โสภณธรรม ครั้งที่ 063


    ตอนที่ ๖

    ทำไมถึงได้บรรลุ เพียงการฟังธรรม เพราะฉะนั้นบางท่านกำลังทำอาหารอยู่ในครัว ก็ไม่ได้สาธยายอะไร ทำไมถึงได้บรรลุ

    เพราะฉะนั้นคำถามก็มีว่า “ทำไมถึงได้บรรลุ” เพราะฉะนั้นก็ตัดเรื่องสาธยาย ตัดเรื่องอื่นทั้งหมดได้ เพราะเหตุว่าจะยกเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้นมา ก็เป็นปัญหาที่ว่า ทำไมถึงได้บรรลุ ทำไมสาธยายจึงได้บรรลุ ทำไมไม่สาธยายจึงได้บรรลุ

    เพราะฉะนั้นที่จะได้บรรลุเพราะอะไรกันใช่ไหม

    นิภัทร ก็คงจะไม่เป็นเพราะสาธยาย

    ท่านอาจารย์ ก็ผู้ที่ไม่สาธยาย ทำไมบรรลุ มากเสียด้วย เพราะฉะนั้นอะไรกันแน่ที่ทำให้บรรลุ

    นิภัทร และการพิจารณายกเอาผม เอาขน เอาเล็บ แต่ละอย่างๆ อาการ ๓๒ แต่ละอย่างมาแยกกระจายออกไป แล้วพิจารณาแยกเป็นส่วนต่างๆ เป็น ๓๒ แล้ว จะเห็นว่านี่แหละเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อย่างนี้ก็เป็นความคิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะฉะนั้นหนทางที่ทรงแสดงไว้ แล้วก็ยืนยันว่าต้องเป็นหนทางเดียวเท่านั้นคือ สติปัฏฐาน

    นิภัทร และขณะที่ระลึกถึงผม หรืออาการ ๓๒ จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็แล้วแต่ ขณะนั้นสติระลึกรู้ ถ้าจะไม่ให้เป็นบัญญัติ จะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ลักษณะอะไรปรากฏทางตา ลักษณะอะไรปรากฏทางหู ลักษณะอะไรปรากฏทางจมูก ลักษณะอะไรปรากฏทางลิ้น ลักษณะอะไรปรากฏทางกาย ลักษณะอะไรปรากฏเกิดขึ้นทางใจ

    นิภัทร ต้องเอาลักษณะสภาวะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนที่สุด ต้องเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเท่านั้น

    นิภัทร แต่จะไปคิดถึงผม ถึงขน ถึงเล็บ นั่นไม่ใช่สภาวธรรม เป็นเรื่องคิดนึกถึงเรื่องราวของชื่อธรรม

    ท่านอาจารย์ วันหนึ่งความคิดของแต่ละคนมากมายนับไม่ถ้วน มีใครนับความคิดของท่านเองได้บ้างไหมว่า คิดเรื่องอะไรบ้างในวันหนึ่งๆ นับไม่ได้ เมื่อนับไม่ได้ พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงวิธีอะไรหรือเปล่า ในเมื่อความคิดของแต่ละคนเกิดขึ้นโดยความเป็นอนัตตาจริงๆ โดยสังขารขันธ์ โดยการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกแต่ละวัน

    เพราะฉะนั้นแต่ละขณะจิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา โดยการที่ว่าขณะคิดเป็นเพียงสภาพธรรมนามธรรมชนิดหนึ่งที่คิดเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไร วันนี้ทุกคนต้องคิดเรื่องผม ถูกไหม เพราะอะไร เวลาเห็นผม ซึ่งทุกคนมีผม ก็ต้องคิดเรื่องผม ต้องคิดแน่ๆ แต่ว่าจะคิดอย่างไร ห้ามได้ไหม เมื่อห้ามไม่ได้ บางคนเป็นกุศล บางคนเป็นอกุศล แล้วแต่ แต่ว่าไม่ว่าเป็นการคิดที่เป็นกุศล โดยเห็นความเป็นปฏิกูล ละคลายความติดความพอใจก็ตาม ก็จะต้องไม่ลืมว่า สติปัฏฐานคือระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    คนที่กำลังพอใจในผมที่สวย สติปัฏฐานเกิดได้ไหม หรือห้ามว่าเกิดไม่ได้ สติปัฏฐานเกิดได้ไหม กำลังพอใจในผมที่สวย สติปัฏฐานระลึกลักษณะสภาพของแข็งที่กระทบสัมผัสได้ ระลึกลักษณะของสี สิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ระลึกถึงลักษณะความคิดในสัณฐานได้ ระลึกลักษณะของโสมนัส ความยินดีพอในใจในขณะนั้นได้ แต่คนที่ท่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่ว่าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะสามารถที่จะบรรลุอริยสัจจธรรมไหม

