โสภณธรรม ครั้งที่ 077


    ตอนที่ ๗

    “ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดแลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ตถาคตไม่พึงพยากรณ์ข้อนั้นเลย และบุคคลนั้นพึงทำกาละไปโดยแท้

    ดูกรมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้น พึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่าเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร ... มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ ... สูงต่ำหรือปานกลาง ... ดำขาวหรือผิวสองสี ... อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้น เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้นว่า เป็นชนิดมีแล่งหรือเกาทัณฑ์ ... สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอผิวไม้ไผ่ เอ็น ป่านหรือเยื่อไม้ ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก หางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้น เขาเสียบด้วยขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว นกยูงหรือนกชื่อว่า สิถิลหนุ (คางหย่อน) ... เกาทัณฑ์นั้นเขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่างหรือลิง ... ลูกธนูที่ยิงเรานั้น เป็นชนิดอะไร ดังนี้ เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น

    ดูกรมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้บุรุษนั้นพึงทำกาละไป ฉันใด

    ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ นั้น แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้ บุคคลนั้นพึงทำกาละไป ฉันนั้น

    เพราะฉะนั้นท่านพระมาลุงกยบุตรจะเป็นอย่างไร ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ เพราะว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้บุคคลนั้นพึงทำกาละไปฉันนั้น

    ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงความคิดเห็นว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ ควรศึกษา ควรพิจารณา แทนที่จะไปคิดถึงสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าแต่ละชีวิตก็สั้นมาก ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วก็คิดว่า ต้องรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ก่อน ถ้าไม่รู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เรื่องโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง ก็จะไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาของพระผู้มีพระภาค คือ จะไม่อบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อละคลายกิเลสเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ ผู้นั้นก็ย่อมจะถึงกาละ คือ ตายไปเสียก่อน

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตร ยินดีชื่นชม พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

    สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็เป็นผู้อ่อนโยนสามารถที่จะสอนง่าย ก็สามารถที่จะรับฟังพระธรรมโดยที่เห็นประโยชน์ว่า สิ่งใดที่ควรจะเจริญ และสิ่งใดไม่เป็นสาระ

    นิภัทร คำว่า ท่านพระมาลุงกยบุตร ชื่นชม ยินดี พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แสดงว่าท่านเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง แล้วท่านก็ไม่คิดที่จะไปทวงสัญญากับพระพุทธองค์อีก

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าท่านเป็นบุคคลที่ควรแนะนำได้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสข้อความที่จะทำให้ท่านเกิดความรู้สึกว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์

    นิภัทร คำว่า ชื่นชมยินดีในพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ถึงขนาดที่เข้าใจธรรม หรือบรรลุอะไรหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้กล่าวถึงเลย ข้อความในอรรถกถาก็ไม่ได้อธิบายอะไร เพียงแต่ว่า

    พระผู้มีพระภาคจึงจบพระธรรมเทศนาแม้นี้ด้วยสามารถบุคคลที่ควรแนะนำได้ แต่ไม่ได้กล่าวว่า ท่านได้บรรลุมรรคผลหรืออะไร

    ถาม อนัตตสัญญากับอัตตสัญญา พึงรู้ด้วยการเจริญปัญญา หรือพึงรู้ด้วยการคิดนึกเอา

    ท่านอาจารย์ พึงรู้ด้วยการเจริญปัญญา คิดนึกเอาไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง คิดนึกนี่ หมายความว่าเราฟังมาว่าไม่ใช่ตัวตน เราก็คิดว่าเป็นอัตตสัญญาบ้าง เป็นอนัตตสัญญาบ้าง

    ท่านอาจารย์ เวลาเห็นนี่เป็นเราใช่ไหม

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่อนัตตสัญญา

    ทุกท่านอยากจะประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ที่เป็นอุทยัพพยญาณแน่นอน เพราะเหตุว่าเป็นสัจธรรม

