แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 699


    ครั้งที่ ๖๙๙


    ข้อความต่อไป

    นางธนัญชานีพราหมณีกล่าวว่า

    พราหมณ์ ฉันยังไม่เห็นบุคคลผู้จะพึงยกถ้อยคำต่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นในโลก พร้อมด้วยเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมด้วยสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ ข้าแต่พราหมณ์ เอาเถิด ท่านจงไป แม้ไป แล้วก็จักรู้ ฯ

    เพราะนางพราหมณีรู้แน่ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะชนะพระผู้มีพระภาคใน เหตุผลได้เลย

    ลำดับนั้นแล พราหมณ์ภารทวาชโคตรโกรธ ขัดใจ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

    พราหมณ์ภารทวาชโคตรนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

    บุคคลฆ่าอะไรได้ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าอะไรได้ย่อมไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ย่อมชอบใจการฆ่าธรรมอะไรเป็นธรรมอันเอก ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    บุคคลฆ่าความโกรธได้ย่อมนอนเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้ย่อมไม่เศร้าโศก ดูกร พราหมณ์ พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีมูลเป็นพิษ มีที่สุดอันคืนคลาย เพราะว่าบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ฯ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระโคดมผู้เจริญทรงประกาศพระธรรมโดยปริยายเป็นอันมาก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่า คนมีจักษุย่อมเห็นรูปได้ ฉะนั้น

    ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระโคดมผู้เจริญกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญ ฯ

    พราหมณ์ภารทวาชโคตรได้บรรพชา ได้อุปสมบทแล้วในสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็ท่านพระภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ ไม่นานเท่าไรนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งคุณวิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนโดยชอบบวชเป็นบรรพชิตมีความต้องการ ด้วยปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่งเองในปัจจุบันนี้เข้าถึงอยู่ ได้ทราบว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แหละท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในบรรดา พระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล ฯ

    ถ. ความโกรธไม่มีใครชอบ แต่โลภะหรือโมหะ บางทีพอจะชอบได้ ความโกรธนี้ มีเวทนาเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ไม่มีใครชอบ และที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ฆ่าความโกรธได้อยู่เป็นสุข แต่วิธีฆ่าความโกรธไม่ได้ทรงแสดงไว้ ขอถามอาจารย์ว่า วิธีฆ่าความโกรธนั้น ฆ่าอย่างไร

    สุ. อบรมเจริญปัญญา ตัวตนฆ่าความโกรธไม่ได้เลย

    ถ. วิธีที่ผมได้ยินมา ใครกำลังโกรธให้นับ ๑ ถึง ๑๐ และมีบางคนบอกว่า ได้ผลด้วย แต่ว่าบางคนขณะที่โกรธจัดๆ นับ ๑ ถึง ๑๐๐ ก็ยังไม่หายโกรธ

    สุ. มีเด็กเล็กๆ คนหนึ่งได้ยินได้ฟังเรื่องนับ ๑ ถึง ๑๐ นี่ และเวลาที่ผู้ใหญ่โกรธ เด็กก็เตือนให้นับ ๑ ถึง ๑๐ สามารถที่จะเตือนผู้ใหญ่ได้ แต่เวลาที่เด็กคนนั้นโกรธเอง ผู้ใหญ่ก็ถามว่า นับ ๑ ถึง ๑๐ แล้วหรือยัง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่โกรธ ก็ไม่โกรธ ไม่จำเป็นต้องนับ แต่เวลาที่มีปัจจัยของความโกรธเกิดขึ้น นับทันไหม ความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย และที่จะดับความโกรธเป็นสมุจเฉท ถึงกับฆ่าความโกรธให้ตายได้จริงๆ ไม่โกรธอีกเลย ก็ต้องอบรมปัญญา จนบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล

    ความโกรธ หรือปฏิฆะ ความโทมนัส หรือความทุกข์ มีลักษณะต่างๆ กัน ความโศก ความเศร้า ความเสียใจ ความสลดหดหู่ ความห่วงใย ความวิตกกังวล แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือเรื่องใหญ่ นั่นก็เป็นลักษณะที่ไม่เป็นสุขเลยทั้งสิ้น ผู้ที่ ไม่มีความรู้สึกเป็นทุกข์ ไม่มีความเศร้าโศกเสียใจเลย คือ พระอนาคามีบุคคล พระโสดาบันบุคคลก็ยังมี พระสกทาคามีบุคคลก็ยังมี

    ถ. ทุกๆ คนยังมีความโกรธอยู่ และไม่ชอบให้โกรธด้วย ที่อาจารย์บอกว่าเจริญปัญญา หมายความว่าทำให้โกรธลดน้อยลง ใช่ไหม

    สุ. ระลึกรู้สภาพลักษณะที่กำลังโกรธ และไม่มีความเป็นตัวตนไปพัวพัน ยึดถือความโกรธนั้นว่าเป็นเรา เพราะถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงโทษของความโกรธไว้มากก็จริง เวลาไม่โกรธนี้รู้ทุกอย่าง โทษของความโกรธทั้งหมดที่ทรงแสดงก็เข้าใจ ก็เห็นด้วย แต่เวลาที่ความโกรธมีปัจจัยเกิดขึ้น ในขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่เห็นโทษของความโกรธแล้ว ลืมโทษทั้งหมดของความโกรธ

    ผู้ฟัง ในขณะที่มีความโกรธ บางทีพลั้งปากพูดอะไรที่ไม่สมควรจะพูด แต่ก็นึกได้ทีหลังว่า ไม่ควรจะกล่าวคำนี้ออกไปเลย รู้สึกว่ารุนแรงมากไป อะไรทำนองนี้

    สุ. เวลานึกได้ทีหลัง ก็ไม่ชัดเจนเท่ากับขณะที่สติกำลังระลึก และเห็นอาการของความโกรธที่กำลังแสดงออกทางกาย ทางวาจาในขณะนั้นทันที

    ผู้ฟัง ผมมีความรู้สึกว่า การปฏิบัติเจริญสติ รู้สึกว่าเท่าไรก็ไม่เต็ม เท่าไรก็ไม่พอ จนกระทั่งชีวิตนี้หมดไปก็ยังไม่พอ เหมือนกับพวกแมลงที่หลงในแสงไฟ ตกลงมาก็ตายไป ก็กลับมาคิดถึงตัวเราว่า เราเป็นผู้ที่หลงติดในตัวตนทางทวารทั้ง ๖ เพลิดเพลินอยู่ในตัวตนทางทวารทั้ง ๖ ก็ไม่ผิดอะไรกับแมลงที่หลงแสงไฟและตกลงมาตายอยู่ในกองไฟ สุดท้ายเราก็ตายไปเหมือนกับแมลงเช่นเดียวกัน คิดไปคิดมารู้สึกเศร้าใจ เกิดมาแล้วไม่มีอะไร คิดถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ขอให้เกิดความเพียรให้มากขึ้น แต่ก็รู้สึกว่า เท่าไรก็ไม่พอๆ

    สุ. จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด บำเพ็ญเพียรไป อบรมไป เจริญไปเรื่อยๆ ด้วยใจสบาย เบาใจในขณะที่สติกำลังระลึก

    ผู้ฟัง แต่ก็หลงลืมสติเรื่อย

    สุ. เป็นของธรรมดา

    ผู้ฟัง ขณะที่เพียรแล้วรู้ไม่ชัด เป็นศัตรูตัวร้ายที่สุด

    สุ. ปัญญาจะมั่นคงขึ้น เวลาที่อบรมจนกระทั่งแม้ขณะที่รู้สึกอย่างนั้น คิดอย่างนั้น สติก็ระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ที่ปัญญามั่นคง คือ สามารถที่จะระลึกรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมซึ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแต่ละขณะ

