โสภณธรรม ครั้งที่ 055


    ตอนที่ ๕

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า เวลาเห็นแล้ว ก็ยังคิดตามสิ่งที่เห็น

    ผู้ฟัง เราระลึกรู้ไม่ได้หรือว่า ขณะที่เห็นเป็นลักษณะรู้ชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ สติควรจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่างในระหว่างที่ยังมีชีวิต เพราะว่ามีแต่นามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ที่ชื่อว่ายังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ เพราะเหตุว่ามีนามธรรมและมีรูปธรรมเกิดดับ

    ผู้ฟัง ให้เราระลึกตามความเข้าใจของเราเดี๋ยวนั้นเลยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่มีตัวตน โดยขั้นการฟังทราบว่ามีนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ และมีรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นวันนี้ทั้งวัน ที่ไม่รู้ก็หมายความว่า ยังยึดถือสภาพธรรมทุกอย่างว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นเวลาที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ เพื่อที่จะศึกษา คือ น้อมพิจารณาจนกว่าจะรู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แล้วก็ลองคิดดูว่า จะรู้เร็วนี่ ย่อมรู้ไม่ได้ เพราะเหตุว่าหลงลืมสติมากกว่ามีสติ และในช่วงที่หลงลืมสติทั้งหมดยังยึดถือว่าเป็นตัวตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการพิจารณาจึงต้องละเอียด

    ผู้ฟัง ที่จริงเราเห็นต้นไม้ ไม่คิดก็เห็น ไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังบอกว่า เห็นต้นไม้ ไม่คิดก็เห็นหรือ ที่บอกว่า “เห็นต้นไม้” คิดแล้วว่าเป็นต้นไม้ ไม่ใช่เห็นเฉยๆ ที่บอกว่า “เห็นต้นไม้” แสดงว่าเห็น แล้วก็คิดถึงต้นไม้

    ผู้ฟัง อย่างนี้เวลาเราพิจารณาก็ไม่รู้จะพิจารณาอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องแยกลักษณะของสภาพธรรมออกเป็นแต่ละทวาร นี่คือสิ่งที่แสนยาก ไม่ใช่ว่าง่าย แต่เป็นสิ่งที่อบรมเจริญได้ เพราะรู้ว่าสิ่งที่เห็นทางตาที่ปรากฏ มี แล้วก็จะต้องสอดคล้องกับพระธรรมส่วนอื่นที่ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลด้วย

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้ต้องไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ เลย เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งกระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏ และหลังจากนั้นทวารอื่น คือ มโนทวารรับรู้ต่อ แล้วก็คิดถึงรูปร่างสัณฐาน แล้วก็สามารถที่จำได้ว่า เป็นสัตว์ หรือเป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งจะต้องแยกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารออก จึงจะปรากฏว่าไม่มีตัวตนที่กำลังเห็นต้นไม้

    ผู้ฟัง เราไม่คิด ก็พิจารณาว่าเป็นลักษณะรู้ อย่างนี้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องมีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด ถ้าทางตาก็หมายความว่า สติเกิด แล้วก็พยายามที่จะรู้ตามที่ได้เข้าใจว่า เป็นแต่เพียงอาการรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นส่วนของสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สภาพรู้

    ผู้ฟัง สมมติว่าเขาแสดงรำ เราเห็นอย่างนั้น ก็เป็นลักษณะรู้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ลักษณะอาการที่เขาทำ เป็นลักษณะรู้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ อาการที่เขาทำเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ใช่ไหม เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วหลังจากนั้นก็คิดถึงว่า เขากำลังมีอาการยกมือยกเท้าซึ่งเป็นอาการรำ

    ผู้ฟัง นั่นคือลักษณะรู้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คิด คิดนี่ไม่ได้หมายความว่า ต้องเป็นคำพูดออกมาว่า เขากำลังรำ ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเข้าใจว่า คิดทีนี้ไม่ได้หมายความว่า คิดเป็นคำ

