แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 719


    ครั้งที่ ๗๑๙


    ถ. ขณะนั้นรู้สึกว่า จะสลับกัน บางทีก็ฟุ้งซ่าน บางทีก็สงบ และก็กลับมาฟุ้งซ่านใหม่ ก็กำหนดลมหายใจใหม่ต่อไป เกิดความสงบบ้าง หนักๆ เข้าจิตค่อยๆ ตั้งมั่นที่ลักษณะลมหายใจนั้น ค่อยๆ รู้สึกสงบ ช่วงแรกสงบ แต่นอนไปนอนมาคิดอีกแล้ว ถ้าเรื่องมันแรงมาก ก็ทำให้ความสงบเกิดได้ยาก ผมสงสัยว่า ลักษณะนี้ปฏิบัติถูกหรือเปล่า

    สุ. ถ้ายังถือว่าเป็นความสงบ ก็จะเป็นอย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่ความสงบที่แท้จริง เพราะไม่ประกอบด้วยปัญญา

    ถ. แต่ผมรู้สึกว่า ความสงบในการเจริญสติปัฏฐานนี่มั่นคง

    สุ. จะคิดอย่างไรก็แล้วแต่ ประกอบด้วยปัญญาหรือเปล่า นี่คือหลักสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เข้าใจถูกต้องว่า เป็นความสงบหรือไม่ใช่ความสงบ

    ถ. ก็ช่วงที่สงบ

    สุ. ไม่ใช่ช่วง ขณะที่กำลังสงบ ประกอบด้วยปัญญาหรือเปล่า

    ถ. ขณะนั้นมีความรู้สึกว่า จิตจับอยู่ที่ลมหายใจ

    สุ. ไม่สำคัญ ลักษณะของสมาธิไม่ใช่ลักษณะของความสงบ เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ ตั้งมั่นคงด้วยอกุศลได้ ไม่ใช่ความสงบ

    เพราะฉะนั้น อย่าปนสภาพของความสงบกับลักษณะของสมาธิ ซึ่งมีทั้ง มิจฉาสมาธิที่เป็นอกุศลสมาธิก็ได้ แต่ถ้าปัญญาเกิดขึ้นพร้อมทั้งความสงบและสมาธิ ขณะนั้นจึงเป็นความสงบ

    ถ. แสดงว่าไม่ใช่แล้ว

    สุ. การอบรมเจริญสมถภาวนาเป็นเรื่องใหญ่ เป็นกุศลที่ไม่ใช่ขั้นทาน ไม่ใช่ขั้นศีล และต้องประกอบด้วยปัญญาจริงๆ

    ถ. ผมรู้สึกว่า เข้าใจยากกว่าการเจริญสติปัฏฐานด้วยซ้ำ

    สุ. ถ้าไม่กล่าวถึงการเจริญสมถภาวนา ท่านผู้ฟังก็จะรู้สึกได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะของอกุศลจิต เช่น โลภะบ้าง โทสะบ้าง กุศลบ้าง แต่ถ้าท่านระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศล เช่น เมตตา และรู้ในลักษณะของความสงบซึ่งต่างกับลักษณะของโทสะ และเมตตาจะเกิดบ่อยขึ้น หรือกรุณาก็ตาม มุทิตาก็ตาม อุเบกขาก็ตาม สภาพธรรมที่เป็นกุศลปรากฏตามความเป็นจริงให้ระลึกเนืองๆ เมื่อระลึกเนืองๆ จิตสงบขึ้นไหม ความสงบต้องเกิดพร้อมปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

    ถ. อาจารย์พูดอย่างนี้ก็ถูก แต่ว่าอานาปานสติไม่รู้จะทำอย่างไร

    สุ. อีกแล้ว ถ้าอยากเจริญอานาปานสติ ก็เป็นความอยาก

    ถ. ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป

    สุ. เวลานี้ลมหายใจปรากฏ สงบไหม นี้คือขั้นต้น เหมือนกับเวลาที่เห็นคนหนึ่งคนใด จิตสงบไหม ถ้าจะเจริญความสงบ ก็ขณะที่กำลังจะฆ่าสัตว์ ฆ่ายุง ฆ่ามด ไม่สงบ ขณะที่ไม่ฆ่า สงบ

