แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 670


    ครั้งที่ ๖๗๐


    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ สำหรับผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน มีเห็น มี ได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย มีการคิดนึก และก็มีความไม่รู้

    แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็มีการเห็นตามปกติ มีการได้ยินตามปกติ อย่างในขณะนี้ มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึก แต่แทนโมหะ คือ ความไม่รู้ ก็เป็นการระลึก ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งวันหนึ่งสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง

    เวลาที่รูปารมณ์ปรากฏ จะหาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนใน รูปารมณ์ที่ปรากฏไม่ได้ นั่นคือความสมบูรณ์ของปัญญาที่รู้ว่า รูปารมณ์ หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้นคืออย่างไร ละคลายความที่เคยเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลออก รู้ว่ารูปารมณ์เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น ในสิ่งที่กำลังปรากฏ หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตนไม่ได้จริงๆ

    ในขณะนี้ ถ้าไม่มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน สิ่งที่ปรากฏ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ. (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. เพราะฉะนั้น อุเบกขาไม่ใช่ปัญญา ต้องแยกกัน สภาพธรรมละเอียดมากจริงๆ เพียงความรู้สึกที่เป็นอุเบกขา ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ นั่นไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้น อุเบกขาก็เป็นเพียงสภาพความรู้สึกชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง และก็ไม่เที่ยงด้วย ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับให้รู้อยู่ที่อุเบกขา เพราะต่อมาก็รู้ว่า มีความพอใจ หรือมีความไม่พอใจ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของอุเบกขา

    เพราะฉะนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะไปเจริญปัญญาโดยการบังคับให้รู้อยู่ที่อารมณ์เดียว เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่ามีปัจจัยให้สภาพธรรมใดปรากฏ สภาพธรรมนั้นก็ปรากฏ แต่เมื่อปรากฏแล้วก็ไม่รู้ เพราะว่าไม่ได้ระลึก ไม่ได้ศึกษาที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ถ. อย่างนี้อุเบกขาในพรหมวิหาร ๔ ก็เป็นโมหะ

    สุ. อุเบกขามีหลายอย่าง อุเบกขาเวทนา และอุเบกขาที่เป็นพรหมวิหาร ซึ่งไม่ใช่อุเบกขาเวทนา แต่เป็นสภาพของโสภณเจตสิก ความไม่ลำเอียง ใครผิดก็ว่าผิด ไม่ว่าจะเป็นญาติ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อนสนิท หรือว่าเป็นเพื่อนที่เพียงรู้จักโดยชื่อ หรือโดยหน้า หรือจะเป็นครูอาจารย์ก็แล้วแต่ ผิดก็เป็นผิด ถูกก็เป็นถูก นั่นเป็นอุเบกขาของพรหมวิหาร เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น เพียงความรู้สึกเฉยๆ หรืออุเบกขา แต่ไม่ใช่การศึกษาพร้อมสติที่ระลึกได้ ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อุเบกขาก็เป็นอกุศลได้

    มีชาวต่างประเทศท่านหนึ่งท่านบอกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าคงจะไม่ห้ามให้ใครยินดีพอใจในธรรมชาติที่สวยงาม เช่น ยามพระอาทิตย์ตก เป็นต้น คือ คนเรามีฉันทะ มีความพอใจ มีความติดข้องในหลายอย่าง ถ้าไม่พอใจในดนตรีที่ดังมาก ก็คงจะพอใจในดนตรีแผ่วๆ เบาๆ เย็นๆ อ่อนๆ ไพเราะละมุนละไม นั่นก็เป็นความพอใจ เพราะฉะนั้น เขาก็เข้าใจว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคงจะไม่ห้ามที่ยังมีความยินดีพอใจในความยินดีพอใจอ่อนๆ แบบที่ว่า พอใจในธรรมชาติ

    พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ห้ามอะไรไม่ได้เลย และไม่เคยทรงห้ามใครด้วย แต่ทรงชี้แจงสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ขณะที่รู้สึกว่ายินดีพอใจในธรรมชาติที่สวยงาม อย่างเวลาที่พระอาทิตย์ตก ขณะนั้นสงบหรือเปล่า ขอให้ระลึกรู้ตามความเป็นจริงว่า สงบหรือเปล่าเวลาที่พอใจ