    มีใครบ้างไหมที่ได้ฟังพระธรรม ได้รู้เรื่องของปรมัตถธรรม สังขารธรรม แล้วไม่อยากจะรู้ ไม่อยากจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป หรือว่าฟังมาว่าเกิดดับ แต่ยังไม่กล้าจะประจักษ์ หรือว่ายังกลัวอยู่ว่า ถ้าจะประจักษ์แล้วจะเป็นอย่างไร นั่นคือลักษณะของความไม่รู้ ตรงกันข้ามกับความรู้ เพราะเหตุว่าปัญญานี่เป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี ไม่เป็นธรรมที่จะทำให้เกิดอกุศลหรือว่าโทษภัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าเป็นอกุศล นี่ตรงกันข้าม

    เพราะฉะนั้นในขณะที่ประจักษ์อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรม ข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๑๘๒ มีข้อความว่า

    ธรรมมีความปราโมทย์เป็นเบื้องต้น ๙ ประการ

    ความยินดีในโลก คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งทุกคนไม่สงสัยเลย เวลาที่ได้รูปดีๆ เสียงดีๆ รสดีๆ กลิ่นดีๆ มีความปีติ มีความดีใจ มีความชอบใจ มีความพอใจอย่างมาก อันนั้นไม่น่าสงสัย แต่ปีติหรือปราโมทย์ซึ่งเกิดเพราะการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจะมากกว่าการที่ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเพียงเล็กน้อย ก็ชื่นชมดีใจเสียมากมาย ทั้งๆ ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นก็ไม่ยั่งยืน ไม่มีใครเลยที่ได้รูปใดแล้ว รูปนั้นไม่เปลี่ยน เสียงใดแล้วเสียงนั้นไม่เปลี่ยน รสใดแล้วรสนั้นไม่เปลี่ยน โผฏฐัพพะใดโผฏฐัพพะไม่เปลี่ยน หรือว่ากลิ่นใดแล้วกลิ่นนั้นจะไม่เปลี่ยน จะไม่หมดไป

    เพราะฉะนั้นความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะซึ่งเป็นอกุศล จะเทียบกับความปราโมทย์ซึ่งเกิดจากการประจักษ์ลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งเกิดดับไม่ได้

    ข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ข้อ ๑๘๒ มีว่า

    ธรรมมีความปราโมทย์เป็นเบื้องต้น ๙ ประการ

    ขณะที่เห็นความไม่เที่ยง ปราโมทย์ย่อมเกิด ตรงกันข้ามกับขณะที่ปราศจากปัญญาก็กลัว ไม่กล้าที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้

    ข้อความมีว่า

    เมื่อมนสิการโดยความไม่เที่ยง ย่อมเกิดปราโมทย์

    เพียงแค่นี้ ลองคิดดูว่า จะเป็นไปได้ไหมในชีวิตประจำวัน ก่อนที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของไตรลักษณ์ซึ่งเป็นอุทยัพพยญาณจริงๆ เอาเพียงแค่ในชีวิตประจำวัน เพียงแค่เมื่อมนสิการถึงความไม่เที่ยง ย่อมเกิดปราโมทย์

    เคยดีใจบ้างไหม ถ้าอะไรซึ่งเป็นของที่รักแล้วแตกไป เสียหายไป หรือว่าเสียใจ ไม่อยากจะให้สิ่งนั้นแตกเสียหายไป

    นี่เป็นลักษณะที่ต่างกันของอกุศลและกุศลของอวิชชาและปัญญา ถ้าเป็นอกุศล สิ่งที่ชอบมากๆ แตกหักเสียไป เสียดายเหลือเกิน แต่พอปัญญาเกิดในขณะที่ชอบมากๆ แตกไป ก็ดีใจ เห็นความไม่เที่ยง เป็นไปได้ไหมในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่อบรม ลองคิดดู แต่สามารถจะเป็นไปได้อย่างนั้นจริงๆ จากความที่เคยเสียดาย กลับเปลี่ยนเป็นดีใจที่ได้ประจักษ์ความไม่เที่ยง แม้ยังไม่ใช่อุทยัพพยญาณ เพียงแค่สิ่งนั้นที่เคยมีก็ไม่มี ปราศไป หรือว่าแตกหักไป เสียไป ขณะนั้นถ้าเป็นปัญญาแล้วก็ปราโมทย์ได้เมื่อมนสิการความไม่เที่ยง

    ก่อนที่จะถึงอุทยัพพยญาณ อบรมไปก่อน เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าแต่ละขณะจะเป็นการหยั่งลึกลงไป เพื่อที่จะดับอกุศลซึ่งฝังรากลึกมากทีเดียว

