงๆ เป็นสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งยังมีโลภะอยู่ตราบใด ก็จะต้องเป็นอาการอย่างนั้นอยู่ เพียงแต่ว่าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เท่านั้นเอง แม้ว่าจะเป็นเพียงชั่วขณะที่เล็กน้อยสั้นๆ แม้เพียงขณะนี้ กระทบสัมผัสแข็งในขณะที่กำลังฟัง ในขณะที่กำลังเห็น จะระลึกลักษณะที่ตรงแข็งนิดหนึ่ง ก็ยังรู้ว่า ขณะนั้นไม่มีอย่างอื่น มีแต่เพียงสภาพธรรมขณะนั้น ก็ยังเป็นหนทางที่จะทำให้สติค่อยๆ เจริญขึ้นได้

    ผู้ฟัง อันนี้ถือเป็นกามฉันทะอย่างหนึ่ง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    นี่ก็เป็นเรื่องของชื่อ แต่ว่าลักษณะจริงๆ ก็เป็นความพอใจ ความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และในการคิดนึกเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้นแม้สติที่เกิดเพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ควรประมาท และก็จะต้องรู้ว่า เป็นปกติ เป็นธรรมดาอย่างนี้ ไม่ใช่ต้องไปพยายามให้มีมากๆ เพื่อที่จะให้ปัญญารู้ชัดเร็วๆ แต่ว่าในขณะปกติธรรมดาอย่างนี้ เริ่มสังเกต เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด แม้ในขณะที่กำลังฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน

    เป็นไปได้ไหมที่จะพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่จะรู้ว่า บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม ในขณะนี้กำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ จนกว่าสติจะเกิดระลึกลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรม ขณะนั้นจึงจะมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

    นิภัทร เมื่อสักครู่นี้ท่านอาจารย์ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะที่เป็นกุศลนั้นเบาสบายไร้กังวล ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาอธิบายย้ำอีกทีว่า ขณะที่เป็นกุศล ที่ว่าเบาสบายไร้กังวล ไม่หนัก ต่างจากที่เป็นอกุศลที่หนัก เราจะรู้ได้อย่างไร เพราะบางทีเรารู้สึกสบาย ปลื้มอกปลื้มใจ แต่ว่าอาจจะไม่ใช่กุศลก็ได้ อาจจะเป็นโลภะก็ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องสติปัฏฐานเกิด แล้วเริ่มรู้ลักษณะของเวลาที่เกิดพอใจ ชอบ สนุกสนานว่า เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วเวลาที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของจิตที่ปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ เพราะว่าบางทีอาจจะเกิดโกรธขึ้นมา ขณะนั้นต้องเป็นทุกข์แน่ พอสติเกิดแม้เพียงขั้นระลึกได้ว่า ความโกรธเป็นโทษเป็นภัย เป็นอันตรายของตนเอง คนที่ถูกโกรธไม่เดือดร้อนอะไรเลย เพราะฉะนั้นกิเลสของตนเองที่เกิดกำลังทำร้ายตนเอง และจะสะสมเป็นอุปนิสัยที่จะทำให้เป็นผู้โกรธต่อไปอย่างรวดเร็ว แล้วก็อาจจะผูกโกรธเอาไว้นานด้วย และอาจจะถึงขั้นที่ไม่ยอมให้อภัย ถ้ารู้โทษของอกุศลอย่างนี้จริงๆ ขณะนั้นเมื่อเห็นโทษแล้ว สติที่ระลึกได้ก็จะทำให้ขณะนั้นปราศจากความโกรธ หรืออาจจะเกิดมีความเมตตาแทนที่จะโกรธก็ได้ ซึ่งลักษณะ ๒ อย่าง ก็เปรียบเทียบให้เห็นความต่างกันได้ ใช่ไหม ขณะที่เป็นโทสะหรือเป็นอกุศล จิตจะคิดเป็นไปในทางอกุศล มากมายหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องร้ายทั้งหมด แต่ขณะใดที่คิดด้วยกุศลจิต จิตจะไปคิดในเรื่องที่ดีทั้งหมด แม้แต่การที่จะทำ หรือวาจาที่จะพูด หรือแม้แต่ความคิดนึกทางใจ ก็เป็นไปในทางกุศล

