โสภณธรรม ครั้งที่ 066


    ตอนที่ ๖๖

    อาเสวนะ การเสพ ภาวนา คือ การเจริญ พลุลีกัมมัง คือ การทำให้มากซึ่งกุศลกรรมทั้งหลายอันใด นี้เรียกว่า กำลังคือภาวนา

    อบรมไป ประพฤติไปเรื่อยๆ ก็จะเพิ่มเป็นกำลังขึ้น จากการที่ไม่มีกำลังเลย จนกระทั่งเป็นกำลังขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งสามารถที่จะแทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมได้

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่เริ่มเข้าใจตั้งแต่ขั้นการฟัง ซึ่งรู้ว่าเป็นขั้นหนึ่ง ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง แต่อาศัยความเข้าใจเรื่องนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกได้ว่า ทำไมเมื่อนามธรรมกำลังเห็นแล้วไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา ถ้าเกิดระลึกได้อย่างนี้ สติก็จะค่อยๆ น้อมไปพิจารณาว่า ลักษณะรู้หรือธาตุรู้ในขณะที่กำลังเห็น ก็คือปกติธรรมดาอย่างนี้เอง และในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ทุกๆ ขณะนั้นเองก็มีนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานเป็นการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่การไม่รู้ และถ้าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วก็มีความสงสัย ก็อย่าได้ทำสิ่งนั้นต่อไป เพราะเหตุว่าไม่ทำให้หายความสงสัยได้ แต่ว่าละความต้องการทั้งหมด มาเป็นระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้เอง

    เป็นเรื่องที่จะต้องกระทำไปด้วยความอดทน เพราะสติก็ไม่ได้เกิดบ่อย แล้วเมื่อเกิดแล้ว การที่จะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็ค่อยเป็นค่อยไปที่ปัญญาจะเพิ่มขึ้น

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านถาม ถ้ารู้ว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรมแล้ว อย่างไรต่อไป ซึ่งปัญหานี้ไม่ต้องถามเลย ขอเพียงให้รู้จริงๆ ว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน และรูปธรรมเป็นอย่างไรจริงๆ เท่านี้ ไม่ใช่ว่ารู้แล้วเพียงฟังเท่านี้ แล้วปฏิบัติแล้วรู้แล้ว จะทำอย่างไรต่อไป เพราะเหตุว่าการทำต่อไป ก็คืออบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติที่ปรากฏต่อไปนั่นเอง ไม่มีอย่างอื่นเลย แต่ว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้นๆ ๆ ๆ ตามลำดับ

    สำหรับเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับท่านผู้ฟังส่วนมากทีเดียว เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นผู้ตรงก็รู้ว่า ขณะใดที่เห็นก็ยังเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้นการที่จะละความสนใจ ละความติดในนิมิตอนุพยัญชนะลงไปได้ ที่จะรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ก็ควรที่จะได้ทราบว่า การละความสนใจในสิ่งที่ปรากฏ การละคลายความติดในนิมิตอนุพยัญชนะ ไม่ใช่การทำเป็นไม่รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร

    นี่เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณา การที่จะละคลายความติดในนิมิตอนุพยัญชนะในสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นไม่ใช่เป็นการทำเป็นไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นไม่ใช่ผิดปกติเลย เหมือนในขณะนี้ตามธรรมดา แต่สติระลึกได้ที่จะรู้ว่า สิ่งที่เคยเข้าใจว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ที่เคยคิด เคยยึดมั่นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ แท้ที่จริงนั้นโดยสภาพที่แท้จริงก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ดูเหมือนว่าฟังกลับไปกลับมาบ่อยๆ แต่ความจริงก็ต้องเป็นอย่างนั้น โดยการที่ระลึกได้เนืองๆ พิจารณาเนืองๆ แต่ไม่ใช่ทำเป็นไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร

    เรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไม่ใช่เรื่องหลอกลวง ไม่ใช่เรื่องแสร้ง ไม่ใช่เรื่องทำเป็น แต่เป็นเรื่องละคลายการติดเพราะรู้ ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นก็จะทำให้คลายการติดในนิมิตและอนุพยัญชนะลงได้

