แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 703


    ครั้งที่ ๗๐๓


    สุ. เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่สะสมอัธยาศัยมาต่างๆ กัน ย่อมจะแสดงอัธยาศัยที่ต่างกัน แม้ในขณะที่เป็นเด็ก ก็ยังมีความต่างกัน ถ้าท่านไม่ได้ช่วยเหลือทางกาย ท่านก็อาจจะช่วยเหลือทางวาจาก็ได้ โดยการให้คำแนะนำ ด้วยความรู้ ด้วยความเข้าใจในสิ่งที่บุคคลอื่นทำ ถ้าท่านมีความรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะเสร็จเร็ว จะเสร็จดี หรือว่าจะไม่เหน็ดเหนื่อยมาก จะผ่อนแรงได้ และท่านก็มีจิตอนุเคราะห์ เมตตาสงเคราะห์คนที่กำลังทำสิ่งนั้นให้ทำได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และเสร็จได้เร็วด้วย ในขณะนั้นก็เป็นการสงเคราะห์บุคคลอื่น แม้ไม่ใช่ด้วยกาย แต่ก็ด้วยวาจา

    แต่ถ้าอกุศลจิตเกิด สังเกตได้ทันทีในขณะนั้นว่า แม้เพียงวาจาที่จะให้คำแนะนำช่วยเหลือก็ทำไม่ได้ โดยเฉพาะเวลาที่ความไม่ชอบใจเกิดขึ้นในบุคคลหนึ่งบุคคลใด จะเห็นได้ทันทีว่า กั้นกุศลทั้งหลายไม่ให้กระทำแม้การสงเคราะห์ด้วยวาจาในบุคคลนั้น ในขณะที่บุคคลนั้นควรที่จะได้รับการสงเคราะห์ด้วยการแนะนำช่วยเหลือต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านผู้ฟังลองคิดถึงกุศลที่จะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ในเรื่องของเวยยาวัจจะซึ่งเป็นการสงเคราะห์ว่า ปกติท่านมีอัธยาศัยสะสมมาที่จะกระทำการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นบ้างหรือเปล่า ถ้าไม่มี หรือว่ามีน้อย ก็ให้ทราบว่า ในชีวิตประจำวันของท่านมีอกุศลธรรมครอบงำมาก ซึ่งจะบรรเทาละคลายให้เบาบางได้โดยการเจริญกุศลทันที เพราะว่าผู้ที่ไม่เจริญกุศล ย่อมเป็นผู้ที่เกียจคร้านในการขัดเกลากิเลส

    การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น ที่ท่านคิดอยากจะกระทำ แต่ว่าไม่สำเร็จ เพราะว่าเวลาที่เหตุการณ์นั้นเกิดจริงๆ ไม่ได้ช่วย ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ตั้งใจไว้ว่าจะช่วย งานหนักทั้งหลายก็ตั้งใจที่จะช่วย แต่เวลาที่มีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ ก็ช่วยไม่ได้ นั่นเพราะว่ากุศลธรรมไม่เกิดขึ้น เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    แม้ในขณะที่เดินทาง เคยช่วยสงเคราะห์ผู้อื่นที่ควรสงเคราะห์บ้างไหม ในรถประจำทางมีเด็กนักเรียนถือกระเป๋าหนักมากบ่อยๆ และบางท่านก็ไม่ใช่เด็กนักเรียน แต่ว่าถือของหลายอย่างที่แสนหนัก และไม่ได้นั่งด้วย เพราะไม่มีที่นั่ง เคยสงเคราะห์บุคคลเหล่านั้นบ้างไหม ถ้ามีการสงเคราะห์ ก็เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นกระทำกิจของกุศลในขณะนั้น

    การที่จะสงเคราะห์บุคคลอื่น ไม่จำกัดเลย แม้แต่โดยมารยาทตามที่ควรจะเป็น ในขณะที่รับประทานอาหารด้วยกัน ก็สงเคราะห์บุคคลที่ร่วมรับประทานอาหาร ด้วยการหยิบยกยื่นสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นที่ผู้นั้นต้องการ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล ต้องเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นขยันในการที่จะกระทำกิจขัดเกลากิเลสในขณะนั้น ถ้าเป็นคนเกียจคร้าน แม้ในทางอกุศลก็ยังเกียจคร้าน ในทางกุศลก็ย่อมจะต้องเกียจคร้านยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น การสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นซึ่งเป็นกุศลนั้น ก็ต้องเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับความเกียจคร้านในการกระทำกุศล

    บางท่านขยันในเรื่องอกุศลมาก แต่พอถึงเรื่องกุศลตรงกันข้าม แต่บางท่านที่สะสมอัธยาศัยในการที่จะขัดเกลากิเลสและเจริญกุศล ท่านจะขยันในการเจริญกุศล และค่อยๆ เกียจคร้านในการสะสมอกุศล เป็นอย่างนั้นบ้างไหม