    เมื่อมนสิการโดยความไม่เที่ยง ย่อมเกิดความปราโมทย์ เมื่อถึงความปราโมทย์ ย่อมเกิดปีติ

    นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ปราโมทย์เป็นอย่างอ่อน และปีติก็มีกำลังกว่าปราโมทย์

    เมื่อใจมีปีติ กายย่อมสงบ

    กายก็รวมทั้งเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต ก็เป็นสภาพที่สงบ ขณะที่พิจารณาเรื่องความไม่เที่ยงแล้วสงบ ถึงจะเกิดความปราโมทย์และปีติได้

    ผู้มีกายสงบย่อมได้เสวยสุข ผู้มีความสุข จิตย่อมตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่น ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น

    ถ้าจะพิจารณาโดยสภาพที่เป็นทุกข์ หรือโดยสภาพที่เป็นอนัตตา ก็โดยนัยเดียวกัน คือ สำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็มนสิการลักษณะของรูป ของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร ของวิญญาณ ของชรา ของมรณะ โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วเกิดปราโมทย์

    นี่คือธรรมมีความปราโมทย์เป็นเบื้องต้น ถ้ายังไม่ปราโมทย์จะถึงการประจักษ์แจ้งอุทยัพพยญาณได้ไหมคะ ถ้าสิ่งใดไม่เที่ยง แล้วก็เสียใจเสียดาย แต่ผู้ใดเริ่มมนสิการความไม่เที่ยงแล้วเกิดปราโมทย์ ซึ่งแต่ก่อนอาจจะไม่มีเลย แต่ย่อมจะมีได้เรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมต้องมีทั้งกุศลและอกุศลในวันหนึ่ง จะให้มีแต่ปราโมทย์เสียเรื่อยก็เป็นไปไม่ได้

    ถาม กระผมก็ได้มนสิการที่ท่านอาจารย์ว่าแล้ว ซึ่งเกิดกับผมมาด้วยเหมือนกัน อย่างของผมหาย ผมไปเช่าบ้านอยู่ ขโมยก็มาลักเอาพัดลมไป ตอนนั้นผมก็เสียดาย แต่มาคิดด้วยปัญญาอย่างท่านว่า ก็รู้สึกว่าเอาไปเสียก็ดี จะได้ซื้อใหม่ หรือเมื่อเราเคยขโมยเขามา เขาก็เอาไป ทีนี้ถ้าหากเราเสียไป แล้วเรามนสิการได้ปัญญาแล้ว จะได้เกิดปีติหรือปราโมทย์ หลักการอันนี้ผมก็จะนำไปเล่าให้ทหารฟังบ้างว่า ถ้าหากเธอโดนสะเก็ดระเบิดแขนขาดแล้ว ให้พิจารณาด้วยปัญญา หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งขาดไปแล้ว ก็ให้พิจารณาด้วยปัญญา แล้วจงทำความปราโมทย์เกิดขึ้นในจิต อย่างนี้คงจะไม่ผิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ขั้นของผู้ที่รับฟัง ถ้าผู้รับฟังไม่สามารถที่จะปราโมทย์ได้ ก็คงจะไม่มีอัตตาไปทำให้เขาปราโมทย์ เพราะเหตุว่าแม้แต่ความปราโมทย์ก็เป็นอนัตตาด้วย และการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่ละเอียดขึ้น จะทำให้เข้าใจกัมมัสสกตญาณ คือ เข้าใจเรื่องของกรรมชัดเจนขึ้น ถ้าของไม่หาย จะรู้จักกรรมของตัวเองไหมว่า แท้ที่จริงแล้ว ถ้าไม่มีกรรมที่จะให้ต้องสูญเสีย การสูญเสียก็มีไม่ได้ ไม่ว่าจะมีใครทำร้าย ไม่ควรที่จะต้องโกรธเคืองบุคคลนั้นด้วย เพราะเหตุว่าถ้ากรรมของตนเองไม่มี การปวดเจ็บร่างกายนั้นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นถึงบุคคลอื่นจะทำหรือไม่ทำ เมื่อเวลาที่กรรมจะให้ผล ทำให้เกิดการปวดเจ็บขึ้น อุบัติเหตุต่างๆ บนท้องถนนก็ดี ในน้ำ บนบก ในอากาศ ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกขณะ แม้แต่โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นเพราะกรรมก็เกิดได้

