แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 683


    ครั้งที่ ๖๘๓


    เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่า ที่เจริญๆ กันไป เมื่อไม่ใช่วิปัสสนาก็ต้องเป็นสมถะ เพราะถ้าเป็นสมถภาวนาจริงๆ ความสงบจะเพิ่มขึ้น ลักษณะของจิตที่เป็นกุศลจะเพิ่มขึ้น ในชีวิตประจำวัน ถ้ามีการระลึกถึงความตาย มีการระลึกถึงเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากับบุคคลทั้งหลายที่ปรากฏเฉพาะหน้า ขณะนั้นต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่า ไม่มีโลภมูลจิตกับบุคคลนั้นที่ระลึกถึง แต่เป็นเมตตาจริงๆ จิตจึงจะสงบขึ้น ไม่ว่าจะพบใครที่ไหน ขณะใด สัตว์ บุคคลใด จิตก็จะเปี่ยมด้วยเมตตา คือ ความหวังดี ความปรารถนาดีต่อบุคคลนั้นได้โดยไม่ใช่โลภะ ไม่หวังแม้ผลเพียงความผูกพัน

    นาถกรณธรรม ประการที่ ๒ มีข้อความว่า

    ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้มีธรรมอันสดับแล้วมาก ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สะสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงเห็นปานนั้น อันเธอได้สดับแล้วมาก ทรงไว้แล้ว คล่องปาก ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น

    ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีธรรมอันสดับแล้วมาก ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว สะสมธรรมที่ได้สดับแล้ว ธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงเห็นปานนั้น อันเธอได้สดับแล้วมาก ทรงไว้แล้ว คล่องปาก ตามเพ่งด้วยใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยความเห็น นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม ฯ

    ทุกท่านที่ศึกษาธรรมแล้ว ถ้าไม่ช่วยกันเผยแพร่ความเข้าใจถูก ความเห็นถูก หรือการพิจารณาธรรมที่จะให้เกิดการแทงตลอดในสภาพธรรมอย่างละเอียดลึกซึ้ง จะเป็นอย่างไร ก็ต้องหมดไป ก็ต้องสูญไป

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาแล้ว และเป็นผู้ที่เข้าใจความละเอียดความลึกซึ้งของพระธรรมแล้ว ก็ควรที่จะได้ประกาศ ช่วยกันเจริญกุศล เกื้อกูลกัน สนทนากัน เพิ่มพูนความรู้กัน เพื่อที่จะได้ทรงธรรมที่ได้สดับแล้ว และจะได้ประโยชน์กับบุคคลอื่นต่อไปด้วย นี้เป็นนาถกรณธรรม

    ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาธรรมคนเดียว เข้าใจคนเดียว อยู่คนเดียว ธรรมจะเจริญขึ้นได้ไหม ความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นได้ไหม การไตร่ตรองพิจารณาธรรมจะกว้างขวางละเอียดลึกซึ้งเพิ่มเติมชัดเจนขึ้นได้ไหม

    ในพระไตรปิฎก สาวกของพระผู้มีพระภาคมีกิจที่จะต้องกระทำตามเพศของบรรพชิต นอกจากนั้นยังมีการฟังธรรม สนทนาธรรม แสดงธรรม เพิ่มพูนความรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งในขณะนั้นจะเป็นการสงเคราะห์บุคคลอื่นที่อาจจะศึกษาภายหลัง ให้มีความเข้าใจธรรมละเอียดลึกซึ้ง และสามารถที่จะประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่ลึกซึ้งนั้นได้ แต่ต้องเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งตรงและถูกต้อง

