แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 709


    ครั้งที่ ๗๐๙


    สุ. วิปัสสนาญาณขั้นต้น คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ยังไม่สละอะไรเลย เพียงแต่เป็นปัญญาขั้นที่ประจักษ์สภาพความเป็นนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยสภาพที่แยกขาดจากกันทางมโนทวาร จึงไม่ปรากฏการประชุมรวมกันเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นปัญญาที่สามารถรู้ชัดประจักษ์แจ้งในสภาพความเป็นนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรม

    แต่วิปัสสนาญาณขั้นต้น ก็ยังไม่สามารถที่จะละ หรือสละนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏได้ และถึงแม้วิปัสสนาญาณขั้นต่อไปจะเกิดขึ้น เป็นการเพิ่มความรู้ในลักษณะของนามธรรมรูปธรรมที่เกิดเพราะปัจจัย แม้จะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป และก็เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นปรากฏ แต่ก็ยังไม่ละนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความเหนียวแน่นของความยึดถือ ความติดข้องในนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลตามความเป็นจริงว่า ยังไม่หมด ยังมีอยู่มาก ยังมีกำลัง ดังนั้น ท่านเหล่านี้ก็จะอบรมเจริญบารมี ด้วยการเจริญกุศลทุกประการ เพื่อที่จะให้เป็นกำลัง และเป็นปัจจัยให้สามารถที่จะสละ ละความติด ความพอใจ ความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น กุศลทั้งหลาย จะต้องเจริญขึ้นเรื่อยๆ เป็นขั้นๆ ทีละเล็กทีละน้อย จากการหวังผลซึ่งเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นการที่จะละคลายกิเลส และอบรมเจริญกุศลทุกประการยิ่งขึ้น เพื่อที่จะให้เป็นกำลังที่สามารถทำให้ปัญญาคมกล้าละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    ถ. คำว่า จาคะ กับ ทาน มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร

    สุ. ทาน เป็นการสละวัตถุ จาคะ เป็นการสละกิเลส

    ถ. ถ้าเราให้ทาน พร้อมทั้งการสละกิเลส จะเป็นไปได้ไหม

    สุ. ได้ คือ ไม่หวังผล

    ถ. เราทำทานสิ่งใด และมีจาคะ คือ บริจาคออกซึ่งความติด ทานนั้นก็เป็นจาคะ ใช่ไหม

    สุ. แต่ถ้ายังไม่จริง ก็ยังไม่ใช่จาคะ ยังมีการหวังผลบ้าง

    ใน ปปัญจสูทนี อรรถกถาจูฬธัมมสมาทานสูตร มีข้อความที่แสดงถึงความละเอียดในขณะที่ให้ของแต่ละท่านว่า

    บางท่านในขณะที่ให้ อโลภะมีกำลัง แต่อโทสะและอโมหะอ่อน

    เฉพาะอโลภะมีกำลัง แต่อโทสะและอโมหะอ่อน เพราะฉะนั้น ผลก็คือ เมื่อบุคคลนั้นเกิดขึ้น มีความว่องไว ชำนาญ ไม่เสียดายในการที่จะสละ แต่ยังเป็นคนขี้โกรธ พร้อมกันนั้นก็เป็นผู้ที่ไม่สนใจในการอบรมเจริญปัญญา เพราะในขณะที่ให้ทาน ในขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แต่ต้องประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ และในบางครั้ง ก็จะประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ ซึ่งความยิ่งหย่อนของอโลภะ อโทสะ อโมหะก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้อัธยาศัยที่สะสมไปจากการกระทำนั้น ปรากฏผลโดยการที่ว่า ผู้ใดขณะที่ให้ทาน อโลภะมีกำลัง แต่ว่าอโทสะและอโมหะอ่อน ก็จะทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ให้ทานได้โดยง่าย ไม่มีความเสียดาย เพราะว่าอโลภะมีกำลัง แต่เมื่ออโทสะและอโมหะอ่อนกำลัง จึงเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยโกรธง่าย พร้อมกันนั้นก็ไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจสภาพธรรมให้ลึกซึ้งขึ้น

