โสภณธรรม ครั้งที่ 065


    ตอนที่ ๖

    พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ที่นายเปสสหัตถาโรหบุตรกล่าวว่า

    น่าอัศจรรย์ พระพุทธเจ้าข้า ไม่เคยมี พระพุทธเจ้าข้า เพียงเท่านี้ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคชื่อว่าย่อมทรงทราบประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย

    ทุกท่านมีสิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

    ในเมื่อมนุษย์รกชัฏเป็นไปอยู่อย่างนี้

    มนุษย์รกชัฏ คือ มนุษย์ที่มากมายหนาแน่นด้วยกิเลส เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ของมนุษย์รกชัฏ ก็คือขณะที่เป็นกุศล สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ของมนุษย์รกชัฏคือขณะที่เป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้นก็เป็นชีวิตจริงๆ ของทุกคนว่า แม้มนุษย์รกชัฏเป็นอย่างนี้ คือหนาแน่นด้วยกิเลสอย่างนี้ แต่พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย และก็ยังทรงแสดงธรรมเพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไรเพื่อความดับแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน และข้อความที่ว่า

    แท้จริงแม้พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว

    คนสมัยนี้ก็เลยอาจจะคิดว่า การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมหรือว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกาจะต้องนุ่งผ้าขาว แต่ความจริงแล้วผ้าขาวเป็นเครื่องหมายของคฤหัสถ์ซึ่งต่างกับบรรพชิตเท่านั้น เพราะเหตุว่าบรรพชิตมีเสื้อผ้าที่เศร้าหมอง ได้แก่ จีวร ซึ่งต้องย้อมด้วยน้ำฝาด ทำให้เป็นผ้าที่หมดราคาที่ไม่เป็นที่ต้องการของโจรหรือผู้อื่นที่ต้องการจะลักขโมยเอาไป แต่ว่าคฤหัสถ์ ผ้าขาวถือว่าเป็นผ้าที่สวยงาม และสำหรับเจ้าลิจฉวี เวลาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคก็แต่งกายด้วยสีต่างๆ เหมือนกับเทพที่มีเสื้อผ้าอาภรณ์สีต่างๆ เพราะฉะนั้นผ้าขาวเป็นเพียงเครื่องหมายของคฤหัสถ์ที่ต่างกับจีวรที่เป็นผ้ากาสายะของบรรพชิตเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า คฤหัสถ์แล้วก็จะต้องนุ่งห่มผ้าสีขาว

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกบุคคล ๔ ให้นายเปสสะฟังแล้วก็ได้ตรัสถามว่า

    บรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ จำพวกไหนจะยังจิตของนายเปสสะให้ยินดี

    นี่คือพระธรรมที่ทรงแสดง และท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งอัธยาศัยของสัตว์โลกโดยละเอียด โดยถี่ถ้วน เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้ทรงแสดงให้ท่อง หรือว่าให้สาธยาย แต่ว่าทรงแสดงบุคคล ๔ จำพวก และก็ได้ถามนายเปสสะว่า ในบรรดาบุคคล ๔ จำพวกนี้ บุคคลพวกไหนที่เป็นที่ยังใจของนายเปสสะให้ยินดี

    พวกที่ ๑ คือ ผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อนประกอบการขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน

    พวกที่ ๒ คือ ผู้ที่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

    พวกที่ ๓ คือ ผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อนประกอบการขวนขวายในการทำตนให้เดือดร้อน และ ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน

    ส่วนพวกที่ ๔ คือ ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นผู้ที่ประพฤติธรรมเป็นพระอรหันต์

    ซึ่งนายเปสสะก็ได้กราบทูลว่า บุคคล ๓ จำพวกแรก ไม่ยังจิตของเขาให้ยินดีได้ แต่บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ประกอบการขวนขวายการทำตนให้เดือดร้อน เขาไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ประกอบการขวนขวายในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่มีความหิว โลภะหิว แต่ว่าท่านผู้นี้ไม่มีความหิว ดับสนิท เป็นผู้เย็น เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นดังพรหม อยู่ในปัจจุบันนี้ ย่อมยังจิตของเขาให้ยินดีได้