    สีลานุสสติ จาคานุสสติ มรณสติ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ อารมณ์ที่จะให้จิตสงบ มี ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็จะเป็นความสงบขึ้นมาด้วยโลภะ ด้วยความต้องการ ด้วยความจดจ้อง โดยที่ปัญญาไม่เกิดเลย ไม่ใช่อย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ความสงบที่ลมหายใจเดี๋ยวนี้ที่กำลังรู้นี่ มีความสงบ หรือมีแต่เพียงความจดจ้อง ขณะนี้สงบได้ไหม เท่านี้ก่อน ถ้าสงบได้ เพราะอะไร เพราะระลึกที่ลมหายใจ หรือเพราะเหตุอื่น

    ถ. เพราะอะไร

    สุ. ใครจะรู้ นอกจากตัวเอง ถ้าขณะนี้รู้ว่าไม่สงบ รู้ด้วยในอาการที่ไม่สงบของจิต และจิตจะสงบได้เพราะอะไร ต้องถามตัวเอง ถ้าเกิดความสงบขึ้นเดี๋ยวนี้ เพราะอะไร นี่เป็นปัญญาที่รู้ว่าสงบเพราะอะไร

    ลมหายใจมี ระลึกที่ลมหายใจแล้วสงบ หรือว่าเพราะอย่างอื่นจึงสงบ ตามความเป็นจริง ธรรมเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องตรง ถ้าลักษณะที่สงบ ก็ต้องมีเหตุว่า สงบเพราะอะไร

    ถ. ลมหายใจขณะนี้ ไม่มีสิ่งที่ให้กุศลจิตเกิดขึ้น เมื่อไม่มี และระลึกตรง ลมหายใจ ก็สักแต่รู้ลมหายใจ

    สุ. เมื่อตัวเองไม่แน่ใจ และไม่รู้ด้วยว่าเป็นความสงบ จะเป็นความสงบได้อย่างไร แต่ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามเกิดเมตตาขึ้น รู้ในสภาพของเมตตาและสงบขึ้น นั่นประกอบด้วยปัญญาแล้ว แต่เวลาที่ระลึกรู้ลมหายใจ ประกอบด้วยปัญญาอะไรจึงสงบ

    ถ. ผมสงสัยว่า อานาปานสติ จะปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้อง

    สุ. เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องยาก อย่าเพิ่งไปถึงอานาปานสติได้ไหม ทำไมต้องการอานาปานสตินัก

    ถ. (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. มีทุกอย่าง แต่ว่าเป็นเรื่องขณะปัจจุบัน

    ผู้ฟัง ดิฉันเป็นคนที่มีอัธยาศัยชอบอานาปานสติ คือ เกิดขึ้นขณะที่กำลังเจริญสติ เดี๋ยวก็มารู้ลมหายใจหน่อยหนึ่ง และก็ไปรู้อย่างอื่น ก็ทำงานทำการไป บางทีก็มีสติระลึกรู้ที่ลมหายใจสักหน่อยหนึ่ง บางทีก็รู้ยาวหน่อย เขาเกิดอย่างนั้น ไม่ได้ไปบังคับ เขาต้องการจะรู้ที่ลมหายใจ จิตก็สงบ สงบเป็นแบบอุเบกขาทีเดียว ลักษณะของอุเบกขาก็ชัด เพราะขณะนั้นโทสะไม่เกิด โลภะไม่เกิด สติระลึกรู้ที่ลมหายใจ และก็สงบ

    ดิฉันเป็นคนช่างคิด ชอบถามตัวเองว่า ขณะที่มีสติระลึกที่ลมหายใจบ่อยๆ เพราะอะไรจิตจึงสงบ เพราะลมหายใจก็มีอยู่เป็นประจำ ลมหายใจไม่เป็นที่เกิดของโลภะ โทสะ แต่ถ้าหากไม่มีสติระลึกรู้ ก็เป็นที่เกิดของโมหะได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีสติที่ลมหายใจ ก็สงบง่าย สงบทีเดียว เป็นความจริงอย่างนี้

    สุ. ประกอบด้วยปัญญาไหม

    ถ. ขณะที่มีลมหายใจนั้น จิตไม่เป็นโลภะกับลมหายใจ คือ ทวารนี้ความชอบก็ไม่มี ไม่ชอบก็ไม่มี แต่ว่าขณะใดที่มีลมหายใจโดยปราศจากสติ ก็มีโมหะ เป็นความจริงอย่างนี้

