แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 710


    ครั้งที่ ๗๑๐


    ถ. เรื่องกุศลเล็กน้อยนี้ เพิ่งจะเกิดกับตัวผมเมื่อวานนี้เอง จะถือว่าเป็นการสงเคราะห์ได้หรือไม่ คือ เพื่อนผมอยากจะเลี้ยงอาหาร ทีแรกผมก็ปฏิเสธ ไม่อยากให้เขาเสียเงิน แต่คิดอีกทีเขามีเจตนาที่แน่วแน่ ลักษณะเป็นกุศล มีความปรารถนาจะเลี้ยงจริงๆ ผมจึงรับเลี้ยง เพื่อช่วยให้กุศลจิตเขาเกิด

    สุ. ขณะนั้นจิตเป็นอย่างไร ย่อมรู้ดีใช่ไหมว่า เพื่อสงเคราะห์คนอื่นหรือเปล่า สภาพของจิต ถ้าดูการกระทำเพียงภายนอกจะไม่ทราบเลยใช่ไหม แต่ละคนคิดแต่ละอย่าง แต่ผู้ใดที่มีจิตที่จะอนุเคราะห์หรือสงเคราะห์บุคคลอื่น สภาพจิตในขณะนั้นเป็นกุศล ถ้าคนอื่นมีจิตเป็นกุศลที่จะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดกับท่าน ท่านจะสงเคราะห์บุคคลนั้นให้ได้รับผลของกุศลสำเร็จไหม โดยรับสิ่งนั้นไว้ หรือว่าจะไม่ยอมรับ และกุศลของเขาก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้

    ถ. เป็นเพราะเหตุนี้ผมจึงรับเลี้ยง และเมื่อรับเลี้ยงแล้วรู้สึกว่า เขาผูกไมตรีดีขึ้นกว่าเก่า ดูมีความปลื้มปีติ ลักษณะเป็นอย่างนั้น

    สุ. ก็ดีที่คำนึงถึงจิตใจของคนอื่น ไม่ว่าท่านจะพูดหรือทำอะไร ในขณะนั้นก็เป็นไปด้วยสติและกุศลจิต ถ้าเป็นการคิดที่จะสงเคราะห์อนุเคราะห์บุคคลอื่น แม้เพียงให้สบายใจ แม้เพียงให้สะดวกใจ ก็เป็นกุศล

    บางท่านอาจจะสงเคราะห์ด้วยคำพูด เพื่อที่จะให้คนอื่นมีความสบายใจ ถ้ามีคนที่เข้าใจผิดกันอยู่ และท่านก็สงเคราะห์ด้วยคำพูดให้เขาเข้าใจถูกขึ้น ในขณะนั้นถ้าสติเกิด ย่อมสามารถจะรู้ลักษณะของกุศลจิตได้ว่า เป็นลักษณะของกุศล ไม่ใช่ลักษณะของอกุศล ไม่ว่าจะเป็นด้วยกาย ด้วยวาจา ก็กระทำได้ในการสงเคราะห์

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค รามเณยยกสูตรที่ ๕ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

    ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วทรงถวายบังคม แล้วประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ได้ตรัสทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    สถานที่เช่นไรหนอ เป็นภูมิสถานอันรื่นรมย์ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า

    อารามอันวิจิตร ป่าอันวิจิตร สระโบกขรณีที่สร้างอย่างดี ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ อันแบ่งออก ๑๖ ครั้ง แห่งภูมิสถานอันรื่นรมย์ของมนุษย์ พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด เป็นบ้านหรือป่าก็ตาม เป็นที่ลุ่มหรือที่ดอนก็ตาม ที่นั้นเป็นภูมิสถานอันน่ารื่นรมย์ ฯ

    สถานที่รื่นรมย์ที่แท้จริงควรจะเป็นที่ไหน บางแห่งดูเผินๆ ราวกับสวรรค์ แต่จะรื่นรมย์จริงหรือเปล่า ถ้าบุคคลที่อยู่ในที่นั้นเต็มไปด้วยอกุศลจิต คิดร้ายซึ่งกันและกัน เบียดเบียนกันด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยใจบ้าง สถานที่ที่ดูเหมือนสวรรค์ จะเป็นสถานที่ที่รื่นรมย์จริงหรือไม่ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ที่ไหนเป็นที่ที่รื่นรมย์ ต้องเป็นที่ที่มีบุคคลซึ่งเพียบพร้อมด้วยกุศลจิต มีการเจริญกุศลทุกประการ สถานที่นั้นจึงเป็นที่รื่นรมย์ ดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด เป็นบ้านหรือป่าก็ตาม เป็นที่ลุ่มหรือที่ดอนก็ตาม ที่นั้นเป็นภูมิสถานอันรื่นรมย์ ฯ

