แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 691


    ครั้งที่ ๖๙๑


    ถ. ประกอบในอุบายเป็นเครื่องกำจัดความตระหนี่ ความหมายว่าอย่างไร อุบายเป็นอย่างไร

    สุ. หมายถึงความเห็นถูกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ที่เห็นว่าไม่ควรตระหนี่ ถ้ามีอาหารอร่อย ชอบมากทีเดียว ปกติรับประทานคนเดียว ดีไหม

    ถ. ดี

    สุ. ดีหรือ แบ่งให้คนอื่นบ้างได้ไหม ถ้ายังไม่เคย จะได้ระลึกว่า ถ้าไม่สามารถสละให้บุคคลอื่นได้ ก็แสดงว่ากิเลสนี้ช่างมีกำลังมาก แม้แต่ในอาหาร ๒ – ๓ คำ หรืออาจจะมากกว่านั้นก็ยังแบ่งปันไม่ได้

    การแบ่งปันนี้แบ่งได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็รู้ว่าควรจะอบรมเจริญการสละวัตถุเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ให้สามารถเป็นผู้ที่สละได้โดยง่าย ไม่ใช่โดยยาก ไม่ใช่โดยต้องคิดแล้วคิดอีก คอยแล้วคอยอีก และในที่สุดก็ไม่สละ

    เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริง โดยเพศของคฤหัสถ์ไม่สามารถที่จะให้ได้ ทุกอย่าง พระธรรมไม่ได้ฝืนอัธยาศัยของใครเลย แต่ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ถ. สมมติว่า คนทำการค้า ผู้ซื้อถามว่าของนี้สดไหม ดีไหม ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยสดก็บอกว่า สดดี ผู้ที่เจริญสติคิดว่าคงจะเคยเป็นอย่างนี้ คนที่ไม่ได้เจริญสติอย่าได้พูดถึงเลย โกหกทั้งๆ ที่รู้ตัวอยู่

    สุ. ยังไม่สามารถที่จะละวจีทุจริตได้

    ถ. อย่างผมไปรับงานมาทำ เขาถามว่า คุณซื้อของนี้เท่าไร จะบอกเขา ตรงๆ เขาก็รู้ว่าเราได้กำไรเท่าไหร่ ผมไม่รู้จะทำอย่างไร เจริญสติแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร

    ผู้ฟัง ดิฉันขอแนะนำ เราก็บอกว่า เราไม่ตอบ เราจะพยายามเอากำไรน้อยที่สุด ถ้าหากคุณสนใจก็ไปสืบถามราคาดู เทียบราคาดู และค่อยมาซื้อ เขาอาจจะเห็นความซื่อสัตย์ของเราซึ่งมีต่อลูกค้าก็ได้

    ผู้ฟัง ผมเป็นพ่อค้า ที่ใครๆ บอกว่า พ่อค้าจะต้องโกหก ถ้าไม่โกหกขายของไม่ได้ ผมปฏิวัติคำนี้ คือ ไม่จำเป็นต้องโกหก ไม่ต้องโกหกก็ขายได้ และกิจการทุกวันนี้ของผมก็รุ่งเรืองด้วย ขยายอย่างหนึ่ง และก็อีกอย่างหนึ่งๆ คือ การกระทำของผมนี่ไม่ได้โกหก การโกหกนั่นเป็นนิสัยต่างหาก เช่น ลูกค้าเขาไม่ได้ถาม เราก็ไปบอกเขา สมมติว่า เขามาถามว่า สินค้านี้เท่าไร เราเรียกไป ๕๐ บาท ลูกค้าต่อราคาว่า ๔๐ บาทได้ไหม พ่อค้าบอกว่า ไม่ได้ ขาดทุน ทั้งๆ ที่ลูกค้าไม่ได้ถามเลยว่าต้นทุนของคุณเท่าไร ก็ไปบอกเขาเองว่าขาดทุน เรื่องอะไรจะต้องโกหก เพราะฉะนั้น เมื่อเขาต่อ ๔๐ บาท ขายได้เราก็ขายเสีย เมื่อเราขายไม่ได้ ก็บอกเขาว่า ยังขายไม่ได้ นี่วิธีขายหน้าร้าน