    ผู้ฟัง หนูคิดว่า จะต้องคิดว่า เขารำ

    ท่านอาจารย์ คิด ไม่จำเป็นต้องคิดเป็นคำ คิดถึงรูปร่างสัณฐาน เพราะเหตุว่าในขณะนั้นไม่ใช่เพียงเห็น อันนี้ก็คงจะติดที่คำว่า “คิด” นั่นเอง เพราะว่าบางท่านอาจจะเข้าใจว่า คิด หมายถึงคิดเป็นคำ เป็นเรื่อง แต่ความจริงถึงแม้ว่าจะไม่เป็นคำ แต่ว่าขณะใดที่ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นก็คิดรูปร่างสัณฐาน

    ถาม สมัยพุทธกาล พระสาวกก็ได้ฟังโดยตรงจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ก็มีบางรูปยังปรารภพระธรรมผิด ยังปรารภโพชฌงค์ผิด สมัยนี้เหตุการณ์ก็ล่วงเลยมาตั้ง ๒,๕๓๐ ปีแล้ว เราจะมีหลักอะไรหรือเปล่าว่า การที่เราปรารภสติปัฏฐาน เป็นการปรารภที่ถูกต้องหรือปรารภผิดสุ. ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ถูก ไม่คิดวิธีอื่นที่จะทำให้รู้เร็วขึ้น สติเกิดมากขึ้น ไม่แสวงหาอุบายอื่น เพราะเหตุว่าหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมทรงแสดงไว้ว่ามีทางเดียว คือ การเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะถ้าไม่เป็นปกติ ช่วงขณะที่กำลังทำนั้นทั้งหมดกับขณะที่เป็นผู้มีปกติ แต่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะที่ปกติไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะมุ่งจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ระหว่างที่มีปกติ แต่ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นตัวตน

    ผู้ฟัง และคำว่า “มีปกติเจริญสติ” หมายความแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ เป็นปกติอย่างนี้ ปกติจริงๆ ขณะนี้ เป็นนามธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามธรรมดา ตามปกติ ยังไม่ต้องไปทำอะไรเลยสักอย่างเดียว สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง อย่างนั้นจะเจริญสติเป็นปกติได้ นักศึกษาธรรมก็จะต้องรู้ว่า “สติ” หมายถึงอะไรด้วยอย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คือขณะที่สติเกิด ไม่ใช่ขณะที่เห็นธรรมดา เพียงเห็นเท่านั้น ขณะที่สติเกิด ไม่ใช่ได้ยินอย่างธรรมดาที่เพียงได้ยิน แต่ว่าสติต้องระลึกที่จะศึกษา พิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในสภาพที่เป็นสภาพรู้ว่า ต่างกันรูปธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ละทาง ตามปกติ

    ผู้ฟัง เรื่องสติที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่เข้าใจยากจริงๆ คือ โดยมากก็มักจะนึกว่า ที่ระลึก ที่ปรากฏ ก็มักจะทึกทักเข้าใจว่าเป็นสติปัฏฐาน อันนี้เป็นเรื่องที่ยาก และไม่ทราบว่า จะมีข้อแนะนำอย่างไรถึงจะช่วยให้คิดในทางที่ถูกต้อง ที่จะเป็นสติปัฏฐานขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ หนทางเดียว เมื่อระลึกแล้วยังไม่รู้ สติก็ระลึกอีกบ่อยๆ เนืองๆ ปรารภ เริ่ม บ่อยๆ เนืองๆ เริ่มแล้วก็เริ่มอีก จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น ไม่มีหนทางอื่น อย่าไปคิดว่าจะทำอย่างไร ถ้าจะทำอย่างไรก็คือเป็นตัวเรา ต้องการจะทำซึ่งทำไม่ได้ นอกจากระลึกทันทีเท่านั้น หนทางเดียวจริงๆ

    ผู้ฟัง ระลึกทันทีก็ยังระลึกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ก็ฟัง เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าจะปรุงแต่งให้การระลึกที่เป็นสัมมาสติ ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ระลึกแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นก็จะต้องระลึกอีก ดับอีก ระลึกอีก ดับอีก จนกว่าจะค่อยๆ ชิน ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมากขึ้น

