แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 674


    ครั้งที่ ๖๗๔


    ถ. สเปอร์ม ทางวิทยาศาสตร์เขาว่ามีชีวิต เป็นล้านๆ ตัว ทางพุทธศาสนาบอกว่าคนที่จะมาเกิดได้ต้องมีจิตมาปฏิสนธิ ผมอยากจะทราบว่า ตัวสเปอร์มทั้งหมดต้องมีจิตมาปฏิสนธิทั้งหมดใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่ เป็นแต่เพียงรูป ขณะนั้นไม่ได้มีจิตปฏิสนธิเลย เวลาจิตปฏิสนธิต้องมีจิต เจตสิก และรูปเกิดขึ้นเพราะกรรม ซึ่งเมื่อปฏิสนธิจิตเกิด ดับไปแล้ว กรรมนั้นก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อ ส่วนรูปก็เจริญเติบโตขึ้น และก็มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามลำดับ แล้วแต่ประเภทของปฏิสนธิจิต ต้องแยกสิ่งที่มีชีวิตทางวิทยาศาสตร์กับทางพุทธศาสนา

    ถ. อาตมาอยู่เชียงดาว มีปัญหาที่จะต้องเกื้อกูลแก่เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน ปัญหาที่อาตมาข้องใจอยู่เล็กน้อยก็คือ ที่มีพุทธภาษิตว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเจริญสมาธิเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    จากพุทธภาษิตนี้ทำให้เกิดความข้องใจว่า ก่อนที่ปัญญาจะเกิดขึ้นนั้น ผู้ที่ประสงค์จะเจริญปัญญาจำเป็นต้องอบรมสมาธิด้วย ข้อนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงต้องมาขอให้อาจารย์ช่วยวินิจฉัยด้วยว่า สมาธิที่กล่าวถึงนี้ เป็นสมาธิขั้นไหน และมีความเกื้อกูลอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ขออาจารย์ช่วยวินิจฉัยคำว่า สมาธิในที่นี้ด้วย

    สุ. เรื่องสมาธิเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นสมาธิ คือ เจตสิกธรรมประเภทหนึ่ง ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก

    ลักษณะของสมาธิในขณะที่มีความสนใจจดจ่อในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเรื่องเดียว ย่อมปรากฏชัดกว่าในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะแม้ว่าเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แต่จะไม่ปรากฏลักษณะความเป็นสมาธิถ้าไม่รู้อยู่ที่อารมณ์เดียวบ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้น เมื่อใดที่จิตรู้อารมณ์เดียวนานๆ ไม่ว่าจะด้วยโลภะ ก็มีลักษณะของสมาธิ หรือแม้จะด้วยโทสะ นึกถึงเรื่องผูกพยาบาทอาฆาตเร่าร้อนสักเท่าไร ในขณะนั้นก็เป็นลักษณะของความตั้งมั่นในอารมณ์หรือในเรื่องนั้น ซึ่งเป็นลักษณะของสมาธิ แต่ว่าเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ถ้าใช้คำว่าสมาธิเท่านั้น ย่อมหมายถึงสภาพของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งปรากฏอาการที่ตั้งมั่นในอารมณ์เดียวเป็นเวลานาน แล้วแต่ว่าจะเป็นอกุศลจิตหรือกุศลจิตก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญญา หรือว่าเป็นเรื่องของกุศลแล้ว ย่อมไม่ได้หมายถึงสมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิที่เกิดกับอกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต

    ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะใช้คำว่าสมาธิเท่านั้น ก็จะต้องพิจารณาว่า เป็นสมาธิในกุศลขั้นใด ในขณะที่จิตผ่องใส ระลึกได้เป็นไปในทาน เป็นกุศลจิต มีความสงบของจิต แต่ว่าอารมณ์ของทานนั้นก็มีได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งไม่ปรากฏความตั้งมั่นคงในอารมณ์เดียวนานๆ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมีความสงบในขณะที่ให้ทาน มีสภาพของเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตแต่ละขณะในขณะนั้น ก็ไม่มีใครกล่าวหรือแสดงว่า ขณะนั้นเป็นสมาธิ

