โสภณธรรม ครั้งที่ 072


    ตอนที่ ๗๒

    เพียงแทงตลอดในลักษณะที่เป็นนามธรรม ซึ่งไม่เคยประจักษ์แจ้งว่า ธาตุรู้เป็นแต่เพียงอาการรู้ โดยที่ไม่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดในขณะนั้นปรากฏร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้นก็ใส่ใจเฉพาะในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทีละอย่าง แต่ไม่ใช่หมายความว่าเพียงอย่างเดียว แล้วแต่ว่าในขณะนั้นวิปัสสนาญาณจะเกิดนานหรือว่ามากน้อยแค่ไหน

    สำหรับวิปัสสนาญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคคหญาณ สามารถที่จะแทงตลอดถึงปัจจัยที่เกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว ทันทีที่จิตคิดก็มีเสียงปรากฏอย่างรวดเร็วที่สุด นั่นคือการประจักษ์ในสภาพที่เป็นปัจจัยของเสียงที่เกิดขึ้น เพราะจิตที่คิด โดยที่ว่าไม่ต้องคำนึงถึงจะพูดอย่างไร จะคิดอย่างไรเลย จะมีสภาพที่ปรากฏโดยความเป็นอนัตตาที่ทันทีที่คิด เสียงนั้นก็ปรากฏเลย นั่นเป็นลักษณะของปัจจยปริคคหญาณ

    สำหรับสัมมสนญาณก็เป็นการที่สามารถประจักษ์ในการเกิดขึ้นและดับไป ใส่ใจในการเกิดและดับของแต่ละลักษณะที่สืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้นสำหรับสัมมสนญาณก็ละความยึดถือว่าเรา หรือของเราได้ ด้วยกลาปสัมมสนญาณที่พิจารณาเห็นรูปกลาป และกลุ่มของนามที่เกิดดับสืบต่อกันในขณะนั้น

    ถาม โดยปกติก็คิดไปว่า นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้ว เรามาเห็นปัจจยปริคคหญาณ พอมาถึงสัมมสนญาณ ผมก็มาคิดว่า เมื่อเราเห็นนามรูป แทนที่จะเห็นว่าสัมมสนญาณควรจะเกิดก่อน เพราะเห็นเกิดดับๆ จึงควรจะพิจารณาว่า เกิดดับเพราะอะไร จึงเห็นปัจจัย ก็เลยสงสัยว่า ทำไมถึงเห็นเป็นอย่างนั้น แทนที่จะเห็นว่าเป็นทั้งชุดเสียก่อน เห็นมันเกิดดับ จึงไปพิจารณาเห็นว่า มันมีปัจจัยมันจึงเกิด หมดปัจจัยก็ดับ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ถ้าสติระลึกลักษณะของนามธรรมอย่างหนึ่ง จะรู้เฉพาะลักษณะของนามธรรมนั้น ใช่ไหม และขณะที่ระลึกลักษณะของรูปธรรม สังเกตพิจารณาก็จะรู้ลักษณะของรูปธรรมนั้น เฉพาะรูปธรรมนั้น ใช่ไหม ทีละอย่าง ฉันใด เวลาที่นามรูปปริจเฉทญาณเกิด ขณะนั้นเป็นการแทงตลอดในลักษณะของนามธรรมซึ่งไม่เคยปรากฏ เพราะเหตุว่านามธรรมจะปรากฏทางตาไม่ได้ นามธรรมจะปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะที่ไม่ใช่นามรูปปริจเฉทญาณไม่ได้ เช่น ในขณะนี้ที่คิดนึก กำลังคิดนึก รู้ว่าเป็นสภาพคิด แต่ว่าลักษณะของอาการรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งปราศจากทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลย ไม่มีแม้แต่นามธรรมหรือรูปธรรมใดเหลือปะปนปรากฏเลย ไม่เคยมีเลย เพราะฉะนั้นในขณะนั้นเมื่อสภาพของนามธรรมปรากฏ ในขณะนั้นจึงรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรม และเมื่อลักษณะของรูปธรรมใดปรากฏ จึงรู้ชัดในลักษณะของรูปธรรมนั้น ในขณะนั้นจึงรู้ความต่างกันของลักษณะซึ่งเป็นธาตุรู้กับรูปธรรมเท่านั้น เพราะเหตุว่าปัญญาในขั้นนั้นเป็นปัญญาขั้นต้น จะรู้มากกว่านั้น รู้ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าในขณะที่สภาพธรรมปรากฏโดยความเป็นอนัตตา ไม่มีการที่จะไตร่ตรอง ไม่มีการที่จะพิจารณา ไม่มีการที่จะสงสัย เพราะเหตุว่าเหมือนสภาพที่ปรากฏทางมโนทวารให้รู้ ให้ประจักษ์ เพราะฉะนั้น ปัญญาในขณะนั้นก็เป็นการแทงตลอดลักษณะที่เป็นธาตุรู้ โดยที่จะไม่มีการสงสัยในลักษณะที่เป็นธาตุรู้ที่ปรากฏในนามรูปปริจเฉทญาณ

