แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 701


    ครั้งที่ ๗๐๑


    สุ. ท่านผู้ฟังสงสัยเรื่องการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าว่า จำเป็นต้องเป็นในเพศบรรพชิตไหม สำหรับผู้ที่เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ต่อมาก็ลาสิกขา และเจริญสติปัฏฐานในเพศของฆราวาส มีโอกาสจะบรรลุมรรคผลในเพศฆราวาสไหม

    ตามประวัติของพระสาวกทั้งหลาย จะเห็นได้ว่า แต่ละชาติไม่เหมือนกัน ถ้าท่านคิดถึงในชาติเดียวก็จะสงสัยว่า จะเป็นไปได้ไหมที่จะบรรลุคุณธรรมในเพศของฆราวาสโดยที่ไม่ต้องอุปสมบทเป็นบรรพชิตอีก เนื่องจากว่าสังสารวัฏฏ์ คือ การเกิดสืบต่อกันของจิตนั้น บางชาติท่านก็ได้เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เจริญมรรคพรหมจรรย์ในเพศบรรพชิต ซึ่งในชาติสุดท้ายไม่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่เป็นฆราวาส และบรรลุมรรคผลได้ ฉันใด แม้ในปัจจุบันในชาตินี้ ถ้าไม่คำนึงถึงสมมติบัญญัติ แต่นึกถึงการสืบต่อของจิตที่เป็นสังสารวัฏฏ์ ก็จะต้องแล้วแต่การสะสม แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะให้เป็นฆราวาสหรือเป็นบรรพชิตในขณะที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ทุกท่านคงได้เคยอุปสมบทมาแล้ว ไม่ใช่ในชาตินี้ ก็ในชาติก่อนๆ แต่ให้เห็นกำลังของกิเลสซึ่งไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ในเพศที่เป็นบรรพชิตในชาติหนึ่งชาติใดก็ตาม จะต้องมีความศรัทธาเลื่อมใสมั่นคงที่จะเจริญสติปัฏฐานในเพศบรรพชิต แต่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องจริง เป็นปัญญาจริงๆ ที่จะต้องเป็นความรู้จริงๆ ไม่ใช่ข้ามไป และก็หลงเข้าใจว่ารู้แล้ว ซึ่งถ้าสติไม่เกิด การหลงลืมสติก็มีมากกว่า นั่นเป็นความจริง

    เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรมของพระอริยเจ้าทั้งหลาย จะเห็นได้ว่า ท่านอบรมสะสมการเจริญปัญญามาเป็นกัปๆ และกัปหนึ่งๆ ขอให้คิดว่านานสักเท่าไร ถ้าท่านคิดเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี ท่านก็จะรู้สึกว่า ปัญญาของท่านเกิดช้ามาก ก็อบรมเจริญสติปัฏฐานด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณา ด้วยการเข้าใจ ด้วยการที่บางครั้งสติก็เกิดขึ้นระลึกศึกษา ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้ปัญญาเพิ่มพูนขึ้นทีละนิดๆ จนกว่าจะเป็นปัญญาที่คมขึ้น

    กัปหนึ่งๆ ก็มีผู้สงสัยว่าจะนานสักเท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรกังวลถึง เพราะไม่สามารถที่จะรอจนถึงกัปที่จะให้พิสูจน์ได้ว่ากัปหนึ่งผ่านไปแล้ว และชีวิตแต่ละภพแต่ละชาติก็สั้นมาก ลองคิดดูว่า จะอุปมากัปหนึ่งอย่างไรจึงจะเห็นความช้า ความยาว ความเนิ่นนานของกัปหนึ่งๆ อย่างเช่น ภูเขาสูง ใช้ผ้าแพรบางๆ เบาๆ เนื้อละเอียด ทุก ๑๐๐ ปีนำผ้าแพรไปลูบภูเขาครั้งหนึ่ง เมื่อใดที่ภูเขาสึกหายไปหมด เมื่อนั้นคือ กัปหนึ่ง