    เพราะฉะนั้นทำไมจะต้องไปโกรธบุคคลอื่น ฉันใด เวลาที่ทรัพย์สินข้าวของสมบัติเสียหาย ถ้าคนอื่นไม่มาเอาไป น้ำท่วม ไฟไหม้ก็ได้ ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ย่อมรู้จักกรรมดีขึ้นว่า ขณะใดเป็นผลของกรรม แล้วถ้าจิตเศร้าหมองหวั่นไหว ขณะนั้นก็เป็นอกุศล แล้วถ้าเป็นทุจริต ก็เป็นอกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดผล คือ อกุศลวิบาก

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ พร้อมทั้งการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นเรา หรือว่าไม่ใช่จะบอกให้คนอื่นปราโมทย์ แต่ว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ คือ ถ้าขณะใดปัญญาไม่เกิด ขณะนั้นก็ปราโมทย์ไม่ได้ และขณะใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นก็ปราโมทย์เอง ไม่ต้องไปบังคับให้ปราโมทย์

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ เพื่อจะได้ตรวจสอบดูว่า เป็นผู้ที่มีความมั่นคงด้วยการเข้าใจธรรม และด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ด้วยการรู้เรื่องของกรรม ด้วยการรู้เรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมมากน้อยแค่ไหน และสำหรับบุคคลอื่นที่จะอนุเคราะห์ คือ อนุเคราะห์ให้เขาเกิดปัญญาเสียก่อน ถ้าไม่ให้เขาเกิดปัญญา จะไปให้เขาปราโมทย์ก็เป็นไปไม่ได้ แล้วปัญญาที่จะทำให้ถึงกับปราโมทย์ได้ เมื่อสูญเสียสิ่งหนึ่งสิ่งใด ย่อมเป็นผู้ที่มั่นคงพอสมควร และเป็นการทำให้รู้ว่า อดีตที่สะสมปัญญามากพอที่จะสามารถปราโมทย์ได้ และถ้าปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นที่สามารถที่จะประจักษ์การสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เหลือแต่เพียงลักษณะของรูปธรรมหรือนามธรรมเพียงลักษณะเดียว ชีวิตนี่ดำรงอยู่ได้เพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น ถ้ารู้อย่างนี้ในขณะนั้น แล้วก็ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปที่เป็นไตรลักษณ์ ขณะนั้นก็จะเกิดปราโมทย์ ไม่ใช่ว้าเหว่ หรือว่าไม่ใช่ตกใจกลัว

    ผู้ฟัง การมี ทำให้เกิดทุกข์ ถ้าหากเรามีมืออย่างนี้ มันก็ทุกข์ที่มือได้ เช่นจะเมื่อยมือ หรือคันมือ ถ้าหากว่าเกิดอุบัติเหตุ โดนกับระเบิด ขาหรือมือหลุดไป ทีนี้การจะบอกให้เขาพิจารณาง่ายๆ ว่า มันขาดไปเสียก็ดี จะได้ไม่มีทุกข์ที่มือ การไม่มีก็ไม่ทุกข์ เพราะมีถึงทุกข์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เขาพร้อมที่จะไม่มีหรือยัง หรือยินดีในความไม่มีตัวตนหรือเปล่า ต้องให้เขาเกิดปัญญา และปัญญาไม่ใช่จะเกิดวันเดียวเดี๋ยวเดียวที่ไปบอกเขา ถ้าเขาไม่เคยฟังพระธรรมเลยแล้วก็ไปบอกเขาว่าไม่มีมือเสียก็ดี ไม่มีใครเห็นด้วยแน่

    อยากให้ทุกท่านพิจารณาว่า เรื่องของการสูญเสีย ไม่มีใครประสงค์ที่จะให้เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าอวัยวะร่างกาย แต่ว่าเมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น ซึ่งการสูญเสียนั้นก็ต้องเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จิตควรที่จะเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    เรื่องของการสูญเสียทั้งๆ ที่ไม่มีใครอยากจะสูญเสียเลย แต่ก็ต้องเกิดเพราะเหตุว่าเป็นโลกธรรม จะไม่มีใครเลยซึ่งมีแต่ได้ โดยที่ไม่เสีย เพียงแต่ว่าจะมีการได้มากหรือว่าจะมีการสูญเสียมาก แต่ว่าขณะใดก็ตามที่มีการสูญเสียอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลาภ หรือยศ หรือสรรเสริญ หรือสุข ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ควรที่จะเป็นกุศลหรือว่าควรที่จะเป็นอกุศล