    ซึ่งหลังจากนั้นแล้ว เมื่อวิปัสสนาญาณดับไป นามธรรมและรูปธรรมก็เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วเหมือนเดิม ซึ่งไม่ใช่ในลักษณะที่แทงตลอด

    เพราะฉะนั้นในชั่วขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ มีอนัตตสัญญาเริ่มเกิด เพราะเหตุว่าสภาพธรรมไม่ได้รวมกันให้เป็นอัตตาเหมือนอย่างเดิม แต่ว่าผู้นั้นต้องมีความฉลาด มีมนสิการ รู้ว่าจะต้องอาศัยญาตปริญญา ที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นแล้ว น้อมพิจารณาศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมให้เหมือนกับที่เคยประจักษ์ คือ ไม่ลืมสภาพธรรมที่เคยประจักษ์ แต่จะต้องอาศัยปัญญานั้นแหละน้อมพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอื่นๆ ซึ่งเมื่อไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ก็ปรากฏสืบต่อจนกระทั่งติดกันเหมือนเดิม ให้สามารถที่จะแยกออกว่า ลักษณะของเฉพาะธาตุรู้แต่ละลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วเกิดต่างออกไปตามเหตุตามปัจจัยนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น จนกระทั่งละเอียดขึ้นโดยการที่รู้ว่า ลักษณะของนามธรรมแต่ละอย่าง หรือว่ารูปธรรมแต่ละอย่างนั้นเกิดขึ้นเพราะปัจจัย ถึงจะขึ้นถึงวิปัสสนาญาณที่ ๒ ได้ แต่จะให้เป็นวิปัสสนาญาณที่ ๓ เอามาเป็นที่ ๑ เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็เลยคิดไปว่าเมื่อเราเห็นแล้ว เห็นก็ต้องเกิดดับ พอเห็นเกิดดับ ก็ คิดว่า มีอะไรที่เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงสภาพธรรมในขณะนี้ปรากฏ แล้วก็เกิดดับ แต่การเกิดดับไม่ปรากฏ สภาพธรรมในขณะนี้ปรากฏเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ว่าการเกิดดับของสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ ปรากฏแต่ลักษณะของสภาพธรรม อย่างสีที่กำลังปรากฏทางตา ต้องเกิดและดับ แต่ว่าไม่มีการประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของสี แต่ว่ามีแต่ลักษณะของสีปรากฏให้รู้

    เพราะฉะนั้นนามรูปปริจเฉทญาณก็โดยนัยเดียวกัน คือว่าต้องนามเกิดแล้วดับ และรูปเกิดแล้วดับ จึงประจักษ์แจ้งได้ทางมโนทวาร แต่ว่าในขณะนั้นลักษณะที่เกิดดับไม่ได้ปรากฏกับนามรูปปริจเฉทญาณ แต่ลักษณะที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ปรากฏ ลักษณะที่เป็นรูปธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ปรากฏ

    อดิศักดิ์ การเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ก็ยังไม่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องเจริญกันต่อไป