    . ที่อาจารย์กล่าวมาเป็นกุศลแน่นอน แต่ทุกวันนี้มีบุคคลมากมายที่ตั้งตนว่าเป็นผู้ที่ศึกษาแล้ว แต่ไม่ได้เข้าใจในอรรถ ก็พยายามที่จะสอนผู้อื่นโดยที่ไม่เข้าใจในอรรถนั้นเอง บางครั้งก็ศึกษาพยัญชนะไม่ละเอียด พูดเกินบ้าง พูดตกหล่นบ้าง นำเอาความเห็นของตัวเองใส่ไปบ้าง อย่างนี้เป็นต้น การกระทำของบุคคลเหล่านี้ จะเป็นบุญ หรือเป็นบาปกันแน่

    สุ. เป็นอันตรายมาก เพราะว่าเป็นการเผยแพร่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่เป็นความคิดเห็นของตนเอง ไม่ใช่เป็นการศึกษาโดยละเอียดรอบคอบลึกซึ้งจริงๆ ซึ่งจะทำให้คนอื่นเข้าใจสภาพธรรมผิดคลาดเคลื่อนได้โดยง่าย

    . ผมมีความเข้าใจธรรมที่อาจารย์สอนพอสมควร จะไปคุยกับผู้อื่น แต่ก็มีน้อยคนหรือแทบจะหาไม่ได้ ผมเองก็อยากจะหาคนคุย แต่หาคนคุยด้วยไม่ได้

    สุ. อย่าตั้งใจที่จะคุยเรื่องของเรา ถ้าจะคุยกับเขา ก็ต้องคุยเรื่องของเขา ชีวิตของเขาวันนั้นขณะนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่ใช่ธรรม เพียงแต่เขาไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นธรรม เป็นกุศลธรรม หรือว่าเป็นอกุศลธรรมอย่างไร เพราะฉะนั้น ชีวิตแต่ละขณะของแต่ละบุคคลสามารถที่จะได้รับพระธรรมได้ โดยให้เขาเข้าใจในสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งเกิดขึ้นกับเขาในขณะนั้น ในเรื่องของเขาเอง

    ในพระไตรปิฎก บุคคลต่างๆ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลเรื่องของตนเอง พระผู้มีพระภาคทรงรับฟังเรื่องของเขา แล้วแต่ว่าเขามีปัญหาอะไร ไม่เข้าใจอะไร แต่พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงธรรมก่อน ไม่ใช่ว่าพอใครไปเฝ้าก็ทรงแสดงธรรมทันที แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่ไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคทรงรับฟังเรื่องของเขา และทรงแสดงธรรมที่เหมาะที่ควรที่เขาจะเข้าใจได้ที่เป็นธรรมในขณะนั้น จนกระทั่งเขาสามารถที่จะเริ่มเข้าใจสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกับเขาได้ และต่อไปเขาก็สามารถที่จะเข้าใจธรรมอื่นๆ ได้ด้วย

    . ที่อาจารย์กล่าวว่า เรื่องธรรมเป็นเรื่องลึกซึ้ง เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องเล็กนั้น ผมคิดว่า ลึกเกินไป ใหญ่เกินไป จนกระทั่งคนมองข้าม แม้ผู้ที่เป็นครู อาจารย์สอนมาตั้งหลายสิบปีก็ยังพลาดกันอยู่ทุกวันนี้ตั้งมากมาย จะไปคุยกับคนหรือมิตรสหายเป็นเรื่องยากที่สุด จะไปชักจูงชักชวน ดีไม่ดีโดนเขาว่ากลับมา

    สุ. เวลาที่จะให้ใครสนใจธรรม อย่ามุ่งที่จะนำธรรมที่เราจะให้เขาสนใจไปพูด แต่ดูว่าชีวิตเขาเป็นอย่างไร เพราะว่าชีวิตของเขาก็เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นกุศลธรรม เป็นอกุศลธรรม เป็นวิบาก คือ ผลของกรรม ซึ่งเขาสามารถที่จะเข้าใจได้ และความรู้ความสนใจของเขาพร้อมที่จะรับธรรมขั้นไหน ก็ให้ธรรมที่สมควรแก่ความสนใจและความเข้าใจของเขา

