แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 686


    ครั้งที่ ๖๘๖


    ในเรื่องของทาน ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี การสละวัตถุที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ซึ่งน่าจะสละไม่ยาก เพราะว่าสิ่งที่จะเป็นทานที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง เพียงแต่จะนึกสักนิดหนึ่งว่า สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์แก่ใครบ้าง ทานก็เกิดขึ้นได้แล้ว

    แต่ถ้าไม่นึกถึงคนอื่นเลย ตนเองเท่านั้นที่สำคัญ จะให้เขาก็กลัวว่า จะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ความคิดเกิดขึ้นมากมายในเรื่องของความเป็นตัวตน เป็นเขา เป็นเรา ทานก็เกิดไม่ได้ แต่ถ้ากุศลจิตเกิด กุศลธรรมตั้งจิตในทางที่ชอบ ระลึกถึงคนอื่น และสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับผู้อื่น ทานก็เกิดขึ้นได้ เป็นผู้ที่ยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีเรี่ยวแรง มีความบากบั่นมั่งคง ไม่ทอดธุระในธรรมที่เป็นกุศล แม้ในขณะนี้ กุศลเจริญได้ทุกขั้น ความสงบของจิตในขณะนี้มีไหม ถ้าไม่มี ก็ไม่ทอดธุระ

    เวลาที่ความไม่สงบของจิตปรากฏ มีความวิตกกังวล ห่วงใย เดือดร้อน ครุ่นคิด นั่นเป็นลักษณะสภาพของความรู้สึกซึ่งไม่สบายใจ เป็นอกุศล ใครๆ ก็รู้ว่าขณะนั้นไม่สงบ ถ้าเป็นผู้ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ตั้งจิตไว้ชอบ สติเกิดขึ้นระลึกได้จึงสงบ แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติจะระลึกเป็นไปในขั้นของความสงบ หรือว่าเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งเป็นการศึกษารู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่ปัญญาเกิด ต้องมีความสงบร่วมด้วย ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ในขณะนั้นเป็นความสงบพร้อมด้วยปัญญาที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง แต่ว่าบังคับไม่ได้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นตั้งจิตไว้ประการใด จะให้เป็นอกุศลจิตต่อๆ ไป หรือจะให้เป็นความสงบที่ระลึกได้ว่า อกุศลธรรมนั้นไม่สมควร ในขณะนั้น แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะตั้งจิตเป็นกุศลประการใด หรือถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที

    มีชาวต่างประเทศที่ได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และมีความเข้าใจ เพราะเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ได้เขียนจดหมายมาบอกว่า ส่วนมากคนยังเข้าใจผิดคิดว่า การที่ปัญญาจะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องให้ตัวเองมีปัจจัยที่เหมาะสม แต่สำหรับท่านผู้นั้น ซึ่งเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เข้าใจแล้วจริงๆ ว่า สภาพของการศึกษาพร้อมสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะเกิดขึ้นในขณะใดก็ได้ ตามปกติ เพราะว่าอกุศลธรรมประการเดียวที่กั้นปัญญาไว้ไม่ให้เจริญขึ้นนั้น คือ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด

    โลภะเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน มีความเข้าใจถูกในการอบรมเจริญปัญญา สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภะในขณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง มีลักษณะอย่างนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรืออกุศลธรรมอื่น ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูกในการเจริญสติปัฏฐาน สติก็เกิดขึ้น สามารถที่จะระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้

    แต่ถ้าเป็นผู้ที่เห็นผิด เข้าใจผิด ก็ไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วปัญญาที่สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทนั้น จะต้องเป็นปัญญาที่สามารถรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้นั่นเอง ถ้าไม่ใช่ในขณะนี้ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

    . ธรรมดาของความโกรธ สังเกตดู มีชัดๆ อยู่ ๒ ทาง คือ ทางเสียง กับทางร่างกาย ทางเสียง โดยมากก็ได้ยินคำไม่ไพเราะ เหยียดหยามดูถูก ส่วนทางกาย ก็ตีรันฟันแทง ชกต่อยอะไรพวกนี้ ความโกรธก็จะเกิดขึ้น ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น