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ศึกษาพิจารณาธรรมโดยละเอียด โดยนัยของกุศลขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถะ คือความสงบ ดับกิเลสไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา สะสมการสังเกตการพิจารณา การรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดดับตามเหตุตามปัจจัย ตามปกติ แต่เมื่อไม่รู้ ก็จะต้องเริ่มสะสมการระลึกรู้และการสังเกตลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าจะรู้ได้ว่า ถ้าระลึกถึงด้วยความเป็นปฏิกูล จิตอาจจะสงบ แต่ไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้นไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส มิฉะนั้นแล้วต้องมีผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก่อนพระผู้มีพระภาค เพราะเหตุว่ามีผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาถึงขั้นที่เป็นอรูปฌานขั้นสูงสุด แต่ว่าไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    เพราะฉะนั้นถ้าใครคิดถึงผม และเกิดโลภะ ใครคิดถึงผมแล้วก็เกิดโทสะ ใครคิดถึงผมแล้วก็เกิดกุศล ใครคิดถึงผม จิตสงบเพราะกุศล แล้วใครคิดถึงผมแล้วสติระลึกลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น หนทางใดที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และก็ไม่ใช่หมายความว่า ทุกคนจะต้องคิดเหมือนกัน ไม่มีในพระไตรปิฎกเลย เพราะว่านานาจิตตัง วันหนึ่งทุกคนมีความคิดมากมาย เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี แต่ว่าทุกคนจะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงเมื่อสติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะแม้ขณะที่คิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นคิดด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต ด้วยโลภะหรือด้วยโทสะก็ตาม ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานได้ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ผู้ที่บรรลุโดยไม่ท่อง ไม่สาธยายมีมากกว่า ถ้าอ่านในพระไตรปิฎกจะเห็นได้ในแต่ละสูตร

    สมนึก และอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องการท่อง เรื่องการสาธยายอาการ ๓๒ ก็ดี และเรื่องของขันธ์ ๕ อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด คือ ให้ละเอียดขึ้นทุกทีๆ โดยให้รู้สภาวธรรมต่างๆ การท่องอย่างนั้นบ่อยๆ เป็นเหตุปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ควรจะดูการที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมว่า ทรงแสดงให้ท่องหรือเปล่า ถ้าเห็นว่าการท่องมีประโยชน์ ขณะนี้ทุกท่านไม่ควรฟังพระธรรม จงมาท่องกันเถอะในขณะนี้ เพื่อที่สติปัฏฐานจะได้เกิด แต่ว่าทำไมพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติของแต่ละบุคคลเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ้าเป็นโดยนัยแรก การท่องมีประโยชน์ พระธรรมทั้งหมดจะไม่เกื้อกูลและไม่มีความจำเป็นเลย เป็นการเสียเวลาเปล่า ที่จะแสดงเรื่องของจิต หรือเจตสิก หรือรูป หรือนิพพาน หรือแม้แต่พระสูตรหรือพระวินัย ก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ก็ควรที่จะท่องๆ ๆ เพื่อที่จะให้เกิดปัญญา หรือว่าเกิดสติ

    สมนึก ถ้าอย่างที่อาจารย์กล่าวนี้ อย่างพระที่สวดอภิธรรม แล้วก็ศึกษา หมั่นสาธยายบ่อยๆ ก็คล้ายกับการท่องแล้วจะเป็นประโยชน์อะไรกับพระภิกษุ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ฟังพระธรรม ประโยชน์ที่ท่านผู้ฟังได้รับคืออะไร

    สมนึก ก็แล้วแต่ อาจจะทำให้สติเกิดได้ ทำให้เข้าใจสภาวธรรมได้ด้วย แล้วแต่ความเข้าใจของผู้ฟังแต่ละคน