    เมื่อนายเปสสหัตถาโรหบุตรกราบทูลเหตุผลในการที่พอใจในบุคคลจำพวกที่ ๔ แล้วก็กราบทูลลาไป

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้งนั้น เมื่อนายเปสสหัตถาโรหบุตรหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายเปสสหัตถาโรหบุตรเป็นบัณฑิต

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายเปสสหัตถาโรหบุตรมีปัญญามาก ถ้านายเปสสหัตถาโรหบุตรพึงนั่งอยู่ครู่หนึ่ง ชั่วเวลาที่เราจำแนกบุคคล ๔ จำพวกนี้โดยพิสดารแก่เขา เขาจักเป็นผู้ประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่

    อนึ่ง แม้ด้วยการฟังโดยสังเขปเพียงเท่านี้ นายเปสสหัตถาโรหบุตรยังประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่

    นี่คือความต่างกันของประโยชน์ใหญ่ ๒ ท่าน ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    บทว่า บัณฑิต นั้น คือควรกล่าวว่าเป็นบัณฑิต เพราะทำกรรมในสติปัฏฐาน

    ใครก็ตามที่จะชื่อว่า บัณฑิต ไม่ใช่โดยเหตุอื่นเลย แต่ว่าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงควรที่จะกล่าวว่า เป็นบัณฑิต

    เพราะฉะนั้นนายเปสสหัตถาโรหบุตรผู้นี้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นบัณฑิต ก็แสดงว่าเขาต้องเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    แม้บทว่า มีปัญญามาก คือ มหาปัญโญ ก็ควรกล่าวว่า เป็นผู้มีปัญญามาก เพราะประกอบด้วยปัญญาพิจารณาถือเอาสติปัฏฐาน

    ไม่ใช่ถือเอาข้อปฏิบัติอื่น แต่ว่าถือเอาสติปัฏฐาน คือ พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม และข้อความที่ว่า ถ้านายเปสสหัตถาโรหบุตรพึงนั่งอยู่ต่อไปครู่หนึ่ง ชั่วเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกบุคคล ๔ จำพวกนี้โดยพิสดารแก่เขา เขาจะเป็นผู้ประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่ คือ พึงบรรลุโสตาปัตติผล

    น่าเสียดาย พลาดโอกาสไปเสียแล้ว เพราะเหตุว่าเขาได้กราบทูลลาไปเสียก่อน

    ส่วนข้อความที่ว่า แม้ด้วยการฟังโดยสังเขปเพียงเท่านี้ นายเปสสะยังประกอบด้วยประโยชน์ใหญ่ นั้นถามว่า ด้วยประโยชน์ใหญ่เป็นไฉน ตอบว่าด้วยอานิสงส์ ๒ ประการ คือ ความเลื่อมใสในพระสงฆ์ ๑ และด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๑ นี่คือประโยชน์ใหญ่ แม้ว่ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ข้อความในอรรถกถามีต่อไปว่า

    การที่นายเปสสะไม่บรรลุมรรคผลนั้น ถามว่า ก็แม้เมื่อตั้งอยู่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะมีอันตรายแก่มรรคผลหรือ

    ได้มีโอกาสได้เฝ้า ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ และเป็นผู้ที่พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เพราะฉะนั้นจะยังมีอันตรายต่อการบรรลุมรรคผลหรือ

    ตอบว่า มี แต่มิได้มีเพราะอาศัยพระพุทธเจ้าทั้งหลาย โดยที่แท้ย่อมมีได้เพราะความเสื่อมของกิริยา คือ การกระทำ หรือเพราะปาปมิตร คือ มิตรชั่ว

    นี่เป็นความรอบคอบที่ท่านอรรถกถา ในพระไตรปิฎกก็ได้แสดงไว้ว่า ต้องเป็นผู้ที่รอบคอบและเห็นโทษเห็นภัยของการที่จะเป็นผู้ที่เห็นผิด ประพฤติผิด