    ดังนั้น ผู้ที่เป็นสาวก ที่จะรู้จริงๆ ในสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ กับการที่สติในชีวิตประจำวันเกิดบ้าง เริ่มเข้าใจลักษณะของสติ พร้อมกับเมื่อสติเกิดก็ศึกษาที่จะให้รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมว่าเป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรมว่าเป็นรูปธรรม ให้เป็นความรู้จริงๆ ขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็คงจะต้องนานแสนนาน เพราะฉะนั้น ขอให้เลิกหวังที่จะบรรลุคุณธรรมโดยเร็ว แต่ให้เกิดความเข้าใจถูกว่า จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่เคยรู้ หรือยังไม่ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่สภาพธรรมอื่น ถ้าขณะนี้ยังไม่รู้ ก็ระลึกและศึกษา ความรู้ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนกว่าจะเป็นแสนกัป หรือว่าพร้อมด้วยเหตุที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง คำถามที่ว่า บวชเป็นพระแล้วยังไม่ได้บรรลุ สึกออกมาแล้วเจริญวิปัสสนาได้ไหม ข้อเท็จจริง ตัวผมเองบวชอยู่ตั้ง ๘ พรรษาก็เจริญวิปัสสนา สึกมาเมื่ออายุ ๔๘ ปี จนกระทั่ง ๘๓ ยุ่งไปหมด ไม่มีทางเจริญวิปัสสนา มีลูก มีเมีย ทำงาน ไม่มีทาง โดยข้อเท็จจริงยากเหลือเกิน แต่ตามหลักก็ว่าได้ ถ้าเราสละจริงๆ แต่สละจริงๆ สละไม่ได้หรอก ปัจจุบันอายุ ๘๔ ปีแล้ว ลูกก็เอาหลานมาให้เลี้ยงอีก ก็ยุ่งอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้น การเป็นฆราวาส ยากเหลือเกิน ยากจริงๆ

    ผู้ฟัง เป็นฆราวาสรู้สึกว่ายากลำบากมากต่อการที่จะปฏิบัติธรรมและบรรลุธรรม ผมเข้าใจว่า ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่จะเห็นประโยชน์และมีความเข้าใจถูก การเห็นประโยชน์นั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เช่น เรื่องความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐาน เมื่อมีความเข้าใจและเห็นประโยชน์แล้ว จะเป็นพระหรือฆราวาส ก็ไม่เป็นเครื่องกั้นในการเจริญวิปัสสนาเพื่อที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า

    สุ. เป็นความจริง เพราะเครื่องกั้น คือ ความไม่รู้กับความเห็นผิด แต่ไม่ใช่เพศบรรพชิตหรือฆราวาสเป็นเครื่องกั้น

    ถ. ทำไมพระผู้มีพระภาคบอกว่า ให้เป็นบรรพชิต ให้บวชเป็นพระภิกษุ เพศฆราวาสนี้คับแคบ ท่านกล่าวอย่างนี้ ให้เห็นคุณของบรรพชิต ผมคิดว่าการเจริญสติปัฏฐานไม่ข้องไม่เกี่ยว แต่สมถะเกี่ยว ฆราวาสมันคับแคบจริงๆ

    สุ. พระผู้มีพระภาคให้ทุกคนบวชได้หรือเปล่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริง บุคคลใดมีฉันทะ มีอัธยาศัยที่จะบรรพชาอุปสมบท ก็บรรพชาอุปสมบท อย่างพวกพราหมณ์ทั้งหลายที่ได้กล่าวถึงแล้ว ล้วนแต่มีอุปนิสัยในการที่จะอุปสมบททั้งนั้น ก็ได้ทรงแสดงธรรมที่จะให้เห็นคุณประโยชน์ของการอุปสมบท แต่ว่าทรงแสดงธรรมเรื่องการเจริญสติปัฏฐานทั้งกับฆราวาสและบรรพชิต

