แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 695


    ครั้งที่ ๖๙๕


    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรตรัสเช่นนี้ ท้าวสักกะจอมเทวดาได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า

    บุคคลจงสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้นต่อเรา เพราะความกลัวหรือหาไม่ก็ตามทีประโยชน์ทั้งหลายมีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี ผู้ใดแลเป็นคนมีกำลังอดกลั้นต่อคนทุรพลไว้ได้ ความอดกลั้นไว้ได้ของผู้นั้น บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นขันติอย่างยิ่ง คนทุรพลย่อมจะอดทนอยู่เป็นนิตย์ บัณฑิตทั้งหลายเรียกกำลังของผู้ที่มีกำลังอย่างคนพาลว่ามิใช่กำลัง ไม่มีผู้ใดที่จะกล่าวโต้ ต่อผู้ที่มีกำลังอันธรรมคุ้มครองแล้วได้เลย เพราะความโกรธนั้นโทษอันลามกจึงมีแก่ผู้ที่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว

    บุคคลผู้ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธแล้ว ย่อมชื่อว่าชนะสงครามซึ่งเอาชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายตนและคนอื่น คนผู้ที่ไม่ฉลาดในธรรม ย่อมสำคัญเห็นผู้ที่รักษาประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและคนอื่นว่า เป็นคนโง่ ดังนี้ ฯ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวสักกะจอมเทวดาได้ภาษิตคาถาเหล่านี้แล้ว พวกเทวดาพากันอนุโมทนา เหล่าอสูรต่างก็นิ่ง ฯ

    ประโยชน์ที่สุด คือ ไม่ให้เป็นผู้แพ้ต่อกิเลสของตนเอง คือ ให้ตนเองเกิดโกรธขึ้น ถึงแม้ว่าคนอื่นจะโกรธ ก็ไม่ควรที่จะเอาชนะความโกรธของคนอื่นโดยให้ความโกรธของตนเองเกิดขึ้นโกรธตอบ แต่ว่าเมื่อคนอื่นโกรธ เอาชนะกิเลสของตนเองโดยไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธตน นั่นเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

    ถ้าขณะที่นิ่ง สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็สามารถที่จะอดทน อดกลั้น และนิ่งต่อไปได้ ตราบใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และก็เห็นประโยชน์ทั้งหลาย มีประโยชน์ของตนเป็นอย่างยิ่ง

    ถ. ดิฉันได้อ่านพบพระพุทธพจน์คำหนึ่ง ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศน์โปรดพระราหุลว่า จงอย่าเบียดเบียนตน และอย่าเบียดเบียนผู้อื่น อย่าเบียดเบียนผู้อื่นก็พอจะเข้าใจ แต่ว่าผู้ที่เบียดเบียนตนนั้น ประพฤติตนอย่างไร

    สุ. ขณะที่อกุศลจิตเกิด ไม่ได้เบียดเบียนคนอื่น จิตของใครเป็นอกุศล อกุศลธรรมของผู้นั้นเองเบียดเบียนผู้นั้นให้เดือดร้อน

    ถ. ฉันทะ คือ ความต้องการ โลภะ ก็คือ ความต้องการเหมือนกัน อยากให้อาจารย์ช่วยแยก ๒ อย่างนี้ เพราะฝ่ายหนึ่งเป็นกุศล และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอกุศล

    สุ. ฉันทะ เป็นความพอใจ ซึ่งพอใจในกุศลธรรมก็ได้ หรือว่าพอใจในอกุศลธรรมก็ได้ บางคนพอใจที่จะมีโทสะมากๆ นั่นเป็นฉันทะในอกุศลธรรม แต่ความพอใจในการที่จะศึกษา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นเป็นฉันทะในกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ฉันทะไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่ความปรารถนาอยากจะได้มาเป็นของตน ถ้าไม่มีฉันทะที่จะเจริญกุศล ก็คงจะไปรื่นเริงสนุกสนานในฝ่ายอกุศลธรรม

    ถ. บทสวดมนต์ บทสรรเสริญพระพุทธคุณที่ว่า อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปริโยสานกัลยาณัง หมายความว่า พระผู้มีพระภาคกล่าวคำเทศนาไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง และไพเราะในที่สุด ขอให้ท่านอาจารย์เปรียบเทียบความหมายนี้ให้เข้าใจ

    สุ. ข้อความในอรรถกถาได้อธิบายความหมายนี้ไว้หลายนัย เช่น นัยที่ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น คือ ในขั้นศีล งามในท่ามกลาง คือ ในขั้นสมาธิ งามในที่สุด คือ ในขั้นปัญญา หรือว่าทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น คือในพระวินัยปิฎก งามในท่ามกลาง คือ พระสุตตันตปิฎก งามในที่สุด คือ พระอภิธรรมปิฎก