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก่อนที่จะมีสติระลึกได้ ก็ต้องอาศัยการศึกษาการฟังให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ทำอย่างอื่น ข้อสำคัญที่สุดที่ทุกคนจะต้องระลึกถึงเสมอ คือ ให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ทำอย่างอื่น นอกจากระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่มีแบบวิธีที่จะต้องทำ

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นแบบเป็นวิธีประการหนึ่งประการใด ก็ต้องหมายความว่า ไม่ใช่เป็นผู้มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง คำถามเหล่านี้มีผู้ถามมาหลายๆ ครั้ง แล้วอาจารย์ก็เคยตอบหลายครั้งว่า ต้องฟังๆ เมื่อผู้ที่รับฟังไปแล้วก็อยากจะมีสติมากๆ เลยเปิดเทปอาจารย์ตั้งแต่เช้ายันเย็น ไปไหนพอว่างก็หยิบมาฟัง แล้วถ้าไม่มีงานทำด้วยก็ฟัง ทีนี้เมื่อฟังไปมากๆ ก็กลับมาถามอีกว่า ก็ฟังแล้วตามที่ได้สั่งได้สอนไป สติก็ยังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ลองพิจารณาดูว่า มีข้อที่ทำให้สติไม่เกิดอย่างไรบ้างหรือเปล่า มีจุดหรือมีอะไรที่เป็นข้อบกพร่อง ข้อเสียในขณะนั้นหรือเปล่า ที่ทำให้สติไม่เกิด เพราะเหตุว่าฟังเพราะอยากให้สติเกิด ความอยากปิดบังแล้ว เริ่มพยายามที่จะทำทุกทางไปอีก ทำไมจึงไม่เป็นผู้ที่ฟังเพื่อที่จะเข้าใจพระธรรม แล้วก็ทิ้งเรื่องอื่นให้เป็นหน้าที่ของสังขารขันธ์ ถ้าอย่างนั้นพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องของสังขารขันธ์เพื่ออะไรว่า ไม่มีตัวตน เวทนาขันธ์เป็นสภาพรู้สึก ไม่ใช่สภาพปรุงแต่ง สัญญาขันธ์เป็นสภาพจำ แต่สังขารขันธ์เป็นสภาพที่ปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นสติ ไม่ว่าจะเป็นปัญญา ไม่ว่าจะเป็นวิริยะ ไม่ว่าจะเป็นเจตสิกใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่เวทนาเจตสิกและสัญญาเจตสิกแล้วเป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นก็ไม่มีตัวตน แต่อย่าไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพราะต้องการ แต่รู้ว่าการเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่เป็นปัจจัยให้สัมมาสติเกิด โดยไม่หวังว่า ฟังสัก ๒๔ ชั่วโมงแล้วคอย พอคอยแล้วไม่เกิดก็ไม่ทราบว่า จุดเสียหรือจุดบกพร่องหรือข้อที่ทำให้สติไม่เกิดอยู่ที่ไหน ซึ่งความจริงเริ่มตั้งแต่ทำเพราะอยากหรือต้องการให้เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ผมเองไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่ว่าผมอยากจะเพิ่มเติมที่อาจารย์พูดเมื่อกี้นี้ว่า คือ อย่าไปหวังว่า พอฟังแล้ว สมมติว่าวันนี้ฟังแล้ว ๑๐ ชั่วโมง พรุ่งนี้ฟังอีก ๑๐ ชั่วโมง ฟังไปจนอาทิตย์หนึ่งแล้ว ก็ไปรอความหวังที่อาจารย์กล่าวถึงเมื่อกี้นี้แหละ ผมเองเคยนั่งฟังอาจารย์อยู่วันหนึ่งหลายครั้ง ทีละครึ่งชั่วโมง ประมาณสัก ๒ – ๓ ชั่วโมง แต่ว่าในขณะนั้นผมก็พิจารณาไปด้วย และการฟังนั้นก็เพิ่มความเข้าใจ ผมมีความรู้สึกว่า การฟังนั้นเกื้อกูลทำให้มีสติระลึกบ่อยขึ้น แต่ผมไม่ได้ฟังเพื่อต้องการสติมากๆ ทีนี้ผมก็พบสูตรๆ หนึ่งที่ว่า เหตุที่จะให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ๑. ปรโตโฆสะ ก็คือการฟังนั่นเอง ๒. โยนิโสมนสิการ เรามีครบถ้วนไหม เรามีพร้อมไหมในขณะที่ฟังเทปของอาจารย์ ถ้าเรามีการฟังที่ถูกต้อง และมีโยนิโสมนสิการที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่า สติจะเกิดได้มาก ผมเองไม่ได้ฟังกันอย่างที่เขาบอกว่าฟังแล้วสติไม่เกิด ผมฟังแล้วได้ประโยชน์ ก็เรียนไว้ในที่นี้