    หรือในขณะที่รักษาศีล วิรัติทุจริตต่างๆ เป็นต้น ก็ต้องมีความสงบในขณะนั้นคือ สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ และก็มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ขณะที่วิรัติจากการฆ่า หรือวิรัติจากทุจริตประการอื่น ในขณะนั้นก็ไม่มีใครกล่าวหรือแสดงว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของสมาธิ เพราะว่าอารมณ์ของศีลก็มีทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ด้วยเหตุนี้เวลาที่จิตสงบขั้นที่ไม่ใช่ทานและศีลชั่วขณะ เป็นต้นว่า มีการฟังธรรมและเข้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่เกิดต่อจาก โวฏฐัพพนจิต พิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมนสิการด้วยความแยบคาย เป็นปัจจัยให้ขณะนี้เป็นมหากุศลที่เกิดพร้อมกับปัญญาขั้นความเข้าใจ ไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมขณะนี้เป็นจิตแต่ละขณะ ประกอบด้วยเจตสิกมากมายซึ่งเกิดพร้อมกับจิตนั้น และดับไปแต่ละขณะที่ฟังธรรมและเข้าใจ ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล แต่ว่าสภาพความสงบของจิตในขณะนั้นมีการที่จะรู้ได้ไหม ถ้าไม่มีการสังเกต สำเหนียก ผู้นั้นก็จะไม่ตั้งมั่นในความสงบจนกระทั่งปรากฏสภาพของสมาธิขึ้น

    เพราะฉะนั้น ส่วนมากที่ใช้คำว่าสมาธิ จะใช้ในเรื่องที่เกี่ยวกับกุศลเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับอกุศล และมักจะใช้ในขั้นที่มีความตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด จนสภาพของสมาธิปรากฏ ซึ่งสมาธิที่เป็นกุศลนั้น จะต้องประกอบด้วยความสงบ แล้วแต่ว่าจะเป็นขั้นของสมถภาวนา หรือว่าเป็นขั้นของวิปัสสนาภาวนา

    ในขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ขณะนั้นมีความสงบแล้ว คือ สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ พร้อมกับที่สติเกิด เป็นกุศล แต่อาการของสมาธิยังไม่ปรากฏ แต่ถ้ามีปัญญาเพิ่มขึ้น สงบเพิ่มขึ้นในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงจะปรากฏพร้อมลักษณะของสมาธิ แต่ไม่ใช่หมายความว่า ให้ไปเจริญสมาธิ จดจ้องโดยที่ไม่เกิดปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นความสงบขั้นสมถะ หรือว่าขณะนั้นเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นขั้นเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นวิปัสสนา ถ้าปราศจากปัญญาที่รู้ว่า ลักษณะของสมาธินั้นประกอบกับความสงบแล้ว ไม่ใช่กุศลเจ้าค่ะ

    ที่ใช้คำว่า สมาธิมาก ที่ควรเจริญ ต้องเป็นฝ่ายกุศล ต้องเกิดพร้อมกับปัญญาที่รู้ในลักษณะของความตั้งมั่นคงในขณะนั้นว่า เป็นไปพร้อมความสงบขั้นสมถะ หรือเป็นไปกับความสงบขั้นสติปัฏฐานซึ่งเป็นวิปัสสนา มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรเจริญ แม้ว่าจะมีความจดจ้องตั้งมั่นที่อารมณ์เดียว แต่เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ประกอบด้วยความสงบ ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศล

    ถ. ถ้าหากผู้ปฏิบัติทราบว่า สมาธิที่เกิดขึ้นเป็นสมาธิที่มีความสงบ มีปัญญารู้อย่างนี้ การเจริญสมาธิแบบนี้สมควรสนับสนุนให้มีการเจริญหรือไม่ อย่างเช่น การเจริญสมาธิที่ท่านแสดงไว้ในวิสุทธิมรรค ที่เรียกว่า กัมมัฏฐาน ๔๐ ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติเข้าใจดี และสามารถที่จะแยกได้ว่า การเจริญอย่างนั้นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นการเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามและรูป ขอถามว่า การเจริญสมาธิอย่างนั้น สมควรที่จะสนับสนุนหรือไม่