    ท่านอาจารย์ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ฟังเพื่อเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจถูก ซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ ก็จะทำให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ฟัง แต่ถ้าไม่เข้าใจอย่างเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือสภาพธรรมต่างๆ นามธรรมรูปธรรมต่างๆ เพียงบอกว่าเห็นเป็นนาม สีเป็นรูป จะมีประโยชน์อะไรไหม

    ผู้ที่เป็นสาวก ได้ฟังพระธรรมในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ปัญญาของท่านเหล่านั้นไม่น้อยเลย ท่านต้องมีความเข้าใจ แม้ว่าจะทรงแสดงพระธรรมโดยย่อ โดยสั้น แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังติดตามเพื่อฟังส่วนที่ละเอียดเพื่อประโยชน์ต่อการที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมนั้นๆ แล้วสติปัญญาของท่านก็เพิ่มพูนขึ้นตามลำดับขั้น แต่ว่าเกิดจากการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยละเอียดขึ้นๆ ๆ ไม่ใช่เห็นว่า แค่นี้พอแล้วหรือควรแล้ว สามารถที่จะท่องไปๆ แล้วปัญญาจะเกิดได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดเป็นแน่ จนกระทั่งคนในยุคนี้สมัยนี้คิดว่า ละเอียดเกินไปด้วยซ้ำ ใช่ไหม เวลาอ่านพระไตรปิฎกต้องบอกว่า ทำไมซ้ำๆ อย่างนี้ กล่าวแล้วกล่าวอีก ข้อความที่กล่าวไว้ในสูตรนั้น ก็ยังกล่าวไว้ในสูตรนี้อีก แต่ว่าไม่ได้มีพยัญชนะที่บอกว่า ให้ท่อง แต่ว่าทรงแสดงธรรมเพื่อให้เข้าใจ

    นิภัทร การสาธยายที่คุณสมนึกถามอาจารย์ ไม่ใช่ท่องโดยไม่รู้ความหมาย ตามหลักฐานเดิมท่านบอกว่า ท่อง หรือสาธยาย อย่าลืมว่าคนอินเดียสมัยพระพุทธองค์นั้นพูดภาษามคธ หรือพูดภาษาบาลี พอพูดบาลีขึ้น เขาก็รู้ความหมาย เข้าใจ แต่คนไทยพูดภาษาบาลี ฟังเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ สวดอภิธรรมกระผมก็ได้ยินสวดมาตั้งแต่เล็ก ยังไม่รู้ความหมาย กุสลา ธัมมา เหตุปัจจโย ... ก็ไม่รู้ความหมาย สวดกันมามากมาย มีคนฟังสวดแล้วสำเร็จไปกี่คนแล้ว สวดแล้วไม่ได้อะไร เพราะไม่เข้าใจความหมาย

    คำว่า “สาธยาย” หรือ “ท่อง” หลักฐานดั้งเดิมท่านบอกว่า ต้องเข้าใจความหมาย ถ้าไม่เข้าใจความหมาย สิ่งที่ท่องไปนั้นก็เป็นแบบโบราณว่า นกแก้ว นกขุนทอง

    แล้วมีมนต์อยู่บทหนึ่งที่อาจารย์เห็นว่า ลูกศิษย์คนนี้ไม่ฉลาด แต่มีความกตัญญู ก็อยากจะเกื้อกูลอนุเคราะห์ให้อาศัยมนต์นี้เลี้ยงชีพ ก็สวดมนต์ให้ท่องให้จำได้ มนต์นั้นว่า “ฆเตสิ ...” ซึ่งกระผมก็เห็นเขาเอามาพิมพ์แจกว่าเป็นมนต์ป้องกันอันตราย ซึ่งลูกศิษย์คนนี้เมื่อกลับมาแล้ว ญาติพี่น้องก็ต้อนรับอย่างดี ถือว่าเป็นผู้เรียนสำเร็จกลับมา จนกระทั่งวันหนึ่ง มีโจรเข้ามาขโมยของตอนดึก มานพก็ท่องมนต์ตามปกติ โจรได้ยินเปิดเลย เพราะโจรฟังรู้เรื่อง มนต์บทนี้คนไทยฟังไม่รู้ ความหมายก็แปลว่า “พยายามเข้าไปเถอะๆ ถึงแกจะพยายามอย่างไร ฉันก็รู้” โจรก็คิดว่า มีคนคอยจ้องดูอยู่ ก็เลยไม่กล้าเข้าไปในบ้าน ก็หนีไป มนต์บทนี้ถ้าเพียงท่อง ท่องให้ตาย สมัยนี้โจรไม่กลัวหรอก เพราะฟังไม่รู้เรื่อง