    ท่านที่สนุกสนานเพลิดเพลินไปในทางอกุศลทั้งหลาย คงไม่ทราบว่า ในขณะนั้นมีวิริยเจตสิก มีสภาพธรรมที่หมั่นขยันในทางอกุศล แต่พอถึงในทางกุศล เช่น การฟังธรรม การศึกษา หรือการอ่านธรรม การสนทนาธรรม การที่จะไปสู่สถานที่ที่จะได้ศึกษาธรรม บางท่านรู้สึกว่า เกียจคร้าน ไม่ค่อยจะว่าง ไม่ค่อยจะสะดวก

    แต่ถ้าท่านสะสมกุศลเพิ่มขึ้น ความขยันในการที่จะศึกษาธรรม ฟังธรรม จะรู้สึกว่า เป็นไปโดยสะดวก ง่ายกว่าที่จะไปขยันในการหาความสนุกเพลิดเพลินในทางอกุศลทั้งหลายเท่าที่เคยเป็นมา

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมต่างกัน แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม สำหรับอกุศลธรรมนั้น นอกจากจะครอบงำให้หลงไปจากความจริงของสภาพนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ก็ยังเป็นสภาพธรรมที่ทำให้ตั้งจิตไว้ในทางที่ไม่ชอบ แม้แต่การคิดหรือการกระทำ ก็จะเป็นไปในทางที่ไม่ถูก ในทางที่ไม่ชอบ ซึ่งในขณะนั้นก็ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพของอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นตั้งจิตไว้ในทางที่ไม่ชอบ แต่ในขณะที่สติเกิด ซึ่งเป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกับอกุศล ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นกุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นตั้งจิตไว้ชอบ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่าสติจะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นหรือไม่ ถ้าสติสามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ย่อมจะเห็นสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง แม้แต่การคิด ก็จะคิดในทางที่ถูก ไม่คิดในทางที่ผิด

    บางท่านมีความหวังร้ายต่อผู้ที่ประพฤติไม่ชอบ เพราะฉะนั้น ลองพิจารณาสภาพจิตของท่านเองว่า เคยมุ่งหวังที่จะให้คนที่ประพฤติไม่ชอบได้รับโทษ ได้รับภัยอันตรายต่างๆ อย่างร้ายแรงหรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น จิตของท่านเองทำร้ายตัวของท่านเอง เพราะว่าบุคคลอื่นไม่ได้เป็นไปตามความคิดของท่าน แต่ย่อมเป็นไปตามกรรมของเขา เพราะฉะนั้น เขาย่อมได้รับผลของอกุศลกรรมนั้น โดยที่ท่านไม่จำเป็นต้องหวังร้ายหรือคิดร้ายต่อบุคคลนั้นเลย

    เหมือนกับที่เห็นคนอื่นตกลงไปในกองไฟ ท่านก็ยังคิดที่จะกระโดดลงไปทำร้ายต่อบุคคลที่ตกอยู่ในกองไฟนั้น ซึ่งผลก็คือ ตัวท่านเองย่อมเป็นผู้ที่ได้รับภัยจากไฟนั้นด้วย เพราะบุคคลนั้นได้ตกลงไปสู่กองไฟด้วยการกระทำชั่วของตนเองแล้ว ก็ย่อมได้รับผลของอกุศลกรรมนั้น แต่ตัวท่านเองกลับมีอกุศลจิตที่คิดจะเบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลนั้น ซึ่งเท่ากับว่า ท่านต้องการที่จะกระโดดลงไปทำร้ายคนที่อยู่ในกองไฟนั้นด้วยเพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลธรรม ย่อมให้ผลเป็นทุกข์

    สำหรับท่านที่เห็นว่ากิเลสดับยากเหลือเกิน จะเป็นผู้ที่พากเพียรที่จะเจริญกุศลทุกประการ ทุกโอกาส พร้อมการเจริญสติปัฏฐานที่จะให้รู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง และท่านก็คงจะมีความตั้งใจมั่นที่ว่า ท่านมีกายใจไว้สำหรับทำอะไร ไม่ควรที่จะมีไว้สำหรับเพื่อที่จะให้อกุศลเจริญขึ้น แต่ควรที่จะมีไว้สำหรับเจริญกุศลทุกประการ ซึ่งจะเป็นบารมีสำหรับที่จะให้ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    ในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ได้ทรงแสดงเรื่องของการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นไว้ เช่น ใน สิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงหน้าที่ของบุตรต่อมารดาบิดา ซึ่งเป็นไปในการสงเคราะห์ท่านด้วย คือ จักเลี้ยงท่านตอบ ๑ จักรับทำกิจของท่าน ๑ นี่เป็นการสงเคราะห์มารดาบิดา ด้วยการการรับทำกิจการงานธุระต่างๆ ของท่าน และเลี้ยงท่านตอบด้วย ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในการรับทำกิจธุระของมารดาบิดา ไม่ควรที่จะเป็นไปแต่ในเรื่องใหญ่ๆ เท่านั้น แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ควรที่จะได้รับใช้กระทำกิจให้ท่านด้วย เพราะว่าบางท่านสนใจแต่ในการที่จะตอบแทนมารดาบิดาในเรื่องใหญ่ ลืมเรื่อง เล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อมารดาบิดาเป็นผู้ที่ชราแล้ว กำลังของท่านก็ต้องอ่อนลง เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะกระทำกิจเล็กๆ น้อยๆ ให้ท่านด้วย