    ด้วยเหตุนี้การเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นเรื่องชีวิตแต่ละภพ แต่ละชาติ แต่ละวัน ที่จะค่อยๆ เกิดขึ้นเป็นไปจริงๆ ไม่มีการที่สามารถจะเร่งรัด หรือพยายามที่จะให้ปัญญารู้แจ้งชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยวิธีนั้นหรือโดยวิธีนี้ ซึ่งไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

    ข้อความในนิทานกถา คัมภีร์กถาวัตถุมีว่า

    ก็มีผู้มีความคิดเห็นว่า มรรคผลเกิดขึ้นต้องอาศัยเปล่งคำว่า ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ

    นี่ก็เป็นความคลาดเคลื่อนของการที่จะหาวิธีปฏิบัติอื่น นอกไปจากการที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ทำอย่างอื่น ไม่หาวิธีอื่น แม้แต่ผู้ที่มีความคิดเห็นว่า มรรคผลเกิดขึ้นต้องอาศัยเปล่งคำว่า ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ ก็ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมก็จะต้องขจัดความหวัง ความต้องการที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ถ้าเหตุไม่ตรง ผลที่ตรงก็เกิดไม่ได้เลย ผล คือ การที่จะประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ โดยสติไม่เกิดไม่ระลึกไม่รู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะพยายามแสวงหาวิธีอื่นเพียงใด ถ้าขณะนั้นไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วละก็ ไม่สามารถจะทำให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปได้

    ข้อความในอรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหปติวรรค อัฏฐกนาครสูตร มีข้อความว่า

    อย่าแสดงลอยๆ ว่าข้าพเจ้าได้สูตรมาแล้ว ผู้แก้ปัญหา คือ ผู้ที่จะอธิบายข้อความธรรม ควรเรียนธรรมของพระอริยเจ้า จนรู้แจ้งอรรถรส แล้วจึงแก้ปัญหา

    นี่แสดงถึงความละเอียด ความสุขุมของสภาพธรรมที่ผู้ฟังและน้อมประพฤติปฏิบัติสามารถที่จะรู้แจ้งได้จริงๆ แต่ข้อความนี้ก็เพียงเตือนให้รอบคอบ เพราะเหตุว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลย่อมไม่รู้ว่า ใครเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้นก็พิจารณาเหตุผลของพระธรรมทั้ง ๓ ปิฎกให้สอดคล้องกัน จึงจะสามารถรู้จุดประสงค์ของพระธรรมเทศนา แล้วรู้จุดประสงค์ของท่านเองในการศึกษาพระธรรมด้วย เช่น การศึกษาพระวินัยปิฎก เพื่อจุดประสงค์อะไร ผู้ที่ได้ทราบว่า พระธรรมวินัยมี ๓ ปิฎก ก็ศึกษาทั้ง ๓ ปิฎก เป็นการดี คือ พระวินัยก็ควรที่จะได้เข้าใจด้วยตามสมควรแก่เพศ ถ้าเป็นคฤหัสถ์แล้วไม่ได้เข้าใจเรื่องพระวินัยเลย ก็อาจจะทำสิ่งที่ขัดกับพระวินัย บางท่านไม่ใส่บาตร ท่านบอกว่าลำบาก ใส่เงินดีกว่า สะดวกมากสำหรับพระ เป็นปัจจัยที่ท่านจะใช้สอยได้ทุกอย่าง นี่คือผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องของพระวินัย เพราะฉะนั้นก็จะทำให้ไม่เข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ของพระธรรมว่า เพื่อการขัดเกลากิเลส ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุ ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองว่า เป็นผู้ที่มีกิเลสมาก ซึ่งทุกคนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ถ้าเป็นผู้ที่เริ่มรู้จักตัวเอง ก็จะเห็นตัวเองว่าไม่ดี ซึ่งไม่ดีในที่นี้ หมายความว่า ไม่ดีเพราะเต็มไปด้วยกิเลส ถ้าใครยังไม่ได้เห็นกิเลสของตัวเองเลย ผู้นั้นก็จะไม่ขัดเกลากิเลส จะไม่ต้องแม้แต่ฟังพระธรรม ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของพระไตรปิฎก แต่ผู้ที่ศึกษาไม่ว่าจะเป็นพระวินัยบ้าง พระสูตรบ้าง หรือพระอภิธรรมบ้าง ก็เพื่อที่จะให้เกิดปัญญารู้จักตนเองตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นถ้าท่านผู้ใดรู้สึกตัวว่า กิเลสทำให้กายวาจาไม่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ และตนเองก็เดือดร้อนด้วย การศึกษาพระวินัยนี่จะเห็นได้จริงๆ ว่า ผู้ที่เห็นประโยชน์จะเห็นว่า ถ้าได้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยของพระภิกษุแล้ว แม้คฤหัสถ์ก็มีกายวาจาที่งามซึ่งสามารถจะกระทำได้จริงๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศบรรพชิต ถ้ายังไม่ได้สะสมเหตุปัจจัยที่สามารถที่จะดำเนินชีวิตในเพศของบรรพชิต แม้คฤหัสถ์ที่ได้เห็นประโยชน์ของการประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยก็ยังสามารถที่จะกระทำได้ และก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิต จะเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น เป็นผู้ที่รอบคอบขึ้น เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อแม้ด้วยวาจากับบุคคลอื่น ทุกข้อในเรื่องของพระวินัย