    เพราะฉะนั้นคำว่า ท่อง หรือสาธยายนั้น ต้องเข้าใจความหมาย เหมือนกับการสวดมนต์ กระผมเองก็สวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนานเป็นประจำ ตั้งแต่มงคลสูตร รัตนสูตร กรณีเมตตสูตร แต่ว่าไม่ค่อยเข้าใจความหมายเท่าไร ถ้าจะให้เข้าใจความหมายก็จะต้องท่องช้าๆ ต้องสาธยายช้าๆ เพราะฉะนั้นประโยชน์ที่จะได้จากการท่องก็คือความเข้าใจ ถ้ายังไม่เข้าใจ ให้ท่องเท่าไรๆ ก็ไม่ได้ประโยชน์

    สมนึก เมื่อสักครู่คุณนิภัทรกล่าวอย่างนั้น ผมก็ลืมบอกไปว่า ผู้ที่กล่าวเรื่องนี้เขาบอกว่า ให้ศึกษาในสำนักของอาจารย์ ให้เชี่ยวชาญชำนาญและสามารถเข้าใจอรรถและพยัญชนะ และสามารถแยกได้ละเอียดถึงขันธ์ ๕ ทั้งหลาย และหมั่นสาธยายบ่อยๆ จะช่วยให้สติเกิดมากขึ้น ได้หรือเปล่าอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ขอให้ท่านผู้ฟังลองคิดดูว่า ขณะที่กำลังท่อง จะละความยึดถือว่าเป็นตัวตนได้เมื่อไร และเพราะอะไร เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานจะต้องเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ละการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังท่อง รู้อะไร จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ที่กล่าวว่าไปศึกษาที่สำนักอาจารย์จนกระทั่งมีความเข้าใจละเอียดดีแล้ว จึงควรท่องเพื่อที่จะให้สติเกิด แต่ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้นเลย เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของการที่จะท่องก็เคลื่อนแล้ว โดยการที่ว่าต้องการให้สติเกิด

    เพราะฉะนั้นเรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่ละยากที่สุด ใครก็ตามที่หาวิธีหนึ่งวิธีใดที่จะทำให้สติเกิดบ่อย เกิดมาก ผู้นั้นจะไม่เจริญปัญญา เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่าในขณะนั้นเพราะอะไรจึงแสวงหาทางที่จะให้สติเกิดมาก แต่ถ้าเป็นการศึกษาพระธรรม และเข้าใจจริงๆ รู้ในลักษณะที่เป็นอนัตตาจริงๆ แม้แต่เพียงฟังปัญหาแล้ว ก็จะต้องพิจารณาว่า ในขณะที่กำลังท่อง สติจะต้องระลึกอะไร และปัญญาจะต้องรู้อะไร จึงจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ต้องรู้ว่าขณะที่กำลังคิดเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อหวังรอท่อง เพื่อที่จะให้สติไประลึกลักษณะของเห็นที่กำลังท่อง หรือว่าไประลึกลักษณะของได้ยินที่กำลังท่อง หรือว่าไประลึกรู้ลักษณะของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะที่กำลังท่องเรื่องขันธ์ ๕ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ท่องไปเพื่อหวังคอยที่จะให้สติไประลึก แต่ว่าสติปัฏฐานแล้วจะต้องสามารถที่จะแยกโลกของปรมัตถ์กับโลกของบัญญัติได้ เพราะเหตุว่าในขณะนี้ ทุกคน ปรมัตถธรรมปรากฏทางตา เล็กน้อยสั้นมาก แล้วก็บัญญัติ ถ้าไม่คิดแล้ว ไม่มีบัญญัติ มีแต่ปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้นก็ไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ ทางตา ปรมัตถธรรมปรากฏ ในขณะที่ไม่ได้คิดเลยเป็นปรมัตถธรรม แต่ว่าเมื่อเห็นเป็นสัตว์ บุคคล วัตถุสิ่งต่างๆ ขณะนั้นคิด ขณะที่ได้ยินเสียงทางหู เสียงเป็นปรมัตถธรรม แต่ขณะที่กำลังเข้าใจคำ หรือความหมายของคำที่พูด ขณะนั้นเป็นจิตที่คิด มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อจากทางตาบ้าง มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อจากทางหูบ้าง มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อจากทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นปัญญาจะต้องสามารถรู้ว่าปรมัตถธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่ขณะที่จิตคิด เป็นเรื่องของปรมัตถธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังคิดเรื่องผม ไม่มีการที่สติจะระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม แต่ว่าเป็นการคิดๆ ๆ ขณะนั้นเป็นตัวตนที่กำลังคิด เพราะฉะนั้นที่จะละความเป็นตัวตนที่จะเป็นสติปัฏฐานได้ ทุกขณะ ไม่ใช่แต่ขณะที่คิดเรื่องผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือขณะที่พยายามจะท่อง ซึ่งผิดไปแล้ว เรียกว่า เพี้ยนไป คลาดเคลื่อนไปด้วยความต้องการที่จะหาวิธีที่จะทำให้สติเกิดมากๆ ซึ่งนั่นคือลักษณะของโลภะ แต่ว่าถ้าเป็นปัญญาจริงๆ จะต้องรู้ว่า เพียงคิดขณะไหนก็ตาม ขณะนั้นเป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ที่จะต้องรู้ว่า แม้ความคิดก็ดับ เพราะเหตุว่าไม่ได้มีความคิดติดต่อไปตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน เพราะเหตุใด ปรมัตถธรรมกำลังปรากฏสลับกับความคิด