    จากคำถามเมื่อคราวก่อน เคยถามอาจารย์ว่า นามรูปปริจเฉทญาณนี้ก็คงยังไม่เกิด ถ้าตราบใดที่การระลึกรู้ทั้ง ๖ ทางยังไม่ทั่ว ได้ยกตัวอย่างถึงเรื่องทางกายว่า เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ตึงไหวก็ไม่เคยระลึก แต่หลังจากที่ได้ถามอาจารย์ไปแล้ว ต่อๆ มาได้มาพิจารณาตึง ซึ่งอาจารย์เคยบอกว่า เคยยกของหนักๆ ไหม ผมเองในชีวิตประจำวันไม่เคยยกของหนัก แต่ตอนเช้าออกกำลังกาย โดยโหนบาร์เดี่ยว มีลักษณะตึง แต่ไม่เคยระลึก หลังจากวันนั้นแล้วก็มีการใส่ใจกับอาการตึงมา ตั้งแต่วันนั้นมารวมแล้วก็เป็นเวลา ๒ อาทิตย์ ก็มีวันหนึ่งอาการตึงก็ปรากฏ แสดงว่าการที่เราได้คิดนึกก็ดี หรือว่าเรากำลังใส่ใจและศึกษา สังเกต สำเหนียกอาการตึงเข้า อาการตึงก็เริ่มปรากฏ ก็เลยอยากจะถามอาจารย์ว่า สิ่งที่ผมพูดมานี่เป็นไปอย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นประโยชน์ของการฟังใช่ไหม ซึ่งลักษณะที่ตึงก็มีอยู่เป็นประจำในวันหนึ่งๆ แต่ไม่เคยรู้ว่า นั่นเป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟังเรื่องตึงว่าเป็นลักษณะที่มีจริง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และที่จะรู้ลักษณะของตึงได้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งก็เมื่อสติเกิดระลึกตรงลักษณะที่ตึง มิฉะนั้นตึงก็ผ่านไป เหมือนกับเห็นก็ผ่านไป ได้ยินนิดหนึ่งก็ผ่านไป คิดนึกเรื่องยาวต่างๆ ก็ผ่านไป โดยสติไม่ได้ระลึก

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมแต่ละขณะในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งซึ่งมีจริง และเป็นธรรม เพราะเหตุว่าก่อนที่จะเข้าใจคำว่า “ธรรม” หรืออรรถ หรือความหมายของธรรมนี่ เป็นเราทั้งหมด แม้จะได้ศึกษาเรื่องของธรรม เช่น ปรมัตถธรรม สภาวะธรรมต่างๆ ก็ตาม แต่แม้กระนั้นก็ยังเป็นเราเห็น ยังไม่ใช่ธรรมที่เห็น ยังไม่ใช่ธรรมที่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด เพียงคำๆ เดียว ต้องเข้าใจจริงๆ และต้องสามารถที่จะศึกษาสังเกตจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้นจริงๆ เพราะฉะนั้นตอนแรกที่ถามว่า ถ้าสติยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง แล้วนามรูปปริจเฉทญาณจะไม่เกิด ไม่ต้องเป็นข้อกังวลใดๆ ทั้งสิ้น เรื่อง ๖ ทาง หรือยังไม่ใช่ ๖ ทาง หรือว่าเริ่มจะเป็น ๖ ทางแล้ว ขอเพียงแต่ว่าให้เข้าใจจริงๆ ก่อนว่า สิ่งที่เคยเข้าใจก่อนการศึกษา เข้าใจผิด คือเข้าใจว่ามีเรา และเข้าใจว่าเป็นตัวเรา เป็นตัวตน แต่เมื่อศึกษาแล้วก็รู้ว่าไม่มีเราเลย แต่ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่นั่นเป็นขั้นการฟัง และเป็นขั้นเข้าใจ แต่ว่าสภาพธรรมที่เป็นธรรมจริงๆ ยังไม่ได้ประจักษ์ เพราะเหตุว่าขั้นของความเข้าใจเป็นขั้นหนึ่ง ปัญญาในการทรงจำธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว เป็นสุตตมยญาณ คือ ญาณอันสำเร็จจากการฟัง ๑ และปัญญาในการฟังธรรมแล้วสังวรไว้ เป็น สีลมยญาณ คือ ญาณอันสำเร็จมาแต่ศีล คือ การประพฤติ ๑ เมื่อฟังแล้วยังจะต้องสังวรที่จะประพฤติ ที่จะพิจารณา นั่นคือสีลมยญาณ ก่อนที่จะถึง ภาวนามยญาณ