    และเมื่อศึกษาพระสูตร ตัวอย่างของชีวิตแต่ละบุคคลในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะเหตุว่าการสะสมมีทั้งฝ่ายที่เป็นอกุศล และฝ่ายที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นการสะสมของอกุศลก็ดี การสะสมของกุศลก็ดี จะเห็นได้ในชีวิตประจำวันว่า ฝ่ายใดมีกำลังมากกว่า ฝ่ายที่เป็นอกุศลมีกำลังมากกว่า หรือว่าฝ่ายที่เป็นกุศลมีกำลังมากกว่า แม้แต่นายเปสสะบุตรควาญช้าง ซึ่งได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ฟังธรรม แต่ก็มีปัจจัยของอกุศลจิตที่จะเกิดที่จะทูลลากลับไป เพราะฉะนั้นก็พลาดโอกาสที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคล เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาเหตุปัจจัยได้เลย ผู้ที่สะสมการเจริญกุศลทุกประเภทโดยไม่ประมาท ก็ยังมองเห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอริยบุคคล อกุศลยังมีกำลังอยู่มากทีเดียว เพราะฉะนั้นเมื่ออกุศลยังมีกำลังอยู่มาก การฟังพระธรรมก็ฟังได้ไม่มากนัก วันหนึ่งๆ ก็จะฟังได้ไม่กี่ชั่วโมง เทียบกับเวลาของอกุศล เพราะฉะนั้นในเรื่องของเพียงการฟัง ก็จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วก็จะฟังเท่าที่กุศลจิตเกิด

    มีท่านผู้หนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านฟังพระธรรมแล้วท่านก็เบื่อ ในขณะที่กำลังฟัง ก็รู้สึกว่า มากไปแล้ว เบื่อแล้ว ก็เป็นชีวิตจริงๆ เป็นความจริง ใครจะสามารถฟังอยู่ได้ตลอดเวลา ถ้าสามารถหมายความว่าขณะนั้นมีปัจจัยของกุศลจิตที่จะเกิดที่จะฟัง แต่พอขณะใดที่เกิดรู้สึกเบื่อ ขณะนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่อกุศลที่สะสมมามีกำลังเป็นปัจจัยเกิดขึ้นที่จะรู้สึกว่า อยากจะไปทำอย่างอื่นแทนที่จะฟังพระธรรมในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ แต่ถ้าผู้ใดเห็นโทษของความประมาทจริงๆ ก็จะทำให้กุศลค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกๆ ขั้นได้ แต่นี่คือประโยชน์ของการที่จะศึกษาทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และสำหรับพระอภิธรรมปิฎกนั้น ก็จะทำให้เป็นการอบรมสะสมปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะรู้ว่าลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขั้นของการศึกษาซึ่งจะเป็นบาท เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ตามที่เข้าใจ แล้วก็อบรมการเจริญสติปัฏฐานไปเรื่อยๆ แต่ต้องด้วยความไม่ประมาท