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติเกิด จะด้วยประการใดๆ ก็ตาม แล้วก็คิดว่าถ้าทำอย่างนั้นบ่อยๆ สติก็จะเกิดอีกบ่อยๆ ขณะนั้นขอให้คิดว่า เป็นการติดหรือเป็นการละ

    นี่เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาแม้ในขณะนั้น ถ้าเคยมีสติบ่อยๆ ตอนที่สวดมนต์ไหว้พระก็อาจจะอยากทำอย่างนั้นสักวันละหลายๆ ครั้ง เพื่อสติจะได้เกิด นั่นก็แสดงถึงความติด ไม่ใช่แสดงถึงการละ

    เพราะฉะนั้นกว่าจะละความต้องการออกไปได้จริงๆ จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่ต้องไม่ติด แม้จะรู้ว่าขณะนั้น การทำสิ่งใดแล้วสติมักจะเกิด ก็จะต้องรู้ว่าในขณะอื่นที่ไม่ทำสิ่งนั้น ปัญญาก็จะต้องสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วละการยึดถือว่าเป็นตัวตนด้วย ไม่ใช่ไปละเฉพาะตอนที่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วสติก็เกิด โดยที่ว่าขณะอื่นสติไม่เกิด ขณะอื่นที่สติไม่เกิดก็จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานอีกต่อไป เพื่อที่จะให้สติสามารถที่จะระลึกได้ แล้วปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดแม้ในขณะอื่นว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน

    นี่เป็นเรื่องของการรู้เพิ่มขึ้นจึงจะละได้ ถ้าความรู้ไม่เพิ่มขึ้น และก็มีความยินดีความต้องการเข้ามาแทรกแซงเมื่อไร ก็จะเป็นเครื่องกั้นทันที ปัญญาก็ไม่สามารถจะเจริญต่อไปได้ อย่างในขณะนี้ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมในขณะนี้ว่า เป็นตัวตน ต่อเมื่อใดสติเริ่มเกิดระลึกบ้าง ก็จะเป็นผู้มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่เลือก ไม่ว่าจะเป็นในขณะไหน อารมณ์อะไร ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ อย่าให้ความต้องการมาชักพาให้ไขว่เขวไป นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียว

    ผู้ฟัง การศึกษาธรรม เราจะมุ่งหวังเพื่อให้สติเกิด กระผมเข้าใจว่าเป็นการปรารภที่ผิด แต่ถ้าฟังเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ หรือที่อาจารย์ได้นำมาชี้แจงแนะนำ มีความเข้าใจถูกต้องตรงตามที่อาจารย์ต้องการให้เข้าใจหรือที่พระพุทธองค์ประสงค์ให้เข้าใจหรือเปล่า ผมว่าความเข้าใจสำคัญที่สุด ที่ทุกคนต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า เรามีความเข้าใจพระธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในเรื่องนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน อันนี้จะถูกต้องหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญและมีประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าถ้าถามท่านผู้ฟังซึ่งได้รับฟังพระธรรมมา ๒๐ ปีบ้าง หรือเกือบจะ ๓๐ ปี บางท่านอาจจะ ๑๐ กว่าปี บางท่านอาจจะ ๕ ปี ถามจริงๆ เถอะว่า ท่านอยากจะหมดกิเลสแล้วหรือยัง หรือว่ายังชอบกิเลสอยู่มากทีเดียว นี่เป็นแต่ละบุคคลตามความเป็นจริง ไม่ใช่ฝืนอัธยาศัย เพราะเหตุว่าบางท่านศึกษาพระธรรม แต่โลภะก็ยังคงมีมากตามการสะสมมาในสังสารวัฏฏ์ ยังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในเรื่องราวสนุกสนานต่างๆ จริงหรือไม่จริง หรือว่าเวลานี้ไม่มีใครต้องการ ทุกคนต้องตรงต่อตัวเองว่า การได้รับฟังพระธรรม แม้ว่าจะได้ฟังมามาก แล้วก็เห็นคุณประโยชน์จริงๆ แต่ทุกคนที่ปัญญายังไม่อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม โดยถึงขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นอย่างคมกล้า ก็จะยังเหมือนต้นไม้อ่อนๆ แล้วบางกาลซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเพลิดเพลินไปในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และความสนุกสนานต่างๆ