    ทางตาที่เห็นเป็นปรมัตถธรรมปรากฏแล้วคิด ทางหูที่ได้ยิน ปรมัตถธรรมปรากฏแล้วคิด เพราะฉะนั้นความคิดหรือจิตที่คิดทางมโนทวารวิถีเป็นมโนทวารวิถีจิตนั้นดับด้วย ไม่ใช่ไม่ดับ เพราะฉะนั้นปัญญาจะรู้ว่า คิดไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ว่าคิดเรื่องอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เป็นการที่จะไปท่องโดยหวังรอที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แล้วก็ไประลึกลักษณะของขันธ์หนึ่งขันธ์ใด แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะต้องรู้ว่า ขณะที่คิดนั่นเองเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แยกออกจากปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมที่เป็นรูปธรรมที่ปรากฏทางตา หรือว่าจิตที่คิดซึ่งเป็นนามธรรมที่กำลังคิดเรื่องบัญญัติต่างๆ นั่นถึงจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าไม่ใช่ไปท่อง แล้วก็ไปสงบ แล้วก็ไม่รู้ลักษณะของจิตที่คิดทางมโนทวาร ซึ่งสลับกับทางปัญจทวาร

    สมนึก ผมเข้าใจอย่างนี้ไม่ทราบว่าจะถูกหรือเปล่า อย่างสภาวธรรมมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าขณะใดแทนที่จะไปท่อง ถ้าศึกษาและเข้าใจอรรถและพยัญชนะแล้ว ถ้าสติระลึกรู้ขณะใดว่าหลงลืมสติ ขณะนั้นก็สามารถจะพิจารณาสภาพธรรมได้ เพราะสภาพธรรมมีตลอดเวลา แล้วก็ระลึกรู้ได้ ไม่จำเป็นต้องไปท่อง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แล้วก็ตรวจสอบได้กับมหาสติปัฏฐานสูตรทั้ง ๔ สติปัฏฐาน ไม่ได้บอกไว้เลยว่าให้ท่อง แต่ว่าให้สติระลึกลักษณะของกาย ลักษณะของเวทนา ลักษณะของจิต ลักษณะของธรรม คือ ในขณะนี้เองที่กำลังปรากฏ ความคิดนึกไม่ต้องไปส่งเสริม ทุกคนคิดจนกระทั่งปิดบังลักษณะของปรมัตถธรรม แม้ว่าปรมัตถธรรมมี ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมว่า เป็นปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าความคิดที่ไปยึดถือปรมัตถธรรมที่เกิดดับสืบต่อจากรวดเร็ว โดยวิปลาสที่เห็นแตกต่างไปจากสภาพธรรมตามความเป็นจริงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่ไปสร้างวิธีหนึ่งวิธีใดขึ้นมาเป็นแบบที่จะยึดถือ ที่จะติดข้อง ที่จะทำให้กั้นไม่ให้สติเกิดในขณะนี้โดยที่ยังไม่ทันท่อง ทางตาก็กำลังเห็น สติก็ระลึกได้ ทางใจที่คิดก็รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งคิด และจะรู้ได้ว่า โลกของบัญญัติอยู่ที่โลกของความคิดทั้งหมด แต่ว่าโลกของปรมัตถ์สลับกับโลกของบัญญัติด้วย ไม่ใช่มีแต่ความคิดอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้นในขณะที่ท่องไม่ได้รู้โลกของปรมัตถ์ที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดทั้ง ๖ ทางเลย แต่ว่ามุ่งไปด้วยความหวังว่า จะท่องเพื่อให้สติเกิดโดยที่ไม่รู้ว่า