    อดิศักดิ์ ฟังๆ อยู่รู้สึกเบื่อ ดูนาฬิกา นึกในใจว่าจะไปทำอย่างอื่นดีกว่า ช่างตรงกับสภาพธรรมที่อาจารย์พูดเมื่อตะกี้นี้จริงๆ ผมมาฟังพระธรรมทุกวันอาทิตย์ เกือบทุกครั้งที่จะต้องมองนาฬิกาว่า เพิ่งผ่านไป ๒๐ นาที เมื่อไรจะจบ เบื่อ อยากจะไปเสียแล้ว กำลังของอกุศลมีเกือบทุกครั้ง นานๆ จะมีสักครั้งที่ฟังธรรมเพลิดเพลินไปจนหมดเวลา

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นชีวิตจริงๆ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ข้อสำคัญที่สุด คือ เมื่อไรจะถึงวันเวลาที่จะรู้จริงๆ ว่า ไม่มีตัวตนเลยสักขณะเดียว การฟังพระธรรมทั้งหมด ก็เพื่อที่จะรวบรวมสะสมปรุงแต่ง จนกระทั่งสติระลึกลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งมีเพียง ๖ ทาง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง แม้ขณะที่กำลังเบื่อ ก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าสติปัฏฐานไม่เจริญถึงขั้นนั้นจริงๆ ก็ยังดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้

    เพราะฉะนั้นชีวิตจริงๆ ในวันหนึ่งๆ จะมีสภาพธรรมอย่างไรเกิดขึ้น ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะรู้ว่าต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรม

    ย่อโลกทั้งหมด จนกระทั่งเหลือเพียงชั่วขณะจิตเดียวที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ โดยสติกำลังระลึกแล้วก็รู้ชัดในลักษณะนั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานอีกนานสักเท่าไร แม้ในขณะที่เบื่อ ระลึกได้ไหม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงใช่ไหม ขณะนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ถ้ายังไม่เคยระลึกเลย ก็หมายความว่า ยังละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนไม่ได้ แต่ว่าเบื่อเกิดขึ้น สติระลึกในลักษณะเบื่อ สภาพนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ง่วง ไม่ใช่คิดนึก ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ความรู้สึกเป็นสุข ไม่ใช่ความรู้สึกเป็นทุกข์ แต่ในขณะนั้นอาจจะไม่ระลึกที่ลักษณะของเบื่อก็ได้ จะระลึกลักษณะของความรู้สึกก็ได้

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างซึ่งดูเหมือนกับว่า เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็ผ่านไป จนไม่ได้สังเกต แต่เวลาที่สติเกิด ความไวของสติที่เกิดขึ้นระลึกที่ปัฏฐาน คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ จะทำให้รู้ความละเอียดของขณะจิตเพิ่มขึ้น แม้แต่ทางหู อาจจะไม่สนใจว่ามีเสียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่เวลาที่สติเกิด ความรวดเร็ว จะเห็นได้ว่า แม้แต่เพียงเสียงเล็กๆ ชั่วขณะหนึ่งเกิด แล้วก็ดับ แล้วก็มีเสียงอื่นเกิดแล้วก็ดับ เฉพาะทางหูทางเดียวก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏถี่ถ้วนขึ้นเวลาที่สติปัฏฐานเกิด

    เพราะฉะนั้นถ้าสติสามารถจะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ จะปรากฏการสลับกันของสิ่งที่ปรากฏทางตากับสภาพที่คิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา และเสียงที่ปรากฏทางหูและสภาพที่คิดนึกเรื่องเสียงที่ปรากฏทางหู

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าสภาพธรรมเป็นปริตตธรรม เป็นลักษณะที่สั้นจริงๆ ก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่อย่างที่ท่านที่ถามเรื่องที่เข้าใจว่า แมวตะครุบหนู จดจ้องจนกระทั่งรู้การเคลื่อนไหวของอิริยาบถ แต่ว่าไม่ได้รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตรงตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นได้

    เพราะฉะนั้นเรื่องของวิปัสสนาญาณก็ต้องรอการอบรม จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ของปัญญาจริงๆ

    ข้อความในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ญาณกถา ข้อ ๘๖ มีข้อความว่า

    ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสำรวมไว้ ชื่อว่า สีลมยญาณ

    เพียงเท่านี้เป็นประโยชน์ไหมที่จะรู้ว่า การฟังของแต่ละท่านได้ประโยชน์จริงๆ หรือยัง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นประโยชน์จริงๆ ปัญญาในการฟังธรรมแล้วสำรวมไว้ ชื่อว่า สีลมยญาณ หมายความว่าไม่ใช่ฟังเฉยๆ แล้วไม่ปฏิบัติตาม ไม่ว่าเรื่องของศีล ไม่ว่าเรื่องของความสงบของจิต ไม่ว่าเรื่องของสติปัฏฐาน ไม่ใช่เพียงฟังเฉยๆ แล้วไม่ปฏิบัติตาม