    . คำว่า กุศลจิต คือ สิ่งที่ทำไปแล้ว และไม่ได้เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นใช่ไหม

    สุ. เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการเจริญสมถะและวิปัสสนา

    . ผมมีเพื่อนที่ติดสุรา ถ้าเราจะพูดว่า ถ้าท่านดื่มสุราจะต้องเสียทรัพย์ จะต้องติดโรค และอาจจะทำผิดกฎหมาย แต่ถ้าไม่ดื่มสุรา ท่านจะไม่ต้องเสียทรัพย์ ท่านจะไม่ต้องเป็นโรคเกี่ยวกับพิษสุรา และท่านจะมีสติ ไม่ทำสิ่งต่างๆ ซึ่งเกินเลยไป พูดอย่างนี้ผิดหรือถูก ให้เขาเลือกทางเดินเอง

    สุ. เขาขอให้เราบอกโทษของสุราหรือเปล่า หรือเขาไม่ต้องการฟัง หรือเขาอาจจะบอกว่า เขารู้โทษของสุรามากกว่านั้นอีก

    . ผมก็มีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง เขาทำงานอยู่โรงไม้อัด เพื่อนคนนี้ตามปกติพูดธรรมกันได้ แต่ถ้าไปว่าเขาว่า เอาเรือไปตกปลาบาปนะ เขาด่าให้เชียว บาปอะไรสนุกจะตายไป

    สุ. ถ้าท่านมีเพื่อนฝูง นั่งเรือไปในทะเลพักผ่อนกัน และเขาก็ตกปลา ท่านจะทำอย่างไร โวยวาย กรี๊ดกร๊าด กล่าวโทษของปาณาติบาต หรือว่าจะทำอะไรที่เหมาะที่ควรในขณะนั้น ท่านรู้แน่ว่าห้ามไม่ได้ และจะทำอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะให้ท่านแสดงธรรมกลางเรือนักทัศนาจรที่กำลังไปพักผ่อน และมีการตกปลาด้วยความสนุกสนาน อาจจะเป็นญาติของท่าน อาจจะเป็นเพื่อนสนิทของท่าน เพราะฉะนั้น กุศลจิตต้องแล้วแต่กาละ ถ้าขณะนั้นไม่เหมาะแก่การที่จะแสดงเหตุผลของอกุศลกรรม ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะพูด ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอกุศลจิตมากมายขึ้นกว่านั้นอีกก็ได้

    แม้แต่พระผู้มีพระภาคเอง เห็นเด็กเอาก้อนอิฐขว้างงู พระผู้มีพระภาคก็ไม่ได้รับสั่งห้าม แต่ด้วยพระสัพพัญญุตญาณทรงทราบว่าจะแสดงธรรมกับเด็กเหล่านั้นอย่างไร ในลักษณะใด ตามควรแก่โอกาส เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟัง ถ้าเป็นกุศลจริงๆ เมตตาอยู่ในจิต หรือขณะนั้นเป็นโทสะ ขัดข้องเคืองใจในปาณาติบาตที่เห็นคนอื่นกำลังทำ ใครจะรู้ถ้าสติไม่เกิดขึ้น

    ท่านเป็นผู้ที่เจริญธรรม ปฏิบัติธรรม การศึกษาธรรมจะไม่ให้ผลเลย ถ้าเพียงรู้แล้วแต่ไม่ปฏิบัติ รู้ว่าอกุศลจิตทุกอย่างมีโทษมาก โลภะก็โทษมาก โทสะก็โทษมาก เมตตาเป็นคุณ เป็นกุศล รู้อย่างนั้น รู้มาก แต่ไม่ปฏิบัติ ก็ไม่มีประโยชน์