    เพราะฉะนั้นฟังให้เข้าใจจริงๆ ขณะนี้เป็นธรรมทุกขณะ ทุกอย่าง ทุกลักษณะ ไม่ใช่เรา จนกว่าปัญญาในการสำรวมแล้วตั้งไว้ดี เป็นภาวนามยญาณ คือญาณอันสำเร็จจากการอบรมเจริญ

    ผู้ที่ได้ฟังคำว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ก็ทราบว่า ปัญญาขั้นนี้เป็นขั้นประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่ขั้นฟัง ไม่ใช่ขั้นคิด ไม่ใช่ขั้นพิจารณา แต่ลักษณะของนามธาตุหรือว่าสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ขณะนั้นไม่มีความสงสัย เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นปรากฏให้รู้ทางมโนทวาร

    เพราะฉะนั้นการที่จะเกิดปัญญาขั้นนั้นได้ต้องมีเหตุ ธรรมทุกอย่างต้องไหลมาจากเหตุ ต้องมีเหตุเป็นแดนเกิด แม้แต่นามรูปปริจเฉทญาณ ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล ผลก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องข้ามขั้น หรือว่าไม่ต้องไปคิดถึงต้องรู้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร เพียงแต่ว่าขณะนี้ได้ฟังว่า มีสภาพธรรม ๒ อย่าง คือ นามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้ เป็นธาตุรู้อย่างหนึ่ง และก็สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สภาพรู้ เพียงเท่านี้แล้วก็มั่นคงจริงๆ ที่จะเข้าใจในขณะที่เห็นเป็นอาการรู้อย่างไร เป็นลักษณะรู้อย่างไร เป็นธาตุรู้อย่างไร ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่คิดนึก แต่ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปเรียงทีละทวาร หรือว่าต้องไปคอยกำหนดว่า ทวารนี้รู้แล้ว ทวารนั้นยังไม่รู้ แต่ไม่ว่าสติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมขณะใด เริ่มศึกษา คือ สังเกตที่จะเข้าถึงอรรถที่ไม่ใช่เราที่กำลังเห็น ไม่ใช่เราที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่เราที่กำลังกระทบสัมผัส แต่ว่าเป็นเพียงลักษณะของธาตุรู้ ไม่ต้องคำนึงถึง ๖ ทวาร แต่ว่าให้มีความมั่นคง มีความมั่นใจจริงๆ ในการสังเกตลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วก็เริ่มชินกับลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เมื่อเหตุสมควรแก่ผล นามรูปปริจเฉทญาณก็เกิด ช่วงขณะที่นามรูปปริจเฉทญาณที่เกิด ไม่ใช่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้งหมด เพราะเหตุว่าในขณะนี้สภาพนามธรรมและรูปธรรมกำลังปรากฏหรือเกิดขึ้นเพียงเท่านี้ที่ปัญญาจะประจักษ์แจ้ง แล้ววันพรุ่งนี้ แล้ววันต่อไป แล้วชีวิตขณะอื่นซึ่งมีความสับสน มีเหตุปัจจัย มีเหตุการณ์ที่จะให้นามธรรมแต่ละชนิด รูปธรรมแต่ละชนิดเกิดขึ้น ปัญญาจะต้องพิจารณาจนกระทั่งเพิ่มความรู้ชัดขึ้นอีก แต่ในขั้นต้นขอให้เข้าถึงลักษณะที่เป็นนามธรรม เป็นอาการรู้ ซึ่งต่างกับรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้

    นิภัทร เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมพลาดโอกาสไม่ได้มาฟังเรื่องปัจจยปริคคหญาณ กระผมอยากเรียนท่านอาจารย์ให้ช่วยกรุณาอธิบายซ้ำอีกหน่อยว่า ปัจจยปริคคหญาณ ที่ว่าญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามรูป หมายถึงปัจจัย ๒๔ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ปัจจัย ๒๔ ตามความสามารถของปัญญาที่จะรู้ได้ในขณะนั้น ปัจจัยจะไม่พ้นจาก ๒๔ ปัจจัยเลย แต่ว่าขณะนั้นมีความสามารถที่จะรู้ลักษณะของปัจจัยใด ก็รู้ในลักษณะของปัจจัยนั้น ทางมโนทวารด้วย จึงจะเป็นการประจักษ์แจ้ง เพราะเหตุว่าปัจจยปริคคหญาณเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งสภาพของปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมในขณะนั้นปรากฏทางมโนทวาร

