โสภณธรรม ครั้งที่ 091


    ตอนที่ ๙๑

    นิภัทร ความหมายของคำว่า “คลุกคลีด้วยหมู่คณะ” หรือไม่คลุกคลีนี่ ก็ควรจะตัดสินด้วยว่าอยู่ด้วยกุศลธรรม หรือว่าอยู่ด้วยอกุศลธรรมมากกว่าใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    พระธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงสัจจธรรม ความจริงของทุกชีวิต ทุกขณะ ซึ่งเริ่มจากการเป็นผู้ที่เต็มไปด้วยกิเลส ยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรไปเลย แล้วก็มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้พิจารณาด้วยดี ด้วยความแยบคาย ด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย ด้วยการเห็นพระคุณของพระธรรม และเจริญกุศลขึ้น โดยที่ว่าทุกคนอยากจะให้สติปัฏฐานเกิดบ่อยๆ ให้วิปัสสนาญาณเกิดเร็วๆ แต่เมื่อเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็จะต้องเจริญกุศลทุกประการในชีวิตประจำวัน

    ไม่ทราบในแต่ละวัน ท่านผู้ฟังจะมีความละเอียดของการที่จะพิจารณาจิตซึ่งทำให้เห็นความคลุกคลี หรือว่าความผูกพันที่จะเล่าให้ท่านผู้ฟังได้รับทราบบ้าง มีไหม

    แม่ชี หนูขออนุญาต หนูไม่ได้ถาม แต่ขอเล่าเรื่องเมื่อวานนี้ คือคิดขึ้นมาว่า เราอยู่เหมือนถูกบังคับ เกิดความน้อยใจ ไปนอนร้องไห้จนน้ำตาเปียกหมอน พอสักหนึ่งก็หยุด พอหยุดแล้วก็เห็นว่า มันบังคับไม่ได้ เห็นสภาพว่าไม่มีใครสั่ง อยากจะร้องก็ร้องเอง แล้วก็หยุดเอง พอหยุดแล้วเห็นสภาพอย่างนั้น ก็เลยหัวเราะ

    ท่านอาจารย์ ก็คลุกคลีด้วยโลภะกับโทสะ เดี๋ยวก็ร้องไห้ เดี๋ยวก็หัวเราะ ก็ทั้งโลภะและโทสะไปเรื่อยๆ ในสังสารวัฏฏ์

    ซึ่งโทษของการคลุกคลี ถ้าสังเกตละเอียดในชีวิตประจำวันมีมากทีเดียว ไม่ใช่แต่เฉพาะกับบุคคล แม้แต่กับสัตว์เลี้ยง ซึ่งแต่ละบ้านก็คงจะมีสัตว์เลี้ยง ก็ลองคิดถึงความทุกข์ของการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงว่า มีมากหรือน้อยแค่ไหน เมื่อเลี้ยงสัตว์ก็ต้องเอาใจใส่ ต้องดูแลสารพัดอย่าง สุขหรือทุกข์ก็แล้วแต่ท่านผู้ฟัง แต่ว่ากิเลสหรืออกุศลทั้งหลายไม่ได้นำความสุขมาให้อย่างแท้จริง เพราะเหตุว่าเมื่อมีโลภะตราบใด ก็มีเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์หรือโทมนัสตราบนั้น

    โดยเฉพาะเวลาที่ขาดความเอาใจใส่สัตว์เลี้ยง อย่างสัตว์บางตัว เช่น สุนัข เป็นสัตว์ที่มีความจงรักภักดีเจ้าของมาก แต่แม้กระนั้นถ้ามีเจ้าของที่ทอดทิ้งเอาใจใส่ไม่พอ ความทุกข์ของผู้เป็นเจ้าของจะเกิด ถ้าเห็นตาของสุนัข เพราะเหตุว่าลองพิจารณาจริงๆ อย่างสุนัขที่รักนาย แต่เวลาที่ฝนตกฟ้าร้อง และนายทอดทิ้ง ปล่อยให้กลัวฟ้ากลัวฝน หนาวสั่น แล้วเวลาที่นึกขึ้นได้ และไปเอาใจใส่ดูแล ขอให้ดูตาของสุนัข ซึ่งขณะนั้นเต็มไปด้วยความผิดหวัง แข็งด้วยความโทมนัส อย่างไม่สามารถอธิบายได้เลยว่า ในความรู้สึกของเขาซึ่งแสดงความผิดหวังในความจงรักภักดีต่อเจ้าของ และถูกเจ้าของทอดทิ้ง ขณะนั้นคนที่เป็นเจ้าของและเห็นตาของสุนัขอย่างนั้น จะเกิดทุกข์ไหม