    เพราะฉะนั้น สติเกิดจึงรู้สภาพของจิตว่า ขณะนั้นเป็นเมตตา หรือเป็นโทสะ แม้การที่อยากจะไปเตือนเขา อยากจะให้เขาหยุดยั้งการกระทำปาณาติบาต ขณะนั้นด้วยโทสมูลจิต หรือว่าด้วยเมตตา ลักษณะสภาพของจิตผิดกัน ท่านอาจจะเข้าใจว่า ท่านต้องกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะหยุดยั้งอกุศลกรรมของผู้ที่เป็นมิตรสหายของท่าน แต่ลืมสภาพจิตของท่านเองว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือว่าอกุศล เป็นเมตตาหรือว่าเป็นโทสมูลจิต

    . ผู้ที่ชอบ อย่าไปว่าเขาดีกว่า

    สุ. ก็เมื่อครู่ทำไมคิดจะว่าเขา กาละสำคัญที่สุด ธรรมมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อถูกต้องกับกาลเทศะด้วย

    นาถกรณธรรม ประการที่ ๓ มีข้อความว่า

    ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี

    ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้ก็เป็น นาถกรณธรรม

    มิตรดี สหายดี เพื่อนดี คือ ผู้ที่ชักชวนในกุศลธรรม เพราะถ้าชักชวนไปในเรื่องสนุกสนาน ก็ดีในทางที่ทำให้จิตใจสบาย สนุกสนานเพลิดเพลิน ถ้าไม่เป็นอันตราย ไม่เป็นโทษ ก็ไม่ถึงกับเป็นอกุศลกรรม แต่ที่จะเป็นเพื่อนดี มิตรดี สหายดี คือ ผู้ที่ชักชวนเกื้อกูลกันในกุศลธรรม ที่จะให้เจริญมั่นคงขึ้นในกุศลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าได้ยินได้ฟังสิ่งใดมาก ก็มักจะคล้อยไป น้อมไปสู่ความเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีเพื่อนฝูงที่ดีที่ชักชวนให้ประกอบกุศลธรรมเนืองๆ ก็จะทำให้เพิ่มพูนมั่นคงในกุศลกรรมยิ่งขึ้น

    นาถกรณธรรม ประการที่ ๔ มีข้อความว่า

    ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอีก ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมที่กระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับอนุศาสนีโดยเบื้องขวา

    ผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมที่กระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับอนุศาสนีโดยเบื้องขวา นี้ก็เป็นนาถกรณธรรม

    ดูเป็นสิ่งซึ่งไม่น่าจะยาก ความเป็นผู้ว่าง่าย แต่ต้องรู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ท่านเป็นผู้ว่าง่ายหรือว่าว่ายาก ถ้าว่าง่าย ก็ง่ายต่อการที่จะเจริญกุศล แต่ถ้าว่ายาก ก็ยากเหลือเกินที่จะเห็นคุณของกุศล เพราะถ้าสะสมอกุศลธรรมมามาก ประกอบด้วยมานะ ความถือตน สำคัญตน ประกอบด้วยความเห็นผิด ยึดมั่นในความเห็นผิด แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังสิ่งที่มีเหตุผลอย่างไร และรู้ด้วยว่าดี ว่าถูก แต่ก็ยังเป็นผู้ว่ายาก ไม่สามารถที่จะกระทำตามได้ ซึ่งก็เพราะอกุศลธรรมที่ได้สะสมมา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย

    เพราะฉะนั้น เรื่องเข้าใจ เรื่องฟัง ดูจะไม่ยากเลย แต่เรื่องประพฤติปฏิบัตินี่เป็นสิ่งที่แสนยาก