    ผู้ฟัง ผมคิดว่า เกี่ยวกับการเห็นประโยชน์ของกุศล และการเห็นโทษของอกุศล ถ้าบวชแล้วไม่เห็นคุณ ไม่เห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลกรรม ถึงจะบวชเป็นบรรพชิตก็คิดว่าคับแคบ ถ้าเป็นฆราวาส แต่เห็นประโยชน์ และเข้าใจถูกว่า การเจริญกุศลกรรมทุกประเภทนั้นเป็นแนวทางให้จิตบริสุทธิ์ ไม่ว่าการเจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ซึ่งการเป็นฆราวาสสามารถเจริญได้ทุกขณะ และเป็นเครื่องอุปการะในการที่จะเจริญสติปัฏฐาน ผมคิดว่า การเป็นฆราวาสไม่เป็นการ คับแคบ ถ้าฆราวาสผู้นั้นเป็นผู้เข้าใจถูกและปฏิบัติถูก

    สุ. ความหมายของคำว่า คับแคบ ไม่ได้หมายความถึงสถานที่ หรือเพศ แต่ว่าหมายความถึงอกุศล ผู้ที่จิตใจกลุ้มรุมด้วยอกุศล แม้จะอยู่ในที่กว้างในป่า ในเขา แต่เพราะใจนี้ถูกบีบคั้นด้วยอกุศลธรรม ทำให้สภาพของจิตนั้น เป็นสภาพจิตที่คับแคบ ไม่สามารถที่จะปลอดโปร่งได้

    เพราะฉะนั้น ความหมายของคำว่า คับแคบนั้น หมายความถึงอกุศลธรรมกลุ้มรุมจนกระทั่งเต็มหัวใจ จึงคับแคบ ไม่ใช่ว่ากว้าง หรือปลอดโปร่ง ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะอยู่ในที่กว้าง มีบ้านเรือนที่ใหญ่โตมโหฬารสักเท่าไร แต่เมื่อถูกกลุ้มรุมด้วยอกุศลธรรมแล้ว ก็เป็นสภาพของจิตที่คับแค้น หรือคับแคบมาก เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศของบรรพชิตหรือฆราวาส กิเลสอกุศลธรรมทั้งหลายทำให้เป็นผู้ที่อยู่ในที่คับแคบ แต่ขณะที่สติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นจะปราศจากความคับแคบได้ เพราะว่าปราศจากนิวรณธรรมต่างๆ

    ถ. การเจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรมนั้น การเจริญ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีวิธีเจริญอย่างไร

    สุ. กายอยู่ที่ไหน

    ถ. กายเป็นตัวตนของเรานี่

    สุ. อยู่ที่นั่น ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย มีอะไรกำลังปรากฏเดี๋ยวนี้

    ถ. ปรากฏอยู่ที่กาย

    สุ. อะไรกำลังปรากฏ

    ถ. จะหมายถึงอาการที่เกิด ๓๒ อย่างหรือเปล่า

    สุ. นั่นนึก ลักษณะเดียวที่กำลังปรากฏในขณะนี้ที่กาย มีลักษณะอย่างไร

    ถ. หมายความว่า ลักษณะที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าใช่ไหม

    สุ. เดี๋ยวนี้ ที่ว่าเป็นกายมีลักษณะอย่างไร การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด จะต้องรู้ได้ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ถ้ามีลักษณะสภาพธรรมปรากฏที่กาย สติระลึกที่ลักษณะที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ที่ว่าเป็นกาย ดูเหมือนว่าไม่เคยพลัดพรากจากไปเลย ไปไหนไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น ขณะนี้ก็ต้องมีอยู่ใช่ไหม และมีลักษณะอย่างไรที่กำลังปรากฏที่กาย

    ถ. ลักษณะที่ปรากฏอยู่ ในขณะปัจจุบันหรือ

    สุ. ลักษณะอะไรที่ปรากฏที่กาย ที่จะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานต้องมีลักษณะปรากฏให้รู้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ สภาพธรรมที่ปรากฏที่กายมีลักษณะอย่างไร

    ถ. มีลักษณะปรากฏ ๔ อย่าง คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่ ลองจับกาย ที่กายนี้ศึกษาหาดูว่า มีลักษณะสภาพธรรมอะไรปรากฏ