    สุ. แล้วแต่ขั้นของผู้ปฏิบัติเจ้าค่ะ ถ้าผู้นั้นไม่สามารถที่จะเข้าใจสติปัฏฐานเลย ก็ควรที่จะเจริญกุศลขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมถภาวนา แต่ว่าบุคคลใดก็ตาม ควรที่จะได้ฟังเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานมากๆ เพราะว่าการฟังครั้งแรกจะรู้สึกว่ายากที่จะเข้าใจและยากที่จะปฏิบัติ แต่เพราะอาศัยการฟัง ฟังอีกๆ ฟังมากขึ้น ก็จะเห็นคุณประโยชน์ของการเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเมื่ออบรมเจริญสติปัฏฐานแล้วจะไม่เลือก หรือจะไม่จำกัดกุศลเลย และจะรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นปัจจัยของกุศลขั้นทานเท่านั้น แต่สติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ขณะนั้นที่ให้ทานไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล หรือว่าบางครั้งการให้ทาน ก็อาจจะมีการระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศล ซึ่งไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงกุศลจิตที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจึงให้ในขณะนั้น ซึ่งขณะนั้นก็เป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานด้วย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ไม่ได้เลือกและไม่ได้จำกัดว่า จะต้องให้เป็นกุศลที่เป็นสติปัฏฐานเท่านั้นตลอดเวลา เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ และผู้นั้นจะมีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะที่เกิดกุศลขั้นทาน บางครั้งก็ประกอบด้วยการเจริญ สติปัฏฐาน หรือว่าบางครั้งก็เป็นแต่เพียงทานกุศลที่ไม่มีสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่กำลังให้ทาน

    หรือแม้แต่ขณะที่วิรัติทุจริต ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกุศลขั้นศีลเท่านั้น โดยที่สติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ไม่ใช่เราเลยที่วิรัติ ไม่ใช่เราเก่งที่สามารถยับยั้งอกุศลได้ แต่ขณะนั้นที่วิรัติวาจาผิด ก็เพราะสัมมาวาจาเกิดขึ้นจึงกระทำกิจวิรัติ ไม่ใช่เรา ถ้าสัมมาวาจาในขณะนั้นไม่เกิด ก็ต้องเป็นวจีทุจริต เพราะว่า วันหนึ่งๆ มีการพูดมากๆ ก็ยากนักยากหนาที่จะไม่ให้เป็นวจีทุจริตบ้าง

    แต่ขณะใดที่กำลังพูดอยู่ และคิดที่จะพูดสิ่งที่ไม่จริงแม้เล็กน้อย แต่ว่าสัมมาวาจาเกิดขึ้นวิรัติ ทำให้ไม่มีวจีทุจริตในขณะนั้น และสติเกิดระลึกรู้ว่า เป็นเพราะสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นกุศลที่วิรัติ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่เลือก และไม่จำกัดกุศล

    ถ้ามีความสงบเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นผู้ที่รู้ว่า ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด อกุศลจิตย่อมเกิด เพราะฉะนั้น เวลาพบกับบุคคลอื่น หลังจากที่เห็นแล้วก็ยังมีการรู้ว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ แต่สภาพความสงบของจิตเกิดได้โดยที่ว่า ไม่เป็นโทสะในบุคคลที่เห็น และไม่เป็นโลภะในบุคคลนั้นด้วย สภาพของจิตเป็นกุศล ที่สะอาด ที่ผ่องใส ที่รู้ว่าขณะนั้นไม่เป็นโทสะ ไม่เป็นโลภะในบุคคลนั้น และรู้ในสภาพของจิตที่ ไม่เป็นอกุศล ซึ่งประกอบด้วยลักษณะของเมตตา ความหวังดีต่อบุคคลนั้น หรือความกรุณาในบุคคลนั้น หรือมุทิตา ความยินดีด้วยในบุคคลนั้น หรืออุเบกขาในบุคคลนั้น ซึ่งก็แล้วแต่สภาพของธรรมที่เกิดกับจิตในขณะนั้น ขณะนั้นก็เป็นความสงบ เพราะว่าไม่มีทั้งโลภะโทสะในบุคคลนั้น และยังรู้ลักษณะความสงบของจิตที่เป็นกุศลด้วย เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็หมายความว่า ขณะนั้นเป็นความสงบของจิตที่เป็นสมถะ ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ก็ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้น ก็เป็นเพียงว่า ลักษณะของความสงบ เป็นความสงบในขณะนั้น แต่ไม่ได้เข้าถึงความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของลักษณะที่สงบที่ปรากฏในขณะนั้น