    ใน สิงคาลกสูตร พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงหน้าที่ของศิษย์ต่ออาจารย์ ซึ่งเป็นไปในเรื่องของเวยยาวัจจะการสงเคราะห์ด้วย คือ เข้าไปยืนคอยรับใช้ ๑ ด้วยการปรนนิบัติ ๑ เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันจะขาดการสงเคราะห์ คือ การช่วยเหลือบุคคลอื่นไม่ได้ ถ้าขณะนั้นเป็นกุศลจิต ท่านจะรู้ได้ทันทีว่า ขณะที่กำลังสงเคราะห์ กำลังช่วยเหลือนั้น เป็นกุศลจิตไม่ใช่อกุศล

    หน้าที่ภรรยาต่อสามี คือ จัดการงานดี ๑ สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ๑ ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ๑ นี่ก็เป็นกุศลในขณะนั้น เพราะเวลาที่ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ย่อมจะทำให้คนอื่นได้รับความสบายกายสบายใจขึ้น และไม่เดือดร้อนใจด้วย

    หน้าที่ของมิตร ในสังคหวัตถุมีว่า การให้ ๑ เจรจาไพเราะ ๑ การประพฤติให้เป็นประโยชน์ ๑ ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลาย ๑ ซึ่งการประพฤติให้เป็นประโยชน์คืออัตถจริยานั้น คือ การสงเคราะห์มิตรสหายเท่าที่สามารจะกระทำได้

    หน้าที่ของนายซึ่งมีต่อผู้รับใช้ คือ จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง นี่ก็เป็นการสงเคราะห์ คือ ไม่เห็นแก่ตนโดยการคิดที่จะให้คนอื่นเหนื่อยยากลำบากเพราะท่าน ซึ่งถ้าไม่คิดถึงความสุขความสบายของคนอื่นเลย ในขณะนั้นย่อมเป็นอกุศลจิต แต่ในขณะที่เกิดกุศลจิต ท่านย่อมจะจัดการงานให้ตามสมควรแก่กำลัง ซึ่งเป็นการสงเคราะห์ผู้รับใช้ท่านด้วย นอกจากนั้นก็สงเคราะห์ ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน

    หน้าที่ต่อสมณะ คือ ประพฤติต่อท่านด้วยกายกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยวจีกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา ๑ ด้วยมโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา ๑ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เมื่อใจของท่านไม่เบียดเบียน กายวาจาก็ย่อมไม่ประทุษร้ายเบียดเบียนด้วย เพราะว่าก่อนที่จะมีการกระทำทางกาย ทางวาจา จิตใจคิดมากมายนับไม่ถ้วน ยังไม่ได้กระทำเลย คิดเสียก่อนมากมายแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็ตาม ก็ต้องเป็นไปตามความคิดนั้น ซึ่งถ้ามีมโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา มีใจที่ไม่ประทุษร้ายเบียดเบียน กายวาจาก็ย่อมไม่เบียดเบียนด้วย

    สำหรับการที่จะสงเคราะห์บุคคลทั้งหลาย อย่าลืมว่าบุคคลที่ท่านควรจะสงเคราะห์ที่สุดนั้น คือ ผู้ที่มีคุณต่อท่าน

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มาตุโปสกสูตรที่ ๙ มีข้อความว่า

    สาวัตถีนิทาน ฯ

    ครั้งนั้น มาตุโปสกพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง มาตุโปสกพราหมณ์นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ท่านพระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าแสวงหาภิกษาโดยชอบแล้วเลี้ยงมารดาและบิดา ข้าพระองค์ทำเช่นนี้ ชื่อว่าทำกิจที่ควรทำหรือไม่ ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ชอบยิ่ง พราหมณ์ ท่านทำดังนี้ ชื่อว่าได้ทำกิจที่ควรทำแล้ว ด้วยว่าผู้ใดแสวงหาภิกษาโดยชอบแล้วเลี้ยงมารดาและบิดา ผู้นั้นย่อมได้บุญเป็นอันมาก ฯ