    สุ. เรื่องของการเจริญอบรมสมถภาวนาเป็นเรื่องละเอียดกว่าขั้นทาน และขั้นศีลแน่นอน แม้แต่ทาน บางท่านก็ยังสงสัยว่า นี่เป็นทานหรือเปล่า อย่างการให้นี้ ท่านก็ยังงงๆ ว่า ให้อย่างนี้จะเป็นทานไหม คือ ไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศลที่มีเจตนาจะสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น เพราะว่าเพียงดูอาการภายนอกของการที่จะหยิบยกยื่นสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่บุคคลใด อาจจะเพื่อหวังผล หรือว่าเป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งไม่ใช่เป็นเจตนาให้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญความสงบนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดกว่า และเป็นกุศลที่ควรเจริญ เพราะรู้โทษของอกุศลที่เป็นไปอย่างละเอียดยิ่ง ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ไม่ได้พูด ไม่ได้ทำ นั่งเฉยๆ แต่ว่าคิดนึกเป็นอกุศลแล้ว เมื่อเห็นโทษของอกุศล ซึ่งเป็นไปทุกขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง กระทบสิ่งต่างๆ บ้าง และก็รู้ว่าการที่จะให้อกุศลเหล่านั้นเกิดไม่เป็นประโยชน์ ควรที่กุศลจิตจะเกิด แต่ว่าทำอย่างไรกุศลจึงจะเกิด นี่เป็นปัญหาแล้วใช่ไหม

    ทุกคนอยากจะมีกุศลจิต เพราะรู้ว่าอกุศลจิตวันหนึ่งๆ นี้มากเหลือเกิน แต่ทำอย่างไรจึงจะพ้น หรือจะมีกุศลจิตเกิดแทนอกุศล ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้หนทาง ขณะนั้นก็ยาก ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้จิตเป็นกุศลเกิดขึ้น จิตที่เป็นกุศลก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะเจริญให้เพิ่มพูนขึ้นโดยปราศจากปัญญา ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

    ทุกคนมีลมหายใจ แต่ว่าจะรู้ที่ลมหายใจด้วยโลภะได้ไหม ตามความเป็นจริง ลองย้อนคิดว่า ลมหายใจมี เป็นที่ตั้งของโลภะได้ไหม ตามปกติ ทุกอย่างเป็นอารมณ์ของโลภะได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ลมหายใจก็คือ โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์ที่ปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสในจมูก ในช่องจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปาก เช่นเดียวกับโผฏฐัพพะอื่นซึ่งกระทบส่วนอื่นของร่างกาย และจะมีความปรารถนา มีความต้องการ มีความจำเป็นอะไรที่คิดว่า เมื่อจดจ้องที่ลมหายใจแล้วจิตจะสงบ ลมอื่นได้ไหม เพราะฉะนั้น ข้อที่ควรจะระลึก คือ เมื่อลมหายใจเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นโผฏฐัพพารมณ์ที่ปรากฏเมื่อกระทบกาย ก็เป็นที่ตั้งของความพอใจได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตระลึกที่ลมหายใจโดยปราศจากปัญญา แต่มีความพอใจ ที่จะให้รู้อยู่ที่ลมหายใจ ขณะนั้นจะเป็นโลภะ หรือว่าจะเป็นความสงบ เพราะว่ามีความต้องการที่จะให้จิตรู้อยู่ที่นั่น ลักษณะของการจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดเป็นลักษณะของสมาธิ ไม่ใช่ลักษณะของความสงบ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอารมณ์ใดก็ตามย่อมเป็นที่ตั้งของโลภะได้ทั้งสิ้น ถ้าปราศจากปัญญาที่จะรู้สภาพของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลเพราะเหตุใด เหตุนี่สำคัญมาก ถ้าปราศจากเหตุที่ถูกต้อง สติปัฏฐานและปัญญาขั้นวิปัสสนาก็เกิดไม่ได้ และถ้าปราศจากเหตุที่ถูกต้อง ความสงบและปัญญาขั้นสมถะก็เกิดไม่ได้เหมือนกัน

    ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ทุกคนซึ่งไม่รู้อะไรเลย ก็ไปนั่งจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจและจิตก็จะสงบ ไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเลยว่า การอบรมเจริญภาวนาสามารถจะกระทำได้ด้วยความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามซึ่งไม่รู้อะไร เพียงแต่รู้ว่าให้จดจ้องที่ลมหายใจ รู้เพียงแค่ให้จดจ้องที่ลมหายใจ ย่อมไม่สามารถที่จะช่วยให้จิตสงบได้ เพราะว่า นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญาอะไรเลย และเมื่อไม่มีเหตุประกอบที่จะเป็นปัจจัยให้สงบ ความสงบก็เกิดไม่ได้