    คามิกะ อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปริโยสานกัลยาณัง คือ พระผู้มีพระภาคท่านแสดงธรรมไพเราะตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่มีที่ไหนที่จะติเตียนได้ ถ้าถือเอาความแค่นี้ก็ง่ายขึ้น ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด แปลกันตามตัวหนังสือ เนื้อความแท้ๆ คือ พระผู้มีพระภาคเทศน์น่าฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ไพเราะ ไม่มีบทไหนที่ไม่น่าฟัง

    ถ. พระผู้มีพระภาคโปรดผู้ที่จะได้มรรคผลนิพพานก็มีมาก ทั้งมนุษย์ ทั้งเทวดา พระพรหม แต่จะไปโปรดผู้ที่ให้สำเร็จฌานไม่ค่อยกล่าวถึง มรรคผลนี่มีมาก แต่ว่าโปรดให้สำเร็จฌาน โดยที่ผู้นั้นไม่เคยเจริญฌาน มีไหมที่จะสำเร็จฌาน

    สุ. ถ้าไม่อบรม ก็ไม่มีทางที่จะเกิดผล

    ถ. คล้ายกับโปรดผู้ที่จะได้มรรคผลหรือเปล่า คือ ผู้ที่อดีตเขาเคยได้ฌานมาแล้ว ในชาตินี้ถ้าพูดถึงฌานเขาจะได้ไหม ถ้าไปพบพระผู้มีพระภาคเทศน์โปรด และจะได้สำเร็จแต่ฌาน จะมีไหม

    สุ. อยากอีกแล้ว เมื่อใดจะดับความอยากได้ อยากได้โน่นบ้าง อยากได้นี่บ้าง บางครั้งก็อยากสำเร็จมรรคผล บางครั้งก็เปลี่ยนใจ สนใจในฌาน ก็อยากจะได้ฌานขึ้นมาอีก หรืออะไรอย่างนั้น และเมื่อใดจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทั้งหมดทีเดียว สำหรับผู้ที่มีอุปนิสัยที่สะสมมาที่จะบรรลุคุณธรรมขั้นใด พระองค์ก็ทรงอนุเคราะห์ให้บรรลุคุณธรรมทั้งหมดที่สามารถที่จะบรรลุได้

    ในพระสูตรมีมากทีเดียว ตั้งแต่เรื่องของศีล ไปจนกระทั่งถึงเรื่องของสมถะ ฌานจิตทั้งหลาย จนกระทั่งถึงดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ผู้ฟัง ที่พระอินทร์กล่าวคาถา คาถาของพระอินทร์ฟังง่าย แต่ทำไม่ได้จริงๆ

    สุ. ทุกท่านมีหวังที่จะเป็นพระอินทร์ได้ ถ้าได้ปฏิบัติประพฤติวัตรบท คือ คุณธรรมของพระอินทร์ ถ้าอยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะทำได้อย่างนั้น ต้องอบรมตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ค่อยๆ อบรมไปวันละเล็กวันละน้อย เรื่อยๆ ระลึกได้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศล ก็เว้นทันที ระลึกได้ว่าสิ่งใดเป็นกุศล ก็กระทำทันที และภายหลังจะง่ายมากในการที่จะเป็นผู้อ่อนน้อม หรือว่านอบน้อมอย่างพระอินทร์ เป็นผู้ที่สามารถจะอดกลั้น อดทนต่ออกุศลธรรมของคนอื่นได้

    ผู้ฟัง ที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลนี้ รู้เฉพาะตัวเท่านั้น แต่ว่าภายนอก ก็มีกันอย่างนั้นจริงๆ อย่างคาถาของท้าวเวปจิตติจอมอสูร เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือ คนที่โกรธ ผู้ที่มีอำนาจโกรธผู้ที่ไม่มีอำนาจ พวกที่ไม่มีอำนาจและไม่มีกำลังด้วย กลัวจริงๆ ไม่ใช่อดทนเลย กลัว ไม่กล้าเสียงแข็ง ไม่กล้าต่อสู้ ไม่กล้าโต้ตอบอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่เป็นการอดทน แต่เป็นความกลัวจริงๆ

    สุ. กลัวผิดๆ กลัวอะไร กลัวอกุศลธรรมของคนอื่น กลัวทำไม ในเมื่อเป็นอกุศลธรรมของเขา ย่อมให้โทษกับเขา เราจะต้องไปกลัวอกุศลธรรมของคนอื่นทำไม อกุศลธรรมของคนอื่นไม่ได้มาให้โทษกับเราเลย