    ถึงจะอยู่ในที่ลุ่มที่ดอน ดูเหมือนกับว่ามีความลำบากยากแค้นมากมาย แต่ถ้าขณะนั้นมีผู้ซึ่งมีกุศลจิตมาก มีอกุศลจิตน้อย ที่นั้นย่อมเป็นสถานที่ที่รื่นรมย์

    ถ้าจะดูเฉพาะสถานที่ ที่ที่รื่นรมย์นั้นมี ๒ ประเภท คือ ด้วยป่า ๑ เฉพาะบุคคล ๑ บางคนอาจจะไม่ชอบป่า แต่อาจจะชอบสถานที่อื่น เห็นว่าสถานที่อื่นนั้นน่ารื่นรมย์กว่าป่า แต่ความรื่นรมย์ที่แท้จริง จะต้องเป็นสถานที่ที่มีบุคคลซึ่งมีกุศลจิตและสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน

    การสงเคราะห์ช่วยเหลือกันสำคัญที่สุด เพราะว่าชีวิตจะดำเนินไปได้ด้วยความสุขสบายเมื่อมีการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันด้วยกุศลจิตทุกประการ ทั้งอปจายนะ คือ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม และเวยยาวัจจะ คือ การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น พร้อมทั้งกุศลขั้นอื่น รวมทั้งการเจริญสติปัฏฐาน การอบรมเจริญปัญญา ถ้าที่ใดเป็นที่อย่างนี้ ก็จะเป็นที่ที่รื่นรมย์จริงๆ จะไม่มีปัญหาสังคม หรือว่าปัญหาสังคมที่เห็นว่าแก้ยาก ก็จะแก้ไขให้หมดไปได้ด้วยการเจริญกุศลทุกประการ ตาม พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้

    ถ. สถานที่น่ารื่นรมย์ ตรงกับที่ผมจะมาถาม คือ การที่นาคที่ขอบวช และพระอุปัชฌาย์ก็ให้กัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นการแสดงว่า ทำวิปัสสนากันทันที คือ ให้มีสติระลึกรู้อยู่ ทุกขณะ การที่พระปฏิบัติอย่างนี้ จะต่างกันหรือเหมือนกันกับหลักการของอาจารย์ที่ว่า มีสติระลึกรู้รูปนามตามความเป็นจริงทุกแห่งทุกหนไป ซึ่งก็ตรงกับที่อาจารย์ถามวันนี้ว่า ที่ไหนเป็นที่น่ารื่นรมย์ ตามหลักการแล้ว ถ้ามีสติรู้ทั่ว ไปที่ไหนๆ ก็เป็นที่ที่น่ารื่นรมย์

    สุ. ถ้ามีสติระลึกรู้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้นรื่นรมย์เพราะเป็นกุศล ไม่หวั่นไหวไปด้วยโลภะและโทสะ เพราะว่าปราศจากโมหะในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในวันหนึ่งๆ จิตหวั่นไหว ถ้าปราศจากสติ

    แต่ถ้าสติเกิด ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น จะรู้สภาพตามความเป็นจริงที่ปรากฏในขณะนั้นว่า สภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏหาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้จริงๆ ต้องให้ถึงสัจจะ คือ ความจริงอันนี้

    แม้ว่าจะได้ฟังเรื่องของอนัตตามามาก คือ สภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งนั่นเป็นความรู้ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นเข้าใจ แต่ว่าประจักษ์แจ้งจริงๆ หรือเปล่าในอรรถที่เป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายว่า ลักษณะที่เป็นอนัตตาที่แท้จริง ที่หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้นั้นเป็นอย่างไร ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถ้าในขณะนั้นเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ได้แล้ว ก็รื่นรมย์ได้