    การที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ จะต้องรู้จักสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริง และอกุศลแรกที่จะต้องดับเป็นสมุจเฉท คือ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนต่างๆ แต่ว่าในวันหนึ่งๆ อกุศลธรรมอื่นก็ปรากฏเสียมากมาย ซึ่งก็ควรที่จะได้เห็นชัดว่า อกุศลธรรมทั้งหลายจะต้องดับเป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เริ่มเป็นผู้ว่าง่าย ขัดเกลาเสียตั้งแต่ในขณะนี้ นับวันก็จะยิ่งว่ายาก แต่ถ้าเริ่มอ่อนโยน เป็นผู้ที่ว่าง่าย น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยง่าย ก็จะทำให้เป็นผู้ที่ง่ายต่อการที่จะเจริญกุศล

    . ผมยอมรับว่า ปัจจุบันนี้จะหาเพื่อนที่จะสนทนาธรรมด้วยยากจริงๆ บางทีเราไม่กล้าแม้จะพูดขึ้นมาในเรื่องธรรมว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร ไม่กล้าสนทนาเลย ผมเองมีผู้บังคับบัญชา ท่านเคยเรียกผมไปสนทนาธรรม ในห้องท่านมีภาพเขียนนรกสวรรค์ มีการเขียนเป็นเส้น ตามหนทางที่ท่านเข้าใจ ท่านพยายามจะให้ผมทราบแนวทางของท่านเหมือนกัน ผมเองพยายามฟังอยู่ทุกวัน พอมีโอกาสก็ถามท่านว่า ท่านเข้าใจสติว่าอย่างไร ท่านก็บอกว่า ตั้งมั่น และท่านก็อธิบายถึงพระอรหันต์ ถึงผู้สำเร็จปรินิพพานไปแล้ว ผมก็ถามว่า เวลานี้พระพุทธเจ้าท่านอยู่ที่ไหน ท่านก็ว่าอยู่บนสวรรค์ และผู้ที่สำเร็จพระอรหันต์ทั้งหลายก็อยู่บนสวรรค์ ผมไม่เคยคิดที่จะอธิบายว่าที่ถูกที่แท้เป็นอย่างไร ผมไม่กล้าเลย ผมคิดว่า ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนจิตใจของท่านให้หันมาทางแนวนี้ นี่เป็นประสบการณ์ของผมอย่างหนึ่ง

    ขอเรียนถามว่า ถ้าหากเรามีสติระลึกว่า ขณะนี้เราไม่มีโทสะ เราไม่มีจริงๆ แทนที่เราจะนึกว่า เราเป็นอุเบกขา เรารู้ตามสภาพความเป็นจริงของเราว่า ขณะนี้เราไม่มีโทสะ หรือไม่มีโลภะ อย่างนี้จะเป็นการมีสติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงหรือเปล่า

    สุ. ถ้าสติเกิด จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตรงลักษณะนั้น ไม่ใช่สงสัยว่า มีสติไหม แต่จะต้องมีลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งกำลังปรากฏ ซึ่งสติกำลังระลึก

    . แต่ขณะนั้น ผมไม่มีโทสะจริงๆ

    สุ. เพราะฉะนั้น อะไรกำลังเป็นอารมณ์ของสติ

    . ขณะนั้นก็ไม่ทราบ รู้แต่ว่าไม่มีโทสะ ต่างกับขณะที่มีโทสะ ขณะนั้นจะเป็นกุศลจิตหรือเปล่าที่ระลึกอย่างนั้น

    สุ. กุศลมีหลายขั้น เพราะฉะนั้น เรื่องเจริญกุศลต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ เมื่อไม่มีโทสะแล้ว ยังไม่พอ มีโลภะหรือเปล่าในขณะนั้น ต้องฉลาดที่จะรู้ว่า ขณะนั้นมีโลภะไหม ถ้าโลภะไม่มี ขณะนั้นมีโมหะไหม ยังต้องฉลาดต่อไปอีกที่จะรู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศลในขณะนั้น อย่าตักตวงกุศลง่ายๆ คิดว่าเพียงชั่วขณะที่ไม่มีโทสะ ก็จะเป็นกุศลเสียแล้ว หรืออะไรอย่างนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๖๘๑ – ๖๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564