    พระผู้มีพระภาคผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    บุคคลใดเลี้ยงมารดาและบิดาโดยชอบ เพราะการบำรุงมารดาและบิดานั่นแล บัณฑิตย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ทีเดียว บุคคลนั้นละไปจากโลกนี้แล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์ ฯ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว มาตุโปสกพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายดุจหงายภาชนะที่คว่ำเปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้

    ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง พระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ

    เพราะฉะนั้น บางท่านที่คิดถึงเรื่องการสงเคราะห์บุคคลอื่น ผู้ที่ห่างไกลออกไป แต่อาจจะลืมคิดถึงผู้ที่ใกล้ชิดที่สุด คือ มารดาบิดาผู้มีคุณ เพราะฉะนั้น กุศลจิตจะทำให้ท่านเป็นผู้ที่ไม่ลืมในการที่จะสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ทั้งหลาย ตั้งแต่มารดาบิดา ตลอดไปจนถึงบุคคลในบ้าน และบุคคลอื่น ซึ่งถ้าเป็นบุคคลที่ห่างไกลออกไป ก็เป็นการสงเคราะห์สังคมทั้งหมด

    ถ. บางครั้งที่อกุศลจิตเกิด ขณะที่สนุกสนานเพลิดเพลินก็สนุกสนานกันไป ขณะนั้นไม่ง่วง ผมคิดว่า เป็นความเพียรในอกุศล แต่บางครั้งผมเห็นคนที่ฟังธรรม ฟังไปๆ ก็ง่วง บางทีหลับคาศาลาก็มี อย่างนี้เรียกว่า ไม่มีความเพียรในกุศลได้ไหม

    สุ. แน่นอน ที่ไป นั่นเพียรถูก เพียรนั่ง แต่ในขณะที่ฟัง ไม่ได้เพียรฟังด้วย

    ถ. เขาไปฟัง ก็ไม่มีใครบังคับ ไม่มีใครชักจูง แต่ว่าขณะที่ฟังไปๆ ก็หลับ ก็ขณะที่ไป เขาก็ตั้งใจอยู่ จะว่าไม่มีความเพียรในการฟัง ก็ไม่น่าจะใช่

    สุ. ไม่ใช่ว่าบุคคลนั้นจะต้องมีความเพียรอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา แล้วแต่ขณะจิต ที่กล่าวว่า ชีวิต นี่หมายความถึงชั่วขณะจิตหนึ่งๆ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว และก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นกุศล จะเป็นอกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่เป็นสัตว์บุคคลต่างๆ บางขณะก็ดี บางขณะก็ไม่ดี แล้วแต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น

    ถ. ผมเองอยากจะอ่านพระไตรปิฎกให้มาก แต่วันหนึ่งๆ อ่านไปไม่กี่หน้าก็จะง่วง

    สุ. ถ้าไม่อ่าน คิดว่าจะง่วงไหม หรือว่าอย่างไร ก็ต้องง่วงเหมือนกัน จะอ่านหรือไม่อ่าน ก็ง่วง

    ถ. ถ้าไม่อ่าน ไปทำอย่างอื่น ไม่ง่วง ขณะที่ง่วงก็พยายามฝืน แต่ฝืนไปไม่ได้ตลอด

    สุ. ก็เป็นการพักผ่อนที่ดีสำหรับร่างกาย ถ้าร่างกายต้องการที่จะพักผ่อน ก็สามารถที่จะพักผ่อนพร้อมไปกับกุศลจิตซึ่งเกิดก่อนที่จะพักผ่อนนั้นด้วย เพราะว่าเรื่องของการหลับช่วยไม่ได้ บางท่านไม่อยากจะหลับเลย อยากจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ร่างกายก็ทนไม่ไหวที่จะต้องหลับ ก็หลับไป แต่ถ้าเป็นกุศลก่อนที่จะหลับก็ดี

    ถ. ผมถือว่า การหลับขณะนั้นเป็นถีนมิทธะ เป็นอกุศล

    สุ. จะตื่นตลอดเวลาเป็นไปไม่ได้ หลับบ้าง ตื่นบ้าง ถ้าตื่นขึ้นมาก็อ่านต่อ ถ้าต้องการกุศลที่จะศึกษา

    ถ. ถ้าเพียรในอกุศล จะไม่มีถีนมิทธะมาขัดขวาง มาปิดกั้น แต่ถ้าเพียรในกุศล ทั้งๆ ที่มีความตั้งใจที่จะเพียรในกุศลก็มีอุปสรรค คือ ความง่วงมาขัดขวาง ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น

    สุ. เพราะว่ากุศลอ่อนกำลัง หรือว่าไม่มีกำลัง แต่ว่าอกุศลนั้นมีกำลังมาก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๗๐๑ – ๗๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564