    สติเกิดขึ้นขณะหนึ่ง และเปลี่ยนเป็นขณะอื่นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมความคิดนึกประการใดก็ตาม ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะนั้นต่อไปได้

    วันหนึ่งจะเป็นอย่างนั้นได้ ควรที่จะเบาใจเมื่อได้อบรมหนทางที่ถูก ที่จะทำให้ปัญญาสามารถรู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ จะช้าหรือจะเร็ว จะวันไหน ก็ยังเป็นหนทางที่ถูก เมื่อเป็นทางที่ถูกแล้ว วันหนึ่งย่อมสามารถที่จะประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    สภาพธรรมแต่ละวัน แต่ละขณะนี้ วิจิตรต่างๆ กันมากมายเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นความคิดของผู้ใดผู้หนึ่งก็ตาม ในวันหนึ่งๆ ก็มีความวิจิตรต่างๆ กันไปมากมาย ความรู้สึกก็ต่างกันไปแต่ละขณะมากมายด้วย เพราะฉะนั้น ขณะที่สติเกิดขึ้นเพียงนิดเดียวและเปลี่ยนเป็นอื่น เมื่อมีความชำนาญขึ้นในการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย ปัญญาก็จะมั่นคงที่จะไม่ยึดถือสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ต้องละเอียดจริงๆ รอบรู้จริงๆ รู้ทั่วจริงๆ และก็เป็นการศึกษา เพิ่มการรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนยิ่งขึ้น ไถ่ถอนความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดเป็นตัวตนออกได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมอย่างไรก็ตาม จะเป็นความรู้สึกสับสนอลเวง ตื่นเต้นดีใจ เสียใจ ประกอบกัน ผสมกันมากมายอย่างไรก็ตาม ทั้งกุศลและอกุศล ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด ซึ่งปัญญาสามารถที่จะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันแต่ละชนิดได้

    เวลาที่ให้ทาน มีความผ่องใสสะอาดของจิตตลอดเวลา หรือว่าเพียงชั่วขณะเล็กน้อย และก็มีความรู้สึกอื่นเกิดสืบต่อ บางครั้งเป็นความขุ่นใจนิดหน่อย ความไม่พอใจบ้าง หรือว่าความเสียดายบ้าง ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่ปะปนกัน

    ผู้ฟัง แม้ขณะที่จะออกไปใส่บาตร แต่ยังทำธุระอะไรไม่เรียบร้อย จิตใจในขณะนั้นก็หวั่นไหว เร่งรีบ ถ้าหากมีสติระลึกได้ นี่ก็เป็นสภาพธรรมหนึ่งที่ปรากฏ

    สุ. เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่ระลึก สภาพธรรมรวมกัน ปนกันหมด และก็มีความพัวพันในสภาพธรรมทั้งหมดนั้นว่า เป็นตัวตน

    ผู้ฟัง เช่น กำลังจะใส่บาตร สุนัขวิ่งมาจะชนพระ อะไรทำนองนี้ จิตใจก็เกิดไม่ชอบขึ้นมา ก็เป็นลักษณะปรากฏอีกชนิดหนึ่ง

    สุ. ทุกขณะ เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน สภาพธรรมทั้งหมดที่เคยไม่รู้ปัญญาจะต้องรู้ขึ้น จนกว่าจะตัดความยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดนั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และไม่ใช่แต่เฉพาะในขณะนั้น แม้ในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สภาพธรรมอะไรบ้างที่กำลังปรากฏ สภาพธรรมละเอียดมาก การอบรมเจริญกุศลนี้ต้องเจริญทุกประการ

    การให้ทาน ไม่สามารถที่จะให้ได้ตลอดเวลา การวิรัติทุจริต ก็กระทำเมื่อมีอารมณ์ปรากฏเฉพาะหน้า นอกจากนั้น สภาพของจิตที่ละเอียดซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลสอกุศลทั้งหลายให้ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ก็เป็นสิ่งที่ควรเจริญ ควรอบรม สำหรับผู้ที่เห็นโทษของอกุศลทั้งหลายจริงๆ