ถ้าสังขารขันธ์ คือ การฟังจนกระทั่งเข้าใจในสภาพที่เป็นอนัตตาแล้วละก็ ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่คิด ไม่ใช่ในขณะที่ท่อง สติปัฏฐานก็เกิดโดยความเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่าจะท่องหรือไม่ท่องก็คือความคิด ซึ่งแล้วแต่จะคิดเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    อดิศักดิ์ กระผมขอเพิ่มเติมอีกเรื่อง เรื่องสาธยาย เรื่องท่องหน่อย คือ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานหรือเรื่องการเจริญวิปัสสนานี้ เป็นเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องอบรม คือ การฝึก ฝึกจิต ต้องฝึกอยู่เรื่อย พระธรรมก็เป็นสิ่งที่ทำให้เข้าใจประกอบ แล้วต้องฝึก คือเรียกว่า ถ้าท่องแล้วสติปัฏฐานจะเกิดไม่ได้ เพราะจะต้องระลึก สิ่งที่ระลึกอย่างนี้ สภาพของมันต้องระลึก จะไปใช้คำมาท่องไม่ได้ ต้องฝึก ต้องอบรม เพราะฉะนั้นจะใช้ท่องไม่ได้ แม้กระทั่งการบรรยายของอาจารย์ที่นี่ ก็มีผู้ที่ท่องได้คล่อง พออาจารย์ถามเห็น ก็ไม่เข้าใจว่าเห็นเป็นอย่างไร ในขณะที่จักขุทวาร มีจักขุปสาท มีรูปารมณ์ ก็เข้าใจหมด เพราะท่องได้ เพราะฉะนั้นการฝึกอบรมเจริญสติปัฏฐานสำคัญมาก เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องท่อง

    ท่านอาจารย์ ก็ขออนุโมทนาที่ให้ข้อคิดในเรื่องของธรรม ซึ่งก็ไม่ควรจะค้างไว้เพียงแค่ว่าเป็นการฝึกอบรมหรือสะสม ควรที่จะต้องรู้ให้ชัดยิ่งไปกว่านั้นอีกว่า ฝึกอบรมสะสมอะไรที่จะเป็นสติปัฏฐาน คือ ฝึกอบรมสะสมการสังเกต การพิจารณา การระลึก การรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ ปัญญาที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน จะต้องประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมว่าเป็นนามธรรม จึงไม่ใช่เรา รู้ในลักษณะของรูปธรรมว่าเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา แต่เวลานี้ทั้งๆ ที่นามธรรมก็เกิด เห็นก็เป็นนามธรรม ได้ยินก็เป็นนามธรรม คิดนึกก็เป็นนามธรรม รูปธรรมก็มี คือสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูปธรรม เสียงก็เป็นรูปธรรม แล้วทำไมถึงไม่ปรากฏ ก็เพราะเหตุว่ายังไม่ได้สะสมอบรมการสังเกต การระลึกได้ การศึกษา การพิจารณาพร้อมสติในขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงว่าเป็นการอบรม เป็นการสะสม ก็ควรที่จะได้เพิ่มเติมว่า เป็นการอบรมสะสมการระลึกรู้พร้อมการสังเกตพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นโดยลักษณะนี้ก็ตัดปัญหาเรื่องท่องไปได้เลย ใช่ไหม เพราะเหตุว่าในขณะนั้นไม่ใช่การสะสมการสังเกต การระลึกรู้ การพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานจึงสามารถรู้ได้ว่า ขณะไหนเป็นสติปัฏฐาน ขณะไหนเป็นการคิดเรื่องนามธรรมและรูปธรรม