    สลับกันไป บางท่านก็กระทำด้วยอโทสะมีกำลัง แต่อโลภะกับอโมหะอ่อน และบางท่านในขณะที่ให้ทาน อโมหะคือปัญญามีกำลัง แต่อโลภะกับอโทสะอ่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่า บางท่านมีปัญญารู้ว่า ขัดเกลากิเลสเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นกุศล แต่ความแช่มชื่นของจิตน้อย เพราะฉะนั้น อโมหะมีกำลัง แต่ว่าอโทสะอ่อน และอโลภะก็อ่อนได้ เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่มีปัญญา สะสมการอบรมการเจริญปัญญายิ่งขึ้น แต่ก็ยังเป็นผู้ที่อ่อนในการที่จะเป็นอโทสะและอโลภะ คือ เป็นผู้ที่ยังติด ยังสละไม่ง่ายเท่ากับบุคคลซึ่งให้ทานในขณะที่อโลภะมีกำลัง

    สภาพธรรมที่เกิดปรากฏ ย่อมเกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ขณะต่อไปที่ให้ทาน ลองสังเกตดู ถ้าสติเกิดระลึกจะรู้ได้ทันทีว่า ท่านเคยสะสมอโลภะมีกำลัง อโทสะและอโมหะอ่อน หรือว่าท่านสะสมอโมหะมีกำลัง อโลภะและอโทสะอ่อน ทุกท่านรู้ได้ด้วยตัวเองจริงๆ บางท่านรู้ได้ว่ามีปัญญา รู้เหตุผลในการให้ แต่ยังคงมีความพอใจในสิ่งนั้นอยู่บ้าง แต่ก็ให้ได้

    ถ. พูดถึงการให้ทาน รู้สึกจะเห็นชัดจริงๆ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมจะบริจาคเพื่อการเผยแพร่พระธรรม เห็นว่ามีประโยชน์มาก แต่ขณะนั้นมัจฉริยะเกิดสลับทันที ทั้งๆ ที่กุศลจิตเกิดขึ้นด้วยความแช่มชื่น มัจฉริยะก็เกิดขึ้นมาขวางทันที

    สุ. อโลภะอ่อนกำลัง

    ถ. ก็เลยไม่บริจาค ถ้าสติไม่เกิดก็ยังไม่รู้ว่า อกุศลชนะแล้ว

    สุ. ตามความเป็นจริง

    ถ. สละไม่ได้เลย ขณะนั้นสติก็เกิด แต่รั้งรอไว้ก่อน ไว้งวดต่อไปค่อยสละมากๆ หน่อย ถ้าสติไม่เกิดก็มองไม่เห็นสภาวธรรม กุศลและอกุศลเกิดสลับกันอย่างรวดเร็ว

    สุ. ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคล ต้องเป็นผู้ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง อกุศลเป็นอกุศล เป็นแล้ว เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย กุศลก็เป็นกุศล เป็นแล้ว เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปัญญาจะต้องสามารถรู้ความจริง และละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนด้วย

    ถ. ที่บอกว่าเป็นแล้วเพราะเหตุปัจจัย ถูก ขณะนั้นผมก็ระลึกรู้เหมือนกัน ตอนแรกที่กุศลจิตเกิด รู้ว่ารายการนี้มีคุณประโยชน์อย่างมาก เห็นคุณอันนี้จึงคิดจะสละเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อมามัจฉริยะเกิด ก็เกิดเพราะอาศัยเหตุปัจจัย เพราะอาศัยอย่างนี้ คือ คิดว่าเงินมีอยู่จำนวนเท่านี้ อย่าเพิ่งเลย รอไว้งวดหน้าให้มากก่อน ขณะนั้นถ้าสติไม่เกิด ไม่มีโอกาสที่จะรู้เลย

    สุ. บางครั้งอกุศลครอบงำทันทีทำให้ไม่บริจาค บางครั้งก็บริจาคแต่ว่า อโลภะอ่อนกำลัง เห็นได้ ตรงกันข้ามกับขณะที่อโลภะมีกำลัง ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผิดกัน ในการเจริญกุศลทุกประการ ไม่ใช่แต่เฉพาะในเรื่องของทาน แม้ในการสงเคราะห์บุคคลอื่นก็เช่นเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังซึ่งเป็นผู้ที่จะขัดเกลากิเลส จะต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในแต่ละขณะ แม้ในขณะที่เป็นกุศลที่สงเคราะห์บุคคลอื่น เช่น ท่านสงเคราะห์คนแปลกหน้า คนที่ท่านไม่รู้จัก หรือว่าท่านสงเคราะห์เฉพาะคนที่ท่านรักใคร่ผูกพันสนิทสนม นี่ก็เป็นประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องขัดเกลาอกุศลให้ยิ่งขึ้น