    นิภัทร สมมติว่ารู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วรู้จักขุวิญญาณ คือนามเห็น รู้เป็นนามรูปปริจเฉทญาณทางจักขุทวาร ในขณะนั้น สมมติว่า ปัจจยปริคคหญาณเกิดแล้ว ปัจจัยอะไรขณะที่รู้นามรูปทางตา มีปัจจัยอะไรที่ทำให้รู้ว่าเป็นปัจจยปริคคหญาณ

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าเป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็น และถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเห็นไหม

    นิภัทร ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ดูเหมือนธรรมดาที่สุดเลย แต่ว่าพิจารณาได้ในขณะนี้ว่า ถ้ารู้จริงๆ ว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ และสภาพรู้ที่เห็น รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่รู้ได้ว่า ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่คิดนึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะสมบูรณ์ขึ้นแต่ละขั้นๆ จะต้องสืบเนื่องติดต่อกัน คือ ถ้านามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด ปัจจยปริคคหญาณเกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงขั้นการพิจารณาว่า ขณะที่เห็นต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนี้จึงมีธาตุที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คือ กำลังเห็น

    นิภัทร อย่างนั้นที่เรียกว่า รู้ปัจจยปริคคหญาณนี่ก็ไม่จำเป็นต้องไปจำแนกชื่อว่าปัจจัยอะไรบ้าง ไม่ต้องจำแนกอย่างนั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเลย แต่หมายความว่าลักษณะของความเป็นปัจจัยนั้นปรากฏให้ปัญญารู้ว่า สิ่งนี้เกิด เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตา

    นิภัทร เพราะมีสิ่งที่ปรากฏทางตา จักขุวิญญาณจึงเกิด

    ท่านอาจารย์ เช่นเดียวกับขณะที่ได้ยิน ถ้าพิจารณารู้ว่า ขณะที่ได้ยินเป็นสภาพรู้ กำลังได้ยินเป็นสภาพรู้ ก็จะรู้ได้ทันทีว่า เพราะเสียง สภาพรู้คือได้ยินจึงเกิด

    นี่คือความต่างกันของแต่ละทวาร เพราะเหตุว่านามธรรมแต่ละทวารไม่เหมือนกัน ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก

    ประทีป ที่หลายๆ ท่านพูดว่า สติเกิดช้า แต่กระผมก็ยังคิดว่า ทุกๆ ท่านที่มาฟังธรรมวันนี้ ก่อนที่จะออกจากบ้าน ถ้าหากว่าสติเกิด สติในขั้นนึกคิดก็เป็นสติขั้นหนึ่ง นึกคิดว่าในขณะที่เราจะเดินทางมาฟังธรรม ก็เป็นสติในขั้นนึกคิด ลักษณะที่น้อมไปพิจารณา น้อมไปศึกษา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน คือ สังเกตลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน แล้วแต่ว่ากุศลจิตจะเกิดหรืออกุศลจิตจะเกิด ถ้าขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ประทีป และลักษณะที่ผมเรียนถามเมื่อสักครู่นี้ ก็เป็นลักษณะหนึ่งของกุศลจิต ลักษณะที่เป็นสติในขั้นกุศลจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ กำลังพิจารณาธรรม เรื่องธรรม พิจารณาด้วยความเข้าใจ ขณะนั้นจึงจะเป็นกุศล

    ประทีป และลักษณะที่อาจารย์ว่า น้อมไปพิจารณา หรือไปสังเกต สำเหนียก ศึกษาสภาพธรรมที่ปรากฏ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐาน ขณะที่กำลังน้อมไปเพื่อพิจารณาที่แล้วๆ มา ถึงแม้ว่าจะล่วงเลยมาแล้วก็ตาม แต่ว่าขณะนั้นเริ่มมาพิจารณา ลักษณะนี้เป็นสภาพธรรมที่สังเกต สำเหนียกหรือเปล่า ซึ่งอาจจะไม่ใช่สติปัฏฐาน ก็ได้นะ หมายความกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่เกิดขึ้นในขณะก่อนๆ นี้ ก่อนที่จะมาถึงขั้นที่เรา