    แต่ถ้าสติเกิดระลึกรู้ แม้ในลักษณะของความสงบที่กำลังสงบ ในขณะนี้ถ้าใครเป็นผู้ที่เจริญเมตตาบ่อยๆ จะมีลักษณะความสงบของจิตต่อสัตว์ ต่อบุคคลที่กำลังเป็นอารมณ์ ไม่มีโทสะ ไม่มีโลภะ ประกอบด้วยความหวังดี ความกรุณา หรือมุทิตา แล้วแต่เหตุปัจจัย ในขณะนั้นก็เป็นปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง และถ้าสติเกิดก็รู้ว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงความสงบของจิตในขณะนั้น เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานก็ย่อมเจริญได้โดยการที่มีอารมณ์ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นขณะที่ให้ทาน รักษาศีล หรือจิตสงบ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ สติปัฏฐาน สำหรับสัตว์โลกทั้งหลาย ที่จะให้อบรมจนกระทั่งเป็นอุปนิสัยปัจจัยจริงๆ โดยที่ไม่จำกัดไม่ยับยั้งว่าจะต้องให้เป็นสติปัฏฐานเท่านั้น เพราะว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่กุศลจิตจะเกิดขึ้นเป็น สติปัฏฐานทุกครั้ง แต่อาจจะเป็นทาน อาจจะเป็นศีล หรืออาจจะเป็นความสงบของจิตก็ได้ โดยที่สติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดแทรก ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะทั้งที่เป็นกุศลและเป็นอกุศลในขณะนั้น

    ถ้าทานควรเจริญฉันใด ความสงบของจิตก็ควรเจริญฉันนั้น และที่ควรเจริญที่สุด คือ สติปัฏฐาน

    ศีลควรเจริญฉันใด สมถะคือความสงบของจิตก็ควรเจริญฉันนั้น แต่ที่ควรเจริญที่สุด คือ สติปัฏฐาน

    ถ. เจริญสติปัฏฐานฟังมามากแล้ว และปฏิบัติอยู่ มีความเข้าใจถูกพอสมควร ก็อยากจะรู้ว่า การเจริญสมาธิให้เข้าถึงฌานโดยตรง จะปฏิบัติอย่างไร

    สุ. ต้องอาศัยปัญญา

    การอบรมเจริญสติปัฏฐานต้องอาศัยการเข้าใจว่า สติมีลักษณะอย่างไร เกิดขึ้นในขณะไหน จะอบรมให้ยิ่งขึ้นได้ ฉันใด การที่จะเจริญความสงบของจิตที่เป็นสมถภาวนาจนกระทั่งถึงฌานจิต ก็จะต้องศึกษาลักษณะของสภาพความสงบของจิต และอารมณ์ที่จะให้เกิดความสงบของจิต พร้อมทั้งอบรมเจริญความสงบของจิต เป็นพื้นฐานให้สามารถที่จะอบรมเจริญความสงบให้มั่นคงขึ้นจนถึงขั้นที่เป็นฌานจิตได้

    แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเลยว่า ความสงบของจิตมีได้ในขณะไหน นึกแต่เพียงว่าจะไปจดจ้องอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้น หรือว่าอาจจะอ่านหนังสือ และเข้าใจเองว่า ให้จดจ้อง โดยที่ไม่เข้าใจลักษณะสภาพความสงบของจิตเลย อย่างนั้นจะไม่ทำให้สามารถถึงฌานจิตได้

    ถ. จะเจริญความสงบของจิต จะต้องรู้สภาพความสงบของจิตให้ถูกต้อง และจึงจะปฏิบัติ แล้วก็ ...