    และในขณะเดียวกัน ก็สังเกตว่า ท่านได้รับการช่วยเหลือสงเคราะห์จากบุคคลใกล้ชิดซึ่งเป็นบุคคลที่รักท่าน หรือว่าจากบุคคลแปลกหน้า ในชีวิตประจำวัน

    ผู้ที่กำลังอยู่ในความทุกข์ยากลำบาก และมีบุคคลอื่นซึ่งเป็นคนแปลกหน้ามาช่วยเหลือสงเคราะห์ทันที ท่านย่อมชื่นชมอนุโมทนาในกุศลจิตของบุคคลนั้นซึ่งสงเคราะห์ด้วยกุศลจิตอย่างแท้จริง เพราะว่าไม่รู้จักกันเลย เป็นคนแปลกหน้าจริงๆ และไม่หวังผลจากท่านด้วย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กุศลจิตเกิดขึ้นในขณะใด เป็นปัจจัยให้กระทำการอย่างใด ย่อมต่างกันกับอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น การสงเคราะห์ที่แท้จริง อย่าจำกัดว่า จะสงเคราะห์เฉพาะผู้ที่ใกล้ชิด แม้คนแปลกหน้า คนที่ไม่รู้จักเลย หรือคนอื่นซึ่งอยู่แสนไกล ถ้ากุศลจิตเกิดสงเคราะห์ ขณะนั้นก็เป็นกุศล

    ถ. ขณะที่ไม่ได้ให้ทาน แต่ว่ามีสติเกิดขึ้น พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง จิตในขณะนั้นเป็นอโลภะ อโทสะ อโมหะหรือไม่

    สุ. แน่นอน พิจารณาสังเกต และรู้ ต้องเป็นอโมหะแน่นอน

    ถ. หมายความว่า ขณะนั้นอโมหะมีกำลัง

    สุ. แล้วแต่สติจะระลึก เป็นเรื่องที่ละเอียดมากทีเดียว เจตสิกมี ๓ ประเภท หรือ ๓ ดวง ความยิ่งหย่อนยอมต่างกันตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง คนเราตามปกติ ทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ย่อมจะครบถ้วน แต่มันบอด ตาก็บอด หูก็บอด จมูกก็บอด ลิ้นก็บอด กายก็บอด ใจก็บอด บอดทั้งหมด แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานมีโอกาสที่สติจะระลึก ไม่ว่านาม หรือรูปทางทวารทั้ง ๖ ระลึกครั้งหนึ่งก็เปรียบเหมือนแสงสว่างเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง หายบอดไปครั้งหนึ่ง ถ้าสติไม่เกิดก็บอดต่อไป ทวารไหนที่สติเกิด ก็รู้ทางทวารนั้น รู้ชัดในความเป็นนามเป็นรูป ถ้าไม่สติเกิดเลย ก็บอดไปตลอดชีวิต ติดอยู่ในบัญญัติ บอดตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีวันที่จะแก้ไขได้ นอกจากเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียวเท่านั้น

    สุ. ในคราวก่อนเป็นกุศลขั้นศีล ซึ่งเป็นการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น เป็นเวยยาวัจจกุศล ท่านผู้ฟังก็คงจะเห็นความสำคัญของกุศลที่เป็นเวยยาวัจจะ เวลาที่ท่านมีเรื่องที่ทำให้ลำบาก ต้องการความช่วยเหลือ จะเห็นได้ว่า ถ้าท่านได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นด้วยกุศลจิต ในขณะนั้นจะเห็นคุณค่าของกุศลที่เป็นเวยยาวัจจะ ซึ่งเป็นการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นว่า เป็นสิ่งที่จำเป็น และมีประโยชน์มากในชีวิต

