แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 689


    ครั้งที่ ๖๘๙


    . การที่ท่านพระอานนท์ดีใจในพระผู้มีพระภาคที่มีอานุภาพมากอย่างนั้น ความดีใจนี้ผมคิดว่า คงจะเกิดจากโลภมูลจิต ที่ท่านกล่าวว่า ศาสดาของเรามีอานุภาพอย่างนี้ ด้วยความดีใจในศาสดาของท่าน ท่านก็เลยเกิดความเลื่อมใส มีความนอบน้อม เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตที่เกิดขึ้นอย่างนี้ ยังสามารถให้ไปเกิดเป็น เจ้าเทวดาในหมู่เทวดา หรือไปเกิดเป็นเจ้าจักรพรรดิได้หรือ

    สุ. แม้พระผู้มีพระภาคเองยังไม่ทรงพยากรณ์จิตของท่านพระอานนท์ในขณะนั้นว่าเป็นโลภะ แต่ตรัสถึงจิตที่เลื่อมใส เพราะฉะนั้น ยากที่บุคคลอื่นจะรู้ หรือจะพยากรณ์จิตของคนอื่นว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วจริงๆ จะขอไว้ก่อน พิสูจน์เสียก่อนก็ไม่ได้ เพราะว่าดับไปแล้ว

    เพราะฉะนั้น สติจะต้องระลึกตรงลักษณะพร้อมปัญญาที่สามารถจะรู้ชัดทันทีในสภาพธรรมที่ยังไม่ดับไปว่า ลักษณะที่แท้จริงของจิตในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล และก็ดับไป และมีลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลเกิดต่อ ต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    ถ้าท่านผู้ฟังสนใจที่จะได้ทราบข้อความที่ท่านพระอภิภู อัครสาวกของท่านสิขี พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ที่ยังให้หมื่นโลกธาตุให้รู้แจ่มแจ้งด้วยเสียงได้ ก็มีปรากฏใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อรุณวตีสูตรที่ ๔

    กุศลจิตซึ่งเป็นความอ่อนโยน หรือว่าเป็นความอ่อนน้อมของจิต ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้ว่าเป็นกุศล ซึ่งไม่น่าจะเกิดยากเลย แต่ว่าตามความเป็นจริง บางครั้งก็ไม่เกิด และก็เกิดยาก ไม่ใช่ว่าจะเกิดได้โดยง่ายเสมอไป

    สำหรับผู้ที่สะสมความเป็นผู้ที่มีจิตอ่อนโยน ก็สามารถที่จะเกิดอปจายนกุศล คือ ความอ่อนน้อม ได้ไม่ยาก แต่สำหรับผู้ที่สะสมความถือตน หรือความมานะ จะเห็นได้ว่า เป็นการยากที่จะเกิดขึ้น

    สำหรับความอ่อนน้อมซึ่งเป็นกุศล ที่เกิดได้ไม่ง่ายนัก แต่เมื่อเกิดแล้ว ย่อมให้ผลเป็นกุศลวิบาก ขอกล่าวถึงผลของกุศลที่เป็นความอ่อนน้อมใน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ทวารปาลกวิมาน ข้อ ๕๕ ที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า เพราะกรรมอะไรถึงเป็นเหตุให้ได้ผลบุญอย่างนั้น

    เทพบุตรตอบว่า

    พันปีทิพย์เป็นอายุของข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าได้ทำกุศลด้วยเหตุเพียงพูดอ่อนหวาน ประพฤติด้วยใจ บุคคลผู้ทำบุญด้วยเหตุเพียงพูดอ่อนหวานและยังใจให้เลื่อมใสเท่านี้ จักดำรงอยู่ในชั้นดาวดึงส์นี้สิ้นพันปี และพรั่งพร้อมไปด้วยทิพยกามคุณ ข้าพเจ้ามีวรรณะงามเช่นนี้เพราะบุญกรรมนั้น ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้เพราะบุญกรรมนั้น

    ท่านผู้ฟังเคยสังเกตไหมว่า คำพูดของท่านส่วนมากในชีวิตประจำวันเป็นคำพูดที่อ่อนหวาน หรือว่าตรงกันข้าม