    ผู้ฟัง ก่อนได้มาฟังพระธรรม เวลาถูกเขาหมิ่นประมาท กล่าวคำหยาบด่าว่า เราก็เดือดร้อนมาก ก่อการทะเลาะวิวาท ต่อมาเมื่อฟังพระธรรมบ่อยๆ นานๆ เข้า ยิ่งได้อ่านศึกษาเรื่องอภิธรรมก็รู้ว่า มีแต่รูปกับนาม เวลาถูกคนอื่นหมิ่นประมาทด่าว่า เกิดนึกขึ้นได้ว่า นั่นเป็นเพียงรูปกับนามเท่านั้น เสียงนั้นเป็นเพียงจิตตชรูป นามนั้นเป็นโทสมูลจิต เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นึกได้อย่างนี้แล้ว ความเดือดร้อนก็น้อยลง เวลานึกได้อย่างนี้เป็นสติหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เป็นสติที่ระลึกได้ และจะเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรมจริงๆ ว่า ไม่ใช่จะต้องมีสติปัฏฐานอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าสติจะเกิดโดยการที่ระลึกได้ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ตามในวันหนึ่งๆ ถ้าในขณะที่อกุศลจิตเกิด แล้วสติไม่ระลึกเลย เช่นบางวันหรือทุกวันก็ได้ ตั้งแต่เช้าตื่นมาทุกคนชินกับกระแสของอกุศล อกุศลคือโลภะ ต้องการ ตั้งแต่ลืมตา ทุกอาการกิริยาการเคลื่อนไหวเป็นไปด้วยความต้องการทั้งสิ้น แต่ไม่เคยรู้สึกเลยว่า เป็นโลภะ เป็นอกุศล หรือเคยรู้สึกคะ ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งขณะที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม หรือขณะที่กุศลจิตไม่เกิด ทราบไหมว่า ในขณะนั้นเป็นชีวิตประจำวันซึ่งเต็มไปด้วยอกุศล ไม่เคยรู้เลย เป็นกระแสของอกุศล จนกระทั่งสติระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นอกุศล ขณะนั้นสติเป็นธรรมเครื่องกั้นกระแสของอกุศลที่ระลึกได้

    เพราะฉะนั้นเวลาได้ยินคำพูดที่ไม่พอใจ เป็นคำสบประมาท ซึ่งแต่ก่อนนี้ก็จะต้องไหลไปตามกระแสของอกุศล คือ ความไม่พอใจ แต่พอสติเกิดระลึกได้ นั่นคือสติเป็นเครื่องกั้นกระแสของอกุศล

    เพราะฉะนั้นจึงเห็นคุณของสติว่า จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะเหตุว่าเพราะสติเกิดจึงสามารถที่จะรู้ว่า สิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร

    ผู้ฟัง ผมสงสัยว่า ที่นึกว่าเป็นเพียงรูปกับนามเป็นอารมณ์ อารมณ์นั้นเป็นของคนอื่น ไม่ใช่จิตของเรา ถ้ามีสติจะต้องรู้สึกว่า ที่คิดว่ารูปนามก็เป็นนามชนิดหนึ่ง เป็นนามของเรา จิตคิดว่าเป็นรูปกับนามเท่านั้นเอง ต้องนึกถึงว่า จิตเรา จึงจะเป็นสติใช่หรือเปล่า จะต้องมีจิตของเราเป็นอารมณ์ ตอนที่เห็นว่าคนกำลังด่าเรานั้น ก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ก็เป็นเพียงรูปกับนามที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มันต้องเกิดขึ้น มันมีเหตุปัจจัยแล้ว จิตที่กำลังคิดอย่างนั้นเป็นเพียงนามชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ถูก เพราะขณะนั้นใครคิดว่านั่นเป็นรูป

    ผู้ฟัง นามธรรมชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นจิตที่เกิดพร้อมกับสติ สติที่เป็นไปในการคิดเรื่องนามธรรมและรูปธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่คิดว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่คิดอย่างนั้น ก็เป็นสติเหมือนกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นสติขั้นที่คิดเรื่องนามธรรมและรูปธรรม คือ คิดว่านั่นเป็นรูป ที่คิดว่านั่นเป็นรูป เป็นสติ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ถ้าสติปัฏฐานแล้วจะต้องระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นสติปัฏฐานหมายถึงจิตของเราเอง

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของสภาพคิด แต่นั่นเป็นเพียงการคิดเรื่อง