    นี่เพียงความคลุกคลีระหว่างเจ้าของกับสัตว์เลี้ยง ก็ยังเป็นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาวันหนึ่งๆ อย่างละเอียดจริงๆ จะเห็นได้ว่า มีมากมายหลายขณะเหลือเกินที่เกิดทุกข์บ้าง โทมนัสบ้าง โดยที่ว่าแม้ไม่ตั้งใจ ก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ได้เพียงแต่ขาดการเอาใจใส่ในสิ่งที่ควรกระทำ

    เพราะฉะนั้นเรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด จะต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมนั้นจึงจะพิจารณาได้โดยถูกต้อง เช่น บางคนเป็นผู้มีทรัพย์สิน แต่ก็กล่าวว่าอยากทำบุญ คือ อยากจะได้เงินสำหรับทำบุญ ไม่ใช่ว่าท่านผู้นั้นไม่มีเงินที่จะทำบุญ ท่านมีเงิน แต่ท่านยังอยากเงินเพิ่มที่จะทำบุญ ลองคิดดูถึงสภาพจิต ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด ถ้าเข้าใจเรื่องบุญ ไม่ต้องคอย หรือว่าไม่ต้องคิดอยาก เพราะเหตุว่าขณะนั้นทำบุญได้ทันที เพราะเหตุว่าบุญไม่ใช่มีแต่ขั้นทาน ซึ่งเป็นขั้นที่ต่ำกว่าขั้นศีล หรือขั้นภาวนา ขณะนั้นนึกโกรธใครหรือเปล่า ไม่ชอบใครหรือเปล่า ขุ่นเคืองใครหรือเปล่า ไม่พอใจใครหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องอยากทำบุญ ไม่ต้องคอยที่จะทำบุญด้วยความอยาก ขณะนั้นทำได้แล้ว เพียงแต่มีเมตตาทันที และเห็นโทษของอกุศลในขณะนั้น ชื่อว่า ทำบุญที่สูงกว่าขั้นทาน ทำไมถึงจะต้องคิดอยากทำ ในเมื่อบุญพร้อมที่จะเกิด โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรอ

    นี่ก็เป็นความละเอียดของจิตซึ่งจะต้องพิจารณาว่า ถ้าขณะนั้นเกิดมีท่านนึกอยากจะทำบุญโดยที่ยังคงโกรธบุคคลอื่น ไม่เจริญกุศลซึ่งเป็นบุญที่สูงกว่าทาน เพราะฉะนั้นในขณะที่อยากจะทำบุญ ต้องการอะไร ถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็นเลยว่า หวังผลของบุญหรือว่าหวังหมดกิเลส ที่คอยเวลาที่จะทำบุญโดยที่ไม่เจริญเมตตาในขณะนั้น ก็แสดงว่าต้องการผลของบุญที่เป็นผลของทาน ไม่ใช่หวังที่จะหมดกิเลสโดยการเห็นโทษของอกุศลในขณะนั้น แล้วเกิดกุศลทันที ตามระดับขั้นที่จะเป็นศีลบ้าง หรือว่าเป็นความสงบของจิตบ้าง หรือว่าเป็นสติปัฏฐานบ้าง

    เพราะฉะนั้นไม่ต้องคอยบุญอีกต่อไป บุญเกิดได้ทุกขณะ ถ้าเห็นโทษของอกุศลทันที ระลึกถึงพระธรรมทันที เหมือนกระจกเงาที่ส่องถึงจิตทันที ไม่ว่าจะเห็นแล้วคิด เป็นโลภะหรือโทสะ ถ้าระลึกได้สติเกิด ขณะนั้นมีกระจกเงาที่ส่องถึงจิตที่จะให้รู้ว่า เจริญบุญได้ทันที โดยไม่ต้องคอย

    เพราะฉะนั้นจะเห็นความสำคัญของการพิจารณาธรรมโดยละเอียด ย่อมเป็นประโยชน์ที่จะทำให้ทุกท่านเจริญกุศลยิ่งขึ้น และจะเห็นความสำคัญของความคิด เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงผ่านชั่วครู่ที่จะให้คิดเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นทุกคนอยู่ในโลกของความคิดอย่างมากมาย แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาจะดับไปแล้ว หมดไปแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางหูก็สั้นมาก ปรากฏแล้วดับไปแล้ว แต่ทุกคนก็ยังอยู่ในโลกของความคิดถึงเรื่องต่างๆ ถึงบุคคลต่างๆ