    ถ้าปัญญารู้เรื่องกรรมก็จะทำให้คลายความเศร้าโศกเสียใจลงได้ แต่ถ้าไม่รู้ว่า ทำไมหน้าตา มือ เท้า แขน ขา อวัยวะ ร่างกายต่างๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ก็จะไม่รู้ว่า เพราะอะไรจึงสูญเสีย

    เพราะฉะนั้นเรื่องของการที่จะเข้าใจกรรม ไม่ใช่เรื่องที่เพียงแต่คิดว่า การเกิดเป็นผลของกรรมเท่านั้น แต่ว่าชีวิตในแต่ละวัน ในแต่ละขณะ ถ้าพิจารณาจริงๆ แล้วก็สามารถที่ปัญญาจะเจริญ แล้วก็เข้าใจเพิ่มขึ้นชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็รู้ว่าขณะนั้นๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เช่นเดียวกับการที่จะมีร่างกายเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่จะมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ใครหลีกเลี่ยงได้คะ เพราะฉะนั้นเมื่อมีแล้ว ก็สูญไปได้เหมือนกัน หรือว่าเสียไปได้เหมือนกัน เพราะเหตุว่ากรรมทำให้มีขึ้นได้ฉันใด กรรมก็ทำให้สูญเสีย อาจเป็นตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้ หรือแม้แต่ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ถ้ารู้จริงๆ ว่า เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นเมื่อกุศลกรรมไม่ให้ผลอีกต่อไป และเป็นโอกาสของอกุศลกรรมเมื่อไร ก็เป็นเหตุให้เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสื่อมสรรเสริญ และเกิดความทุกข์ได้

    เพราะฉะนั้นน่าที่จะพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะได้พิสูจน์พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นอนัตตา ถ้าไม่ได้พิจารณาโดยละเอียด ทุกคนยังมีความยึดมั่นว่า เป็นตัวตน เป็นเรา เพราะฉะนั้นก็พยายามทุกอย่างด้วยความเป็นตัวตนซึ่งจะให้ได้สิ่งที่ต้องการ แล้วเวลาที่สูญเสียไป ด้วยความเป็นตัวตน ก็ทำให้ไม่รู้เหตุที่ทำให้สูญเสีย

    ปัญญาต้องเจริญอย่างมากทีเดียว จนกว่าเวลาที่ประสบกับความสูญเสียหรือความไม่เที่ยงเมื่อไร สามารถที่จะเกิดปีติ ดีใจ ที่ได้ประจักษ์ความสูญเสียซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ถ้าค่อยๆ พิจารณาไปทีละเล็กทีละน้อย และความเสียใจน้อยลง และมีปัญญาสามารถจะรู้ชัดขึ้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า การที่สามารถที่จะปีติโสมนัสเมื่อประจักษ์การไม่เที่ยงของสภาพธรรมนั้นได้ จะต้องมาจากการอบรมเจริญปัญญาจากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง ซึ่งขอให้พิจารณาในชีวิตประจำวันจริงๆ

    เริ่มจากความจริงที่ว่า อยากได้อะไรบ้าง ดูเหมือนว่าไม่มากสำหรับบางท่าน เพียงแต่ว่าดูเหมือน เพราะเหตุว่ายังไม่ละเอียด แต่ถ้าละเอียด ตั้งแต่ตื่นมาก็ต้องการที่จะให้เนื้อตัวสะอาด ต้องมีอุปกรณ์เครื่องที่จะทำให้สะอาด ต้องอยากได้สิ่งที่จะทำให้ร่างกายสะอาด และจะต้องเป็นสิ่งที่พอใจ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสบู่ ก็มีหลายชนิด และนอกจากเรื่องของร่างกาย เนื้อตัวสะอาด ยังเป็นเรื่องผม เรื่องเสื้อผ้าอาภรณ์ที่จะใส่ เรื่องเสียงที่จะได้ยิน เรื่องกลิ่นที่จะได้ เรื่องรสอาหารที่จะได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิต แต่ก็ยังไม่พอ เพราะเหตุว่ายังต้องการสิ่งอื่นเพื่อความเพลิดเพลินอีก