    หลังจากออกจากที่นี่แล้ว ทุกคนแน่นอนที่จะต้องไปสู่สิ่งที่ตนพอใจ ไม่ว่าท่านพอใจจะไปที่ไหน จะคบหาสมาคมกับมิตรสหายสนุกสนาน หรือว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม จะดูโทรทัศน์ หรือจะดูหนัง หรือจะทำอาหาร หรือจะปลูกต้นไม้อะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องของอัธยาศัยจริงๆ เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งในชีวิต คือ การเริ่มฟังพระธรรม แล้วก็เริ่มเข้าใจพระธรรม แล้วก็เริ่มอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ไม่ใช่การหักโหม หรือว่าไม่ใช่การฝืนอัธยาศัย หรือว่าไม่ใช่การที่ว่าสติไม่เกิดแล้วก็อยากจะมีสติ แต่ในขณะที่อยากมีสติ ก็กลัวไม่อยากจะรู้แจ้งนิพพาน บางคนเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ได้อบรมจริงๆ แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ ไม่ได้กลัวพระนิพพานเลย แต่ว่ายังไม่ถึงความที่ต้องการที่จะไม่มีกิเลสเสียเลย เพียงแต่ว่ากิเลสก็มีด้วย และก็เป็นผู้ที่สนใจศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจพระธรรม และสำหรับบางท่านที่สะสมมามาก ก็เป็นผู้ที่ใคร่ต่อไปอีกที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามเพิ่มขึ้น จะโดยวิธีหนึ่งวิธีใดก็แล้วแต่ อาจจะเป็นผู้ที่เสียสละเวลาในการฟัง ในการสนทนาธรรม ในการเผยแพร่พระธรรม แล้วแต่ความสามารถ แล้วแต่โอกาส แล้วแต่อัธยาศัย แต่ให้ทราบว่าสังสารวัฏฏ์ก็ยังต้องอยู่อีกยาวนานมากทีเดียว พร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติจริงๆ

    ค่อยๆ ก้าวไปด้วยความมั่นคง ด้วยความแน่ใจในหนทางที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ด้วยการที่คิดว่า อยากจะให้สติเกิดมากๆ นั่นเพียงอยาก ถ้ามีคนที่ถามว่า ทำอย่างไรสติจะเกิดมากๆ รู้ได้ทีเดียวว่า นั่นเพียงอยาก แต่ว่าอย่างอื่นล่ะ อยากจะหมดไหม โลภะอยากจะหมดไหม ความสนุกสนานรื่นเริงต่างๆ อยากจะหมดไหม เมื่อยังไม่อยากจะหมด ก็เป็นของธรรมดาที่สติย่อมจะเกิดน้อยกว่า ตามการสะสม แต่ก็ต้องอาศัยความพากเพียร การไม่ท้อถอย ความอดทน แล้วก็ฟังพระธรรม เพื่อประโยชน์ที่ว่า จะได้สะสมไป จนกว่าจะเป็นสัญญาที่มั่นคงในการที่จะรู้ว่า ปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย แต่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง แล้วก็เพิกอิริยาบถ ข้อสำคัญที่สุด เพราะเหตุว่าถ้ายังมีการควบคุมประชุมรวมกันอยู่ ก็หมายความว่า ปัญญายังไม่เจริญถึงขั้นที่จะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารจริงๆ

    ผู้ฟัง ที่กระผมกราบเรียนอาจารย์ว่า ความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด กระผมมาเทียบเคียงดูกับตัวเองที่ได้ฟังอาจารย์มาก็หลายปีแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ สติก็ไม่เกิด แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้เกิด แต่มาสังเกตตอนหลังๆ นี่ที่สติเกิดบ้าง ก็เพราะว่าความเข้าใจดีขึ้น ความเข้าใจเพิ่มขึ้น แม้แต่สวดมนต์ไหว้พระประจำวัน แต่ก่อนสติไม่เคยเกิดเลย และก็สวดมาหลายปีแล้ว แต่ตอนหลังพอมีความเข้าใจในสติปัฏฐานเพิ่มขึ้น รู้สึกว่าสติเกิดบ้างบางครั้งบางคราวในขณะที่สวดมนต์ หรือแม้เวลาที่ออกกำลังกาย ก็มีเกิดได้ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เกิด ผมก็มาย้อนคิดว่า เพราะเราได้ศึกษาเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ดีขึ้น ละเอียดขึ้น ถ้าหากไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจแล้ว ที่จะไปมุ่งหวังที่จะเร่งรัดให้สติเกิด ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของสัมมาสติว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย

    ถาม ถ้าพูดถึงสมถภาวนาเป็นกุศลไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นสมถภาวนาจริงๆ คือจะต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ จึงจะเป็นสมถภาวนา เพราะเหตุว่ากุศลสงบจริง แต่ว่ากุศลมี ๒ ประเภท ถ้าเป็นกามาวจระ คือ กุศลที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ บางขณะประกอบด้วยปัญญา บางขณะไม่ประกอบด้วยปัญญา เช่น ขณะที่ให้ทานส่วนใหญ่ จะพิจารณาได้ว่า ประกอบด้วยปัญญาไหม ขณะที่วิรัตทุจริต ขณะนั้นก็พิจารณาได้ว่า ประกอบด้วยปัญญาไหม เพราะเหตุว่าคนอื่นไม่สามารถจะรู้แทนได้ ต้องบุคคลนั้นเองเป็นผู้รู้ว่า ขณะที่จิตสงบ หรือเป็นกุศลแต่ละแต่ละประเภทนั้น มีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ทีนี้ผู้ปฏิบัติอาจจะไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่สมถภาวนา แต่ว่าถ้าเป็นกุศลขั้นภาวนาแล้ว จะต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว เจริญภาวนาไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา นี่เป็นข้อที่ต่างกัน

    เพราะฉะนั้นอย่าใช้คำว่า “สมถภาวนา” หรือ “สมาธิ” หรือ “สงบ” ง่ายๆ แต่จะต้องพิจารณาให้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ถ้าเป็นความสงบที่จะต้องสงบขึ้นๆ จนกระทั่งประกอบด้วยลักษณะของความสงบที่เป็นสมาธิขั้นต่างๆ แล้ว จะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ คือ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่อาจารย์ไม่แนะนำให้ทำสมถภาวนา ก็ด้วยเหตุผลนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยากที่ใครจะเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่าต้องเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องสมถภาวนาโดยถูกต้องก่อน แต่ถ้าใครเพียงแต่ได้ยินคำว่า “สงบ” ได้ยินคำว่า “สมาธิ” แล้วก็อยากจะทำสมาธิ โดยไม่รู้ว่า สงบ จะต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็หมายความว่า ไม่สามารถจะเจริญสมถภาวนาได้เพียงโดยการทำตามๆ กัน โดยที่ปัญญาไม่เกิด ไม่รู้เลยว่าสมถภาวนาคืออย่างไร

    ผู้ฟัง และสงบนี้ คือ โมหะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โมหะไม่สงบ แต่เข้าใจว่าสงบ เพราะฉะนั้นถ้าใครจะไปนั่งทำสมาธิ แล้วปัญญาก็ไม่เกิด ก็ไม่ใช่สมถภาวนาแน่นอน