    ถ้ามีสติอยู่ ถึงแม้จะได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ หรือวาจาอันไม่ไพเราะ ความโกรธก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากเผลอสติไป ความโกรธจะเกิดขึ้นทันที และถ้าเรามีสติคิดว่า จิตเรากำลังโกรธแล้ว ความโกรธนั้นจะหายไป นี่เป็นลักษณะการดับความโกรธ ทำให้จิตเราไม่ผูกโกรธ ใช่หรือเปล่า

    สุ. สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องศึกษา รู้ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏ

    . สมมติว่า มีคนด่า เป็นคำหยาบแต่ละคำ จิตก็ไปอยู่ที่แต่ละคำนั่น พอจิตโกรธ หูไม่ได้ยินเสียงแล้ว เพราะว่านามไปอยู่ที่คำด่านั้น ความโกรธก็เกิดขึ้น คำพูดอะไรๆ ไม่ได้ยินหรอก นามไปอยู่ที่โกรธเสียแล้ว แต่พอรู้สึกว่าเราโกรธ ความโกรธหายไปเลย เพราะจิตมาอยู่ที่สำนึกที่รู้ว่าเราโกรธ

    สุ. ต้องการผลอะไร

    . อยากจะรู้ว่า ถ้าจะไม่ให้โกรธ ให้จิตผ่องใสอย่างนี้ เราจะทำวิธีใด

    สุ. ผล คือ ปัญญา ดีที่สุด เพราะว่าบางทีท่านอาจจะต้องการผลย่อยๆ คือ เพียงให้หายโกรธชั่วคราว แต่ว่าขณะนั้นรู้อะไร สำคัญที่สุดคือรู้อะไรในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริงแต่ละลักษณะในขณะนั้นได้ไหม นี่สำคัญที่สุด

    สิ่งที่ผ่านไปแล้ว ผ่านไปเลย ขณะนี้สำคัญที่สุด คือ สภาพธรรมที่ปรากฏเฉพาะหน้าในขณะนี้ มีอะไรที่ปัญญาจะรู้ จะศึกษาได้

    บางท่านเริ่มด้วยการสนทนาธรรม ก็เป็นสิ่งที่ดี เป็นเรื่องของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ก็มีเรื่องราวในชีวิตต่อจากลักษณะของสภาพธรรม แต่เวลาที่สติเกิด ที่จะเป็นสติปัฏฐานนั้น ต้องเป็นอารมณ์เฉพาะหน้า ขณะนี้กำลังคุยกัน กำลังสนทนากันเรื่องอะไรก็ได้ เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ได้ แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เฉพาะหน้า สติจะต้องระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

    อย่างขณะที่นั่งคุยกัน ก็ต้องมีคนที่กำลังคุยกัน สติเกิดระลึกรู้ คนหายไปหรือยัง หรือว่ายังคงเป็นคนอยู่ ถ้ายังเป็นคนอยู่ ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ในตอนต้นๆ นี่ ยากนักยากหนาที่จะถ่ายถอนการเห็นสภาพธรรมที่ปรากฏเฉพาะหน้าว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของทางตา ส่วนทางหูที่กำลังได้ยิน ก็เป็นอีกโลกหนึ่งแล้ว เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกันเลยกับสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา จะเอามาเชื่อมโยงต่อกันว่า เป็นคนนั้นคนนี้กำลังพูด ก็ผิด เพราะถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู ก็ไม่เห็น ในขณะที่ ได้ยิน เห็นอะไรไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น การระลึกรู้ตรงลักษณะจริงๆ ต้องแต่ละทาง แต่เพราะการเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมเร็วมาก ซึ่งสติและปัญญายังไม่ชำนาญพอที่จะเห็นลักษณะที่ต่างกันจริงๆ ของสภาพธรรมทางตากับสภาพธรรมทางหู เพราะฉะนั้น ความหลงลืม และความไม่รู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน ก็ทำให้ยากที่จะเห็นว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่ละโลก เป็นแต่ละสภาพธรรม เป็นแต่ละขณะ และเป็นแต่ละลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ

    ท่านจะกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเป็นสติปัฏฐานซึ่งเกิดขึ้นระลึก ต้องศึกษาเพื่อที่จะเห็นชัดว่า ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะต่างกัน และไม่ควรที่จะเอามาต่อกันให้เกิดความเห็นเหมือนอย่างเดิมว่า ยังเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ ยังเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่

    เรื่องของการอบรมเจริญกุศลนี้ จะเห็นได้ว่า ต้องนานมากทีเดียวกว่าปัญญาจะคมกล้าถึงขั้นที่สามารจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ถ้าทอดธุระในกุศลธรรม หวังอย่างเดียวที่จะเจริญสติปัฏฐาน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าอกุศลธรรมทั้งหลายมากมายที่สะสมมา ที่จะคอยเพิ่มความเป็นตัวตน กีดกั้นกุศลอื่น แม้แต่ในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล และในเรื่องความสงบของจิต

    แต่ถ้าเห็นว่า อกุศลทั้งหลายมากมายเหลือเกิน ยากที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท ถ้าไม่อบรมเจริญกุศลทุกขั้นทุกประการเป็นการเกื้อกูลสนับสนุนแล้ว อกุศลนับวันก็ยิ่งจะเพิ่มขึ้นๆ มากมายเหลือเกิน เมื่อไรจะดับได้เป็นสมุจเฉทสมความปรารถนา ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเป็นผู้ที่บากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในการเจริญกุศลธรรม เป็นผู้ที่ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีเรี่ยวแรง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในธรรมที่เป็นกุศล ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ นี้เป็นนาถกรณธรรม เป็นธรรมซึ่งเป็นที่พึ่ง พึ่งอื่นพึ่งไม่ได้เลย นอกจากพึ่งการเจริญกุศล เพื่อที่จะดับอกุศลให้เป็นสมุจเฉท

    นาถกรณธรรม ประการที่ ๙ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอย่างยอดเยี่ยม แม้สิ่งที่ทำแล้วนาน แม้คำที่พูดแล้วนาน ก็นึกได้ ระลึกได้

    ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาเครื่องรักษาตนอย่างยอดเยี่ยม แม้สิ่งที่ทำแล้วนาน แม้คำที่พูดแล้วนาน ก็นึกได้ ระลึกได้ นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม ฯ

    . ลักษณะของสติและสัญญา รู้สึกว่าจะใช้คำพูดคล้ายๆ กัน หรือเหมือนกันด้วยซ้ำ เช่น พูดว่า การกระทำที่นาน ก็นึกได้ ระลึกได้ คำพูดที่นาน ก็นึกได้ ระลึกได้ ถ้าเราจะพูดว่า คำพูดที่นาน ก็จำได้ การกระทำที่นาน ก็จำได้ จะใช้ได้ไหม

    สุ. สภาพธรรมที่จำ เป็นสภาพธรรมที่เป็นสัญญาเจตสิก สภาพที่ระลึกได้ในทางที่เป็นกุศล เป็นลักษณะของสติเจตสิก สัญญามีหน้าที่จำ จำทุกสิ่งทุกประการ ไม่ทำกิจอื่นเลย ทำกิจอื่นไม่ได้ จะให้ระลึกขึ้นได้ในทางที่เป็นกุศลก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าเป็นสภาพที่จำลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งเกิดพร้อมกับจิตที่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น

    . ข้อนี้ก็รู้อยู่ แต่ถ้าเราจะใช้คำพูดว่า เมื่อปีที่แล้วเราไปทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ เราจำได้ หรือจะใช้คำพูดว่า เมื่อปีที่แล้วเราไปทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ เราระลึกได้ คำพูดทั้ง ๒ นี้ ผู้ฟังก็เข้าใจเป็นอย่างเดียวกัน คือ จำได้นั่นเอง เพราะฉะนั้น คำว่าสัญญา กับ คำว่าสติ มีคำจำกัดความอะไรบ้างที่จะใช้คำว่า ระลึกได้ กับที่จะใช้คำว่า จำได้