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะเห็นความสำคัญของกุศลวิตก หรืออกุศลวิตก

    วิปัสสนาญาณที่ ๙ คือ มุญจิตุกัมมยตาญาณ เป็นปัญญาที่รู้ชัดในความหน่ายนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้นอีก จนกระทั่งเกิดปัญญาที่ต้องการจะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับที่ปรากฏในขณะนั้น ปัญญาที่ต้องการจะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรมนั้นเป็นมุญจิตุกัมมยตาญาณ

    ข้อความในพระไตรปิฎกสั้นเพียงเท่านี้เอง แต่ว่ากว่าจะถึงการใคร่ที่จะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรม ตามความเป็นจริงในสังสารวัฏฏ์ซึ่งทุกคนได้ผ่านมา จนกระทั่งได้มีโอกาสฟังพระธรรมเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจริงๆ จนกระทั่งวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นตามลำดับขั้น ก็จะยังไม่ถึงการที่ใคร่จะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นชีวิตที่เป็นจริงเป็นอย่างไร การศึกษาพระธรรมก็เพื่อที่จะให้ปัญญารู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น ถ้ายังไม่หน่าย ก็ไม่สามารถที่จะใคร่ที่จะพ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรมได้ เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ ขอให้พิจารณาดูว่า ตั้งแต่เช้าที่ตื่นมา คิดเรื่องอื่นทุกเรื่อง นอกจากเรื่องที่จะหน่ายนามธรรมและรูปธรรม หรือไม่คิดที่ใคร่จะพ้นนามธรรมและรูปธรรม แต่ความคิดที่มากตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ มีใครจำได้ว่าคิดอะไรบ้าง แต่ว่าชีวิตทุกขณะให้ทราบว่าเป็นไปตามความคิด

    เพราะฉะนั้นมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านบอกว่า ท่านเริ่มเห็นความสำคัญของความคิด ซึ่งแต่ก่อนนี้ทุกคนไม่ว่าจะทำอะไรในวันหนึ่งๆ อาจจะเห็นลักษณะของโลภะ ความยินดี หรือความไม่ยินดี แต่ว่าในขณะนั้นไม่ได้คิดว่า แม้แต่การที่จะเคลื่อนไหว การที่จะพูด การที่จะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตเป็นไปตามความคิดทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นก็น่าที่จะพิจารณาจนกระทั่งรู้ลักษณะของความคิดจริงๆ เพราะมิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีทางที่จะหน่าย หรือใคร่ที่จะพ้นจากนามธรรมและรูปธรรมได้

    เวลาอ่านหนังสือพิมพ์เคยเป็นเรา และรู้เรื่องต่างๆ แต่ถ้าศึกษาเรื่องของสภาพปรมัตถธรรมที่ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย จะเห็นลักษณะของความวิจิตรของความคิดตามเรื่องในหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลองพิจารณาจริงๆ มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ทั้งหมดส่องไปถึงวิตกเจตสิกของแต่ละบุคคลที่เป็นข่าว ที่เป็นเรื่อง ที่คิดอย่างนั้น ที่ทำอย่างนั้น หรือแม้แต่ว่าจะเป็นวารสารต่างๆ ที่เป็นความรู้ต่างๆ ถ้าพิจารณาโดยลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เห็นความวิจิตรของความคิดของบุคคลต่างๆ ที่เขียนเรื่องต่างๆ ในวารสารต่างๆ

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า โลกดำเนินไปตามความคิดทุกขณะ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ และไม่ว่าใครจะกระทำกิจการงานใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งกิจการงานในบ้าน นอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นงานหยาบ งานละเอียด งานที่ได้ผล งานที่ไม่ได้ผล ทั้งหมดเป็นไปตามความคิดทั้งสิ้น แต่ว่าถ้ายังไม่รู้จักความคิดจริงๆ ยังไม่สามารถที่จะหน่ายนามธรรมและรูปธรรมได้ เพราะเหตุว่าจะต้องประจักษ์แจ้งจนกระทั่งความคิดแต่ละขณะ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่ขณะที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่กำลังได้กลิ่น ไม่ใช่ขณะที่กำลังลิ้มรส ไม่ใช่ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่กระทบสัมผัสกาย แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นปรมัตถธรรมปรากฏเพียงให้ความคิด คิดเรื่องนั้นต่ออย่างยาวทีเดียว