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงธรรม ก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่ถ้าพูดถึงอำนาจ อกุศลของคนอื่น เขาเป็นบุคคลมีอำนาจ เขาสามารถบีบ สามารถกลั่นแกล้งบุคคลที่ไม่มีกำลัง ไม่มีอำนาจ เพราะฉะนั้น การกระทำต่างๆ ของคนที่มีอำนาจ แม้จะเป็นอกุศล เขาจะสั่งอะไร ทำอะไร ก็มักจะคล้อยตามเขาไป โดยกลัวอำนาจของผู้ที่มีอกุศลนั่นแหละ

    สุ. อกุศลธรรมของคนอื่น สามารถทำอันตรายกับอกุศลธรรมของคนอื่นได้ แต่ไม่สามารถทำอันตรายต่อกุศลธรรมของคนอื่น

    ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในกุศลจริงๆ ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีกุศลแล้วไม่ต้องกลัวอะไร จะไม่มีโทษภัยอะไรซึ่งเกิดเพราะกุศลของท่าน แต่ถ้าท่านจะได้รับโทษภัยต่างๆ ให้ทราบว่า ไม่ใช่เพราะกุศลของท่าน แต่การที่ท่านได้รับโทษภัยนั้น ก็เพราะท่านมีอกุศลธรรมนั่นเอง

    ผู้ฟัง อย่างนี้ก็เป็นไปได้ แต่ส่วนใหญ่ทุกวันนี้ ชีวิตประจำวันของคนทุกวันนี้ เป็นความกลัวมากกว่าเป็นความอดทน ผมเห็นว่าเป็นอย่างนั้น

    สุ. เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ รู้สภาพของจิตอย่างละเอียดว่า ขณะนั้นกลัวหรือเปล่า ถ้ากลัวเป็นอกุศล กลัวอะไร กลัวทำไม ทำไมต้องให้มีอกุศลธรรมเกิดขึ้น ถ้าสติเกิด ไม่หวั่นไหวเลย เพราะว่าขณะนั้นสภาพของจิตเป็นกุศล ซึ่งถ้าเป็นกุศลธรรมแล้วไม่ต้องกลัวอะไรเลย แต่ขณะใดที่เกิดกลัว นั่นเพราะอกุศลธรรมของท่านเกิดขึ้นแล้วจึงกลัว ที่กลัวเป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่ตัวท่านด้วย

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ได้เหตุผล จริงๆ ว่า กุศลธรรมทั้งหลายไม่ได้ให้โทษเป็นทุกข์ หรือเป็นโทษ หรือเป็นภัย ไม่มีใครสามารถที่จะกระทำอันตราย หรือให้โทษให้ภัยแก่กุศลธรรมได้เลย

    ถ. อาจารย์กล่าวว่า ถ้าสติเกิดแล้วจะไม่หวั่นไหว ตรงนี้ผมสงสัยมาก สติเกิดแล้ว หวั่นไหวก็มี

    สุ. คนละขณะ

    ถ. ใช่ คนละขณะ แต่แล้วสติก็เกิดอีก และก็หวั่นไหวอีก

    สุ. ก็คนละขณะอีก

    ถ. บางครั้งผมก็เจ็บใจว่า เราเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน หรือเจริญมรรคมีองค์ ๘ แต่ทานของเราก็ดี ศีลของเราก็ดี ยังสู้คนที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้

    สุ. ทำไมต้องคิดสู้ อกุศลแล้วที่คิดอย่างนั้น อกุศลธรรมละเอียดมาก มีการเปรียบเทียบเป็นเราเป็นเขาซึ่งเป็นอกุศล ขณะนั้นไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น อกุศลทั้งหลายจะดับไม่ได้เลย ถ้าปัญญาไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงของอกุศลธรรมแต่ละอย่างซึ่งละเอียดมาก จึงได้เดือดร้อนเพราะอกุศลที่เปรียบเทียบเป็นเราเป็นเขา ถ้าไม่มีการเปรียบเทียบเป็นเราเป็นเขา ไม่เดือดร้อนเลย

    ถ. ก็ยังอยากจะเปรียบเทียบอยู่

    สุ. ก็ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลที่ให้โทษ คือ ทำให้จิตใจไม่สบาย เดือดร้อน หวั่นไหว

    ถ. ความเดือดร้อนมีอยู่ ผมจะเล่าเรื่องว่า ทำไมผมจึงเปรียบว่า ศีลของเรายังสู้กับผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้