    ขณะใดที่มีความยินดีพอใจในรูปที่ปรากฏ ต้องตรงตามความเป็นจริง ไม่ลำเอียง ไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีใคร แต่ต้องรู้สภาพของจิตที่พอใจในขณะนั้นว่า สงบไหม เมื่อไม่สงบ ก็ต้องไม่สงบ ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นลักษณะของโลภมูลจิตที่รุนแรงจนกระทั่งปรากฏเป็นความใคร่ ความปรารถนา หรือความต้องการอย่างมากมาย เพียงแต่ความพอใจเล็กน้อย ดูเหมือนสงบมากกับธรรมชาติ แต่ให้ทราบว่า ขณะนั้นไม่สงบ เพราะลักษณะที่พอใจ ที่ติดข้อง ไม่ใช่ความสงบ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ความสงบซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่วิปัสสนาภาวนา ไม่ใช่ความสงบที่เกิดพร้อมกับปัญญาขั้นวิปัสสนา หรือขั้นการเจริญสติปัฏฐาน แม้ความสงบที่เป็นขั้นของสมถภาวนา ก็ต้องปราศจากโลภะ โทสะ และโมหะ ต้องรู้ว่า อารมณ์อะไรเป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตผ่องแผ้ว สงบ ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะได้

    พระอาทิตย์ตก ไม่เคยกล่าวไว้เลยว่า เป็นอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ ไม่ใช่สมถกัมมัฏฐาน ๔๐ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่า แม้พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงห้าม เพราะว่าทรงรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ก็ทรงชี้ให้เห็นว่า อกุศลจิตเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่ความสงบ การที่กำลังพอใจในความสวยงามของธรรมชาตินั้น เป็นโลภมูลจิต

    ถ้าบุคคลใดใคร่ที่จะเจริญความสงบ ต้องเจริญเพราะมีปัญญารู้ว่า สภาพของจิตที่ปราศจากโลภะ โทสะ และโมหะนั้นเป็นอย่างไร จึงจะเจริญได้ ไม่ใช่เพียงแต่ว่าใครบอกให้นั่งก็นั่งไปแล้วก็คิดว่าจะสงบ ใครบอกให้จดจ้องที่อารมณ์อะไรก็จดจ้องไปแล้วก็คิดว่าจะสงบ เป็นไปได้อย่างไร ถ้าไม่มีปัญญาเริ่มต้นที่จะรู้ความต่างกันของ โลภมูลจิตกับมหากุศลจิตซึ่งไม่ใช่โลภมูลจิตเลย ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ความต่างกัน ย่อมเจริญความสงบไม่ได้

    ลองคิดดู ความปรารถนาต้องการที่จะจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ลองระลึกถึงสภาพธรรมของจิตในขณะนั้นว่า สงบหรือเปล่าขณะที่กำลังต้องการที่จะ จดจ้อง เพราะเหตุว่าความต้องการ เป็นลักษณะของโลภะ ไม่ใช่ลักษณะของความสงบ

    การอบรมเจริญความสงบก็ดี การเจริญสติปัฏฐานก็ดี จะอบรมได้ก็ด้วยปัญญาเท่านั้น แต่เป็นปัญญาที่ต่างขั้นกัน

    ปัญญาขั้นที่รู้ว่าจะสงบอย่างไร ไม่ใช่ปัญญาขั้นที่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างไร และถ้าจิตสงบขึ้น ในอารมณ์ของความสงบนั้นลักษณะของสมาธิก็ปรากฏได้ ซึ่งเป็นสมาธิพร้อมด้วยความสงบ ไม่ใช่สมาธิที่ปราศจากปัญญาและความสงบ และถ้าความสงบเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว ในขณะนั้นก็เป็นความสงบที่เกิดขึ้นตามอัธยาศัยที่สะสมมา

    ถ. (ได้ยินไม่ชัด)

    สุ. จิตของใคร ลองสวดมนต์เอง และรู้สึกอย่างไร เคยมีอกุศลจิตแทรกบ้างไหม

    ถ. มี

    สุ. เพราะฉะนั้น จิตเราอย่างไร จิตคนอื่นจะเป็นอย่างนั้นไหม ก็อาจจะเป็นได้ เพราะฉะนั้น ไม่สามารถที่จะรู้จิตคนอื่น แต่ว่าเปรียบเทียบได้กับสภาพจิตของท่านเอง

    เพราะฉะนั้น การที่จะให้จิตสงบจึงต้องเป็นปัญญา ถ้าปราศจากปัญญาแล้ว ก็กั้นโลภะที่แทรกเข้ามาไม่ได้