    ลองคิดดู ขณะนี้กำลังเห็น รูปารมณ์ดับไปแล้ว แต่ความคิดยังไม่ได้ปรากฏว่าดับ และวันหนึ่งๆ คิดมากเหลือเกิน บางเรื่องก็ไกล ยาวไปจนกระทั่งถึงชาติหน้า อย่างมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งก็บอกว่า ท่านใคร่ที่จะเกิดในสวรรค์เพื่อที่จะได้ฟังพระธรรมที่ศาลาสุธรรมมา มา คิดไกลถึงไหนคะ สวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดที่มีศาลาสุธรรมมา และขณะนี้ก็กำลังอยู่ที่นี่ยังเห็น แต่เมื่อประจักษ์ว่า ความคิดท่องเที่ยวไปแสนไกล เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ความจริงทุกๆ ขณะว่า ไม่ปราศจากความคิดหรือวิตกเจตสิกเลย นอกจากขณะที่เห็นเป็นจักขุวิญญาณ ขณะที่ได้ยินเป็นโสตวิญญาณ ขณะที่ได้กลิ่นเป็นฆานวิญญาณ ขณะที่ลิ้มรสหวาน เปรี้ยว เค็มต่างๆ เป็นชิวหาวิญญาณ ขณะที่รู้สิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อนเป็นกายวิญญาณในชีวิตประจำวัน เว้นจิต ๑๐ ดวง นอกจากนั้นวิตกเจตสิกเกิดกับจิตอื่นๆ ทั้งหมดในชีวิตประจำวัน นอกจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ และทุติยฌานจิตขึ้นไป ซึ่งทุติยฌานจิตไม่ใช่ชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้นสำหรับชีวิตประจำวันที่จะรู้ลักษณะของความคิด หรือระลึกได้ถึงลักษณะของวิตก ก็ให้ทราบว่าเมื่อสติเกิด แล้วก็ศึกษาพิจารณารู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ก็สามารถที่จะแยกว่า ขณะที่คิดนึกไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ให้ทราบว่า ปรมัตถธรรมปรากฏแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ว่าความคิดจดจำและก็ตรึกถึงสิ่งซึ่งดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย

    ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค สัญโยชนสูตร ข้อ ๑๘๕ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเทวดาว่า

    โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่า นิพพาน

    เพียงเท่านี้เอง แต่ว่าเป็นความจริง ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ทุกภพทุกชาติ

    โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้

    แสดงให้เห็นว่า ทุกวันจะต้องมีความติด ความพอใจในโลก ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในทุกอย่างซึ่งเกิด แม้ว่าสิ่งนั้นจะดับไป เมื่อไม่ประจักษ์ก็ยังเป็นที่เพลิดเพลินยินดี โดยที่วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น

    ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า

    บทว่า วิตกฺกสฺส วิจรณา ได้แก่ วิตกเป็นเท้าของโลก

    ทุกขณะจิตจะไปทางไหน เพราะวิตก หรือวิตกเจตสิกเป็นเท้าของโลก นั่งอยู่ที่นี่ คิดไปแล้ว มีเท้าก้าวไปสู่อารมณ์นั้น คือ วิตกเจตสิกนั่นเอง หรือแม้แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาที่เห็น ดับแล้ว ก็ไปอีกสู่ความนึกคิดถึงลักษณะที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะวิตกเจตสิกเป็นเท้าของโลก

    ทุกวันๆ ไม่ได้ขาดขณะจิตซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไปเลย เพราะฉะนั้นวิตกเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่มีความสำคัญ นอกจากจะเป็นเท้าของโลกซึ่งก้าวไปเรื่อยๆ สู่ขณะจิตที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง สูงบ้าง ต่ำบ้าง ถ้าเป็นอกุศลวิตกก็นำไปสู่ทางต่ำ คิดก็ต่ำ วาจาก็ต่ำ การกระทำก็ต่ำ เพราะเหตุว่าเป็นอกุศล ใจก็ผูกโกรธ แล้ววาจาก็ทำลายคนอื่นได้ กิริยาอาการก็ทำให้คนอื่นเดือดร้อนได้ นั่นคือสภาพของอกุศลวิตก ซึ่งเป็นมรรคเป็นหนทางที่นำไปสู่อบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย แต่อยู่ทุกๆ ขณะในชีวิตประจำวัน เมื่อเห็น เมื่อได้ยิน เมื่อได้กลิ่น เมื่อลิ้มรส เมื่อรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เมื่อคิดนึก