    ถ้าท่านไม่รู้หนทาง และมีผู้ที่สงเคราะห์ชี้หนทางให้ ท่านก็จะเห็นได้ว่า เป็นประโยชน์มากในการที่จะไม่ต้องเสียเวลา ซึ่งเวลาของแต่ละท่านก็ย่อมใช้ประโยชน์ในทางต่างๆ ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะพิจารณาดูชีวิตประจำวัน จะเห็นได้ว่า ที่ทุกท่านมีความสุข มีความรื่นรมย์ และมีความสบายใจได้นั้น ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากกุศลจิตซึ่งเป็น เวยยาวัจจะ คือ การสงเคราะห์ผู้อื่น เท่าที่แต่ละท่านจะกระทำได้ บางท่านอาจจะคิดถึงกุศลประเภทอื่น เช่น ทาน และก็เข้าใจว่าเป็นกุศลที่ท่านควรจะเจริญ แต่ว่านอกจากกุศลที่เป็นทานแล้ว ในชีวิตปกติประจำวัน กุศลขั้นเวยยาวัจจะ ก็เป็นกุศลที่ควรประพฤติ ควรจะอบรมให้ยิ่งขึ้นด้วย ไม่ใช่มุ่งที่จะเจริญกุศลที่ท่านเข้าใจว่า เป็นกุศล เช่น ทานเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะสงเคราะห์บุคคลอื่นน้อยไป เพราะว่าคิดถึงแต่ตัวของท่านมาก บางคนอาจจะเป็นอย่างนั้น เวลาที่ท่านคิดถึงตัวเอง จะทำให้คิดถึงคนอื่นน้อยลง และแทนที่จะสงเคราะห์บุคคลอื่นให้มาก ท่านก็จะคิดถึงความสุขความสบายของท่าน และก็คิดว่า ไม่มีเวลาพอที่จะสงเคราะห์บุคคลอื่น

    อย่างบางท่าน อาจจะมีเวลาว่างพอที่จะช่วยสงเคราะห์คนอื่น ด้วยการไปเป็นเพื่อน หรือรับทำกิจธุระของบุคคลอื่นให้ แต่พอคิดถึงความสุขความสบายของท่านเอง ว่า จะเหนื่อยไปบ้าง จะร้อนไปบ้าง จะเสียเวลาไปบ้าง ท่านก็เลยไม่คิดที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่น ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นอกุศลจิต ซึ่งเกิดขึ้นครอบงำอยู่เสมอ

    เพราะฉะนั้น การที่จะขัดเกลากิเลสก็เป็นการที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล และเจริญอบรมกุศลทุกประการให้มากขึ้น และไม่ประมาท โดยไม่เห็นว่ากุศล คือ การสงเคราะห์บุคคลอื่นนั้น เป็นกุศลเพียงเล็กน้อย เพราะว่าเมื่อจิตเป็นกุศล ย่อมเป็นปัจจัยให้ได้รับกุศลวิบากเป็นผล

    ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ สุนิกขิตตวิมาน กล่าวถึงผลของกุศลที่เป็น เวยยาวัจจะ มีเนื้อความว่า

    ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า เมื่อท่านเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้ จึงพรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณ ซึ่งมีวิมานและโภคสมบัติอันเป็นที่เจริญใจทุกประการ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เทพบุตรนั้นอันท่านพระมหาโมคคัลลานเถระถามแล้ว มีความปลาบปลื้มใจ จึงพยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกถามนั้นว่า

    ข้าพเจ้าได้จัดดอกไม้อันมหาชนจัดไว้แล้วไม่เรียบร้อย แล้วได้ประดิษฐานไว้ที่พระสถูปของพระสุคตเจ้า จึงเป็นผู้มีฤทธิ์มากและมีอานุภาพมาก พรั่งพร้อมด้วย กามคุณอันเป็นทิพย์ ข้าพเจ้ามีวรรณะเช่นนี้เพราะบุญนั้น อิฏฐผลย่อมสำเร็จแก่ข้าพเจ้าในวิมานนี้ และโภคสมบัติอันเป็นที่รักแห่งใจทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมเกิดแก่ข้าพเจ้าเพราะบุญนั้น ข้าพเจ้ามีอานุภาพอันรุ่งเรืองและมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้เพราะบุญนั้นๆ .