    คำอธิบายต่อไปมีว่า

    ชื่อว่ามีความเสื่อมของกิริยา อรรถกถาแสดงตัวอย่าง เมื่อคราวที่ท่านพระสารีบุตรได้ไปแสดงธรรมกับธนัญชานิยพราหมณ์ ถ้าท่านพระสารีบุตรรู้อัธยาศัยของธนัญชานิยพราหมณ์แล้วก็ได้แสดงธรรมที่เกี่ยวกับการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม พราหมณ์นั้นก็จะได้เป็นพระโสดาบัน แต่เมื่อไม่ได้แสดงข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม พราหมณ์นั้นจึงไม่บรรลุ ดังนี้ชื่อว่า เสื่อมเพราะกิริยา

    เช่นเดียวกับนายเปสสะ คือ เสื่อมเพราะกราบทูลลาไป ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมและก็เจริญสติปัฏฐาน มีปัจจัยที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมหลังจากได้ฟังข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกเรื่องบุคคล ๔ ต่อไปโดยละเอียด

    ชื่อว่า เสื่อมเพราะปาปมิตร ในอรรถกถาแสดงตัวอย่างของพระเจ้าอชาตศัตรูที่เชื่อคำของปาปมิตร คือ ท่านพระเทวทัต และก็ได้ทำปิตุฆาต จึงไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

    ไม่มีใครสามารถที่จะรู้การสะสมของแต่ละท่านในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ เพราะเหตุว่าในวันหนึ่งๆ ย่อมแสดงให้เห็นถึงปัจจัยของธรรมที่เกิดว่า ต้องเป็นสภาพที่ละเอียดซับซ้อน ไม่มีใครรู้ว่า ขณะไหน ธรรมประเภทไหนที่เป็นกุศลหรืออกุศลจะเกิดขึ้น ในลักษณะอาการอย่างไร

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นผู้ที่ตรง แล้วก็พิจารณาใคร่ครวญเหตุผลในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่เมื่อเข้าใจแล้ว จะเห็นได้ว่าต้องเป็นผู้ที่อดทนจริงๆ และไม่ใช่ว่าจะอดทนเพียงในชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ควรที่จะได้พิจารณาถึงการอบรมเจริญปัญญาของท่านที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว ในเมื่อได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาค เพื่อเปรียบเทียบกับการอบรมเจริญปัญญาของท่านในขณะนี้ว่า ใกล้เคียงกัน หรือว่ายังห่างกันมากเพียงไรในเรื่องของความอดทน ซึ่งก็จะขอกล่าวถึงข้อความในขุททกนิกาย สุกกาเถรีคาถา ข้อ ๔๓๕ มีข้อความว่า

    พวกมนุษย์ในกรุงราชคฤห์เหล่านี้ ทำอะไรกัน

    นี่คือผู้มีปัญญา และมองเห็นบรรดาผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้นท่านก็กล่าวว่า

    พวกมนุษย์ในกรุงราชคฤห์เหล่านี้ทำอะไรกัน มัวดื่มน้ำผึ้ง ดีดนิ้วมืออยู่ ไม่เข้าไปหาพระสุกกาเถรี ผู้แสดงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ากันเลย เหมือนชนเหล่าผู้มีปัญญา ย่อมดื่มธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ซึ่งเป็นธรรมไม่นำกลับหลัง เป็นธรรมเครื่องทำบุคคลผู้ฟังให้ชุ่มชื่น มีโอชะเหมือนคนเดินทางไกล ดื่มน้ำฝน ฉะนั้น

    พระสุกกาเถรีมีธรรมอันบริสุทธิ์ ปราศจากราคะ มีจิตตั้งมั่น ชนะมาร พร้อมทั้งพาหนะ ทรงไว้ซึ่งร่างกายอันมีในที่สุด

    จบสุกกาเถรีคาถา

    พระเถรีท่านหนึ่งในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ซึ่งข้อความในอรรถกถาสุกกาเถรีคาถามีว่า

    แม้พระเถรีชื่อสุกกาองค์นี้ ก็ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ

    ยังไม่ได้บอกเลยว่า สมัยไหน กี่กัปป์ กี่องค์

    สั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ

    ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาว่า ท่านกำลังฟังธรรมเพื่อที่จะได้พิจารณาหาหนทางที่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ก็เป็นการสั่งสมกุศลอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนี้ ซึ่งท่านที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว ท่านก็ได้กระทำอย่างนั้นในภพก่อนๆ ของท่าน

    ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่า วิปัสสี ท่านเกิดในเรือนตระกูลในพระนครพันธุมวดี รู้ความแล้วไปวิหารกับอุบาสิกาทั้งหลาย ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา ได้ศรัทธาบวช แล้วได้เป็นพหุสูต ทรงธรรม มีปฏิภาณ เธอประพฤติพรหมจรรย์ในที่นั่นหลายพันปี ตายอย่างปุถุชนนั่นเอง บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

    ก่อนที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม มีศรัทธาบวช แล้วเป็นพหุสูต ทรงธรรม มีปฏิภาณ ประพฤติพรหมจรรย์ในที่นั่นหลายพันปี ตายอย่างปุถุชนนั่นเอง บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต

    ถ้าจะเทียบกับการเจริญสติปัฏฐานของคนในสมัยนี้ที่อยากได้ผลเร็วๆ ในชาตินี้ ก็ลองคิดถึงพระสุกกาเถรี และบรรดาพระอริยสาวกทั้งหลายที่ท่านต้องอบรมเจริญปัญญามากทีเดียว

    เธอรักษาศีลในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ พระองค์อย่างนี้ คือ กาลแห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่า วิปัสสี แม้แห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่า สิขี แม้แห่งพระผู้มีพระภาคพระนามว่า เวสภู ก็เหมือนกัน ได้เป็นพหุสูต ทรงธรรม เธอบวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า กกุสันธะ โกนาคมนะ และกัสสปะ คือ ในภัทรกัปป์นี้ ได้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เป็นธรรมกถึกเหมือนกัน เธอสั่งสมบุญเป็นอันมากในภพนั้นๆ ด้วยประการฉะนี้ ท่องเที่ยวอยู่ในสุคติภูมิทั้งหลายเท่านั้น

    ในพุทธุปาทกาลนี้เกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล กรุงราชคฤห์ ได้นามว่า สุกกา เธอรู้ความแล้ว ได้ศรัทธาเป็นอุบาสิกาในคราวพระศาสดาเสด็จเข้าพระราชนิเวศน์ ต่อมาได้ฟังธรรมในสำนักของท่านพระธัมมทินนาเถรี เกิดความสังเวช บวชในสำนักของท่านพระธัมมทินนาเถรีนั้นเอง เจริญวิปัสสนา ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

    ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ฟังอยากจะเป็นชาตินี้ใช่ไหม ชาติที่ได้บรรลุพระอรหันต์ในเวลาไม่นาน แต่ก็ต้องตามความเป็นจริงคือต้องอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ มิเช่นนั้นแล้วไม่มีทางเลยที่จะได้บรรลุ เพราะฉะนั้นก็ลองคิดดูว่าจะรอไหวไหม ถ้าไม่ไหวก็ไม่ได้บรรลุ ไม่ใช่ว่ารอไม่ไหวแล้วจะได้บรรลุ แต่ว่าไหวหรือไม่ไหวก็ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวไว้ในอปทานว่า

    ในกัปป์ที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปป์นี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลกพระนามว่า วิปัสสี มีพระเนตรงาม ทรงเห็นแจ้งซึ่งธรรมทั้งปวง เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ครั้งนั้น ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลหนึ่งในพระนครพันธุมดีได้ฟังธรรมของพระมุนี แล้วออกบวชเป็นภิกษุณีเป็นพหุสูต ทรงธรรม มีปฏิภาณ กล่าวธรรมกถาไพเราะ ปฏิบัติตามพระพุทธศาสนา

    ครั้งนั้น ข้าพเจ้าแสดงธรรมกถาเพื่อประโยชน์แก่ชุมชนทุกเมื่อ ข้าพเจ้าเคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้วเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นเทพธิดามียศ