    แต่จะเปรียบเทียบเห็นความต่างกันของกุศลวิตก ซึ่งเป็นวิตกฝ่ายสูง ฝ่ายดี นำสูงขึ้นสู่สวรรค์ หรืออาจจะถึงรูปพรหมและอรูปพรหม หรือนิพพาน เพราะเหตุว่าวิตกเจตสิกเป็นองค์ของมรรคหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ เป็นสัมมาสังกัปปะซึ่งเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ แต่ถ้าเป็นทางผิด ดำริผิด ก็เกิดร่วมด้วยกับความเห็นผิดได้

    สำคัญไหม วิตก มีอยู่แล้ว และก็กำลังมี และก็จะมีอยู่ต่อไป แต่ถ้าขาดการพิจารณาว่า แม้แต่ความคิดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าขาดการพิจารณาแล้วก็ไม่มีทางเลยที่จะทำให้กุศลวิตกเจริญขึ้น เพราะเหตุว่าย่อมเป็นอกุศลวิตกมากกว่ากุศลวิตก คือ เป็นไปกับโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง

    อดิศักดิ์ ในชีวิตประจำวันที่อาจารย์พูดเมื่อกี้นี้ถูกต้อง แต่ส่วนมากจะเป็นอกุศลวิตกทั้งนั้น โอกาสที่จะเป็นกุศลวิตกยาก อาจารย์ก็ได้เตือนสติถึงว่า วิตกเป็นสัมมาสังกัปปะเป็น ๑ ในมรรค ๘ มันจริงมากๆ ทีเดียว แต่ในชีวิตประจำวันเราก็ไม่เคยนึกเลยว่า วิตกตัวนั้น คือ สัมมาสังกัปปะ และที่เราระลึก เราก็ไม่ระลึกว่า เป็นอกุศลวิตก ส่วนมากจะคิดนึกไปเป็นเรื่องเป็นราวอย่างที่อาจารย์ว่าเมื่อกี้นี้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว โอกาสที่จะเป็นกุศลวิตก คือ ระลึกในนามในรูป ระลึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ยังน้อย เมื่อยังน้อยแล้ว โอกาสที่จะหน่าย เป็นปัญญาขั้นมุญจิตุกัมยตาปัญญา ผมว่ายังอีกไกลแสนไกล

    ท่านอาจารย์ ไกลแน่นอนค่ะ แต่ว่าก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ โดยการฟังพระธรรมโดยละเอียด ความเป็นผู้ละเอียดในการฟังพระธรรม จะทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น แม้แต่ก่อนนี้จะไม่เห็นความสำคัญของความคิด หรือวิตกเจตสิกเลย แต่ถ้าจะรู้ว่า ชีวิตทั้งชีวิตสำคัญที่ไหน สุขหรือทุกข์อยู่ที่ไหน อยู่ที่ความคิดนั่นเอง ถ้าคิดดี เป็นกุศลวิตก ไม่มีทุกข์ แต่ขณะใดที่มีทุกข์ ให้ทราบว่าขณะที่เป็นทุกข์นั้น ขณะนั้นเองเป็นอกุศลวิตก ถ้าไม่เคยสังเกต จะได้ทราบเสียว่า ทุกข์นี้มาจากไหน ทุกข์เกิดขึ้นเพราะขณะนั้นเป็นอกุศลวิตก

    บางท่านอาจจะได้ยินได้ฟังเรื่องไร้สาระที่คนอื่นอาจจะวิพากวิจารณ์ท่าน จิตเป็นอย่างไรคะ กุศลวิตก หรือว่าอกุศลวิตก ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย ใช่ไหมคะ ขณะที่กำลังเดือดร้อน ขณะนั้นไม่ใช่ทุกข์นั้นเกิดจากคนอื่น แต่ว่าอกุศลวิตกทำให้เป็นทุกข์ แต่ถ้าคนฉลาด ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นจริงๆ และถ้าเพียงแต่ไม่สนใจ ไม่เดือดร้อน ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน เห็นก็เหมือนไม่เห็น และก็มีเมตตา ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นก็ไม่เดือดร้อนเลยจริงๆ