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นความคิด จะต้องพิจารณาลักษณะของจิตที่คิดว่า เป็นกุศลหรือเปล่า ถ้าเป็นกุศลถึงจะมีสติเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นการคิดธรรมดา ก็ไม่ใช่ เพราะว่าบางคนคิดแล้วก็เกิดโลภะ หรือคิดด้วยโทสะก็ได้

    ประทีป ในขณะที่คิดเรื่องสภาพธรรมต่างๆ ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นโทสะบ้าง เป็นโลภะบ้าง ในขณะที่คิดอย่างนี้เป็นลักษณะที่น้อมไปพิจารณาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ พิจารณาอะไร

    ประทีป พิจารณาสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ พิจารณาลักษณะ ไม่ใช่คิดเรื่อง เพราะฉะนั้นก็แยกออกว่า ขณะที่กำลังมีสภาพธรรมปรากฏ มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ แล้วก็สังเกตลักษณะที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะได้รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้ นั่นเป็นสติปัฏฐาน นอกจากนี้แล้วไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่การพิจารณาลักษณะ

    ที่ใช้คำว่า “น้อมไปพิจารณาลักษณะ” ไม่ใช่น้อมไปถึงอดีตที่แล้วมา หรือว่าหลายวันแล้วก็เอามานั่งพิจารณา แต่ที่ใช้คำว่า “น้อมไป” ในทีนี้ หมายความว่า ไม่ใช่คิดเป็นคำ ขณะนี้แข็งกำลังปรากฏที่ส่วนหนึ่งส่วนใด พิจารณาโดยไม่ใช่คิดเป็นคำ นั่นคือน้อมไปที่จะสังเกต ที่จะเข้าใจ ที่จะรู้

    ที่ใช้คำว่า “น้อมไป” เพราะเหตุว่าในขณะนั้นยังไม่ใช่ความรู้ ยังไม่ใช่การเข้าถึงลักษณะที่เป็นนามธรรม แต่การที่จะเข้าถึงอรรถ ลักษณะที่เป็นนามธรรมได้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ก็ต้องค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ พิจารณาไปทีละน้อยๆ การที่ค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ พิจารณา คือ การที่ค่อยๆ น้อมไปที่จะเข้าใจ โดยไม่ใช่การคิดเป็นคำๆ ว่า สภาพรู้เป็นนามธรรม รูปแข็งไม่ใช่นามธรรม เป็นลักษณะของรูป นั่นคือการคิด แต่ไม่ใช่การสังเกตลักษณะ เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มสังเกตก็ยังไม่ใช่การรู้จริงๆ แต่ว่าเริ่มที่จะค่อยๆ รู้ขึ้น จึงชื่อว่า น้อมไปที่จะรู้ แต่ไม่ใช่น้อมไปถึงเมื่อวานนี้ หรือว่าไม่ใช่น้อมไปที่เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นนานแล้ว

    ประทีป ซึ่งลักษณะเดียวกับที่คุณอดิศักดิ์ได้เรียนถามท่านอาจารย์เมื่อสักครู่นี้ ลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะที่น้อมไป ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังสังเกตเพื่อจะรู้ โดยไม่ใช่คิดเป็นคำๆ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วมักจะคิดเป็นคำๆ แข็งเป็นรูป รู้เป็นนาม สีเป็นรูป รู้เป็นนาม เสียงเป็นรูป รู้เป็นนาม หรืออาจจะคิดว่า นามธรรมเป็นสภาพรู้ ขณะนั้นก็เป็นคำๆ ทั้งนั้นเลย แต่ว่าไม่ได้สังเกตรู้ว่า ธาตุรู้มีลักษณะอย่างนั้น คือ กำลังรู้ คือ เห็น เป็นสภาพของธาตุรู้อย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นแม้จะได้ยินคำว่า “นามธรรม” และ “รูปธรรม” ถึง ๒ คำ แต่ก็จะต้องศึกษาไปตลอด จนกว่าจะถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ต้องเริ่มจากขณะที่สติเกิดที่เป็นสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วส่วนใหญ่ควรจะระวังสักนิดหนึ่ง เพราะเหตุว่าฟังดูเหมือนบางท่านจะติดสติ ที่ติด รู้สึกว่ามีความห่วงใย หรือว่ามีความต้องการ แล้วบางท่านอาจจะคิดว่า ถ้าไม่ต้องการสติก็ไม่เกิด แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ยิ่งละความต้องการ ความห่วงใย แต่ว่ามีการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น มีฉันทะ มีวิริยะที่จะฟัง ที่จะสังเกต ที่จะเข้าใจ จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกและสังเกตศึกษาลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่เข้าใจ แต่จะต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจขึ้นๆ ๆ

