แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 680


    ครั้งที่ ๖๘๐


    บางท่านสงสัยเหลือเกินว่า วัณณะหรือรูปารมณ์ หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยสภาพความจริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่ เป็นรูปร่าง เป็นสีสัน หรือว่าเป็นอะไร

    ขอให้นึกถึงเวลาที่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างเช่น เห็นภูเขาทอง เวลาที่ลืมตา ไม่ได้เห็นแต่เฉพาะภูเขาทองอย่างเดียว มีฟ้า มีหลังคาตึก มีถนน มีรถแล่นไปมาอยู่ด้วยในขณะนั้น แต่ลองหลับตา ยังเป็นฟ้า เป็นเมฆ เป็นภูเขาทอง เป็นหลังคาตึก เป็นยวดยานพาหนะต่างๆ เหมือนกับขณะที่ลืมตาหรือเปล่า ก็ไม่เหมือน ต่างกัน

    ถ้าจะนึกถึง ก็นึกถึงได้แต่ลักษณะรูปร่างสัณฐานของบางสิ่งที่ทรงจำไว้ เช่น ถ้าจำสัณฐานของภูเขาทอง ก็จะนึกถึงแต่สัณฐานของภูเขาทอง แต่ไม่มีหลังคาตึก ไม่มีสีท้องฟ้า ไม่มีนก ไม่มีเมฆ ไม่มียวดยานพาหนะที่แล่นไปมาในท้องถนน เป็นการนึกถึงสัณฐานได้ทางใจ แต่ไม่เหมือนกับขณะที่ลืมตาเห็น

    ในขณะนี้ ดูเหมือนว่าเห็นสีสันวัณณะหลายอย่างทีเดียว หลับตาลง แม้จะนึกถึงสิ่งที่ปรากฏเมื่อครู่นี้ ก็นึกได้ไม่ครบ ขาดไปตั้งหลายอย่าง แล้วแต่ว่าจะทรงจำอะไรไว้ได้ก็นึกถึงเฉพาะสิ่งนั้นๆ แต่พอลืมตาขึ้น ก็เห็นมากกว่าที่นึกหลายอย่าง ลืมตาขึ้นเห็นมากมาย พอหลับตาลง หมดเลย ถ้าจะนึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะนึกได้แต่เฉพาะสัณฐานของสิ่งที่ทรงจำไว้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ลักษณะของรูปารมณ์ หรือวัณณะ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยยังไม่ได้นึกสัณฐานของสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย

    ถ. (ฟังไม่ชัด)

    สุ. แน่นอน ต้องอบรมเจริญปัญญาเป็นกัปๆ และจะเห็นได้จริงๆ ว่า เมื่อระลึกไปๆ ความรู้จะเพิ่มขึ้น การละคลายการยึดถือจะลดน้อยลง แต่ว่าเป็นไปอย่างละเอียด และเป็นไปอย่างช้าๆ และที่เป็นอย่างนั้นได้ ก็เพราะเพิ่มความเข้าใจยิ่งขึ้น

    ถ. หมายความว่า ทางตาเห็นแต่เพียงสี

    สุ. ยังไม่นึกถึงสัณฐานของสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพราะว่าปกติธรรมดาของผู้ที่หลงลืมสติ แม้ว่าสีสันวัณณะจะปรากฏทางตา จิตทางมโนทวารก็ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานต่ออย่างรวดเร็วทันที แยกกันไม่ออกระหว่างการเพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตากับการตรึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ เสมือนว่าปรากฏพร้อมกัน

    เช่นเดียวกับทางหูที่กำลังได้ยินเสียง ได้ยินหลายเสียง ไม่ซ้ำกัน เสียงเบา เสียงสูง เสียงต่ำ เป็นปัจจัยให้เกิดวิตกเจตสิก ตรึก และสัญญาจำถึงความหมาย ถึงลักษณะของเสียงสูง เสียงต่ำนั้น ทำให้เกิดการตรึกนึกถึงคำ ความหมายของเสียงต่างๆ ขึ้น เช่นคำว่า แม้แต่คำว่า “เช่นคำว่า” เสียงสูง เสียงต่ำต่างกัน ได้ยินเสียงสูง เสียงต่ำเท่านั้น ไม่ใช่ได้ยินคำ แต่ทันทีที่ได้ยิน และดับไปแล้ว มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้น นึกถึงความหมายของ “เช่นคำว่า” ทำให้ดูเสมือนว่าได้ยินคำ ไม่ใช่ได้ยินเสียง เพราะว่าต่อกันอย่างรวดเร็ว ติดกันแน่นมาก