    แต่ว่าท่านผู้ฟังก็ได้ฟังธรรมมาก ไม่ว่าเรื่องของพระวินัยปิฎกบ้าง พระสุตตันตปิฎกบ้าง พระอภิธรรมปิฎกบ้าง เรื่องของสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นชื่อว่า สีลมยญาณ ไม่ใช่ฟังเฉยๆ แล้วไม่ปฏิบัติตาม แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามด้วย

    เพราะฉะนั้นก็ทราบประโยชน์จากการฟังได้ว่า ท่านได้ถึงสีลมยญาณหรือยัง คือ ฟังแล้วปฏิบัติตาม

    ข้อ ๔๕๐ มีข้อความว่า

    คำว่า วิหาโร คือ ย่อมอยู่

    ทุกท่านมีวิหารธรรม คือ ธรรมซึ่งเป็นเครื่องอยู่ แต่คำว่า วิหาโร ย่อมอยู่ด้วยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

    เพราะฉะนั้นวิหารธรรมของท่าน คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาหรือยัง

    นี่คือผลของการฟัง ซึ่งก็เป็นเครื่องเตือนทั้งนั้นว่า ทุกคนมีชีวิตอยู่ แต่ว่าจะอยู่ด้วยอะไร จะอยู่อย่างไร จะอยู่ด้วยศรัทธา ด้วยวิริยะ ด้วยสติ ด้วยสมาธิ ปัญญา หรือว่าจะอยู่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ

    เพราะฉะนั้นธรรมเป็นของจริง ก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับ อย่าข้ามการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง อย่างทางใจ ไม่ใช่เพียงแต่ให้รู้ว่า ขณะที่คิดเป็นสภาพรู้คำ รู้บัญญัติ แต่ยังจะต้องรู้ลักษณะของความรู้สึกต่างๆ ซึ่งจะรู้ได้ทางใจด้วย เช่น ในขณะนี้รู้สึกอย่างไร ความรู้สึกมีทุกขณะ สติจะระลึกลักษณะของความรู้สึก ความรู้สึกในขณะนี้คือความรู้สึกอะไร ดีใจหรือเสียใจ สุขหรือทุกข์ หรือเฉยๆ ถ้ายังไม่เคยระลึก เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้ายังไม่ระลึก ก็ยังคงยึดถือเวทนา ความรู้สึกนั้นว่าเป็นเรา เป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้นถ้ายิ่งฟังก็ยิ่งรู้ว่า การอบรมเจริญปัญญาต้องมากจริงๆ กว่าจะรู้แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

    ข้อความในอรรถสาลินี อรรถกถา พระธัมมสังคินีปกรณ์ ติกนิกเขปกถา อธิบายคำว่า ไม่ได้ฝึกฝนในธรรมของพระอริยะ มีข้อความว่า

    ชื่อว่า วินัย มี ๒ อย่าง ในวินัย ๒ อย่างนี้ แต่ละอย่างๆ มี ๕ อย่าง ปุถุชนนี้เรียกว่า ไม่ได้ฝึกฝน เพราะไม่มีวินัยนั้น

    ฟังดูก็เป็นเรื่องของตำรับตำรา แต่ความจริงแล้วเป็นชีวิตประจำวันทั้งหมด แม้แต่ในเรื่องของวินัย คือ การฝึกฝน

    วินัยมี ๒ อย่าง คือ สังวรวินัย ๑ ปหานวินัย ๑

    นี่ต้องเกี่ยวกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องประกอบที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาว่า การฟังพระธรรม การอบรมเจริญปัญญาถึงขั้นไหน

    สังวรวินัย ๕ คือ ๑. สีลสังวร ความสำรวม คือ ศีล ๒. สติสังวร ความสำรวม คือ สติ ๓. ญาณสังวร ความสำรวม คือ ญาณ ๔. ขันติสังวร ความสำรวม คือ ขันติ ๕. วิริยสังวร ความสำรวม คือ วิริยะ