    เมื่อครู่มีผู้เล่าว่า จะไปประมูลสิ่งของ กรรมการต่างๆ เขาจะขอทราบราคาตามความเป็นจริง ถามต้นทุนว่าเท่าไร ซึ่งเราปฏิเสธได้ตรงๆ เลย ไม่เสียมารยาทด้วย บอกไปตรงๆ ว่า ต้นทุนเขาไม่พูดกันหรอก เขาจะไม่บอกให้ใครรู้กัน แต่ราคาที่ผมเสนอไปนี้ ถ้าคุณพอใจก็ตกลง หรือว่าจะสืบจากคนอื่นก่อนหรืออย่างไร ก็พูดกันได้ พูดกันตรงๆ แบบนี้

    ถ. ดิฉันอ่านพบในหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นหนังสือของพระภิกษุท่านแต่งไว้ ในนั้นมีข้อความกล่าวถึงมารทั้ง ๕ คือ ๑. เทวบุตรมาร ๒. กิเลสมาร ๓. ขันธมาร ๔. อภิสังขารมาร ๕. มัจจุมาร

    มาร ๔ อย่างมีคำอธิบายที่พอจะเข้าใจได้ แต่สำหรับอภิสังขารมาร ผู้เขียนท่านบอกว่า อภิสังขาร คือ อภิสังขารมาร ก็ไม่เข้าใจ

    สุ. ในปฏิจจสมุปปาทได้กล่าวถึงปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ซึ่งได้แก่เจตนาเจตสิก ที่เป็นปุญญาภิสังขาร คือ เจตนาเจตสิกที่เป็นไปในกุศลธรรมที่เป็นกามาวจรกุศล และรูปาวจรกุศล

    อปุญญาภิสังขาร เป็นเจตนาที่เป็นไปในอกุศลธรรมทั้งหลาย

    อเนญชาภิสังขาร คือ เจตนาที่เป็นไปในอรูปฌาน ซึ่งเป็นฌานที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว

    สำหรับปฏิจจสมุปปาท ที่สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ ได้แก่ เจตนาเจตสิก แต่เวลาที่กล่าวถึงสภาพธรรมโดยไม่เจาะจง เช่น อกุศลกรรม อาจจะใช้คำว่า จิตเป็นอกุศลกรรม หรือกระทำอกุศลกรรม ไม่ได้มุ่งถึงตัวเจตนา เพราะว่ากล่าวโดยส่วนรวม ซึ่งนอกจากเจตนาเจตสิกแล้ว ก็ยังหมายความถึงสภาพธรรมอื่นที่เกิดร่วมกับเจตนานั้นด้วย ได้แก่ จิตและเจตสิกอื่นๆ

    แต่เวลาที่เจาะจง อภิสังขาร ต้องได้แก่เจตนาเจตสิกเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ธรรมบางครั้งกล่าวโดยกว้าง โดยรวม บางครั้งก็กล่าวโดยแยก โดยเจาะจง แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายซึ่งยังจะต้องเกิดขึ้น เพราะมีปัจจัยเกิดขึ้น บางครั้งก็เกิดเป็นกุศล บางครั้งก็เกิดเป็นอกุศล ก็ย่อมเป็นอภิสังขารมารได้ ตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้แจ้งในสภาพนั้นๆ ตามความเป็นจริง

    ถ. ขณะที่เราเจริญสติ มารที่เป็นอภิสังขารมารที่เกิดแก่บุคคลที่กำลังเจริญสติ ย่อมมีได้ใช่ไหม

    สุ. ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่ากุศลจิตหรือสติจะเกิดได้โดยง่าย ชวนไปแล้ว นึกถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ นั่นใครล่ะ

    ถ. คือ ความไม่มีที่สิ้นสุดของการนึกคิด

    สุ. มีท่านผู้ฟังบอกว่า ช่างยากเหลือเกินที่จะทิ้งเรื่องทั้งหลาย

    เรื่องที่ท่านคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ ในแต่ละวัน หรือว่าในแต่ละครั้งก็ต่างกันไป ในวันหนึ่งเรื่องนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ใหญ่เหลือเกิน ใหญ่จนกระทั่งทำให้จิตใจกระวนกระวายไม่สงบ ไม่สามารถที่จะคิดถึงเรื่องอื่นใดได้ เพราะว่าความกังวลความเป็นห่วงในเรื่องนั้นช่างมากมายเวลาที่เรื่องนั้นกำลังปรากฏ แต่เวลาที่ไม่คิดถึง ความใหญ่ของเรื่องนั้นก็หายไปแล้ว