    สุ. ให้ความสงบมั่นคงขึ้นได้

    ถ. นั่นเป็นความสงบที่ถูกต้องแล้ว ต่อไปจะได้ฌาน จะเป็นอารมณ์อะไรก็ตามที เราก็เจริญตามไปให้ถูกต้อง

    สุ. พร้อมทั้งความสงบของจิตเพิ่มขึ้นๆ มั่นคงขึ้น อย่าคิดถึงแต่เพียงสมาธิ เพราะว่าสมาธิที่เป็นกุศลแล้ว ต้องเกิดกับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน มั่นคง พร้อมความสงบ และปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นก็เป็นลักษณะของสมาธิ แต่อย่าลืมว่า เมื่อเป็นสติปัฏฐานแล้ว ต้องเกิดพร้อมความสงบ และปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่า สมาธิ ซึ่งคนที่ไม่เข้าใจความหมายของสมาธิ ก็เข้าใจผิดคิดว่า ทรงมุ่งหมายสมาธิอะไรๆ ก็ได้ หรือว่าอกุศลสมาธิ เช่น การจดจ้องที่หนึ่งที่ใดโดยที่ไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า ขณะนั้นจิตสงบหรือเปล่า สงบเพราะอารมณ์ที่เป็นสมถภาวนา หรือว่าสงบพร้อมด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น โดยทั่วไป คำว่าสมาธิในพระไตรปิฎกที่ควรเจริญ จะเป็นคำกลางที่หมายถึงสมาธิที่เจริญพร้อมสติปัฏฐานและปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นวิปัสสนาภาวนา หรือว่าเจริญสมาธิพร้อมความสงบซึ่งเป็นความมั่นคงของจิตที่สงบยิ่งขึ้น เป็นสมถภาวนา แต่ไม่ใช่สมาธิที่ไม่รู้เรื่อง อยู่ดีๆ ก็จะไปนั่งจดจ้องกันเฉยๆ

    ถ. ที่อาจารย์กล่าวนี้ก็ถูก พระไตรปิฎกพระผู้มีพระภาคได้กล่าวไว้ทั้งปัญญาและสมาธิ ทั้ง ๒ อย่าง ผู้ที่ไม่รู้เรื่อง ไม่เคยฟังธรรมเลย ปรารถนาจะเจริญสมาธิ ก็กำหนดลมหายใจเข้าออก นั่งกำหนดลมหายใจเข้าออก ทำอยู่อย่างนั้น แต่ความสงบหรือความไม่สงบเป็นอย่างไรเขาไม่เคยศึกษา เขาก็ไม่รู้ ขอถามอาจารย์ว่า ถ้าเรากำหนดลมหายใจเข้าออก เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่สงบ หรือเป็นสมาธิ นอกจากจะเจริญสติปัฏฐานแล้ว ทางอื่นไม่มีเลย

    สุ. เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนากระทำไม่ได้ถ้าปราศจากปัญญา ไม่มีทางเลยที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเจริญสมถภาวนาด้วยความไม่รู้ แต่จะต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า ไปนั่งและจดจ้องโดยที่ไม่รู้ลักษณะความสงบของจิตเลย ผลคืออะไร แม้จะกล่าวว่า เป็นอานาปานสติ หรือเข้าใจว่าตนเองกำลังทำอานาปานสติ แต่เมื่อไม่รู้ลักษณะของความสงบ ผลของการกระทำอย่างนั้นคืออะไร ความไม่รู้สึกตัว หมดสติสัมปชัญญะ เกิดปรากฏการณ์แปลกๆ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะสภาพความสงบของจิต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๘ ตอนที่ ๖๗๑ – ๖๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564