ปกิณณกธรรม ตอนที่ 117


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๑๑๗

    สนทนาธรรม ที่ วัดวังตะกู จ.นครปฐม

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครสามารถมีกุศลจิตได้ตลอดเวลา ประเดี๋ยวก็เป็นอกุศลประเภทต่างๆ ตามปัจจัย ยับยั้งไม่ได้ แต่สติสามารถจะระลึกลักษณะนั้นว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา โลภะเกิดขึ้นกับใครมีลักษณะอย่างเดียวคือติดข้อง จะเกิดกับเด็ก จะเกิดกับผู้ใหญ่ จะเกิดกับสัตว์ จะเกิดกับใครก็ตามแต่ ในสวรรค์ก็ยังมีโลภะ ในรูปพรหมก็มีโลภะ โลภะก็เป็นโลภะ คือเป็นธาตุ หรือเป็นสภาพชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ จะเห็นได้ว่าไม่ต้องมีการทำอะไร ถ้าทำคือไม่เข้าใจธรรมจึงทำ แต่ถ้าเข้าใจก็รู้ว่าธรรมมีปัจจัยจึงเกิด และแม้แต่สติที่ระลึกก็มีปัจจัยจึงเกิด ข้อความในไตรปิฎกมี ๒ คำ คือ มีสติ หรือ หลงลืมสติ คือ สติไม่เกิด ไม่ใช่มีการไปทำอะไรเลย

    ผู้ฟัง มหาสติปัฏฐานสูตรไม่มีกรรมวิธี ไม่มีเวลา ไม่มีลักษณะอาการ ไม่มีสถานที่ ไม่มีสิ่งขององค์ประกอบเครื่องใช้สอย แต่มันคือทุกอย่างในชีวิต ทุกอย่างในลมหายใจ ทุกอย่างในเซลประสาท ที่มีอยู่ในกายเราทำให้มันเกิดกระบวนการมหาสติปัฏฐาน ด้วยความซึมซับ การเรียนรู้อย่างเข้าใจ อย่างสัมผัส และพิสูจน์ทราบได้ด้วยความรู้สึกว่า ต้องทำให้มันฉลาด สะอาด สว่าง สงบ หรือมีความรู้สึกอย่างนี้ ดูแล้วก็จะไม่ตรงอีกเหมือนกันอย่างท่านอาจารย์สุจินต์ได้พูดว่าต้องไม่มีตัวเราในมหาสติปัฏฐาน ถูกหรือผิด เข้าใจอย่างนี้ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ การที่จะละความเป็นตัวตน ไม่ใช่ว่าจะละได้ทันที แม้แต่ในขณะนี้เอง ที่กำลังฟังเรื่องของธรรม เรื่องของนามธรรม เรื่องของรูปธรรม ต้องเป็นการที่จะรู้ตัวเองว่าเริ่มมีความเข้าใจถูกบ้างไหม ในขณะที่ฟัง เพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า เกือบจะไม่ต้องไปนึกถึงเรื่องปฏิบัติหรือเรื่องสติปัฎฐานเลย เพราะเหตุว่าขณะนี้ทุกอย่างเป็นสติปัฏฐานถ้าสติเกิดระลึก แต่ว่าถ้าไม่รู้เลยว่า สติมีลักษณะอย่างไร ขณะที่จดจ้องเข้าใจว่ากำลังเป็นสติ แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะของสติ นั้นเป็นลักษณะของสมาธิ สมาธิมี ๒ อย่าง คือ สัมมาสมาธิ กับ มิจฉาสมาธิ แต่ถ้าไม่มีการศึกษา และก็ได้ยินคำว่าสมาธิ ก็สนใจทันทีอยากจะทำสมาธิ เพราะเหตุว่าคนส่วนใหญ่มีชีวิตที่วุ่นวาย ก็เลยไม่ชอบที่จะเดือดร้อนด้วยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็คิดว่าถ้าไม่ต้องไปวุ่นวาย แล้วให้จิตไม่ไปไหน ขณะนั้นก็เป็นความสบาย เป็นความพอใจในความสบายก็ทำ เพื่อต้องการที่จะให้ใจสบาย แต่ไม่มีปัญญา เพราะเหตุว่าขณะใดก็ตามที่ไม่มีปัญญา ขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่ากุศลอื่นสามารถที่จะเกิดได้โดยที่ไม่ต้องมีปัญญา แต่สำหรับ ภาวนา โดยศัพท์หมายความว่าอบรม อบรมต้องมีปัญญาจึงจะอบรมได้ ไม่ใช่เป็นการไปทำด้วยความไม่รู้ ด้วยความต้องการ ซึ่งผลที่ได้ก็คือยังคงเป็นความไม่รู้ และยังคงเป็นความต้องการทำ เพราะคิดว่าได้ แต่ในพุทธศาสนาเป็นเรื่องรู้แล้วละ เหตุว่าการละไม่ใช่หน้าที่ของโลภะ ไม่ใช่หน้าที่ของอกุศล แต่การละเป็นหน้าที่ของปัญญาเจตสิก ซึ่งรู้ความจริงจึงละได้ ละความติดข้องได้ เพราะฉะนั้น ที่ใดมีโลภะที่นั่นจะไม่มีปัญญา