    บางคนก็อยากที่จะพูดจาอ่อนโยน มีจิตใจที่อ่อนโยน แต่ว่าเหตุการณ์กับสิ่งแวดล้อมไม่เป็นปัจจัยที่จะให้วาจาที่อ่อนโยนเกิดได้ แต่มักจะเป็นคำพูดที่ดุ หรือว่ารุนแรง หยาบกระด้าง เผ็ดร้อน หรือบางคนก็อาจจะคุ้นเคยกับการพูดกระทบ กระเทียบเปรียบเปรยจนกระทั่งเป็นนิสัย โดยที่ไม่ทราบว่า ในขณะนั้นสภาพของจิตขาดความเมตตาอย่างยิ่ง ถ้าความเมตตาเกิดขึ้นในขณะนั้น พูดอย่างนั้นไม่ได้ จะมีการวิรัติวจีทุจริตในขณะนั้นทันที แต่ผู้ที่สะสมอกุศลจิต อกุศลธรรมมามากในการที่จะเป็นผู้ที่ใช้คำพูดอย่างนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ในวันหนึ่งๆ คำพูดก็มักจะเป็นอย่างนั้นมากกว่าคำพูดที่อ่อนโยน

    บางท่านก็มีข้อแก้ตัวว่า มีความจำเป็นเสียจริงๆ ที่จะต้องดุ จะต้องพูดอย่างนั้น แต่ถ้าสติเกิด จะระลึกได้ทันทีว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม เกิดหิริ ความละอาย เกิดโอตตัปปะ การเห็นภัย เห็นโทษของอกุศลธรรมในขณะนั้น และรู้ด้วยว่า ถ้าไม่พูดอย่างนั้น เปลี่ยนเป็นคำพูดที่เป็นไปด้วยกุศลจิต เป็นคำพูดที่อ่อนหวานด้วยจิตใจที่อ่อนโยน ก็จะได้ผลที่เสมอกัน หรืออาจจะมากกว่าด้วย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคำดุ หรือเป็นคำที่หยาบคาย เผ็ดร้อนรุนแรง

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ สติจะระลึกได้ และหิริจะเกิด ละอายทันทีในอกุศลธรรมที่กำลังเป็นปัจจัยให้เกิดคำพูดที่ไม่อ่อนโยน แต่ก่อนอื่น จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักตนเอง ไม่เข้าข้างตัวเอง

    เมื่อเป็นผู้ที่รู้จักตัวเอง จะทำให้ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นปัจจัยให้เกิดคำพูดอย่างนั้นในขณะนั้นได้ทัน และถ้ากุศลจิตเกิดพร้อมกับหิริโอตตัปปะ ก็จะทำให้ละอาย และเห็นโทษของอกุศลธรรมในขณะนั้น

    ถ้ายังมีคนที่ไม่เห็นโทษ ยังคิดว่าคำพูดอย่างนั้นก็สมควร แต่ความจริงแล้ว จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่อกุศลธรรมตั้งจิตไว้ผิด ก็จะมีข้อแก้ตัวต่างๆ ประกอบว่า เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมจำเป็นที่จะต้องใช้คำพูดอย่างนั้น นั่นเป็นเพราะอกุศลธรรมตั้งจิตไว้ผิด จึงเห็นผิด เห็นว่าธรรมที่เป็นอกุศลนี้เป็นสิ่งที่สมควรในเหตุการณ์นั้น แต่ถ้าสติเกิด กุศลธรรมตั้งจิตไว้ชอบ เปลี่ยนทันที มองเห็นโทษจริงๆ เกิดหิริโอตตัปปะจริงๆ ว่า นี่อกุศลธรรม ซึ่งเข้าใจผิดคิดว่าดี จึงทำให้เป็นนิสัยที่จะใช้คำรุนแรงหยาบคาย เผ็ดร้อน

    เพราะฉะนั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย แล้วแต่ว่าสภาพธรรมที่เป็นกุศลจะเกิดขึ้นตั้งจิตไว้ชอบ หรือว่าสภาพธรรมที่เป็นอกุศลจะเกิดขึ้นตั้งจิตไว้ผิด