    เพราะฉะนั้นถ้าจะพิจารณาจริงๆ ในชีวิต ในอดีตนานมาแล้ว จนกระทั่งถึงปัจจุบัน และต่อไปข้างหน้า ก็จะเห็นได้ว่า ความจริงคืออย่างนี้ โดยที่ทุกวันอยากได้ แต่ว่าไม่ใช่อยากเสีย

    มีใครอยากเสียอะไรบ้างไหมในวันหนึ่งๆ ลองคิดดูค่ะ อยากเสียโลภะไปบ้างไหมคะ โลภะมีมากเหลือเกิน และก็ลองพิจารณาว่า อยากจะให้โลภะหมดไปบ้างไหม

    นี่คือการที่ปัญญาเกิดในชีวิตประจำวัน แม้เพียงขั้นคิด ขั้นพิจารณา เพื่อจะเป็นหนทางที่จะทำให้อกุศลทั้งหลายที่สะสมมามาก ละคลาย ลดน้อยลงไปได้บ้าง แม้เพียงขั้นคิดว่า อยากจะให้โลภะที่มีอยู่มากจางไป ลดน้อยไป ละคลายไปบ้างไหม หรือว่าอยากจะเก็บไว้อีกมากๆ เหมือนทุกๆ วัน ซึ่งไม่เคยคิด เพราะบางคนอาจจะไม่คิดเลยเรื่องที่อยากให้โลภะค่อยๆ ละคลายไป เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มจะคิดในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการสะสม เป็นปัจจัย เพื่อที่จะให้ถึงการอบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งสภาพธรรมได้ ก็จะต้องอาศัยการพิจารณา การเจริญกุศลเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แม้เพียงความคิดเล็กๆ น้อยๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ ซึ่งอาจจะยังไม่เคยคิด แต่ก็เริ่มที่จะคิดได้

    หรือว่าท่านที่มีโทสะมากๆ ขณะที่กำลังมีโทสะ บางท่านอาจจะไม่ชอบ แต่บางกาละ บางขณะ คิดว่าต้องโกรธ พิสูจน์ได้โดยการที่ว่าลองบอกคนที่กำลังโกรธว่า ขณะนี้กำลังทำร้ายตัวเอง ความโกรธเป็นพิษเป็นโทษอย่างนั้นอย่างนี้ คนที่กำลังโกรธไม่หยุดโกรธ ก็ยังจะโกรธต่อไปอีก ทั้งๆ ที่ได้รับคำเตือนว่าอย่างนี้ โดยพระพุทธพจน์ที่ว่า ความโกรธเป็นโทษ เป็นภัย เป็นอกุศล กำลังเป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวเอง ไม่ใช่คนอื่นทำร้ายเลย

    มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น สำหรับผู้ที่กำลังโกรธ โดยเหตุที่เขาคิดว่าสมควรที่จะโกรธ เวลาที่กล่าวว่า ความโกรธกำลังทำร้าย เขาก็หยุดโกรธไม่ได้ และในขณะนั้นก็ไม่ได้ฟังด้วย ก็ยังหาเหตุแสดงความสมควรที่จะต้องโกรธ เล่าเรื่องที่จะต้องโกรธให้ฟังต่อไป

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรม และรู้จักอกุศลว่าเป็นอกุศล แต่ปัญญาที่ยังไม่ถึงขั้นที่จะละคลายกิเลสยังไม่เกิด ก็ไม่สามารถที่จะละคลายหรือดับกิเลสได้

    นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และเข้าใจพระธรรมแล้ว ก็ยังต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยที่ว่าบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ก็จะพิจารณาเห็นสภาพความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมได้มากขึ้นว่า แม้ว่าเห็นว่ากิเลส อกุศลธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้

    เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ ในชีวิตตามความเป็นจริงซึ่งจะต้องอยู่กันต่อไปอีกทีละวันๆ ๆ เรื่อยไป


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    1 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