    ในขณะนี้อกุศลธรรมมีไหม นี่เป็นสิ่งที่ควรจะทราบ ถ้าคิดว่าไม่มี ก็จะเห็นแต่เพียงอกุศลธรรมใหญ่ๆ โตๆ ในขณะที่โลภมากๆ หรือว่าโกรธมากๆ แต่ในขณะธรรมดา ปกติเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่เห็นว่าอกุศลธรรมยังมีอยู่ แต่ว่าเป็นอย่างอ่อน เป็นอย่างละเอียด ก็จะไม่มีความพากเพียรที่จะขัดเกลาอกุศลธรรมนั้น ต่อเมื่อใดสามารถที่จะเห็นอกุศลธรรมตามความเป็นจริงว่า แม้ไม่ใช่อกุศลธรรมที่ใหญ่โต แต่เป็นอกุศลธรรมอย่างอ่อน อย่างเบาบาง ก็เป็นสภาพธรรมที่น่ารังเกียจ ที่ควรจะขัดเกลาให้น้อยลง เมื่อนั้นก็จะอบรมเจริญกุศลทุกประการ เมื่อเห็นอกุศลธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ

    อย่างเช่น ความโกรธ เกิดขึ้นได้บ่อยๆ บางครั้งก็มีเหตุที่ควรจะโกรธ บางครั้งก็ไม่น่าเลยที่จะโกรธ แต่โกรธแล้วตามเหตุตามปัจจัย บางครั้งเป็นความโกรธที่แรง บางครั้งเป็นความโกรธเพียงอ่อนๆ เบาๆ ควรละไหม ความไม่แช่มชื่นใจ ความหงุดหงิดใจ ความกระสับกระส่าย ความรำคาญในชีวิตประจำวัน ยังไม่ต้องเป็นโทสะที่แรง เพียงรำคาญๆ ใครบ้างไม่รำคาญ ในชีวิตประจำวัน รำคาญกันบ่อยๆ ใช่ไหม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    บางครั้งบางท่านอาจจะได้ยินเสียงเพลงซึ่งท่านไม่พอใจ ไม่ตรงกับรสนิยมของท่าน รำคาญแล้ว ขณะนั้นระลึกได้ไหมว่า เป็นอกุศลจิตของท่านที่ควรจะขัดเกลา ไม่ควรจะรำคาญ ท่านอาจจะรำคาญมาก เพราะว่าท่านไม่ชอบเพลงที่ท่านได้ยินเลย และความรำคาญมากก็กำลังปรากฏ ถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ตามความเป็นจริง ก็ยังคงรำคาญต่อไปอีกนานทีเดียว ดีไหม รำคาญ หรือว่าไม่รำคาญดีกว่า แต่ทำอย่างไรจึงจะไม่รำคาญได้ ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ไม่เห็นว่า ความรำคาญนั้นเป็นโทษ เป็นอกุศล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    การอบรมเจริญกุศลนี้ไม่ใช่ขณะอื่น แต่เป็นขณะที่อกุศลธรรมเกิดปรากฏ และสติประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงขัดเกลา ละคลายอกุศลธรรมในขณะนั้นให้เบาบางได้ ไม่ใช่ให้เบาบางในขณะอื่น หวังว่าวันหลังจะเบาบาง แต่ว่าขณะนั้นไม่เบาบางเลย ยังคงเป็นความรำคาญที่ติดต่อกันอีกนานทีเดียว และตั้งความหวังว่า วันหลังจะเบาบาง แต่ทำไมขณะนั้นไม่เบาบางเสียด้วยสติและปัญญาที่ระลึกรู้ชัดในสภาพธรรมที่เป็นอกุศลว่า ลักษณะนั้นเป็นอกุศลธรรม ซึ่งถ้าไม่ละในขณะนั้น จะละเมื่อไร จะคอยต่อไปให้อกุศลธรรมนั้นมีมากๆ เพิ่มขึ้นอีกแล้ว เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศลธรรมประเภทนั้นในอนาคตต่อไปอีกมาก เพราะเหตุว่าไม่ได้ละในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ลักษณะและโทษของอกุศลธรรมทั้งหมดที่ปรากฏ ที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก จะปรากฏชัดเจนจริงๆ ในขณะที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นปรากฏกระทำกิจนั้นในขณะนั้นให้เห็น แต่ว่าสติจะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้ เห็นอกุศลธรรมตามความเป็นจริงว่าเป็นอกุศลธรรม มิฉะนั้นแล้วจะเป็นไปกับอกุศลธรรมนั้นเองด้วยความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลในขณะนั้น เป็นเราในขณะนั้น และก็เพิ่มความรำคาญ เพิ่มความไม่พอใจขึ้น