    ผู้ฟัง เรื่องที่เคยได้ยินธรรมมา

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นปัญญาขั้นคิดเรื่อง เป็นสติขั้นคิดเรื่อง แต่ก็ชื่อว่า เป็นผู้น้อมไปสู่การที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อดับกิเลส เพราะมิฉะนั้นก็อาจจะพอใจที่จะโกรธ แต่เมื่อพิจารณาเห็นว่า ไม่มีประโยชน์ ขณะนั้นก็เป็นการน้อมที่จะพิจารณาและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่ได้ฟัง

    บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะเหตุว่าบัญญัติไม่ใช่สภาวธรรม นี่เป็นเหตุผลที่จะต้องรู้ว่า เหตุใดบัญญัติจึงเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานหมายความถึงสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งได้แก่นามธรรมหรือรูปธรรมจนกว่าปัญญาจะประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต้องมีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ที่ปัญญารู้ชัดแล้วจึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องพิจารณาเรื่องของบัญญัติโดยละเอียดบ่อยๆ ว่า เข้าใจเรื่องของบัญญัติเพิ่มขึ้น จนกระทั่งทำให้สติสามารถที่จะละความติดในบัญญัติเพื่อที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้น

    เพราะฉะนั้นบัญญัติธรรมคืออะไร บัญญัติธรรมก็คือเรื่องราวที่จิตคิดนึกไปต่างๆ ขณะใดที่จิตไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นจิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน เพราะฉะนั้นขณะใดที่จิตไม่มีปรมัตถธรรม ๔ เป็นอารมณ์ ขณะนั้นจิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    และในวันหนึ่งๆ จะทราบโดยสติระลึกว่า ขณะใดมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ถ้าสติไม่เกิด บัญญัติธรรมและปรมัตถธรรมก็ปนกัน ยากที่จะรู้ชัดได้จริงๆ ว่า ในขณะนี้กำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้นเนื่องจากการไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของปรมัตถธรรม จึงไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันของขณะที่กำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ หรือว่ากำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็เริ่มที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่เคยเข้าใจว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องราวต่างๆ แท้ที่จริงแล้วในขณะที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรมแล้ว ทั้งหมดในขณะนั้นเป็นบัญญัติทั้งสิ้น

    การที่จะศึกษาพระธรรม จะต้องศึกษาจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน วันนี้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมอะไรบ้าง นี่เป็นเครื่องทดสอบว่า สามารถที่จะแยกรู้ปรมัตถธรรมกับบัญญัติในขณะที่เป็นอารมณ์บ้างหรือยัง ถ้าในวันนี้สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมก็จะรู้ได้ว่า ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ มีลักษณะปรากฏ แม้ว่าจะไม่นึกถึงคำ ถึงเรื่อง ถึงชื่อของปรมัตถธรรมนั้น ลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ ก็มี เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ในวันนี้หรือแม้แต่เดี๋ยวนี้เอง ขณะใดมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    ทางตา มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ มีบัญญัติเป็นอารมณ์หลังจากที่จักขุทวารวิถีจิตดับไปแล้ว

    ทางหู ขณะที่เสียงเท่านั้นปรากฏ ยังไม่ได้คิดถึงความหมายเลย ขณะนั้นมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แต่เมื่อโสตทวารวิถีดับไปแล้ว หลังจากนั้นก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้นบัญญัติธรรมกับปรมัตถธรรมที่เป็นอารมณ์ จะสลับกันในวันหนึ่งๆ อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งถ้าสติไม่ระลึก จะแยกไม่ออกเลย แม้แต่ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ เริ่มที่จะเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นปรมัตถ์ และขณะใดเป็นบัญญัติ ทางตา เป็นเครื่องที่จะตรวจสอบการได้ฟังพระธรรมมาเป็นเวลานาน และการที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมทางนั้นบ้าง ทางนี้บ้าง ทางกายบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ลิ้นบ้าง ใจบ้าง ตาบ้าง เพื่อที่จะได้รู้ว่า ความรู้ในลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

    มีท่านผู้ฟังที่ใคร่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไหม เรื่องของวันนี้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมอะไรบ้าง หรือว่าเป็นบัญญัติไปหมดทั้งวัน ทั้งๆ ที่ปรมัตถธรรมมี ไม่ใช่ไม่มี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 24
    26 ม.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