    แต่ตามความเป็นจริง สติไม่ได้เกิดบ่อยๆ เพราะฉะนั้น ความรื่นรมย์ก็ไม่เสมอไป เวลาไหนที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ในขณะนั้นก็จะมีโลภะบ้าง โทสะบ้าง

    เรื่องของความรื่นรมย์ เป็นเรื่องของความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งต้องเป็นกุศล และกุศลมีหลายขั้น และก็เกิดไม่ได้บ่อย ไม่ได้เกิดติดต่อกัน ในขณะที่ระลึกเป็นไปในทาน เป็นความรื่นรมย์ ถ้าเป็นกุศล แต่ถ้าเกิดความเสียดายขึ้น ในขณะนั้นจะรู้ได้ว่า ไม่รื่นรมย์ ความเสียดายไม่รื่นรมย์ เพราะว่าไม่ใช่กุศล แต่ขณะใดที่ไม่เสียดาย และจิตระลึกเป็นไปในการให้เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นกุศล

    แต่แม้ว่าจะมีกุศลจิตซึ่งเป็นไปในทาน และกำลังทำทานอยู่ จิตก็ไม่สม่ำเสมอโดยตลอด คือ ไม่ใช่เป็นกุศลโดยตลอด จะมีโลภมูลจิตซึ่งเป็นอกุศลเกิดแทรกบ้าง จะมีโทสมูลจิตซึ่งเป็นอกุศลเกิดคั่น มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่เหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทั้งความรื่นรมย์และความไม่รื่นรมย์ สลับกัน ถ้าขณะใดที่เป็นกุศลขณะนั้นรื่นรมย์ เพราะสงบจากอกุศล

    เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เป็นเรื่องของสภาพจิตซึ่งเป็นจริงตามเหตุตามปัจจัยในแต่ละขณะ ในแต่ละวัน ซึ่งผู้ที่ศึกษาจริงๆ ในลักษณะสภาพของจิต และรู้ตามความเป็นจริงของจิตนั้นๆ เป็นผู้ที่สามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะไม่หลงเข้าใจผิดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    แม้แต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ปกติอย่างนี้ อบรมเจริญสติที่จะระลึกศึกษารู้ว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจในอรรถนี้ และศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏชั่วขณะที่เห็น ก็จะเข้าใจในความหมายของคำที่ว่า ไม่ใส่ใจในนิมิต อนุพยัญชนะ

    ที่ไม่ใส่ใจนิมิต อนุพยัญชนะนั้น คือ ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วไม่ใส่ใจ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าไม่รู้แล้วไม่ใส่ใจ แต่หมายความว่า ศึกษาอบรมปัญญา จนปัญญารู้ชัดแล้วจึงไม่ใส่ใจ เป็นปัญญาที่ไม่ใส่ใจในนิมิตและอนุพยัญชนะ ชั่วขณะๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ยังไม่ถึงความสมบูรณ์ที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทถึงขั้นความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาอบรมไปเรื่อยๆ และจะสังเกตรู้ได้ว่า ในขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นรื่นรมย์ เพราะสงบจากอกุศล ไม่ว่าจะเป็นไปในทาน ในศีล ในสมถะ หรือเป็นไปในการเจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นความรื่นรมย์ ในขณะที่กุศลจิตเกิด

    ถ. การที่มีสติระลึกรู้อยู่ ตามหลักของอาจารย์ที่ว่าให้มีสติระลึกรู้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเข้าห้องอะไรอย่างว่า ไปไหนก็มีสติ ไม่จำเป็นต้องเข้าห้อง ใช่ไหม

    สุ. ตรงตามพระไตรปิฎกที่ว่า เป็นผู้มีปกติเจริญสติ เป็นผู้มีปกติมีสติ เป็นผู้มีปกติอบรมสติ

    ถ. ผมท่องตอนบวชพระที่ว่า ให้มีสติระลึกรู้ จะห่มจีวร จะเดิน จะบิณฑบาต จะนั่ง จะฉันยา ให้มีสติระลึกรู้ด้วย ถ้ามีสติระลึกรู้ตามหลักของพระที่บวชเรียน ก็ต้องท่องปฏิสังขาโย หมายความว่า ตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมง จะต้องมีสติระลึกรู้