แต่ที่ใดมีปัญญาที่นั่นมีโลภะไม่ได้ จะไม่มีความอยากไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นก็จะเริ่มฟังธรรม แล้วพิจารณา แล้วสามารถที่จะรู้ตัวเองว่ามีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ก่อนอื่นต้องรู้ลักษณะของสติ จึงเจริญสติปัฎฐานได้ หรืออีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อมีความเข้าใจลักษณะของสติเป็นปัจจัย สติปัฏฐานจึงเกิด มิฉะนั้นสติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ หรือแม้แต่สมถภาวนา ซึ่งเป็นขณะที่มีสติสัมปชัญญะ จึงสามารถที่จะรู้ความต่างกันของกุศลจิต กับอกุศลจิต เมื่อเห็นโทษของอกุศล สติสัมปชัญญะคือปัญญาก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ระลึกถึงอารมณ์ใดแล้วจิตสงบ ต้องเป็นกุศลในขณะนั้น ไม่ใช่เป็นโลภะที่ต้องการอยากสงบ ถ้าเป็นโลภะที่ต้องการอยากสงบขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก เกื้อกูลพุทธบริษัทตั้งแต่ในสมัยโน้น จนกระทั่งถึงกาละสมัยนี้ ๒๕๐๐ กว่าปี แสดงให้เห็นว่าความละเอียดของพระธรรม ป้องกันความเห็นผิดทุกอย่าง แต่ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาจึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะใดเห็นผิด ขณะใดเห็นถูก ขณะใดเป็นมิจฉามรรคมีองค์ ๘ ขณะใดเป็นสัมมามรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติมี ๕ องค์ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจโดยที่ว่าไม่เอาสมาธิมาเป็นสติ แล้วก็ไม่มีเรา ซึ่งอยากจะเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม แต่เป็นเรา เพราะฉะนั้นมีความไม่รู้เต็มที่ การเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม โดยการนึกคิดได้ โดยการที่เข้าใจว่าขณะนี้เสียงดับ ขณะนี้จิตได้ยินดับ นี่เป็นความเข้าใจแต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นก็จะต้องรู้ว่าการที่สามารถจะเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม ต้องไม่ใช่เรา ต้องรู้ว่าเป็นธรรม แต่ถ้ายังเป็นเราตราบใด ก็เอาเราออกไม่ได้เลย ทำไปก็มีเราเพิ่มขึ้น เราได้ เราเห็น เรารู้ แต่ว่าไม่ใช่การละ เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นตัวตน เป็นเรา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาธรรมโดยละเอียด แล้วก็ไม่ผ่านพยัญชนะใด โดยที่คิดว่าเข้าใจถูกต้องแล้ว อย่างคำว่า มิจฉาสมาธิ มีในพระไตรปิฎก สัมมาสมาธิก็มี มิจฉามรรคก็มี สัมมามรรคก็มี แต่ว่าถ้าไม่ศึกษาเข้าใจว่าสมาธิแล้วดีทั้งนั้น เป็นสัมมาทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่ความถูกต้อง ฉะนั้นจึงต้องไม่ไปกังวัลถึงสติปัฎฐาน ถึงปัญญาระดับสูง แต่ว่าปัญญาระดับสูงจะมีได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา ซึ่งจะค่อยๆ เจริญขึ้น จากกันฟัง การพิจารณา การเข้าใจ จนกว่าจะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฎฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งขณะนี้เป็นสติปัฎฐานแน่นอน ถ้าสติเกิดแล้วระลึก มีใครระลึกบ้างหรือเปล่าขณะนี้ ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่ถ้าผู้ฟังในครั้งนั้นเพียงฟัง สติปัฎฐานระลึก สามารถที่จะรู้แจ้งความจริงของสภาพธรรมด้วยปัญญา ที่ฟังเข้าใจ แต่ไม่ใช่ด้วยไม่มีปัญญาเลย ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย แล้วก็เข้าใจว่าประจักษ์การเกิดขึ้นจากไปของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ที่ฟังมาความรู้สึกว่า ผู้ที่เจริญสติปัฎฐาน เหมือนว่าต้องศึกษาพระอภิธรรม ให้รู้ว่าจิตมี ๘๙ เจตสิกมี ๕๒ รูปมี ๒๘ เป็นฝ่ายโสภณะเท่าใด อกุศลเท่าใด ถ้าเช่นนั้นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาอภิธรรม หรือผู้ที่ไม่จบแม้ป. ๔ ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเจริญสติปัฎฐานถูกต้อง จริงหรือ

    ท่านอาจารย์ มีผู้สงสัยเหมือนกันว่า วิสาขามิคารมารดา ซึ่งเป็นโสดาบัน ท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ ท่านเหล่านี้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ท่านรู้เรื่องจิต ๘๙ หรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ท่านไม่ได้รู้ชื่อ แต่ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ภาษาไทยใช้คำว่า จิต ทุกคนเหมือนกับเข้าใจว่ามีจิต แต่ถามว่าขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน ตอบได้ไหม เมื่อมีแล้วอยู่ที่ไหน ตอบไม่ได้ถ้าไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าศึกษาแล้วจะเห็นความเป็นอนัตตายิ่งขึ้น มีความเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง แม้ไม่มาก แต่สามารถที่จะเข้าใจได้มาก เพราะฉะนั้นจึงมีผู้ที่ฟังน้อยแต่เข้าใจมาก และเมื่อมีความเข้าใจมาก ในสิ่งที่ได้ฟังแม้เล็กน้อย เวลาที่ได้ฟังมากขึ้น ความเข้าใจก็ยิ่งมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจว่า การฟังเป็นปัจจัยให้มีการพิจารณาสิ่งที่เข้าใจ ถ้าพิจารณาด้วยความถูกต้องก็เข้าใจสิ่งนั้น คือปัญญาที่เข้าใจ ไม่ใช่เรา ความเข้าใจเกิดขึ้นในขณะที่ฟังเข้าใจ แล้วก็ดับไป แล้วขณะอื่นปัญญาจะเกิด หรือไม่เกิด หรือว่าจะเป็นปัญญาระดับไหน เพราะเหตุว่าปัญญามีหลายระดับ ก็ต้องขึ้นกับเหตุปัจจัยด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า พระพุทธศาสนาจะต้องจำกัดสำหรับผู้ที่เรียนเรื่องจิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ โดยละเอียด แต่ว่าขณะเพียงฟัง ใครก็ตามที่ไม่ต้องถึง จิต ๘๙ แต่ขณะนี้สามารถที่จะเข้าใจสภาพของจิต ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง มีจริงๆ เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่รูปธรรม เป็นใหญ่เป็นประธานในการจะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือกำลังเห็นทางตา นี้เป็นลักษณะของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเห็นอย่างเดียว ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย ถ้าเกิดอีก เห็นอีก ก็คือธาตุนี้แหละ ธาตุที่เห็นก็เห็น ธาตุที่ได้ยินก็ได้ยิน ธาตุที่คิดนึกก็ไม่ได้เห็นไม่ได้ยินแต่คิดนึก ในพระไตรปิฏกนอกจากจะใช้คำว่า ธรรม ยังใช้คำว่าธาตุ ทั้งหมด เช่น โลภะธาตุ โทสะธาตุ โมหะธาตุ ทุกอย่าง ใช้คำว่าธาตุก็ได้ ธรรมก็ได้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เวลาที่ฟังต่อไปก็สามารถที่จะเข้าใจอรรถ คือ สภาพธรรมที่เป็นจิตประเภทต่างๆ เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงโลภะ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นจำนวนก็ได้ แต่ถ้าเข้าใจว่าโลภะคือสภาพที่ติดข้อง