    อย่างในขณะนี้มีใครเข้าใจบ้างหรือเปล่าว่า ในขณะที่กำลังเห็นทางตา กำลังแปลสีที่ปรากฏเป็นเรื่อง หรือเป็นบุคคล เป็นวัตถุต่างๆ ขณะนี้ตามความเป็นจริงมีสีสันวัณณะหลายอย่าง หลายสีทีเดียวที่กำลังปรากฏทางตา กำลังแปลสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏทางตาอยู่หรือเปล่า แปลออกมาเป็นคนนั้น แปลสีนี้ออกมาเป็นคนนี้ แปลสีนั้นออกมาเป็นวัตถุต่างๆ

    ต้องแปลไหม ลองคิดถึงความจริง เห็น ขณะหนึ่ง ยังไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นขณะที่รู้ คือแปลความหมายของสิ่งที่ปรากฏออกเป็นบุคคลต่างๆ และก็วัตถุต่างๆ ซึ่งขณะนั้นก็คือการคิดนั่นเอง แต่ถ้าใช้คำว่า “คิด” บางคนอาจจะนึกเป็นคำ แล้วก็เข้าใจว่ากำลังคิดเรื่อง แต่นี่ยังไม่ใช่การคิดคำ แต่ว่าเป็นแต่เพียงมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็แปลทันทีว่า สีนี้เป็นคนนี้ สีนั้นเป็นคนนั้น สีนี้เป็นวัตถุสิ่งนั้น สีนั้นเป็นวัตถุสิ่งอื่น ถ้ายังไม่เข้าใจอรรถนี้ ก็แยกทางจักขุทวารวิถีกับทางมโนทวารวิถีไม่ออกเลย

    นิภัทร การเห็นสิ่งของ อย่างเห็นพระพุทธรูป เห็นโต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้ธูปเทียน ที่อาจารย์บอกว่า แปลเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อจะให้รู้ว่าเป็นอะไร อันนี้รู้สึกว่าเป็นการแปลที่รวดเร็วจริงๆ ซึ่งปกติแล้วเราจะไม่รู้ว่าเราแปล เพราะว่ามันเห็น มันเห็นทันทีเลย อย่างเห็นดอกไม้ ก็เห็นเป็นดอกไม้ทันทีเลย เห็นพระพุทธรูป ก็เห็นเป็นพระพุทธรูปไปทันทีเลย โดยไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังแปล อันนี้รวดเร็ว ชำนาญและช่ำชองจริงๆ ไม่ทราบว่าเป็นการแปลสั่งสมมาตั้งแต่เมื่อไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าแยกไม่ออก ไม่มีทางที่จะรู้ความต่างกันของปรมัตถธรรมกับบัญญัตธรรมเลย นี่เป็นสิ่งที่จะต้องฟังธรรม แล้วก็คิด แล้วก็พิจารณา แล้วก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน จนสามารถจะเข้าใจได้จริงๆ ว่า ทางหูที่ได้ยินเสียง แล้วก็แปลออกมาเป็นคำต่างๆ ฉันใด ทางตาที่เห็นก็แปลสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งเป็นแต่เพียงสีต่างๆ เป็นบุคคลต่างๆ ได้

    นิภัทร สิ่งที่ปรากฏทางตาที่ปรากฏมันชั่วขณะนิดเดียว ซึ่งแทนที่จะไปเข้าใจรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา มันไม่รู้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    1 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