    ในกัปป์ที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปป์นี้ พระพิชิตมารพระนามว่า สิขี มีพระรัศมีดังไฟ งามสง่าอยู่ในโลกด้วยยศ ประเสริฐกว่าเหล่าบัณฑิต เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว แม้ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าบวชแล้ว เป็นผู้ฉลาดในพระพุทธศาสนา ยังพระพุทธพจน์ให้กระจ่างแล้วเคลื่อนจากอัตภาพแม้นั้นไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทิพย์

    ในกัปป์ที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปป์นี้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลก พระนามว่า เวสสภู ผู้มีธรรมดังว่ายานใหญ่ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว แม้ในครั้งนั้นข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนอย่างก่อนนั้นแล บวชแล้วเป็นผู้ทรงธรรม ยังพระพุทธศาสนาให้กระจ่างแล้ว ไปสู่สวรรค์อันน่ารื่นรมย์ ได้เสวยความสุขมาก

    ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพหุสูต ทรงธรรม กล่าวธรรมกถาไพเราะ ปฏิบัติตามพระพุทธศาสนา แสดงธรรมกถาเพื่อประโยชน์แก่ชุมชนทุกเมื่อ ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อเหตุยังไม่สมควรแก่ผล

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ในภัทรกัปป์นี้ พระพิชิตมารผู้อุดมพระนามว่า กกุสันธะ ผู้เป็นสรณะของนรชนเสด็จอุบัติขึ้นแล้ว แม้ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนอย่างก่อนนั้นแล บวชแล้ว ยังพระพุทธศาสนาให้กระจ่างจนตลอดชีวิต เคลื่อนจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้ไปสู่สวรรค์ชั้นไตรทศ เหมือนอย่างเป็นที่อยู่ของตน

    ในภัทรกัปป์นี้แล พระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลก พระนามว่า โกนาคมน์ผู้ประเสริฐกว่าพวกบัณฑิต สูงสุดกว่าสรรพสัตว์เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว แม้ในครั้งนั้น ข้าพเจ้าบวชในศาสนาของพระองค์ผู้คงที่ เป็นพหูสูต ทรงธรรม ยังพระพุทธศาสนาให้กระจ่าง ในภัทรกัปป์นี้เป็นพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง ก็ยังเป็นเหมือนที่เคยเป็น

    ข้อความต่อไปมีว่าในภัทรกัปป์นี้เหมือนกัน พระมุนีผู้สูงสุดพระนามว่ากัสสปะ ผู้ เป็นสรณะแห่งสัตว์โลก ไม่มีข้าศึก ถึงที่สุดแห่งมรณะ เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นปราชญ์ของนรชนแม้พระองค์นั้น ศึกษาพระสัทธรรมแล้วชำนาญในปริปุจฉา

    ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพเจ้ามีศีลงาม มีความละอาย ฉลาดในไตรสิกขา แสดงธรรมกถามากจนตลอดชีวิต ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น และด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ ข้าพเจ้าละร่างกายมนุษย์แล้วได้ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ยังไม่บรรลุ ในภพหลังครั้งนี้ ข้าพเจ้าเกิดในตระกูลเศรษฐีที่มั่งคั่งสั่งสมรัตนะไว้มาก ในกรุงราชคฤห์อันอุดม เมื่อพระผู้เป็นนายกของโลกอันภิกษุขีณาสพพันหนึ่งเป็นบริวาร สรรเสริญแล้วเสด็จเข้ากรุงราชคฤห์

    พระผู้มีพระภาคทรงฝึกอินทรีย์แล้ว พ้นขาดจากสรรพกิเลส มีพระฉวีเปล่งปลั่งดังแท่งทองสิงคี พร้อมด้วยพระขีณาสพซึ่งเคยเป็นชฏิล ผู้ฝึกอินทรีย์แล้ว พ้นขาดจากสรรพกิเลสเสด็จเข้ากรุงราชคฤห์

    ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธานุภาพนั้น และได้ฟังพระธรรมเป็นที่สั่งสมคุณแล้ว ยังจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า บูชาพระองค์ผู้มีพลธรรมมาก