บางครั้งก็มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย บางครั้งก็ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าบางครั้งที่มีความเห็นผิด ความเห็นผิดนั้นต้องเกิดกับจิตที่เกิดร่วมกับโลภะจึงติดข้องในความเห็นผิดนั้น นี้ก็เป็นเรื่องที่จะเข้าใจสภาพธรรมไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย แล้วสามารถที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ โดยที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของชื่อ

    ผู้ฟัง มีเรื่องเคยได้ยินมาว่า ชาวนากำลังไถนาอยู่ แล้วมีความระลึกรู้ถึงสภาวธรรมที่ปรากฏหรือสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่อื่นมา และมีดวงตาทิพยญาณที่รู้เท่าทันสภาวธรรมนั้นๆ นี่ถือว่าเข้าใจผิดหรือไม่

    ท่านอาจารย์ คนนั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เป็น แต่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมโดยไม่ต้องฟัง เป็นไปไม่ได้เลย นอกจากอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ท่านพระสารีบุตร ก็เป็นสาวก คือผู้ฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเรื่องที่เล่าสู่กันฟังอย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด ยกเว้นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะมีปัญญาญาณ หยั่งรู้ทุกขณะจิต

    ท่านอาจารย์ นอกจากอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่ว่าไม่ใช่สมัยนี้ สมัยนี้ไม่ใช่สมัยของพระปัจเจกพุทธเจ้า สมัยนี้พระศาสนายังดำรงอยู่ เป็นโอกาสของผู้ที่เป็นสาวกจะศึกษา ผู้ฟังมีสิทธิ์ที่จะคิดที่จะพิจารณาที่จะไตร่ตรอง ไม่ใช่เชื่อทันทีที่ได้ยินได้ฟัง

    ผู้ฟัง มีกระบวนการที่เกิดขึ้นในมหาสติปัฏฐานสูตร มากมายหลายสำนักหรือว่าหลายๆ ท่านคิดค้น หรือว่าพยายามจะทำให้มันเข้าใจว่านี่คือหลักการของมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่ว่าจะเป็นการเจริญอานาปานสติ หรือว่าปรับเปลี่ยนอิริยาบถ หรือว่าควบคุมสติ ควบคุมอิริยาบถ หรือมีสติในอิริยาบถนั้น พิจารณาอาหาเรปฎิกูลสัญญา อสุภกรรมฐาน ไม่ทราบว่า การพิจารณาหรือกรรมวิธีเหล่านี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมหาสติปัฎฐานสูตร ได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คัมภีร์ทางพุทธศาสนาทั้งหมด สำหรับศึกษา ไม่ใช่สำหรับเพียงอ่าน เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ตรัสรู้ และทรงแสดง เรื่องสภาพธรรมในขณะนี้ละเอียดมาก ซึ่งถ้าไม่ศึกษาจริงๆ จะเข้าใจผิดเพียงโดยการอ่าน ผู้ที่เข้าใจว่า ใครก็ตามเพียงอ่าน แล้วปฏิบัติ จะไม่เข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง มีคำถามเข้ามาว่า ที่ผ่านมาเราอธิบายมหาสติปัฎฐานสูตรในแนวของวิปัสสนามาตลอด ถ้าจะอธิบายมหาสติปัฎฐานสูตรในแนวของสมถะบ้างจะได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คือคำถามแรกที่ว่าธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดถือ ฟังดูดี แต่ว่าทำได้อย่างไร เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปัญญาแล้วต้องยึดถือแน่นอน จะบอกว่าไม่ควร ก็ไม่ควร แต่ว่าถ้าไม่มีปัญญาแล้วก็ยังต้องยึดถือ ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ผู้ฟัง เกิดปัญญาความเห็นที่ถูกต้อง และปัญญานั่นเองก็จะละความยึดถือได้ แต่ถ้าปัญญายังไม่เกิด ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่เข้าใจสภาพธรรมก็ย่อมยังคงยืดถือต่อไป