    การเจริญภาวนา ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ต้องเกิดจากความรู้ซึ่งต่างขั้นกัน ความรู้ขั้นสมถะรู้เพียงว่า สภาพของจิตที่สงบเป็นอย่างไร และอารมณ์ที่จะทำให้จิตสงบนั้นคืออารมณ์อะไร ประกอบด้วยปัญญาอย่างไร จึงจะเจริญได้ เพราะฉะนั้น การที่จะให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดไปจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ นั่นไม่ใช่ข้อปฏิบัติของการเจริญสมถภาวนา

    แม้แต่ตัวท่านเอง หรือท่านจะบอกบุคคลอื่นว่า ให้จดจ้องที่ลมหายใจและจิตจะสงบ นั่นก็ผิด เพราะว่าบุคคลผู้ที่รับคำสั่งหรือคำแนะนำนั้น ไม่เกิดปัญญาที่จะรู้อะไรเลย มีแต่การจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น ซึ่งนั่นไม่ใช่ลักษณะของความสงบ ไม่ใช่ลักษณะของปัญญา

    ลมหายใจมีจริง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่ายังชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ ยังเป็นไปได้อยู่ชั่วขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่เท่านั้นเอง ชีวิตที่คิดว่าสำคัญเหลือเกิน มีความเยื่อใยในทรัพย์สมบัติ ในรูปสมบัติ ในวิชาความรู้ต่างๆ ในฐานะ ในเกียรติยศ เห็นความสำคัญของสิ่งต่างๆ ว่ามากมาย และยึดถือคิดว่าเป็นตัวตน เป็นของท่าน แต่แท้ที่จริงแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับลมหายใจแผ่วๆ ซึ่งเป็นลักษณะของโผฏฐัพพารมณ์ที่ละเอียดมาก

    เพราะฉะนั้น ชีวิตที่ท่านคิดว่าใหญ่โตและสำคัญเหลือเกิน ก็ปราศจากความหมายทั้งสิ้น เพราะว่าขึ้นอยู่กับเพียงลมหายใจเบาๆ ซึ่งถ้าขาดหรือหมดไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างของท่านก็สูญหมด ความเป็นบุคคลนี้ ความเป็นเจ้าของ ครอบครองเกียรติยศ ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ ความรู้ต่างๆ ก็จะสิ้นไปหมดทันทีที่ลมหายใจนั้นหมดไป เท่านั้นเอง

    ที่เห็นความสำคัญของลมหายใจว่าเหนือสิ่งอื่นใด ก็เพราะว่าโลกทั้งโลก ชีวิตทั้งชีวิต ทุกสิ่งที่ท่านคิดว่าสำคัญเหลือเกิน แท้ที่จริงขึ้นอยู่กับสภาพซึ่งเล็กน้อย เพียงลมอ่อนๆ และเกิดขึ้นปรากฏนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นชั่วขณะหนึ่งๆ

    เพราะฉะนั้น ท่านจะพิจารณาได้ ในการเจริญสมถภาวนาทุกอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นมรณสติก็ตาม ระลึกถึงความตาย บางท่านระลึกถึงความตายแล้วก็กลัว ตกใจมาก อยากจะหนีไปให้พ้นวันนั้น นั่นหรือคือสมถภาวนา ไม่ใช่ว่าบอกใครๆ ให้ระลึกถึงความตายแล้วจิตจะสงบ เป็นการเจริญสมถภาวนา แต่ถ้าไม่มีอุบาย ไม่มีนัย ไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริง ความสงบก็เกิดไม่ได้

    การระลึกถึงความตาย ต้องระลึกด้วยปัญญา จิตจึงจะสงบ ฉันใด การที่จะระลึกที่ลมหายใจพร้อมปัญญา จิตจึงจะสงบในขณะนั้น หรือว่าการระลึกถึงอสุภะ ซากศพ ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งหลายท่านเห็นแล้วกลัว ยังกลัวอยู่เรื่อยๆ ไม่สงบเลย เพราะฉะนั้น จะบอกว่าให้ไปเจริญอสุภะ ดูอสุภะแล้วจิตจะสงบ เป็นไปได้อย่างไร ถ้าปัญญาไม่เกิดที่จะทำให้เห็นความจริงของอสุภะว่า ไม่มีใครพ้นไปได้ อสุภะนั้น หรืออสุภะนี้ ก็เหมือนกันในวันหนึ่ง ถ้าระลึกให้ถูกต้องตามความเป็นจริงในแนวทางของกุศลแล้ว จิตจึงสงบได้ หรือว่าไปนั่งจ้องหัวกะโหลกทั้งวันๆ ก็ไม่ใช่ว่าจิตจะสงบ คิดว่าเป็นสมาธิ สงบแล้ว แต่ความจริงไม่ได้เกิดความรู้ หรือแม้แต่จิตที่จะถอยจากโลภะ โทสะ โมหะก็ไม่เกิดขึ้นเลย จะสงบได้อย่างไร