    ดูเหมือนจะเป็นบุญกุศลอันเล็กน้อยเหลือเกิน เพียงจัดดอกไม้อันมหาชนจัดไว้แล้วไม่เรียบร้อย แต่อานิสงส์ก็มากถึงกับเกิดในสวรรค์ มีวรรณะ มีโภคสมบัติอันเป็นที่รักแห่งใจทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ผู้ที่จะอบรมเจริญกุศลย่อมกระทำทุกอย่างแม้เล็กน้อยด้วยกุศลจิต ซึ่งจะเป็นการขัดเกลากิเลส และให้ผลมากด้วย

    ถ. เรื่องเล็กๆ แค่นี้ ก็ทำให้ปฏิสนธิบังเกิดเป็นเทวดาได้ ทำให้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก และมีวิมาน ในพระไตรปิฎก อยู่ในนิกายไหนจำไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็เอาดอกไม้บูชาพระผู้มีพระภาคบ้าง หรือว่าเอาดอกไม้ในป่า ซึ่งไม่ใช่ดอกไม้ที่มีค่าอะไรมากมาย เอาดอกไม้นั้นไปบูชาพระผู้มีพระภาค หรือว่าอัฐิของพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ก็ได้บังเกิดเป็นเทวดา เกิดในสวรรค์ตั้ง ๓๐ กว่าครั้ง และเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ อีกมากครั้งด้วยผลกรรมนั้น ผมสงสัยว่า จะเป็นไปได้หรือ เกินความจริงไปหรือเปล่า

    สุ. ดูเหมือนเป็นกุศลกรรมนิดหน่อย แต่นิดๆ หน่อยๆ อย่างนี้ ทำได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ เพราะอกุศลจิตเกิดครอบงำ จนไม่สามารถกระทำแม้กุศลที่ว่านิดหน่อยได้

    ถ. ก็จริง นิดๆ หน่อยๆ บางครั้งอาจจะทำไม่ได้ แต่ว่ากุศลที่ใหญ่ๆ บางครั้งกลับทำได้ กุศลนิดๆ หน่อยๆ นี้ ผลยังมากถึงขนาดนี้ ถ้าทำกุศลใหญ่ๆ อานิสงส์จะไม่มากกว่านี้อีกหลายเท่าหรือ

    สุ. กุศลทั้งหมดให้ผลเป็นสุข เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรประมาท และไม่ควรหวังที่จะทำแต่กุศลใหญ่ๆ โดยไม่กระทำกุศลเล็กๆ น้อยๆ ด้วย เพราะถ้าขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ให้ทราบว่า ขณะนั้นอกุศลธรรมครอบงำจิต และทำอย่างไรจึงจะสลัด จึงจะละ จึงจะขัดเกลาอกุศลธรรมที่กำลังครอบงำอยู่ได้ มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ เจริญกุศลทุกประการ

    ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โอกาสของทาน แต่เป็นเรื่องที่จะต้องสงเคราะห์ช่วยเหลือ ก็ช่วยเหลือทันที สงเคราะห์ทันที ขณะนั้นเป็นกุศลจิตแล้ว มิฉะนั้นอกุศลธรรมจะครอบงำได้ เพราะว่าปัจจัยของอกุศลย่อมมีอยู่พร้อมเสมอที่จะเกิดขึ้น เมื่อไรก็ได้ ขณะใดที่สติไม่ระลึกที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล อกุศลธรรมก็ยังสามารถที่จะครอบงำอยู่ว่าจะไม่ช่วย แต่ถ้าสติเกิด ระลึกได้ว่าการช่วยเป็นกุศล ขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมเกิดขึ้น กระทำกิจสงเคราะห์ได้

    เพราะฉะนั้น สติจึงจำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม รู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล

    แม้ว่าจะเป็นกุศลเล็กน้อยเหลือเกินในความรู้สึกของท่านผู้ฟัง แต่ขอให้กระทำบ่อยๆ ให้กระทำเพิ่มขึ้น มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการขัดเกลากิเลสด้วย มิฉะนั้นแล้ว กิเลสก็จะต้องเพิ่มพูนมากมายทีเดียว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๗๐๑ – ๗๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564