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า วิตกซึ่งเป็นเจตสิกที่ทำกิจตรึก ทรงแสดงไว้ว่า เป็นเท้าของโลก เพราะว่าทำให้ก้าวไป แล้วแต่ว่าจะไปในทางดี หรือจะไปในทางไม่ดี

    นิภัทร แต่วันหนึ่งๆ จิตที่เป็นกุศล ที่เรารู้สึกเบาสบาย ไร้กังวล จะเกิดน้อยเหลือเกิน ส่วนใหญ่ก็เป็นการนึกคิดเรื่องราวซึ่งเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง ซึ่งทำให้มีความกังวลและหนักใจ และที่เบาสบายไร้กังวล เป็นกุศลนั้นจะไม่ค่อยรู้ เพราะเกิดนิดๆ หน่อยๆ เกิดน้อยเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ เป็นความจริง เพราะฉะนั้นสติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง ไม่ใช่เพียงแต่คำที่พูดกันบ่อยๆ แต่เป็นความจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าสติเกิดขณะใดกั้นกระแสของอกุศลขณะนั้น เช่น กำลังเป็นโลภะ สนุกมาก การละเล่น เกมกีฬาต่างๆ เพลิดเพลินทั้งวัน ถ้าสติเกิดระลึกขึ้นได้ในขณะนั้นเพียงนิดเดียว ขณะนั้นก็กั้นกระแสที่จะรู้ว่า ลักษณะที่เป็นกุศล ที่เป็นสติปัฏฐาน ที่รู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ทำให้ไร้ความกังวลได้ มิฉะนั้นแล้วเวลาเป็นอกุศล บางคนก็ยิ่งเป็นอกุศลหนักขึ้นไปอีก เพราะเหตุว่าไม่ชอบอกุศล ไม่อยากจะเป็นอกุศลอย่างนี้เลย และก็รู้ตัวเองว่า มีอกุศลทั้งนั้น มากมาย กลุ้มใจ จะทำอย่างไร บางคนก็พยายามหาทางอื่นที่จะไม่เป็นอกุศล แต่ก็ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส แต่เวลาที่สติเกิด ไม่ว่าจะเป็นอกุศล ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    นี่เป็นหนทางที่จะดับกิเลสได้ โดยการรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะรู้ชัดจริงๆ ว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าถ้าปัญญายังไม่เจริญจนกระทั่งถึงขั้นนามรูปปริจเฉทญาณ สภาพธรรมก็ยังปรากฏรวมกัน ไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงขณะที่จิตรู้ แล้วก็ดับไป ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ลักษณะสภาพธรรมนั้นก็ปรากฏไม่ได้

    กว่าที่จะแยกโลกทั้งหมด โลกใหญ่ๆ ซึ่งมีคนเยอะๆ ออกเหลือเพียงตัวคนเดียว และก็ยังแยกตัวคนเดียวออกไปจนเหลือขณะจิตเดียว จึงจะรู้ว่าเป็นอนัตตาจริงๆ มิฉะนั้นแล้วถึงจะพูดเรื่องอนัตตาสักเท่าไร ก็ไม่มีทางที่จะประจักษ์จริงๆ ว่า สภาพที่เป็นอนัตตา ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จริงๆ ต้องในขณะที่สภาพธรรมไม่รวมกัน จึงจะปรากฏว่าเป็นอนัตตาได้ ถ้ายังรวมกันอยู่ตราบใด ที่จะไม่เป็นอัตตาเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเมื่อรวมกันแล้วก็ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ทางตาที่กำลังเห็น พอคิดนึกเกิดขึ้นก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคลทันที นี่ก็คือการสืบต่อรวมกันของนามธรรมซึ่งแท้ที่จริงขณะที่เห็นต้องดับไป และจิตดวงต่อไปก็เกิดขึ้นๆ ๆ จนกว่าจะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร แต่เมื่อไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิดได้ ก็ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏรวมกันเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    การประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่จะประจักษ์ได้ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานต้องเป็นผู้ตรง ตัตตรมัชฌัตตตาทำให้เป็นผู้ตรงในข้อปฏิบัติ ในเหตุในผล และเห็นโทษของการไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง สติจึงจะระลึกเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางที่จะดับกิเลส ใครที่เห็นโทษของกิเลส แล้วจะทำวิธีอื่น ให้ทราบได้ว่า ไม่ใช่หนทาง นอกจากสติเกิดระลึกศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะปรากฏลักษณะที่เป็นอนัตตา