    สำหรับเรื่องของสติปัฎฐานกับสมถะวิปัสสนา ที่ถามว่า มีสมถะด้วยหรือไม่ในสติปัฎฐาน คนใช้คำนี้โดยที่ว่ายังไม่เข้าใจจริงๆ ว่าสมถะคืออะไร บางคนก็คิดว่าเวลาที่ทำสมาธินั้นคือสมถะ แต่โดยศัพท์ สมถะ หมายถึง ความสงบ ถ้าพูดถึงเท่านี้ทุกคนก็คิดว่า อยู่คนเดียวก็สงบ หรือว่าไม่วุ่นวาย ไม่มีเรื่องมากๆ คือ สงบ แต่ความจริงไม่ใช่ ความสงบต้องเป็นความสงบจากอกุศล ถ้าได้ยินได้ฟังคำอะไร ขอให้เจาะลึกถึงความหมายที่แท้จริงของสภาพธรรมด้วย มิฉะนั้นเราก็จะผ่านไปโดยผิวเผินแล้วคิดว่าเข้าใจ สำหรับสติปัฎฐานนั้น ต้องมีทั้งสมถะ และวิปัสสนา เพราะเหตุว่า สมถะ หมายความถึงสงบจากกิเลส หรือจากอกุศล สติปัฎฐานจะไม่สงบไม่ได้เลย สติปัฎฐานสงบ และถ้ากล่าวโดยองค์ของสติปัฎฐาน สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะเป็นองค์ของปัญญา องค์อื่นเป็นสมถะ เพราะเหตุว่าขณะนั้นสงบจากอกุศล ไม่ใช่เรื่องของสมาธิที่เป็นมิจฉาสมาธิ แต่เป็นเรื่องที่มีความเข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้นว่า สมาธิมีจริง เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ต้องแยกตั้งแต่ต้น คือ ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นได้ยินคำว่าสมาธิ สมาธิก็ต้องมีลักษณะที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นสมาธิก็เป็นธรรม เมื่อเป็นธรรม เป็นธรรมที่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม ๒ อย่างนี้ต้องเข้าใจให้ชัดเจน เมื่อเป็นรูปธรรมไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ตั้งมั่น ขณะนั้นต้องมีการรู้ว่า ตั้งมั่นที่ไหน ตั้งมั่นอย่างไร เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นนามธรรม ขณะที่จิตเกิดจะขาดสมาธิ คือเอกัคคตาเจตสิกไม่ได้เลย เวลาที่ศึกษาธรรมโดยเฉพาะปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะได้ยินเรื่องของอายตนะ เรื่องของปฏิจจสมุปาท เรื่องของธรรมใดๆ ก็ตาม ก็ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นปรมัตถธรรมอะไร ใน ๓ ปรมัตถธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้น เรายกเรื่องของนิพพานไว้ เพราะเหตุว่าขณะนี้ไม่มี ไม่ปรากฏ ยังไม่รู้แจ้ง แต่สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ต้องทราบว่ามีเพราะเกิด ขณะนี้ไม่มีใครรู้เลยว่าสภาพธรรมเกิดจึงมี แต่ไม่ทราบว่าแม้เสียงก็ต้องเกิดจึงมีเสียงปรากฏ ถ้าเสียงไม่เกิดก็ไม่มีเสียงปรากฏ เพราะฉะนั้นทุกอย่างแม้แต่แข็ง ขณะที่ปรากฏเมื่อไรก็ต้องสภาพนั้นเกิดปรากฏจริงมีแข็ง ด้วยเหตุนี้ต้องทราบว่าถ้าได้ยินคำอะไรเป็นปรมัตถธรรมอะไร ถ้าได้ยินคำว่าสมาธิได้แก่เจตสิกไม่ใช่จิต ที่กล่าวว่ามีเจตสิก ๕๒ ชนิด หมายความว่า มีลักษณะเฉพาะของเจตสิกแต่ละอย่าง เช่น คำถามที่ว่าสัญญาเป็นอะไร สัญญาเป็นสภาพจำ ขณะนี้จำได้ทั้งนั้น ทุกขณะจิต จำสิ่งที่กำลังปรากฏ สามารถที่จะเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะสัญญาเจตสิกจำ จิตไม่ได้จำ จิตไม่ได้ติดข้อง จิตไม่ได้ขุ่นเคือง จิตเป็นธาตุรู้ ซึ่งสามารถที่จะรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ที่เราใช้คำว่าอารัมมณะ หรืออารมณ์ ตามที่ได้เรียนในตอนต้น