    เพราะฉะนั้น เรื่องใดก็ตามที่จะเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต ต้องเป็นเรื่องที่กำลังเกิด กำลังปรากฏในขณะนั้น ทำให้เกิดความวิตกกังวล เห็นความสำคัญของเรื่องนั้นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่วันต่อๆ ไป เรื่องสำคัญเรื่องเก่าก็คลายความสำคัญลง กลายเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ เพราะว่ามีเรื่องใหม่ที่สำคัญกว่า เพราะฉะนั้น เรื่องสำคัญในวันนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องเก่าที่เคยสำคัญมาแล้ว แต่ว่ายากเหลือเกินที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว แต่ละเรื่องที่คิดว่าใหญ่ จะมีไม่ได้เลยถ้าจิตไม่เกิดขึ้นคิดถึงเรื่องนั้น เรื่องนั้นจึงปรากฏ

    ถ. ถ้าอย่างนั้น คำว่า กายขนาดใหญ่ ที่อาจารย์พูด คงหมายถึงอวิชชา ความไม่รู้ ถ้าหากทำลายอวิชชา ที่อาจารย์พูดถึงนายขมังธนูมืออาชีพที่ยิงแม่น ยิงเร็ว ก็หมายความถึงขณะที่มีสภาพธรรมใดปรากฏที่จิตรู้ และก็มีสติระลึกรู้ตาม ก็คือการยิงธนู

    สุ. ที่ยิงแม่นในอริยสัจธรรม ในทุกขอริยสัจ ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจึงยิงไว เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ในขณะนี้ ถ้าสติไม่ระลึก จะไม่ทราบเลยว่า มีสภาพธรรมอะไรมากมายหลายอย่าง แต่เวลาที่สติเกิดขึ้นสามารถที่จะยิงไว คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏชั่วขณะเล็กน้อย และก็ดับไปได้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น

    เวลาที่ศึกษาสภาพของจิตว่ามีประเภทต่างๆ กัน เช่น โลภมูลจิต หรือคำที่ใช้อยู่ทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน เช่น โลภ โกรธ หลง ดูเป็นคำธรรมดาที่น่าจะเข้าใจดีแล้ว ไม่มีความสงสัยว่า โลภะ เป็นสภาพที่ต้องการ ที่พอใจ ที่อยากได้ แต่โลภะนั้นอยู่ที่ไหน อาการต่างๆ ลักษณะต่างๆ ที่กล่าวถึงปรากฏเมื่อไร ทางตามีอาการของโลภะปรากฏไหม

    ดูดอกไม้ อาการลักษณะของโลภะปรากฏให้รู้หรือเปล่าในขณะนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ลักษณะอาการของโลภะมีปรากฏ แต่ว่าเมื่อไม่ได้สังเกต ไม่ได้ระลึกรู้ ไม่ได้ศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อาการของความพอใจ ของความเพลิดเพลิน ของความยินดี ของความต้องการ ของความอยากได้ จึงไม่สามารถที่จะรู้จักลักษณะสภาพของโลภะในขณะที่โลภะกำลังปรากฏ แต่รู้ชื่อว่าโลภะ มีลักษณะอย่างนั้นๆ มีอาการอย่างนั้นๆ แต่ไม่สามารถที่จะรู้สภาพลักษณะของโลภะ ถ้าสติไม่เกิดขึ้นในขณะที่มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน รู้ลักษณะอาการต่างๆ ของสภาพรูปธรรมและนามธรรมแต่ละลักษณะ รู้ลึกซึ้งยิ่งกว่าที่เคยเข้าใจโดยชื่อ เช่น สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา เวลาที่ศึกษาปริยัติธรรมอาจจะใช้คำว่า วัณโณ หรือ รูปารมณ์ หรือสีสันวัณณะต่างๆ หรือให้ตรงก็คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ตรงตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตานั้นเป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาอย่างไร ก็เข้าใจว่า เก้าอี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา โต๊ะเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เข้าใจว่าอย่างนั้น แต่นั่นไม่ใช่การเข้าใจในอรรถของสภาพธรรมที่มีลักษณะเพียงปรากฏทางตาเท่านั้น ซึ่งยังไม่มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน หรือความหมายของสิ่งที่ปรากฏเป็นเก้าอี้ หรือเป็นโต๊ะ

    ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน จะเข้าใจถึงอรรถของคำที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของธรรมแต่ละลักษณะไว้ จะใช้คำอะไรก็ได้ จะใช้คำว่าวัณโณ หรือจะใช้คำว่ารูปารมณ์ หรือจะใช้คำว่าสีสันวัณณะต่างๆ หรือจะใช้คำว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะไม่เข้าใจว่า โต๊ะ เก้าอี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา แต่รู้ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาไม่มีความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเลย ถ้าไม่ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน

    เวลานี้เห็น ไม่ได้คิดถึงอะไรเลย เห็นเท่านั้น ยังไม่ได้คิดถึงอะไรเลย ก็จะบอกไม่ได้ว่า สิ่งที่เห็นทางตานั้นเป็นอะไร แต่เวลาที่เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น อย่าลืมว่า ต้องมีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งนั้นแล้ว ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก

    ถ. การเจริญสติปัฏฐานรู้สึกว่า ปัญหามีมากเหลือเกิน และที่อาจารย์กล่าวไว้ว่า เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี และไม่ใส่ใจ เมื่อไม่ใส่ใจ ก็ไม่รู้อะไร

    ก็มีสำนักปฏิบัติบางแห่งเขาพอใจ เช่น ได้ยินเสียงรถยนต์ แต่เขาไม่รู้ว่าเป็นเสียงรถยนต์ เขาพอใจมากว่า เขาปฏิบัติได้ผล เพราะได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน โดยไม่รู้ว่าได้ยินเสียงอะไร รู้แค่ว่าเสียง ซึ่งอาจารย์ก็กล่าวว่า เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี และไม่ใส่ใจ เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติทั้ง ๒ นี้ ฟังๆ ดูคล้ายๆ ว่าเหมือนกัน

    คือ อาจารย์กล่าวว่า เมื่อเห็นแล้วก็ให้รู้แต่ว่าเป็นสภาพที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เมื่อได้ยินแล้วก็ให้รู้แต่ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏทางหูเท่านั้น กับข้อปฏิบัติที่ว่า เมื่อได้ยินแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไร จะต่างกันอย่างไร

    สุ. เห็นแล้วไม่สนใจ เพราะรู้หรือว่าเพราะไม่รู้ ได้ยินแล้วก็ไม่สนใจ แต่ว่ารู้หรือว่าไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ มี ๒ อย่าง

    ถ. เห็นทีไรก็รู้ทุกที เห็นเก้าอี้ ก็รู้ว่าเป็นเก้าอี้

    สุ. นั่นไม่ใช่การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าเห็นเก้าอี้ไม่ได้ แต่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ จึงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร

    ถ. ตรึกไปทุกที

    สุ. เพราะฉะนั้น เร็วมาก ถ้าสติไม่เกิดที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันอย่างนี้ ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะลอก ถอน ทำลายการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ถ้าปัญญาไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมที่ต่างกันตามความเป็นจริงอย่างนี้ ความเป็นตัวตน ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ยังต้องมีอยู่ในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

    ถ. อาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า การดูหนังสือมี ๒ ลักษณะ คือ หยิบหนังสือขึ้นมาแล้วก็พลิกๆ ไป ก็ไม่รู้ความหมาย แต่จะรู้ความหมายก็ต่อเมื่อตรึกไปตามพยัญชนะในหนังสือแต่ละคำๆ ขณะนั้นก็ชื่อว่า รู้ความหมายในหนังสือ ขอถามว่า ขณะที่หยิบหนังสือขึ้นมาแล้วพลิกไปๆ โดยไม่ได้ตรึก ขณะนั้นก็ชื่อว่า ไม่ได้ใส่ใจ เมื่อไม่ได้ใส่ใจ ขณะนั้นก็ไม่ได้รู้อะไร ขณะนั้นเรียกว่า เจริญสติหรือเปล่า

    สุ. การตรึกหรือการนึกมีหลายขั้น และละเอียดขึ้นๆ ด้วย ในขั้นแรก เวลาที่ใช้คำว่า คิด หรือนึก ทุกท่านมักจะเข้าใจว่า เป็นในขณะที่กำลังนึกถึงเรื่องราว หรือว่านึกถึงคำ ใช่ไหม ถ้าใช้คำว่า คิด หรือนึก โดยมากเข้าใจว่า นึกถึงคำ นึกถึงเรื่องราวต่างๆ แต่สภาพลักษณะของวิตกเจตสิกละเอียดกว่านั้น

    จริงอยู่สภาพที่คิดนึกเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย บังคับให้คิดอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้เลย ทุกขณะที่เกิดคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้น ให้ทราบว่า ที่คิดเรื่องนั้นเกิดขึ้นได้เพราะการจำเรื่องนั้นมี และวิตกก็ตรึก จรดในเรื่องนั้น จิตก็รู้ในเรื่องนั้น เป็นสภาพที่คิดหรือนึกในเรื่องนั้น แต่เวลาที่ไม่ได้คิดถึงคำ ไม่ได้คิดถึงเรื่อง คิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏก็มี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๖๙๑ – ๗๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564