    ถาม เวลาที่สีปรากฏทางตา ขณะนั้นจะเป็นเฉพาะจักขุวิญญาณ หรือว่ารวมจิตอื่นด้วย

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้จิตเกิดดับเร็วมาก จนกระทั่งไม่สามารถที่จะแยกได้

    ผู้ฟัง คือขณะที่สีกำลังปรากฏทางตาเท่านั้น จะเป็นเฉพาะรูปารมณ์ที่มีอายุ ๑๗ ขณะของจิต แต่จักขุวิญญาณมีอายุเพียง ๑ ขณะของจิต และขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ถ้าระลึกที่สีอย่างเดียว ขณะนั้นจะเป็นเฉพาะจักขุวิญญาณหรือว่ารวมจิตอื่นด้วยทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ กำลังระลึกรู้อะไร

    ผู้ฟัง ยังไม่ได้ระลึกรู้ เพียงแต่สีกำลังปรากฏ เรายังไม่ได้คิดนึกอะไรเลย จะเป็นเฉพาะจักขุวิญญาณหรือรวมจิตอื่นทั้งหมด ตั้งแต่จักขุวิญญาณดับไปแล้วจนถึงตทาลัมพนะของปัญจทวารด้วย

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ต้องเป็นจริงอย่างนั้น คือ วิถีจิตแรกเป็นปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป จักขุวิญญาณเกิด ดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิด ดับไป สันตีรณจิตเกิด ดับไป โวฏฐัพพนจิตเกิด ดับไป ชวนจิตเกิด ดับไป ตทาลัมพนจิตเกิด ดับไป ภวังคจิตเกิด ดับไป มโนทวาราวัชชนจิตเกิดต่อ ก็เป็นสภาพความจริงเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น โดยที่ปัญญาจะรู้หรือไม่รู้ สิ่งที่เกิดก็ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นในขณะนี้ก็จะต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าเรายังไม่ถึงขั้นที่จะรู้ ขณะที่เป็นชวนะทางปัญจทวาร ขณะนั้นยังคงสว่างอยู่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เป็นสีที่ยังคงปรากฏอยู่ใช่ไหม ถ้าสมมติว่าวิถีจิตทางปัญจทวารดับไปแล้ว แล้วก็เป็นภวังคจิตคั่น ตอนนั้นรูปดับไปหมดแล้ว แต่มโนทวารก็สามารถรำพึงถึงรูปนั้นได้อีก สืบต่อได้อีก ขณะนั้นก็ยังคงสว่างอยู่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันกับทางปัญจทวาร มโนทวารวิถีจิตวาระแรก จะมีปรมัตถอารมณ์เดียวกับทางปัญจทวารที่เพิ่งดับไป

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏกับชวนะของปัญจทวารกับสิ่งที่กำลังปรากฏกับชวนะของมโนทวารก็เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นรูปารมณ์เป็นอารมณ์ของจิต ๒ ทวาร คือ ของจักขุทวารวิถีและมโนทวารวิถี สัททารมณ์คือเสียง เป็นอารมณ์ของ ๒ ทวาร คือ โสตทวารวิถีและมโนทวารวิถี

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็รู้สึกยากมากเลยที่จะระลึกรู้ว่า ขณะใดเป็นปัญจทวาร และขณะใดเป็นมโนทวาร เพราะเหตุว่าปัญจทวารและมโนทวารก็เป็นจิต คือ เป็นสภาพรู้เหมือนกัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    31 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