    สภาพธรรมทุกขณะเป็นของจริง ทรงแสดงไว้โดยละเอียดให้ระลึกรู้ ให้เห็นชัด ให้ศึกษา ให้เข้าใจ ให้ประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงลักษณะอาการของสภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับ

    ท่านที่ศึกษาเรื่องของจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์แล้ว ทราบว่ามีเจตสิกปรมัตถ์ ๕๒ ประเภท ขณะนี้มีเจตสิกปรมัตถ์อะไรบ้าง เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วมากมายด้วย วิริยเจตสิกก็เกิดกับจิตเกือบทุกดวง เว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวงเท่านั้นที่วิริยเจตสิกไม่ได้เกิดด้วย เจตนาเจตสิก ผัสสเจตสิก สัญญาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก มนสิการเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง และดับไปแล้ว ถ้าเป็นอกุศลจิต ก็มีอกุศลเจตสิกหลายดวงเกิดด้วย มีโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ เกิดพร้อมกับอกุศลจิต และก็ดับไปแล้ว

    ถ้าเป็นกุศลจิต ก็มีโสภณเจตสิกหลายประเภทเกิดพร้อมกัน และก็ดับไป แต่ว่าลักษณะของเจตสิกแต่ละชนิดตามความเป็นจริงที่ได้ทรงแสดงไว้ว่า ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดเกิดขึ้นกระทำกิจของตนๆ แล้วก็ดับไป ถ้าสติไม่ระลึกรู้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ว่า วิริยะไม่ใช่สติ ไม่ใช่หิริ ไม่ใช่โอตตัปปะ ไม่ใช่เจตสิกอื่นๆ ซึ่งทรงแสดงไว้โดยละเอียด

    ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเหล่านี้ ในขณะนี้ เกิดขึ้นและก็ดับไปมากมายรวดเร็ว แต่ถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะทีละลักษณะ จะเริ่มชิน เริ่มรู้ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ได้ศึกษาว่า ลักษณะของสภาพธรรมชนิดใด ก็มีกิจ มีลักษณะ มีอาการปรากฏ มีเหตุใกล้ให้เกิดอย่างนั้นๆ

    ถ้าสติไม่ระลึก ก็ไม่สามารถที่จะแยกรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ออกจากกันได้ และตราบใดที่ยังไม่แยกรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ออกจากกัน ตราบนั้นสภาพธรรมทั้งหลายก็ยังคงรวมกันอยู่ เกิดขึ้นกระทำกิจพร้อมกันและดับไปพร้อมกัน และทิฏฐิเจตสิก ความเห็นผิด ก็ยังคงยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายซึ่งเกิดดับพร้อมกัน รวมกันว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    นี่เป็นความจำเป็น ซึ่งผู้ที่จะดับความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายว่า เป็นตัวตนได้ จะต้องอบรมปัญญาด้วยการระลึก ศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๖๙๑ – ๗๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564