    เรื่องของการอบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น ในขั้นของสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานั้น ต้องอาศัยปัญญาที่รู้ในการที่จะอบรมความสงบ หรือในการอบรมปัญญาขั้นสติปัฏฐาน ถ้าปราศจากการศึกษา หรือปราศจากความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถที่จะให้เป็นกุศล หรือให้เป็นความสงบ หรือให้เป็นปัญญาที่ละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ และก็จะเข้าใจผิด เอาโลภมูลจิตมาเป็นความสงบ ซึ่งผลก็คือ มีนิมิตประหลาดๆ ทำให้เกิดความสงสัย ซึ่งควรจะได้ทราบทันทีว่า ในขณะที่สงสัยนั้นไม่ใช่ความสงบเลย

    เพราะฉะนั้น ที่ดำเนินมาโดยตลอดก็ไม่ใช่ดำเนินไปด้วยปัญญา ไม่เป็นกุศลอะไร มีแต่ความต้องการ และเวลาที่จิตจดจ้อง ก็มีความพอใจ เวลาที่ใครมารบกวนสมาธิ ทำให้มีความขัดข้อง ก็มีความไม่พอใจ ซึ่งนั่นไม่ใช่ลักษณะของการอบรมความสงบ

    ผู้ที่จะอบรมความสงบนั้น เป็นเพราะเห็นโทษของอกุศล เมื่อเห็นโทษว่า ขณะใดที่มีการเห็นสิ่งที่ไม่พอใจก็เกิดความไม่แช่มชื่น ขณะใดที่เห็นสิ่งที่พอใจก็เกิดความพอใจแช่มชื่นที่เป็นโลภะ เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะสงบได้ เวลาที่กระทบกับสิ่งที่ไม่พอใจก็ไม่เป็นโทสมูลจิต เวลาที่กระทบกับอารมณ์ที่น่าใคร่น่าพอใจก็ไม่เป็นโลภมูลจิต ผู้ที่เห็นโทษ และสามารถที่จะสงบได้เวลาที่ประสบกับอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ นั่นเป็นปัญญาซึ่งสามารถที่จะขึ้นไปสู่การเจริญความสงบให้ยิ่งขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น แม้แต่พรหมวิหาร ๔ เมตตาพรหมวิหาร กรุณาพรหมวิหาร มุทิตาพรหมวิหาร อุเบกขาพรหมวิหาร ก็เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมในชีวิตประจำวันให้สงบ เพื่อจะได้รู้ขณะที่สงบ และจะได้น้อมไปเพื่อที่จะสงบยิ่งขึ้นด้วยปัญญาที่รู้ว่า สภาพของจิตที่สงบในขณะนั้น สงบด้วยเมตตา หรือสงบด้วยกรุณา หรือสงบด้วยมุทิตา หรือสงบด้วยอุเบกขา แต่ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน

    ถ. ข้อปฏิบัติในพรหมวิหาร ๔ นั้น ก่อนอื่นท่านให้แผ่เมตตาให้กับตัวเอง ผมสงสัยขณะที่แผ่เมตตาให้กับตัวเอง ขณะนั้นจิตไม่เป็นโลภะหรือ

    สุ. เห็นไหมว่าต้องเป็นปัญญาจึงจะเจริญความสงบได้ ถ้าปัญญาไม่เกิด ก็เป็นโลภะแน่นอน รักตัวใช่ไหม อะไรๆ ก็เพื่อตัว ต้องการอะไรๆ ก็สำหรับตัวเองทั้งนั้น แม้แต่ความสุข ก็ขอให้ตัวเองมีความสุข นี่ไม่ใช่ลักษณะของโลภะหรือ

    เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาไม่เกิด ย่อมเจริญไม่ได้แน่นอน ถ้าเป็นโลภะ ก็คือว่า รักตัวเหลือเกิน ต้องการที่จะได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีที่สุด แต่ที่จะเป็นกุศล คือรู้ว่า เราฉันใด คนอื่นก็ฉันนั้น