    สำหรับผู้ที่อบรมจิตใจที่จะเป็นผู้ที่อ่อนโยน และเป็นผู้ที่อ่อนน้อมทั้งกาย ทั้งวาจา ก็เป็นการดีที่จะขัดเกลาอกุศลธรรมที่เป็นความมานะ ความถือตน ความสำคัญตน บางท่านตรงกันข้าม ชอบจริงๆ ที่จะเป็นผู้ที่อ่อนโยน อ่อนน้อม แต่ถ้าในขณะนั้นไม่มีความเข้าใจในเหตุในผลที่ละเอียด ก็อาจจะมีกิเลสที่ยังมีอยู่มากในลักษณะต่างๆ ทำให้เป็นผู้ที่เมาในสักการะได้ เพราะว่าบางคนเป็นผู้ที่เมาอย่างมากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข นอกจากนั้นยังเมาในสักการะที่ผู้อื่นกระทำต่อตนด้วย ชอบที่จะให้ผู้อื่นแสดงความนอบน้อมอ่อนน้อม หรือเห็นความสำคัญของตน

    แสดงให้เห็นว่า อกุศลธรรมมีมาก และในรูปลักษณะต่างๆ กัน อกุศลธรรมบางครั้งทำให้เป็นผู้ที่หยาบกระด้าง ไม่อ่อนโยน สำคัญตน และบางครั้งก็ทำให้เป็นผู้ที่ต้องการให้คนอื่นแสดงความนอบน้อมต่อตน เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า อกุศลธรรมกว่าจะดับได้เป็นสมุจเฉท จะต้องมีปัจจัยเกิดขึ้นปรากฏในลักษณะต่างๆ กัน และสำหรับผู้ที่เมามากในสักการะ ก็ย่อมเป็นผู้ที่สามารถจะกระทำอกุศลกรรมได้

    ขอกล่าวถึงท่านพระเทวทัต ซึ่งเป็นผู้ที่เมามากในสักการะ ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวทัตตสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ในเมื่อพระเทวทัตต์หลีกไปแล้วไม่นาน ฯ ครั้งนั้นแล

    ท้าวสหัมบดีพรหม เมื่อราตรีปฐมยามล่วงไปแล้ว มีรัศมีอันงดงามยิ่ง ยังภูเขาคิชฌกูฏทั้งสิ้นให้สว่างแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

    ท้าวสหัมบดีพรหมยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ปรารภพระเทวทัตต์ ได้ภาษิตคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

    ผลกล้วยแลย่อมฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ ขุยอ้อย่อมฆ่าต้นอ้อ สักการะย่อมฆ่าบุรุษชั่ว เหมือนลูกในท้องฆ่าแม่ม้าอัศดร ฉะนั้น ฯ

    ควรระวัง เพราะว่าพระธรรมทั้งหมดมีประโยชน์ ถ้าผู้ใดซึ่งมีคุณงามความดี และผู้อื่นก็นอบน้อมสักการะท่านมากทีเดียว ก็อย่าเมาในสักการะ เพราะถ้าปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นแสดงความนอบน้อมต่อท่าน ท่านจะเป็นผู้ที่มีความยึดมั่นและสำคัญในตนเองอย่างมาก จนกระทั่งเวลาที่บุคคลอื่นแสดงความนอบน้อมต่อบุคคลอื่น ท่านก็อาจจะไม่พอใจ ใคร่ที่จะให้บุคคลนั้นแสดงความนอบน้อมสักการะต่อท่านเท่านั้น

    อย่างท่านพระเทวทัต ท่านก็ต้องมีสาวก มีผู้ที่เชื่อฟังคำท่าน นอบน้อมต่อท่าน ประพฤติปฏิบัติตามท่าน แต่ไม่เสมอพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ด้วยความสำคัญในตน ต้องการให้บุคคลอื่นแสดงความนอบน้อมต่อตน แทนที่จิตของท่านจะเป็นผู้ที่มีความอ่อนโยน และขัดเกลากิเลสของตน ไม่ติดไม่เมาในสักการะที่ผู้อื่นกระทำต่อท่าน ท่านกลับไม่ยินดีไม่พอใจในการที่บุคคลอื่นแสดงความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคมากกว่าท่าน จนกระทั่งมีจิตริษยา ถึงกับจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค

    สำหรับผลของอปจายนกุศลที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกก็มีมาก ขอกล่าวถึง ตัวอย่างในพระไตรปิฎก

    ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ จัณฑาลิวิมาน มีข้อความว่า

    พระมหาโมคคัลลานเถระได้กล่าวคาถาสองคาถาความว่า

    แน่ะยายจัณฑาล ท่านจงถวายอภิวาทพระบาทยุคลของพระสมณโคดม ผู้อุดมด้วยพระเกียรติยศ พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าผู้วิเศษทั้งหลาย ได้ประทับยืนอยู่เพื่อทรงอนุเคราะห์ท่านคนเดียวเท่านั้น ท่านจงยังจิตให้เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสทั้งมวล เป็นผู้หนักแน่น แล้วจงประคองหัตถ์ถวายอภิวาทโดยเร็วเถิด ชีวิตของท่านยังเหลือน้อยเต็มที

    เพื่อจะแสดงประวัติของหญิงจัณฑาลนั้นโดยตลอด ท่านพระสังคีติกาจารย์จึงกล่าวคาถาสองคาถานี้ว่า

    หญิงจัณฑาลผู้มีตนอันอบรมแล้ว ดำรงไว้ซึ่งสรีระอันเป็นที่สุด อันพระมหาเถระตักเตือนแล้ว จึงถวายบังคมพระบาทยุคลของพระสมณโคดมผู้อุดมด้วย พระเกียรติยศ แม่โคนมได้ขวิดนาง ในขณะที่กำลังยืนประคองหัตถ์นมัสการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ส่องแสงสว่าง คือ พระญาณ ในโลกอันมืดมัว

    เมื่อนางสิ้นชีวิตแล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้มาถวายนมัสการท่านพระมหาโมคคัลลานะด้วยความกตัญญูกตเวที ไหว้เท้าทั้งสองของพระโมคคัลลานเถระ องค์อรหันต์ แล้วก็อันตรธานไป ณ ที่นั้นนั่นเอง

    เป็นบุญมากของหญิงจัณฑาลผู้นี้ ซึ่งสามารถเกิดจิตที่อ่อนโยนได้ในขณะนั้น เพราะไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า จิตขณะนั้นจะเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าจะได้รับคำแนะนำตักเตือนให้ถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคก็ตาม แต่ถ้าจิตในขณะนั้นเกิดหยาบกระด้าง ไม่อ่อนน้อม ซึ่งแต่ละท่านจะสังเกตได้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดจิตที่จะอ่อนโยนได้ทุกครั้ง และถ้าขณะนั้นจิตเกิดหยาบกระด้าง ไม่อ่อนโยน ก็จะทำให้ไม่ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่เพราะว่าในขณะนั้นจิตเลื่อมใส อ่อนโยน สามารถที่จะนมัสการพระผู้มีพระภาคได้ จึงเป็นปัจจัยให้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

    ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ อุตตรวิมาน มีข้อความว่า

    พระมหาโมคคัลลานเถระ ได้ถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า

    สุธรรมสภาของท้าวสักกเทวราช เป็นที่นั่งประชุมของหมู่ทวยเทพฉันใด วิมานของท่านนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น ส่องแสงสว่างไสว ลอยอยู่ในอากาศ ท่านถึงความเป็น เทพเจ้าผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้ ท่านมีอานุภาพอันรุ่งเรือง และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญอะไร

    เทพบุตรนั้น อันท่านพระมหาโมคคัลลานเถระถามแล้ว มีความปลาบปลื้มใจ จึงพยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกถามนั้นว่า

    ข้าพเจ้าเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์ เป็นมาณพรับใช้สอยของพระเจ้าปายาสิ ได้ทรัพย์มาแล้ว ได้กระทำการแจกจ่าย อนึ่ง ท่านผู้มีศีลทั้งหลายเป็นที่รักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส ได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอันไพบูลย์โดยเคารพ ข้าพเจ้ามีวรรณะงามเช่นนี้ เพราะบุญนั้น ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญนั้น