    นี่เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน เช่น สีลสังวร ความสำรวม คือ ศีล สำหรับเพศบรรพชิตคือพระภิกษุนั้นก็ได้แก่ ความสำรวมในปาติโมกข์สังวรศีล ในพระวินัยบัญญัติ แต่สำหรับคฤหัสถ์ก็ตามสมควร เช่น สำรวมในศีล ๕ เป็นนิจศีล

    ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม จะมีการที่จะคิดที่จะไม่ละเมิดศีล ๕ บ้างไหม และสำหรับบางท่านก็คิดว่า บางข้อเป็นธรรมดา นั่นก็เป็นเรื่องของการที่จะพิสูจน์ตัวเอง รู้จักตัวเองว่า มีสังวรวินัยในข้อใดบ้าง

    สติสังวร ความสำรวม คือ สติ เป็นการรักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้เป็นกุศล แต่ที่จะเป็นได้จริงๆ ก็คือขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งสำหรับอินทริยสังวรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรอชิตะ กระแสเหล่าใดในโลก สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น เราย่อมกล่าวการกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านี้บัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญาดังนี้

    สติเป็นเพียงเครื่องกั้น แต่ว่าที่จะปิดกั้นกระแสได้จริงๆ ต้องด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่ามีแต่สติ โดยที่ปัญญาไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้

    เพราะฉะนั้นญาณสังวร ความสำรวม คือ ญาณ ได้แก่ ปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าปัญญายังไม่เกิด ก็ยังไม่ถึงขั้นญาณ หรือปัญญานั้นสำรวม หรือว่าสำรวมด้วยปัญญา แต่ยังเป็นขั้นสำรวมด้วยศีล หรือสำรวมด้วยการที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่ยังไม่ถึงขั้นที่สำรวมด้วยญาณ จนกว่าปัญญาจะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม

    สังวรที่ ๔ คือ ขันติสังวร ความสำรวม คือ ขันติ ได้แก่ความอดทนต่อความหนาว ความร้อน อากาศร้อนมากๆ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีว่า มีความสำรวม มีความอดทนแค่ไหน หรืออากาศหนาวก็ทำให้ได้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า มีความอดทน มีความสำรวมมากน้อยแค่ไหน ถ้าบ่นว่าร้อน ขณะนั้นจิตที่กำลังกล่าวคำว่า “ร้อนมาก ร้อนจริงๆ ร้อนเหลือเกิน ทนไม่ได้” ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าสติเกิดก็จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล และถ้าอกุศลจิตเกิดในขณะที่ร้อน จะหายร้อนไหม ก็ยังร้อนเหมือนเดิม แต่จิตเป็นอกุศล ก็ลองคิดดูว่า ความร้อนก็ยังคงเป็นความร้อนอยู่ แต่ว่าถ้ากุศลจิตเกิด ก็ยังดีกว่าที่เมื่อร้อนแล้วอกุศลจิตเกิด

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวันพร้อมด้วยสติ มีการระลึกได้จะทำให้รู้ลักษณะแม้ของการเปล่งวาจาว่า คำพูดนั้นเป็นไปด้วยกุศลจิตหรือด้วยอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้นผู้ที่มีขันติสังวร คือ ความอดทน ไม่ว่าจะหนาว จะร้อน จะหิว หรือว่าจะพอใจ จะไม่พอใจ ทุกท่านก็ย่อมจะสังเกตตนเองได้ยิ่งขึ้นว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานทำให้กุศลจิตเจริญขึ้น และไม่กล่าววาจาซึ่งเคยกล่าวเป็นปกติ และยังสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต

    สังวรที่ ๕ คือ วิริยะสังวร ความสำรวม คือ วิริยะ ได้แก่การไม่ยังกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้วให้ท่วมทับอยู่ วันหนึ่งๆ ไม่มีใครพ้นจากกามวิตก การระลึกเป็นไปด้วยความยินดี ความเพลิดเพลิน ความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้นถ้ารู้จักตนเอง ก็มีวิริยะสังวร คือ การเพียรที่จะละกามวิตกนั้น แต่ว่าไม่ใช่ด้วยการบังคับ เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะบังคับไม่ให้โลภะเกิด แต่ว่าด้วยระลึกรู้ลักษณะของโลภะว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    28 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