    เพราะฉะนั้นถ้าเป็นกุศลวิตกเกิด ไม่เดือดร้อน ถ้าเป็นอกุศลวิตก ควรที่จะระลึกได้ว่า ความทุกข์ทั้งหมด ความเดือนร้อนใจทั้งหมด ความกระวนกระวายทั้งหมด มาจากอกุศลวิตกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นปัญญาจะทำให้เห็นประโยชน์ของการเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และไม่ว่าชีวิตในวันหนึ่งๆ ของแต่ละบุคคลจะได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ใดๆ ก็ตาม แต่ว่าสติเกิดระลึกได้ วิตกเจตสิกเกิดกับสัมมาสติ เกิดกับสัมมาทิฏฐิ ในขณะนั้นจะไม่เป็นทุกข์เลย

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะเป็นผู้ละเอียดจริงๆ ที่จะพิจารณาวิตกเจตสิกซึ่งเกิดกับตนเองในแต่ละวัน เพราะเหตุว่าตามปกติชีวิตส่วนใหญ่ในวันหนึ่งๆ ไม่มีทั้งมิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ ใช่ไหมคะ นอกจากผู้ที่สติปัญญาเกิดมาก สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมบ่อยๆ ในขณะนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิที่เกิดร่วมกับสัมมาสังกัปปะ หรือวิตกเจตสิกในขณะนั้นเมื่อเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิที่ระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะนั้นก็จรดในลักษณะที่เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น สำหรับผู้นั้นในขณะนั้นก็มีสัมมาทิฏฐิที่เกิดร่วมกับวิตกซึ่งเป็นสัมมาสังกัปปะ แต่ว่าลองคิดดูว่า ในวันหนึ่งๆ ขณะนั้นจะมีมากหรือมีน้อย

    เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ ส่วนใหญ่จะไม่มีทั้งสัมมาทิฏฐิและมิจฉาทิฏฐิ นอกจากบางขณะ ถ้าขณะใดที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในภาวนา ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลวิตก

    นี่เป็นข้อเตือนใจ ถ้าจะมองตัวเองให้ถูกต้องว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีแม้แต่ชื่อที่คนอื่นเรียก ใช่ไหมคะ ชื่อจริงๆ ไม่มี เป็นแต่เพียงหมายรู้เท่านั้นเองสำหรับชาติหนึ่ง แต่ว่าชื่อจริงๆ นั้นไม่มีลักษณะที่จะปรากฏให้ถือเอาได้ว่า เป็นของเรา

    เพราะฉะนั้นถ้ารู้จักสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ ก็จะทำให้พิจารณาวิตกเจตสิกได้ชัดเจนถูกต้องละเอียดขึ้น โดยเริ่มรู้ว่า วันหนึ่งๆ มีอกุศลวิตกมาก ถูกหรือผิดคะ เริ่มรู้อย่างนี้เป็นการดี เพื่อที่จะได้รู้จักตัวเองว่า มีกิเลส มีอกุศล ที่จะต้องขัดเกลาด้วยการฟังพระธรรม ด้วยการอบรมเจริญปัญญา และสำหรับอกุศลวิตกในวันหนึ่งๆ ก็ควรที่จะพิจารณาว่า มีหลายขั้น มีตั้งแต่ขั้นที่มีโทษน้อย จนกระทั่งถึงขั้นที่มีโทษมาก

    ขณะที่ไม่รู้สึกกระวนกระวาย เดือดร้อน ไม่ใช่ว่าขณะนั้นไม่มีอกุศลวิตก แต่ว่าเป็นอกุศลวิตกที่มีโทษน้อย เพราะเหตุว่าไม่ทำให้เดือดร้อน กระวนกระวาย

    ตั้งแต่ตื่นขึ้นมา ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ถ้ากุศลใดๆ ไม่เกิด ขณะนั้นก็เป็นอกุศลวิตก แต่ไม่รู้สึกเดือดร้อน เพียงแต่บริหารร่างกาย ดำเนินชีวิตไปเป็นปกติประจำวันทำกิจการงานต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ ขณะนั้นก็ไม่ใช่อกุศลวิตกที่มีโทษมาก แต่ขณะใดที่รู้สึกเดือดร้อน ขณะนั้นถ้าจะพิจารณาสภาพของจิต ก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลวิตกที่มีโทษมาก

    ถ้าเป็นอกุศลวิตกที่เป็นการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินชีวิต ไม่ใช่การทำลาย ก็มีโทษน้อย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    8 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