    กาลต่อมา ข้าพเจ้าออกจากเรือนบวชเป็นภิกษุณีในสำนักของท่านพระธรรมทินนาเถรี ข้าพเจ้าเผากิเลสทั้งหลายในเมื่อกำลังปลงผมอยู่ บวชแล้วไม่นาน ศึกษาศาสนธรรมได้ทั่ว แต่นั้นได้แสดงธรรมในสมาคมมหาชน เมื่อข้าพเจ้าแสดงธรรมอยู่ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่ประชุมชนหลายพัน

    ธรรมาภิสมัย คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    มียักษ์ตนหนึ่งได้ทราบธรรมนั้นแล้วเกิดอัศจรรย์ใจ เลื่อมใสข้าพเจ้า ไปยังกรุงราชคฤห์ พวกมนุษย์ในกรุงราชคฤห์เหล่านี้ทำอะไรกัน มัวดื่มน้ำผึ้ง ดีดนิ้วมืออยู่ ไม่เข้าไปหาพระสุกกาเถรีผู้แสดงอมตบทกันเลย เหมือนชนเหล่าอื่นที่มีปัญญา ย่อมดื่มอมตบทนั้น ซึ่งเป็นธรรมไม่นำกลับหลัง เป็นธรรมทำผู้ฟังให้ชุ่มชื่น มีโอชะ เหมือนคนเดินทางไกลดื่มน้ำฝนฉะนั้น

    ข้าแต่พระมหามุนี ข้าพระองค์เป็นผู้มีความชำนาญในฤทธิ์ มีความชำนาญในทิพโสตธาตุ มีความชำนาญในเจโตปริยญาณ รู้ปุพเพนิวาสญาณและทิพจักษุอันหมดจดวิเศษ มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นไปแล้ว บัดนี้ภพใหม่มิได้มี

    ข้าแต่พระมหาวีร ข้าพเจ้ามีญาณในอรรถ ธรรม นิรุตติและปฏิภาณ เกิดขึ้นแล้วในสำนักของพระองค์ ข้าพเจ้าเผากิเลสแล้ว ถอนภพชาติทั้งหลายได้หมดแล้ว ตัดเครื่องผูกพันเหมือนช้างพังตัดเชือก เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ การมาเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐของข้าพเจ้าเป็นการมาดีแล้วหนอ ข้าพเจ้าบรรลุวิชชา ๓ แล้ว ได้ปฏิบัติคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ ข้าพเจ้าทำให้แจ้งแล้ว ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

    ครั้นบรรลุพระอรหันต์ ได้เป็นมหาธรรมกถึก มีภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ องค์เป็นบริวาร วันหนึ่งพระเถรีนั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ฉันเสร็จแล้ว เข้าไปยังสำนักภิกษุณี แสดงธรรมแก่บริษัทใหญ่ที่นั่งประชุมกันอยู่ เหมือนคั้นรวงผึ้งให้คนดื่มรสน้ำผึ้ง เหมือนรดด้วยน้ำอมฤต บริษัทเงี่ยโสตฟังธรรมกถาของพระเถรีนั้น มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ฟังอยู่โดยเคารพ ขณะนั้นเทวดาผู้สิงอยู่บนต้นไม้ท้ายที่จงกรมของพระเถรีเลื่อมใสในคำเทศนา จึงเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ เที่ยวประกาศคุณของพระเถรีนั้น จากถนนนี้ไปตามถนนนั้น จากสี่แยกนี้ไปสี่แยกนั้น ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาเหล่านี้ว่า

    พวกมนุษย์ในกรุงราชคฤห์เหล่านี้ทำอะไรกัน มัวดื่มน้ำผึ้ง ดีดนิ้วมืออยู่ ไม่เข้าไปหาสุกกาเถรีผู้แสดงธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ากันเลย เหมือนชนเหล่าอื่นผู้มีปัญญาย่อมดื่มคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ซึ่งเป็นธรรมไม่นำกลับหลัง เป็นธรรมทำผู้ฟังให้ชุ่มชื่น มีโอชะ เหมือนคนเดินทางไกลดื่มน้ำฝนฉะนั้น