    อารมณ์ของสมถภาวนาทั้ง ๔๐ อารมณ์ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การที่ระลึกถึงโดยถูกต้อง ย่อมทำให้จิตสงบ และต้องระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ไม่ใช่ไปจดจ้องให้จิตตั้งแน่วแน่อยู่ที่ลมหายใจโดยไม่รู้ ผลปรากฏก็คือว่า สงบเสียจนไม่รู้สึกตัว นั่นหรือสงบ ถึงขีดสุด คือ ปราศจากความรู้สึกตัว บางท่านก็มีอาการรู้สึกผิดปกติ เพราะเมื่อ โมหมูลจิต ความหลงลืมสติ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยๆ และก็เข้าใจว่าสงบ ผลก็คือ มีปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งผิดปกติ และก็เป็นที่ตั้งของความสงสัย เช่น บางคนอาจจะรู้สึกว่า ตัวลอยขึ้นไปทั้งๆ ที่ยังคงนั่งอยู่ สติสัมปชัญญะไม่มีเลย มีแต่ความรู้สึกผิดปกติขึ้น และก็สงสัยว่า ทำไมจึงเกิดอย่างนั้นขึ้น

    บางท่านเล่าให้ฟังว่า บางคนถึงกับเดินไปรอบๆ ทำท่าเหมือนไก่ปรบปีก นั่นคือผลของการจดจ้องที่ลมหายใจและปราศจากความรู้สึกตัว ซึ่งไม่ใช่สมถภาวนาเลย จะกล่าวว่าสงบเสียจนกระทั่งไม่รู้สึกตัว เป็นไปได้ไหม นั่นไม่ใช่ลักษณะของกุศลจิต

    ลองพิจารณาความรู้สึกที่เพียงแต่ลมหายใจปรากฏ และระลึกรู้ความจริง ขณะนั้นสงบ ต่างกับขณะที่ต้องการจะจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ และก็มีแต่ความสงสัยว่า เมื่อไรจะสงบขึ้น ฌานจิตจะทำอย่างไร อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิจะเป็นอย่างไร นั่นเป็นความสงสัย ความไม่รู้ และความต้องการสิ่งอื่นซึ่งยังไม่เกิดขึ้น โดยที่ขณะนั้นก็ไม่รู้ว่า ไม่สงบเลย

    เพราะฉะนั้น ความสงบตามปกติ ขอให้มีเป็นเชื้อเป็นทุน เพื่อที่ว่าเมื่ออารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดของสมถภาวนาปรากฏ ก็สามารถที่จะสงบ และอาจจะสงบมั่นคงขึ้น เพราะว่ามีปัจจัยในการที่เคยอบรมความสงบเป็นปกติในชีวิตประจำวันด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของความสงบ

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังจะกระทำกายหรือวาจาด้วยโลภะ หรือด้วยอกุศล ใดๆ ก็ตาม ให้ระลึกว่าขณะนั้นสงบไหม เพียงเท่านี้ก่อน และก็จะรู้ว่า ถ้าปัญญาเกิดในขณะนั้น จะรู้วิธีที่ว่าทำอย่างไรจิตจึงจะสงบแม้ในขณะนั้น นั่นคือปัญญาที่รู้หนทาง วิธีที่จะสงบ ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าจะสงบอย่างไร ความสงบจึงจะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ แต่ถ้าในขณะนั้นปัญญาไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะที่ต่างกันของความสงบ ก็จะมีความต้องการความสงบอื่น เช่น อานาปานสติเป็นอย่างไร มุ่งที่จะไปหาอานาปานสติ โดยคิดว่าจะสงบ โดยการไปจดจ้องที่ลมหายใจ โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะจะฆ่าสัตว์ ขณะที่จะกระทำทุจริต ขณะที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นจิตจะสงบได้อย่างไร

    ถ้าปัญญารู้หนทาง ความสงบก็เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เนืองๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๗๑๑ – ๗๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564