    ถาม คือ กระผมได้สนทนาธรรมกับเพื่อนที่ได้ศึกษาพระธรรมด้วยกัน เขาบอกว่า อาจารย์สุจินต์สอนแต่ปริยัติ ไม่ได้สอนปฏิบัติ ซึ่งกระผมก็พยายามชี้แจงว่า อาจารย์สุจินต์สอนปฏิบัติตลอดเวลาเลย ตัวอย่างที่กระผมได้เข้ามานั่งฟังในวันนี้ คือ อาจารย์พยายามแนะนำให้เข้าใจในการประพฤติปฏิบัติในเรื่องสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา ซึ่งเมื่อก่อนนี้ผมก็คิดว่า การปฏิบัตินั้นก็จะต้องไปนั่งสมาธิ จะต้องงดเว้นเที่ยวเตร่ ดูหนังดูละคร ไปเที่ยวทัศนาจร แต่จากการที่ได้ฟังอาจารย์สุจินต์มาทีละเล็กทีละน้อยๆ ประมาณเกือบ ๔ ปี กระผมถึงเข้าใจว่า ที่อาจารย์สุจินต์ว่า ปฏิบัตินั้นคืออย่างไร คือ ที่วันนี้อาจารย์บอกว่าสวดมนต์แล้วสติเกิดบ่อยๆ ถ้าหากว่าเราติด เราก็สวดมนต์เพื่อให้สติเกิดบ่อยๆ อย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง เป็นการติด หรือว่าเป็นโลภะอย่างหนึ่ง ซึ่งขณะที่ชี้แจงหรือแนะนำอย่างนี้ ก็เป็นการให้รู้ว่า สิ่งๆ นั้นเป็นโลภะ ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าหากทุกคนมีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเลิกประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น นั่นก็คือเป็นการปฏิบัติในตัว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คือ จะต้องรู้ว่า ขณะที่สวดมนต์เป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณ เป็นกิจวัตรประจำวันของพุทธบริษัท แต่ไม่ใช่ด้วยความมุ่งหวังว่าขณะนั้นอยากจะให้สติเกิด นั่นเป็นการหวัง การรอ ซึ่งไม่ใช่การระลึกทันที

    เพราะฉะนั้นหัวใจของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่อื่นเลย ไม่ต้องไปหาวิธีอื่นทั้งหมด นอกจากระลึกทันที ถ้าใครจะบอกวิธีอื่นทั้งหมด ให้ทราบว่านั่นผิดเพี้ยนไปแล้ว ไม่ใช่เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะยังอาศัยวิธีการต่างๆ ติดยึดในข้อปฏิบัติอย่างนั้น แทนที่จะเป็นการละ โดยการที่รู้ว่าสติเป็นอนัตตา และถ้าสติเกิดในขณะที่สวดมนต์ แล้วขณะอื่นล่ะ ถ้าเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ต้องเป็นในขณะเห็น โดยที่ไม่ใช่สวดมนต์ ในขณะที่ทำกิจการงาน ในขณะที่กำลังสนุกสนาน ในขณะที่กำลังมีชีวิตตามปกติประจำวันจริงๆ แล้วสติเกิด นั่นเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง คือกระผมเข้าใจว่าอย่างนั้น เป็นการขัดเกลาทีละเล็กทีละน้อย สำหรับตัวผมเองเมื่อมาฟังอาจารย์สุจินต์บ่อยๆ ก็พยายามเปิดเทปอาจารย์สุจินต์ฟังเรื่อยๆ และขณะที่ฟังเทปนั้นรู้สึกว่า สติในขั้นการฟังเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็มีความติดความพอใจ ก็พยายามฟังวันละ ๑๐ ชั่วโมง ๒๐ ชั่วโมง หลับบ้างตื่นบ้าง ก็ขอให้หูได้ยินเสียงไม่ว่าจะเดินไปทางไหน ต่อมาเมื่อมีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยแล้ว ก็รู้ว่าการกระทำอย่างนั้นไม่ถูกต้อง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    24 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