    ถ. ไม่เข้าใจ ลักษณะที่ปรากฏ ที่รู้สึกที่กาย

    สุ. ขณะนี้อะไรปรากฏ ทางไหน

    ถ. ยืนอยู่ ก็ปรากฏทางเท้าว่า เท้าเรานี่ยืนอยู่บนพื้น

    สุ. นั่นคิดใช่ไหม เท้าจริงๆ ปรากฏที่พื้นหรือเปล่า

    ถ. สงสัยเหมือนกัน ไม่รู้เลย

    สุ. หลับตา เท้าจริงๆ ปรากฏที่พื้นหรือเปล่า อะไรปรากฏที่พื้น

    ถ. เราคิดว่าเรายืนอยู่บนพื้น

    สุ. เพราะฉะนั้น เป็นคิดใช่ไหม ไม่ใช่เป็นลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ ต้องแยกกัน

    ถ. ลักษณะจริงๆ เป็นอย่างไร ผมไม่เข้าใจ อ้อ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

    สุ. จริงไหม ไม่มีรูปร่างของเท้า แต่มีแข็งหรือมีตึงที่ปรากฏที่กาย ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ลักษณะจริงๆ เพียงแข็งหรือตึง

    ถ. มีลักษณะเย็นหรือร้อน

    สุ. มีลักษณะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวแน่ๆ ที่ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย นั่นเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวลาระลึกถึงสภาพธรรมที่ปรากฏที่เคยยึดถือว่าเป็นกายของเรา แท้ที่จริงแล้ว เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว

    ถ. สภาพธรรมทางกายใช่ไหม ปรากฏทั่วกาย

    สุ. ทั่วกาย ลองระลึกว่า จะต่างกับอ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหวไหม

    ถ. ใช่ ไม่มีนอกจากนี้ มีแต่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว

    สุ. นี่คือ สติปัฏฐาน เราระลึกที่กาย ตรงกาย ลักษณะอะไรปรากฏก็เป็นลักษณะนั้น ไม่ใช่นึก ถ้าเย็นไม่ปรากฏอย่าไปนึกว่าเย็น ถ้าร้อนไม่ปรากฏก็อย่าไปนึกว่าร้อน

    ถ. ถ้านึก ไม่ใช่วิปัสสนา คือ ไม่ปรากฏตามความเป็นจริง ใช่ไหม

    สุ. ไม่สามารถเกิดปัญญาที่จะประจักษ์สภาพธรรมได้เพราะไปนึก เป็นเราที่นึก

    ถ. นี้เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    สุ. ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ถ้าสงสัยก็ดูในอรรถกถา ซึ่งจะปรากฏว่า ลักษณะของกายทั้งหมดจะไม่พ้นจากธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม แต่มีเพียงธาตุ ๓ เท่านั้นที่จะปรากฏทางกายปสาทได้ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ส่วนธาตุน้ำไม่ปรากฏ ซึ่งก็เป็นความจริง ตรงตามความเป็นจริง ตรงกับธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ด้วย ที่กายนี้ระลึกอย่างไร ก็มีแต่ลักษณะสภาพธรรมของมหาภูตรูปปรากฏ จริงหรือเปล่า

    ถ. อย่างนี้ก็เป็นความจริง มีแต่มหาภูตรูป ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ปรากฏให้เราเห็นอยู่

    สุ. ปรากฏทางกาย

    ถ. ปรากฏทางกาย ที่ว่าการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ ให้เจริญ ให้รู้จริงๆ ตามความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้น ใช่ไหม

    สุ. กายมีอยู่ แต่เพราะไม่ระลึกรู้ในสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏ จึงไม่รู้ว่า แท้ที่จริง ที่ว่าเป็นกายนี้คือลักษณะอย่างไร อย่างที่ถามในตอนแรก ถ้าสติไม่ระลึกรู้ ก็หาไม่ได้ ไม่สามารถที่จะตอบได้ว่า กายมีลักษณะอย่างไร แต่ถ้าสติระลึก รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย ตรงไหนก็ได้ที่ปรากฏ จะรู้ว่า ไม่พ้นจากเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว

    ถ. ส่วนเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นเจริญอย่างไร

    สุ. มีความรู้สึกไหม

    ถ. รู้สึกเวลานี้ใช่ไหม

    สุ. รู้สึกอย่างไร

    ถ. รู้สึกว่า ตื่นเต้นได้มาหาอาจารย์ ได้มาไต่ถามอาจารย์ รู้สึกดีใจ

    สุ. ความรู้สึกดีใจ จริงใช่ไหม สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมดระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงลักษณะชนิดหนึ่งของธรรม เช่น ลักษณะดีใจ ก็ไม่ใช่ลักษณะเสียใจ ลักษณะผิดกันใช่ไหม เพราะฉะนั้น เป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน และไม่ใช่ตัวตนด้วย ไม่ใช่ดีใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เสียใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่รู้สึกอทุกขมสุขคือรู้สึกเฉยๆ อยู่ตลอดเวลา สภาพธรรมเกิดดับสืบต่อกันเร็วมากตามเหตุตามปัจจัย ยับยั้งไม่ได้ บังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา และไม่ใช่ตัวตนด้วย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เคยรวมกันยึดถือว่าเป็นเรา แท้ที่จริงก็เป็นลักษณะธรรมแต่ละชนิด ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

    ถ. วิธีเจริญนั้น คือ ใช้สติใช่ไหม

    สุ. ใช้ไม่ได้

    ถ. กำหนด หรืออย่างไร

    สุ. กำหนดก็ไม่ได้ ให้เข้าใจถูกว่า สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ เพราะว่าตั้งแต่เกิดก็ยับยั้งการเกิดไม่ได้ เกิดแล้วใช่ไหม กำลังเห็นยับยั้งไม่ให้เห็นไม่ได้ ที่ได้ยินในขณะนี้ ก็ไม่มีใครไปบังคับว่าอย่าได้ยิน บังคับยับยั้งไม่ได้ สภาพธรรมทั้งหลายปรากฏเพราะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติซึ่งเป็นธรรมชนิดหนึ่งเกิดขึ้น สตินั้นจะระลึก คือ ไม่ลืมที่จะศึกษา ที่จะเข้าใจจนกระทั่งเป็นความรู้จริงในสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่สติระลึก ทีละลักษณะ ทีละอย่าง

    อย่างเช่น ได้ยิน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เสียงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เสียงไม่ใช่ได้ยิน ได้ยินไม่ใช่เสียง

    เห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สภาพธรรมที่เห็น สภาพที่เห็นไม่ใช่สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแต่ละอย่าง เป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เมื่อระลึก จะศึกษาทีละอย่าง ทีละลักษณะ เพราะว่าสติเกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วก็ดับไป จะศึกษาหลายๆ อย่างพร้อมกันไม่ได้

    ในขณะที่กำลังได้ยินอย่างนี้ เคยหลงลืมสติ คือ ไม่เคยระลึกได้เลยว่า สภาพได้ยินเป็นเพียงธาตุรู้ ลักษณะรู้ อาการรู้ ซึ่งรู้เสียงที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่รู้สีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา เป็นธาตุแต่ละลักษณะ แต่ละชนิด สติเกิดจึงระลึก ไม่ใช่เราใช้สติ ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่มีสภาพธรรมใดที่จะระลึกขึ้นได้ที่จะพิจารณาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ถ. หมายความว่า ให้เอาตัวของเราออกให้ได้

    สุ. ให้เข้าใจให้ถูก ตั้งแต่ในเบื้องต้น ให้เข้าใจให้ถูก

    ถ. ไม่ใช่เราไปนึก แต่เป็นสภาพของสติ

    สุ. ถ้าเป็นเรานึก เราก็เก่ง แต่ที่จริงแล้ว สติเกิดขึ้น จึงกระทำกิจระลึก ถ้าสติไม่เกิด เจตนาเจตสิกจะไปทำกิจระลึกก็ไม่ได้ สัญญาเจตสิกซึ่งเป็นสภาพจำจะไปทำกิจของสติก็ไม่ได้ สภาพธรรมอย่างไรเกิดขึ้นก็กระทำกิจของตน ก้าวก่ายสับสนกันไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๑ ตอนที่ ๗๐๑ – ๗๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 44
    28 ธ.ค. 2564