เพราะฉะนั้นมีจิตก็ต้องมีอารมณ์เป็นสิ่งที่คู่กัน โดยจิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นบางครั้งจะกล่าวถึงนามธรรม ๕๓ คือ เจตสิก ๕๒ และจิต ๑ จิตมีลักษณะหนึ่งอย่าง คือ เป็นสภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏให้รู้ ส่วนเจตสิกแต่ละอย่าง เช่น สัญญาเจตสิกก็จำ สัญญาจะไม่ทำหน้าที่อื่นเลย นอกจากจำสิ่งที่จิต และสัญญากำลังรู้ ส่วนเจตนาก็เป็นสภาพที่จงใจ ซึ่งก็ไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้นนามธรรมอื่นทั้งหมด นอกจากสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ สภาพธรรมทั้งหมดนั้นเป็นเจตสิก ไม่ว่าในชีวิตประจำวันเราจะพูดว่า ขยัน หรือ เกียจคร้าน ก็เป็นลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นเจตสิก ฉะนั้นสมาธิ ก็เป็นปรมัตถธรรม เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ชื่อของเจตสิกนี้คือ เอกัคคตาเจตสิก สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ เกิดกับจิตทุกขณะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องห่วงที่จะไปทำสมาธิ เพราะไม่มีใครทำสมาธิ ถ้าเอกัคคตาเจตสิกไม่เกิด และตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียวนานๆ พอที่จะให้ปรากฏลักษณะของสมาธิได้ เพราะเหตุว่าลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งรู้อารมณ์หนึ่งอย่าง เอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ สัญญาเจตสิกก็จำในอารมณ์ที่สัญญา และจิตกำลังรู้ด้วย ต้องทราบว่าที่เราใช้คำว่าสมาธิในภาษาไทย คนนั้นไม่มีสมาธิ กิริยาของเขาก็อาจจะไม่อยู่นิ่ง ทำโน่นทำนี่แล้วก็อยู่เฉยไม่ได้ อาจจะบอกว่าไม่มีสมาธิ ถ้าเรากำลังตั้งอกตั้งใจที่จะทำอะไร แล้วเพื่อนคุยก็บอกว่าเสียสมาธิ คือไม่สามารถที่จะตั้งมั่นในอารมณ์ที่เรากำลังจะจ่อต้องการอยู่ได้ แต่ว่าลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกเมื่อเกิดกับจิตทุกดวง จิตมีหลายอย่าง ถ้าเอกัคคตาเจตสิกเกิดอกุศลจิต ตั้งมั่นได้ในอารมณ์ที่เป็นอกุศล กำลังติดข้องต้องการจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกก็ปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ความสงบ ลักษณะของความสงบเป็นเจตสิกอื่นต่างหาก ที่ไม่ใช่เอกัคคตาเจตสิก ไม่ใช่สมาธิ แต่เป็นกายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ ๒ เจตสิก ในเจตสิก ๕๒ ประเภท จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจว่าเมื่อไม่ใช่เราเป็นอะไร ก็ต้องเป็นธรรมซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก เพราะฉะนั้นก็จะทราบได้ว่าถ้าเข้าใจผิดว่าสมาธิสงบ ไม่ถูก เพราะเหตุว่าสมาธิเป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ส่วนเวลาที่จิตสงบ จะใช้ต่อเมื่อเป็นกุศลจิต หรือจิตฝ่ายดี เพราะว่าขณะนั้นสงบจากอกุศล ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ได้สงบเลย เป็นความติดข้องต้องการที่จะให้จิตจดจ่ออยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ขณะนั้นเป็นโลภะ เพราะฉะนั้นมิจฉามรรค มิจฉาสมาธิ เป็นโลภมูลจิต เป็นสภาพที่ติดข้องต้องการที่จะให้จิตอยู่ โดยที่ว่าไม่มีความรู้ไม่มีความเข้าใจว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 15
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