    สุ. ขอประทานโทษ ขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นศีลวิสุทธิ ส่วนคนที่มีศีลมาก แต่ว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ยังมีความเกี่ยวข้องในศีลนั้นว่า เป็นศีลของเรา หรือตัวตน

    ถ. ที่ว่าสู้ไม่ได้ ก็เพราะศีลข้อนั้นเขารักษาได้ แต่เรารักษาไม่ได้ แพ้ตรงนี้

    สุ. อยากจะชนะพระอรหันต์ไหม เพราะถ้าแพ้คนนี้ หรือว่าชนะคนนี้ ก็ยังต้องแพ้คนอื่น ถ้าเทียบกับบุคคลนี้แล้ว คิดว่าชนะบุคคลนี้แล้ว แต่ก็ยังมีบุคคลอื่นต่อไปอีกที่จะต้องเทียบ จะต้องชนะต่อไปเรื่อยๆ และเมื่อไรจะจบ

    ถ. ข้อนี่ก็พอที่จะรู้ แต่ผมอยากจะเล่าว่า ทำไมผมจึงสรรเสริญศีลของคนอื่น และติเตียนศีลของตัวเอง ยากจริงๆ เรื่องเงิน ผมเป็นพ่อค้า คนอื่นเขาก็เป็นพ่อค้า ส่งบิลไปเก็บเงิน ในบิลนี่ ๕ ใบ สมมติว่าเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท แต่เขาคิดผิดเหลือ ๙,๐๐๐ บาท ฝ่ายบัญชีก็ไม่ได้ทวน เห็นตัวเลขก็จ่ายไป เมื่อจ่ายไปแล้ว ภายหลังมาทวน เมื่อเห็นว่าผิด เขาจึงเรียกให้มาเก็บเงินเพิ่มอีก ๑,๐๐๐ บาท ถ้าเขาไม่มีศีล เขาเก็บบิลนั้นไว้ หรือฉีกทิ้งเสีย ก็หมดเรื่องไป ลักษณะนี้ถือว่าศีลเขาดี

    แต่ของผม เป็นอย่างนั้นบ้าง ไม่เป็นบ้าง บางครั้งบางคราวก็ท้วงเขา เรียกมาเก็บ แต่ก็ต้องพิจารณาว่า คนนี้นิสัยดีไหม จุกจิกจู้จี้หรือเปล่า บางครั้งท้วงไปก็ผ่านหลายขั้นหลายตอนเหลือเกิน ต้องผ่านตัวแทนขายบ้าง ผ่านบริษัทบ้าง และบริษัทของเขา บัญชีของเขายุ่งเหยิงไป จะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น บางครั้งก็ไม่ท้วง บางครั้งก็ท้วง ขณะที่ครุ่นคิดต่อสู้กับกิเลสนั่น บางทีต่อสู้กันตั้ง ๓ วัน บางทีก็แพ้ บางทีก็ชนะ

    สุ. จนกว่าจะเป็นโสดาบันบุคคล

    ผู้ฟัง อย่างนี้ถือโอกาสฉ้อโกง เป็นทุจริตเหมือนกัน ถ้าพูดถึงกฎหมาย ถ้าไม่จ่าย เขามาเรียกทีหลังเป็นยักยอกหรือฉ้อโกงไปเลย เป็นสิ่งที่ผิด กฎหมายมีว่า ทุกคนต้องทำการโดยสุจริต รู้ว่าเขาคิดผิด ถ้าไม่รู้ก็ไม่เป็นไร

    สุ. กว่าคนอื่นจะรู้ ก็ช้ากว่าที่ตัวเองรู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมรู้ดีในแต่ละขณะจิตของท่านว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลอย่างไร แต่ที่จะให้อกุศลจิตไม่เกิด เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่ายังมีเหตุปัจจัยที่จะให้อกุศลจิตเกิดอยู่ แต่การเป็นผู้ตรงพร้อมทั้งเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะทำให้เห็นว่า สิ่งใดเป็นอกุศลที่ควรละ และสิ่งใดเป็นกุศลที่ควรเจริญ

    ผู้ฟัง เราซื้อพริก ๑ กิโล พอกลับบ้านไปชั่ง ขาดไปขีด นี่เป็นกลโกงของพ่อค้า

    สุ. ของอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยให้กระทำการต่างๆ ตามความวิจิตรของอกุศลธรรมในขณะนั้น ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหมดจะดับได้เป็นสมุจเฉท เมื่อมีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และดับกิเลสเป็นขั้นๆ ถ้าความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตนยังไม่ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ไม่มีทางที่จะละอกุศลธรรมใดๆ เลย ก็ยังคงมีปัจจัยที่จะให้เกิดอยู่เรื่อยๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๖๙๑ – ๗๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564