    สุ. นี่เป็นความละเอียดของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับร่วมกัน ลักษณะที่ต่างกันของสัญญาเจตสิก วิตกเจตสิก และสติเจตสิก

    สัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่จำ ถ้าจำไม่ได้ จะตรึกนึกถึงเรื่องนั้นได้ไหม แต่ขณะที่ตรึกนึกถึง เป็นวิตกเจตสิกที่ตรึกถึงเรื่องที่สัญญาจำได้ สัญญาจำ แต่วิตกเจตสิกตรึกนึกถึงเรื่องที่สัญญาจำได้ นึกถึงลักษณะของสภาพธรรมที่สัญญาจำไว้ สัญญาจำเสียง วิตกเจตสิกจึงตรึกนึกถึงเสียงที่สัญญาจำไว้ และถ้าเป็นสติเจตสิก ก็เป็นสภาพธรรมที่ระลึกได้ในฝ่ายกุศลเท่านั้น

    การตรึกนึกคิดในวันหนึ่งๆ นึกไปได้หลายเรื่อง บางครั้งคิดไปด้วยโลภะ บางครั้งคิดไปด้วยโทสะ ตามเรื่องที่จำๆ ไว้ สัญญาจำอะไรไว้ วิตกก็ตรึกด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ในเรื่อง ในสิ่งต่างๆ ในสภาพธรรมที่สัญญาจำไว้ แต่ว่าไม่ใช่ สติเจตสิก ถ้าขณะนั้นไม่เป็นไปในทางกุศล แต่ว่าเวลาที่นึกถึงเรื่องอื่นด้วยโลภะ โทสะ เป็นอกุศล สติเกิดขึ้นระลึกได้ในขณะนั้น ไม่ใช่สัญญาที่จำ และไม่ใช่วิตกที่ตรึก แต่เป็นการระลึกในฝ่ายกุศลที่จะรู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเกิดดับ กระทำกิจการงานอย่างรวดเร็วตามหน้าที่ของตนๆ โดยไม่มีการระลึกรู้ จึงไม่ปรากฏชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ถ้าสติเกิดขึ้น เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นบ้าง ลักษณะของสภาพธรรมนี้บ้าง มีความชำนาญสามารถที่จะเห็นความต่างกันโดยละเอียดในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดร่วมกัน ก็จะทำให้รู้ชัดว่า สภาพธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นมีลักษณะที่ต่างกัน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    . หมายความว่า จะรู้ได้ว่าเป็นสัญญา หรือเป็นสติ โดยวัดจากจิตที่ ในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศลเท่านั้น

    สุ. และสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะนั้นด้วย

    . สภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นสัญญา หรือว่าเป็นสติ อยากจะรู้ว่าจะใช้อะไรเป็นเครื่องวัด

    สุ. สติระลึกรู้ลักษณะของสัญญาว่า เป็นสภาพที่จำ

    . ก็ยังแยกไม่ออก ยกตัวอย่างว่า เมื่อปีที่แล้วเราไปทอดกฐินที่วัดหนึ่ง ได้ทำบุญไปเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ขณะนั้นจะใช้คำพูดว่า เราจำได้ หรือว่าเราระลึกได้

    สุ. สัญญาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกดวง และไม่ว่าจะนึกเป็นเรื่องอะไร ก็ต้องเป็นเรื่องที่สัญญาจำเรื่องนั้น สัญญาจำ แต่แล้วแต่วิตกเจตสิกว่า จะตรึกนึกถึงเรื่องใด เพราะสัญญาจำไว้หมด เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของวิตกเจตสิกว่า จะตรึกนึกถึงเรื่องใดในขณะนั้น

    สำหรับสติ จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่จำว่า เป็นลักษณะหนึ่ง และสภาพที่ตรึกหรือนึก ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๖๘๑ – ๖๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564