    ถ. ลักษณะทางอายตนะทั้ง ๖ หมายถึงอะไร

    สุ. สภาพธรรมที่กำลังปรากฏมีลักษณะต่างกัน เช่น กลิ่น มีลักษณะของกลิ่นที่รู้ได้ทางจมูก เสียงเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะที่รู้ได้ทางหู ไม่ใช่กลิ่น

    ถ. ถ้าจะรู้ชัดทางตา เห็นแต่บริเวณเล็กๆ ของสิ่งนั้น คือ ไม่ใช่เห็นทั้งหมด สมมติว่า เรามองคน ถ้าเห็นเป็นทั้งคนก็ไม่สามารถจะรู้ชัดได้ ชั่วขณะที่จะรู้ชัดได้ ต้องเห็นเป็นบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ซึ่งไม่โตนัก

    สุ. ทั้งหมดที่กำลังเห็นนี่เป็นรูปารมณ์ ไม่นึกถึงสัณฐานของสิ่งใดเลย ลืมตาขึ้นมาก็ปรากฏ โดยไม่นึกถึงสัณฐานของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งถ้าจะเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องนึกถึงสัณฐานของแต่ละสิ่งใช่ไหม เช่น เวลาที่คิดถึงสัณฐานของพัดลม ก็เข้าใจว่าเห็นพัดลม เวลาที่คิดถึงรูปร่างสัณฐานของเก้าอี้ ก็เข้าใจว่าเห็นเก้าอี้ เพราะมีการตรึกนึกถึงสัณฐานของเก้าอี้ แต่ถ้าไม่นึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งใดเลย ขณะนั้นมีสิ่งที่ปรากฏโดยไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐาน

    ถ. ชั่วขณะ แป๊บเดียวใช่ไหม

    สุ. ไม่ต้องคิดว่า แป๊บเดียวๆ หรือเปล่า หรือว่าจะรวดเร็วแค่ไหน แต่ให้เจริญความรู้ที่สามารถจะรู้ว่า มีการเห็น และมีการนึกถึงสัณฐาน ซึ่งไม่ใช่พร้อมกับขณะที่เห็น

    ถ. คำว่า สังวร เวลาจะดู กวาดตาไปทั่วๆ อย่างไรก็ได้หรือ

    สุ. ไม่ต้องกวาดตา เพียงเห็นก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว ปกติธรรมดา

    ถ. ถ้าปกติ มองปั๊บก็เป็นคน แต่ถ้าสังวร มองปั๊บก็ไม่เป็นคน

    สุ. ไม่ใช่ ปกติขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาให้รู้ความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่เคยยึดถือว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เป็นเพื่อน เป็นมิตรสหาย ก็ให้ถ่ายถอนการที่เคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตา ให้รู้ว่าสิ่งนั้นเพียงปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วน ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลม ซึ่งเกาะกุมอยู่ในขณะที่สัมผัสนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นแต่ละลักษณะ แต่ละทาง

    ถ. ในขณะที่เห็น จะมีอะไรช่วยให้ไม่ติดโดยความเป็นนิมิตหรือ อนุพยัญชนะ จะเห็นอย่างไร

    สุ. ก็ระลึกว่า เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา และเข้าใจความหมายหรือลักษณะของสภาพธรรมของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่า ขณะนี้เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตาจริงๆ เอาการนึกคิดถึงคนนั้นคนนี้ รูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ออกไปหมด เพราะว่านั่นเป็นการคิดนึก

    ถ. คำว่า ระลึก ผมไม่ทราบว่า จะระลึกอย่างไร

    สุ. ไม่หลงลืม ไม่ลืมที่จะรู้ในขณะนี้

    ถ. รู้อะไร

    สุ. รู้สิ่งที่กำลังเห็น และสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ถ. รู้สิ่งที่กำลังเห็น และสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เห็นทีไร จำชื่อได้หมดเลย

    สุ. นั่นไม่ได้ระลึกรู้ นั่นเป็นธรรมดาของการหลงลืมสติ นั่นเป็นปกติหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น เวลาที่นึกได้ กำลังรู้ในขณะนี้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้าระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ ก็ชินกับลักษณะของสภาพที่ปรากฏทางตา และก็รู้ว่า ที่เห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะมีการนึกถึงสัณฐานของสิ่งนั้น