    ถ้าขณะที่กำลังฟังพระธรรมแล้วชุ่มชื่น เหมือนคนเดินทางไกลดื่มน้ำฝนไหม สำหรับความรู้สึกของท่านผู้ฟัง

    มีท่านผู้ฟังเขียนข้อความถามมา

    กราบขอความกรุณา ขอทราบวิธีการดับทุกข์ที่เกิดจากโลภะ โทสะ โมหะอย่างง่าย ต้องใช้เวลาบรรยายจริงๆ เท่าไร และขอทราบบ้างในวันนี้ กราบขอบพระคุณ เคารพอย่างสูง

    ซึ่งถ้าฟังพระธรรม จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่มีความเข้าใจพระธรรมขึ้น ขณะนั้นก็คลายโมหะ คือ ความไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นถ้าฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานจนเข้าใจ และเห็นประโยชน์ และมีปัจจัยที่จะให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละเล็กทีละน้อย ก็ย่อมจะเป็นวิธีการดับทุกข์ที่เกิดจากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะเหตุว่าทุกข์ใดที่ปัญญาดับเป็นสมุจเฉท ทุกข์นั้นก็จะไม่เกิดอีกเลย แต่ถ้าไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะดับเป็นสมุจเฉท ดับได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แล้วทุกข์นั้นๆ ก็ต้องเกิดอีก

    เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่มุ่งหวังเพียงจะดับทุกข์ชั่วคราว แล้วทุกข์ก็จะต้องเกิดอีกๆ แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังพระธรรม จนกระทั่งเพิ่มความเข้าใจขึ้นในข้อปฏิบัติที่จะทำให้ดับกิเลสได้ แล้วก็ค่อยๆ อบรมเจริญไปเรื่อยๆ

    ท่านพระสุกกาเถรี ท่านอดทนมากแค่ไหน เป็นพหุสูต ทรงธรรม กล่าวธรรมกถาไพเราะ แล้วก็ได้ทำประโยชน์มาก แต่ว่าก็จะต้องเป็นปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง มิฉะนั้นก็ไม่ใช่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ยังคิดหาวิธีอื่นไหม ที่จะเร็วขึ้น หรือว่ารู้ว่าไม่มีหนทางอื่นเลย นอกจากจะพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เท่านั้น

    อดิศักดิ์ ทีนี้ท่านพระเถรีสุกกาท่านบำเพ็ญธรรมมาอย่างมากมาย ผมว่าท่านคงไม่มาเกิดแบบพวกเรา มาฟังธรรมกันอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก่อนนั้นท่านก็ต้องเกิดอย่างนี้

    อดิศักดิ์ แล้วเราจะมีความหวังไหมว่า เราก็เคยบำเพ็ญอย่างท่านมา

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังอบรมเจริญอยู่

    อดิศักดิ์ ก็ยังคงมีความหวังว่า ในอดีตชาติเราคงได้ทำมาอย่างนี้บ้าง ก็เป็นความหวังที่ทำให้เราดื่มน้ำฝน เหมือนคนเดินทางไกล

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ก็ผ่านไปหมด และสิ่งที่กำลับเกิดดับในขณะนี้ก็กำลังผ่านไป แล้วก็สะสมสืบต่อไปเรื่อยๆ โดยอย่าหวัง ดีที่สุด เมื่อเหตุสมควรเมื่อไร ผลก็ย่อมเกิดเมื่อนั้น แต่ให้เห็นความยากแสนยากจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ได้ แต่ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ด้วยการเป็นผู้ที่อดทนอบรมเจริญปัญญา

    ข้อความในอรรถสาลินี นิกเขปกัณฑ์ พระบาลีนิทเทสปฏิสังขารพลทุกะ คือ กำลังคือการพิจารณา ในขณะที่พิจารณากายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมก็ดีทีละเล็กทีละน้อยๆ อย่าคิดว่าไร้ผลหรือว่าจะไม่เป็นกำลัง ข้อ ๑๓๖๑ มีว่า

    กำลังคือภาวนา เป็นไฉน

    ไม่ใช่ท่องเลย

    คือ อาเสวนะ การเสพ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    26 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