    เมตตาต้องมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ เป็นสภาพของกุศลจิต เพราะในวันหนึ่งๆ มีการเห็นอยู่เรื่อย การตรึกนึกถึงสัตว์บุคคลนี้มี รู้ในความหมายของสิ่งที่ปรากฏเพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นคน เป็นสัตว์ ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นอกุศลจิต เพราะถ้าเห็นคนที่ไม่ชอบ โทสะก็เกิดแล้ว ถ้าเห็นคนที่ชอบ โลภะก็เกิด ซึ่งวันหนึ่งๆ ก็เห็นแต่คนมากมาย เดี๋ยวเพื่อนสนิท เดี๋ยวคนที่ไม่ชอบ ก็มีแต่โลภะ โทสะ เมื่อเป็นอย่างนี้ การอบรมเจริญพรหมวิหารจึงต้องในขณะที่ประสบกับสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ และจิตเป็นกุศล คือ ในขณะนั้นไม่มีทั้งโทสะ ความไม่แช่มชื่น และไม่มีโลภะ ความติด ความพอใจยึดมั่นในบุคคลที่กำลังปรากฏด้วย ทั้ง ๒ อย่าง

    ถ. ที่จะเป็นเมตตา ต้องประสบกับสัตว์บุคคลใช่ไหม แต่ถ้านั่งอยู่ในห้อง นึกแผ่เมตตาไปว่า สัตว์โลกทั้งหลายรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด เราก็ฉันนั้น ได้ไหม

    สุ. คิดได้ แต่พอพบจริงๆ ไหวไหม ไม่แน่ใช่ไหม

    ถ. หลังจากนั้น ก็ตรึกคิดว่า สภาพเมื่อครู่นี้ก็คิดนึก และลืมตาก็มีการเห็น ถ้ามีการมนสิการอย่างนี้ จะถือว่าเป็นการอบรมเจริญสติได้ไหม

    สุ. สติปัฏฐาน หรืออะไร

    ถ. สติปัฏฐาน

    สุ. สติปัฏฐาน ระลึกเกิดเมื่อไร ก็ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เดี๋ยวนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    ถ. รู้ว่าเป็นสภาพที่ต่างกัน

    สุ. ศึกษาลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ สภาพรู้เป็นสภาพรู้ สภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ก็เป็นสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ แต่ละลักษณะ เช่น ในขณะที่ได้ยินเสียง เป็นแต่เพียงธาตุรู้เสียง ชั่วขณะนี้เป็นธาตุรู้เสียงเท่านั้น เพียงรู้เสียงชั่วขณะหนึ่ง ดับไปแล้ว เกิดขึ้นนิดเดียว รู้เสียง และก็ดับไปแล้ว

    ถ. ตอนที่นั่งอยู่ในห้อง เจริญสมาธิ มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ อย่างนั้นไม่เป็นกุศลหรือ

    สุ. เป็นการคิด แต่ว่าสัตว์บุคคลไม่ได้ปรากฏ ข้อสำคัญที่จะรู้แน่ว่า สงบได้ไหม ก็เมื่อพบสัตว์บุคคลและศึกษาสภาพของจิตในขณะนั้นว่า สงบ หรือไม่สงบ เข้าห้องนึก แต่เวลาเจอคน โลภะเกิด โทสะเกิด

    ถ. หมายความว่า ทำแบบนั้นผิด

    สุ. ขณะนั้นเป็นการนึกเท่านั้น แต่ว่าผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบจริงๆ ต้องเข้าใจว่า หมายความถึงในขณะใด เช่น ในชีวิตประจำวัน สมมติว่า ไปเข้าห้องและก็นึก ไม่เจอใครเลย เมตตากว้างขวางไกลมาก แต่พอเปิดประตูห้องออกมา ก็โทสะเสียแล้ว อย่างนี้จะเป็นความสงบได้อย่างไร

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญความสงบ ต้องเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และรู้ลักษณะของกุศลจิตว่า ขณะนี้ไม่ได้มีโลภะในบุคคลที่กำลังปรากฏ และก็ไม่มีโทสะ ในบุคคลที่กำลังปรากฏ มีความหวังดี มีความเมตตา มีทางที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์อนุเคราะห์ทางหนึ่งทางใด ก็กระทำได้

    ถ. (ฟังไม่ชัด)

    สุ. คนที่ไม่รู้เรื่องการเจริญสติปัฏฐานเลย มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งที่ประเทศศรีลังกา เจริญเมตตาพรหมวิหาร และรู้ว่าขณะใดที่เมตตาเกิดขึ้น อย่างเวลาที่อยู่ในรถประจำทาง มีใครกระทบกระทั่งจิตก็ไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่าไม่ได้มีเจตนา หรือเป็นเพราะมีเหตุจำเป็น รักษาความสงบของจิต และขณะนั้นก็ไม่ได้มีโลภะแก่คนที่มากระทบกระทั่งแน่นอน เป็นคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักมักคุ้นเลย เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่เป็นโทสะ พร้อมกันนั้นก็มีลักษณะของสภาพความเมตตา ความเข้าใจ ความหวังดี ปรากฏในขณะนั้นด้วย