    ถ. เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่หนักใจ และลำบากมากจริงๆ

    สุ. เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าปัญญาจะเจริญเติบโตได้ โดยการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เวลาที่จะลับมีดให้คม ก็ต้องมีวัตถุสำหรับที่จะลับมีดนั้นให้คม ฉันใด สิ่งที่จะทำให้ปัญญาเจริญเติบโตขึ้นก็คือลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่สิ่งอื่น ปัญญาจะคมกล้าก็โดยการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ. เช่น คำว่า “ธรรม” พอพูดคำว่า “ธรรม” ก็รู้ความหมายทันที จะมีสติระลึกรู้ที่เสียงเท่านั้น รู้ได้ยาก รู้ได้ลำบาก

    สุ. ก็ต้องเจริญ ถ้าง่ายอย่างนั้น ก็เป็นพระอรหันต์กันอย่างรวดเร็วแน่นอน

    ถ. ตอนนี้รู้แต่บัญญัติ บัญญัติก็เกิดทางใจ ซึ่งทางใจก็รู้ว่า รู้บัญญัติ

    สุ. เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ว่า สติเกิดหรือเปล่า หลงลืมไหม หลงลืมแล้ว ก็ผ่านไปแล้ว ขณะนี้ระลึกได้ จะศึกษาอะไร จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางไหน นั่นคือสติกำลังระลึกทางนั้น

    ถ. มีสติ แต่ยังรู้ไม่ชัด พยายามใช้สติ แต่ก็อยู่อย่างเก่า ยังเป็นบัญญัติธรรมอยู่เรื่อยๆ ที่จะรู้สภาวะลักษณะของจริงที่ปรากฏ ก็เป็นไปได้บางครั้งบางคราว แต่รู้สึกว่า ปัจจุบันนี้ปัญญาเราอ่อนมากเหลือเกิน

    สุ. เพราะฉะนั้น มีพระอริยะมาก หรือมีปุถุชนมาก และการที่จะเปลี่ยนจากความเป็นปุถุชนสู่ความเป็นพระอริยะได้ ต้องอบรมเจริญปัญญามากเป็นกัปๆ ไม่ใช่น้อยเลย อย่าหวังผลใน ๗ วัน หรือใน ๗ เดือน หรือใน ๗ ปี หรือในชาตินี้

    แต่ต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เริ่มไม่หลงลืม ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางไหน ขณะนั้นสติก็ระลึก ศึกษา เพื่อที่จะได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง

    เป็นเรื่องใจเย็นๆ และเป็นเรื่องละเอียด เพราะเป็นปัญญาจริงๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นจนกระทั่งคมกล้าสามารถที่จะละคลายกิเลสได้

    ถ. ขณะที่อารมณ์เกิดทางตานั้น อาจารย์กล่าวว่า ให้มีสติระลึกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ผมก็ยังเห็นว่า ยังหนีไม่พ้นที่จะท่องในใจว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางหู ซึ่งอาจารย์ก็เคยบอกว่า ปัญญาที่เกิดจากการคิดและการไม่คิดนั้น ต่างกัน

    สุ. ใช่ แต่ว่าบังคับไม่ได้ ต่างกันจริง บังคับไม่ได้ แต่อบรมได้ การที่รู้ว่าเป็นปัญญาที่ต่างกัน ทำให้สามารถรู้ได้ว่า ขณะนั้นกำลังคิด เปลี่ยนเรื่องแล้ว แทนที่จะศึกษา สังเกต สำเหนียก เริ่มรู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยยังไม่ได้ทันคิด ก็ กลับเปลี่ยนเป็นการคิดถึงเรื่อง คิดถึงคำ เพราะฉะนั้น การศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงต้องละเอียดจริงๆ ปัญญาต้องรู้แม้ในขณะนั้นที่กำลังรู้ในสภาพที่คิดว่า เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ทุกคนถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ได้ คิดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ได้ อาทิตย์ก่อนได้ เดือนก่อนได้ ปีก่อนได้ มีใครสามารถจะคิดถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นพรุ่งนี้ได้บ่าง ไม่มีเลย เพราะว่ายังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น แม้แต่ความคิด ก็ยังต้องเป็นไปตามปัจจัย คือ แล้วแต่ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นแล้วบ้าง ก็คิดถึงเรื่องนั้น เหตุการณ์นั้นได้ ด้วยความจำ แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านพ้นไปแล้ว ดับไปแล้ว แต่สัญญาซึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจจำ ก็เป็นปัจจัยทำให้วิตกเจตสิกเกิดขึ้น ตรึกนึกถึงเรื่องนั้นซ้ำอีกได้ แต่ไม่สามารถจะคิดถึงเรื่องพรุ่งนี้ได้ เพราะว่าเรื่องพรุ่งนี้ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น แม้ความคิดก็ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นลักษณะสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส

    ถ. ปกติผมเข้าห้องน้ำครั้งใด เท้ากระทบกับพื้น เมื่อระลึกขึ้นมาได้ ระลึกการสัมผัสทางเท้าได้ รู้สึกว่า จะมีภาพของโมเสสขึ้นมาเป็นรูปเหลี่ยมๆ ปรากฏทางตาทุกครั้ง

    สุ. นี่คือสัญญา ความทรงจำ

    ถ. ทุกครั้งที่จะพิจารณาขณะที่เป็นปัจจุบันธรรมจริงๆ คือ ขณะที่กระทบกับเท้าจริงๆ รู้สึกว่า แทบจะไม่มีช่วงเวลาให้เราพิจารณาเลย เพราะว่ามีสภาพที่จำปรากฏขึ้นมาทดแทนทุกทีเลย ผมก็เลยเปลี่ยนมาพิจารณาสัญญาที่จำที่เกิดขึ้นแทน อย่างนั้นผมมีสติหรือเปล่า

    สุ. ก็รู้ว่าเป็นสภาพความจำเท่านั้น ขณะนั้นถ้ารู้อย่างนั้น ก็ละการยึดถือ และระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏต่อไป เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับอย่างรวดเร็ว ถ้ายังข้องอยู่กับอันเก่า อันเดิม ก็หมายความว่า ยังไม่ใช่ความรู้ที่ละ ที่จะตัดการเกี่ยวข้องกับสภาพธรรมที่ปรากฏและดับไปแล้ว เช่น ย้อนไปนึกถึงเมื่อขณะที่ผ่านมา ซึ่งก็ด้วยความเป็นตัวตนใช่ไหม แต่ถ้ามีสติเฉพาะหน้า สิ่งใดกำลังปรากฏ ก็ลืมเรื่องอื่น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นปุถุชน มีสัญญาความจำในสิ่งที่ไม่ควรจำ แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานลืมสิ่งที่เคยจำ และมีความจำที่ถูกต้องเกิดขึ้น คือ จำลักษณะของสภาพธรรมเฉพาะแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏจริงๆ

    เวลาที่แข็งกระทบปรากฏ จำเฉพาะลักษณะของแข็งที่ปรากฏเท่านั้น นั่นคือสัญญาใหม่ ลืมทวารอื่นหมด ลืมว่าเป็นตัวเรากำลังเหยียบแผ่นอิฐ หรือแผ่นโมเสส หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ว่าจำใหม่ จำเฉพาะลักษณะสภาพปรมัตถธรรมแท้ๆ ซึ่งไม่ใช่แผ่นอิฐ แผ่นหิน ไม่ใช่ขา ไม่ใช่เท้า ไม่ใช่อะไรทั้งสิ้น

    ถ. ถ้าความเป็นอนัตตาของนามของรูปไม่ปรากฏในขณะนั้น จะใช้ได้ไหม

    สุ. จะปรากฏทันที หรือว่ากว่าจะปรากฏ เพราะว่าต้องปรากฏกับปัญญา

    ถ. ขณะที่สติระลึกรู้สภาวะลักษณะ จะต้องรู้ว่ารูปดับไป หรือนามดับไป ...