    สุ. ถ้าเป็นไปได้ ทุกลมหายใจเข้าออก

    ถ. เพราะฉะนั้น ถ้ามีสติอย่างนี้ ที่จะไปอยู่สถานที่เฉพาะและไม่มีสติ ก็ไม่ได้ความ แต่ถ้ามีสติ ก็ไม่จำเป็นต้องไปอยู่สถานที่เฉพาะ ผมอยากจะถาม

    สุ. การเจริญสติปัฏฐาน เจริญได้ทั้งเพศบรรพชิตและฆราวาส คือ รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามเหตุตามปัจจัยตามความเป็นจริง แม้ในขณะนี้

    ชีวิต คือ ขณะหนึ่งๆ เท่านั้นเอง ของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้น ขณะเมื่อครู่นี้ผ่านไปแล้ว ชีวิตก็หมดไป แต่ขณะนี้มีสภาพธรรมเกิดขึ้น ชีวิตก็อยู่เพียงชั่วขณะสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏเท่านั้นเอง

    กำลังเห็น ชีวิตอยู่ที่ไหน ขณะที่กำลังเห็น เป็นชีวิต ดับแล้ว

    กำลังได้ยิน ชีวิตอยู่ที่ไหน ชีวิตก็อยู่ในขณะที่กำลังได้ยิน ชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ไม่คำนึงถึงว่าจะต้องไปอยู่ในสถานที่ใด ในเมื่อขณะนี้กำลังเห็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้กำลังได้ยิน สภาพธรรม คือ เสียงที่กำลังปรากฏ ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยไม่ต้องคำนึงหรือคิดถึงสถานที่อื่น หรือเรื่องอื่นเลย ชั่วขณะหนึ่งๆ ของสภาพธรรมที่ปรากฏ ปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งชัดในความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม ซึ่งเป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ

    ถ. คำว่า รื่นรมย์ กับสนุก ต่างกันอย่างไร

    สุ. ถ้าพูดถึงความรื่นรมย์ที่เป็นกุศล ก็หมายความถึงขณะที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลธรรมทั้งหลาย ถ้าพูดถึงความสนุก เป็นโลภะก็ได้ เป็นความยินดี เป็นความพอใจ

    ถ. ขณะที่มีความสนุกสนานเฮฮากัน ขณะนั้นกุศลจิตเกิดขึ้นไม่ได้ใช่ไหม

    สุ. สติเกิดขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศล สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ก็ได้ที่เป็นของจริง ที่เกิดขึ้นปรากฏตามความเป็นจริง

    ความสนุกมีจริงแน่นอน ไม่ใช่ห้ามสนุก ถ้าเป็นอย่างนั้น ทุกท่านที่เจริญสติปัฏฐานก็ต้องเป็นคนนิ่งๆ ไม่พูด ไม่สนุกสนาน เพราะตามความเป็นจริงชีวิตของท่านสะสมมาเป็นอย่างไร สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็ต้องเป็นอย่างนั้นตามที่สะสมมา แต่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นความสนุก ก็เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น การศึกษาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นการพยายามไปเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามปกติตามเหตุตามปัจจัย แต่เป็นการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ก็ได้ ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง

    ชีวิตน่าศึกษาใช่ไหม แต่ละท่านก็มีชีวิตที่ต่างกันตามการสะสมจริงๆ ซึ่งคนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ขณะจิตของผู้อื่นได้ นอกจากจะศึกษาลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏกับท่าน และเห็นตามความเป็นจริงว่า ไม่ควรที่จะเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา หรือว่าเป็นตัวตนเลย

    การเห็นในขณะนี้ เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ชีวิตอยู่ชั่วขณะที่กำลังเห็นแล้วก็หมดไป ดับไป และก็มีปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นปรากฏเป็นชีวิตในขณะนั้น ชั่วขณะนั้นขณะเดียว และก็ดับไปแต่ละขณะ เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะยึดถือสภาพธรรมใดๆ ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    แต่ไม่ใช่ให้นึกว่า ไม่ยึดถือ แต่จะต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะรู้ชัดในอรรถของสภาพธรรมซึ่งเป็นอนัตตาว่า หมายความว่าอย่างไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๗๐๑ – ๗๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564