    ผู้นั้นทราบเรื่องการเจริญความสงบของเมตตา เป็นผู้ที่เจริญเมตตามาก แต่ไม่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน และท่านผู้นั้นก็รู้ว่า แค่นี้ไม่พอ เพียงความสงบด้วยเมตตาเท่านี้ไม่พอ ไม่ใช่การละ หรือการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ท่านผู้นั้นก็ซักถามในเรื่องของปัญญาขั้นต่อไป คือ ขั้นเจริญสติปัฏฐาน ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน

    ถ. แต่ที่ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า และก็แผ่เมตตาไป

    สุ. ต้องรู้ลักษณะของเมตตาเสียก่อน เมื่อไม่รู้ ก็ท่องไป แต่ว่าลักษณะของเมตตาเป็นอย่างไรไม่ทราบ ก็ได้แต่ท่อง

    ถ. ลักษณะของเมตตารู้ได้จากการเจริญสติ

    สุ. เวลานี้เมตตามีไหม ก็ท่องเมตตาไป แต่จริงๆ แล้วลักษณะของเมตตาขณะนี้กำลังเห็น เห็นใคร ไม่มีโทสะ ไม่มีโลภะ และรู้สภาพของเมตตา ความหวังดีที่มีในขณะนั้นที่เกิดขึ้น ซึ่งการรู้นั้นจะเป็นปัจจัยให้สภาพจิตนั้นเจริญขึ้น เกิดมากขึ้น

    สภาพของจิตที่ผ่องใส และเต็มไปด้วยความหวังดี ซึ่งมีเป็นประจำอยู่แล้วไม่ว่าจะพบปะใคร เพราะฉะนั้น เวลาที่จะนึกถึงใคร ก็นึกถึงด้วยความเมตตา มีแต่ความหวังดีในบุคคลนั้น คิดที่จะเกื้อกูลในบุคคลนั้นต่อๆ ไป เพราะฉะนั้น เวลาที่ประสบกับคนนั้นอีก ก็มีเมตตา คือ มีความหวังดี ไม่มีการคิดที่จะเบียดเบียน ไม่มีโทสะ ไม่มีความหวังร้าย ไม่มีการประทุษร้าย

    ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด เวลาพบกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด สภาพของจิตก็เป็นเมตตา แม้ว่าไม่ประสบบุคคลนั้น เพียงนึกถึงบุคคลนั้น ก็นึกถึงด้วยความเมตตา ด้วยความหวังดี ด้วยกุศล และเวลาที่พบบุคคลนั้นอีก ก็เป็นเมตตาจริงๆ มีความเมตตาทุกขณะที่พบกัน ขณะนั้นก็เป็นสภาพของเมตตา เป็นการเจริญเมตตาได้

    ยากจริงๆ สำหรับการเจริญสมถภาวนา

    แต่โดยมากเข้าใจว่า ถ้าไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้องแล้ว ก็เป็นสมถภาวนา ซึ่งไม่ควรที่จะเข้าใจอย่างนั้น เพราะเพียงการจดจ้องเป็นสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิได้ เป็นมิจฉาสมาธิได้ เพียงแต่การจดจ้องให้จิตจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศลจิตได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะคิดว่า ถ้าไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ต้องเป็นสมถภาวนา เพราะตามความเป็นจริง ไม่ใช่แม้การเจริญสติปัฏฐาน และไม่ใช่แม้การเจริญสมถภาวนา

    โดยมากจะใช้คำว่า วิปัสสนา การใช้คำว่า วิปัสสนา โดยไม่เข้าใจอย่างถูกต้อง ฉันใด ก็ใช้คำว่า สมถภาวนา โดยไม่เข้าใจอย่างถูกต้อง ฉันนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะกล่าวว่า เมื่อไม่ใช่วิปัสสนาแล้วก็เป็นสมถะ ซึ่งความจริงแม้สมถะก็ไม่ใช่ เพราะว่าไม่ใช่ความสงบของจิต เป็นมิจฉาสมาธิ

    ถ. (ฟังไม่ชัด)

    สุ. แน่นอน ยากไหม ถ้าไม่ได้ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียด บุคคลทั้งหลายก็ไม่มีโอกาสที่จะเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น เพราะความเข้าใจผิด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๖๖๑ – ๖๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564