    สุ. อย่าไปรู้ว่า รูปดับ หรือนามดับ แต่ให้เป็นความรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่มีลักษณะต่างกัน

    ถ. สภาวะลักษณะที่ปรากฏ ถ้าความเป็นอนัตตาไม่ประจักษ์แจ้งในขณะนั้น จะใช้ได้หรือเปล่า

    สุ. กว่าจะประจักษ์แจ้งก็ต้องอบรมไป จะให้ประจักษ์แจ้งแล้ว ก็ไม่ต้องอบรมกัน

    ถ. ถ้าความเป็นอนัตตาไม่ปรากฏ จะทำลายบัญญัติได้อย่างไร

    สุ. ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะจริงๆ เป็นอนัตตา ใครล่ะที่ไปยึดถือเข้าใจว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งต่างๆ ถ้าเพียงเห็น ไม่ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานเลย จะมีความรู้สึกว่าเป็นอะไรไหม มองไปเฉยๆ อย่างนี้ ไม่ได้ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของอะไรเลย จะเห็นว่าเป็นดอกบัวอยู่ข้างฝา หรือจะเห็นว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏและก็ไม่สนใจ

    ถ. อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ความเป็นอนัตตาปรากฏ ถ้าอนัตตาไม่ปรากฏ จะถอนสักกายทิฏฐิที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน ก็ไม่สามารถจะถอนได้

    สุ. แต่ไม่ใช่ปรากฏทันที จะค่อยๆ เกิด และค่อยๆ เจริญขึ้น ทุกสิ่ง ทุกอย่างที่จะสมบูรณ์ได้ต้องมาจากการค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เจริญขึ้น

    ข้อความตอนท้ายของ ปาฏิกสูตร ใน ปาฏิกวรรค ทีฆนิกาย แสดงผลของการที่พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าเรื่องความไม่เลื่อมใสของสุนักขัตตลิจฉวีบุตรที่มีต่อพระองค์ให้กับปริพาชกภัคควโคตรฟัง ซึ่งผลของเทศนาหรือการตรัสเล่าเรื่อง คือ พอจบเทศนา ปริพาชกภัคควโคตรได้กราบทูลแสดงความเลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาค ซึ่งตรงกันข้ามกับสุนักขัตตะซึ่งได้ติดตามพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลังและได้บวชในธรรมวินัย แต่ว่ามีความเห็นผิดในพระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัย และทรงทราบการสะสมปัญญาของปริพาชกภัคควโคตร พระองค์ทรงเห็นว่า ปัญญาของปริพาชกภัคควโคตรนั้นยังไม่พอแก่การที่จะบรรลุมรรคผล มีแต่เพียงขั้นของความเลื่อมใสในพระปัญญาของพระองค์เท่านั้น พระองค์จึงตรัสกับปริพาชกภัคควโคตรว่า

    ดูกร ภัคควะ การที่ท่านผู้มีความเห็นไปทางหนึ่ง มีความพอใจไปทางหนึ่ง มีความชอบใจไปทางหนึ่ง ไม่มีความเพียรเป็นเครื่องประกอบ ไม่มีลัทธิอาจารย์ จะเข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ เป็นของยากมาก ขอให้ท่านจงพยายามรักษาความเลื่อมใสในเราเท่าที่ท่านมีอยู่ให้ดีก็พอ ฯ

    ปริพาชกชื่อภัคควโคตร จึงกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าการที่ข้าพระองค์ผู้มีความเห็นไปทางหนึ่ง มีความพอใจไปทางหนึ่ง มีความชอบใจไปทางหนึ่ง ไม่มีความเพียรเป็นเครื่องประกอบ ไม่มีลัทธิอาจารย์ เข้าถึงสุภวิโมกข์อยู่ เป็นของยากไซร้ ข้าพระองค์ก็จักพยายามรักษาความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเท่าที่ข้าพระองค์มีอยู่ให้ดี ฯ

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้แล้ว ปริพาชกชื่อภัคควโคตรยินดี ชื่นชม เพลิดเพลินพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล ฯ

    จบ ปาฏิกสูตรที่ ๑

    แม้ว่ามีศรัทธา แต่ถ้าปัญญาไม่พอ ก็อาจจะเสื่อมศรัทธา หรือว่าเปลี่ยนศรัทธาไปเสียง่ายๆ เพราะฉะนั้น ศรัทธาในทางที่ถูกที่มีแล้ว แม้ว่าผลยังไม่เกิดขึ้น ก็อย่าท้อถอย เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ขอให้ท่านจงพยายามรักษาความเลื่อมใสในเราเท่าที่ท่านมีอยู่ให้ดีก็พอ

    ความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคจะยังคงมีอยู่ ตราบเท่าที่ยังฟังพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว ไม่ใช่ไม่ฟัง หรือไม่ใช่ว่าฟังคำสอนของลัทธิอาจารย์อื่น ซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๖๗๑ – ๖๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564