    จบ อุตตรวิมานที่ ๑๐

    ขณะที่เป็นมนุษย์ เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้าปายาสิ และได้ถวายข้าวและน้ำ ซึ่งเป็นทานของพระเจ้าปายาสิโดยเคารพ เป็นผลให้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่สำหรับพระเจ้าปายาสิเองซึ่งเป็นเจ้าของทาน ได้เกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่ต่ำกว่าชั้นดาวดึงส์ ตามข้อความที่ปรากฏใน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เสริสสกวิมาน ข้อ ๘๔

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความต่างกันของจิตที่เลื่อมใส จิตที่อ่อนโยน กับจิตที่ไม่เคารพ ไม่เลื่อมใส ผลของกุศลที่เป็นความอ่อนน้อมที่ปรากฏใน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ นั้น ก็มีมาก

    ใน วิสาลักขิวิมาน แสดงผลของการบูชาพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคทุกวันด้วยดอกไม้ พวงมาลัย ของหอม เครื่องลูบไล้ และถึงแม้ว่าจะไม่บูชาด้วยดอกไม้ พวงมาลัย ของหอม เครื่องลูบไล้ เพียงความเคารพนอบน้อมด้วยจิต ก็เป็นกุศลอย่างมาก สามารถที่จะเป็นกุศลกรรมทำให้เกิดในสุคติภูมิได้

    นอกจากนั้นใน ขุททกนิกาย อปทาน ก็มีข้อความต่างๆ ซึ่งแสดงถึงจิตที่อ่อนโยน อ่อนน้อมต่อพระผู้มีพระภาค ข้อ ๑๐๒ ท่านพระพุทธุปัฏฐากเถระก็ได้เคยเป่าสังข์บูชาแด่พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าวิปัสสี

    เวลาที่จิตเลื่อมใส การแสดงออกทางกาย ทางวาจา ย่อมเป็นไปตามการสะสมของจิตของแต่ละท่าน แล้วแต่ว่าท่านจะมีความถนัด หรือว่าทีความสามารถในทางไหน

    ข้อ ๑๑๔ ผู้ที่เป็นนาฏศิลป์ เช่น ท่านพระสุมังคลเถระ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าอัตถทัสสี ก็มีจิตที่ร่าเริง ปรบมือ ฟ้อน ขับร้อง และบรรเลงดนตรีเครื่อง ๕ ถวาย ด้วยจิตศรัทธา

    ข้อ ๑๕๗ ถึงแม้ว่าจะเป็นเทพบุตร เป็นเทวดา ก็ยังมีจิตที่เลื่อมใส บูชาพระ ผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าสิขี ด้วยการถวายดอกมณฑารพ พวงมาลัยทิพย์ เป็นหลังคาบังร่ม

    เพราะฉะนั้น เวลาที่แต่ละท่านเกิดความเลื่อมใส เกิดจิตที่อ่อนโยน เกิดการแสดงความนอบน้อม ก็แล้วแต่ว่าในขณะนั้น ท่านจะกระทำประการใด

    ขอกล่าวถึงผู้ที่มีความอ่อนน้อมมาก ท่านผู้ฟังทราบไหมว่าท่านเป็นใคร ท่านคือพระอินทร์ แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ใหญ่ในสวรรค์ เป็นจอมเทพ แต่ว่าเทวดาทั้งหลายในชั้นดาวดึงส์ มีความอ่อนน้อมน้อยกว่าพระอินทร์

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นตัวอย่างชีวิตของแต่ละท่าน เทียบกับสภาพจิตของท่านเอง ยังไม่ได้เป็นจอมเทพ แต่ว่าความอ่อนน้อมของท่านจะเทียบกับพระอินทร์ซึ่งเป็นจอมเทพได้ไหม ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า การขัดเกลากิเลสนี้ต้องมากจริงๆ กิเลสจึงจะค่อยๆ คลายและดับได้เป็นสมุจเฉท แต่ถ้ายังเต็มไปด้วยอกุศล ต่างๆ มากมาย เทียบกับท่านที่กิเลสเบาบางแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า กิเลสของท่านเมื่อไหร่จะดับได้เป็นสมุจเฉท ถ้าไม่อบรมเจริญกุศล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๖๘๑ – ๖๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564